ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๑๙
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เอกกนิบาตชาดก
๑. อปัณณกวรรค
๑. อปัณณกชาดก
ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ
[๑] คนพวกหนึ่งกล่าวฐานะอันหนึ่งว่า ไม่ผิด นักเดาทั้งหลายกล่าวฐานะอัน นั้นว่า เป็นที่สอง คนมีปัญญารู้ฐานะและมิใช่ฐานะนั้นแล้ว ควรถือ เอาฐานะที่ไม่ผิดไว้.
จบ อปัณณกชาดกที่ ๑.
๒. วัณณุปถชาดก
ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน
[๒] ชนทั้งหลายผู้ไม่เกียจคร้าน ขุดภาคพื้นที่ทางทราย ได้พบน้ำในทางนั้น ณ ที่ราบ ฉันใด มุนีผู้ประกอบด้วยความเพียรและกำลัง เป็นผู้ไม่ เกียจคร้าน พึงได้ความสงบใจ ฉันนั้น.
จบ วัณณุปถชาดกที่ ๒.
๓. เสรีววาณิชชาดก
ว่าด้วยเสรีววาณิช
[๓] ถ้าท่านพลาดโสดาปัตติมรรค คือ ความแน่นอนแห่งสัทธรรมในศาสนานี้ ท่านจะต้องเดือดร้อนใจในภายหลังสิ้นกาลนาน ดุจพาณิชชื่อเสรีวะผู้นี้ ฉะนั้น.
จบ เสรีววาณิชชาดกที่ ๓.
๔. จุลลกเศรษฐีชาดก
ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้
[๔] คนมีปัญญาเฉลียวฉลาด ย่อมตั้งตนไว้ด้วยต้นทุนแม้น้อย ดุจคนก่อไฟ น้อยๆ ให้เป็นกองใหญ่ ฉะนั้น.
จบ จุลลกเศรษฐีชาดกที่ ๔.
๕. ตัณฑุลนาฬิชาดก
ว่าด้วยราคาข้าวสาร
[๕] ข้าวสารทะนานหนึ่งมีราคาเท่าไร พระนครพาราณสีทั้งภายในภายนอก มีราคาเท่าไร ข้าวสารทะนานเดียวมีค่าเท่าม้า ๕๐๐ เทียวหรือ?
จบ ตัณฑุลนาฬิชาดกที่ ๕.
๖. เทวธรรมชาดก
ว่าด้วยธรรมของเทวดา
[๖] สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรม อันขาว ท่านเรียกว่าผู้มีธรรมของเทวดาในโลก.
จบ เทวธรรมชาดกที่ ๖.
๗. กัฏฐหาริชาดก
[๗] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่ ข้าพระบาทเป็นโอรสของพระองค์ ข้าแต่ พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งหมู่ชน ขอพระองค์ได้ทรงโปรดชุบเลี้ยงข้าพระ บาทไว้ แม้คนเหล่าอื่นพระองค์ยังทรงชุบเลี้ยงได้ ไฉนจะไม่ทรงชุบ เลี้ยงโอรสของพระองค์เองเล่า?
จบ กัฏฐหาริชาดกที่ ๗.
๘. คามนิชาดก
ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้
[๘] เออก็ความหวังในผล ย่อมสำเร็จแก่ผู้ไม่ใจเร็วด่วนได้ เรามีพรหมจรรย์ แก่กล้าแล้ว ท่านจงเข้าใจอย่างนี้เถิด พ่อคามนี.
จบ คามนิชาดกที่ ๘.
๙. มฆเทวชาดก
ว่าด้วยเทวทูต
[๙] ผมที่หงอกบนศีรษะของเรานี้ เกิดขึ้นนำเอาวัยไปเสีย เทวทูตปรากฏแล้ว บัดนี้ เป็นสมัยบรรพชาของเรา.
จบ มฆเทวชาดกที่ ๙.
๑๐. สุขวิหาริชาดก
ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข
[๑๐] ชนเหล่าอื่นไม่ต้องรักษาผู้ใดด้วย ผู้ใดก็ไม่ต้องรักษาชนเหล่าอื่นด้วย ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรผู้นั้นแล ไม่เยื่อใยในกามทั้งหลาย ย่อมอยู่ เป็นสุข.
จบ สุขวิหาริชาดกที่ ๑๐.
จบ อปัณณกวรรคที่ ๑.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อปัณณกชาดก ๒. วัณณุปถชาดก ๓. เสรีววาณิชชาดก ๔. จุลลกเศรษฐีชาดก ๕. ตัณฑุลนาฬิชาดก ๖. เทวธรรมชาดก ๗. กัฏฐหาริชาดก ๘. คามนิชาดก ๙. มฆเทวชาดก ๑๐. สุขวิหาริชาดก.
-----------------------------------------------------
๒. สีลวรรค
๑. ลักขณชาดก
ว่าด้วยผู้มีศีล
[๑๑] ความเจริญย่อมมีแก่ชนทั้งหลายผู้มีศีล ประพฤติในปฏิสันถาร ท่านจง ดูลูกเนื้อชื่อลักขณะ ผู้อันหมู่แห่งญาติแวดล้อมกลับมาอยู่ อนึ่ง ท่าน จงดูลูกเนื้อชื่อกาฬะนี้ ผู้เสื่อมจากพวกญาติกลับมาแต่ผู้เดียว.
จบ ลักขณชาดกที่ ๑.
๒. นิโครธมิคชาดก
ว่าด้วยการเลือกคบ
[๑๒] ท่านหรือคนอื่นก็ตาม พึงคบหาแต่พระยาเนื้อชื่อว่านิโครธเท่านั้น ไม่ ควรเข้าไปอาศัยอยู่กับพระยาเนื้อชื่อว่าสาขะ ความตายในสำนักพระยา เนื้อนิโครธประเสริฐกว่า การมีชีวิตอยู่ในสำนักพระยาเนื้อสาขะจะ ประเสริฐอะไร.
จบ นิโครธมิคชาดกที่ ๒.
๓. กัณฑินชาดก
ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง
[๑๓] เราติเตียนบุรุษผู้มีลูกศรเป็นอาวุธ ยิงปล่อยไปเต็มกำลัง เราติเตียน ชนบทที่มีหญิงเป็นผู้นำ อนึ่ง สัตว์เหล่าใด ตกอยู่ในอำนาจของหญิง ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นบัณฑิตติเตียนแล้ว.
จบ กัณฑินชาดกที่ ๓.
๔. วาตมิคชาดก
ว่าด้วยอำนาจของรส
[๑๔] ได้ยินว่า สิ่งอื่นที่จะเลวยิ่งไปกว่ารสทั้งหลายไม่มี รสเป็น สภาพเลวแม้กว่าถิ่นฐาน แม้กว่าความสนิทสนม นายสญชัย อุยยาบาล นำเนื้อสมันซึ่งอาศัยอยู่ในป่าชัฏมาสู่อำนาจของตนได้ด้วยรส ทั้งหลาย.
จบ วาตมิคชาดกที่ ๔.
๕. ขราทิยชาดก
ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท
[๑๕] ดูกรนางเนื้อขราทิยา ฉันไม่สามารถจะสั่งสอนเนื้อตัวนั้น ผู้มี ๘ กีบ มีเขาคดแต่โคนจนถึงปลายเขา ล่วงเลยโอวาทเสียตั้ง ๗ วัน.
จบ ขราทิยาชาดกที่ ๕.
๖. ติปัลลัตถมิคชาดก
ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน
[๑๖] ฉันยังเนื้อหลานชายผู้มี ๘ กีบ นอนโดยอาการ ๓ ท่า มีเล่ห์กลมารยา หลายอย่าง ดื่มกินน้ำในเวลาเที่ยงคืน ให้เล่าเรียนมายาของเนื้อดีแล้ว ดูกรน้องหญิง เนื้อหลานชายกลั้นลมหายใจไว้ได้ โดยช่องนาสิก ข้างหนึ่งแนบติดอยู่กับพื้น จะทำเล่ห์กลลวงนายพรานด้วยอุบาย ๖ ประการ.
จบ ติปัลลัตถมิคชาดกที่ ๖.
๗. มาลุตชาดก
ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม
[๑๗] ข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ตาม สมัยใดลมย่อมพัดมา สมัยนั้นย่อมมีความ หนาว เพราะความหนาวเกิดแต่ลม ในปัญหาข้อนี้ ท่านทั้งสองชื่อว่า ไม่แพ้กัน.
จบ มาลุตชาดกที่ ๗.
๘. มตกภัตตชาดก
ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์
[๑๘] ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติสมภพนี้เป็นทุกข์ สัตว์ไม่ควรฆ่า สัตว์ เพราะว่าผู้มีปกติฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศก.
จบมตกภัตตชาดกที่ ๘.
๙. อายาจิตภัตตชาดก
ว่าด้วยการเปลื้องตน
[๑๙] ถ้าท่านปรารถนาจะเปลื้องตนให้พ้น ท่านละโลกนี้ไปแล้วก็จะพ้นได้ ก็ท่านเปลื้องตนอยู่อย่างนี้ กลับจะติดหนักเข้า เพราะนักปราชญ์หาได้ เปลื้องตนด้วยอาการอย่างนี้ไม่ การเปลื้องตนอย่างนี้ เป็นเครื่องติดของ คนพาล.
จบ อายาจิตภัตตชาดกที่ ๙.
๑๐. นฬปานชาดก
ว่าด้วยการพิจารณา
[๒๐] พระยากระบี่ไม่เห็นรอยเท้าขึ้น เห็นแต่รอยเท้าลง จึงกล่าวว่า เราจัก ดื่มน้ำด้วยไม้อ้อ ท่านก็จักฆ่าเราไม่ได้.
จบ นฬปานชาดกที่ ๑๐.
จบ สีลวรรคที่ ๒.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ลักขณชาดก ๒. นิโครธมิคชาดก ๓. กัณฑินชาดก ๔. วาตมิคชาดก ๕. ขราทิยชาดก ๖. ติปัลลัตถมิคชาดก ๗. มาลุตชาดก ๘. มตกภัตตชาดก ๙. อายาจิตภัตตชาดก ๑๐. นฬปานชาดก.
-----------------------------------------------------
๓. กุรุงควรรค
๑. กุรุงคมิคชาดก
ว่าด้วยกวางกุรุงคะ
[๒๑] ดูกรไม้มะลื่น การที่ท่านปล่อยผลให้ตกกลิ้งมานั้น เราผู้เป็นกวางรู้แล้ว เราจะไปสู่ไม้มะลื่นต้นอื่น เพราะเราไม่ชอบใจผลของท่าน.
จบ กุรุงคมิคชาดกที่ ๑.
๒. กุกกุรชาดก
ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า
[๒๒] สุนัขเหล่าใดอันบุคคลเลี้ยงไว้ในราชสกุล เกิดในราชสกุล สมบูรณ์ด้วย สีสรรและกำลัง สุนัขเหล่านี้นั้นไม่ถูกฆ่า พวกเรากลับถูกฆ่า เมื่อเป็น เช่นนี้ นี้ชื่อว่าการฆ่าโดยไม่แปลกกันก็หาไม่ กลับชื่อว่าฆ่าแต่สุนัข ทั้งหลายที่ทุรพล.
จบ กุกกุรชาดกที่ ๒.
๓. โภชาชานียชาดก
ว่าด้วยม้าสินธพอาชาไนย
[๒๓] ดูกรนายสารถี ม้าสินธพอาชาไนยถูกลูกศรแทงแล้ว แม้นอนตะแคง อยู่ข้างเดียวก็ยังประเสริฐกว่าม้ากระจอก ท่านจงประกอบฉันออกรบอีก เถิด.
จบ โภชาชานียชาดกที่ ๓.
๔. อาชัญญชาดก
ว่าด้วยม้าอาชาไนยกับม้ากระจอก
[๒๔] ไม่ว่าเมื่อใด ในขณะใด ณ ที่ไหนๆ ณ สถานที่ใดๆ ม้าอาชาไนยใช้ กำลังรบ ม้ากระจอกย่อมถอยหนี.
จบ อาชัญญชาดกที่ ๔.
๕. ติตถชาดก
ว่าด้วยการเบื่อเพราะซ้ำซาก
[๒๕] ดูกรนายสารถี ท่านจงยังม้าให้อาบและดื่มน้ำที่ท่าโน้นบ้าง ท่านี้ บ้าง แม้ข้าวปายาสที่บริโภคบ่อยครั้ง คนก็ยังเบื่อได้.
จบ ติตเถชาดกที่ ๕.
๖. มหิฬามุขชาดก
ว่าด้วยการเสี้ยมสอน
[๒๖] พระยาช้างชื่อมหิฬามุข ได้เที่ยวทุบตีคน เพราะได้พึงฟังคำของพวก โจรมาก่อน พระยาช้างผู้เชือกอุดมตั้งอยู่ในคุณทั้งปวง ก็เพราะได้ฟังคำ ของท่านผู้สำรวมดีแล้ว.
จบ มหิฬามุขชาดกที่ ๖.
๗. อภิณหชาดก
ว่าด้วยการเห็นกันบ่อยๆ
[๒๗] พระยาช้างไม่สามารถจะรับเอาคำข้าว ไม่สามารถจะรับเอาก้อนข้าว ไม่ สามารถจะรับเอาหญ้าทั้งหลาย ไม่สามารถจะขัดสีกาย ข้าพระบาทมา สำคัญว่า พระยาช้างตัวเชือกประเสริฐ ได้ทำความรักใคร่ในสุนัข เพราะได้เห็นกันเนืองๆ.
จบ อภิณหชาดกที่ ๗.
๘. นันทิวิสาลชาดก
ว่าด้วยการพูดดี
[๒๘] บุคคลพึงกล่าวแต่คำที่ไพเราะเท่านั้น ไม่พึงกล่าวคำที่ไม่ไพเราะในกาล ไหนๆ เมื่อพราหมณ์กล่าวคำไพเราะ โคนันทิวิสาลได้ลากเอาภาระอัน หนักไปได้ ทำพราหมณ์ผู้นั้นให้ได้ทรัพย์ด้วย ตนเองก็เป็นผู้ปลื้มใจ เพราะการช่วยเหลือนั้นด้วย.
จบ นันทิวิสาลชาดกที่ ๘.
๙. กัณหชาดก
ว่าด้วยผู้เอาการเอางาน
[๒๙] ในที่ใดๆ มีธุระหนัก ในที่ใดมีร่องน้ำลึก ชนทั้งหลายก็เทียมโคดำใน กาลนั้นทีเดียว โคดำนั้นก็นำเอาธุระนั้นไปได้โดยแท้.
จบ กัณหชาดกที่ ๙.
๑๐. มุณิกชาดก
ว่าด้วยลักษณะของผู้มีอายุยืน
[๓๐] ท่านอย่าริษยาหมู่มุณิกะเลย มันกินอาหารอันเป็นเหตุให้เดือดร้อน ท่าน จงเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย กินแต่แกลบเถิด นี่เป็นลักษณะแห่ง ความเป็นผู้มีอายุยืน.
จบ มุณิกชาดกที่ ๑๐.
จบ กุรุงควรรคที่ ๓.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุรุงคมิคชาดก ๒. กุกกุรชาดก ๓. โภชาชานียชาดก ๔. อาชัญญชาดก ๕. ติตถชาดก ๖. มหิฬามุขชาดก ๗. อภิณหชาดก ๘. นันทิวิสาลชาดก ๙. กัณหชาดก ๑๐. มุณิกชาดก.
-----------------------------------------------------
๔. กุลาวกวรรค
๑. กุลาวกชาดก
ว่าด้วยการเสียสละ
[๓๑] ดูกรมาตลีเทพบุตร ที่ต้นงิ้วมีลูกนกครุฑจับอยู่ ท่านจงหันหน้ารถกลับ เรายอมสละชีวิตให้พวกอสูร ลูกนกครุฑเหล่านี้อย่าได้แหลกลาญ เสียเลย.
จบ กุลาวกชาดกที่ ๑.
๒. นัจจชาดก
เหตุที่ยังไม่ให้ลูกสาว
[๓๒] เสียงของท่านก็เพราะ หลังของท่านก็งาม คอของท่านก็เปรียบดังสีแก้ว ไพฑูรย์ และหางของท่านก็ยาวตั้งวา เราจะไม่ให้ลูกสาวของเราแก่ท่าน ด้วยการรำแพนหาง.
จบ นัจจชาดกที่ ๒.
๓. สัมโมทมานชาดก
ว่าด้วยพินาศเพราะทะเลาะกัน
[๓๓] นกทั้งหลายพร้อมเพรียงกันพากันเอาข่ายไป เมื่อใด พวกมันทะเลาะกัน เมื่อนั้น พวกมันจักตกอยู่ในอำนาจของเรา.
จบ สัมโมทมานชาดกที่ ๓.
๔. มัจฉชาดก
ว่าด้วยความหึงหวง
[๓๔] ความเย็น ความร้อน และการติดอยู่ในแห ไม่ได้เบียดเบียนเราให้ได้ รับทุกข์เลย แต่ข้อที่นางปลาสำคัญว่า เราไปหลงนางปลาตัวอื่นนั่นแหละ เบียดเบียนเราให้ได้รับทุกข์.
จบ มัจฉชาดกที่ ๔.
๕. วัฏฏกชาดก
ว่าด้วยความจริง
[๓๕] ปีกของเรามีอยู่ แต่ก็บินไม่ได้ เท้าทั้งสองของเราก็มีอยู่ แต่ก็เดินไม่ได้ มารดาและบิดาของเราออกไปหาอาหาร ดูกรไฟ ท่านจงถอยกลับไปเสีย.
จบ วัฏฏกชาดกที่ ๕.
๖. สกุณชาดก
ว่าด้วยที่พึ่งให้โทษ
[๓๖] นกทั้งหลายอาศัยต้นไม้ใด ต้นไม้นั้นย่อมทิ้งเอาไฟลงมา นกทั้งหลายจง พากันหนีไปอยู่เสียที่อื่นเถิด ภัยเกิดจากที่พึ่งของพวกเราแล้ว.
จบ สกุณชาดกที่ ๖.
๗. ติตติรชาดก
ว่าด้วยผู้มีความอ่อนน้อม
[๓๗] นรชนเหล่าใด ฉลาดในธรรม ย่อมนอบน้อมคนผู้เจริญ นรชนเหล่านั้น เป็นผู้ได้รับความสรรเสริญในปัจจุบันนี้ และมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
จบ ติตติรชาดกที่ ๗.
๘. พกชาดก
ว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง
[๓๘] บุคคลผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมไม่ได้ความสุขเป็นนิตย์ เพราะผู้- ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมประสบผลแห่งบาปกรรมที่ตนทำไว้ เหมือนนกยางถูกปูหนีบคอฉะนั้น.
จบ พกชาดกที่ ๘.
๙. นันทชาดก
ว่าด้วยการกล่าวคำหยาบ
[๓๙] ทาสชื่อนันทกะเป็นบุตรของนางทาสี ยืนกล่าวคำหยาบคายในที่ใด เรารู้ ว่ากองแห่งรัตนะทั้งหลาย และดอกไม้ทองมีอยู่ในที่นั้น.
จบ นันทชาดกที่ ๙.
๑๐. ขทิรังคารชาดก
ว่าด้วยผู้มีจิตมั่นคง
[๔๐] เราจะตกนรกมีเท้าขึ้นเบื้องบน มีศีรษะลงเบื้องล่างก็ตาม เราจักไม่ทำ กรรมอันไม่ประเสริฐ ขอเชิญท่านจงรับก้อนข้าวเถิด.
จบ ขทิรังคารชาดกที่ ๑๐.
จบ กุลาวกวรรคที่ ๔.
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุลาวกชาดก ๒. นัจจชาดก ๓. สัมโมทมานชาดก ๔. มัจฉชาดก ๕. วัฏฏกชาดก ๖. สกุณชาดก ๗. ติตติรชาดก ๘. พกชาดก ๙. นันทชาดก ๑๐. ขทิรังคารชาดก.
-----------------------------------------------------
๕. อัตถกามวรรค
๑. โลสกชาดก
ว่าด้วยคนที่ต้องเศร้าโศก
[๔๑] ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมเศร้าโศก เหมือนนาย มิตกะจับเท้าแพะเศร้าโศกอยู่ ฉะนั้น.
จบ โลสกชาดกที่ ๑.
๒. กโปตกชาดก
ว่าด้วยคนที่ต้องฉิบหาย
[๔๒] ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้ อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมถึงความฉิบหาย เศร้าโศกอยู่ เหมือนกาไม่เชื่อฟังคำของนกพิราบ ตกอยู่ในเงื้อมมือของข้าศึก ฉะนั้น.
จบ กโปตกชาดกที่ ๒.
๓. เวฬุกชาดก
ว่าด้วยคนที่นอนตาย
[๔๓] ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมนอนตายอยู่ เหมือนดาบส ผู้เป็นบิดาของลูกงูชื่อเวฬุกะ ฉะนั้น.
จบ เวฬุกชาดกที่ ๓.
๔. มกสชาดก
มีศัตรูผู้มีปัญญาดีกว่ามีมิตรโง่
[๔๔] ศัตรูผู้ประกอบด้วยปัญญายังดีกว่า มิตรผู้ไม่มีปัญญาจะดีอะไร เหมือน บุตรของช่างไม้ผู้โง่เขลา คิดว่าจะตียุง ได้ตีศีรษะของบิดาแตกสองเสี่ยง ฉะนั้น.
จบ มกสชาดกที่ ๔.
๕. โรหิณีชาดก
ผู้อนุเคราะห์ที่โง่เขลาไม่ดี
[๔๕] ศัตรูผู้เป็นนักปราชญ์ยังดีกว่า คนโง่เขลาถึงเป็นผู้อนุเคราะห์จะดีอะไร ท่านจงดูนางโรหิณีผู้โง่เขลา ฆ่ามารดาแล้วเศร้าโศกอยู่.
จบ โรหิณีชาดกที่ ๕.
๖. อารามทูสกชาดก
ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ไม่มีความสุข
[๔๖] ผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงจะทำความเจริญ ก็ไม่สามารถจะนำ ความสุขมาให้ ผู้มีปัญญาทรามย่อมทำประโยชน์ให้เสีย เหมือนกับลิง ผู้รักษาสวน ฉะนั้น.
จบ อารามทูสกชาดกที่ ๖.
๗. วารุณิทูสกชาดก
ผู้มีปัญญาทรามทำให้เสียประโยชน์
[๔๗] ผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงจะทำความเจริญ ก็ไม่สามารถจะนำ ความสุขมาให้ ผู้มีปัญญาทรามย่อมทำประโยชน์ให้เสีย เหมือนกับ โกณทัญญบุรุษทำสุราให้เสีย ฉะนั้น.
จบ วารุณิทูสกชาดกที่ ๗.
๘. เวทัพพชาดก
ผู้ปรารถนาประโยชน์โดยไม่แยบคายย่อมเดือดร้อน
[๔๘] ผู้ใดปรารถนาประโยชน์ โดยอุบายอันไม่แยบคาย ผู้นั้นย่อมเดือดร้อน เหมือนพวกโจรชาวเจติรัฐฆ่าเวทัพพพราหมณ์ แล้วพากันถึงความพินาศ หมดสิ้น ฉะนั้น.
จบ เวทัพพชาดกที่ ๘.
๙. นักขัตตชาดก
ว่าด้วยประโยชน์คือฤกษ์
[๔๙] ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลาผู้มัวคอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของ ประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้.
จบ นักขัตตชาดกที่ ๙.
๑๐. ทุมเมธชาดก
คนโง่ถูกบูชายัญเพราะคนอธรรม
[๕๐] เราได้บนไว้ต่อเทวดา ด้วยคนโง่เขลาหนึ่งพันคน บัดนี้ เราจักต้องบูชา ยัญ เพราะคนอธรรมมีมาก.
จบ ทุมเมธชาดกที่ ๑๐.
จบ อัตถกามวรรคที่ ๕.
จบ ปฐมปัณณาสก์.
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โลสกชาดก ๒. กโปตกชาดก ๓. เวฬุกชาดก ๔. มกสชาดก ๕. โรหิณีชาดก ๖. อารามทูสกชาดก ๗. วารุณิทูสกชาดก ๘. เวทัพพชาดก ๙. นักขัตตชาดก ๑๐. ทุมเมธชาดก.
-----------------------------------------------------
๖. อาสิงสวรรค
๑. มหาสีลวชาดก
ความสำเร็จเกิดจากความพยายาม
[๕๑] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตควรมุ่งหมายไปกว่าจะสำเร็จผล ไม่ควรจะท้อถอย ดูเราเป็นตัวอย่าง เราปรารถนาอย่างใดได้อย่างนั้น.
จบ มหาสีลวชาดกที่ ๑.
๒. จูฬชนกชาดก
เป็นคนควรพยายามร่ำไป
[๕๒] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามไปกว่าประโยชน์จะสำเร็จ ไม่ควรท้อถอย ดูเราขึ้นจากน้ำสู่บกได้เป็นตัวอย่างเถิด.
จบ จูฬชนกชาดกที่ ๒.
๓. ปุณณปาติชาดก
การกล่าวถ้อยคำไม่จริง
[๕๓] ไหสุราทั้งหลาย ยังเต็มอยู่อย่างเดิม ถ้อยคำที่ท่านกล่าวนี้ไม่เป็นจริง เราจึงรู้ได้ด้วยเหตุนี้ว่า สุรานี้เป็นสุราไม่ดีแน่.
จบ ปุณณปาติชาดกที่ ๓.
๔. ผลชาดก
การรู้จักผลไม้
[๕๔] ต้นไม้นี้ขึ้นก็ไม่ยาก ทั้งอยู่ไม่ไกลบ้าน เราจึงรู้ได้ด้วยเหตุนี้ว่า ต้นไม้นี้ ไม่ใช่ต้นไม้มีผลอร่อย.
จบ ผลชาดกที่ ๔.
๕. ปัญจาวุธชาดก
ว่าด้วยการบรรลุธรรมอันเกษม
[๕๕] นรชนใดมีจิตไม่ท้อถอย มีใจไม่หดหู่ เจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุธรรม อันเป็นแดนเกษมจากโยคะ นรชนนั้นพึงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ ทั้งปวงโดยลำดับ.
จบ ปัญจาวุธชาดกที่ ๕.
๖. กัญจนขันธชาดก
ว่าด้วยการบรรลุธรรมอันเกษม
[๕๖] นรชนใดมีจิตร่าเริง มีใจเบิกบาน เจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุธรรมอัน เป็นแดนเกษมจากโยคะ นรชนนั้นพึงบรรลุธรรม เป็นที่สิ้นสังโยชน์ ทั้งปวงได้โดยลำดับ.
จบ กัญจนขันธชาดกที่ ๖.
๗. วานรินทชาดก
ธรรมของผู้ล่วงพ้นศัตรู
[๕๗] ดูกรพระยาวานร ผู้ใดมีธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรมคือวิจารณ- ปัญญา ธิติคือความเพียร จาคะ เหมือนท่าน ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้.
จบ วานรินทชาดกที่ ๗.
๘. ตโยธรรมชาดก
ธรรมของผู้ล่วงพ้นศัตรู
[๕๘] ดูกรพระยาวานร ผู้ใดมีธรรม ๓ ประการนี้ คือ ความขยัน ความแกล้ว กล้า ปัญญาเหมือนท่าน ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้.
จบ ตโยธรรมชาดกที่ ๘.
๙. เภริวาทชาดก
ว่าด้วยการทำเกินประมาณ
[๕๙] ท่านจะตีก็พึงตีเถิด แต่อย่าตีให้เกินประมาณ เพราะการตีเกินประมาณ เป็นการชั่วช้าของเรา ทรัพย์ที่เราได้มาตั้งร้อยเพราะตีกลอง ได้ฉิบหาย ไป เพราะท่านตีกลองเกินประมาณ.
จบ เภริวาทชาดกที่ ๙.
๑๐. สังขธมนชาดก
ว่าด้วยการทำเกินประมาณ
[๖๐] ท่านจะเป่าก็จงเป่าเถิด แต่อย่าเป่าให้เกินประมาณ เพราะการเป่าเกิน ประมาณเป็นการชั่วช้าของเรา โภคะที่เราได้มาเพราะการเป่าสังข์ได้ ฉิบหายไป เพราะท่านเป่าสังข์เกินประมาณ.
จบ สังขธมนชาดกที่ ๑๐.
จบ อาสิงสวรรคที่ ๖.
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. มหาสีลวชาดก ๒. จูฬชนกชาดก ๓. ปุณณปาติชาดก ๔. ผลชาดก ๕. ปัญจาวุธชาดก ๖. กัญจนขันธชาดก ๗. วารินทชาดก ๘. ตโยธรรมชาดก ๙. เภริวาทชาดก ๑๐. สังขธมนชาดก.
-----------------------------------------------------
๗. อิตถีวรรค
๑. อาสาตมันตชาดก
ว่าด้วยหญิงเลวทราม
[๖๑] ขึ้นชื่อว่าหญิงในโลกนี้เลวทราม เพราะหญิงเหล่านั้นไม่มีเขตแดน มีแต่ ความกำหนัดยินดี คึกคะนองไม่มีเลือก เหมือนกับไฟที่ไหม้ไม่เลือก ฉะนั้น เราจักละทิ้งหญิงเหล่านั้นไปบวช พอกพูนวิเวก.
จบ อาสาตมันตชาดกที่ ๑.
๒. อัณฑภูตชาดก
ว่าด้วยการวางใจภรรยา
[๖๒] พราหมณ์ถูกภรรยาผูกหน้าให้ดีดพิณ ก็รู้ไม่ทันภรรยา ที่ท่านนำมาเลี้ยง ไว้แต่ยังไม่คลอด ใครจะวางใจในภรรยาเหล่านั้นได้.
จบ อัณฑภูตชาดกที่ ๒.
๓. ตักกชาดก
ว่าด้วยธรรมดาหญิง
[๖๓] ธรรมดาว่าหญิงเป็นคนมักโกรธ ไม่รู้จักคุณ ชอบส่อเสียด ชอบยุยงให้ แตกกัน ดูกรภิกษุ ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด ท่านจะไม่เสื่อม จากสุข.
จบ ตักกชาดกที่ ๓.
๔. ทุราชานชาดก
ภาวะของหญิงรู้ยาก
[๖๔] ท่านอย่าดีใจว่าหญิงปรารถนาเรา อย่าเศร้าโศก ว่าหญิงนี้ไม่ปรารถนา เรา ภาวะของหญิงทั้งหลายเป็นของรู้ได้ยาก เหมือนทางไปของปลาใน น้ำ ฉะนั้น.
จบ ทุราชานชาดกที่ ๔.
๕. อนภิรติชาดก
เปรียบหญิงเหมือนของ ๕ อย่าง
[๖๕] แม่น้ำ หนทาง โรงสุรา สภา และบ่อน้ำ ฉันใด ขึ้นชื่อว่าหญิง ในโลก ก็ฉันนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่โกรธหญิงเหล่านั้น.
จบ อนภิรติชาดกที่ ๕.
๖. มุทุลักขณชาดก
ว่าด้วยความต้องการไม่มีสิ้นสุด
[๖๖] ครั้งยังไม่ได้นางมุทุลักขณาเทวี เกิดความปรารถนาเพียงอย่างเดียว แต่ เมื่อได้นางลักขณาเทวีผู้มีดวงตางามแล้ว ได้เกิดความปรารถนาสิ่งต่างๆ ขึ้นอีก.
จบ มุทุลักขณชาดกที่ ๖.
๗. อุจฉังคชาดก
หญิงหาลูกหาผัวได้ง่าย
[๖๗] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ บุตรของหม่อมฉันหาได้ง่ายเหมือนกับเมี่ยง ในพก เมื่อหม่อมฉันเดินไปตามทาง สามีก็หาได้ง่าย หม่อมฉันไม่เห็น ประเทศที่จะนำพี่ชายผู้ร่วมอุทรมาได้.
จบ อุจฉังคชาดกที่ ๗.
๘. สาเกตชาดก
ว่าด้วยวางใจคนที่ชอบใจ
[๖๘] ใจฝังอยู่ในผู้ใด แม้จิตก็เลื่อมใสในผู้ใด เป็นคนที่ไม่เคยเห็นกันเลย ก็วางใจในผู้นั้นได้โดยแท้.
จบ สาเกตชาดกที่ ๘.
๙. วิสวันตชาดก
ตายเสียดีกว่าดูดพิษที่คายออกแล้ว
[๖๙] เราจักดูดพิษที่คายออกแล้ว เพราะเหตุแห่งชีวิตอันใด พิษที่คายออก แล้วนั้นน่าติเตียน เราตายเสียประเสริฐกว่าความเป็นอยู่.
จบ วิสวันตชาดกที่ ๙.
๑๐. กุททาลชาดก
ว่าด้วยความชนะที่ดี
[๗๐] ความชนะใดกลับแพ้ได้ ความชนะนั้นเป็นความชนะไม่ดี ความชนะใด ไม่กลับแพ้ ความชนะนั้นแลเป็นความชนะที่ดี.
จบ กุททาลชาดกที่ ๑๐.
จบ อิตถีวรรคที่ ๗.
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อาสาตมันตชาดก ๒. อัณฑภูตชาดก ๓. ตักกชาดก ๔. ทุราชานชาดก ๕. อนภิรติชาดก ๖. มุทุลักขณชาดก ๗. อุจฉังคชาดก ๘. สาเกตชาดก ๙. วิสวันตชาดก ๑๐. กุททาลชาดก.
-----------------------------------------------------
๘. วรุณวรรค
๑. วรุณชาดก
ว่าด้วยการทำไม่ถูกขั้นตอน
[๗๑] ผู้ใดปรารถนาจะทำกิจที่ควรทำก่อน ในภายหลัง ผู้นั้นย่อมเดือดร้อน ในภายหลัง เหมือนมาณพหักไม้กุ่ม ฉะนั้น.
จบ วรุณชาดกที่ ๑.
๒. สีลวนาคชาดก
คนอกตัญญูมองคนในแง่ร้าย
[๗๒] ถ้าใครๆ จะพึงให้สมบัติในแผ่นดินทั้งหมดแก่คนอกตัญญู ผู้มีปกติมอง หาโทษอยู่เป็นนิตย์ ก็ให้เขาพอใจไม่ได้.
จบ สีลวนาคชาดกที่ ๒.
๓. สัจจังกิรชาดก
ไม้ลอยน้ำดีกว่าคนอกตัญญู
[๗๓] ได้ยินว่า นรชนบางพวกในโลกนี้ ได้กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า การ เก็บไม้ที่ลอยน้ำขึ้นมายังดีกว่า ช่วยคนอกตัญญูบางคนขึ้นจากน้ำ ฯ
จบ สัจจังกิรชาดกที่ ๓.
๔. รุกขธรรมชาดก
ต้นไม้โดดเดี่ยวย่อมแพ้ลม
[๗๔] มีญาติมากเป็นความดี อนึ่ง ต้นไม้ที่เกิดขึ้นในป่าหลายต้นเป็นการดี ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่โดดเดี่ยว ถึงจะเป็นต้นไม้งอกงามใหญ่โตสักเท่าใด ลมก็ ย่อมพัดให้ล้มลงได้.
จบ รุกขธรรมชาดกที่ ๔.
๕. มัจฉชาดก
ว่าด้วยปลาขอฝน
[๗๕] ข้าแต่ฝน ขอท่านจงตกลงมาเถิด ขอจงทำลายขุมทรัพย์ของกาเสีย จงทำกาให้เศร้าโศก จงช่วยเปลื้องเราและพวกญาติๆ ให้พ้นจากความ เศร้าโศกด้วยเถิด.
จบ มัจฉชาดกที่ ๕.
๖. อสังกิยชาดก
เมตตากรุณาทำให้ปลอดภัย
[๗๖] เราไม่มีความระแวงในบ้าน ไม่มีภัยในป่า เราได้ขึ้นเดินทางตรงด้วย เมตตา และกรุณาแล้ว.
จบ อสังกิยชาดกที่ ๖.
๗. มหาสุบินชาดก
ว่าด้วยมหาสุบิน
[๗๗] หม่อมฉันได้ฝันเห็นโคอุสุภราช ๑ ต้นไม้ ๑ แม่โค ๑ โคสามัญ ๑ ม้า ๑ ถาดทองคำ ๑ สุนัขจิ้งจอก ๑ หม้อน้ำ ๑ สระโบกขรณี ๑ ข้าวสารที่หุง ไม่สุก ๑ แก่นจันทน์ ๑ น้ำเต้าจมน้ำ ๑ หินลอยน้ำ ๑ นางเขียดกลืนกิน งูเห่า ๑ หงส์ทองแวดล้อมกา ๑ เสือกลัวแพะ ๑ ดังนี้ ปริยายอันผิดจะ เป็นไปในยุคนี้ ยังไม่สำเร็จ.
จบ มหาสุบินชาดกที่ ๗.
๘. อิลลีสชาดก
ว่าด้วยคนมีรูปร่างเหมือนกัน
[๗๘] คนทั้ง ๒ คน เป็นคนกระจอก, คนค่อม ตาเหล่ เกิดต่อมที่ศีรษะ ข้าพระบาทไม่รู้ว่าคนไหนเป็นอิลลีสเศรษฐี?
จบ อิลลีสชาดกที่ ๘.
๙. ขรัสสรชาดก
ว่าด้วยบุตรที่มารดาละทิ้ง
[๗๙] เมื่อใดพวกโจรปล้น และฆ่าวัวกิน เผาบ้าน และจับคนไปเป็นเชลย เมื่อนั้น บุตรที่มารดาละทิ้งแล้ว จึงมาตีกลองเสียงดัง.
จบ ขรัสสรชาดกที่ ๙.
๑๐. ภีมเสนชาดก
ว่าด้วยคำแรกกับคำหลังไม่สมกัน
[๘๐] เมื่อก่อนนี้ ท่านพูดอวดเรา แต่ภายหลังเหตุไรท่านจึงถ่ายอุจจาระออกเล่า ดูกรภีมเสน คำทั้ง ๒ ย่อมไม่สมกัน คือ คำที่พูดถึงการรบและบัดนี้ ท่านเดือดร้อนใจอยู่.
จบ ภีมเสนชาดกที่ ๑๐.
จบ วรุณวรรคที่ ๘.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีวรรคนี้ คือ
๑. วรุณชาดก ๒. สีลวนาคชาดก ๓. สัจจังกิรชาดก ๔. รุกขธรรมชาดก ๕. มัจฉชาดก ๖. อสังกิยชาดก ๗. มหาสุบินชาดก ๘. อิลลีสชาดก ๙. ขรัสสรชาดก ๑๐. ภีมเสนชาดก.
-----------------------------------------------------
๙. อปายิมหวรรค
๑. สุราปานชาดก
โทษของการดื่มสุรา
[๘๑] พวกผมได้ดื่มสุราแล้ว พากันฟ้อนรำขับร้อง และร้องไห้ พวกผมดื่มสุรา อันกระทำให้เสียสติแล้ว ท่านอาจารย์ไม่ได้เห็น กลายเป็นเหมือนวานร ไป.
จบ สุราปานชาดกที่ ๑.
๒. มิตตวินทชาดก
ว่าด้วยจักรบดศีรษะ
[๘๒] ท่านเลยปราสาทแก้วผลึก ปราสาทเงิน และปราสาทแก้วมณีมาแล้ว ท่านนั้นเป็นผู้ถูกจักรกรดบนศีรษะแล้ว บาปยังไม่สิ้นตราบใด ท่านยังมี ชีวิตอยู่ ก็จักไม่พ้นจากจักรกรดตราบนั้น.
จบ มิตตวินทชาดกที่ ๒.
๓. กาฬกัณณิชาดก
ว่าด้วยมิตร
[๘๓] บุคคลชื่อว่า เป็นมิตรด้วยการเดินร่วมกัน ๗ ก้าว ชื่อว่าเป็นสหายด้วย การเดินร่วมกัน ๑๒ ก้าว และชื่อว่าเป็นญาติด้วยการอยู่ร่วมกันเดือนหนึ่ง หรือกึ่งเดือน ส่วนผู้ชื่อว่ามีตนเสมอกันก็ด้วยการอยู่รวมกันยิ่งกว่านั้น เราจะละทิ้งมิตร ชื่อว่ากาฬกัณณี ผู้ชอบกันมานาน เพราะความสุข ส่วนตัวได้อย่างไร?
จบ กาฬกัณณิชาดกที่ ๓.
๔. อัตถัสสทวารชาดก
ว่าด้วยคุณธรรม ๖ ประการ
[๘๔] บุคคลควรปรารถนาลาภอย่างเยี่ยม คือ ความไม่มีโรค ๑ ศีล ๑ ความรู้ ของท่านผู้รู้ทั้งหลาย ๑ การสดับฟัง ๑ ความประพฤติตามธรรม ๑ ความ ไม่ท้อถอย ๑ คุณธรรม ๖ ประการนี้ เป็นประตู เป็นประธานแห่งประ- โยชน์.
จบ อัตถัสสทวารชาดกที่ ๔.
๕. กิมปักกชาดก
ว่าด้วยโทษของกาม
[๘๕] ผู้ใดไม่รู้โทษในอนาคต มัวเสพกามอยู่ กามเหล่านั้นจะต้องล้างผลาญ ผู้นั้นในเวลาให้ผล เหมือนผลแห่งต้นกิมปักกพฤกษ์ ทำให้คนผู้ที่บริโภค ตายฉะนั้น.
จบ กิมปักกชาดกที่ ๕.
๖. สีลวีมังสนชาดก
ว่าด้วยผู้มีศีล
[๘๖] ได้ยินว่าศีลเป็นคุณชาติงามเป็นเยี่ยมในโลก เชิดดูงูใหญ่มีพิษร้ายแรง เป็นสัตว์มีศีล เหตุนั้น จึงไม่เบียดเบียนใคร.
จบ สีลวีมังสนชาดกที่ ๖.
๗. มังคลชาดก
ว่าด้วยถือมงคลตื่นข่าว
[๘๗] ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดี หรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงำกิเลส เครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพที่เป็นคูกั้น ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก.
จบ มังคลชาดกที่ ๗.
๘. สรัมภชาดก
ว่าด้วยการพูดดี-พูดชั่ว
[๘๘] บุคคลพึงเปล่งวาจางามเท่านั้น ไม่พึงเปล่งวาจาชั่วเลย การเปล่งวาจางาม ยังประโยชน์ให้สำเร็จ ผู้เปล่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน.
จบ สารัมภชาดกที่ ๘.
๙. กุหกชาดก
พูดดีได้เงินได้ทอง
[๘๙] ได้ยินว่า วาจาของท่านผู้พูดคำอ่อนหวานเป็นวาจาไพเราะ ท่านข้องอยู่ เพราะหญ้าเพียงเส้นเดียว แต่นำเอาทอง ๑๐๐ ลิ่มไปไม่ขัดข้อง.
จบ กุหกชาดกที่ ๙.
๑๐. อกตัญญูชาดก
ว่าด้วยคนอกตัญญู
[๙๐] ผู้ใดอันคนอื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน แต่ไม่รู้สึกคุณ เมื่อมี กิจเกิดขึ้นในภายหลัง ย่อมไม่ได้ผู้ช่วยเหลือ.
จบ อกตัญญูชาดกที่ ๑๐.
จบ อปายิมหวรรคที่ ๙.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สุราปานชาดก ๒. มิตตวินทชาดก ๓. กาฬกัณณิชาดก ๔. อัตถัสสทวารชาดก ๕. กิมปักกชาดก ๖. สีลวีมังสนชาดก ๗. มังคลชาดก ๘. สารัมภชาดก ๙. กุหกชาดก ๑๐. อกตัญญูชาดก.
-----------------------------------------------------
๑๐. ลิตตวรรค
๑. ลิตตชาดก
ว่าด้วยลูกสกาอาบยาพิษ
[๙๑] บุรุษกลืนกินลูกสกา อันย้อมด้วยยาพิษอย่างแรงกล้า ย่อมไม่รู้สึก ดูกร เจ้าคนร้าย เจ้านักเลงชั่วช้า จงกลืนกินเถิด จงกลืนกินเถิด เมื่อท่าน กลืนกินลูกสกาแล้ว ภายหลังยาพิษนี้จักแรงจัดขึ้น.
จบ ลิตตชาดกที่ ๑.
๒. มหาสารชาดก
ต้องการคนที่เหมาะกับเหตุการณ์
[๙๒] เมื่อสงครามเกิดขึ้น ย่อมต้องการคนกล้าหาญ เมื่อเกิดข่าวตื่นเต้นขึ้น ย่อมต้องการคนหนักแน่น เมื่อข้าวและน้ำมีบริบูรณ์ ย่อมต้องการคนที่รัก เมื่อข้อความลึกซึ้งเกิดขึ้น ย่อมต้องการบัณฑิต.
จบ มหาสารชาดกที่ ๒.
๓. วิสสาสโภชนชาดก
ว่าด้วยการไว้วางใจ
[๙๓] บุคคลไม่ควรไว้วางใจในผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน แม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้วก็ไม่ ควรไว้วางใจ ภัยย่อมมาจากผู้ที่คุ้นเคยกัน เหมือนภัยของราชสีห์ เกิดจาก แม่เนื้อฉะนั้น.
จบ วิสสาสโภชนชาดกที่ ๓.
๔. โลมหังสชาดก
ว่าด้วยการแสวงหาอย่างประเสริฐ
[๙๔] เราเป็นคนเร่าร้อน มีตัวอันเปียกชุ่ม อยู่แต่ผู้เดียวในป่าที่น่ากลัว เป็น คนเปลือยกาย ถึงแม้ความหนาวเบียดเบียนก็ไม่ผิงไฟ มุนีขวนขวาย ด้วยการแสวงหาอย่างประเสริฐ.
จบ โลมหังสชาดกที่ ๔.
๕. มหาสุทัสสนชาดก
ว่าด้วยสังขาร
[๙๕] สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับเป็นสุข.
จบ มหาสุทัสสนชาดกที่ ๕.
๖. เตลปัตตชาดก
ว่าด้วยการรักษาจิต
[๙๖] บุคคลพึงประคองภาชนะอันเต็มเปี่ยมด้วยน้ำมัน ฉันใด บัณฑิตผู้ปรารถนา จะไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไป ก็พึงตามรักษาจิตของตนไว้ด้วยสติ ฉันนั้น.
จบ เตลปัตตชาดกที่ ๖.
๗. นามสิทธิชาดก
ว่าด้วยชื่อไม่เป็นของสำคัญ
[๙๗] มาณพตนหนึ่งชื่อว่าปาปกะ ได้เห็นคนชื่อว่านายเป็นตายลง เห็นนางทาสี ชื่อว่านางรวยทรัพย์จน เห็นคนชื่อว่านางทางหลงทาง แล้วก็กลับมา.
จบ นามสิทธิชาดกที่ ๗.
๘. กูฏวาณิชชาดก
ว่าด้วยคนผู้เป็นบัณฑิต
[๙๘] ธรรมดาคนที่เป็นบัณฑิตเป็นคนดี คนที่เป็นบัณฑิตเกินไปเป็นคนไม่ดี เราถูกไฟลวกเพราะบุตรที่เป็นบัณฑิตเกินไป.
จบ กูฏวาณิชชาดกที่ ๘.
๙. ปโรสหัสสชาดก
ว่าด้วยคนผู้มีปัญญา
[๙๙] คนโง่เขลาประชุมกัน แม้ตั้งพันคนขึ้นไป พวกเขาไม่มีปัญญาพึงคร่ำ- ครวญอยู่ตลอดร้อยปี ผู้ใดรู้แจ้งเนื้อความแห่งภาษิต ผู้นั้นเป็นบุรุษมี ปัญญา คนเดียวเท่านั้น ประเสริฐ.
จบ ปโรสหัสสชาดก.
๑๐. อสาตรูปชาดก
สิ่งที่ครอบงำคนประมาท
[๑๐๐] สิ่งที่ไม่เป็นที่พอใจ สิ่งที่ไม่เป็นที่รัก สิ่งที่เป็นทุกข์ ย่อมครอบงำ ผู้ประมาทด้วยสิ่งเป็นที่พอใจ สิ่งเป็นที่รัก และสิ่งที่เป็นสุข.
จบ อสาตรูปชาดก.
จบ ลิตตวรรคที่ ๑๐.
จบ มัชฌิมปัณณาสก์.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ลิตตชาดก ๒. มหาสารชาดก ๓. วิสสาสโภชนชาดก ๔. โลมหังสชาดก ๕. มหาสุทัสสนชาดก ๖. เตลปัตตชาดก ๗. นามสิทธิชาดก ๘. กูฏวาณิชชาดก ๙. ปโรสหัสสชาดก ๑๐. อสาถูปชาดก.
-----------------------------------------------------
๑๑. ปโรสตวรรค
๑. ปโรสตชาดก
คนมีปัญญาคนเดียวดีกว่าคนโง่เขลาตั้งร้อย
[๑๐๑] คนโง่เขลามาประชุมกัน แม้ตั้งร้อยคนขึ้นไป พวกเขาไม่มีปัญญา พึงเพ่ง ดูอยู่ตั้งร้อยปี ผู้ใดรู้แจ้งเนื้อความแห่งภาษิต ผู้นั้นเป็นบุรุษมีปัญญา คนเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่า.
จบ ปโรสตชาดกที่ ๑.
๒. ปัณณิกชาดก
ว่าด้วยที่พึงให้โทษ
[๑๐๒] ผู้ใดเมื่อดิฉันได้รับทุกข์พึงเป็นที่พึ่งได้ ผู้นั้นคือบิดาของดิฉันกลับมาทำ ความประทุษร้ายแก่ดิฉันในป่า ดิฉันจะคร่ำครวญถึงใครในกลางป่า ผู้ใด ควรจะเป็นที่พึ่งของดิฉัน ผู้นั้นกลับมาทำกรรมอย่างสาหัส.
จบ ปัณณิกชาดกที่ ๒.
๓. เวริชาดก
การอยู่ร่วมกับมีเวรกัน
[๑๐๓] คนมีเวรกันอยู่ในที่ใด บัณฑิตไม่ควรอยู่ในที่นั้น เพราะเมื่ออยู่ในพวก คนมีเวรกันคืนเดียว หรือสองคืน ก็อยู่เป็นทุกข์.
จบ เวริชาดกที่ ๓.
๔. มิตตวินทชาดก
โทษผู้ลุอำนาจความปรารถนา
[๑๐๔] ผู้มีความปรารถนาจัด มี ๔ ก็ต้องการ ๘ มี ๘ ก็ต้องการ ๑๖ มี ๑๖ ก็ต้อง การ ๓๒ บัดนี้ มาได้รับกงจักรกรด กงจักรกรดพัดอยู่เหนือศีรษะ ของคนผู้ลุอำนาจความปรารถนา.
จบ มิตตวินทชาดกที่ ๔.
๕. ทุพพลกัฏฐชาดก
ว่าด้วยช้างกลัวไม้แห้ง
[๑๐๕] ลมย่อมพัดไม้แห้งที่ทุรพลในป่านี้ แม้มีจำนวนมากมายให้หักลง ดูกร ช้างตัวประเสริฐ ถ้าท่านมากลัวต่อไม้แห้งนั้น ท่านจักซูบผอมเป็นแน่.
จบ ทุพพลกัฏฐชาดกที่ ๕.
๖. อุทัญจนีชาดก
ว่าด้วยหญิงโจร
[๑๐๖] หญิงโจรผู้นำของไปด้วยหม้อน้ำ เบียดเบียนฉัน ผู้เคยมีชีวิตอยู่เป็นสุข จะขอน้ำมัน หรือเกลือ ก็ด้วยการกล่าวคำอ่อนหวานฐานเป็นภรรยา.
จบ อุทัญจนีชาดกที่ ๖.
๗. สาลิตตกชาดก
ว่าด้วยคนมีศิลปะ
[๑๐๗] ขึ้นชื่อว่าศิลปะแม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จโดยแท้ ขอเชิญพระองค์ ทรงทอดพระเนตร บุรุษเปลี้ยได้บ้านส่วยทั้ง ๔ ทิศ ก็เพราะการดีดมูลแพะ.
จบ สาลิตตกชาดกที่ ๗.
๘. พาหิยชาดก
เป็นคนควรศึกษาศิลปะ
[๑๐๘] บุคคลควรศึกษาศิลปะทั้งหลาย ชนทั้งหลายที่พอใจในศิลปะนั้นก็มีอยู่ แม้แต่หญิงที่เกิดในจังหวัดชั้นนอก ก็ยังทำให้พระราชาทรงโปรดปรานได้ ด้วยความกระมิดกระเมี้ยนของเธอ.
จบ พาหิยชาดกที่ ๘.
๙. กุณฑกปูวชาดก
ว่าด้วยมีอย่างไรกินอย่างนั้น
[๑๐๙] บุรุษกินอย่างไร เทวดาของบุรุษนั้นก็กินอย่างนั้น ท่านจงนำเอาขนมรำ นั้นมา อย่าให้ส่วนของเราเสียไปเลย.
จบ กุณฑกปูวชาดกที่ ๙.
๑๐. สัพพสังหารกปัญหา
ว่าด้วยการพูดของหญิง ๒ ประเภท
[๑๑๐] กลิ่นเครื่องอบทั้งปวงไม่มี มีแต่กลิ่นดอกประยงค์ล้วนฟุ้งไป หญิงนักเลง คนนี้ ย่อมกล่าวคำเหลาะแหละ หญิงผู้ใหญ่กล่าวคำจริง.
จบ สัพพสังหารกปัญหาที่ ๑๐.
จบ ปโรสตวรรคที่ ๑๑.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปโรสตชาดก ๒. ปัณณิกชาดก ๓. เวริชาดก ๔. มิตตวินทชาดก ๕. ทุพพลกัฏฐชาดก ๖. อุทัญจนีชาดก ๗. สาลิตตกชาดก ๘. พาหิยชาดก ๙. กุณฑกปูวชาดก ๑๐. สัพพสังหารกปัญหา.
-----------------------------------------------------
๑๒. หังสิวรรค
๑. คัทรภปัญหา
ว่าด้วยลากับม้าอัสดร
[๑๑๑] ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ถ้าพระองค์ทรงสำคัญอย่างนี้ว่าบิดาประเสริฐ กว่าบุตรไซร้ มิฉะนั้น ลาตัวนี้ก็ประเสริฐกว่าม้าอัสดรของพระองค์ เพราะว่าลาเป็นพ่อม้าอัสดร.
จบ คัทรภปัญหาที่ ๑.
๒. อมราเทวีปัญหา
บอกใบ้หนทางไปบ้าน
[๑๑๒] ร้านขายข้าวสัตตู ร้านขายน้ำส้มพะอูม และต้นทองหลางใบมนซึ่งมีดอก บานแล้ว มีอยู่ ณ ที่ใด ท่านจงไป ณ ที่นั้นเถิด ฉันให้ของด้วยมือใด ฉันย่อมกล่าวด้วยมือนั้น ฉันไม่ได้ของด้วยมือใด ฉันไม่กล่าวด้วยมือนั้น นี่เป็นหนทางของบ้านชื่อว่ายวมัชฌกคาม ท่านจงรู้ทางที่ฉันกล่าวปกปิด นี้เองเถิด.
จบ อมราเทวีปัญหา ที่ ๒.
๓. สิคาลชาดก
ว่าด้วยพราหมณ์เชื่อสุนัข
[๑๑๓] ดูกรพราหมณ์ ท่านเชื่อสุนัขผู้ดื่มสุราหรือ เพียง ๑๐๐ เบี้ยก็ไม่มี อย่าว่า ถึง ๒๐๐ กหาปณะเลย?
จบ สิคาลชาดกที่ ๓.
๔. มิตจินติชาดก
ว่าด้วยปลาช่วยปลาให้พ้นข่าย
[๑๑๔] ปลา ๒ ตัวคือ ปลาพหูจินตี และปลาอัปปจินตี ติดอยู่ในข่าย ปลาชื่อ มิตจินตีได้ช่วยให้พ้นจากข่าย ปลาทั้ง ๒ ตัวจึงได้มาพร้อมกันกับปลา จินตี ในแม่น้ำนั้น.
จบ มิตจินติชาดกที่ ๔.
๕. อนุสาสิกชาดก
ว่าด้วยดีแต่สอนผู้อื่น
[๑๑๕] นางนกสาลิกาตัวใด สั่งสอนนกตัวอื่นอยู่เนืองๆ ตัวเองมีปกติเที่ยวไป ด้วยละโมบ นางนกสาลิกาตัวนั้นถูกล้อบดแล้วมีปีกหักนอนอยู่.
จบ อนุสาสิกชาดกที่ ๕.
๖. ทุพพจชาดก
ได้รับโทษเพราะทำเกินไป
[๑๑๖] ท่านอาจารย์ ท่านได้ทำเกินไป การกระทำของท่านนั้นไม่ชอบใจแม้แก่ ข้าพเจ้า ท่านโดดพ้นหอกเล่มที่ ๔ แล้ว ถูกหอกเล่มที่ ๕ เสียบเข้าแล้ว.
จบ ทุพพจชาดกที่ ๖.
๗. ติตติรชาดก
ว่าด้วยตายเพราะปาก
[๑๑๗] วาจาที่ดังเกินไป ความเป็นผู้มีกำลังแรงเกินไป บุคคลกล่าวล่วงเวลา ย่อมฆ่าบุคคลผู้มีปัญญาทรามเสีย ดุจวาจาที่ฆ่านกกระทาผู้ขันดังเกินไป ฉะนั้น.
จบ ติตติรชาดกที่ ๗.
๘. วัฏฏกชาดก
ว่าด้วยการใช้ความคิด
[๑๑๘] บุรุษเมื่อไม่คิดก็ย่อมไม่ได้ผลพิเศษ ท่านจงดูผลแห่งอุบายที่เราคิดเถิด เราพ้นแล้วจากการฆ่าและจองจำ ก็ด้วยอุบายนั้น.
จบ วัฏฏกชาดกที่ ๘.
๙. อกาลราวิชาดก
ว่าด้วยไก่ขันไม่ถูกเวลา
[๑๑๙] ไก่ตัวนี้ไม่ได้เติบโตอยู่กับพ่อแม่ ไม่ได้อยู่ในสำนักอาจารย์ ย่อมไม่รู้จัก กาลที่ควรขัน และไม่ควรขัน.
จบ อกาลราวิชาดกที่ ๙.
๑๐. พันธนโมกขชาดก
ว่าด้วยการหลุดพ้นจากเครื่องผูกมัด
[๑๒๐] คนพาลทั้งหลายผู้ไม่ถูกผูกมัด กล่าวขึ้นในที่ใด ก็ย่อมถูกผูกมัดในที่นั้น ส่วนบัณฑิต แม้ถูกผูกมัดแล้ว กล่าวขึ้นในที่ใด ก็หลุดพ้นได้ในที่นั้น.
จบ พันธนโมกขชาดกที่ ๑๐.
จบ หังสิวรรคที่ ๑๒.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. คัทรภปัญหา ๒. อมราเทวีปัญหา ๓. สิคาลชาดก ๔. มิตจินติชาดก ๕. อนุสาสิกชาดก ๖. ทุพพจชาดก ๗. ติตติรชาดก ๘. วัฏฏกชาดก ๙. อกาลราวิชาดก ๑๐. พันธนโมกขชาดก.
-----------------------------------------------------
๑๓. กุสนาฬิวรรค
๑. กุสนาฬิชาดก
ว่าด้วยประโยชน์ของการผูกมิตร
[๑๒๑] บุคคลผู้เสมอกัน ประเสริฐกว่ากัน หรือเลวกว่ากัน พึงกระทำมิตร ธรรมเถิด เพราะมิตรเหล่านั้น เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น ก็พึงทำประโยชน์ อันอุดมให้ได้ ดุจเราผู้เป็นรุกขเทวดาและกุสนาฬิเทวดา คบหาเป็น มิตรกัน ฉะนั้น.
จบ กุสนาฬิชาดกที่ ๑.
๒. ทุมเมธชาดก
คนโง่ได้ยศไม่เป็นประโยชน์
[๑๒๒] ผู้มีปัญญาทรามได้ยศแล้ว ย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ย่อมปฏิบัติเพื่อความเบียดเบียนตนและคนอื่น ฯ
จบ ทุมเมธชาดกที่ ๒.
๓. นังคลีสชาดก
คนพาลกล่าวคำที่ไม่ควรกล่าว
[๑๒๓] คนพาล ย่อมกล่าวคำที่ไม่ควรกล่าวทุกอย่างได้ในทุกแห่ง คนพาลนี้ ไม่รู้จักเนยข้น และงอนไถ ย่อมสำคัญเนยข้นและนมสดว่าเหมือน งอนไถ.
จบ นังคลีสชาดกที่ ๓.
๔. อัมพชาดก
บัณฑิตควรพยายามร่ำไป
[๑๒๔] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตควรพยายามร่ำไป ไม่ควรเบื่อหน่าย จงดูผลแห่ง ความพยายาม ผลมะม่วงทั้งหลายที่หล่นให้บริโภคอยู่ก็ด้วยความพยายาม ทั้งนั้น ไม่ใช่ของที่ได้บินมาเลย.
จบ อัมพชาดกที่ ๔.
๕. กฏาหกชาดก
ว่าด้วยคนขี้โอ่
[๑๒๕] ผู้ใดไปสู่ชนบทอื่น ผู้นั้นพึงกล่าวอวดแม้มากมาย ดูกรกฏาหกะ เจ้าของเงินจะติดตามมาประทุษร้ายเอา เชิญท่านบริโภคอาหารเสีย เถิด.
จบ กฏาหกชาดกที่ ๕.
๖. อสิลักขณชาดก
ว่าด้วยเหตุอย่างเดียวคนได้ผลต่างกัน
[๑๒๖] เหตุอย่างเดียวกันนั่นแหละ เป็นผลดีแก่คนคนหนึ่ง แต่เป็นผลร้ายแก่ อีกคนหนึ่งได้ เพราะฉะนั้น เหตุอย่างเดียวกัน มิใช่ว่าจะเป็นผลดีไป ทั้งหมด และมิใช่ว่าจะเป็นผลร้ายไปทั้งหมด.
จบ อสิลักขณชาดกที่ ๖.
๗. กลัณฑุกชาดก
ว่าด้วยสกุลของนายกลัณฑุกะ
[๑๒๗] สกุลของท่านไม่ใช่สกุลสูง เราผู้เที่ยวอยู่ในป่าก็ยังรู้ได้ นายของท่าน ทราบแน่แล้วพึงจับท่านไป ดูกรนายกลัณฑุกะ ท่านจงดื่มน้ำนมเสียเถิด.
จบ กลัณฑุกชาดกที่ ๗.
๘. มูสิกชาดก
ว่าด้วยผู้เอาธรรมบังหน้า
[๑๒๘] ผู้ใดแลทำธรรมให้เป็นธง แต่ซ่อนความประพฤติไม่ดีไว้ล่อผู้อื่นให้ ตายใจ ความประพฤติของผู้นั้นชื่อว่า เป็นความประพฤติของแมว.
จบ มูสิกชาดกที่ ๘.
๙. อัคคิกชาดก
ว่าด้วยท่านอัคคิกะ
[๑๒๙] แหยมนี้ไม่มีอยู่เพราะเหตุแห่งบุญ มีอยู่เพราะเหตุจะกินผู้อื่น ฝูงหนู ย่อมไม่ถึงวิธีนับชื่ออังคุฏฐิ พอทีเถอะท่านอัคคิกะ.
จบ อัคคิกชาดกที่ ๙.
๑๐. โกสิยชาดก
ว่าด้วยถ้อยคำกับการกินไม่สมกัน
[๑๓๐] ดูกรท่านผู้โกสิยะ ท่านจงกินยาให้สมกับที่ท่านอ้างว่าป่วย หรือจงทำ การงานให้สมกับอาหารที่ท่านบริโภค เพราะถ้อยคำกับการกินของท่าน ทั้ง ๒ ประการ ไม่สมกัน.
จบ โกสิยชาดกที่ ๑๐.
จบ กุสนาฬิวรรคที่ ๑๓.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุสนาฬิชาดก ๒. ทุมเมธชาดก ๓. นังคลีสชาดก ๔. อัมพชาดก ๕. กฏาหกชาดก ๖. อสิลักขณชาดก ๗. กลัณฑุกชาดก ๘. มูสิกชาดก ๙. อัคคิกชาดก ๑๐. โกสิยชาดก.
๑๔. อสัมปทานวรรค
๑. อสัมปทานชาดก
การไม่รับของทำให้เกิดการแตกร้าว
[๑๓๑] ความไมตรีของผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งเป็นคนพาล ย่อมเป็นโทษแตกร้าวจากกัน เพราะไม่รับของไว้ เพราะฉะนั้น เราจึงรับเอาข้าวลีบกึ่ง ๑- มานะไว้ ด้วยมาคิดว่า ความไมตรีของเราอย่าได้แตกร้าวเสียเลย ขอให้ไมตรีของ เรานี้ ดำรงยั่งยืนต่อไปเถิด.
จบ อสัมปทานชาดกที่ ๑.
๒. ปัญจภีรุกชาดก
ว่าด้วยความสวัสดี
[๑๓๒] เราไม่ตกอยู่ในอำนาจของพวกผีเสื้อน้ำ เพราะความเพียรมั่นคง ดำรง อยู่ในคำแนะนำของผู้ฉลาด และเป็นผู้ขลาดต่อภัย ความสวัสดีจากภัย ใหญ่นั้น เกิดขึ้นแล้วแก่เรา.
จบ ปัญจภีรุกชาดกที่ ๒.
๓. ฆตาสนชาดก
ว่าด้วยภัยเกิดจากที่พึ่ง
[๑๓๓] ความเกษมมีอยู่บนหลังน้ำใด บนหลังน้ำนั้น มีข้าศึกมารบกวน ไฟลุก โพลงอยู่ ณ ท่ามกลางน้ำ วันนี้ การอยู่ของพวกเราที่ต้นไม้อันเกิดที่ แผ่นดินนี้ไม่มี ท่านทั้งหลายจงพากันหลีกไปเสียยังทิศทั้งหลายเถิด วันนี้ ภัยเกิดขึ้นจากที่พึ่งของพวกเรา.
จบ ฆตาสนชาดกที่ ๓.
@๑. ประมาณสี่ทะนาน
๔. ฌานโสธนชาดก
ว่าด้วยสุขเกิดจากสมาบัติ
[๑๓๔] สัตว์เหล่าใดเป็นผู้มีสัญญา แม้สัตว์เหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นทุคตะ สัตว์เหล่าใดเป็นผู้ไม่มีสัญญา ถึงสัตว์เหล่านั้นก็ชื่อว่า เป็นทุคตะ ท่าน จงละเว้นความเป็นสัญญีสัตว์และอสัญญีสัตว์ทั้ง ๒ นี้เสีย สุขอันเกิด จากสมาบัตินั้น เป็นของไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน.
จบ ฌานโสธนชาดกที่ ๔.
๕. จันทาภชาดก
ว่าด้วยผู้เข้าถึงอาภัสสรพรหม
[๑๓๕] ในโลกนี้ ผู้ใดหยั่งลงสู่แสงจันทร์และแสงอาทิตย์ด้วยปัญญา ผู้นั้นย่อม เข้าถึงอาภัสสรพรหมโลก ด้วยฌานอันไม่มีวิตก
จบ จันทาภชาดกที่ ๕.
๖. สุวรรณหังสชาดก
โลภมากลาภหาย
[๑๓๖] บุคคลได้สิ่งใด ควรยินดีด้วยสิ่งนั้น เพราะความโลภเกินประมาณ เป็นความลามก นางพราหมณีจับพระยาหงส์ได้แล้ว ก็เสื่อมจาก ทองคำ.
จบ สุวรรณหังสชาดกที่ ๖.
๗. พัพพุชาดก
ว่าด้วยวิธีให้แมวตาย
[๑๓๗] แมวตัวที่ ๑ ได้หนูหรือเนื้อในที่ใด แมวตัวที่ ๒ ที่ ๓ และ ที่ ๔ ก็ เกิดขึ้นในที่นั้น แมวเหล่านั้นได้พากันเอาอกฟาดปล่องแก้วผลึกนี้ แล้ว ถึงความสิ้นชีวิตทั้งหมด.
จบ พัพพุชาดกที่ ๗.
๘. โคธชาดก
ว่าด้วยฤาษีหลอกกินเหี้ย
[๑๓๘] ดูกรท่านผู้มีปัญญาทราม ประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชฎาทั้งหลาย ประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยหนังเสือ ภายในของท่านขรุขระ ท่านย่อม ขัดสีแต่ภายนอก.
จบ โคธชาดกที่ ๘.
๙. อุภโตภัฏฐชาดก
ว่าด้วยผู้เสียหายหมดทุกอย่าง
[๑๓๙] ตาของท่านก็แตก ผ้าของท่านก็หาย ภรรยาของท่านก็ทะเลาะกับหญิง เพื่อนบ้าน ท่านมีการงานเสีย ๒ ทาง คือ ทั้งทางน้ำและทางบก.
จบ อุภโตภัฏฐชาดกที่ ๙.
๑๐. กากชาดก
ว่าด้วยกาไม่มีมันเหลว
[๑๔๐] ขึ้นชื่อว่ากาทั้งหลาย มีใจหวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ เป็นผู้เบียดเบียนสัตว์ ทั้งปวง เพราะฉะนั้น กาทั้งหลายผู้เป็นญาติของเราจึงไม่มีมันเหลว.
จบ กากชาดกที่ ๑๐.
จบ อสัมปทานวรรคที่ ๑๔.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อสัมปทานชาดก ๒. ปัญจภีรุกชาดก ๓. ฆตาสนชาดก ๔. ฌานโสธนชาดก ๕. จันทาภชาดก ๖. สุวรรณหังสชาดก ๗. พัพพุชาดก ๘. โคธชาดก ๙. อุภโตภัฏฐชาดก ๑๐. กากชาดก.
-----------------------------------------------------
๑๕. กกัณฏกวรรค
๑. โคธชาดก
คบคนชั่วไม่มีความสุข
[๑๔๑] ผู้คบคนชั่ว ย่อมไม่ได้ความสุขโดยส่วนเดียว เขาย่อมทำตนให้ถึง ความพินาศ เหมือนตระกูลเหี้ย ไม่ได้ความสุขจากกิ้งก่า ฉะนั้น.
จบ โคธชาดกที่ ๑.
๒. สิคาลชาดก
ว่าด้วยทำอุบายนอนตาย
[๑๔๒] เหตุที่ท่านทำเป็นเหมือนนอนตายนี้ รู้ได้ยากอยู่ เพราะว่า เมื่อเราคาบ ปลายไม้ค้อนฉุดไป ไม้ค้อนก็ไม่หลุดจากมือของท่าน.
จบ สิคาลชาดกที่ ๒.
๓. วิโรจนชาดก
ว่าด้วยผู้ถูกเยาะเย้ย
[๑๔๓] มันสมองของท่านไหลออกแล้ว กระหม่อมของท่านก็ถูกทำลายแล้ว ซี่โครงของท่านหักพังไปสิ้นแล้ว วันนี้ ท่านย่อมรุ่งเรืองแท้.
จบ วิโรจนชาดกที่ ๓.
๔. นังคุฏฐชาดก
ว่าด้วยบูชาไฟด้วยหางวัว
[๑๔๔] ดูกรไฟผู้ชาติชั่ว หางวัวสำหรับที่ข้าพเจ้าจะบูชาท่านนี้มีมาก วันนี้ เนื้อวัว ไม่มีจะบูชาท่านผู้ไม่สมควรแก่เนื้อวัว ท่านจงรับแต่หางวัวเถิด.
จบ นังคุฏฐชาดกที่ ๔.
๕. ราธชาดก
ว่าด้วยพูดเพ้อเจ้อเพราะความเขลา
[๑๔๕] ดูกรราธะ ท่านไม่รู้จักคนทั้งหลายที่ยังไม่มาในเวลาปฐมยาม ท่านพูด เพ้อเจ้อไปตามความโง่เขลา นางพราหมณีผู้โกสิยโคตรเป็นหญิงไม่ดี หมดความรักใคร่ในบิดาของท่าน.
จบ ราธชาดกที่ ๕.
๖. กากชาดก
ว่าด้วยกาวิดน้ำด้วยปาก
[๑๔๖] เออก็คางของเราเมื่อยล้าแล้ว และปากของเราก็ซูบซีด เราพากันเลิก เถอะ อย่าวิดเลย เพราะมหาสมุทรก็ยังเต็มอยู่ตามเดิม.
จบ กากชาดกที่ ๖.
๗. บุปผรัตตชาดก
เป็นทุกข์เพราะภรรยาไม่ได้ผ้าย้อมดอกคำ
[๑๔๗] ความทุกข์เพราะถูกเสียบหลาวนี้ก็ดี ความทุกข์ที่ถูกกาจิกเราก็ดี ก็ไม่ เป็นความทุกข์ของเรา ความทุกข์ที่ว่าภรรยาของเราจะไม่ได้นุ่งห่มผ้าย้อม ดอกคำเที่ยวเล่นมหรสพในเดือน ๑๒ นี้ เป็นทุกข์ของเรา.
จบ บุปผรัตตชาดกที่ ๗.
๘. สิคาลชาดก
ว่าด้วยสุนัขเข้าอยู่ในท้องช้าง
[๑๔๘] เราจะไม่เข้าไปสู่ท้องช้างบ่อยๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะในเวลาที่เข้าไป อยู่ในท้องช้าง เราถูกภัยคุกคามแล้ว.
จบ สิคาลชาดกที่ ๘.
๙. เอกปัณณชาดก
ว่าด้วยต้นไม้ใบเดียว
[๑๔๙] ต้นไม้นี้มีเพียงใบเดียว จากพื้นสูงไม่เกิน ๔ นิ้ว ยังมีรสเช่นกับยาพิษ ต้นไม้นี้เติบโตขึ้นจักขมสักเพียงไหน?
จบ เอกปัณณชาดกที่ ๙.
๑๐. สัญชีวชาดก
ว่าด้วยโทษที่ยกย่องอสัตบุรุษ
[๑๕๐] ผู้ใดยกย่องอสัตบุรุษ และคบหาอสัตบุรุษ อสัตบุรุษย่อมทำผู้นั้นแหละ ให้เป็นอาหาร เหมือนเสือโคร่งที่ตายแล้ว สัญชีวมาณพร่ายมนต์ให้กลับ ฟื้นขึ้นมา ทำสัญชีวมาณพให้เป็นเหยื่อ ฉะนั้น.
จบ สัญชีวชาดกที่ ๑๐.
จบ กกัณฏกวรรคที่ ๑๕.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โคธชาดก ๒. สิคาลชาดก ๓. วิโรจนชาดก ๔. นังคุฏฐชาดก ๕. ราธชาดก ๖. กากชาดก ๗. บุปผรัตตชาดก ๘. สิคาลชาดก ๙. เอกปัณณชาดก ๑๐. สัญชีวชาดก.
-----------------------------------------------------
รวมวรรคที่มีในเอกกนิบาตนี้ คือ
๑. อปัณณกวรรค ๒. สีลวรรค ๓. กุรุงควรรค ๔. กุลาวกวรรค ๕. อัตถกามวรรค ๖. อาสิงสวรรค ๗. อิตถีวรรค ๘. วรุณวรรค ๙. อปายิมหวรรค ๑๐. ลิตตวรรค ๑๑. ปโรสตวรรค ๑๒. หังสิวรรค ๑๓. กุสนาฬิวรรค ๑๔. อสัมปทานวรรค ๑๕. กกัณฏกวรรค.
จบ เอกกนิบาตชาดก
-----------------------------------------------------
ทุกนิบาตชาดก
๑. ทัฬหวรรค
๑. ราโชวาทชาดก
ว่าด้วยวิธีชนะ
[๑๕๑] พระเจ้าพัลลิกราชทรงแข็งต่อผู้ที่แข็ง ทรงชำนะคนอ่อนด้วยความอ่อน ทรงชำนะคนดีด้วยความดี ทรงชำนะคนไม่ดีด้วยความไม่ดี พระราชา พระองค์นี้ เป็นเช่นนี้ ดูกรนายสารถี ท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของ เราเถิด. [๑๕๒] พระเจ้าพาราณสีทรงชำนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ ทรงชำนะคน ไม่ดีด้วยความดี ทรงชำนะคนตระหนี่ด้วยการให้ ทรงชำนะคนพูดเหลาะ แหละด้วยคำสัตย์ พระราชาพระองค์นี้ เป็นเช่นนี้ ดูกรนายสารถี ท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด.
จบ ราโชวาทชาดกที่ ๑.
๒. สิคาลชาดก
ว่าด้วยการทำโดยไม่พิจารณา
[๑๕๓] การงานเหล่านั้น ย่อมเผาบุคคลผู้มีการงานอันไม่ได้พิจารณาแล้ว รีบร้อน จะทำให้สำเร็จ เหมือนกับของร้อนที่บุคคลไม่พิจารณาก่อนแล้ว ใส่เข้า ไปในปาก ฉะนั้น. [๑๕๔] อนึ่ง ราชสีห์ได้แผดสีหนาทที่ภูเขาเงิน สุนัขจิ้งจอกอยู่ในภูเขาเงิน ได้ฟังราชสีห์แผดเสียงก็กลัวตาย หวาดกลัว หัวใจแตกตาย.
จบ สิคาลชาดกที่ ๒.
๓. สูกรชาดก
ว่าด้วยหมูท้าราชสีห์
[๑๕๕] ดูกรสหาย เราก็มี ๔ เท้า แม้ท่านก็มี ๔ เท้า จงกลับมาสู้กันก่อนเถิด สหาย ท่านกลัวหรือ จึงหนีไป? [๑๕๖] ดูกรหมู ท่านเป็นสัตว์สกปรก มีขนเหม็นเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป ดูกรสหาย ถ้าท่านประสงค์จะสู้รบกับเรา เราก็จะให้ชัยชนะแก่ท่าน.
จบ สูกรชาดกที่ ๓.
๔. อุรคชาดก
ว่าด้วยงูผู้มีคุณธรรมสูง
[๑๕๗] ในที่นี้ พระยานาคประเสริฐกว่างูทั้งหลาย พระยานาคต้องการจะพ้น ไปจากสำนักของข้าพเจ้าแปลงเพศเป็นดุจท่อนแก้วมณี เข้าไปอยู่ภายใน ผ้าเปลือกไม้นี้ ข้าพเจ้าเคารพยำเกรงเพศของพระคุณเจ้า ซึ่งเป็นเพศ ประเสริฐนัก แม้จะหิวก็ไม่อาจจะจับนาค ซึ่งเข้าไปอยู่ภายในผ้าเปลือก ไม้นั้นออกมากินได้. [๑๕๘] ท่านนั้น เคารพยำเกรงผู้มีเพศประเสริฐ แม้จะหิวก็ไม่อาจจะจับนาคซึ่ง เข้าไปอยู่ภายในผ้าเปลือกไม้นั้นออกมากินได้ ขอท่านนั้น จงเป็นผู้อัน พรหมคุ้มครอง ดำรงชีพอยู่สิ้นกาลนานเถิด อนึ่ง ขอภักษาหารอัน เป็นทิพย์จงปรากฏแก่ท่านเถิด.
จบ อุรคชาดกที่ ๓.
๕. ภัคคชาดก
ว่าด้วยอายุ
[๑๕๙] ข้าแต่ท่านบิดา ขอท่านจงเป็นอยู่ ๑๒๐ ปี ขอปีศาจจงอย่ากินฉันเลย ท่านจงเป็นอยู่ ๑๒๐ ปี เถิด. [๑๖๐] แม้ท่านก็จงเป็นอยู่ ๑๒๐ ปี พวกปีศาจจงกินยาพิษ ท่านจงเป็นอยู่ ๑๒๐ ปี.
จบ ภัคคชาดกที่ ๕.
๖. อลีนจิตตชาดก
ว่าด้วยกัลยาณมิตร
[๑๖๑] เสนาหมู่ใหญ่อาศัยเจ้าอลีนจิต มีใจรื่นเริง ได้จับเป็นพระเจ้าโกศล ผู้ไม่ทรงอิ่มพระทัยด้วยราชสมบัติของพระองค์ ฉันใด. [๑๖๒] ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยกัลยาณมิตรเป็นที่พึ่งอาศัย ปรารภความเพียร เจริญ กุศลธรรม เพื่อบรรลุนิพพานอันเกษมจากโยคะ พึงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้น ไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ ก็ฉันนั้น.
จบ อลีนจิตตชาดกที่ ๖.
๗. คุณชาดก
ว่าด้วยมิตรธรรม
[๑๖๓] ผู้เป็นใหญ่ย่อมขับไล่ผู้น้อยได้ตามความต้องการของตน นี่เป็นธรรมดา ของผู้มีกำลัง นางมฤคีผู้มีฟันคมแหลมของท่าน ได้คุกคามบุตรและภรรยา ของเรา ขอท่านจงทราบเถิด ภัยเกิดแต่ที่พึ่งแล้ว. [๑๖๔] ถ้าผู้ใด เป็นมิตรแม้จะมีกำลังน้อย แต่ตั้งอยู่ในมิตรธรรม ผู้นั้นชื่อว่า เป็นญาติ เป็นเผ่าพันธุ์ เป็นมิตร และเป็นสหายของเรา แน่ะนางมฤคี ท่านอย่าดูหมิ่นสหายของเราอีกนะ เพราะว่า สุนัขจิ้งจอกตัวนี้ให้ชีวิต เราไว้.
จบ คุณชาดกที่ ๗.
๘. สุหนุชาดก
ว่าด้วยการเปรียบเทียบม้า ๒ ม้า
[๑๖๕] การที่ม้าโกงสุหนุกระทำความรักกับม้าโสณะนี้ ย่อมมีด้วยปกติที่ไม่ เสมอกันก็หามิได้ ม้าโสณะ เป็นเช่นใด แม้ม้าสุหนุก็เป็นเช่นนั้น ม้าโสณะมีความประพฤติเช่นใด ม้าสุหนุก็มีความประพฤติเช่นนั้น. [๑๖๖] ม้าทั้งสองนั้น ย่อมเสมอกันด้วยการวิ่งไปด้วยความคะนอง และ ด้วยกัดเชือกที่ล่ามอยู่เป็นนิจ ความชั่วย่อมสมกับความชั่ว ความไม่ดี ย่อมสมกับความไม่ดี.
จบ สุหนุชาดกที่ ๘.
๙. โมรชาดก
ว่าด้วยนกยูงเจริญพระปริตต์
[๑๖๗] พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก กำลังอุทัยขึ้นมาทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอ นอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี ข้าพเจ้าอัน ท่านช่วยคุ้มกันแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง ขอพราหมณ์เหล่านั้น จงรับความนอบ น้อมของข้าพเจ้า และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ข้าพเจ้า ขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรม ของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว นกยูงนั้น เจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงเที่ยวไปแสวง หาอาหาร. [๑๖๘] พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก ส่องแสงสว่างไปทั่วปฐพีแล้วอัสดงคตไป เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอ นอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งส่องสว่างไปทั่วปฐพี ข้าพเจ้าอันท่านช่วย คุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึง ฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง ขอพราหมณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อม ของข้าพเจ้า และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ข้าพเจ้าขอ นอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของ ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว นกยูงนั้นเจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงสำเร็จการอยู่.
จบ โมรชาดกที่ ๙.
๑๐. วินีลกชาดก
ว่าด้วยการเลือกทำเลผิด
[๑๖๙] หงส์ ๒ ตัว พาเราผู้ชื่อว่าวินีลกะไป ฉันใด ม้าอาชาไนยก็พาพระเจ้า วิเทหราชผู้ครองเมืองมิถิลาให้เสด็จไป ฉันนั้นเหมือนกัน. [๑๗๐] แน่ะเจ้าวินีลกะ เจ้ามาคบ มาเสพ ภูเขาอันมิใช่ภูมิภาคทำเลของเจ้า เจ้าจงไปเสพอาศัยสถานที่ใกล้บ้านเถิด นั่นเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าและ มารดาของเจ้า.
จบ วินีลกชาดกที่ ๑๐.
จบ ทัฬหวรรคที่ ๑.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้
๑. ราโชวาทชาดก ๒. สิคาลชาดก ๓. สูกรชาดก ๔. อุรคชาดก ๕. ภัคคชาดก ๖. อลีนจิตตชาดก ๗. คุณชาดก ๘. สุหนุชาดก ๙. โมรชาดก ๑๐. วินีลกชาดก.
-----------------------------------------------------
๒. สันถวรรค
๑. อินทสมานโคตตชาดก
ว่าด้วยการสมาคมกับสัตบุรุษ
[๑๗๑] บุคคลไม่พึงทำความสนิทสนมกับบุรุษชั่วช้า ท่านผู้เป็นอริยะ รู้ประโยชน์ อยู่ ไม่พึงทำความสนิทสนมกับอนารยชน เพราะอนารยชนนั้น แม้อยู่ ร่วมกันเป็นเวลานาน ก็ย่อมทำบาปกรรม ดุจช้างผู้ทำลายล้างดาบสชื่อ อินทสมานโคตร ฉะนั้น. [๑๗๒] บุคคลพึงรู้บุคคลใดว่า ผู้นี้เช่นเดียวกับเรา โดยศีล ปัญญา และสุตะ พึงทำไมตรีกับบุคคลนั้นนั่นแล เพราะการสมาคมกับสัตบุรุษนำมาซึ่ง ความสุขแท้.
จบ อินทสมานโคตตชาดกที่ ๑.
๒. สันถวชาดก
ว่าด้วยความสนิทสนม
[๑๗๓] สิ่งอื่นที่จะชั่วช้ายิ่งขึ้นไปกว่าความสนิทสนมเป็นไม่มี ความสนิทสนม กับบุรุษเลวทราม เป็นความชั่วช้า เพราะไฟนี้เราให้อิ่มหนำแล้วด้วย สัปปิและข้าวปายาส ยังไหม้บรรณศาลาที่เราทำได้ยากให้พินาศ. [๑๗๔] สิ่งอื่นที่จะประเสริฐยิ่งไปกว่าความสนิทสนมเป็นไม่มี ความสนิทสนม กับสัตบุรุษ เป็นความประเสริฐ สามามฤคีเลียปากราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลืองได้ ก็เพราะความรักใคร่สนิทสนมกัน.
จบ สันถวชาดกที่ ๒.
๓. สุสีมชาดก
ว่าด้วยพระเจ้าสุสีมะ
[๑๗๕] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระนามว่าสุสีมะ ช้างประมาณ ๑๐๐ เชือกเศษนี้ ประดับด้วยข่ายทอง เป็นของพระองค์ พระองค์ทรงระลึกถึงการกระทำ แห่งพระบิดา และพระอัยยกาของพระองค์อยู่เนืองๆ ตรัสว่า เราจะให้ ช้างเหล่านั้นแก่พราหมณ์เหล่าอื่น ดังนี้ เป็นความจริงหรือ พระเจ้าข้า? [๑๗๖] ดูกรพ่อมาณพ ช้างประมาณ ๑๐๐ เชือกเศษนี้ประดับด้วยข่ายทอง ซึ่ง เป็นของเรา เราระลึกถึงการกระทำแห่งพระบิดา และพระอัยยกาอยู่ เนืองๆ พูดว่า เราจะให้ช้างเหล่านั้นแก่พราหมณ์เหล่าอื่น ดังนี้ เป็น ความจริง.
จบ สุสีมชาดกที่ ๓.
๔. คิชฌชาดก
ว่าด้วยสายตาแร้ง
[๑๗๗] เออก็ (เขากล่าวกันว่า) แร้งย่อมเห็นซากศพทั้งหลายได้ถึงร้อยโยชน์ เหตุไร ท่านมาถึงข่ายและบ่วงจึงไม่รู้เล่า? [๑๗๘] ความเสื่อมจะมีในเวลาใด สัตว์ใกล้จะสิ้นชีวิตในเวลาใด ในเวลานั้น ถึงจะมาใกล้ข่าย และบ่วงก็รู้ไม่ได้ ฯ
จบ คิชฌชาดกที่ ๔.
๕. นกุลชาดก
ว่าด้วยอย่าวางใจมิตร
[๑๗๙] ดูกรพังพอน ท่านได้ทำมิตรภาพกับงูผู้เป็นศัตรูแล้ว ไฉนจึงยังนอน แยกเขี้ยวอยู่อีกเล่า ภัยที่ไหนจะมาถึงแก่ท่านอีก? [๑๘๐] บุคคลพึงระแวงในศัตรูไว้ แม้ในมิตรก็ไม่ควรวางใจ ภัยเกิดขึ้นแล้ว จากมิตร ย่อมตัดมูลรากทั้งหลายเสีย.
จบ นกุลชาดกที่ ๕.
๖. อุปสาฬหกชาดก
ว่าด้วยคุณธรรมที่ไม่ตายไปจากโลก
[๑๘๑] พราหมณ์ชื่อว่าอุปสาฬหกทั้งหลาย ถูกญาติทั้งหลายเผาเสียในประเทศนี้ ประมาณหมื่นสี่พันชาติแล้ว สถานที่อันใครๆ ไม่เคยตายแล้ว ย่อม ไม่มีในโลก. [๑๘๒] สัจจะ ๑ ธรรม ๑ อหิงสา ๑ สัญญมะ ๑ ทมะ ๑ มีอยู่ในบุคคลใด พระอริยะทั้งหลายย่อมคบหาบุคคลนั้น คุณชาตินี้แลชื่อว่า ไม่ตายในโลก.
จบ อุปสาฬหกชาดกที่ ๖.
๗. สมิทธิชาดก
ว่าด้วยการไม่รู้เวลาตาย
[๑๘๓] ดูกรภิกษุ ท่านยังไม่ทันได้บริโภคกามเลย มาเที่ยวภิกษาเสีย ท่าน จะบริโภคกามเสียก่อนแล้วจึงเที่ยวภิกษาไม่ดีหรือ ดูกรภิกษุ ท่านจง บริโภคกามเสียก่อนแล้วจึงเที่ยวภิกษาเถิด เวลาบริโภคกามอย่าล่วงเลย ท่านไปเสียเลย. [๑๘๔] เรารู้เวลาตายไม่ได้โดยแท้ เวลาตายยังปกปิดอยู่ หาปรากฏไม่ เพราะ เหตุนั้น เราจึงไม่บริโภคกามแล้วเที่ยวภิกษา เวลากระทำสมณธรรมอย่า ล่วงเลยเราไปเสีย.
จบ สมิทธิชาดกที่ ๗.
๘. สกุณัคฆิชาดก
ว่าด้วยเหยี่ยวนกเขา
[๑๘๕] เหยี่ยวนกเขาบินโผลงด้วยกำลัง หมายใจว่า จะเฉี่ยวเอานกมูลไถ ซึ่ง จับอยู่ที่ชายดงเพื่อหาเหยื่อ โดยฉับพลัน เพราะเหตุนั้น จึงถึงความตาย. [๑๘๖] เรานั้น เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุบาย ยินดีแล้วในโคจรอันเนื่องมาแต่บิดา เห็นอยู่ซึ่งประโยชน์ของตน จึงหลีกพ้นไปจากศัตรู ย่อมเบิกบานใจ.
จบ สกุณัคฆิชาดกที่ ๘.
๙. อรกชาดก
ว่าด้วยการแผ่เมตตา
[๑๘๗] ผู้ใดแล ย่อมอนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งปวง ด้วยจิตเมตตาหาประมาณ มิได้ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวาง โดยประการทั้งปวง. [๑๘๘] จิตเกื้อกูลหาประมาณมิได้ เป็นจิตบริบูรณ์อัน ผู้นั้นอบรมดีแล้ว กรรมใด ที่เขาทำแล้วพอประมาณ กรรมนั้น จักไม่เหลืออยู่ในจิตนั้น.
จบ อรกชาดกที่ ๙.
๑๐. กกัณฏกชาดก
ว่าด้วยกิ้งก่าได้ทรัพย์
[๑๘๙] กิ้งก่าบนปลายเสาระเนียดนี้ ย่อมไม่อ่อนน้อมเหมือนเมื่อวันก่อน ดูกร มโหสถ ท่านจงรู้ว่า กิ้งก่ากระด้างเพราะเหตุไร? [๑๙๐] กิ้งก่ามันได้ทรัพย์กึ่งมาสกซึ่งมันไม่เคยได้ จึงได้ดูหมิ่นพระเจ้าวิเทหราช ผู้ครองเมืองมิถิลา.
จบ กกัณฏกชาดกที่ ๑๐.
จบ สันถวรรคที่ ๒.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อินทสมานโคตตชาดก ๒. สันถวชาดก ๓. สุสีมชาดก ๔. คิชฌชาดก ๕. นกุลชาดก ๖. อุปสาฬหกชาดก ๗. สมิทธิชาดก ๘. สกุณัคฆิชาดก ๙. อรกชาดก ๑๐. กกัณฏกชาดก
-----------------------------------------------------
๓. กัลยาณธรรมวรรค
๑. กัลยาณธรรมชาดก
ผู้มีกัลยาณธรรม
[๑๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน กาลใด บุคคลได้ธรรมสมัญญาในโลกว่า ผู้มีกัลยาณธรรม กาลนั้น นรชนผู้มีปัญญา ไม่พึงทำตนให้เสื่อมจาก สมัญญานั้นเสีย สัตบุรุษทั้งหลายย่อมถือไว้ซึ่งธุระด้วยหิริและโอตตัปปะ. [๑๙๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน สมัญญาว่า ผู้มีกัลยาณธรรมในโลกนี้ มาถึงข้าพระพุทธเจ้าแล้วในวันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นสมัญญาอัน นั้น จึงได้บวชเสียในคราวนี้ ความพอใจในการบริโภคกามในโลกนี้ มิได้มีแก่ข้าพระพุทธเจ้าเลย.
จบ กัลยาณธรรมชาดกที่ ๑.
๒. ทัททรชาดก
ราชสีห์กับสุนัขจิ้งจอก
[๑๙๓] ข้าแต่คุณพ่อผู้ครอบงำมฤคชาติทั้งหลาย ใครหนอมีเสียงใหญ่โตจริง ย่อมทำทัททรบรรพตให้บันลือสนั่นยิ่งนัก ราชสีห์ทั้งหลาย ย่อมไม่อาจ บันลือโต้ตอบมันได้ นั่นเรียกว่า สัตว์อะไร? [๑๙๔] ลูกเอ๋ย นั่นคือสุนัขจิ้งจอก เป็นสัตว์เลวทรามต่ำช้ากว่ามฤคชาติทั้งหลาย มันหอนอยู่ ราชสีห์ทั้งหลายรังเกียจชาติของมัน จึงได้พากันนิ่งเฉยเสีย.
จบ ทัททรชาดกที่ ๒.
๓. มักกฏชาดก
ว่าด้วยลิง
[๑๙๕] คุณพ่อครับ มาณพนั่นมายืนพิงต้นตาลอยู่ อนึ่ง เรือนของเรานี้ก็มีอยู่ ถ้ากระไร เราจะให้เรือนแก่มาณพนั้น. [๑๙๖] ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าเรียกมันมาเลย มันเข้ามาแล้ว จะพึงประทุษร้ายเรือน ของเรา หน้าของพราหมณ์ผู้มีศีลบริสุทธิ์ หาเป็นเช่นนี้ไม่.
จบ มักกฏชาดกที่ ๓.
๔. ทุพภิยมักกฏชาดก
ว่าด้วยการคบคนชั่ว
[๑๙๗] เราได้ให้น้ำเป็นอันมากแก่เจ้า ผู้ถูกความร้อนแผดเผา หิวกระหายอยู่ บัดนี้ เจ้าได้ดื่มน้ำแล้ว ยังหลอกล้อเปล่งเสียงว่า กิกิ อยู่ได้ การคบหา กับคนชั่ว ไม่ประเสริฐเลย. [๑๙๘] ท่านได้ยิน หรือได้เห็นมาบ้างหรือว่า ลิงตัวไหนชื่อว่า เป็นสัตว์มีศีล เราจะถ่ายอุจจาระรดศีรษะท่านเดี๋ยวนี้แล้วจึงจะไป นี่เป็นธรรมดาของ พวกเรา.
จบ ทุพภิยมักกฏชาดกที่ ๔.
๕. อาทิจจุปัฏฐานชาดก
ว่าด้วยลิงไหว้พระอาทิตย์
[๑๙๙] ได้ยินว่า ในบรรดาสัตว์ทั้งปวง สัตว์ผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลมีอยู่ ท่านจง ดูลิงผู้ลามก ยืนไหว้พระอาทิตย์อยู่เถิด. [๒๐๐] ท่านทั้งหลาย ไม่รู้จักปกติของมัน เพราะเหตุไม่รู้จึงได้พากันสรรเสริญ ลิงตัวนี้มันเผาโรงไฟเสีย และทุบต่อยคณโฑน้ำเสียสองใบ.
จบ อาทิจจุปัฏฐานชาดกที่ ๕.
๖. กฬายมุฏฐิชาดก
ว่าด้วยโลภมาก
[๒๐๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน ลิงผู้เที่ยวหาอาหารตามกิ่งไม้นี้ โง่ เขลายิ่งนัก ปัญญาของมันก็ไม่มี มันสาดถั่วทั้งกำเสียหมดสิ้น แล้ว เที่ยวค้นหาถั่วเมล็ดเดียวที่ตกลงยังพื้นดิน. [๒๐๒] ข้าแต่พระราชา พวกเราก็ดี ชนเหล่าอื่นที่โลภจัดก็ดี จะต้องละทิ้ง ของมากเพราะของน้อย เปรียบเหมือนวานรเสื่อมจากถั่วทั้งหมด เพราะ ถั่วเมล็ดเดียว ฉะนั้น.
๗. ตินทุกชาดก
ว่าด้วยอุบาย
[๒๐๓] มนุษย์ทั้งหลายมีมือถือแล่งธนู ถือดาบอันคมแล้ว พากันมาแวดล้อม พวกเราไว้โดยรอบ ด้วยอุบายอย่างไร พวกเราจึงจะรอดพ้นไปได้. [๒๐๔] ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะพึงเกิดมีแก่มนุษย์ทั้งหลายผู้มีกิจมาก เป็นแน่ ยังมีเวลาพอที่จะเก็บเอาผลไม้มากินได้ ท่านทั้งหลาย จง พากันกินผลมะพลับเถิด.
จบ ตินทุกชาดกที่ ๗.
๘. กัจฉปชาดก
ว่าด้วยเต่า
[๒๐๕] เราเกิดที่นี่ เติบโตที่นี่ เพราะเหตุนี้ เราจึงได้อาศัยอยู่ที่เปือกตม เปือกตมกลับทับถมเราให้ทุรพล ดูกรท่านภัคควะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอกล่าวกะท่าน ขอท่านจงฟังคำของข้าพเจ้าเถิด. [๒๐๖] บุคคลได้รับความสุขในที่ใด จะเป็นในบ้าน หรือในป่าก็ตาม ที่นั้นเป็น ที่เกิด เป็นที่เติบโตของบุรุษผู้รู้จักเหตุผล บุคคลพึงเป็นอยู่ได้ในที่ใด ก็พึงไปที่นั้น ไม่พึงให้ที่อยู่ฆ่าตนเสีย.
จบ กัจฉปชาดกที่ ๘.
๙. สตธรรมชาดก
ว่าด้วยสตธรรมมาณพ
[๒๐๗] อาหารที่เราบริโภค น้อยด้วย เป็นเดนด้วย อนึ่ง เขาให้แก่เราโดย ยากเย็นเต็มที เราเป็นชาติพราหมณ์บริสุทธิ์ เพราะเหตุนั้น อาหารที่ เราบริโภคเข้าไปแล้วจึงกลับออกมาอีก. [๒๐๘] ภิกษุใด ละทิ้งธรรมเสีย หาเลี้ยงชีพโดยไม่ชอบธรรม ภิกษุนั้น ก็ย่อม ไม่เพลินด้วยลาภ แม้ที่ได้มาแล้ว เปรียบเหมือนสตธรรมมาณพ ฉะนั้น.
จบ สตธรรมชาดกที่ ๙.
๑๐. ทุทททชาดก
ว่าด้วยคติของคนดีคนชั่ว
[๒๐๙] เมื่อสัตบุรุษทั้งหลาย ให้สิ่งของที่ให้ยาก ทำกรรมที่ทำได้ยาก อสัตบุรุษ ทั้งหลาย ย่อมทำตามไม่ได้ ธรรมของสัตบุรุษรู้ได้ยาก. [๒๑๐] เพราะเหตุนั้น คติจากโลกนี้ของสัตบุรุษและอสัตบุรุษจึงต่างกัน อสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก สัตบุรุษย่อมมีสวรรค์เป็นที่ไป ณ เบื้องหน้า.
จบ ทุทททชาดกที่ ๑๐.
จบ กัลยาณธรรมวรรคที่ ๓.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กัลยาณธรรมชาดก ๒. ทัททรชาดก ๓. มักกฏชาดก ๔. ทุพภิยมักกฏชาดก ๕. อาทิจจุปัฏฐานชาดก ๖. กฬายมุฏฐิชาดก ๗. ตินทุกชาดก ๘. กัจฉปชาดก ๙. สตธรรมชาดก ๑๐. ทุทททชาดก.
-----------------------------------------------------
๔. อสทิสวรรค
๑. อสทิสชาดก
ว่าด้วยอสทิสกุมาร
[๒๑๑] เจ้าชายพระนามว่าอสทิสกุมาร เป็นนักธนู มีกำลังมาก ยิงธนูให้ไป ตกในที่ไกลๆ ได้ ยิงไม่ค่อยพลาด สามารถทำลายของกองใหญ่ๆ ได้. [๒๑๒] พระองค์ทรงทำการรบให้ข้าศึกทั้งปวงหนีไป แต่มิได้เบียดเบียนใครๆ เลย ทรงทำพระกนิฏฐภาดาให้มีความสวัสดีแล้ว ก็เข้าถึงความสำรวม.
จบ อสทิสชาดกที่ ๑.
๒. สังคามาวจรชาดก
ว่าด้วยช้างเข้าสงคราม
[๒๑๓] ดูกรกุญชร ท่านปรากฏว่า เป็นผู้เคยเข้าสู่สงคราม มีความแกล้วกล้า มีกำลังมาก เข้ามาใกล้เขื่อนประตูแล้ว เหตุไรจึงถอยกลับเสียเล่า? [๒๑๔] ดูกรกุญชร ท่านจงหักล้างลิ่มกลอน ถอนเสาระเนียด และทำลาย เขื่อนทั้งหลายแล้ว เข้าประตูให้ได้โดยเร็วเถิด.
จบ สังคามาวจรชาดกที่ ๒.
๓. วาโลทกชาดก
ว่าด้วยน้ำหาง
[๒๑๕] (พระราชาตรัสถามว่า) ความเมาย่อมเกิดแก่ลาทั้งหลาย เพราะดื่มกิน น้ำหาง มีรสน้อย เป็นน้ำเลว แต่ความเมาย่อมไม่เกิดแก่ม้าสินธพ เพราะดื่มกินน้ำมีรสอร่อย ประณีต. [๒๑๖] (พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน สัตว์ผู้มี ชาติอันเลวทราม ดื่มกินน้ำมีรสน้อย อันรสนั้นถูกต้องแล้ว ย่อมเมา ส่วนสัตว์ผู้มีปกติทำธุระให้สำเร็จได้ เกิดในตระกูลสูง ดื่มกินรสอันเลิศ แล้ว ก็ไม่เมา.
จบ วาโลทกชาดกที่ ๓.
๔. คิริทัตตชาดก
ว่าด้วยการเอาอย่าง
[๒๑๗] (พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า) ม้าชื่อปัณฑวะของพระเจ้าสามะ ถูกนายควาญม้าชื่อคิริทัตต์ประทุษร้าย จึงละปกติเดิมของตน ศึกษา เอาอย่างนายควาญม้านั่นเอง. [๒๑๘] ถ้าบุรุษผู้บริบูรณ์ด้วยอาการอันงดงาม สมควรแก่ม้านั้น ตบแต่งร่าง กายงดงาม จับจูงม้านั้นที่บังเหียนพาเวียนไปรอบๆ สนามม้าไซร้ ไม่ช้า เท่าไร ม้านี้ก็จะละความเป็นกระจอกเสีย ศึกษาเอาอย่างบุรุษนั้นเทียว.
จบ คิริทัตตชาดกที่ ๔.
๕. อนภิรติชาดก
ว่าด้วยจิตขุ่นมัว-ไม่ขุ่นมัว
[๒๑๙] เมื่อน้ำขุ่นมัว ไม่ใส บุคคลย่อมไม่แลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์ ตน และประโยชน์ผู้อื่น ฉันนั้น. [๒๒๐] เมื่อน้ำไม่ขุ่นมัว ใสบริสุทธิ์ บุคคลย่อมแลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมเห็น ประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น ฉันนั้น.
จบ อนภิรติชาดกที่ ๕.
๖. ทธิวาหนชาดก
ว่าด้วยพระเจ้าทธิวาหนะ
[๒๒๑] (พระเจ้าทธิวาหนะตรัสถามว่า) แต่ก่อนมา มะม่วงต้นนี้บริบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส ได้รับการบำรุงอยู่เช่นเดิม เหตุไรจึงมีผลขื่นขมไปเล่า? [๒๒๒] (พระโพธิสัตว์ทูลว่า) ข้าแต่พระเจ้าทธิวาหนะ มะม่วงของพระองค์ มีต้นสะเดาแวดล้อมอยู่ รากต่อรากเกี่ยวพันกัน กิ่งต่อกิ่งเกี่ยวประสาน กัน เหตุที่อยู่ร่วมกันกับต้นสะเดาที่มีรสขม มะม่วงจึงมีผลขมไปด้วย.
จบ ทธิวาหนชาดกที่ ๖.
๗. จตุมัฏฐชาดก
ผู้เลวทราม ๔ อย่าง
[๒๒๓] ท่านทั้งสองพากันขึ้นไปบนค่าคบไม้อันสูง อยู่ในที่ลับแล้วปรึกษากัน เชิญท่านลงมาปรึกษากันในที่ต่ำเถิด พระยาเนื้อจักได้ฟังบ้าง. [๒๒๔] สุบรรณกับสุบรรณเขาปรึกษากัน เทวดากับเทวดาเขาพูดกันในเรื่องนี้ จะมีประโยชน์อะไรแก่สุนัขจิ้งจอกเลวทราม ๔ อย่าง (สรีระ ๑ ชาติ ๑ เสียง ๑ คุณ ๑) เล่า แน่ะสุนัขจิ้งจอกตัวชาติชั่ว เจ้าจงเข้าไปสู่ ปล่องเถิด.
จบ จตุมัฏฐชาดกที่ ๗.
๘. สีหโกตถุกชาดก
ตัวเหมือนราชสีห์แต่เสียงไม่เหมือน
[๒๒๕] ราชสีห์ตัวนั้น นิ้วก็นิ้วราชสีห์ เล็บก็เล็บราชสีห์ ยืนก็ยืนด้วยเท้าราชสีห์ มีอยู่ตัวเดียวในหมู่ราชสีห์ ย่อมบันลือด้วยเสียงอีกอย่างหนึ่ง. [๒๒๖] ดูกรเจ้าเป็นบุตรแห่งราชสีห์ เจ้าอย่าบันลือเสียงอีกเลย จงมีเสียง เบาๆ อยู่ในป่า เขาทั้งหลายพึงรู้จักเจ้าด้วยเสียงนั่นแหละ เพราะเสียง ของเจ้า ไม่เหมือนกับเสียงราชสีห์ผู้เป็นบิดา.
จบ สีหโกตถุกชาดกที่ ๘.
๙. สีหจัมมชาดก
ลาปลอมเป็นราชสีห์
[๒๒๗] นี่ไม่ใช่เสียงบันลือของราชสีห์ ไม่ใช่เสียงบันลือของเสือโคร่ง ไม่ ใช่เสียงบันลือของเสือเหลือง ลาผู้ลามกคลุมตัวด้วยหนังราชสีห์บัน ลือเสียง. [๒๒๘] ลาเอาหนังราชสีห์คลุมตัว เที่ยวกินข้าวกล้านานมาแล้ว ร้องให้เขารู้ ว่า เป็นตัวลา ได้ประทุษร้ายตนเองแล้ว.
จบ สีหจัมมชาดกที่ ๙.
๑๐. สีลานิสังสชาดก
ว่าด้วยอานิสงส์ศีล
[๒๒๙] จงดูผลของศรัทธา ศีล และจาคะ นี้เถิด พระยานาคนิรมิตเพศเป็น เรือ พาอุบาสกผู้มีศรัทธาไป. [๒๓๐] บุคคลพึงสมาคมกับสัตบุรุษทั้งหลายเถิด พึงทำความสนิทสนมกับ สัตบุรุษทั้งหลายเถิด ด้วยว่าช่างกัลบกถึงความสวัสดีได้ ก็เพราะการ อยู่ร่วมกับสัตบุรุษทั้งหลาย.
จบ สีลานิสังสชาดกที่ ๑๐.
จบ อสทิสวรรคที่ ๔.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อสทิสชาดก ๒. สังคามาวจรชาดก ๓. วาโลทกชาดก ๔. คิริทัตตชาดก ๕. อนภิรติชาดก ๖. ทธิวาหนชาดก ๗. จตุมัฏฐชาดก ๘. สีหโกตถุกชาดก ๙. สีหจัมมชาดก ๑๐. สีลานิสังสชาดก.
-----------------------------------------------------
๕. รุหกวรรค
๑. รุหกชาดก
[๒๓๑] ดูกรพ่อรุหกะ สายธนูถึงขาดแล้วก็ยังต่อกันได้อีก ท่านจงคืนดีกันเสีย กับภรรยาเก่าเถิด อย่าลุอำนาจแก่ความโกรธเลย. [๒๓๒] เมื่อป่านยังมีอยู่ ช่างทำก็ยังมีอยู่ ข้าพระบาทจักกระทำสายอื่นใหม่ พอ กันทีสำหรับสายเก่า.
จบ รุหกชาดกที่ ๑.
๒. สิริกาฬกัณณิชาดก
ว่าด้วยสิริกับกาฬกรรณี
[๒๓๓] หญิงที่มีรูปงาม ทั้งมีศีลาจารวัตร บุรุษไม่พึงปรารถนาหญิงนั้น ท่านเชื่อ ไหม มโหสถ? [๒๓๔] ข้าแต่มหาราชะ ข้าพระบาทเชื่อ บุรุษคงเป็นคนต่ำต้อย สิริกับกาฬกรรณี ย่อมไม่สมกันเลยไม่ว่าในกาลไหนๆ.
จบ สิริกาฬกัณณิชาดกที่ ๒.
๓. จุลลปทุมชาดก
ว่าด้วยการลงโทษหญิงชายทำชู้กัน
[๒๓๕] หญิงคนนี้แหละ คือหญิงคนนั้น ถึงเราก็คือบุรุษคนนั้น ไม่ใช่คนอื่น บุรุษคนนี้แหละที่หญิงคนนี้อ้างว่า เป็นผัวของเรามาตั้งแต่เป็นเด็ก ก็คือ บุรุษที่ถูกตัดมือ หาใช่คนอื่นไม่ ขึ้นชื่อว่า หญิงทั้งหลายควรฆ่าเสียให้ หมดเลย ความสัตย์ไม่มีในหญิงทั้งหลาย. [๒๓๖] ท่านทั้งหลายจงฆ่าบุรุษผู้ชั่วช้าลามกราวกับซากผี มักทำชู้กับภรรยาผู้อื่น คนนี้ เสียด้วยสาก จงตัดหู ตัดจมูก ของหญิงผู้ทำร้ายผัวชั่วช้าลามกคนนี้ เสียทั้งเป็นๆ เถิด.
จบ จุลลปทุมชาดกที่ ๓.
๔. มณิโจรชาดก
ว่าด้วยพระเจ้าอธรรมิกราช
[๒๓๗] เทวดาทั้งหลาย (ผู้ดูแลรักษาชนผู้มีศีลและคอยกีดกันคนชั่ว) ย่อมไม่มี อยู่ในโลกเป็นแน่ หรือเมื่อกิจเห็นปานนี้เกิดขึ้น ย่อมพากันไปค้างแรม เสียเป็นแน่ อนึ่ง สมณพราหมณ์ทั้งหลายอันเขาสมมติว่า เป็นผู้รักษา โลก ไม่มีอยู่ในโลกนี้เป็นแน่ เมื่อชนทุศีลทั้งหลายกระทำกรรมอันสาหัส บุคคลผู้ห้ามปรามไม่มีอยู่เป็นแน่? [๒๓๘] ในรัชสมัยของพระเจ้าอธรรมิกราช ฝนย่อมตกในเวลาอันไม่ควรจะตก ในเวลาที่ควรจะตกก็ไม่ตก พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมจุติจาก ฐานะคือสวรรค์ พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมนั้น ใช่ว่าจะได้รับความ ยากเข็ญด้วยเหตุมีประมาณเท่านั้นก็ไม่.
จบ มณิโจรชาดกที่ ๔.
๕. ปัพพตูปัตถรชาดก
ว่าด้วยสระที่เชิงเขาลาด
[๒๓๙] สระโบกขรณีอันเกษม เกิดอยู่ที่เชิงเขาลาด น่ารื่นรมย์ สุนัขจิ้งจอกรู้ว่า สระนั้นอันราชสีห์รักษาอยู่ กล้าลงไปดื่มน้ำได้. [๒๔๐] ข้าแต่มหาราชะ ถ้าสัตว์ทั้งหลายที่มีเท้า ย่อมพากันดื่มน้ำในแม่น้ำใหญ่ ไซร้ แม่น้ำจะกลายเป็นไม่ใช่แม่น้ำเพราะเหตุนั้นก็หาไม่ ถ้าบุคคลทั้ง สองนั้น เป็นที่รักของพระองค์ไซร้ พระองค์ก็ทรงงดโทษเสีย.
จบ ปัพพตูปัตถรชาดกที่ ๕.
๖. วลาหกัสสชาดก
ว่าด้วยความสวัสดี
[๒๔๑] นรชนเหล่าใด ไม่ทำตามโอวาทอันพระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว นรชน เหล่านั้นจักต้องถึงความพินาศ เปรียบเหมือนพ่อค้าทั้งหลายถูกนางผีเสื้อ หลอกลวงให้อยู่ในอำนาจ ฉะนั้น. [๒๔๒] นรชนเหล่าใด ทำตามโอวาทอันพระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว นรชน เหล่านั้น จักถึงฝั่งสวัสดี ดุจพ่อค้าทั้งหลายทำตามถ้อยคำอันม้าวลาหก กล่าวแล้ว ฉะนั้น.
จบ วลาหกัสสชาดกที่ ๖.
๗. มิตตามิตตชาดก
อาการของผู้เป็นมิตรและมิใช่มิตร
[๒๔๓] ศัตรูเห็นเข้าแล้วไม่ยิ้มแย้ม ไม่แสดงความยินดีตอบ สบตากันแล้ว เบือนหน้าหนี ไม่แลดู ประพฤติตรงกันข้ามเสมอ. [๒๔๔] อาการเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในศัตรู เป็นเครื่องให้บัณฑิตเห็น และได้ฟัง แล้ว พึงรู้ได้ว่า เป็นศัตรู.
จบ มิตตามิตตชาดกที่ ๗.
๘. ราธชาดก
ว่าด้วยเรื่องจริงเก่าไม่ดีไม่ควรพูด
[๒๔๕] ลูกรัก พ่อกลับมาจากที่ค้างแรม กลับมาเดี๋ยวนี้เอง ไม่นานเท่าไรนัก แม่ของเจ้าไม่ไปคบหาบุรุษอื่นดอกหรือ? [๒๔๖] ธรรมดาบัณฑิต ไม่พูดวาจาที่ประกอบด้วยความจริง แต่ไม่ดี ขืนพูดไปจะ ต้องนอนอยู่ ดุจนกแขกเต้าชื่อว่าโปฏฐปาทะถูกเผานอนจมอยู่ในเตาไฟ ฉะนั้น.
จบ ราธชาดกที่ ๘.
๙. คหปติชาดก
ว่าด้วยการทวงในเวลายังไม่ถึงกำหนด
[๒๔๗] กรรมทั้งสองไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจ ก็หญิงคนนี้ลงไปในฉางข้าว แล้วพูดว่า เรายังใช้หนี้ให้ไม่ได้. [๒๔๘] ดูกรนายบ้าน เพราะเหตุนั้น เราจึงพูดกะท่าน ท่านมาทวงค่าเนื้อวัวแก่ ซูบผอม ซึ่งเราได้ทำสัญญาผลัดไว้ถึงสองเดือน ในคราวเมื่อชีวิตของ เราน้อย ลำบากยากเข็ญ ในกาลยังไม่ทันถึงกำหนดสัญญา กรรมทั้งสอง นั้น ไม่ถูกใจเราเสียเลย.
จบ คหปติชาดกที่ ๙.
๑๐. สาธุสีลชาดก
ว่าด้วยเลือกเอาผู้มีศีล
[๒๔๙] เราขอถามท่านพราหมณ์ว่า ๑. คนมีรูปงาม ๒. คนอายุมาก ๓. คน มีชาติสูง ๔. คนมีศีลดี ๔ คนนั้น ท่านจะเลือกเอาคนไหน? [๒๕๐] ประโยชน์ในร่างกายก็มีอยู่ ข้าพเจ้าขอทำความนอบน้อมแก่ท่านผู้เจริญวัย ประโยชน์ในบุรุษผู้มีชีวิตดีก็มีอยู่ ศีลแล พวกเราชอบใจ.
จบ สาธุสีลชาดกที่ ๑๐.
จบ รุหกวรรคที่ ๕.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. รุหกชาดก ๒. สิริกาฬกัณณิชาดก ๓. จุลลปทุมชาดก ๔. มณิโจรชาดก ๕. ปัพพตูปัตถรชาดก ๖. วลาหกัสสชาดก ๗. มิตตามิตตชาดก ๘. ราธชาดก ๙. คหปติชาดก ๑๐. สาธุสีลชาดก.
-----------------------------------------------------
๖. นตังทัฬหวรรค
๑. พันธนาคารชาดก
ว่าด้วยเครื่องผูก
[๒๕๑] เครื่องผูกอันใด ที่ทำด้วยเหล็กก็ดี ทำด้วยไม้ก็ดี ทำด้วยหญ้าปล้องก็ดี นักปราชญ์ไม่กล่าวเครื่องผูกนั้นว่า เป็นเครื่องผูกอันมั่นคง ความกำหนัด ยินดีในแก้วมณีและกุณฑลก็ดี ความห่วงใยในบุตรและภรรยาก็ดี. [๒๕๒] นักปราชญ์กล่าวเครื่องผูกนั้นว่า เป็นเครื่องผูกอันมั่นคง ทำให้สัตว์ตกต่ำ หย่อน แก้ได้ยาก แม้เครื่องผูกนั้น นักปราชญ์ก็ตัดได้ ไม่มีความห่วงใย ละกามสุข หลีกออกไปได้.
จบ พันธนาคารชาดกที่ ๑.
๒. เกฬิสีลชาดก
ว่าด้วยปัญญาสำคัญกว่าร่างกาย
[๒๕๓] หงส์ก็ดี นกกระเรียนก็ดี นกยูงก็ดี ช้างก็ดี ฟานก็ดี ย่อมกลัวราชสีห์ ทั้งนั้น จะถือเอาร่างกายเป็นประมาณไม่ได้ ฉันใด. [๒๕๔] ในหมู่มนุษย์ ก็ฉันนั้น ถ้าแม้เด็กมีปัญญา ก็เป็นผู้ใหญ่ได้ คนโง่ถึง ร่างกายจะใหญ่โต ก็เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้.
จบ เกฬิสีลชาดกที่ ๒.
๓. ขันธปริตตชาดก
ว่าด้วยพระปริตต์ป้องกันสัตว์ร้ายต่างๆ
[๒๕๕] ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับตระกูลพระยางูชื่อว่า วิรูปักขะ ขอไมตรีจิต ของเราจงมีกับตระกูลพระยางูชื่อว่า เอราปถะ ขอไมตรีจิตของเราจงมี กับตระกูลพระยางูชื่อว่า ฉัพยาปุตตะ (และ) ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับ ตระกูลพระยางูชื่อว่า กัณหาโคตมกะ ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับสัตว์ ที่ไม่มีเท้า สัตว์ที่มี ๒ เท้า สัตว์ที่มี ๔ เท้า สัตว์ที่มีเท้ามากขอสัตว์ที่ ไม่มีเท้า สัตว์ที่มี ๒ เท้า สัตว์ที่มี ๔ เท้า สัตว์ที่มีเท้ามากอย่าได้ เบียดเบียนเราเลย ขอสัตว์ผู้ข้องอยู่ สัตว์ที่มีลมปราณ สัตว์ผู้เกิดแล้ว หมดทั้งสิ้นด้วยกัน จงประสบพบแต่ความเจริญทั่วกัน ความทุกข์ อันชั่วช้า อย่าได้มาถึงสัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งเลย. [๒๕๖] พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีพระคุณหาประมาณมิได้ บรรดาสัตว์ เลื้อยคลาน คือ งู แมงป่อง ตะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก และหนู เป็นสัตว์ประมาณได้ เราได้ทำการรักษาตัวแล้ว ป้องกันตัวแล้ว ขอ สัตว์ทั้งหลายจงพากันหลีกไป ข้าพเจ้านั่นขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระ- ภาค ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ พระองค์.
จบ ขันธปริตตชาดกที่ ๓.
๔. วีรกชาดก
ว่าด้วยโทษการเอาอย่างผู้อื่น
[๒๕๗] ข้าแต่ท่านวีรกะ ท่านเห็นนกที่ร้องเสียงเพราะ มีสีเสมอด้วยสร้อยคอ แห่งนกยูง ตัวเป็นผัวของฉันชื่อว่า สวิฏฐกะบ้างไหม? [๒๕๘] นกสวิฏฐกะ เมื่อทำตามภรรยาของปักษีตัวผู้เที่ยวไปได้ทั้งทางน้ำ และ ทางบก บริโภคปลาสดเป็นนิจนั้น ถูกสาหร่ายพันคอตายเสียแล้ว.
จบ วีรกชาดกที่ ๔.
๕. คังเคยยชาดก
ว่าด้วยผู้ชอบโอ้อวด
[๒๕๙] ปลาชื่อคังเคยยะก็งาม และปลาชื่อยมุนาก็งาม แต่สัตว์ ๔ เท้า มีปริ- มณฑลเพียงดังต้นไทร มีคอยาวหน่อยหนึ่ง ตัวนี้ ย่อมรุ่งเรืองยิ่งกว่า ใครทั้งหมด. [๒๖๐] ท่านไม่บอกเหตุที่เราถาม เราถามอย่างหนึ่ง ท่านบอกเสียอย่างหนึ่ง คน สรรเสริญตนเองนี้ ไม่ชอบใจเราเลย.
จบ คังเคยยชาดกที่ ๕.
๖. กุรุงคมิคชาดก
ว่าด้วยการร่วมมือกัน
[๒๖๑] ดูกรเต่า เราขอเตือน ท่านจงกัดบ่วงอันมีเกลียวแข็งด้วยฟัน เราจัก ทำอุบายไม่ให้นายพรานมาถึงเร็วได้. [๒๖๒] เต่าก็ลงน้ำไป กวางก็เข้าป่าไป นกสตปัตตะไปถึงต้นไม้แล้ว ก็พาลูกๆ ไปอยู่ในที่ห่างไกล.
จบ กุรุงคมิคชาดกที่ ๖.
๗. อัสสกชาดก
ไม่รู้ของจริงเพราะมีสิ่งใหม่ๆ ปิดไว้
[๒๖๓] ประเทศนี้ เราผู้มีความจงรัก ได้เที่ยวเล่นอยู่กับพระเจ้าอัสสกะ ผู้เป็น พระสวามีที่รัก. [๒๖๔] ความสุขและความทุกข์เก่า ถูกความสุขและความทุกข์ใหม่ปกปิดไว้ เพราะฉะนั้น หนอนจึงเป็นที่รักของเรายิ่งกว่าพระเจ้าอัสสกะอีก.
จบ อัสสกชาดกที่ ๗.
๘. สุงสุมารชาดก
ว่าด้วยผู้มีปัญญาไม่สมกับตัว
[๒๖๕] เราไม่ต้องการด้วยผลมะม่วง ผลหว้า และผลขนุนทั้งหลายที่ท่านเห็น ฝั่งสมุทร มะเดื่อของเราต้นนี้ดีกว่า. [๒๖๖] ร่างกายของท่านใหญ่โตก็จริง แต่ปัญญาหาสมควรแก่ร่างกายนั้นไม่ ดูกร จระเข้ ท่านถูกเราลวงเสียแล้ว บัดนี้ ท่านจงไปตามสบายเถิด.
จบ สุงสุมารชาดกที่ ๘.
๙. กักกรชาดก
ว่าด้วยผู้ฉลาดเอาตัวรอดได้
[๒๖๗] ต้นหูกวางและสมอพิเภกทั้งหลายในป่า เราเคยเห็นแล้ว ต้นไม้เหล่านั้น ย่อมเดินไปเหมือนกับท่านไม่ได้. [๒๖๘] ไก่ตัวเก่าที่แหกกรงหนีมานี้ เป็นไก่ฉลาดในบ่วงขนสัตว์ ย่อมหลีกไป และยังขันเย้ยเสียด้วย.
จบ กักกรชาดกที่ ๙.
๑๐. กันทคลกชาดก
นกหัวขวานตายเพราะไม้แก่น
[๒๖๙] ดูกรผู้เจริญ ต้นไม้ที่มีใบละเอียดมีหนามนี้เป็นต้นไม้อะไร เราเจาะเพียง ครั้งเดียว ทำให้สมองศีรษะแตกได้? [๒๗๐] นกหัวขวานตัวนี้ เมื่อเจาะหมู่ไม้อยู่ในป่า ได้เคยเที่ยวเจาะแต่ไม้แห้ง ที่ไม่มีแก่น ภายหลังมาพบเอาต้นตะเคียนซึ่งมีกำเนิดเป็นไม้แก่นอันเป็นที่ ทำลายสมองศีรษะ.
จบ กันทคลกชาดกที่ ๑๐.
จบ นตังทัฬหวรรคที่ ๖.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. พันธนาคารชาดก ๒. เกฬิสีลชาดก ๓. ขันธปริตตชาดก ๔. วีรกชาดก ๕. คังเคยยชาดก ๖. กุรุงคมิคชาดก ๗. อัสสกชาดก ๘. สุงสุมารชาดก ๙. กักกรชาดก ๑๐. กันทคลกชาดก.
-----------------------------------------------------
๗. พีรณัตถัมภกวรรค
๑. โสมทัตตชาดก
ว่าด้วยอาการของผู้ขอ
[๒๗๑] ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นนิจ ได้ทำความเพียรอยู่ในป่าช้าชื่อพีรณัต- ถัมภกะถึงหนึ่งปี ครั้นเข้าประชุมบริษัท กลับกล่าวให้ผิดพลาดไป ความเพียร ย่อมป้องกันผู้ปราศจากปัญญาไม่ได้. [๒๗๒] ดูกรพ่อโสมทัตต์ บุคคลผู้ขอ ย่อมประสบอาการ ๒ อย่าง คือได้ทรัพย์ ๑ ไม่ได้ทรัพย์ ๑ เพราะว่าการขอมีอาการอย่างนี้เป็นธรรมดา.
จบ โสมทัตตชาดกที่ ๑.
๒. อุจฉิฏฐภัตตชาดก
นางพราหมณีหาชายชู้
[๒๗๓] อาการข้าวข้างบนเป็นอย่างหนึ่ง อาการข้าวข้างล่างเป็นอย่างหนึ่ง ดูกร นางพราหมณี ฉันขอถามท่านหน่อยเถิด เหตุไรข้าวข้างล่างจึงเย็น ข้างบนจึงร้อนนิดหน่อย? [๒๗๔] ดูกรท่านผู้เจริญ ฉันเป็นคนฟ้อนรำ เที่ยวขอมาจนถึงที่นี่ ก็ชายชู้ของนาง พราหมณีนี้ ซุ่มอยู่แล้วที่ซุ้มต้นไม้ ท่านเสาะหาผู้ใด ผู้นั้นคือผู้ชายชู้ ผู้นี้เอง.
จบ อุจฉิฏฐภัตตชาดกที่ ๒.
๓. ภรุราชชาดก
ประทุษร้ายผู้มีศีลย่อมวิบัติ
[๒๗๕] เราได้ฟังมาว่า พระราชาในภรุรัฐ ได้ทรงประทุษร้ายต่อฤาษีทั้งหลายแล้ว ทรงประสบความวิบัติพร้อมทั้งแว่นแคว้น. [๒๗๖] เพราะฉะนั้นแล บัณฑิตทั้งหลาย จึงไม่สรรเสริญการลุอำนาจแก่ฉันทาคติ บุคคลไม่ควรมีจิตคิดร้าย ควรกล่าวแต่คำที่อิงความจริง.
จบ ภรุราชชาดกที่ ๓.
๔. ปุณณนทีชาดก
ว่าด้วยการไม่ระลึกถึง
[๒๗๗] ชนทั้งหลายพึงพูดถึงแม่น้ำที่เต็มแล้วว่า กาดื่มกินได้ก็ดี พูดถึงข้าวกล้า ที่เกิดแล้วว่า กาซ่อนอยู่ได้ก็ดี พูดถึงบุคคลที่รักกันไปสู่ที่ไกลว่า จะกลับ มาถึงเพราะกาบอกข่าวก็ดี กานั้น เรานำมาให้ท่านแล้ว ขอเชิญบริโภค เนื้อกานั้นเถิด ท่านพราหมณ์. [๒๗๘] คราวใด พระราชาทรงระลึกถึงเรา เพื่อจะส่งเนื้อกาให้เรา คราวนั้น เนื้อหงส์ก็ดี เนื้อนกกระเรียนก็ดี เนื้อนกยูงก็ดี เป็นของที่เรานำไปถวาย แล้ว การไม่ระลึกถึงเสียเลย เป็นความเลวทราม.
จบ ปุณณนทีชาดกที่ ๔.
๕. กัจฉปชาดก
ว่าด้วยตายเพราะปาก
[๒๗๙] เต่าพออ้าปากจะพูด ได้ฆ่าตนเองแล้วหนอ เมื่อตนคาบท่อนไม้ไว้ดีแล้ว ก็ฆ่าตนเสียด้วยวาจาของตนเอง. [๒๘๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสุดในหมู่นรชน บุรุษผู้เป็นบัณฑิตเห็นเหตุ อันนี้แล้ว ควรเปล่งแต่วาจาที่ดี ไม่ควรเปล่งวาจานั้นให้ล่วงเวลาไป ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรเต่าตัวถึงความพินาศเพราะพูดมาก.
จบ กัจฉปชาดกที่ ๕.
๖. มัจฉชาดก
ไฟราคะร้อนกว่าไฟอย่างอื่น
[๒๘๑] ไฟนี้ก็ไม่เผาเราให้เร่าร้อน แม้หลาวที่นายพรานแหเสี้ยมเป็นอย่างดีแล้ว ก็ไม่ยังความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่เรา แต่การที่นางปลาเข้าใจว่า เราไปหา นางปลาตัวอื่นด้วยความยินดี อันนี้แหละจะเผาเราให้เร่าร้อน. [๒๘๒] ไฟคือราคะนั้นแล ย่อมเผาเราให้เร่าร้อน อนึ่ง จิตของเราเองย่อมเผาเรา ให้เร่าร้อน ข้าแต่ท่านพรานแหทั้งหลาย ขอได้ปล่อยเราเถิด สัตว์ผู้ตก ยากอยู่ในกาม ท่านไม่ควรฆ่าโดยแท้.
จบ มัจฉชาดกที่ ๖.
๗. เสคคุชาดก
การได้รับทุกข์จากผู้เป็นที่พึ่ง
[๒๘๓] สัตว์โลกทั้งปวง เป็นผู้พอใจในการเสพกาม ดูกรนางเสคคุ เจ้าเป็นผู้ ไม่ฉลาดในธรรมของชาวบ้าน ความที่เจ้าเป็นนางกุมารีถูกบิดาจับมือ ในป่าชัฏร้องไห้อยู่ในวันนี้ เป็นธรรมดา. [๒๘๔] เมื่อฉันได้รับทุกข์แล้ว ผู้ใดพึงเป็นที่พึ่งได้ ผู้นั้นคือบิดาของฉัน กลับ มากระทำมิดีมิร้ายฉันในป่า ฉันจะคร่ำครวญหาใครในกลางป่าอีกเล่า ผู้ใดเป็นที่พึ่งได้ ผู้นั้นกลับมาทำฉันถึงสาหัส.
จบ เสคคุชาดกที่ ๗.
๘. กูฏวาณิชชาดก
หนามยอกเอาหนามบ่ง
[๒๘๕] ท่านได้คิดอุบายตอบอุบายดีแล้ว ได้คิดโกงตอบผู้โกงดีแล้ว ถ้าหนู ทั้งหลายพึงกินผาลได้ เหตุไฉน เหยี่ยวทั้งหลายจะเฉี่ยวเด็กไปไม่ได้เล่า? [๒๘๖] บุคคลที่โกงตอบคนโกง ย่อมมีอยู่แน่นอน บุคคลที่ล่อลวงก็ย่อมมีอยู่ เหมือนกัน ดูกรท่านผู้มีบุตรหาย ท่านจักไม่ให้ผาลแก่เขา บุรุษผู้มีผาล หาย ก็จะไม่นำบุตรมาให้แก่ท่าน.
จบ กูฏวาณิชชาดกที่ ๘.
๙. ครหิตชาดก
คนโง่เขลาย่อมเห็นแก่เงิน
[๒๘๗] มนุษย์ทั้งหลายผู้มีปัญญาเขลา ไม่เห็นอริยธรรม พูดกันแต่ว่า เงินของเรา ทองของเรา ดังนี้ ทั้งกลางคืนและกลางวัน. [๒๘๘] ในเรือนหลังหนึ่ง มีเจ้าของเรือนอยู่ ๒ คน ใน ๒ คนนั้น คนหนึ่งไม่มี หนวด แต่มีนมห้อยยาน เกล้าผมมวย และเจาะหู เขาซื้อมาด้วย ทรัพย์มาก เจ้าของเรือนผู้นั้น ย่อมกล่าวเสียดแทงคนในเรือนนั้น ตั้งแต่แรกมาอยู่.
จบ ครหิตชาดกที่ ๙.
๑๐. ธัมมัทธชชาดก
ว่าด้วยผู้ถึงธรรมของสัตบุรุษ
[๒๘๙] ท่านอยู่เป็นสุขแล้ว ได้ออกจากแว่นแคว้นมาสู่ป่าอันสงัดเงียบ ท่านนั้น นั่งซบเซาอยู่ที่โคนต้นไม้แต่ผู้เดียว เหมือนคนกำพร้า. [๒๙๐] เราอยู่เป็นสุขแล้ว ได้ออกจากแว่นแคว้นมาสู่ป่าสงัดเงียบ และระลึกถึง ธรรมของสัตบุรุษอยู่ นั่งซบเซาอยู่ที่โคนต้นไม้แต่ผู้เดียว เหมือนคน กำพร้า.
จบ ธัมมัทธชชาดกที่ ๑๐.
จบ พีรณัตถัมภกวรรคที่ ๗.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โสมทัตตชาดก ๒. อุจฉิฏฐภัตตชาดก ๓. ภรุราชชาดก ๔. ปุณณนทีชาดก ๕. กัจฉปชาดก ๖. มัจฉชาดก ๗. เสคคุชาดก ๘. กูฏวาณิชชาดก ๙. ครหิตชาดก ๑๐. ธัมมัทธชชาดก.
-----------------------------------------------------
๘. กาสาววรรค
๑. กาสาวชาดก
ว่าด้วยผู้ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ
[๒๙๑] ผู้ใด ยังมีกิเลสดุจน้ำฝาด ปราศจากทมะและสัจจะ จักนุ่งห่มผ้าย้อม น้ำฝาด ผู้นั้น ย่อมไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดเลย. [๒๙๒] ส่วนผู้ใด คายกิเลสดุจน้ำฝาดแล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วย ทมะและสัจจะ ผู้นั้นแล ย่อมสมควรจะนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดได้.
จบ กาสาวชาดกที่ ๑.
๒. จุลลนันทิยชาดก
ผลของกรรมดีกรรมชั่ว
[๒๙๓] ปาราสริยพราหมณ์ได้กล่าวคำใดไว้ว่า ท่านอย่าได้กระทำกรรมชั่ว อันจะทำ ตัวท่านให้เดือดร้อนในภายหลังนะ คำนี้นั้น เป็นถ้อยคำของท่านอาจารย์. [๒๙๔] บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น.
จบ จุลลนันทิยชาดกที่ ๒.
๓. ปุฏภัตตชาดก
ว่าด้วยการคบ
[๒๙๕] บุคคลควรนอบน้อมต่อผู้ที่นอบน้อมตน ควรคบกับผู้ที่คบตน ควรทำกิจ ตอบแทนแก่ผู้ที่ช่วยทำกิจของตน ไม่ควรทำประโยชน์แก่ผู้ปรารถนาความ ฉิบหายให้ และไม่ควรคบกับผู้ที่ไม่คบตน. [๒๙๖] บุคคลควรละทิ้งผู้ที่ละทิ้งตน ไม่ควรทำความอาลัยรักใคร่ในบุคคลเช่นนั้น ไม่ควรสมาคมกับผู้ที่เขาไม่ใฝ่ใจกับตน นกรู้ว่า ต้นไม้หมดผลแล้วก็ละทิ้ง ไปหาต้นไม้อื่น เพราะโลกเป็นของกว้างใหญ่.
จบ ปุฏภัตตชาดกที่ ๓.
๔. กุมภีลชาดก
คุณธรรมเครื่องให้เจริญ
[๒๙๗] ผู้ใด มีคุณธรรม อันเป็นเครื่องให้เจริญอย่างยิ่ง ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ๑ ธรรม ๑ ธิติ ๑ จาคะ ๑ ผู้นั้น ย่อมล่วงพ้นศัตรูได้. [๒๙๘] ส่วนผู้ใด ไม่มีคุณธรรม อันเป็นเครื่องให้เจริญอย่างยิ่ง ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ๑ ธรรม ๑ ธิติ ๑ จาคะ ๑ ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูไม่ได้.
จบ กุมภีลชาดกที่ ๔.
๕. ขันติวรรณนชาดก
ต้องอดใจในคนที่หาคุณธรรมยาก
[๒๙๙] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระบาทมีบุรุษผู้ขวนขวายในกิจทุกอย่าง อยู่คนหนึ่ง แต่เขามีความผิดอยู่ข้อหนึ่ง พระองค์จะทรงโปรดดำริในความ ผิดของเขานั้นเป็นประการใด พระเจ้าข้า. [๓๐๐] บุรุษเช่นนี้ของเราก็มีอยู่ในที่นี้ แต่บุรุษผู้ประกอบด้วยองค์คุณหาได้ยาก เราจึงสู้อดใจเสีย.
จบ ขันติวรรณนชาดกที่ ๕.
๖. โกสิยชาดก
ว่าด้วยผู้รู้กาลควรไม่ควร
[๓๐๑] การออกไปในเวลาอันสมควร เป็นความดี การออกไปในเวลาอันไม่ สมควร ไม่ดี เพราะว่า คนผู้ออกไปโดยเวลาไม่สมควร ย่อมไม่ยัง ประโยชน์อะไรให้เกิดได้ คนที่เป็นศัตรูเป็นอันมาก ย่อมทำอันตรายคน ผู้ออกไปแต่ผู้เดียวในเวลาอันไม่สมควรได้ เหมือนฝูงการุมจิกนกเค้า ฉะนั้น. [๓๐๒] นักปราชญ์รู้จักวิธีการต่างๆ เข้าใจช่องทางของคนเหล่าอื่น ทำพวกศัตรู ทั้งมวลให้อยู่ในอำนาจได้แล้ว พึงอยู่เป็นสุขเหมือนนกเค้าผู้ฉลาด ฉะนั้น.
จบ โกสิยชาดกที่ ๖.
๗. คูถปาณกชาดก
หนอนท้าช้างสู้
[๓๐๓] ท่านก็เป็นผู้กล้าหาญ มาพบกับเราผู้กล้าหาญ อาจประหารได้ไม่ย่นย่อ มาซิช้าง ท่านจงกลับมาก่อน ท่านกลัวหรือจึงได้หนีไป ขอให้พวกคน ชาวอังคะและมคธะได้เห็นความกล้าหาญของเรา และของท่านเถิด. [๓๐๔] เราจักไม่ต้องฆ่าเจ้าด้วยเท้า งา หรือด้วยงวงเลย เราจักฆ่าเจ้าด้วยคูถ หนอนตัวเน่า ควรฆ่าด้วยของเน่าเช่นกัน.
จบ คูถปาณกชาดกที่ ๗.
๘. กามนีตชาดก
ผู้ถูกโรครักครอบงำรักษายาก
[๓๐๕] เราปรารถนาระหว่างเมืองทั้ง ๓ คือ เมืองปัญจาละ ๑ เมืองกุรุยะ ๑ เมือง เกกกะ ๑ ดูกรท่านพราหมณ์ เราปรารถนาราชสมบัติทั้ง ๓ เมืองนั้นมาก กว่าสมบัติที่เราได้แล้วนี้ ดูกรพราหมณ์ ขอให้ท่านช่วยรักษาเราผู้ถูก ความใคร่ครอบงำด้วยเถิด. [๓๐๖] อันที่จริง เมื่อบุคคลถูกงูเห่ากัด หมอบางคนก็รักษาได้ อนึ่ง บุคคลถูกผี เข้าสิง หมอผู้ฉลาดก็ไล่ออกได้ แต่บุคคลถูกความใคร่ครอบงำแล้ว ใครๆ ก็รักษาไม่หาย เพราะว่า เมื่อบุคคลล่วงเลยธรรมขาวเสียแล้ว จะรักษาได้อย่างไร?
จบ กามนีตชาดกที่ ๘.
๙. ปลายิชาดก
ว่าด้วยขับไล่ศัตรูแบบสายฟ้าแลบ
[๓๐๗] เมืองตักกสิลาถูกเขาล้อมไว้ทุกด้านแล้ว ด้วยกองพลช้างตัวประเสริฐ ซึ่งร้องคำรนอยู่ด้านหนึ่ง ด้วยกองพลม้าตัวประเสริฐ ซึ่งคลุมมาลาเครื่อง ครบอยู่ด้านหนึ่ง ด้วยกองพลรถ ดุจคลื่นในมหาสมุทรอันยังฝนคือ ลูกศรให้ตกลงด้านหนึ่ง ด้วยกองพลเดินเท้า ถือธนูมั่นมีฝีมือยิงแม่นอยู่ ด้านหนึ่ง. [๓๐๘] ท่านทั้งหลายจงรีบรุกเข้าไป และจงรีบบุกเข้าไป จงไสช้างให้หนุนเนื่อง กันเข้าไปเลย จงโห่ร้องให้สนั่นหวั่นไหวในวันนี้ ดุจสายฟ้าอันซ่าน ออกจากกลีบเมฆคำรนอยู่ ฉะนั้น.
จบ ปลายิชาดกที่ ๙.
๑๐. ทุติยปลายิชาดก
คนถูกความเร่าร้อนเผาจนไม่อาจสู้ข้าศึกได้
[๓๐๙] ธงสำหรับรถของเรามีมากมาย พลพาหนะของเราก็นับไม่ถ้วนแสนยาก ที่ศัตรูจะหาญหักเข้าสู้รบได้ ดุจสาครยากที่ฝูงกาจะบินข้ามให้ถึงฝั่งได้ ฉะนั้น อนึ่ง กองพลของเรานี้ยากที่กองพลอื่นจะหาญเข้าตีหักได้ดุจภูเขา อันลมไม่อาจให้ไหวได้ ฉะนั้น วันนี้ เราประกอบด้วยกองพลเท่านี้ อันกอง พลเช่นนั้นยากที่ศัตรูจะหาญหักเข้ารุกรานได้. [๓๑๐] ท่านอย่าพูดเพ้อถึงความที่ตนเป็นคนโง่เขลาไปเลย คนเช่นท่านจะเรียกว่า ผู้สามารถไม่ได้ ท่านถูกความเร่าร้อน คือ ราคะ โทสะ โมหะ และมานะ เผารนอยู่เสมอ ไม่อาจจะกำจัดเราได้เลย จะต้องหนีเราไป กองพล ของเราจักย่ำยีท่านหมดทั้งกองพล ดุจช้างเมามันขยี้ไม้อ้อด้วยเท้า ฉะนั้น.
จบ ทุติยปลายิชาดกที่ ๑๐.
จบ กาสาววรรคที่ ๘.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กาสาวชาดก ๒. จุลลนันทิยชาดก ๓. ปุฏภัตตชาดก ๔. กุมภีลชาดก ๕. ขันติวรรณนชาดก ๖. โกสิยชาดก ๗. คูถปาณกชาดก ๘. กามนีตชาดก ๙. ปลายิชาดก ๑๐. ทุติยปลายิชาดก.
-----------------------------------------------------
๙. อุปาหนวรรค
๑. อุปาหนชาดก
อนารยชนย่อมใช้ศิลปะในทางผิด
[๓๑๑] รองเท้าที่คนซื้อมา เพื่อประโยชน์จะให้สบายเท้า กลับนำเอาความทุกข์ มาให้ รองเท้านั้น ถูกแดดเผาบ้าง ถูกพื้นเท้าครูดสีบ้าง ก็กลับกัดเท้า ของผู้นั้นนั่นแหละ ฉันใด. [๓๑๒] ผู้ใด เกิดในตระกูลต่ำ ไม่ใช่อารยชน เรียนวิชาและศิลปะมาจากสำนัก อาจารย์ได้แล้ว ผู้นั้น ย่อมฆ่าตนเองด้วยศิลปะที่เรียนมาในสำนักของ อาจารย์นั้น ฉันนั้น บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ไม่ใช่อารยชน เปรียบ ด้วยรองเท้าที่ทำไม่ดี ฉะนั้น.
จบ อุปาหนชาดกที่ ๑.
๒. วีณาถูณชาดก
รักคนผิด
[๓๑๓] เรื่องนี้เจ้าคิดคนเดียว บุรุษเตี้ย ค่อม ผู้โง่เขลานี้ จะนำทางไปไม่ได้แน่ ดูกรเจ้าผู้เจริญ เจ้าไม่สมควรจะไปกับบุรุษเตี้ยค่อมผู้นี้เลย. [๓๑๔] ดิฉันเข้าใจว่า บุรุษค่อมเป็นผู้องอาจ จึงได้รักใคร่บุรุษค่อมผู้นี้นอนตัวงอ อยู่ ดุจคันพิณที่มีสายขาดแล้ว ฉะนั้น.
จบ วีณาถูณชาดกที่ ๒.
๓. วิกัณณกชาดก
คนเห็นแก่อามิสย่อมเดือดร้อน
[๓๑๕] เจ้าปรารถนาในที่ใด ก็จงไปในที่นั้นเถิด เจ้าเป็นผู้ถูกชะนักของเราแทง แล้ว เจ้าเป็นผู้โลภด้วยอาหารแท้ เมื่อติดตามปลาทั้งหลายมาก็ถูกอาหาร มีเสียงกลองกำจัดเสียแล้ว. [๓๑๖] บุคคลเห็นแก่โลกามิสแม้อย่างนี้ ชอบประพฤติตามอำนาจของจิต ย่อม เดือดร้อน เขาย่อมเดือดร้อนอยู่ในท่ามกลางหมู่ญาติและสหาย ดุจจระเข้ ตัวติดตามปลาไปถูกแทง ฉะนั้น.
จบ วิกัณณกชาดกที่ ๓.
๔. อสิตาภุชาดก
โลภมากลาภหาย
[๓๑๗] พระองค์นั่นแหละ ได้กระทำเหตุอันนี้ ในบัดนี้ หม่อมฉันปราศจาก ความรักในพระองค์แล้ว ความรักนั้น ประสานกันอีกไม่ได้ ดุจงาช้างอัน ตัดขาดแล้วด้วยเลื่อย ฉะนั้น. [๓๑๘] บุคคลผู้ปรารถนาเกินส่วน ย่อมเสื่อมจากประโยชน์ เพราะความโลภ เกินประมาณ และเพราะความมัวเมาอันเกิดจากความโลภเกินประมาณ เหมือนเราเสื่อมจากนางอสิตาภู ฉะนั้น.
จบ อสิตาภุชาดกที่ ๔.
๕. วัจฉนขชาดก
ว่าด้วยดาบสผู้มีเล็บงาม
[๓๑๙] ข้าแต่ท่านดาบสผู้มีเล็บงาม เรือนทั้งหลายที่มีเงิน และโภชนาหารบริบูรณ์ เป็นเรือนมีความสุข ท่านบริโภค และดื่มในเรือนใด ไม่ต้องขวนขวาย ก็ได้นอน การอยู่ครองเรือนนั้น เป็นสุขอย่างยิ่ง. [๓๒๐] บุคคลผู้เป็นฆราวาส ไม่มีมานะ ทำการงานก็ดี ไม่กล่าวคำมุสาก็ดี ... ไม่ใช้อำนาจลงโทษผู้อื่น การครองเรือนก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจะครอบครองเรือนไม่ให้บกพร่อง ให้เกิดความยินดีได้แสนยาก เล่า?
จบ วัจฉนขชาดกที่ ๕.
๖. พกชาดก
นกเจ้าเล่ห์
[๓๒๑] นกมีปีกตัวนี้ ดีจริง ยืนนิ่งดังดอกโกมุท หุบปีกทั้ง ๒ ไว้ ง่วงเหงา ซบเซาอยู่. [๓๒๒] ท่านทั้งหลาย ไม่รู้จักกิริยาของมัน พวกท่านไม่รู้จึงได้พากันสรรเสริญ นกตัวนี้ไม่ได้คุ้มครองรักษาพวกเราดอก เพราะเหตุนั้น นกตัวนี้จึงไม่ เคลื่อนไหวเลย.
จบ พกชาดกที่ ๖.
๗. สาเกตชาดก
เหตุให้เกิดความรัก
[๓๒๓] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เหตุไรหนอ เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ พอเห็นกัน เข้าก็เฉยๆ หัวใจก็เฉย บางคนพอเห็นกันเข้า จิตก็เลื่อมใส. [๓๒๔] ความรักนั้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยการอยู่ร่วมกัน ในกาลก่อน ๑ ด้วยความเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบัน ๑ เหมือนดอกอุบล และชลชาติ เมื่อเกิดในน้ำ ย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ น้ำและเปือกตม ฉะนั้น.
จบ สาเกตชาดกที่ ๗.
๘. เอกปทชาดก
ความเพียรทำให้เกิดประโยชน์หลายอย่าง
[๓๒๕] คุณพ่อครับ เหตุอย่างเดียวทำให้ได้ประโยชน์หลายอย่างมีอยู่หรือไม่ ผมจะพึงทำประโยชน์ให้สำเร็จด้วยเหตุใด ขอคุณพ่อจงบอกเหตุนั้น ซึ่ง รวบรวมประโยชน์ได้หลายอย่างแก่ผมเถิด. [๓๒๖] ลูกเอ๋ย เหตุอย่างหนึ่ง คือ ความขยันหมั่นเพียร ทำให้ได้ประโยชน์ หลายอย่าง ก็ความขยันหมั่นเพียรนั้น ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วย ขันติ อาจจะทำมิตรทั้งหลายให้ถึงความสุข หรืออาจทำศัตรูทั้งหลายให้ ถึงความทุกข์ได้.
จบ เอกปทชาดกที่ ๘.
๙. หริตมาตชาดก
ว่าด้วยผู้มีอิสรภาพ
[๓๒๗] ดูกรท่านผู้เป็นบุตรกบเขียว ปลาทั้งหลายรุมกัดฉันผู้มีพิษแล่นเร็ว เข้าไป ยังหน้าลอบ เรื่องนี้ท่านชอบใจหรือ? [๓๒๘] บุรุษผู้มีอิสรภาพอยู่เพียงใด ก็ย่ำยีผู้อื่นได้อยู่เพียงนั้น คนอื่นมาย่ำยีตน คราวใด คราวนั้น ผู้ที่ถูกย่ำยีก็ย่ำยีตอบบ้าง.
จบ หริตมาตชาดกที่ ๙.
๑๐. มหาปิงคลชาดก
ว่าด้วยพระเจ้าปิงคละผู้ร้ายกาจ
[๓๒๙] ชนทั้งปวงถูกพระเจ้าปิงคละเบียดเบียนแล้ว เมื่อพระเจ้าปิงคละนั้น สวรรคตแล้ว ชนทั้งหลายก็ได้ความยินดี ดูกรนายประตู พระเจ้าปิงคละ ผู้ไม่มีพระเนตรดำ เป็นที่รักของท่านหรือ เพราะเหตุไร จึงได้ร้องไห้หนอ? [๓๓๐] พระเจ้าปิงคละผู้ไม่มีพระเนตรดำ จะเป็นที่รักของข้าพเจ้าก็หามิได้ แต่ ข้าพเจ้ากลัวว่า พระเจ้าปิงคละนั้นจะกลับเสด็จมาอีก พระเจ้าปิงคละเสด็จ ไปจากมนุษย์โลกนี้แล้ว ก็จะเบียดเบียนพระยามัจจุราช พระยามัจจุราช นั้นถูกพระเจ้าปิงคละเบียดเบียนแล้ว ก็จะพึงนำมาส่งมนุษย์โลกนี้อีก. [๓๓๑] พระเจ้าปิงคละนั้น พวกเราช่วยกันเผาแล้วด้วยฟืนพันเล่มเกวียน รดด้วยน้ำหลายร้อยหม้อ พื้นที่ดินนั้นเราป้องกันไว้อย่างดีแล้ว ท่าน อย่ากลัวเลย พระเจ้าปิงคละจักไม่เสด็จกลับมาอีก.
จบ มหาปิงคลชาดกที่ ๑๐.
จบ อุปาหนวรรคที่ ๙.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อุปาหนชาดก ๒. วีณาถูณชาดก ๓. วิกัณณกชาดก ๔. อสิตาภุชาดก ๕. วัจฉนขชาดก ๖. พกชาดก ๗. สาเกตชาดก ๘. เอกปทชาดก ๙. หริตมาตชาดก ๑๐. มหาปิงคลชาดก.
-----------------------------------------------------
๑๐. สิคาลวรรค
๑. สัพพทาฐิชาดก
ผู้มีบริวารมากเป็นใหญ่ได้
[๓๓๒] สุนัขจิ้งจอกกระด้างด้วยมานะ มีความต้องการด้วยบริวาร ได้บรรลุถึง สมบัติใหญ่ ได้เป็นราชาแห่งสัตว์มีเขี้ยวงาทั้งปวง ฉันใด. [๓๓๓] ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดมีบริวารมาก ผู้นั้นชื่อว่า เป็นใหญ่ในบริวารเหล่านั้น ดุจสุนัขจิ้งจอกได้เป็นใหญ่กว่าสัตว์มีเขี้ยวงา ฉะนั้น.
จบ สัพพทาฐิชาดกที่ ๑.
๒. สุนขชาดก
ผู้ฉลาดย่อมช่วยตัวเองได้
[๓๓๔] สุนัขตัวใด ไม่กัดเชือกหนังให้ขาด สุนัขตัวนั้น โง่เขลามาก สุนัขควร จะเปลื้องตนเสียจากเครื่องผูก กินเชือกหนังเสียให้อิ่ม แล้วจึงค่อย กลับไปยังที่อยู่ของตน. [๓๓๕] คำที่ท่านกล่าวนี้ฝังอยู่ในหัวใจของข้าพเจ้า อนึ่ง ข้าพเจ้ายังได้จำไว้ใน ใจแล้ว ข้าพเจ้าจะรอเวลาจนกว่าคนจะหลับ.
จบ สุนขชาดกที่ ๒.
๓. คุตติลชาดก
ลูกศิษย์คิดล้างครู
[๓๓๖] ข้าพระองค์ได้สอนให้ศิษย์ชื่อมุสิละเรียนวิชาดีดพิณ ๗ สาย มีเสียง ไพเราะจับใจคนฟัง เขากลับมาขันดีดพิณสู้ข้าพระองค์ ณ ท่ามกลาง สนาม ข้าแต่ท้าวโกสีย์ ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์เถิด. [๓๓๗] ดูกรสหาย ฉันจะเป็นที่พึ่งของท่าน ฉันเป็นผู้บูชาอาจารย์ ศิษย์จักไม่ ชนะท่าน ท่านจักชนะศิษย์.
จบ คุตติลชาดกที่ ๓.
๔. วิคติจฉชาดก
ความปรารถนาไม่มีที่สิ้นสุด
[๓๓๘] บุคคลเห็นสิ่งใด ไม่ปรารถนาสิ่งนั้น อนึ่ง บุคคลไม่เห็นสิ่งใด ย่อม ปรารถนาสิ่งนั้น เราเข้าใจว่า บุคคลนั้น จักท่องเที่ยวไปอีกนาน อยาก ได้สิ่งใด ก็จักไม่ได้สิ่งนั้นเลย. [๓๓๙] บุคคลได้สิ่งใด ไม่ยินดีด้วยสิ่งนั้น ปรารถนาสมบัติอันใด ก็ติเตียน สมบัติที่ได้มานั้น เพราะขึ้นชื่อว่า ความปรารถนามีอารมณ์ไม่สิ้นสุด เราขอกระทำความนอบน้อมแด่ท่านผู้ปราศจากความปรารถนา.
จบ วิคติจฉชาดกที่ ๔.
๕. มูลปริยายชาดก
กาลเวลากินสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง
[๓๔๐] กาลย่อมกินสัตว์ทั้งปวงกับทั้งตัวเองด้วย ก็ผู้ใดกินกาล ผู้นั้นเผา ตัณหาที่เผาสัตว์ได้แล้ว. [๓๔๑] ศีรษะของนรชนปรากฏว่ามีมาก มีผมดำยาวปกคลุมถึงคอ บรรดาคน ทั้งหลายนี้ จะหาคนผู้มีปัญญาสักคนก็ไม่ได้.
จบ มูลปริยายชาดกที่ ๕.
๖. พาโลวาทชาดก
ว่าด้วยคนมีปัญญาบริโภค
[๓๔๒] บุคคลผู้ไม่สำรวม ประหารสัตว์ เบียดเบียน และฆ่าสัตว์ ให้ทานแก่ สมณะใด สมณะนั้น บริโภคภัตเช่นนี้ ย่อมเข้าไปติดบาปด้วย. [๓๔๓] ถ้าสมณะเป็นผู้มีปัญญา แม้จะบริโภคทานที่บุคคลผู้ไม่สำรวม ฆ่าบุตร และภรรยาถวาย ก็ไม่เข้าไปติดบาปเลย.
จบ พาโลวาทชาดกที่ ๖.
๗. ปาทัญชลิชาดก
ว่าด้วยปาทัญชลีราชกุมาร
[๓๔๔] ปาทัญชลีราชกุมาร ย่อมรุ่งเรืองกว่าเราทั้งหมดด้วยพระปรีชาแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมจึงทรงเม้มพระโอฐอยู่เล่า จะทรงเห็นเหตุอย่าง อื่นยิ่งกว่านี้เป็นแน่. [๓๔๕] ปาทัญชลีราชกุมารพระองค์นี้ จะทรงทราบสิ่งที่เป็นธรรมหรือไม่เป็น ธรรม สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ก็หาไม่ ปาทัญชลี- ราชกุมารพระองค์นี้ นอกจากจะเม้มพระโอฐแล้ว ย่อมไม่ทรงทราบ เหตุการณ์สักนิดหนึ่งเลย.
จบ ปาทัญชลิชาดกที่ ๗.
๘. กิงสุโกปมชาดก
คนไม่รู้ธรรมด้วยญาณย่อมสงสัยในธรรม
[๓๔๖] ท่านทุกคนเห็นต้นทองกวาวแล้ว ยังจะสงสัยในต้นทองกวาวนั้น เพราะ เหตุไรหนอ ท่านทั้งหลายหาได้ถามนายสารถีให้ถี่ถ้วนในที่ทั้งปวงไม่. [๓๔๗] บุคคลเหล่าใด ยังไม่รู้ธรรมทั้งหลาย ด้วยญาณทั้งปวง บุคคลเหล่านั้นแล ย่อมสงสัยในธรรมทั้งหลาย เหมือนพระราชาบุตร ๔ พระองค์ ทรง สงสัยในต้นทองกวาวฉะนั้น.
จบ กิงสุโกปมชาดกที่ ๘.
๙. สาลกชาดก
ว่าด้วยสาลกวานร
[๓๔๘] ดูกรพ่อสาลกวานร พ่อเป็นลูกคนเดียวของเรา อนึ่ง พ่อจักได้เป็นใหญ่ แห่งโภคสมบัติในตระกูลของเรา ลงมาจากต้นไม้เถิด มาเถิดพ่อ เรา จะพากันกลับไปบ้านของเรา. [๓๔๙] ท่านสำคัญเราว่า เป็นสัตว์ใจดี จึงได้ตีเราด้วยเรียวไม้ไผ่ เราพอใจอยู่ใน ป่ามะม่วงที่มีผลสุก ท่านจงกลับไปบ้านตามสบายเถิด.
จบ สาลกชาดกที่ ๙.
๑๐. กปิชาดก
เข้าใจว่าลิงเป็นฤาษี
[๓๕๐] ฤาษีผู้ยินดีแล้วในความสงบและความสำรวม ท่านถูกภัย คือ ความ หนาวเบียดเบียน จึงมายืนอยู่ เชิญฤาษีผู้นี้จงเข้ามายังบรรณศาลานี้เถิด จะได้บรรเทาความหนาว และความกระวนกระวายให้หมดสิ้นไป. [๓๕๑] นี้ไม่ใช่ฤาษีผู้ยินดีในความสงบและความสำรวม เป็นลิงเที่ยวโคจรอยู่ ตามกิ่งมะเดื่อ มันเป็นสัตว์ประทุษร้าย ฉุนเฉียว และมีสันดานลามก ถ้าเข้ามาอยู่ยังบรรณศาลาหลังนี้ ก็จะพึงประทุษร้ายบรรณศาลา.
จบ กปิชาดกที่ ๑๐.
จบ สิคาลวรรคที่ ๑๐.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สัพพทาฐิชาดก ๒. สุนขชาดก ๓. คุตติลชาดก ๔. วิคติจฉชาดก ๕. มูลปริยายชาดก ๖. พาโลวาทชาดก ๗. ปาทัญชลิชาดก ๘. กิงสุโกปมชาดก ๙. สาลกชาดก ๑๐. กปิชาดก.
-----------------------------------------------------
รวมวรรคที่มีในทุกนิบาตนี้ คือ
๑. ทัฬหวรรค ๒. สันถวรรค ๓. กัลยาณธรรมวรรค ๔. อสทิสวรรค ๕. รุหกวรรค ๖. นตังทัฬหวรรค ๗. พีรณัตถัมภกวรรค ๘. กาสาววรรค ๙. อุปาหนวรรค ๑๐. สิคาลวรรค.
จบ ทุกนิบาตชาดก.
-----------------------------------------------------
ติกนิบาตชาดก
๑. สังกัปปวรรค
๑. สังกัปปราคชาดก
ว่าด้วยลูกศรคือกิเลส
[๓๕๒] อาตมภาพอันลูกศรที่อาบด้วยราคะดำริ อาศัยกามวิตก อันนายช่างศร ไม่ได้ตกแต่งขัดเกลาและเหลาเสี้ยม แทงเข้าแล้ว. [๓๕๓] อาตมภาพมิได้ถูกลูกศรที่เขายกคันขึ้นยิงมา หรือที่ติดพู่หางนกยูงเสียบ แทงเลย แต่อาตมภาพถูกลูกศร คือ กิเลสเครื่องเผาอวัยวะทั้งปวงให้ เร่าร้อน เสียบแทงที่หทัย. [๓๕๔] แต่อาตมภาพไม่เห็นรอยแผล ไม่เห็นโลหิตไหลออกจากรอยแผลนั้น จิตที่ไม่มีอุบายอันแยบคาย ถูกลูกศรตรึงไว้แล้วอย่างมั่นคง อาตมภาพ นำความทุกข์มาให้แก่ตนเอง.
จบ สังกัปปราคชาดกที่ ๑.
๒. ติลมุฏฐิชาดก
การเฆี่ยนตีเป็นการสั่งสอน
[๓๕๕] การที่ท่านให้จับแขนเราไว้แล้วเฆี่ยนตีด้วยซีกไม้ไผ่ เพราะเหตุเมล็ดงา กำมือหนึ่งนั้น ยังฝังอยู่ในใจของเราจนทุกวันนี้. [๓๕๖] ดูกรพราหมณ์ ชะรอยท่านจะไม่ยินดีในชีวิตของตนแล้วสินะ จึงได้มา จับแขนแล้วเฆี่ยนตีเราถึง ๓ ครั้ง วันนี้ ท่านจะได้เสวยผลของกรรมนั้น. [๓๕๗] อารยชนใด ย่อมข่มขี่คนที่ไม่ใช่อารยชน ผู้ทำกรรมชั่ว ด้วยอาชญา กรรม ของอารยชนนั้น เป็นการสั่งสอน หาใช่เป็นเวรไม่ บัณฑิตทั้งหลาย รู้ชัด ข้อนั้นอย่างนี้แล.
จบ ติลมุฏฐิชาดกที่ ๒.
๓. มณิกัณฐชาดก
ว่าด้วยขอสิ่งที่ไม่ควรขอ
[๓๕๘] ข้าวและน้ำอันไพบูลย์ยิ่ง ย่อมเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า เพราะเหตุแก้วมณี ดวงนี้ ข้าพเจ้าจักให้แก้วมณีดวงนั้นแก่ท่านไม่ได้ ท่านก็ยิ่งขอหนักขึ้น ใช่แต่เท่านั้น ข้าพเจ้าจักไม่มาสู่อาศรมของท่านอีกด้วย. [๓๕๙] ท่านขอแก้วมณีอันเกิดจากหินดวงนี้ ย่อมทำให้ข้าพเจ้าหวาดเสียว เหมือนกับชายหนุ่มมีมือถือดาบอันลับแล้วที่แผ่นหิน มาทำให้ข้าพเจ้า หวาดเสียว ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักให้แก้วมณีดวงนั้นแก่ท่านไม่ได้ ท่านก็ยิ่ง ขอหนักขึ้น ใช่แต่เท่านั้น ข้าพเจ้าจักไม่มาสู่อาศรมของท่านอีกด้วย. [๓๖๐] บุคคลรู้ว่า สิ่งของอันใด เป็นที่รักของเขา ก็ไม่ควรขอสิ่งของอันนั้น บุคคลย่อมเป็นที่เกลียดชังเพราะขอจัด พระยานาคถูกพราหมณ์ขอ แก้วมณี ตั้งแต่นั้นก็มิได้มาให้พราหมณ์นั้นเห็นอีกเลย.
จบ มณิกัณฐชาดกที่ ๓.
๔. กุณฑกกุจฉิสินธวชาดก
รู้ว่าเขาดีก็ต้องเลี้ยงให้สมดี
[๓๖๑] ท่านเคยบริโภคหญ้าที่เป็นเดน เคยบริโภครำและข้าวตังมาแล้วจนเติบโต นี่เคยเป็นอาหารของท่านมาแล้ว เพราะเหตุไร บัดนี้ ท่านจึงไม่บริโภค เล่า? [๓๖๒] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ในที่ใด ชนทั้งหลายไม่รู้จักสัตว์ โดยชาติ หรือโดย วินัย ในที่นั้น รำ และข้าวตังมีเป็นอันมาก. [๓๖๓] ก็ท่านรู้จักข้าพเจ้าดีแล้วว่า ม้าตัวนี้ เป็นม้าอุดมเช่นไร ข้าพเจ้ารู้สึกตน อยู่ เพราะอาศัยท่านผู้รู้ จึงไม่บริโภครำของท่าน.
จบ กุณฑกกุจฉิสินธวชาดกที่ ๔.
๕. สุกชาดก
โทษของการไม่รู้ประมาณ
[๓๖๔] ลูกนกแขกเต้าตัวนั้น รู้ประมาณในการบริโภคอยู่เพียงใด ก็ได้สืบอายุ และได้เลี้ยงมารดาบิดาอยู่เพียงนั้น. [๓๖๕] อนึ่ง ในกาลใด ลูกนกแขกเต้านั้น กลืนกินโภชนะมากเกินไป ในกาล นั้น ก็ได้ชื่อว่า ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค จึงได้จมลงในมหาสมุทร นั้นเทียว. [๓๖๖] เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ ความไม่หลงติดอยู่ใน โภชนะ เป็นความดี ด้วยว่า บุคคลใด ไม่รู้จักประมาณ ย่อมจมลงใน อบายทั้ง ๔ บุคคลผู้รู้จักประมาณแล ย่อมไม่จมลงในอบาย ๔.
จบ สุกชาดกที่ ๕.
๖. ชรูทปานชาดก
ขุดบ่อได้ทรัพย์กลับพินาศเพราะขุดเกิน
[๓๖๗] พ่อค้าทั้งหลาย มีความต้องการด้วยน้ำ พากันขุดบ่อน้ำเก่า ได้แร่เหล็ก แร่ทองแดง ดีบุก ตะกั่ว แก้วมณี เงิน ทอง แก้วมุกดา และแก้ว- ไพฑูรย์ เป็นอันมาก. [๓๖๘] แต่พวกพ่อค้าเหล่านั้น ก็ไม่ได้ยินดีด้วยทรัพย์นั้น ได้พากันขุดให้ลึก ยิ่งขึ้นๆ ในบ่อน้ำนั้น มีพระยานาคมีพิษร้ายแรง มีเดช ได้ฆ่าพวกพ่อค้า เหล่านั้นเสียด้วยเดชแห่งพิษ. [๓๖๙] เพราะฉะนั้น บุคคลพึงขุดบ่อน้ำเถิด แต่ไม่ควรขุดให้ลึกเกินไป เพราะ ว่า บ่อที่ขุดลึกเกินไปเป็นของลามก ทรัพย์ที่พวกพ่อค้าได้แล้วด้วยการ ขุด และชีวิตก็พินาศไป เพราะการที่ขุดลึกเกินไป.
จบ ชรูทปานชาดกที่ ๖.
๗. คามณิจันทชาดก
ลิงเป็นสัตว์ไม่รู้จักเหตุ
[๓๗๐] สัตว์ตัวนี้ ไม่ฉลาดที่จะทำเรือน มีปกติหลุกหลิก หนังที่หน้าย่น พึง ประทุษร้ายของที่เขาทำไว้แล้ว ตระกูลสัตว์นี้ มีอย่างนั้นเป็นธรรมดา. [๓๗๑] ขนอย่างนี้ ไม่ใช่ขนของสัตว์ที่มีความคิดฉลาด ลิงตัวนี้จะทำให้ผู้อื่น ยินดีไม่ได้ พระราชบิดาของเราทรงพระนามว่า ชนสันธนะ ได้ตรัส สอนไว้ว่า ธรรมดาลิงย่อมไม่รู้จักเหตุอันใดอันหนึ่ง. [๓๗๒] สัตว์เช่นนั้น จะพึงเลี้ยงดูมารดาบิดา หรือพี่ชายพี่สาวของตนไม่ได้เลย คำสอนนี้ พระราชบิดาของเราได้ทรงสั่งสอนไว้อย่างนี้.
จบ คามณิจันทชาดกที่ ๗.
๘. มันธาตุราชชาดก
กามมีความสุขน้อยมีทุกข์มาก
[๓๗๓] พระจันทร์ พระอาทิตย์ (ย่อมเวียนรอบเขาสิเนรุราช) ส่องรัศมีสว่างไสว ไปทั่วทิศโดยกำหนดที่เท่าใด สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยแผ่นดินอยู่ในที่มี กำหนดเท่านั้น ล้วนเป็นทาสของพระเจ้ามันธาตุราชทั้งสิ้น. [๓๗๔] ความอิ่มในกามทั้งหลาย ย่อมไม่มีด้วยฝนคือกหาปณะ กามทั้งหลายมี ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก บัณฑิตรู้ชัดอย่างนี้. [๓๗๕] พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่ปรารถนาความยินดีในกาม ทั้งหลายที่เป็นทิพย์ เป็นผู้ยินดีแต่ความสิ้นไปแห่งตัณหาโดยแท้.
จบ มันธาตุราชชาดกที่ ๘.
๙. ติรีติวัจฉชาดก
ควรบูชาผู้มีพระคุณ
[๓๗๖] กรรมอะไรๆ ที่สำเร็จด้วยวิชาของดาบสนี้มิได้มีเลย อนึ่ง ดาบสนั้น ไม่ใช่พระญาติพระวงศ์ ไม่ใช่พระสหายของพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ติรีติวัจฉดาบสผู้มีมือถือไม้เท้า จึงบริโภคก้อนข้าวอันเลิศ? [๓๗๗] เมื่อเรารบพ่ายแพ้โจร ตกอยู่ในฐานะอันตราย ติรีติวัจฉดาบสผู้นี้ ได้กระทำความอนุเคราะห์แก่เราผู้เดียว ในป่าที่ไม่มีน้ำ น่าหวาดเสียว เมื่อเราได้รับความลำบากก็ได้พาดพะองให้ เพราะเหตุนั้น เราแม้ถูก ความทุกข์เบียดเบียนแล้วก็ขึ้นจากบ่อได้. [๓๗๘] เรามาถึงเมืองนี้ได้โดยความยาก เพราะอานุภาพของติรีติวัจฉดาบสผู้นี้ เราถึงจะเป็นอยู่ในมนุษยโลก ก็เหมือนกับไปปรโลกอันเป็นวิสัยของ มัจจุราช ลูกรัก ติรีติวัจฉดาบส เป็นผู้ควรแก่ปัจจัยลาภ ท่านทั้งหลาย จงพากันถวายของควรบริโภค และของควรบูชาแก่ท่านติรีติวัจฉดาบส เถิด.
จบ ติรีติวัจฉชาดกที่ ๙.
๑๐. ทูตชาดก
ทุกชีวิตเป็นทูตของท้อง
[๓๗๙] สัตว์เหล่านี้ เป็นไปในอำนาจของตัณหา ย่อมไปสู่ประเทศอันไกล หวัง จะขอสิ่งของตามแต่จะได้ เพื่อประโยชน์แก่ท้องใด ข้าพระองค์เป็น ทูตของท้องนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ขอพระองค์อย่าได้ทรง พิโรธแก่ข้าพระองค์เลย. [๓๘๐] อนึ่ง มาณพทั้งหลาย ย่อมตกอยู่ในอำนาจของท้องใด ทั้งกลางวัน และกลางคืน ข้าพระองค์ก็เป็นทูตของท้องนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็น จอมทัพ ขอพระองค์อย่าได้ทรงพิโรธแก่ข้าพระองค์เลย. [๓๘๑] ดูกรพราหมณ์ เราจะให้โคสีแดงแก่ท่านสักพันตัวพร้อมทั้งโคจ่าฝูงแก่ท่าน แม้เราและสัตว์ทั้งมวลก็ชื่อว่า เป็นทูตของท้องทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เราก็เป็นทูต ไฉนจะไม่ให้สิ่งของแก่ท่านผู้เป็นทูตเล่า.
จบ ทูตชาดกที่ ๑๐.
จบ สังกัปปวรรคที่ ๑.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สังกัปปราคชาดก ๒. ติลมุฏฐิชาดก ๓. มณิกัณฐชาดก ๔. กุณฑกกุจฉสินธวชาดก ๕. สุกชาดก ๖. ชรูทปานชาดก ๗. คามณิจันทชาดก ๘. มันธาตุราชชาดก ๙. ติรีติวัจฉชาดก ๑๐. ทูตชาดก.
-----------------------------------------------------
๒. ปทุมวรรค
๑. ปทุมชาดก
ไม่ควรพูดให้เกินความจริง
[๓๘๒] ผมและหนวดที่โกนแล้ว ตัดแล้ว ย่อมงอกขึ้นใหม่ได้ ฉันใด จมูกของ ท่านจงงอกขึ้นใหม่ ฉันนั้น ข้าพเจ้าขอดอกปทุม ขอท่านจงให้แก่ ข้าพเจ้าเถิด. [๓๘๓] พืชที่เก็บไว้ในสารทสมัย เอาหว่านลงในนา ย่อมงอกขึ้น ฉันใด จมูก ของท่านจงงอกขึ้นใหม่ ฉันนั้น ข้าพเจ้าขอดอกปทุม ขอท่านจงให้แก่ ข้าพเจ้าเถิด. [๓๘๔] แม้คนทั้งสองนั้นคิดว่า ท่านจักให้ดอกปทุมแก่ตน จึงได้พูดพล่ามไป คนทั้งสองนั้นจะพึงกล่าว หรือไม่กล่าวก็ตาม จมูกย่อมงอกขึ้นไม่ได้ ดูกรสหาย ข้าพเจ้าขอดอกปทุม ขอท่านจงให้แก่ข้าพเจ้าเถิด.
จบ ปทุมชาดกที่ ๑.
๒. มุทุปาณิชาดก
ความปรารถนาสมประสงค์ในกาลมีของ ๔ อย่าง
[๓๘๕] ถ้าคนใช้ของท่านพึงมีฝ่ามืออ่อน ๑ ช้างของท่านฝึกดีแล้ว ๑ เวลามืด ๑ ฝนตก ๑ จะพึงมี ในกาลใด ความปรารถนาของท่านก็จะสมประสงค์ ในกาลนั้นเป็นแน่. [๓๘๖] หญิงทั้งหลาย บุรุษไม่สามารถจะปกปักรักษาไว้ได้ด้วยถ้อยคำอันอ่อน หวาน ยากที่จะให้เต็มได้ เสมอด้วยแม่น้ำ ฉะนั้น ย่อมจะจมลงใน นรก บัณฑิตรู้ชัดอย่างนี้แล้ว พึงหลีกเว้นเสียให้ห่างไกล. [๓๘๗] หญิงเหล่านั้น ย่อมเข้าไปคบหาบุรุษใด เพราะความรักใคร่ พอใจ หรือ เพราะทรัพย์ เขาย่อมเผาบุรุษนั้นเสียฉับพลัน เปรียบเหมือนไฟไหม้ที่ ของตนเอง ฉะนั้น.
จบ มุทุปาณิชาดกที่ ๒.
๓. จุลลปโลภนชาดก
ว่าด้วยหญิงทำบุรุษให้งงงวย
[๓๘๘] เมื่อน้ำไม่หวั่นไหว ดาบสนี้มาได้ด้วยฤทธิ์เอง ครั้นถึงความระคนกับ ด้วยหญิง ก็จมลงในห้วงมหรรณพ. [๓๘๙] ธรรมดาว่า หญิงเหล่านี้ เป็นผู้ยังบุรุษให้งงงวย มีมายามาก และยัง พรหมจรรย์ให้กำเริบ ย่อมจะจมลงในอบาย บัณฑิตรู้ชัดอย่างนี้แล้ว พึงหลีกเว้นเสียให้ห่างไกล. [๓๙๐] หญิงเหล่านั้น ย่อมเข้าไปคบหาบุรุษใด เพราะความรักใคร่ พอใจ หรือ เพราะทรัพย์ เขาย่อมเผาบุรุษนั้นเสียฉับพลัน เปรียบเหมือนไฟไหม้ที่ ของตนเองฉะนั้น.
จบ จุลลปโลภนชาดกที่ ๓.
๔. มหาปนาทชาดก
ว่าด้วยปราสาทของพระเจ้ามหาปนาท
[๓๙๑] พระเจ้ามหาปนาทนั้น มีปราสาทล้วนแล้วไปด้วยทอง กว้าง ๑๖ ชั่วธนูตก สูง ๑ พันชั่วธนู. [๓๙๒] และปราสาทนั้นมีพื้น ๗ ชั้น ประกอบไปด้วยธง แล้วไปด้วยแก้วมี สีเขียว มีนางฟ้อน ๖ พัน แบ่งออกเป็น ๗ พวก ฟ้อนรำอยู่ใน ปราสาทนั้น. [๓๙๓] ดูกรภัททชิ ท่านกล่าวถึงปราสาทนั้นมีแล้วในกาลนั้น ในครั้งนั้น เรา เป็นท้าวสักกะผู้รับใช้การงานของท่าน.
จบ มหาปนาทชาดกที่ ๔.
๕. ขุรัปปชาดก
ถึงคราวกล้าควรกล้า
[๓๙๔] เมื่อท่านเห็นพวกโจรยิงลูกธนูอันแหลม ถือดาบอันคมกล้า ซึ่งขัดแล้ว ด้วยน้ำมัน เมื่อมรณภัยปรากฏเฉพาะหน้าแล้ว เหตุไฉนหนอ ท่านจึง ไม่มีความครั่นคร้าม. [๓๙๕] เมื่อเราเห็นพวกโจรยิงลูกธนูอันแหลม ถือดาบอันคมกล้า ซึ่งขัดแล้ว ด้วยน้ำมัน เมื่อมรณภัยปรากฏเฉพาะหน้าแล้ว เรากลับได้ความยินดี และโสมนัสมากยิ่ง. [๓๙๖] เรานั้นเกิดความยินดีและโสมนัสแล้ว ก็ครอบงำศัตรูทั้งหลายเสียได้ เพราะว่า ชีวิตของเราๆ ได้สละมาแต่ก่อนแล้ว เราไม่ได้ทำความอาลัย ในชีวิต บุคคลผู้กล้าหาญพึงกระทำกิจของคนกล้า ในกาลบางคราว.
จบ ขุรัปปชาดกที่ ๕.
๖. วาตัคคสินธวชาดก
ว่าด้วยมิตรสันถวะเกิดแต่แรกพบ
[๓๙๗] ด้วยเหตุใด คุณแม่จึงมีโรคผอมเหลือง ไม่ชอบใจอาหาร ม้านั้นก็มา คบหาสมาคมแล้ว เหตุไร คุณแม่จึงให้ม้าตัวนั้นหนีไปเสียในบัดนี้เล่า? [๓๙๘] ลูกเอ๋ย ขึ้นชื่อว่า มิตรสันถวะจะเกิดขึ้นแต่แรกพบปะเทียวแหละ ยศ ของสตรีทั้งหลาย ย่อมเสื่อมไป เพราะฉะนั้น แม่จึงแสร้งทำให้พระยาม้า นั้นหนีไปเสีย. [๓๙๙] สตรีคนใด ไม่ปรารถนาบุรุษผู้เกิดในตระกูลมียศศักดิ์ ที่มีคนชักพามา แล้ว สตรีคนนั้น จะต้องเศร้าโศกอยู่สิ้นกาลนาน เหมือนนางลาเศร้า- โศกถึงพระยาม้าวาตัคคสินธพ ฉะนั้น.
จบ วาตัคคสินธวชาดกที่ ๖.
๗. สุวรรณกักกฏกชาดก
ว่าด้วยปูทอง
[๔๐๐] ปูทอง มีนัยน์ตาอันยาว มีหนังเป็นกระดูก เป็นสัตว์อยู่ในน้ำ ไม่มีขน ฉันถูกปูทองนั้นหนีบไว้แล้ว จึงร้องขอความช่วยเหลือ เจ้าอย่าทิ้งฉัน ผู้คู่ชีวิตเสียเลย. [๔๐๑] ข้าแต่ท่านผู้เป็นลูกเจ้า ดิฉันจักไม่ละทิ้งท่านผู้เป็นช้างทรงกำลังถึง ๖๐ ปี เลย ท่านย่อมเป็นที่รักใคร่อย่างยิ่งของดิฉัน ยิ่งกว่าแผ่นดินซึ่งมีสมุทร สาครสี่เป็นขอบเขต. [๔๐๒] ปูเหล่าใด อยู่ในมหาสมุทรก็ดี ในแม่น้ำคงคาก็ดี ในแม่น้ำยมุนาก็ดี ท่านเกิดอยู่ในน้ำ ย่อมประเสริฐกว่าปูเหล่านั้น ขอท่านจงปล่อยสามี ของดิฉันผู้ร้องไห้อยู่เถิด.
จบ สุวรรณกักกฏกชาดกที่ ๗.
๘. อารามทูสกชาดก
ว่าด้วยเหตุที่นายอุยยานบาลจะถูกติ
[๔๐๓] ลิงตัวใด สมมุติกันว่า เป็นใหญ่กว่าฝูงลิงเหล่านี้ ปัญญาของลิงตัวนั้น มีอยู่เพียงอย่างนี้เท่านั้น ฝูงลิงที่เป็นบริวารนอกนี้ จะมีปัญญาอะไร. [๔๐๔] ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ ท่านยังไม่รู้อะไร ไฉนมาด่วนติเตียนเราต่างๆ อย่างนี้เล่า เรายังไม่เห็นรากไม้แล้ว จะพึงรู้ต้นไม้ว่า รากหยั่งลงไปลึกได้ อย่างไรเล่า? [๔๐๕] เราไม่ติเตียนท่านทั้งหลาย พวกท่านเป็นลิงไพร อาศัยอยู่ในป่า แต่ว่า นายอุยยานบาลทั้งหลาย ผู้ปลูกต้นไม้ เพื่อประโยชน์แก่พระราชา พระองค์ใด พระราชาพระองค์นั้น คือ พระเจ้าวิสสเสนะ จะพึงถูก ติเตียนได้.
จบ อารามทูสกชาดกที่ ๘.
๙. สุชาตาชาดก
ว่าด้วยถ้อยคำไพเราะทำให้คนรัก
[๔๐๖] สัตว์เหล่านี้ สมบูรณ์ด้วยสีสรรวรรณะ มีสำเนียงอ่อนหวาน น่ารัก น่าชม (แต่) เป็นสัตว์มีวาจากระด้าง ย่อมไม่เป็นที่รักของใคร ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้าเลย. [๔๐๗] ท่านก็ได้เห็นมิใช่หรือว่า นกดุเหว่าดำลายพร้อยพรายตัวนี้ เป็นที่รักของ สัตว์ทั้งหลายเป็นอันมาก เพราะวาจาอ่อนหวาน? [๔๐๘] เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการจะให้ตนเป็นที่รักของประชาชน พึงกล่าวแต่ ถ้อยคำสละสลวย พูดพอประมาณ ไม่ฟุ้งซ่าน ถ้อยคำของผู้แสดง อรรถ และธรรม เป็นถ้อยคำไพเราะ.
จบ สุชาตาชาดกที่ ๙.
๑๐. อุลูกชาดก
ว่าด้วยหน้าตาไม่ดีไม่ควรให้เป็นใหญ่
[๔๐๙] ได้ยินว่า พวกญาติทั้งมวล ตั้งนกเค้าให้เป็นใหญ่ ถ้าพวกญาติอนุญาต ฉันจะขอพูดสักคำหนึ่ง. [๔๑๐] ดูกรสหาย เราทั้งหมดอนุญาตให้ท่านพูด แต่จงพูดแต่ถ้อยคำที่เป็น อรรถ และธรรมอย่างเดียว เพราะว่า นกที่หนุ่มๆ มีปัญญา และทรง ไว้ซึ่งญาณอันรุ่งเรือง มีอยู่. [๔๑๑] ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย การแต่งตั้งนกเค้าให้เป็นใหญ่ ข้าพเจ้า ไม่ชอบใจ ท่านจงมองดูหน้าของนกเค้าผู้ไม่โกรธเถิด นกเค้าโกรธแล้ว จักทำหน้าตาเป็นอย่างไร?
จบ อุลูกชาดกที่ ๑๐.
จบ ปทุมวรรคที่ ๒.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปทุมชาดก ๒. มุทุปาณิชาดก ๓. จุลลปโลภนชาดก ๔. มหาปนาทชาดก ๕. ขุรัปปชาดก ๖. วาตัคคสินธวชาดก ๗. สุวรรณกักกฏกชาดก ๘. อารามทูสกชาดก ๙. สุชาตาชาดก ๑๐. อุลูกชาดก.
-----------------------------------------------------
๓. อุทปานทูสกวรรค
๑. อุทปานทูสกชาดก
ว่าด้วยการขี้เยี่ยวลงบ่อน้ำเป็นธรรมดาของหมาจิ้งจอก
[๔๑๒] ดูกรสหาย ทำไม ท่านจึงถ่ายมูตรและคูถรดบ่อน้ำที่ทำได้โดยยาก ของ ฤาษีผู้อยู่ป่า แสวงหาตบะอยู่ตลอดกาลนาน? [๔๑๓] เราพวกสุนัขจิ้งจอก ดื่มกินน้ำ ณ ที่ใดแล้ว ย่อมถ่ายอุจจาระปัสสาวะลง ในที่นั้น เป็นธรรมดาของสุนัขจิ้งจอกทั้งหลาย เป็นธรรมดาของบิดา มารดา และปู่ ย่า ตา ยาย ท่านไม่ควรจะถือโกรธธรรมดาอันนั้นของ พวกเราเลย. [๔๑๔] อาการเช่นนี้ เป็นธรรมดาของพวกท่าน อนึ่ง อาการเช่นไร ไม่เป็น ธรรมดาของพวกท่าน ขอพวกเราอย่าได้เห็นธรรมดา หรือมิใช่ธรรมดา ของพวกท่าน ในกาลไหนๆ อีกเลย.
จบ อุทปานทูสกชาดกที่ ๑.
๒. พยัคฆชาดก
ว่าด้วยเรื่องของมิตร
[๔๑๕] ความเกษมจากโยคะ ย่อมเสื่อมไปเพราะการคบหากับมิตรคนใด บัณฑิต พึงรักษาลาภ ยศ และชีวิตของตน ที่มิตรนั้นครอบงำไว้เสียก่อน ดุจ บุคคลผู้รักษาตาของตนไว้ ฉะนั้น. [๔๑๖] ความเกษมจากโยคะ ย่อมเจริญเพราะการคบหากับมิตรคนใด บุรุษ ผู้ฉลาดในกิจทั้งมวล พึงกระทำกิจทุกอย่างของกัลยาณมิตรให้เหมือน ของตน. [๔๑๗] ดูกรราชสีห์และเสือโคร่ง จงมาเถิด เชิญท่านทั้งสองจงกลับเข้าไปยัง ป่าใหญ่ พวกมนุษย์อย่ามาตัดป่าของเราให้ปราศจากราชสีห์และเสือโคร่ง เสียเลย ราชสีห์และเสือโคร่ง อย่าได้เป็นผู้ไร้ป่า.
จบ พยัคฆชาดกที่ ๒.
๓. กัจฉปชาดก
ว่าด้วยลิงสัปดน
[๔๑๘] ใครหนอเดินมา เหมือนบุคคลผู้รวยอาหาร เหมือนพราหมณ์ผู้ได้ลาภ มาเต็มมือ ฉะนั้น ท่านไปรวยภิกษาหารมาแต่ที่ไหนหนอ ท่านเข้าไปหา ผู้มีศรัทธาคนไรมา? [๔๑๙] ดูกรท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นลิง ทรามปัญญา จับต้องสิ่งที่บุคคลไม่ควร จับต้อง ขอพระคุณเจ้าโปรดเปลื้องข้าพเจ้าให้พ้นทุกข์ด้วยเถิด ขอความ เจริญจงมีแก่พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าพ้นจากความฉิบหายนี้แล้วจะไปอยู่ที่ ภูเขา. [๔๒๐] เต่าทั้งหลาย เป็นสัตว์สืบเนื่องมาจากกัสสปโคตร ลิงทั้งหลายเป็นสัตว์ สืบเนื่องมาจากโกณฑัญญโคตร ดูกรเต่าผู้เทือกแถวกัสสปโคตร ท่าน จงปล่อยลิงผู้เทือกแถวโกณฑัญญโคตรเสียเถิด ท่านคงเคยทำเมถุนธรรม กันแล้ว.
จบ กัจฉปชาดกที่ ๓.
๔. โลลชาดก
ว่าด้วยโทษของความโลเล
[๔๒๑] นกยางตัวนี้ อย่างไรจึงมีหงอน เป็นโจร (เข้ามาอยู่ที่รังกา) ดูกรนกยาง ผู้มีเมฆเป็นบิดา ท่านจงมาเสียข้างนี้เถิด กาผู้เป็นสหายของเรา เป็นผู้ ดุร้าย. [๔๒๒] เราไม่ใช่นกยางมีหงอน เราเป็นกาโลเล ไม่ได้ทำตามคำของท่าน กลับ มาแล้ว จงมองดูเราผู้ลุ่นนี้เถิด. [๔๒๓] ดูกรสหาย ท่านจะได้รับทุกข์อีก เพราะว่า ปกติของท่านเป็นเช่นนั้น เครื่องบริโภคของมนุษย์ไม่ควรที่นกจะพึงบริโภค.
จบ โลลชาดกที่ ๔.
๕. รุจิรชาดก
[๔๒๔] นกยางตัวนี้ อย่างไรจึงขาว น่ารัก มาอยู่ในรังกาได้ และนี่เป็นรังของกา ผู้ดุร้ายสหายของเรา. [๔๒๕] ดูกรนกพิราบผู้สหาย ท่านก็รู้จักเรา ผู้มีข้าวฟ่างเป็นอาหารมิใช่หรือ เรา มิได้กระทำตามคำของท่าน กลับมาแล้ว จงมองดูเราผู้ลุ่นนี้เถิด. [๔๒๖] ดูกรกาผู้สหาย ท่านจะได้รับทุกข์อีก เพราะว่า ปกติของท่านเป็นเช่นนั้น เครื่องบริโภคของมนุษย์ไม่ควรที่นกจะพึงบริโภค.
จบ รุจิรชาดกที่ ๕.
๖. กุรุธรรมชาดก
ว่าด้วยให้ช้างแก่ท้าวกาลิงคราช
[๔๒๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่กว่าประชาชน ข้าพระบาททั้งหลาย ได้ทราบ ศรัทธา และศีลของพระองค์แล้ว จึงมาขอรับพระราชทานเอาทองคำ แลกกับช้างมีสีดังดอกอัญชัน นำไปในแคว้นกาลิงคราช. [๔๒๘] สัตว์ที่พึงเลี้ยงด้วยข้าวก็ดี ที่ไม่ได้เลี้ยงก็ดี ผู้ใด ในโลกนี้ ตั้งใจมาหาเรา สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด เราก็มิได้ห้ามเลย นี้เป็นถ้อยคำของท่านบูรพาจารย์. [๔๒๙] ดูกรพราหมณ์ทั้งหลาย เราจะให้ช้างนี้อันควรเป็นราชพาหนะ เป็นราช บริโภค ประกอบไปด้วยยศ ประดับไปด้วยเครื่องประดับ ปกคลุมไป ด้วยข่ายทอง มีนายหัตถาจารย์ พร้อมแก่ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านจงไป ตามปรารถนาเถิด.
จบ กุรุธรรมชาดกที่ ๖.
๗. โรมชาดก
ว่าด้วยอาชีวกเจ้าเล่ห์
[๔๓๐] ดูกรปักษีผู้มีขนปีก เมื่อเรามาอยู่ในถ้ำแห่งภูเขานี้กว่า ๕๐ ปี นกพิราบ ทั้งหลายก็มิได้รังเกียจ เป็นผู้มีจิตเยือกเย็นเป็นอย่างยิ่ง ย่อมพากันมาสู่ บ่วงมือของเรา ในกาลก่อน. [๔๓๑] ดูกรท่านผู้มีอวัยวะคด บัดนี้ นกพิราบเหล่านั้น คงจะเห็นเหตุอะไร กระมัง จึงใคร่จะพากันไปเสพอาศัยซอกภูเขาอื่น นกเหล่านี้ ครั้งก่อน ย่อมสำคัญเราอย่างไร บัดนี้ ย่อมไม่สำคัญเราอย่างนั้นหรือ หรือนก เหล่านี้ พลัดพรากไปนานแล้ว จำเราไม่ได้ หรือว่าเป็นนกใหม่จึงไม่เข้า ใกล้เรา? [๔๓๒] พวกเราเป็นผู้ไม่หลงใหล รู้อยู่ว่า ท่านก็คือท่านนั่นแหละ พวกเราเหล่า นั้นก็ไม่ใช่นกอื่น ก็แต่ว่า จิตของท่านเป็นจิตประทุษร้ายในชนนี้ ดูกร อาชีวก เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงหวาดกลัวท่าน.
จบ โรมชาดกที่ ๗.
๘. มหิสชาดก
ว่าด้วยลิงกับควาย
[๔๓๓] ท่านอาศัยเหตุอะไรจึงอดกลั้นทุกข์นี้ ต่อลิงผู้มีจิตกลับกลอก มักประทุษ- ร้ายมิตร ดุจเป็นเจ้าของผู้ให้ความใคร่ทั้งปวง. [๔๓๔] ท่านจงขวิดมันเสีย (ด้วยเขา) จงเหยียบเสีย (ด้วยเท้า) ถ้าไม่ห้าม ปรามมันเสีย สัตว์ทั้งหลายที่โง่เขลา ก็จะพึงเบียดเบียนร่ำไป. [๔๓๕] เมื่อลิงตัวนี้ ดูหมิ่นควายตัวอื่น ดุจดูหมิ่นข้าพเจ้า จักกระทำอนาจาร อย่างนี้แก่ควายตัวอื่น ควายเหล่านั้น ก็จะฆ่ามันเสียในที่นั้น ความพ้น อันนั้นจักมีแก่ข้าพเจ้า.
จบ มหิสชาดกที่ ๘.
๙. สตปัตตชาดก
ว่าด้วยความสำคัญผิด
[๔๓๖] มาณพสำคัญนางสุนัขจิ้งจอกในหนทาง ซึ่งเที่ยวอยู่ในป่า ผู้ปรารถนา ประโยชน์ และบอกให้รู้ด้วยอาการอย่างนั้นว่า เป็นผู้ปรารถนาความ ฉิบหาย มาสำคัญนกกระไนผู้ปรารถนาความฉิบหายว่า เป็นผู้ปรารถนา ประโยชน์ ฉันใด. [๔๓๗] บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมเป็นเช่นนั้น เมื่อชนทั้งหลายผู้ปรารถนาประ- โยชน์จึงกล่าวสอน ย่อมกลับถือเอาโดยไม่เคารพ ฉันนั้น. [๔๓๘] อนึ่ง ชนเหล่าใด สรรเสริญบุคคลนั้นก็ดี ยกย่องบุคคลนั้นเพราะกลัว ก็ดี ก็สำคัญชนเหล่านั้นว่า เป็นมิตร เหมือนมาณพสำคัญผิดนกกระไน ว่า เป็นมิตร ฉะนั้น.
จบ สตปัตตชาดกที่ ๙.
๑๐. ปูฏทูสกชาดก
ว่าด้วยผู้ชอบทำลาย
[๔๓๙] พระยาเนื้อจะฉลาดในการทำห่อใบไม้เป็นแน่ เพราะฉะนั้น จึงได้รื้อห่อ ใบไม้เสีย คงจะทำห่อใบไม้อย่างอื่นให้ดีกว่าเก่าเป็นมั่นคง. [๔๔๐] บิดา หรือมารดาของเรา ไม่ใช่เป็นคนฉลาดในการทำห่อใบไม้เลย เรา ได้แต่รื้อสิ่งของที่ทำไว้แล้วๆ เท่านั้น ตระกูลของเรานี้ เป็นธรรมดา อย่างนี้. [๔๔๑] ธรรมดาของท่านทั้งหลายเป็นถึงเช่นนี้ ก็สภาพที่มิใช่ธรรมดาจะเป็น เช่นไร ขอพวกเราอย่าได้เห็นธรรมดา หรือมิใช่ธรรมดาของท่านทั้งหลาย ในกาลไหนๆ เลย.
จบ ปูฏทูสกชาดกที่ ๑๐.
จบ อุทปานวรรคที่ ๓.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อุทปานทูสกชาดก ๒. พยัคฆชาดก ๓. กัจฉปชาดก ๔. โลลชาดก ๕. รุจิรชาดก ๖. กุรุธรรมชาดก ๗. โรมชาดก ๘. มหิสชาดก ๙. สตปัตตชาดก ๑๐. ปูฏทูสกชาดก.
-----------------------------------------------------
๔. อัพภันตรวรรค
๑. อัพภันตรชาดก
ว่าด้วยผลไม้ทิพย์
[๔๔๒] ผลของต้นไม้ชื่ออัพภันตระ เป็นผลไม้ทิพย์ นางนารีที่แพ้ท้อง บริโภค แล้ว จะประสูติพระราชโอรสเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ. [๔๔๓] ดูกรนางผู้เจริญ แม้ท่านก็เป็นพระมเหสีผู้เลอโฉม และเป็นที่รักของ พระราชสวามี พระราชาจักทรงนำเอาผลไม้ชื่ออัพภันตระนี้มาให้แก่ท่าน. [๔๔๔] บุคคลผู้กล้าหาญ ยอมเสียสละตน กระทำความพากเพียรในประโยชน์ ของท่านที่ได้เลี้ยงตนมา ย่อมถึงฐานะอันใด ข้าพเจ้าเป็นผู้จะได้ฐานะ อันนั้น.
จบ อัพภันตรชาดกที่ ๑.
๒. เสยยชาดก
[๔๔๕] ผู้ใด คบหากับบุคคลผู้ประเสริฐ ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้มีส่วนอันประเสริฐ ด้วย เราสมานไมตรีกับพระยาโจรคนเดียวก็ปลดเปลื้องท่านทั้งหลาย ผู้ต้องโทษได้ทั้งร้อยคน. [๔๔๖] เพราะฉะนั้น บุคคลคนเดียวสมานไมตรีกับโลกทั้งมวลสิ้นชีพแล้ว ก็ พึงเข้าถึงสวรรค์ ท่านชาวกาสิกรัฐทั้งหลาย จงฟังคำของเรานี้เถิด. [๔๔๗] พระเจ้ากังสมหาราช ครอบครองราชสมบัติเมืองพาราณสี ได้ตรัสพระ ราชดำรัสนี้แล้ว ก็ทรงสละทั้งธนู และลูกศรเสีย ทรงสมาทาน สำรวม ศีล.
จบ เสยยชาดกที่ ๒.
๓. วัฑฒกีสูกรชาดก
ว่าด้วยหมูสู้เสือได้ด้วยสามัคคีกัน
[๔๔๘] ดูกรเสือโคร่ง วันก่อนๆ ท่านเคยย่ำยีหมูทั้งหลายในประเทศนี้ แล้ว นำเอาหมูตัวอ้วนๆ มา บัดนี้ ท่านเดินซบเซามาแต่ผู้เดียว ดูกรเสือโคร่ง ก็วันนี้ กำลังกายของท่านไม่มีหรือ? [๔๔๙] ได้ยินว่า วันก่อนๆ หมูเหล่านี้ เห็นข้าพเจ้าเข้าแล้วก็กลัวต่างก็บ่ายหน้า หนีไปหาที่ซ่อนเร้นคนละทิศละทาง บัดนี้ หมูเหล่านั้น มาประชุมรวมกัน เป็นหมวดเป็นหมู่ อยู่ในที่ชัยภูมิดี ยากที่ข้าพเจ้าจะย่ำยีได้. [๔๕๐] ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแก่หมู่หมูที่มาประชุมกัน ข้าพเจ้าได้เห็นมิตรภาพอัน น่าอัศจรรย์ ควรสรรเสริญแล้ว จึงขอกล่าวสรรเสริญไว้ หมูทั้งหลายผู้มี เขี้ยวเป็นกำลัง ได้ชนะเสือโคร่งด้วยสามัคคีอันใด ก็พากันพ้นมรณภัย ด้วยความสามัคคีอันนั้น.
จบ วัฑฒกีสูกรชาดกที่ ๓.
๔. สิริชาดก
ว่าด้วยโภคะเกิดแก่ผู้มีบุญ
[๔๕๑] ผู้ไม่มีบุญ จะเป็นผู้มีศิลปะหรือไม่ก็ตาม ย่อมขวนขวายรวบรวมทรัพย์ไว้ เป็นอันมาก ผู้มีบุญย่อมใช้สอยทรัพย์เหล่านั้น. [๔๕๒] โภคะเป็นอันมาก ย่อมล่วงเลยสัตว์เหล่าอื่นไปเสีย เกิดขึ้นในที่ทั้งปวง เทียว สำหรับผู้มีบุญอันกระทำไว้ ใช่แต่เท่านั้น รัตนะทั้งหลายก็บังเกิด ขึ้นแม้ในที่มิใช่บ่อเกิด. [๔๕๓] ไก่ แก้วมณี ไม้เท้า และหญิงชื่อว่า บุญญลักขณาเทวี ย่อมเกิดขึ้น แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้ไม่มีบาป มีบุญอันกระทำไว้แล้ว.
จบ สิริชาดกที่ ๔.
๕. มณิสูกรชาดก
ว่าด้วยของดีใครทำลายไม่ได้
[๔๕๔] พวกข้าพเจ้าประมาณ ๓๐ ตัว อาศัยอยู่ในถ้ำแก้วมณี ๗ ปี ได้ปรึกษา กันว่า จะช่วยกันกำจัดแสงแก้วมณีให้เศร้าหมอง. [๔๕๕] พวกข้าพเจ้าช่วยกันเสียดสีแก้วมณี แก้วมณีกลับมีสีสุกใสขึ้นกว่าเก่า บัดนี้ พวกข้าพเจ้าขอถามท่านถึงเหตุนั้น ท่านย่อมสำคัญกิจในเรื่องนี้ อย่างไร? [๔๕๖] ดูกรหมูทั้งหลาย แก้วไพฑูรย์นี้ เป็นของแข็ง งามผ่องใส ใครๆ ไม่ สามารถจะกำจัดแก้วไพฑูรย์นั้นให้เศร้าหมองได้เลย ท่านทั้งหลายจงพา กันหลีกหนีไปอยู่ที่อื่นเสียเถิด.
จบ มณิสูกรชาดกที่ ๕.
๖. สาลุกชาดก
ว่าด้วยอุบายไม่ให้ถูกฆ่า
[๔๕๗] ท่านอย่าปรารถนาอาหารอย่างหมูชื่อสาลุกะเลย เพราะว่า หมูชื่อว่าสาลุกะ นี้ บริโภคอาหารเป็นเครื่องเดือดร้อน ท่านจงเป็นผู้มีความขวนขวาย น้อย เคี้ยวกินแต่ข้าวลีบนี้เถิด นี้เป็นลักษณะแห่งความอายุยืน. [๔๕๘] ในไม่ช้า ราชบุรุษผู้มีบริวารมากนั้น ก็จะเป็นแขกมาประชุมกัน ณ สถานที่นี้ ในกาลนั้น ท่านก็จะได้เห็นหมูสาลุกะตัวนี้ อันเจ้าของให้ทุบ ด้วยไม้ค้อนนอนตายอยู่. [๔๕๙] วัวชราทั้งสองตัว พอเห็นหมูสาลุกะผู้กล้าหาญ อันเจ้าของให้ทุบด้วยไม้ ค้อนนอนตายอยู่ ก็คิดร่วมกันว่า ข้าวลีบเท่านั้น เป็นอาหารอย่างสูงสุด ของเรา.
จบ สาลุกชาดกที่ ๖.
๗. ลาภครหิกชาดก
ว่าด้วยวิธีการหลอกลวง
[๔๖๐] ไม่ใช่คนบ้า ทำเป็นเหมือนคนบ้า ไม่ใช่คนส่อเสียด ก็ทำเป็นเหมือนคน ส่อเสียด ไม่ใช่นักฟ้อนรำ ก็ทำเป็นเหมือนนักฟ้อนรำ ไม่ใช่คนตื่นข่าว ก็ทำเป็นเหมือนคนตื่นข่าว ย่อมจะได้ลาภในคนผู้หลงใหลทั้งหลาย นี้ เป็นคำสั่งสอนแก่ท่าน. [๔๖๑] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ น่าติเตียนความประพฤติอัตตวินิบาตกรรม การประ- พฤติอธรรม การได้ยศ และได้ทรัพย์. [๔๖๒] อนึ่ง ถ้าบุคคลจะถือเอาบาตรออกไปบวชเสีย ความเป็นอยู่นี้แล ประเสริฐกว่าการแสวงหาโดยอธรรม.
จบ ลาภครหิกชาดกที่ ๗.
๘. มัจฉทานชาดก
ว่าด้วยบุญที่ให้ทานแก่ปลา
[๔๖๓] ปลาทั้งหลาย มีราคาถึงหนึ่งพันกหาปณะกับ ๗ มาสก ย่อมจะไม่มีผู้ใดผู้ หนึ่งเชื่อถือเลย และในที่นี้ เราก็มี ๗ มาสกเท่านั้น แต่เราก็ซื้อปลาตัว นั้นได้. [๔๖๔] ท่านได้ให้โภชนะแก่ปลาทั้งหลาย แล้วอุทิศส่วนบุญให้แก่เรา เรา ระลึกถึงส่วนบุญอันนั้น และความนอบน้อมที่ท่านได้กระทำแล้ว จึง รักษาทรัพย์ของท่านนี้ไว้. [๔๖๕] บุคคลผู้มีจิตคิดประทุษร้าย ย่อมไม่มีความเจริญเลย ใช่แต่เท่านั้น เทวดาทั้งหลายก็ไม่บูชาผู้นั้น ผู้ใด ทำกรรมอันชั่วช้า ยักยอกเอาทรัพย์ มรดกของบิดา ไม่ต้องการจะให้พี่ชาย เทวดาทั้งหลาย ย่อมไม่บูชาผู้นั้น.
จบ มัจฉทานชาดกที่ ๘.
๙. นานาฉันทชาดก
ว่าด้วยต่างคนต่างใจ
[๔๖๖] ข้าแต่มหาราช ข้าพระบาททั้งหลายอยู่ร่วมในเรือนหลังเดียวกัน แต่มี ฉันทะต่างกัน ข้าพระบาทอยากได้บ้านส่วย นางพราหมณีอยากได้โคนม สักร้อยหนึ่ง. [๔๖๗] ลูกชายอยากได้รถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ลูกสะใภ้อยากได้กุณฑลแก้ว ฝ่ายนางปุณณทาสีผู้ชั่วช้าก็จำนงจะใคร่ได้ครก สาก และกระด้ง. [๔๖๘] ท่านทั้งหลาย จงให้บ้านส่วยแก่พราหมณ์ จงให้โคนมร้อยหนึ่งแก่นาง พราหมณี จงให้รถเทียมด้วยม้าอาชาไนยแก่ลูกชาย จงให้กุณฑลแก้ว แก่ลูกสะใภ้ และจงให้ครกตำข้าว สาก และกระด้งแก่นางปุณณทาสี ผู้ชั่วช้า.
จบ นานาฉันทชาดกที่ ๙.
๑๐. สีลวีมังสชาดก
ว่าด้วยอานิสงส์ของศีล
[๔๖๙] ได้ทราบมาว่า ศีลเป็นความงาม ศีลเป็นเยี่ยมในโลก ท่านจงดูซิ งู ใหญ่มีพิษอันร้ายแรง ย่อมไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยรู้สึกตัวว่า เป็นผู้มีศีล. [๔๗๐] เราจักสมาทานศีลที่บัณฑิตรับรองแล้วว่า เป็นความปลอดภัยในโลก เป็นคุณชาติเครื่องให้บัณฑิตเรียกบุคคลผู้ประพฤติตามข้อปฏิบัติของพระ- อริยะว่า เป็นผู้มีศีล. [๔๗๑] อนึ่ง บุคคลผู้มีศีล ย่อมเป็นที่รักของญาติทั้งหลาย และรุ่งเรืองในหมู่ มิตร เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติ.
จบ สีลวีมังสชาดกที่ ๑๐.
จบ อัพภันตรวรรคที่ ๔.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อัพภันตรชาดก ๒. เสยยชาดก ๓. วัฑฒกีสูกรชาดก ๔. สิริชาดก ๕. มณิสูกรชาดก ๖. สาลุกชาดก ๗. ลาภครหิกชาดก ๘. มัจฉทานชาดก ๙. นานาฉันทชาดก ๑๐. สีลวีมังสชาดก.
-----------------------------------------------------
๕. กุมภวรรค
๑. ภัทรฆฏเภทกชาดก
คนโง่เขลาเดือดร้อนภายหลัง
[๔๗๒] นักเลงได้หม้อสารพัดนึกอันเป็นยอดทรัพย์ใบหนึ่ง ยังรักษาหม้อนั้นไว้ ได้ตราบใด เขาก็จะได้รับความสุขอยู่ตราบนั้น. [๔๗๓] เมื่อใด เขาประมาท และเย่อหยิ่ง ได้ทำลายหม้อให้แตก เพราะความ ประมาท เมื่อนั้น ก็เป็นคนเปลือย และนุ่งผ้าเก่า เป็นคนโง่เขลา ย่อม เดือดร้อนในภายหลัง. [๔๗๔] คนผู้ประมาทโง่เขลา ได้ทรัพย์มาแล้วย่อมใช้สอย จะต้องเดือดร้อนใน ภายหลัง เหมือนนักเลงทุบหม้อยอดทรัพย์เสีย ฉะนั้น.
จบ ภัทรฆฏเภทกชาดกที่ ๑.
๒. สุปัตตชาดก
ว่าด้วยนางกาแพ้ท้อง
[๔๗๕] ข้าแต่มหาราช พระยากาชื่อสุปัตตะ เป็นกาอยู่ในเมืองพาราณสี อันกา- แปดหมื่นแวดล้อมแล้ว. [๔๗๖] นางกาสุปัสสาภรรยาของพระยากานั้นแพ้ท้อง ปรารถนาจะกินพระ กระยาหารมีค่ามาก ที่คนหุงต้มแล้วในห้องเครื่อง. [๔๗๗] ข้าพระบาทเป็นทูตของพระยากาทั้งสองนั้น ถูกนายใช้ให้มาจึงได้เป็นผู้มา ในที่นี้ ข้าพระบาทจะกระทำความจงรักต่อเจ้านาย จึงได้จิกจมูกของคน เชิญเครื่องให้เป็นแผล.
จบ สุปัตตชาดกที่ ๒.
๓. กายนิพพินทชาดก
ว่าด้วยความเบื่อหน่ายร่างกาย
[๔๗๘] เมื่อเราถูกโรคอย่างหนึ่งถูกต้อง ได้เสวยทุกขเวทนาอย่างสาหัส อัน ทุกข์เวทนาเบียดเบียนอยู่ ร่างกายนี้ก็ซูบผอมลงอย่างรวดเร็ว ดุจดอกไม้ ที่ทิ้งตากแดดไว้ที่ทราย ฉะนั้น. [๔๗๙] รูปร่างอันไม่น่าพอใจถึงการนับว่า น่าพอใจ ที่ไม่สะอาดสมมติว่า เป็น ของสะอาด เต็มด้วยซากศพต่างๆ ปรากฏแก่คนพาลผู้ไม่พิจารณาเห็นว่า เป็นของน่าพอใจ. [๔๘๐] น่าติเตียนกายอันเปื่อยเน่า กระสับกระส่าย น่าเกลียด ไม่สะอาด มี ความป่วยไข้เป็นธรรมดา เป็นที่ๆ หมู่สัตว์ผู้ประมาทหมกมุ่นอยู่ ย่อม ยังหนทางเพื่อความเข้าถึงสุคติให้เสื่อมไป.
จบ กายนิพพินทชาดกที่ ๓.
๔. ชัมพุขาทกชาดก
ว่าด้วยการสรรเสริญกันและกัน
[๔๘๑] ใครนี่ มีเสียงอันไพเราะเพราะพริ้ง อุดมกว่าสัตว์ผู้ที่มีเสียงเพราะทั้งหลาย จับอยู่ที่กิ่งชมพู่ ส่งเสียงร้องไพเราะดุจลูกนกยูง ฉะนั้น. [๔๘๒] กุลบุตรย่อมรู้จักสรรเสริญกุลบุตร ดูกรสหายผู้มีผิวพรรณคล้ายกับลูก- เสือโคร่ง เชิญท่านบริโภคเถิด เรายอมให้แก่ท่าน. [๔๘๓] ดูกรบุคคลผู้สรรเสริญกันและกัน เราได้เห็นคนพูดมุสา คือ กาผู้เคี้ยว กินของที่คนอื่นคายแล้ว และสุนัขจิ้งจอกผู้กินซากศพ มาประชุมกัน นานมาแล้ว.
จบ ชัมพุขาทกชาดกที่ ๔.
๕. อันตชาดก
ว่าด้วยที่สุด ๓ ประเภท
[๔๘๔] ข้าแต่พระยาเนื้อ ร่างกายของท่านเหมือนของโคอุสุภราช ความองอาจ ของท่านเหมือนของสีหราช ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่าน ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจักได้อาหารสักหน่อย? [๔๘๕] กุลบุตรย่อมรู้จักสรรเสริญกุลบุตร ดูกรกาผู้มีสร้อยคองามดุจนกยูง เชิญท่านลงจากต้นละหุ่งมากินเนื้อให้สบายเถิด. [๔๘๖] บรรดามฤคชาติทั้งหลาย สุนัขจิ้งจอกเป็นเลวที่สุด บรรดาปักษีทั้งหลาย กาเป็นเลวที่สุด บรรดารุกขชาติทั้งหลาย ต้นละหุ่งเป็นเลวที่สุด ที่สุด ๓ ประเภทมารวมกันเอง.
จบ อันตชาดกที่ ๕.
๖. สมุททชาดก
ว่าด้วยสมุทรสาคร
[๔๘๗] ใครนี้หนอ มาเที่ยววนเวียนอยู่ในน้ำทะเลอันเค็ม ย่อมห้ามปลา และ มังกรทั้งหลาย และย่อมเดือดร้อนในกระแสน้ำที่มีคลื่น? [๔๘๘] ข้าพเจ้าเป็นนกชื่อว่า อนันตปายี ปรากฏไปทั่วทิศว่า เป็นผู้ไม่อิ่ม เรา ปรารถนาจะดื่มน้ำ ในมหาสมุทรสาครใหญ่กว่าแม่น้ำทั้งหลาย. [๔๘๙] สมุทรสาครนี้พร่องก็ดี เต็มเปี่ยมอยู่ก็ดี ใครๆ จะดื่มน้ำในสมุทรสาคร นั้น ก็หาพร่องไปไม่ ได้ยินมาว่า สาครอันใครๆ ไม่อาจจะดื่มกิน ให้หมดสิ้นไปได้.
จบ สมุททชาดกที่ ๖.
๗. กามวิลาปชาดก
ว่าด้วยผู้พิลาปถึงกาม
[๔๙๐] ดูกรนกผู้ปีกเป็นยาน บินทะยานไปในเวหา บินไปในอากาศอันสูง ท่านช่วยบอกกะภรรยาของข้าพเจ้าผู้มีลำขาเสมอด้วยต้นกล้วยว่าข้าพเจ้าถูก เสียบอยู่บนหลาว ภรรยาของข้าพเจ้านั้น เมื่อไม่รู้ข่าวคราวอันนี้ ก็จัก- ทำการมาของข้าพเจ้าให้ล่าช้าไป. [๔๙๑] ภรรยาของข้าพเจ้านั้น ยังไม่รู้เหตุที่ข้าพเจ้าถูกเสียบหลาวและหอก นาง เป็นคนดุร้าย ก็จะโกรธข้าพเจ้า ความโกรธแห่งภรรยาของข้าพเจ้านั้น จะทำให้ข้าพเจ้าเดือดร้อนไปด้วย อนึ่ง หลาวนี้ อย่าทำให้ข้าพเจ้าเดือด- ร้อนเลย. [๔๙๒] หอกและเกราะนี้ ข้าพเจ้าเก็บไว้ที่หัวนอน อนึ่ง แหวนประดับนิ้วก้อย ที่ทำด้วยทองคำเนื้อสุก และผ้าแคว้นกาสีเนื้ออ่อน ข้าพเจ้าก็เก็บไว้ที่ หัวนอน ขอภรรยาที่รักของข้าพเจ้า ผู้มีความต้องการทรัพย์ จงยินดี ด้วยทรัพย์นี้เถิด.
จบ กามวิลาปชาดกที่ ๗.
๘. อุทุมพรชาดก
ผู้อ่อนน้อมชื่อว่าเป็นผู้อิ่ม
[๔๙๓] ต้นมะเดื่อ ต้นไทร และต้นมะขวิดนี้ มีผลสุกแล้ว เชิญท่านออกมา กินเสียเถิด จะยอมตายเพราะความหิวโหยทำไม? [๔๙๔] ผู้ใด ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้อิ่มแล้ว ไม่หวงแหน เหมือนข้าพเจ้าเคี้ยวกินผลไม้สุกจนอิ่มแล้ว ในวันนี้ ไม่หวงแหนผลไม้ ที่สุกแล้ว ฉะนั้น. [๔๙๕] ลิงเกิดในป่า พึงหลอกลวงลิงที่เกิดในป่า เพราะเหตุอันใด แม้ลิงหนุ่มเช่น ท่านก็ไม่พึงเชื่อเหตุอันนั้น ลิงผู้ใหญ่ที่แก่เฒ่าชราเช่นข้าพเจ้า ไม่พึง เชื่อถือเลย.
จบ อุทุมพรชาดกที่ ๘.
๙. โกมาริยปุตตชาดก
ว่าด้วยผู้ไกลจากภูมิฌาน
[๔๙๖] เจ้าลิง เมื่อก่อน เจ้าเคยโลดเต้นเล่นในสำนัก เราผู้คะนองเล่นเป็นปกติ เจ้าจะกระทำอาการโลดเต้นอย่างไรมาก่อน บัดนี้ เราไม่ชื่นชมยินดีอาการ นั้นของเจ้าแล้ว. [๔๙๗] ความหมดจดด้วยฌานอย่างสูง เราได้ฟังมาจากอาจารย์ชื่อโกมาริยบุตร ผู้เป็นพหูสูต บัดนี้ ท่านอย่าเข้าใจเราว่าเหมือนแต่ก่อน ดูกรท่านผู้มีอายุ เราประกอบไปด้วยฌานอยู่ทั้งนั้น. [๔๙๘] เจ้าลิงเอ๋ย ถ้าแม้บุคคลจะพึงหว่านพืชลงที่แผ่นหิน ถึงฝนจะตกลงมา พืชนั้นก็งอกงามขึ้นไม่ได้แน่ ความหมดจดด้วยฌานอย่างสูงนั้น ถึงเจ้า จะได้ฟังมาแล้ว เจ้าก็ยังเป็นผู้ไกลจากภูมิฌานมากนัก.
จบ โกมาริยปุตตชาดกที่ ๙.
๑๐. พกชาดก
ว่าด้วยการทำลายตบะ
[๔๙๙] หมาป่าตัวมีเนื้อและเลือดเป็นอาหาร เป็นอยู่ได้ เพราะฆ่าสัตว์อื่น สมาทานวัตรแล้ว รักษาอุโบสถอยู่. [๕๐๐] ท้าวสักกะทรงทราบวัตรของหมาป่านั้นแล้ว จึงจำแลงเป็นแพะมา หมาป่า นั้นปราศจากตบะ ต้องการดื่มกินเลือดจึงวิ่งไปจะกินแพะ ได้ทำลายตบะ ธรรมเสียแล้ว. [๕๐๑] บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีวัตรอันเลวทราม ในการสมาทานวัตร ย่อมทำตนให้เบา ดุจหมาป่าทำลายตบะของตน เพราะเหตุต้องการแพะ ฉะนั้น.
จบ พกชาดกที่ ๑๐.
จบ กุมภวรรคที่ ๕.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ภัทรฆฏเภทกชาดก ๒. สุปัตตชาดก ๓. กายนิพพินทชาดก ๔. ชัมพุขาทกชาดก ๕. อันตชาดก ๖. สมุททชาดก ๗. กามวิลาปชาดก ๘. อุทุมพรชาดก ๙. โกมาริยปุตตชาดก ๑๐. พกชาดก.
-----------------------------------------------------
รวมวรรคที่มีในติกนิบาตนี้ คือ
๑. สังกัปปวรรค ๒. ปทุมวรรค ๓. อุทปานทูสกวรรค ๔. อัพภันตรวรรค ๕. กุมภวรรค.
จบ ติกนิบาตชาดก.
-----------------------------------------------------
จตุกกนิบาตชาดก
๑. กาลิงควรรค
๑. จุลลกาลิงคชาดก
เทวดากีดกันความพยายามของคนไม่ได้
[๕๐๒] ท่านทั้งหลาย จงเปิดประตูถวายให้พระราชาเหล่านี้เสด็จเข้าไปสู่ ภายในพระนคร ข้าพเจ้าชื่อว่านนทิเสน เป็นอำมาตย์ดุจราชสีห์ของ พระเจ้าอรุณ ได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี จัดรักษาไว้เรียบร้อยแล้ว. [๕๐๓] แน่ะดาบสโกง ท่านได้พูดไว้อย่างนี้ว่า ชัยชนะ จักมีแก่พวกพระเจ้า- กาลิงคราช ผู้อดทนต่อภัยที่แสนยากจะอดทนได้ ความปราชัย จักมี แก่พวกอัสสกราช ชนทั้งหลายผู้ซื่อตรง ย่อมไม่พูดเท็จ. [๕๐๔] ข้าแต่ท้าวสักกะ เทวดาทั้งหลายยังประพฤติล่วงมุสาวาทอีกหรือ พระองค์พึงตรัสแต่ถ้อยคำที่จริง ที่แท้อย่างยิ่งมิใช่หรือ ข้าแต่ท้าวมัฆวาน เทวราช ผู้เป็นใหญ่กว่าปวงชน พระองค์ทรงอาศัยเหตุอะไรหรือ จึงได้ ตรัสมุสา? [๕๐๕] ดูกรพราหมณ์ เมื่อชนทั้งหลายพูดกันอยู่ ท่านก็เคยได้ยินแล้วมิใช่หรือ ว่า เทวดาทั้งหลาย ย่อมเกียดกันความพยายามของบุรุษไม่ได้ ความ ข่มใจ ความตั้งใจแน่วแน่ ความไม่แตกสามัคคีกัน ความไม่แก่งแย่งกัน การก้าวไปในกาลอันควร ความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว และความบากบั่น ของบุรุษ เพราะเหตุนั้นแหละ ชัยชนะ จึงมีแก่พวกพระเจ้าอัสสกะ.
จบ จุลลกาลิงคชาดกที่ ๑.
๒. มหาอัสสาโรหชาดก
ว่าด้วยการทำความดีไว้ในปางก่อน
[๕๐๖] ผู้ใด ให้ทานในคนที่ไม่ควรให้ ไม่ให้ในคนที่ควรให้ ผู้นั้น ถึงจะได้ รับความทุกข์ในคราวมีอันตราย ก็ไม่ได้สหาย. [๕๐๗] ผู้ใด ไม่ให้ทานในคนที่ไม่ควรให้ ให้ในคนที่ควรให้ ผู้นั้น ถึงจะได้ รับความทุกข์ในคราวมีอันตราย ย่อมได้สหาย. [๕๐๘] การแสดงคุณวิเศษแห่งความเกี่ยวพัน และความสนิทสนมกันฉันท์มิตร ในชนทั้งหลายผู้ไม่มีอารยธรรม เป็นคนมักอวด ย่อมไร้ผล การแสดง คุณวิเศษแห่งความเกี่ยวพัน และความสนิทสนมกันฉันท์มิตร ที่กระทำ ในอารยชนทั้งหลายผู้ซื่อตรง คงที่ แม้เล็กน้อย ก็ย่อมมีผลมาก. [๕๐๙] ผู้ใด ได้ทำความดีงามไว้แต่กาลก่อนแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า ได้ทำกิจที่ทำได้แสน ยากในโลก ภายหลัง เขาจะทำก็ตาม ชื่อว่า เป็นบุคคลผู้ควรบูชายิ่งนัก.
จบ มหาอัสสาโรหชาดกที่ ๒.
๓. เอกราชชาดก
คุณธรรมคือขันติและตบะ
[๕๑๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเอกราช พระองค์เสวยกามคุณอันบริบูรณ์อย่างยิ่ง อยู่ในกาลก่อน มาบัดนี้ พระองค์ถูกโยนลงในบ่ออันขรุขระ เหตุไร จึงมิได้ละพระฉวีวรรณ และพระกำลังกายที่มีอยู่แต่เก่าก่อนเสียเลย? [๕๑๑] ข้าแต่พระเจ้าทุพภิเสน ขันติ และตบะ เป็นคุณธรรมที่หม่อมฉัน ปรารถนามาแต่เดิมแล้ว บัดนี้ หม่อมฉันได้สิ่งปรารถนานั้นแล้ว เหตุไร จะพึงละฉวีวรรณ และกำลังกายที่มีอยู่แต่เก่าก่อนเสียเล่า. [๕๑๒] ได้ทราบมาว่า กิจที่ควรทำทุกอย่างสำเร็จมาแต่ก่อนแล้ว เพราะข่มขี่ ครอบงำบุคคลผู้เปรื่องยศ มีปัญญา หม่อมฉันได้ยศอันยิ่งใหญ่แล้ว เหตุไร จักละฉวีวรรณ และกำลังกายที่มีอยู่แต่เก่าก่อนเล่า. [๕๑๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งปวงชน สัตบุรุษทั้งหลาย บรรเทาความสุข ด้วยความทุกข์ หรือบรรเทาความทุกข์ด้วยความสุข เป็นผู้มีจิตเยือกเย็น ยิ่งนัก ในความสุข และความทุกข์ทั้งสองอย่าง ย่อมเป็นผู้มีจิตเป็นกลาง ทั้งในความสุข และความทุกข์ ดังตราชู ฉะนั้น.
จบ เอกราชชาดกที่ ๓.
๔. ทัททรชาดก
ไม่ควรถือตัวในที่ที่เขาไม่รู้จัก
[๕๑๔] ข้าแต่พี่ทัททระ ถ้อยคำด่าว่าอันหยาบคายในมนุษยโลกเหล่านี้ ย่อมทำ ให้ฉันเดือดร้อน พวกเด็กๆ ชาวบ้านผู้ไม่มีพิษฤทธิ์เดช ยังมาด่าว่าเรา ผู้เป็นอสรพิษร้ายได้ว่า เป็นสัตว์กินกบกินเขียด และว่า เป็นสัตว์น้ำ. [๕๑๕] บุคคลผู้ถูกขับไล่จากแว่นแคว้นของตน ไปอยู่ยังถิ่นอื่นแล้ว ควรสร้าง- ฉางใหญ่ไว้ สำหรับเก็บคำหยาบคายทั้งหลาย. [๕๑๖] บุคคลอยู่ในสำนักคนผู้ไม่รู้จักชาติ และโคตรของตน ไม่พึงทำการถือตัว ในที่ที่ไม่มีใครรู้จักตน โดยชาติ หรือโดยวินัย. [๕๑๗] บุคคลผู้มีปัญญา แม้เปรียบเสมอด้วยไฟ เมื่อไปอยู่ต่างถิ่นไกล พึงอดทน แม้จะเป็นคำขู่ ตะคอกของทาสก็ตาม.
จบ ทัททรชาดกที่ ๔.
๕. สีลวีมังสชาดก
ความลับไม่มีในโลก
[๕๑๘] ขึ้นชื่อว่าที่ลับ ย่อมไม่มีในโลก แก่คนผู้กระทำบาปกรรม ต้นไม้ที่เกิด ในป่าก็ยังมีคนเห็น คนพาลย่อมสำคัญบาปกรรมนั้นว่า เป็นที่ลับ. [๕๑๙] ข้าพเจ้าย่อมไม่เห็นที่ลับ หรือแม้ที่ว่างเปล่าก็ไม่มี ในที่ใด ข้าพเจ้าไม่เห็น ที่ว่างเปล่า ที่นั้นก็ไม่ว่างเปล่าจากข้าพเจ้า. [๕๒๐] มาณพผู้ใหญ่ ๖ คนนั้น คือ ทุชัจจะ ๑ สุชัจจะ ๑ นันทะ ๑ สุขวัจฉนะ ๑ วัชฌะ ๑ อัทธุวสีละ ๑ มีความต้องการธิดาของอาจารย์ พากันละธรรมเสีย. [๕๒๑] ส่วนพราหมณ์มาณพ เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง มีปัญญา มีความเพียร เครื่องก้าวหน้าในสัจธรรม ตามรักษาธรรมไว้ จะพึงละสตรีลาภเสีย อย่างไรได้.
จบ สีลวีมังสชาดกที่ ๕.
๖. สุชาตาชาดก
ได้รับโทษเพราะประมาท
[๕๒๒] ข้าแต่พระราชสวามีผู้ประเสริฐ ไข่ที่เก็บไว้ในจานทองนี้ เป็นไข่อะไร ลูกกลมเกลี้ยง มีสีแดง หม่อมฉันทูลถามพระองค์ถึงสิ่งนั้น โปรดตรัส บอกด้วย. [๕๒๓] ดูกรพระเทวี เมื่อก่อนนี้ เธอเป็นหญิงหัวโล้น นุ่งผ้าท่อนเก่าๆ มือถือ ห่อพก เลือกเก็บผลไม้อันใดอยู่ สิ่งที่ฉันรับประทานอยู่ ณ บัดนี้ เป็น ผลไม้อันนั้น เป็นสมบัติประจำตระกูลของเธอ. [๕๒๔] หญิงทราม เมื่ออยู่ในราชสกุลนี้ ย่อมร้อนรน ไม่รื่นรมย์ โภคสมบัติ ทั้งหลาย ก็ย่อมละเขาไปเสียสิ้น ท่านทั้งหลาย จงช่วยกันนำหญิงทรามคน นั้นคืนไปไว้ที่ที่ เขาจักเก็บผลไม้ประจำตระกูลขายเลี้ยงชีวิตได้ตามเดิม. [๕๒๕] ข้าแต่พระมหาราช โทษเพราะความประมาทเหล่านี้ ย่อมมีได้แก่นารีผู้ ได้รับยศ ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดอดโทษแด่ พระนางสุชาดาเทวีเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์อย่าได้ ทรงพระพิโรธแด่พระเทวีเลย.
จบ สุชาตาชาดกที่ ๖.
๗. ปลาสชาดก
ว่าด้วยขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ที่โคนไม้
[๕๒๖] ดูกรพราหมณ์ ท่านก็รู้ว่า ต้นทองกวาวนี้ ไม่มีจิต ไม่ได้ยินเสียงอะไร และไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะเหตุไร ท่านจึงเพียรพยายาม มิได้มีความ ประมาท ถามถึงสุขไสยาอยู่เสมอมา. [๕๒๗] ต้นทองกวาวต้นใหญ่ ปรากฏไปในที่ไกล ตั้งอยู่ในภูมิประเทศราบเรียบ เป็นที่อยู่อาศัยของทวยเทพ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงนอบน้อมต้นทอง กวาวนี้ และเทพเจ้าผู้สิงอยู่ที่ต้นไม้นี้ด้วย เพราะเหตุแห่งทรัพย์. [๕๒๘] ดูกรพราหมณ์ ข้าพเจ้ามาเพ่งถึงความกตัญญูที่มีอยู่ในตน จักทำทดแทน คุณท่านตามสติกำลัง ความดิ้นรนของท่านผู้มาถึงสำนักของสัตบุรุษ ทั้งหลาย ไฉนจักเปล่าจากประโยชน์เล่า. [๕๒๙] ไม้เลียบต้นใด ตั้งล้อมรอบอยู่เบื้องหน้าต้นมะพลับ มหาชนเคยบูชายัญ กันมาแต่ก่อน เป็นต้นไม้ใหญ่ ขุมทรัพย์เขาฝังไว้ที่โคนต้นไม้เลียบนั้นแล ไม่มีเจ้าของ ท่านจงไปขุดเอาทรัพย์นั้นเถิด.
จบ ปลาสชาดกที่ ๗.
๘. ชวสกุณชาดก
ผู้ไม่มีกตัญญูไม่ควรคบ
[๕๓๐] ข้าแต่พระยาเนื้อ ขอนอบน้อมแด่ท่าน ข้าพเจ้าได้ทำกิจอย่างหนึ่งแก่ ท่าน ตามกำลังของข้าพเจ้าที่มีอยู่ ข้าพเจ้าจะได้อะไรตอบแทนบ้าง? [๕๓๑] การที่ท่านเข้าไปอยู่ในระหว่างฟันของเรา ผู้มีเลือดเป็นภักษาหาร ผู้ทำ- กรรมอันหยาบช้าอยู่เป็นนิตย์ ท่านยังเป็นอยู่ได้ นั่นก็เป็นคุณมากอยู่แล้ว. [๕๓๒] น่าติเตียนคนที่ไม่รู้คุณที่เขาทำแล้ว ผู้ไม่ทำคุณให้ใคร และผู้ที่ไม่ทำ ตอบแทนคุณที่เขาทำก่อน ความกตัญญูไม่มีในคนใด การคบคนนั้น ย่อมไร้ประโยชน์. [๕๓๓] บุคคลไม่ได้มิตรธรรมด้วยอุปการคุณที่ตนประพฤติต่อหน้าในผู้ใด ผู้นั้น บัณฑิตไม่ต้องริษยา ไม่ต้องด่าว่า พึงค่อยๆ หลีกออกห่างจากผู้นั้นไป เสีย.
จบ ชวสกุณชาดกที่ ๘.
๙. ฉวชาดก
ว่าด้วยการนั่งที่ไม่สมควร
[๕๓๔] กิจทั้งหมดที่เราทั้งสองกระทำแล้ว เป็นกิจลามก คนทั้ง ๒ ไม่เห็นธรรม คนทั้ง ๒ เคลื่อนแล้วจากปกติเดิม คือ อาจารย์นั่งบนอาสนะต่ำบอก มนต์ และศิษย์นั่งบนอาสนะสูงเรียนมนต์. [๕๓๕] เราบริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลีขาวสะอาด ปรุงด้วยเนื้อ (ของพระราชา พระองค์นี้) เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่ซ่องเสพธรรมนั้น ที่พวกฤาษี ซ่องเสพมาแล้ว. [๕๓๖] ท่านจงหลีกไปเสียเถิด ขึ้นชื่อว่าโลกกว้างใหญ่ แม้คนอื่นๆ ก็หุงต้มกิน เพราะเหตุนั้น อธรรมที่ท่านประพฤติมาแล้ว อย่าทำลายท่านเสียเลย ดุจก้อนหินต่อยหม้อให้แตก ฉะนั้น. [๕๓๗] ดูกรพราหมณ์ เราติเตียนการได้ยศ การได้ทรัพย์ และความประพฤติ เลี้ยงชีวิต ด้วยการทำตนให้ตกต่ำ หรือด้วยการประพฤติไม่เป็นธรรม.
จบ ฉวชาดกที่ ๙.
๑๐. สัยหชาดก
ว่าด้วยการแสวงหาที่ประเสริฐ
[๕๓๘] บัณฑิตไม่พึงปรารถนาพื้นแผ่นดิน มีสัณฐานดุจกุณฑลท่ามกลางสาคร มีมหาสมุทรล้อมอยู่โดยรอบ พร้อมด้วยการนินทา ดูกรสัยหอำมาตย์ ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด. [๕๓๙] ดูกรพราหมณ์ เราติเตียนการได้ยศ การได้ทรัพย์ และความประพฤติ เลี้ยงชีวิต ด้วยการทำตนให้ตกต่ำ หรือด้วยการประพฤติไม่เป็นธรรม. [๕๔๐] ถึงแม้เราบวชเป็นบรรพชิต ถือภาชนะเที่ยวภิกขาจาร ความประพฤติ เลี้ยงชีวิตนั้นแหละประเสริฐกว่า การแสวงหาโดยไม่เป็นธรรมจะ ประเสริฐอะไร. [๕๔๑] ถึงแม้เราออกบวช ถือภาชนะเที่ยวภิกขาจาร ไม่เบียดเบียนผู้อื่นในโลก นั้น ประเสริฐกว่าราชสมบัติเสียอีก.
จบ สัยหชาดกที่ ๑๐.
จบ กาลิงควรรคที่ ๑.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จุลลกาลิงคชาดก ๒. มหาอัสสาโรหชาดก ๓. เอกราชชาดก ๔. ทัททรชาดก ๕. สีลวีมังสชาดก ๖. สุชาตาชาดก ๗. ปลาสชาดก ๘. ชวสกุณชาดก ๙. ฉวชาดก ๑๐. สัยหชาดก.
-----------------------------------------------------
๒. ปุจิมันทวรรค
๑. ปุจิมันทชาดก
ว่าด้วยผู้รอบคอบ
[๕๔๒] แน่ะโจร ลุกขึ้นเถิด จะมัวนอนอยู่ทำไม ท่านต้องการอะไร ด้วยการ นอน ราชบุรุษอย่าจับท่านผู้ทำโจรกรรมอันหยาบช้าทารุณในบ้านเลย. [๕๔๓] ราชบุรุษทั้งหลายจ้องจับโจรผู้ทำโจรกรรมอันหยาบช้าทารุณในบ้าน ใน เรื่องนั้น ธุระอะไรของปุจิมันทเทวดาผู้เกิดอยู่ในป่าเล่า? [๕๔๔] ดูกรอัสสัตถเทวดา ท่านไม่รู้เหตุที่จะอยู่ร่วมกันไม่ได้ระหว่างเรากับโจร ราชบุรุษทั้งหลาย จับโจรผู้ทำโจรกรรมอันหยาบช้าทารุณในบ้านได้แล้ว จะเสียบโจรไว้บนหลาวไม้สะเดา ใจของเรารังเกียจในเรื่องนั้น. [๕๔๕] บัณฑิตพึงรังเกียจสิ่งที่ควรรังเกียจ พึงป้องกันภัยที่ยังไม่มาถึงตัว พิจารณา ดูโลกทั้ง ๒ เพราะภัยในอนาคต.
จบ ปุจิมันทชาดกที่ ๑.
๒. กัสสปมันทิยชาดก
ว่าด้วยรู้ตัวว่าผิดแล้วสารภาพผิด
[๕๔๖] ข้าแต่ท่านกัสสปะ เด็กหนุ่มจะด่าแช่ง หรือจะตีก็ตาม ด้วยความเป็น เด็กหนุ่ม บัณฑิตผู้มีปัญญา ย่อมอดทนความผิดที่พวกเด็กทำแล้วทั้งหมด นั้นได้. [๕๔๗] ถ้าแม้สัตบุรุษทั้งหลาย วิวาทกัน ก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว ส่วน คนพาลทั้งหลาย ย่อมแตกกันเหมือนภาชนะดิน เขาย่อมไม่ได้ความสงบ เวรกันได้เลย. [๕๔๘] ผู้ใด รู้โทษที่ตนล่วงแล้ว ๑ ผู้ใด รู้แสดงโทษ ๑ คนทั้งสองนั้น ย่อม พร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น ความสนิทสนมของเขา ย่อมไม่เสื่อมคลาย. [๕๔๙] ผู้ใด เมื่อคนเหล่าอื่นล่วงเกินกัน ตนเองสามารถจะเชื่อมให้สนิทสนม ได้ ผู้นั้นแลชื่อว่า เป็นผู้ประเสริฐยิ่ง ผู้นำภาระไป ผู้ทรงธุระไว้.
จบ กัสสปมันทิยชาดกที่ ๒.
๓. ขันติวาทิชาดก
โทษที่ทำร้ายพระสมณะ
[๕๕๐] ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ผู้ใด ให้ตัดมือ ตัดเท้า หู และจมูกของท่าน ท่านจงโกรธผู้นั้นเถิด อย่าได้ทำรัฐนี้ให้พินาศเสียเลย. [๕๕๑] พระราชาพระองค์ใด รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของอาตมภาพ ขอ พระราชาพระองค์นั้น จงทรงพระชนม์ยืนนาน บัณฑิตทั้งหลาย เช่นกับ อาตมภาพ ย่อมไม่โกรธเคืองเลย. [๕๕๒] สมณะผู้สมบูรณ์ด้วยขันติ ได้มีมาในอดีตกาลแล้ว พระเจ้ากาสีรับคำ สั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของสมณะผู้ตั้งอยู่ในขันติ. [๕๕๓] พระเจ้ากาสีหมกไหม้อยู่ในนรก ได้เสวยวิบากอันเผ็ดร้อนของกรรมที่ หยาบช้านั้น.
จบ ขันติวาทิชาดกที่ ๓.
๔. โลหกุมภิชาดก
ว่าด้วยสัตว์นรกในโลหกุมภี
[๕๕๔] เมื่อโภคะทั้งหลายมีอยู่ เราทั้งหลายไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้ทำที่พึ่งให้แก่ ตน เราจึงมีชีวิตเป็นอยู่ได้แสนยาก. [๕๕๕] เมื่อเราทั้งหลายหมกไหม้อยู่ในนรก ตลอดหกหมื่นปีบริบูรณ์ โดย ประการทั้งปวง เมื่อไรที่สุดจักปรากฏ? [๕๕๖] ดูกรชาวเราเอ๋ย ที่สุดไม่มี ที่สุดจักมีแต่ที่ไหน ที่สุดจักไม่ปรากฏ ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ เพราะในกาลนั้น ทั้งเรา และท่านได้กระทำบาปกรรม ไว้แล้ว. [๕๕๗] เราไปจากที่นี้ ได้กำเนิดมนุษย์ พอรู้จักภาษาแล้ว จักเป็นคนสมบูรณ์ไป ด้วยศีล จักทำกุศลให้มากทีเดียว.
จบ โลหกุมภิชาดกที่ ๔.
๕. มังสชาดก
วาทศิลป์ของคนขอ
[๕๕๘] วาจาของท่านหยาบคายจริงหนอ ท่านเป็นผู้ขอเนื้อ วาจาของท่านเช่นกับ พังผืด ดูกรสหาย เราจะให้พังผืดแก่ท่าน. [๕๕๙] คำว่า พี่ชาย น้องชาย หรือพี่สาว น้องสาวนี้ เป็นอวัยวะของมนุษย์ ทั้งหลาย อันเขากล่าวกันอยู่ในโลก วาจาของท่านเช่นกับอวัยวะ ดูกร สหาย เราจะให้เนื้ออวัยวะแก่ท่าน. [๕๖๐] บุตรเรียกบิดาว่า พ่อ ย่อมทำให้หัวใจของพ่อหวั่นไหว วาจาของท่าน เช่นกับหัวใจ เราจะให้เนื้อหัวใจแก่ท่าน. [๕๖๑] ในบ้านของผู้ใด ไม่มีเพื่อน บ้านของผู้นั้น ก็เป็นเหมือนกับป่า วาจาของ ท่านเช่นกับสมบัติทั้งมวล ดูกรสหาย เราจะให้เนื้อทั้งหมดแก่ท่าน.
จบ มังสชาดกที่ ๕.
๖. สสปัณฑิตชาดก
ผู้สละชีวิตเป็นทาน
[๕๖๒] ดูกรพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีปลาตะเพียนแดงอยู่ ๗ ตัว ซึ่งนายพรานตก เบ็ดขึ้นมาจากน้ำ เอาไว้บนบก ข้าพเจ้ามีอาหารอย่างนี้ ท่านจงบริโภค อาหารนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด. [๕๖๓] อาหารของคนรักษานาคนโน้น ข้าพเจ้านำเอามาไว้ในกลางคืน คือ เนื้อ ย่าง ๒ ไม้ เหี้ย ๑ ตัว และนมส้ม ๑ หม้อ ดูกรพราหมณ์ ข้าพเจ้า มีอาหารอย่างนี้ ท่านจงบริโภคอาหารนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด. [๕๖๔] ผลมะม่วงสุก น้ำเย็น ร่มเงาอันเย็น เป็นที่รื่นรมย์ใจ ดูกรพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีอาหารอย่างนี้ ท่านจงบริโภคอาหารนี้ แล้วเจริญสมณธรรม อยู่ในป่าเถิด. [๕๖๕] กระต่ายไม่มีงา ไม่มีถั่ว ไม่มีข้าวสาร ท่านจงบริโภคเราตัวสุกไปด้วย ไฟนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด.
จบ สสปัณฑิตชาดกที่ ๖.
๗. มตโรทนชาดก
ว่าด้วยร้องไห้ถึงคนตาย
[๕๖๖] ท่านทั้งหลาย ย่อมร้องไห้ถึงแต่คนที่ตายแล้วๆ ทำไมจึงไม่ร้องไห้ถึงคนที่ จักตายบ้างเล่า สัตว์ทุกจำพวกผู้ดำรงสรีระไว้ ย่อมละทิ้งชีวิตไปโดยลำดับ. [๕๖๗] เทวดา มนุษย์ สัตว์จตุบาท หมู่ปักษีชาติ และพวกงู ไม่มีอิสระใน สรีระร่างกายนี้ ถึงจะอภิรมย์อยู่ (ในร่างกาย) นั้น ก็ต้องละทิ้งชีวิตไป ทั้งนั้น. [๕๖๘] สุขและทุกข์ที่เพ่งเล็งกันอยู่ในหมู่มนุษย์ เป็นของแปรผัน ไม่มั่นคง อยู่อย่างนี้ การคร่ำครวญ การร่ำไห้ ไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะเหตุไร กองโศกจึงท่วมทับท่านได้? [๕๖๙] พวกนักเลง และพวกคอเหล้า ผู้ไม่ทำความเจริญ เป็นพาล ห้าวหาญ ไม่มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญบัณฑิตว่า เป็นพาลไป.
จบ มตโรทนชาดกที่ ๗.
๘. กณเวรชาดก
ว่าด้วยหญิงหลายผัว
[๕๗๐] ท่านกอดรัดนางสามาด้วยแขน ที่กอชบามีสีแดงในวสันตฤดู เธอได้สั่ง ความไม่มีโรคมาถึงท่าน. [๕๗๑] ดูกรท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า ลมพึงพัดภูเขาไป ใครๆ คงไม่เชื่อถือ ถ้า ลมจะพึงพัดเอาภูเขาไปได้ แม้แผ่นดินทั้งหมดก็พัดเอาไปได้ เพราะ เหตุไร นางสามาตายแล้วจึงสั่งความไม่มีโรคมาถึงเราได้? [๕๗๒] นางสามานั้นยังไม่ตาย และไม่ปรารถนาชายอื่น ได้ยินว่า นางจะมีผัว เดียว ยังหวังเฉพาะท่านอยู่เท่านั้น. [๕๗๓] นางสามาได้เปลี่ยนเราผู้ไม่เคยสนิทสนม กับสามีที่เคยสนิทสนมมานาน เปลี่ยนเราผู้ยังไม่ทันได้ร่วมรัก กับสามีผู้เคยร่วมรักมาแล้ว นางสามาพึง เปลี่ยนผู้อื่นกับเราอีก เราจักหนีจากที่นี้ไปเสียให้ไกล.
จบ กณเวรชาดกที่ ๘.
๙. ติตติรชาดก
ว่าด้วยบาปเกิดจากความจงใจ
[๕๗๔] ข้าพเจ้าเป็นอยู่อย่างนี้สบายหนอ และได้บริโภคอาหารตามชอบใจ แต่ว่า ข้าพเจ้าตั้งอยู่ในระหว่างอันตรายแท้ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ คติของ ข้าพเจ้าเป็นอย่างไรหนอ? [๕๗๕] ดูกรปักษี ถ้าใจของท่านไม่น้อมไปเพื่อกรรมอันเป็นบาป บาปย่อมไม่ แปดเปื้อนท่านผู้บริสุทธิ์ ไม่ขวนขวายกระทำบาปกรรม. [๕๗๖] นกกระทาเป็นอันมากพากันมาด้วยคิดว่า ญาติของเราจับอยู่ นายพรานนก ย่อมได้รับกรรม เพราะอาศัยข้าพเจ้า ใจของข้าพเจ้ารังเกียจอยู่ใน เรื่องนั้น. [๕๗๗] ถ้าใจของท่านไม่คิดประทุษร้าย กรรมที่นายพรานอาศัยท่านกระทำแล้วก็ ไม่ติดท่าน บาปย่อมไม่แปดเปื้อนท่านผู้บริสุทธิ์ มีความขวนขวายน้อย.
จบ ติตติรชาดกที่ ๙.
๑๐. สุจจชชาดก
ว่าด้วยภรรยาที่ดี
[๕๗๘] พระราชา เมื่อไม่ทรงพระราชทานภูเขาด้วยพระวาจา นับว่า ไม่พระราช- ทานสิ่งที่ควรให้ง่ายหนอ เมื่อพระองค์ไม่พระราชทานอะไรเลย ก็ชื่อว่า ไม่ทรงพระราชทานภูเขาด้วยพระวาจา. [๕๗๙] คนฉลาดทำสิ่งใด ก็พูดถึงสิ่งนั้น ไม่ทำสิ่งใด ก็ไม่พูดถึงสิ่งนั้น บัณฑิต ทั้งหลาย ย่อมรู้จักคนที่ไม่ทำดีแต่พูด. [๕๘๐] ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอนอบน้อมแด่ฝ่าพระบาท พระองค์ทรงประสบความ พินาศ แต่พระทัยของพระองค์ยังทรงยินดีอยู่ในสัจจะ พระองค์ชื่อว่า ดำรงมั่นอยู่ในสัจจธรรม. [๕๘๑] หญิงใด เมื่อสามีขัดสนก็ขัดสนด้วย เมื่อสามีมั่งคั่งก็พลอยเป็นผู้มั่งคั่ง มีชื่อเสียงด้วย หญิงนั้นแหละ นับว่า เป็นยอดภรรยาของเขา เมื่อมีเงิน ก็ย่อมมีหญิงเป็นธรรมดา.
จบ สุจจชชาดกที่ ๑๐.
จบ ปุจิมันทวรรคที่ ๒.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปุจิมันทชาดก ๒. กัสสปมันทิยชาดก ๓. ขันติวาทิชาดก ๔. โลหกุมภิชาดก ๕. มังสชาดก ๖. สสปัณฑิตชาดก ๗. มตโรทนชาดก ๘. กณเวรชาดก ๙. ติตติรชาดก ๑๐. สุจจชชาดก.
-----------------------------------------------------
๓. กุฏิทูสกวรรค
๑. กุฏิทูสกชาดก
ว่าด้วยลิงกับนกขมิ้น
[๕๘๒] ดูกรวานร ศีรษะ มือ และเท้าของท่านเหมือนของมนุษย์ เออก็ เพราะ เหตุไรหนอ ท่านจึงไม่มีเรือนอยู่? [๕๘๓] ดูกรนกขมิ้น ศีรษะ มือ และเท้าของเราเหมือนของมนุษย์ก็จริง แต่ ปัญญาที่บัณฑิตกล่าวว่า ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ ของเราไม่มี. [๕๘๔] ผู้มีจิตไม่มั่นคง มีจิตกลับกลอก มักประทุษร้ายมิตร มีปกติไม่ยั่งยืน เป็นนิจ ย่อมไม่มีความสุข. [๕๘๕] ท่านจงกระทำอานุภาพ เปลี่ยนปกติเดิมเสียเถิด ดูกรวานร ท่านจง กระทำกระท่อมไว้เป็นเครื่องป้องกันความหนาว และลมเถิด.
จบ กุฏิทูสกชาดกที่ ๑.
๒. ทุททุภายชาดก
ว่าด้วยพวกกระต่ายตื่นตูม
[๕๘๖] ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน ข้าพเจ้าอยู่ในประเทศใด ประเทศนั้น ทำเสียงว่า ทุททุภะ แม้ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้เสียงลั่นนั้นตรงไหนกัน อะไร ทำให้เกิดเสียงว่า ทุททุภะ ข้าพเจ้าก็ไม่รู้อีก. [๕๘๗] กระต่ายได้ยินผลมะตูมสุกหล่นมีเสียงว่า ทุททุภะ ก็วิ่งหนีไป หมู่เนื้อ ได้ฟังถ้อยคำของกระต่ายแล้ว พากันตกใจวิ่งหนีไปด้วย. [๕๘๘] ชนเหล่าใด มักเชื่อตามเสียงคนอื่น ยังไม่ทันได้ถึงร่องรอยแห่งวิญญาณ เลย ชนเหล่านั้นนับว่า เป็นพาล มีความประมาทเป็นอย่างยิ่ง ดีแต่เชื่อ ผู้อื่น. [๕๘๙] ส่วนชนเหล่าใด สมบูรณ์ด้วยศีล ด้วยปัญญา ยินดีในความสงบ ชน เหล่านั้นนับว่า เป็นบัณฑิต งดเว้นความชั่วห่างไกล ย่อมไม่เชื่อ คนอื่นเลย.
จบ ทุททุภายชาดกที่ ๒.
๓. พรหมทัตตชาดก
ว่าด้วยผู้ขอกับผู้ถูกขอ
[๕๙๐] ดูกรมหาบพิตร ผู้ขอย่อมได้ ๒ อย่าง คือ ได้ทรัพย์ หรือไม่ได้ทรัพย์ แท้จริง การขอมีอย่างนี้เป็นธรรมดา. [๕๙๑] ดูกรมหาบพิตร ผู้เป็นใหญ่ในปัญจาลรัฐ บัณฑิตกล่าวถึงการขอว่า เป็น การร้องไห้ ผู้ใด ปฏิเสธคำขอ บัณฑิตกล่าวคำปฏิเสธของผู้นั้นว่า เป็น การร้องไห้ตอบ. [๕๙๒] ชาวปัญจาลรัฐ ผู้มาประชุมกันแล้ว อย่าได้เห็นอาตมภาพผู้กำลังร้องไห้อยู่ หรืออย่าได้เห็นพระองค์ผู้ทรงกรรแสงตอบอยู่ เพราะเหตุนั้น อาตมภาพ จึงปรารถนาขอเฝ้าในที่ลับ. [๕๙๓] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าขอถวายวัวแดงหนึ่งพันพร้อมด้วยวัวจ่าฝูง แก่ท่าน อันอารยชนได้ฟังคาถาอันประกอบด้วยเหตุผลของท่านแล้ว ทำไมจะไม่พึงให้แก่ท่านผู้เป็นอารยชนเล่า.
จบ พรหมทัตตชาดกที่ ๓.
๔. จัมมสาฏกชาดก
อย่าไว้ใจสัตว์หน้าขน
[๕๙๔] แพะตัวนี้เป็นสัตว์ที่มีท่าทางงดงามดี เป็นที่เจริญใจ และมีศีล น่ารักใคร่ ย่อมเคารพนบนอบพราหมณ์ ผู้สมบูรณ์ด้วยชาติและมนต์ทั้งหลาย นับ ได้ว่า เป็นแพะประเสริฐ มียศศักดิ์. [๕๙๕] ดูกรพราหมณ์ ท่านอย่าได้ไว้วางใจแก่สัตว์ ๔ เท้า เพียงได้เห็นมันครู่ เดียว มันต้องการจะชนให้ถนัด จึงย่อตัวลงจักชนให้ถนัดถนี่. [๕๙๖] กระดูกขาของพราหมณ์ก็หัก บริขารที่หาบอยู่ก็พลัดตก สิ่งของก็แตก ทำลายหมด พราหมณ์ประคองแขนทั้งสองคร่ำครวญอยู่ว่า โธ่เอ๋ย แพะ มาฆ่าพรหมจารีได้. [๕๙๗] ผู้ใด สรรเสริญบูชาคนที่ไม่ควรบูชา ผู้นั้น จะต้องถูกเขาห้ำหั่นนอนอยู่ เหมือนกับเราผู้มีปัญญาทรามถูกแพะชนเอาในวันนี้.
จบ จัมมสาฏกชาดกที่ ๔.
๕. โคธชาดก
ว่าด้วยเหี้ยกับฤาษีปลอม
[๕๙๘] เราสำคัญว่าท่านเป็นสมณะ จึงได้เข้ามาหาท่านผู้ไม่สำรวม ท่านได้ขว้าง เราด้วยท่อนไม้ เหมือนไม่ใช่สมณะ. [๕๙๙] แน่ะท่านผู้โง่เขลา ประโยชน์อะไรด้วยชฎาแก่ท่าน ประโยชน์อะไรด้วย หนังเสือแก่ท่าน ภายในของท่านรุงรัง เกลี้ยงเกลาแต่ภายนอก. [๖๐๐] แน่ะเหี้ย ท่านจงกลับมาบริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลีก่อนเถิด น้ำมัน เกลือ และดีปลีของเราก็มีมาก. [๖๐๑] เราจะเข้าไปสู่จอมปลวก อันลึก ชั่วร้อยบุรุษ ยิ่งขึ้นดีกว่า น้ำมัน และ เกลือของท่านจะเป็นประโยชน์อะไร ดีปลีก็หาเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ เราไม่.
จบ โคธชาดกที่ ๕.
๖. กักการุชาดก
ว่าด้วยผู้ควรประดับดอกฟักทิพย์
[๖๐๒] ผู้ใด ไม่ลักสิ่งของด้วยกาย ไม่พูดเท็จด้วยวาจา ได้รับยศแล้วไม่พึง มัวเมา ผู้นั้นแล ย่อมควรจะประดับดอกฟักทิพย์. [๖๐๓] ผู้ใด แสวงหาทรัพย์มาได้โดยชอบธรรม ไม่ล่อลวงเอาทรัพย์เขามา ได้ โภคทรัพย์แล้วก็ไม่มัวเมา ผู้นั้นแล ย่อมควรจะประดับดอกฟักทิพย์. [๖๐๔] ผู้ใด มีจิตไม่จืดจางเร็ว และมีศรัทธาไม่คลายง่ายๆ ไม่บริโภคของดีๆ แต่ผู้เดียว ผู้นั้นแล ย่อมควรจะประดับดอกฟักทิพย์. [๖๐๕] ผู้ใด ไม่บริภาษสัตบุรุษ ทั้งต่อหน้า หรือลับหลัง พูดอย่างใด ทำอย่าง นั้น ผู้นั้นแล ย่อมควรจะประดับดอกฟักทิพย์.
จบ กักการุชาดกที่ ๖.
๗. กากาติชาดก
ว่าด้วยนางกากี
[๖๐๖] หญิงคนรักของเราอยู่ ณ ที่แห่งใด กลิ่นของนางยังหอมฟุ้งมาจากที่แห่ง นั้นถึงที่นี่ ใจของเรายินดีในนางคนใด นางคนนั้น ชื่อกากาติ อยู่ไกล จากที่นี้ไป. [๖๐๗] ท่านข้ามทะเลไปได้อย่างไร ท่านข้ามแม่น้ำชื่อเกปุกะไปได้อย่างไร ท่าน ข้ามสมุทรทั้ง ๗ ไปได้อย่างไร ท่านขึ้นต้นงิ้วได้อย่างไร? [๖๐๘] เราข้ามทะเลไปกับท่าน ข้ามแม่น้ำชื่อเกปุกะไปกับท่าน ข้ามสมุทรทั้ง ๗ ไปกับท่าน ขึ้นต้นงิ้วไปกับท่าน. [๖๐๙] น่าติเตียนตัวเราผู้มีกายใหญ่โต น่าติเตียนตัวเราผู้มีความสำนึกตัว เพราะ ว่า เราต้องนำมาบ้าง นำไปบ้าง ซึ่งชู้ของเมียตนเอง.
จบ กากาติชาดกที่ ๗.
๘. อนนุโสจิยชาดก
ทุกคนจะต้องตายควรเมตตากัน
[๖๑๐] นางสัมมิลลหาสินีผู้เจริญ ได้ไปอยู่ในระหว่างพวกสัตว์ที่ตายไปแล้ว เป็นจำนวนมาก เมื่อนางไปอยู่กับสัตว์เหล่านั้น จักชื่อว่า ได้เป็นอะไร กับเรา เพราะฉะนั้น เราจึงมิได้เศร้าโศกถึงนางสัมมิลลหาสินีที่รักนี้. [๖๑๑] ถ้าบุคคลจะพึงเศร้าโศก ถึงความตายอันจะไม่เกิดมีแก่สัตว์ ผู้เศร้าโศก นั้น ก็ควรจะเศร้าโศกถึงตนซึ่งจะต้องตกไปสู่อำนาจของมัจจุราชทุกเมื่อ. [๖๑๒] สัตว์ที่ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่ อายุสังขารหาได้เป็นไปตามด้วยไม่ วัยย่อมเสื่อมไปทุกขณะที่หลับตาและลืมตา. [๖๑๓] เพราะวัยเสื่อมไปอย่างนั้นหนอ อัตภาพย่อมบกพร่อง หนทางที่คนเดิน เมื่อต้องมีความพลัดพรากจากกันโดยไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลือ อยู่ ควรมีเมตตาเอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้ว ไม่ควรจะต้องเศร้าโศกถึง.
จบ อนนุโสจิยชาดกที่ ๘.
๙. กาฬพาหุชาดก
ว่าด้วยลิงหลอกเจ้า
[๖๑๔] ในกาลก่อน เราได้ข้าวและน้ำอันใด จากสำนักพระราชา มาบัดนี้ ข้าว และน้ำนั้น มาขึ้นอยู่กับสาขมฤคหมด ดูกรพี่ราธะ บัดนี้ เราเป็นผู้อัน พระเจ้าธนญชัยไม่สักการะแล้ว พากันกลับไปป่าตามเดิมเถิด. [๖๑๕] ดูกรน้องโปฏฐปาทะ ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ ความเสื่อม- ลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์ เป็น ของไม่เที่ยง เจ้าอย่าเศร้าโศกเสียใจไปเลย จะเศร้าโศกเสียใจไปทำไม? [๖๑๖] ดูกรพี่ราธะ คุณพี่เป็นบัณฑิตแท้ ย่อมรู้ถึงผลประโยชน์ทั้งหลายที่ยังไม่ มาถึง ทำอย่างไรหนอ เราจะได้เห็นสาขมฤคผู้ลามก ถูกเขาขับไล่ออก จากราชสกุล. [๖๑๗] ลิงกาฬพาหุ กระดิกหู และกลอกหน้ากลอกตา ทำให้พระราชกุมารทรง หวาดเสียวพระทัยอยู่เสมอๆ มันจะทำตัวของมันเองให้จำต้องห่างไกล จากข้าวและน้ำ.
จบ กาฬพาหุชาดกที่ ๙.
๑๐. สีลวีมังสชาดก
ว่าด้วยธรรมที่นำความสุขมาให้
[๖๑๘] ได้ยินว่า ศีลแล เป็นความงาม ศีลเป็นเยี่ยมในโลก ขอพระองค์จง ทอดพระเนตรงูใหญ่ มีพิษร้าย ย่อมไม่เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยมารู้สึกตัวว่า เป็นผู้มีศีล. [๖๑๙] นกตะกรุมทั้งหลายในโลก พากันล้อมจิกชิ้นเนื้อที่เหยี่ยวคาบอยู่ในปาก ชั่วเวลาที่มันคาบชิ้นเนื้อนิดหน่อยอยู่เท่านั้น หาได้เบียดเบียนคนที่ไม่มี ความกังวลไม่. [๖๒๐] ผู้ไม่มีความหวัง ย่อมหลับเป็นสุข ความหวัง ย่อมเผล็ดผลเป็นสุขได้ นางปิงคลาทาสี ได้ทำความหวังจนหมดหวังแล้ว จึงหลับเป็นสุขได้. [๖๒๑] ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า ธรรมอันจะนำความสุขมาให้ยิ่งไปกว่าสมาธิ ย่อมไม่มี ผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมไม่เบียดเบียนทั้งคนอื่น และตนเอง.
จบ สีลวีมังสชาดกที่ ๑๐.
จบ กุฏิทูสกวรรคที่ ๓.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุฏิทูสกชาดก ๒. ทุททุภายชาดก ๓. พรหมทัตตชาดก ๔. จัมมสาฏกชาดก ๕. โคธชาดก ๖. กักการุชาดก ๗. กากาติชาดก ๘. อนนุโสจิยชาดก ๙. กาฬพาหุชาดก ๑๐. สีลวีมังสชาดก.
-----------------------------------------------------
๔. โกกิลวรรค
๑. โกกาลิกชาดก
ว่าด้วยพูดในกาลที่ควรพูด
[๖๒๒] เมื่อยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด ผู้ใด พูดเกินกาลไป ผู้นั้น ย่อมถูกทำร้าย ดุจลูกนกดุเหว่า ฉะนั้น. [๖๒๓] มีดที่ลับคมดีแล้ว ดุจยาพิษอันร้ายแรง หาทำให้ตกไปทันทีทันใด เหมือน วาจาทุพภาษิตไม่. [๖๒๔] เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรรักษาวาจาไว้ ทั้งในกาลควรพูด และไม่ควร ไม่ควรพูดให้ล่วงเวลา แม้ในบุคคลผู้เสมอกับตน. [๖๒๕] ผู้ใด มีความคิดเห็นเป็นเบื้องหน้า มีปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นประจักษ์ พูดพอเหมาะในกาลที่ควรพูด ผู้นั้น ย่อมจับศัตรูได้ทั้งหมด ดุจครุฑจับ นาคได้ ฉะนั้น.
จบ โกกาลิกชาดกที่ ๑.
๒. รถลัฏฐิชาดก
ว่าด้วยใคร่ครวญก่อนแล้วทำ
[๖๒๖] ข้าแต่พระราชา บุคคลทำร้ายตนเอง กลับกล่าวหาว่า คนอื่นทำร้าย ดังนี้ ก็มีโกงเขาแล้ว กลับกล่าวหาว่า เขาโกง ดังนี้ก็มี ไม่ควรเชื่อคำของ โจทก์ฝ่ายเดียว. [๖๒๗] เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นเชื้อชาติบัณฑิต ควรฟังคำแม้ของฝ่ายจำเลย เมื่อฟังคำของโจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่ายแล้ว พึงปฏิบัติตามธรรม. [๖๒๘] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามคุณ เกียจคร้าน ไม่ดี บรรพชิตผู้ไม่สำรวม ไม่งาม พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไป ไม่งาม บัณฑิตมีความ โกรธเป็นเจ้าเรือน ก็ไม่งาม. [๖๒๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ พระมหากษัตริย์ทรงใคร่ครวญเสียก่อน แล้วจึงปฏิบัติ ไม่ทรงใคร่ครวญเสียก่อน ไม่ควรปฏิบัติ อิสริยยศ บริวารยศ และเกียรติคุณของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงใคร่ครวญแล้วจึงทรง ปฏิบัติ ย่อมมีแต่เจริญขึ้น.
จบ รถลัฏฐิชาดกที่ ๒.
๓. โคธชาดก
เขารักก็รักมั่ง เขาชังก็ชังตอบ
[๖๓๐] หม่อมฉันทราบว่า พระองค์ผู้ทรงดำรงรัฐจะไม่ทรงอาลัยใยดีต่อหม่อมฉัน ตั้งแต่ครั้งเมื่อพระองค์ทรงพระภูษาเปลือกไม้ เหน็บพระแสงขรรค์ ทรง ผูกสอดเครื่องครบ ประทับอยู่กลางป่า เหี้ยย่างได้หนีไปจากกิ่งไม้ อัสสัตถะแล้ว. [๖๓๑] พึงอ่อนน้อมต่อผู้ที่อ่อนน้อม พึงคบผู้ที่เขาพอใจจะคบด้วย พึงทำกิจแก่ผู้ที่ ช่วยทำกิจ ไม่พึงทำความเจริญให้แก่ผู้ที่ใคร่ความเสื่อม อนึ่ง ไม่พึงคบ หาสมาคมกับผู้ที่เขาไม่พอใจจะคบหาสมาคมด้วย. [๖๓๒] พึงละทิ้งผู้ที่เขาละทิ้ง ไม่พึงทำความสิเนหาในผู้เลิกลากัน ไม่พึงสมาคม กับผู้มีจิตคิดออกห่าง นกรู้ว่า ต้นไม้มีผลหมดแล้ว ย่อมบินไปสู่ต้นอื่นที่ เต็มไปด้วยผล ฉันใด คนก็ฉันนั้น รู้ว่า เขาหมดความอาลัยแล้ว ก็ควร จะเลือกหาคนอื่นที่เขาผู้สมัครรักใคร่ เพราะว่า โลกใหญ่พอ. [๖๓๓] ฉันเป็นกษัตริย์มุ่งความกตัญญู จะทำตอบแทนแก่เธอตามสติกำลัง อนึ่ง ฉันจะมอบอำนาจให้แก่เธอทั้งหมด เธอต้องการสิ่งใด ฉันจะให้สิ่งนั้น แก่เธอ.
จบ โคธชาดกที่ ๓.
๔. ราโชวาทชาดก
ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้นำ
[๖๓๔] ถ้าเมื่อโคทั้งหลาย ว่ายข้ามแม่น้ำไป โคหัวหน้าฝูงว่ายคด เมื่อโคผู้นำ- ฝูงว่ายคดอย่างนี้ โคทั้งหมดก็ย่อมว่ายคดไปตามกัน. [๖๓๕] ในมนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ผู้ใด ได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้น ประพฤติไม่เป็นธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ประพฤติไม่เป็นธรรม โดยแท้ ถ้าพระราชาผู้เป็นใหญ่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม รัฐก็ย่อมอยู่ไม่เป็นสุข ทั่วกัน. [๖๓๖] ถ้าเมื่อโคทั้งหลาย ว่ายข้ามแม่น้ำไป โคหัวหน้าฝูงว่ายข้ามตรง เมื่อมีโค ผู้นำฝูงว่ายข้ามตรงอย่างนั้น โคทั้งหมดก็ย่อมว่ายข้ามตรงไปตามกัน. [๖๓๗] ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ผู้ใด ได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้น ประพฤติเป็นธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ย่อมประพฤติเป็นธรรมไป ตามโดยแท้ ถ้าพระราชา ผู้เป็นใหญ่ตั้งอยู่ในธรรม รัฐก็ย่อมอยู่เป็นสุขทั่วกัน.
จบ ราโชวาทชาดกที่ ๔.
๕. ชัมพุกชาดก
ว่าด้วยโทษที่ไม่รู้ประมาณตน
[๖๓๘] ดูกรสุนัขจิ้งจอก ช้างนั้น ตัวใหญ่ ร่างกายสูง งาก็ยาว ตัวท่านไม่ได้เกิด ในตระกูลสัตว์ที่จะจับมันได้. [๖๓๙] ผู้ใด มิใช่ราชสีห์ ยกตนเพราะสำคัญว่า เป็นราชสีห์ ผู้นั้น ย่อมเป็น เหมือนสุนัขจิ้งจอกถูกช้างเหยียบ นอนหายใจแขม่วๆ อยู่บนแผ่นดิน. [๖๔๐] ผู้ใด ไม่รู้จักกำลังกาย กำลังความคิด และชาติของผู้มียศ เป็นชนชั้นสูง มีข้อลำล่ำสันกำลังมาก ผู้นั้น ย่อมเป็นเหมือนสุนัขจิ้งจอกถูกช้างเหยียบ นอนตายอยู่นี้. [๖๔๑] ส่วนผู้ใด ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำการงาน รู้จักกำลังกาย และกำลัง ความคิดของตน กำหนดด้วยคำพูดอันประกอบด้วยปัญญา เป็นวาจา สุภาษิต ผู้นั้น ย่อมมีชัยอย่างไพบูลย์.
จบ ชัมพุกชาดกที่ ๕.
๖. พรหาฉัตตชาดก
เอาของน้อยแลกของมาก
[๖๔๒] พระองค์ตรัสเพ้ออยู่ว่า หญ้าๆ ใครหนอ นำเอาหญ้ามาถวายพระองค์ พระองค์มีกิจด้วยหญ้าหรือหนอ พระองค์จึงตรัสถึงแต่หญ้าเท่านั้น? [๖๔๓] ฉัตตฤาษีผู้มีร่างกายสูงใหญ่ เป็นพรหมจารี เป็นพหูสูต มาอยู่ ณ ที่นี้ เขาลักเอาทรัพย์ของเราจนหมดสิ้นแล้ว ยังใส่หญ้าไว้ในตุ่มแล้วหนีไป. [๖๔๔] การถือเอาทรัพย์ของตนไปหมด และการไม่ถือเอาหญ้า เป็นกิจที่ผู้ ปรารถนาของน้อยแลกเอาของมาก พึงกระทำอย่างนั้น ฉัตตฤาษีใส่หญ้า ไว้ในตุ่มหนีไปแล้ว การปริเวทนาเพราะเรื่องนั้น จะมีประโยชน์อะไร. [๖๔๕] ผู้มีศีลทั้งหลาย ย่อมไม่ทำอย่างนั้น คนพาล ย่อมกระทำอนาจารอย่างนี้ ความเป็นบัณฑิตจักทำคนทุศีล มีศีลไม่ยั่งยืน ให้เป็นคนอย่างไร?
จบ พรหาฉัตตชาดกที่ ๖.
๗. ปีฐชาดก
ว่าด้วยธรรมในสกุล
[๖๔๖] เราทั้งหลายไม่ได้ให้ตั่ง น้ำดื่ม และโภชนาหารแก่ท่าน ขอท่านผู้เป็น พรหมจารี จงอดโทษให้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นโทษนี้. [๖๔๗] อาตมภาพไม่ได้ข้องเกี่ยว และไม่ได้นึกโกรธเคืองเลย แม้ความไม่ชอบใจ อะไรๆ ของอาตมภาพก็ไม่มีเลย แท้ที่จริง อาตมภาพยังมีความวิตกอยู่ใน ใจว่า ธรรมของสกุลนี้ จักเป็นเช่นนี้แน่. [๖๔๘] ที่นั่ง น้ำล้างเท้า น้ำมันทาเท้า ข้าพเจ้าให้อยู่เป็นนิจทุกอย่าง นี้เป็นธรรม ในสกุล เนื่องมาจาก ปู่ ย่า ตา ยาย ของข้าพเจ้าทุกเมื่อ. [๖๔๙] ข้าพเจ้าบำรุงสมณพราหมณ์โดยเคารพดุจญาติที่สูงสุด นี้เป็นธรรมในสกุล เนื่องมาจากปู่ ย่า ตา ยาย ของข้าพเจ้าทุกเมื่อ.
จบ ปีฐชาดกที่ ๗.
๘. ถุสชาดก
ว่าด้วยรู้จักแกลบหรือข้าวสารในที่มืด
[๖๕๐] แกลบปรากฏโดยความเป็นแกลบแก่หนูทั้งหลาย และข้าวสารก็ปรากฏ โดยความเป็นข้าวสารแก่พวกมัน แม้ในที่มืด พวกมันเว้นแกลบเสีย เลือกกินแต่ข้าวสาร. [๖๕๑] การปรึกษาในป่าก็ดี การพูดกระซิบกันในบ้านก็ดี และการคิดหาโอกาส ด่าเราในบัดนี้ก็ดี เรารู้หมดแล้ว. [๖๕๒] ได้ยินว่า ลิงตัวที่เป็นพ่อมันเอาฟันกัดภาวะบุรุษของลูกผู้เกิดตามสภาพ เสียแต่ยังเยาว์ทีเดียว. [๖๕๓] การที่เจ้าดิ้นรนอยู่เหมือนแพะตาบอดในไร่ผักกาดก็ดี นอนอยู่ภายใต้ ที่นอนก็ดี เรารู้หมดสิ้นแล้ว.
จบ ถุสชาดกที่ ๘.
๙. พาเวรุชาดก
ว่าด้วยพวกเดียรถีย์เสื่อมลาภสักการะ
[๖๕๔] เพราะยังไม่เห็นนกยูงซึ่งมีหงอน มีเสียงไพเราะ ชนทั้งหลายจึงพากัน บูชากาในที่นั้น ด้วยเนื้อ และผลไม้. [๖๕๕] แต่เมื่อใด นกยูงตัวสมบูรณ์ไปด้วยเสียงมายังพาเวฬุรัฐ เมื่อนั้น ลาภ และสักการะของกาก็เสื่อมไป. [๖๕๖] พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชา ส่องแสงสว่าง ยังไม่เสด็จอุบัติขึ้น เพียงใด ชนทั้งหลายก็พากันบูชาสมณพราหมณ์เหล่าอื่นอยู่เป็นอันมาก เพียงนั้น. [๖๕๗] แต่เมื่อใด พระพุทธเจ้าผู้มีพระสุรเสียงอันไพเราะ ได้ทรงแสดงธรรม แล้ว เมื่อนั้น ลาภและสักการะของพวกเดียรถีย์ก็เสื่อมไป.
จบ พาเวรุชาดกที่ ๙.
๑๐. วิสัยหชาดก
ความยากจนไม่เป็นเหตุให้ทำชั่ว
[๖๕๘] ดูกรพ่อวิสัยหะ แต่ก่อนท่านได้ให้ทาน ก็เมื่อท่านให้อยู่อย่างนั้น ความ เสื่อมได้มีแก่ท่านแล้ว ต่อแต่นี้ไป ถ้าท่านจักไม่ให้ทาน เมื่อท่านไม่ให้ ทาน โภคะทั้งหลายก็คงกลับมีอยู่ตามเดิม. [๖๕๙] ข้าแต่ท้าวสหัสสเนตร พระอริยะทั้งหลายท่านกล่าวถึงบาปกรรมว่า อันอารย ชนถึงจะเป็นคนยากจนเข็ญใจก็ไม่ควรทำ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทวยเทพ ข้าพระบาทจะพึงเลิกศรัทธาเพราะเหตุการบริโภคทรัพย์อันใด ทรัพย์อัน- นั้น อย่าได้มีเลย. [๖๖๐] รถคันหนึ่งแล่นไปทางใด รถคันอื่นก็แล่นไปทางนั้น ข้าแต่ท้าววาสวะ วัตรที่ข้าพระบาทบำเพ็ญมาแล้วแต่ครั้งก่อน ขอจงเป็นไปเหมือนอย่างนั้น เถิด. [๖๖๑] ถ้ายังมียังเป็นอยู่ ข้าพระบาทก็จะให้ เมื่อไม่มีไม่เป็น จะให้ได้อย่างไร แม้ถึงจะเป็นอย่างนี้แล้วก็ตาม ก็จะต้องให้ เพราะข้าพระบาทจะลืมทาน เสียไม่ได้.
จบ วิสัยหชาดกที่ ๑๐.
จบ โกกิลวรรคที่ ๔.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โกกาลิกชาดก ๒. รถลัฏฐิชาดก ๓. โคธชาดก ๔. ราโชวาทชาดก ๕. ชัมพุกชาดก ๖. พรหาฉัตตชาดก ๗. ปีฐชาดก ๘. ถุสชาดก ๙. พาเวรุชาดก ๑๐. วิสัยหชาดก.
-----------------------------------------------------
๕. จุลลกุณาลวรรค
๑. กุณฑลิกชาดก
เปรียบนารีด้วยท่าน้ำ
[๖๖๒] บรรดานารีทั้งหลาย เป็นคนหลายใจ ไม่มีใครสามารถจะข่มได้ ทำความ ยั่วยวนให้แก่ชายทั้งหลาย ถ้าหากว่า นารีทั้งหลายแม้จะทำให้เกิดความ ปีติได้โดยประการทั้งปวง ก็ไม่ควรไว้วางใจ เพราะว่า นารีทั้งหลายเปรียบ ด้วยท่าน้ำ. [๖๖๓] บัณฑิตได้พบเห็นเหตุคลายกำหนัด ของกินนรและนางกินนรีทั้งหลาย แล้ว ก็พึงรู้เสียเถิดว่า หญิงทุกคน ย่อมไม่ยินดีในเรือนของตน ภรรยา ได้ทอดทิ้งสามีผู้เช่นนั้นได้ เพราะไปพบเห็นบุรุษอื่นแม้เป็นง่อยเปลี้ย. [๖๖๔] พระมเหสีของพระเจ้าพกะ และพระเจ้าพาวริกะ ผู้หมกมุ่นอยู่ในกาม เกินส่วน ยังประพฤติล่วงกับชาวประมงคนใช้ผู้ใกล้ชิดและอยู่ในอำนาจ หญิงจะไม่ประพฤติล่วงบุรุษอื่นนอกจากคนนั้นอีก มีอยู่หรือ? [๖๖๕] นางปิงคิยานี พระอัครมเหสีที่รักของพระเจ้าพรหมทัตต์ผู้เป็นอิสระแห่ง มวลโลก ได้ประพฤติล่วงกับคนเลี้ยงม้าผู้เป็นคนใกล้ชิดและอยู่ในอำนาจ นางผู้ใคร่กามนั้น ไม่ได้ประสบผลแม้ทั้งสองอย่าง.
จบ กุณฑลิกชาดกที่ ๑.
๒. วานรชาดก
ผู้รู้เท่าถึงเหตุการณ์เอาตัวรอดได้
[๖๖๖] ดูกรจระเข้ เราสามารถยกตนขึ้นจากน้ำสู่บกได้แล้ว บัดนี้ เราจะไม่ตกอยู่ ในอำนาจของท่านอีกต่อไป. [๖๖๗] เราไม่ต้องการด้วยผลมะม่วง ผลหว้า และผลขนุนทั้งหลาย เราจะต้อง ข้ามฝั่งแม่น้ำไปบริโภคผลมะเดื่อของเราดีกว่า. [๖๖๘] ผู้ใด ไม่รู้เท่าถึงเหตุการณ์ อันบังเกิดขึ้นแล้วโดยฉับพลัน ผู้นั้น จะต้อง ตกอยู่ในอำนาจของศัตรู และต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง. [๖๖๙] ส่วนผู้ใด รู้เท่าถึงเหตุการณ์ ที่บังเกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้นั้น ย่อมพ้น จากความคับขันอันเกิดแต่ศัตรู และไม่ต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง.
จบ วานรชาดกที่ ๒.
๓. กุนตินีชาดก
ว่าด้วยการเชื่อมมิตรภาพ
[๖๗๐] หม่อมฉันได้อาศัย อยู่ในพระราชนิเวศของพระองค์ พระองค์ทรงอุปถัมภ์ บำรุงมาเป็นอย่างดีมิได้ขาด มาบัดนี้ พระองค์ผู้เดียวได้ก่อเหตุขึ้น ข้าแต่ พระราชา มิฉะนั้น หม่อมฉันจะขอทูลลาไปป่าหิมพานต์. [๖๗๑] ผู้ใดแล เมื่อคนอื่นทำกรรมอันชั่วร้ายให้แก่ตนแล้ว และตนก็ได้ทำตอบ แทนแล้ว ย่อมรู้สึกได้ว่า เราได้ทำตอบแก่เขาแล้ว เวรของผู้นั้น ย่อม สงบไปด้วยอาการเพียงเท่านี้ ดูกรนางนกกระเรียน ท่านจงอยู่ก่อนเถิด อย่าเพิ่งไปเลย. [๖๗๒] มิตรภาพของผู้ที่ถูกทำร้ายกับผู้ที่ทำร้าย ย่อมเชื่อมกันไม่ติดอีก ใจของ หม่อมฉันไม่ยอมให้อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันขอทูลลาไป. [๖๗๓] มิตรภาพของผู้ที่ถูกทำร้ายกับผู้ที่ทำร้าย ย่อมกลับเชื่อมติดกันได้อีก เฉพาะพวกบัณฑิตด้วยกัน ย่อมเชื่อมกันไม่ติดอีก เฉพาะพวกชนพาล ดูกรนางนกกระเรียน ท่านจงอยู่ก่อนเถิด อย่าเพิ่งไปเลย.
จบ กุนตินีชาดกที่ ๓.
๔. อัมพชาดก
ว่าด้วยหญิงขโมยมะม่วง
[๖๗๔] หญิงคนใด ลักมะม่วงทั้งหลายของท่าน หญิงคนนั้น จงตกอยู่ใต้อำนาจ ของช่างย้อมผม และผู้เดือดร้อนเพราะแหนบ. [๖๗๕] หญิงคนใด ลักมะม่วงทั้งหลายของท่าน หญิงคนนั้น ถึงจะมีอายุตั้ง ๒๐ ปี ๒๕ ปี หรือไม่ถึง ๓๐ ปี ตั้งแต่เกิดมา อย่าได้ผัวเช่นนั้นเลย. [๖๗๖] หญิงคนใด ลักมะม่วงทั้งหลายของท่าน หญิงคนนั้น ถึงจะกระเสือก กระสนเที่ยวหาผัว เดินไปสู่หนทางไกลแสนไกลแต่ลำพังคนเดียว ถึง จะได้นัดแนะกันไว้แล้ว ก็ขออย่าได้พบได้เห็นผัวเลย. [๖๗๗] หญิงคนใด ลักมะม่วงทั้งหลายของท่าน หญิงคนนั้น ถึงจะมีที่อยู่สะอาด ตบแต่งร่างกายทัดทรงดอกไม้ ลูบไล้ด้วยกระแจะจันทน์ ก็จงนอนอยู่บน ที่นอนแต่เพียงคนเดียวเถิด.
จบ อัมพชาดกที่ ๔.
๕. คชกุมภชาดก
ช้าๆ จะได้พร้าสองเล่มงาม
[๖๗๘] ดูกรเจ้าตัวคืบ ไฟไหม้ป่า คราวใด คราวนั้น เจ้าจะทำอย่างไร เจ้าเป็น สัตว์มีความบากบั่นอ่อนแออย่างนี้? [๖๗๙] โพรงไม้ และระแหงแผ่นดิน มีอยู่เป็นอันมาก ถ้าพวกข้าพเจ้าไปไม่ทัน ถึงโพรงไม้ และระแหงแผ่นดินเหล่านั้น พวกข้าพเจ้าก็ต้องตาย. [๖๘๐] ในเวลาที่จะต้องทำช้าๆ ผู้ใด รีบด่วนทำเสียเร็ว ในเวลาที่จะต้องรีบด่วน ทำกลับทำช้าไป ผู้นั้น ย่อมตัดรอนประโยชน์ของตนเอง เหมือนคน เหยียบใบตาลแห้งแหลกละเอียดไป ฉะนั้น. [๖๘๑] ในเวลาที่จะต้องทำช้าๆ ผู้ใด ทำช้า และในเวลาที่จะต้องรีบทำด่วนก็รีบ ด่วนทำเสีย ประโยชน์ของผู้นั้น ย่อมบริบูรณ์เหมือนดวงจันทร์ส่องแสง สว่างในกลางคืน ฉะนั้น.
จบ คชกุมภชาดกที่ ๕.
๖. เกสวชาดก
ความคุ้นเคยเป็นรสอันยอดเยี่ยม
[๖๘๒] เป็นอย่างไรหนอ เกสวะดาบสผู้ควรบูชาของข้าพเจ้าทั้งหลายจึงละความ เป็นพระเจ้าพาราณสีผู้เป็นจอมมนุษย์ ซึ่งสามารถให้สำเร็จประสงค์ทุก อย่างทุกประการ แล้วมายินดีอยู่ในอาศรมของกัปปดาบส? [๖๘๓] ดูกรนารทอำมาตย์ หมู่ไม้อันน่ารื่นรมย์ใจ มีอยู่ ถ้อยคำของกัปปดาบส เป็นสุภาษิต ไพเราะ น่ารื่นรมย์ใจ ยังอาตมาให้ยินดี. [๖๘๔] พระคุณเจ้าบริโภคข้าวสุกสาลีที่ปรุงด้วยเนื้อสะอาด ไฉนข้าวฟ่างและ ลูกเดือยอันหารสมิได้เลย จึงทำให้พระคุณเจ้ายินดีได้เล่า. [๖๘๕] ของบริโภคจะดีหรือไม่ดีก็ตาม จะน้อยหรือมากก็ตาม บุคคลใดคุ้นเคย กันแล้ว จะพึงบริโภค ณ ที่ใด การบริโภค ณ ที่นั้นแหละดี เพราะรส ทั้งหลาย มีความคุ้นเคยกันเป็นยอดเยี่ยม.
จบ เกสวชาดกที่ ๖.
๗. อยกูฏชาดก
ว่าด้วยยักษ์ถือกระบองเหล็กใหญ่
[๖๘๖] ท่านผู้ใด ยืนถือกระบองเหล็กอันใหญ่โตเหลือขนาดอยู่บนอากาศ ท่าน ผู้นั้น มาสถิตอยู่เพื่อจะคุ้มครองข้าพเจ้าในวันนี้หรือ หรือจะพยายามมา ฆ่า ข้าพเจ้า? [๖๘๗] ดูกรพระราชา เราเป็นทูตของพวกยักษ์ ถูกพวกยักษ์เหล่านั้นส่งมา ณ ที่นี้ เพื่อจะปลงพระชนม์พระองค์ แต่ท้าวสักรินทร์เทวราชคุ้มครอง พระองค์อยู่ เพราะเหตุนั้น เราจึงผ่าพระเศียรของพระองค์ไม่ได้. [๖๘๘] ก็ถ้าท้าวมัฆวานเทวราชผู้เป็นจอมทวยเทพ พระสวามีของนางสุชาดา คุ้มครองข้าพเจ้าอยู่ มิฉะนั้น พวกปีศาจก็คงคุกคามเหล่าสัตว์ทั้งหลาย เป็นแน่ ข้าพเจ้าไม่ได้สะดุ้งกลัวต่อพวกยักษ์เลย. [๖๘๙] พวกกุมภัณฑ์ และพวกปีศาจทั้งมวญจะคร่ำครวญกันไปก็ตามเถิด พวกมันคงไม่อาจจะต่อยุทธกับข้าพเจ้า กิริยาที่หลอกหลอนของพวกยักษ์ ซึ่งทำให้น่ากลัวต่างๆ นั้น มีอยู่เป็นอันมาก แต่ข้าพเจ้าก็ไม่กลัว.
จบ อยกูฏชาดกที่ ๗.
๘. อรัญญชาดก
ว่าด้วยการเลือกคบคน
[๖๙๐] คุณพ่อ ผมออกจากป่าไปสู่บ้านแล้ว จะพึงคบคนที่มีศีลอย่างไร มีวัตร อย่างไร ผมถามแล้ว ขอคุณพ่อจงบอกข้อนั้นแก่ผมด้วย? [๖๙๑] ลูกเอ๋ย ผู้ใด พึงคุ้นเคยกะเจ้าก็ดี พึงอดทนความคุ้นเคยของเจ้าได้ก็ดี เชื่อถือคำพูดของเจ้าก็ดี งดโทษให้เจ้าก็ดี เจ้าไปจากที่นี้แล้วจงคบหาผู้นั้น เถิด. [๖๙๒] ผู้ใด ไม่มีกรรมชั่วด้วยกาย วาจาและใจ เจ้าไปจากที่นี้แล้วจงคบหาผู้นั้น ทำตนให้เหมือนบุตรผู้เกิดจากอกของผู้นั้นเถิด. [๖๙๓] ลูกเอ๋ย คนที่มีจิตเหมือนน้ำย้อมขมิ้น มีจิตกลับกลอก รักง่ายหน่ายเร็ว เจ้าอย่าคบหาคนเช่นนั้นเลย ถึงหากว่า พื้นชมพูทวีปทั้งหมดจะไม่มี มนุษย์ก็ตาม.
จบ อรัญญชาดกที่ ๘.
๙. สันธิเภทชาดก
ว่าด้วยโทษที่เชื่อถือคำส่อเสียด
[๖๙๔] ดูกรนายสารถี สัตว์ทั้ง ๒ นี้ ไม่ได้มีความเสมอกันเพราะสตรีทั้งหลาย เลย ไม่ได้มีความเสมอกันเพราะอาหารเลย ภายหลัง เมื่อสุนัขจิ้งจอก ยุยงทำลายความสนิทสนมกันเสียจนถึงให้ตาย ท่านจงเห็นเหตุนั้นซึ่ง ฉันคิดไว้ถูกต้องแล้ว. [๖๙๕] พวกสุนัขจิ้งจอกพากันกัดกินโค และราชสีห์ เพราะคำส่อเสียดใด คำส่อเสียดนั้น ย่อมเป็นไปถึงตัดมิตรภาพเพราะเนื้อ ดุจดาบคม ฉะนั้น. [๖๙๖] ดูกรนายสารถี ท่านจงดูการนอนตายของสัตว์ทั้ง ๒ นี้ ผู้ใด เชื่อถือถ้อยคำของ คนส่อเสียด ผู้มุ่งทำลายความสนิทสนม ผู้นั้น จะต้องนอนตายอย่างนี้. [๖๙๗] ดูกรนายสารถี นรชนเหล่าใด ไม่เชื่อถือถ้อยคำของคนส่อเสียด ผู้มุ่ง ทำลายความสนิทสนม นรชนเหล่านั้น ย่อมได้ประสบความสุขเหมือน คนไปสวรรค์ ฉะนั้น.
จบ สันธิเภทชาดกที่ ๙.
๑๐. เทวตาปัญหาชาดก
ว่าด้วยปัญหาของเทวดา
[๖๙๘] ดูกรพระราชา บุคคลประหารผู้อื่นด้วยมือทั้ง ๒ ด้วยเท้าทั้ง ๒ แล้วเอามือ ประหารปากผู้อื่น บุคคลนั้น กลับเป็นที่รักของผู้ถูกประหาร เพราะเหตุ นั้น พระองค์ทรงเห็นผู้ที่ถูกประหารนั้นว่า ได้แก่ใคร? [๖๙๙] ดูกรพระราชา บุคคลด่าผู้อื่นตามความพอใจ แต่ไม่ปรารถนาให้ผู้ที่ถูกด่า นั้นได้รับภัยอันตราย บุคคลนั้น กลับเป็นที่รักของผู้ด่า เพราะเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นผู้ด่านั้นว่า ได้แก่ใคร? [๗๐๐] ดูกรพระราชา บุคคลกล่าวตู่ด้วยถ้อยคำไม่เป็นจริง และท้วงติงด้วยคำ อันเหลาะแหละ บุคคลนั้น กลับเป็นที่รักแห่งกันและกัน เพราะเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นผู้นั้นว่า ได้แก่ใคร? [๗๐๑] ดูกรพระราชา บุคคลผู้นำเอาข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะไป (ชื่อว่าผู้นำ เอาไปมีอยู่โดยแท้) บุคคลเหล่านั้น กลับเป็นที่รักของผู้เป็นเจ้าของ เพราะเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นผู้นั้นว่า ได้แก่ใคร?
จบ เทวตาปัญหาชาดกที่ ๑๐.
จบ จุลลกุณาวรรคที่ ๕.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุณฑลิกชาดก ๒. วานรชาดก ๓. กุนตินีชาดก ๔. อัมพชาดก ๕. คชกุมภชาดก ๖. เกสวชาดก ๗. อยกูฏชาดก ๘. อรัญญชาดก ๙. สันธิเภทชาดก ๑๐. เทวตาปัญหาชาดก
-----------------------------------------------------
รวมวรรคที่มีในจตุกกนิบาตนี้ คือ
๑. กาลิงควรรค ๒. ปุจิมันทวรรค ๓. กุฏิทูสกวรรค ๔. โกกิลวรรค ๕. จุลลกุณาวรรค.
จบ จตุกกนิบาตชาดก.
-----------------------------------------------------
ปัญจกนิบาตชาดก
๑. มณิกุณฑลวรรค
๑. มณิกุณฑลชาดก
ผู้ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
[๗๐๒] พระองค์ละแว่นแคว้น ม้า กุณฑล และแก้วมณี อนึ่ง ยังทรงละ พระราชบุตร และเหล่าพระสนมเสียได้ เมื่อโภคสมบัติทั้งสิ้นของ พระองค์ ไม่มีเหลือเลย เหตุไฉน พระองค์จึงไม่ทรงเดือดร้อน ใน คราวที่มหาชนพากันเศร้าโศกอยู่เล่า?. [๗๐๓] โภคสมบัติย่อมละทิ้งสัตว์ไปเสียก่อนก็มี บางทีสัตว์ย่อมละทิ้งโภค- สมบัติเหล่านั้นไปก่อนก็มี ดูกรพระองค์ผู้ใคร่ในกามารมณ์ โภคสมบัติ ที่บริโภคกันอยู่ เป็นของไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงไม่ เดือดร้อน ในคราวที่มหาชนพากันเศร้าโศกอยู่. [๗๐๔] พระจันทร์อุทัยขึ้นเต็มดวง ก็จะกลับหายสิ้นไป พระอาทิตย์กำจัด ความมืด ทำโลกให้เร่าร้อนแล้วอัสดงคตไป ดูกรพระองค์ผู้เป็นศัตรู โลกธรรมทั้งหลาย หม่อมฉันชนะได้แล้ว เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงไม่ เดือดร้อน ในคราวที่มหาชนพากันเศร้าโศกอยู่. [๗๐๕] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามคุณ เกียจคร้านก็ไม่ดี บรรพชิตไม่สำรวมก็ไม่ดี พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทรงทำก็ไม่ดี บัณฑิตมี ความโกรธเป็นเจ้าเรือนก็ไม่ดี. [๗๐๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าทิศ กษัตริย์ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ ไม่ใคร่ ครวญเสียก่อนแล้วไม่ควรทำ อิสริยยศ บริวารยศ และเกียรติคุณของ พระราชาผู้ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ ย่อมเจริญขึ้น.
จบ มณิกุณฑลชาดกที่ ๑.
๒. สุชาตชาดก
ว่าด้วยคำคมของคนฉลาด
[๗๐๗] เหตุไรหนอ เจ้าจึงเป็นเหมือนรีบด่วนเกี่ยวเอาหญ้าอันเขียวสดมาแล้ว บ่นเพ้อถึงวัวแก่ผู้ปราศจากชีวิตแล้วว่า จงเคี้ยวกินเสีย วัวที่ตายแล้วจะ พึงลุกขึ้นได้เพราะหญ้า และน้ำเป็นไม่มีแน่ เจ้าบ่นเพ้อไปเปล่าๆ เหมือน คนผู้ไร้ความคิด ฉะนั้น. [๗๐๘] ศีรษะ เท้าหน้า เท้าหลัง หาง และหู ของวัว ก็ตั้งอยู่ตามที่อย่าง นั้น ผมเข้าใจว่า วัวตัวนี้จะพึงลุกขึ้นได้ ศีรษะหรือมือเท้าของคุณปู่ มิได้ ปรากฏเลย คุณพ่อนั่นเองมาร้องไห้อยู่ที่สถูปดิน เป็นคนไร้ความคิดมิใช่ หรือ? [๗๐๙] เจ้ารดพ่อผู้เดือดร้อนยิ่งนักให้หายร้อน ยังความกระวนกระวายของ พ่อให้ดับได้สิ้น เหมือนบุคคลเอาน้ำรดไฟติดเปรียงให้ดับไป ฉะนั้น เจ้ามาถอนลูกศรคือ ความโศกที่เสียบแน่นอยู่ในฤทัยของพ่อออกได้แล้ว หนอ เมื่อพ่อถูกความโศกครอบงำ เจ้าได้บรรเทาความโศกถึงบิดา เสียได้. [๗๑๐] พ่อเป็นผู้ถอนลูกศรคือความโศกออกได้แล้ว ปราศจากความเศร้าโศก หมดความมัวหมอง ลูกรัก พ่อจะไม่เศร้าโศก จะไม่ร้องไห้ เพราะได้ ฟังถ้อยคำของเจ้า. [๗๑๑] คนผู้มีปัญญา มีใจอนุเคราะห์ ย่อมทำบุคคลให้หลุดพ้นจากความเศร้า โศกได้ เหมือนกับพ่อสุชาตบุตรของพ่อ ทำบิดาให้ล่วงพ้นจากความเศร้า โศก ฉะนั้น.
จบ สุชาตชาดกที่ ๒.
๓. เวนสาขชาดก
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
[๗๑๒] ดูกรพรหมทัตตกุมาร ความเกษมสำราญ ภิกษาหารหาได้ง่าย และ ความเป็นผู้สำราญกายนี้ ไม่พึงมีตลอดกาลเป็นนิตย์ เมื่อประโยชน์ของ ตนสิ้นไป ท่านอย่าเป็นผู้ล่มจมเสียเลย เหมือนเรือแตก คนไม่ได้ ที่พึ่งอาศัย ต้องจมอยู่ในท่ามกลางทะเล ฉะนั้น. [๗๑๓] บุคคลทำกรรมใด ย่อมมองเห็นกรรมนั้นในตน ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผล เช่นนั้น. [๗๑๔] ปาจารย์ในปางก่อนได้กล่าวคำใดไว้ว่า ท่านอย่าได้ทำบาปกรรมที่ทำ แล้วจะทำให้เดือดร้อนในภายหลังเลย คำนั้น เป็นคำสอนของอาจารย์เรา [๗๑๕] ปิงคิยปุโรหิตนั้น ย่อมบ่นเพ้อแสดงต้นไทรว่า มีกิ่งแผ่ไพศาล (สามารถ ให้ความชนะได้) เราได้ให้ฆ่ากษัตริย์ผู้ประดับด้วยราชาลังการ ลูบไล้ ด้วยแก่นจันทน์แดงทั้งพันพระองค์เสีย ที่ต้นไม้ใด ต้นไม้นั้น บัดนี้ ไม่อาจทำการป้องกันอะไรแก่เราได้ ความทุกข์อันนั้นแหละกลับมาสนอง เราแล้ว. [๗๑๖] พระนางอุพพรีอัครมเหสีของเรา มีพระฉวีวรรณงามดังทองคำ ลูบไล้ ตัวด้วยแก่นจันทน์แดง ย่อมงามเจริญตา เหมือนกับกิ่งไม้สิงคุอันขึ้น ตรงไป ไหวสะเทือนอยู่ ฉะนั้น เรามิได้เห็นพระนางอุพพรีแล้ว คงจัก ต้องตายเป็นแน่ การที่เราไม่ได้เห็นพระนางอุพพรีนั้น จักเป็นทุกข์ยิ่ง กว่ามรณทุกข์นี้อีก.
จบ เวนสาขชาดกที่ ๓.
๔. อุรคชาดก
เปรียบคนตายเหมือนงูลอกคราบ
[๗๑๗] บุตรของข้าพเจ้า ละทิ้งร่างกายของตนไป ดุจงูละทิ้งคราบเก่าไป ฉะนั้น เมื่อร่างกายแห่งบุตรของข้าพเจ้าใช้อะไรไม่ได้ เมื่อบุตรของข้าพเจ้ากระทำ กาละไปแล้วอย่างนี้ บุตรของข้าพเจ้าถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไห้ ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา คติของตน มีอย่างใด เขาก็ย่อมไปสู่คติของตนอย่างนั้น. [๗๑๘] บุตรของดิฉันนี้ ดิฉันมิได้เชื้อเชิญให้เขามาจากปรโลก เขาก็มาเอง แม้เมื่อจะไปจากมนุษยโลกนี้ ดิฉันก็มิได้อนุญาตให้เขาไป เขามา อย่างใด เขาก็ไปอย่างนั้น การปริเทวนาถึงในการที่บุตรของดิฉันไปจาก มนุษยโลกนั้น จะเกิดประโยชน์อะไร บุตรของดิฉันถูกเผาอยู่ ก็ไม่รู้สึก ถึงความร่ำไห้ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา คติของตนมีอย่างใด เขาก็ไปสู่คติของตนอย่างนั้น. [๗๑๙] เมื่อพี่ชายตายแล้ว หากว่า ดิฉันจะพึงร้องไห้ ดิฉันก็จะผ่ายผอม เมื่อ ดิฉันร้องไห้อยู่ จะมีผลอะไร ความไม่ยินดีจะพึงมีแก่ญาติ มิตร และ สหายของดิฉันยิ่งขึ้น พี่ชายของดิฉันถูกเผาอยู่ ก็ไม่รู้สึกถึงความร่ำไห้ ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่เศร้าโศกถึงพี่ชายนั้น คติของ ตนมีอย่างใด เขาก็ไปสู่คติของตนอย่างนั้น. [๗๒๐] เด็กร้องไห้ขอพระจันทร์อันโคจรอยู่ในอากาศ ฉันใด การที่บุคคลมา เศร้าโศกถึงผู้ที่ละไปสู่ปรโลกแล้วนี้ ก็มีอุปไมย ฉันนั้น สามีของดิฉัน ถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไห้ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ดิฉัน จึงไม่เศร้าโศกถึงสามีนั้น คติของตนมีอย่างใด เขาก็ไปสู่คติของตน อย่างนั้น. [๗๒๑] หม้อน้ำที่แตกแล้ว เชื่อมให้สนิทอีกไม่ได้ ฉันใด การที่บุคคลมาเศร้า โศกถึงผู้ที่ละไปสู่ปรโลกแล้วนี้ ก็มีอุปไมย ฉันนั้น นายของดิฉันถูกเผา อยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไห้ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่ เศร้าโศกถึงนายนั้น คติของตนมีอย่างใด นายของดิฉันก็ไปสู่คติของ ตนอย่างนั้น.
จบ อุรคชาดกที่ ๔.
๕. ธังกชาดก
ว่าด้วยการร้องไห้ไม่มีประโยชน์
[๗๒๒] ชนเหล่าอื่น เศร้าโศกอยู่ ร้องไห้อยู่ ชนเหล่าอื่น มีชุ่มไปด้วยน้ำตา พระองค์เป็นผู้มีผิวพระพักตร์ผ่องใส ดูกรฆตราชา เพราะเหตุไร พระองค์ จึงไม่เศร้าโศก? [๗๒๓] ความเศร้าโศกหาได้นำสิ่งที่ล่วงไปแล้วมาได้ไม่ หาได้นำความสุขใน อนาคตมาได้ไม่ ดูกรธังกราชา เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงไม่เศร้าโศก ความเป็นสหายในความโศก ย่อมไม่มี. [๗๒๔] บุคคลเศร้าโศกอยู่ ย่อมเป็นผู้ผอมเหลือง และไม่พอใจบริโภค อาหาร เมื่อเขาถูกลูกศรคือความเศร้าโศกเสียบแทงแล้ว เร่าร้อนอยู่ ศัตรูทั้งหลาย ย่อมดีใจ. [๗๒๕] ความฉิบหายอันความเศร้าโศกเป็นมูล จักไม่มาถึงหม่อมฉันผู้อยู่ใน บ้านหรือในป่า ในที่ลุ่มหรือในที่ดอน หม่อมฉันเห็นบทฌานแล้ว อย่างนี้. [๗๒๖] ตนผู้เดียวเท่านั้น สามารถจะนำกามรสทั้งปวงมาให้ได้ สหายของพระ ราชาพระองค์ใด ไม่สามารถจะนำมาให้ได้ ถึงสมาบัติในแผ่นดินทั้งสิ้น ก็จักนำความสุขมาให้แก่พระราชาพระองค์นั้นไม่ได้.
จบ ธังกชาดกที่ ๕.
๖. การันทิยชาดก
ว่าด้วยการทำที่เหลือวิสัย
[๗๒๗] ท่านผู้เดียวรีบร้อน ยกเอาก้อนหินใหญ่กลิ้งลงไปในซอกภูเขาในป่า ดูกรการันทิยะ จะเป็นประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยการทิ้งก้อนหินลงใน ซอกเขานี้เล่าหนอ? [๗๒๘] ข้าพเจ้าเกลี่ยหินก้อนเล็กก้อนใหญ่ลง จักกระทำแผ่นดินใหญ่นี้ซึ่งมี มหาสมุทรสี่เป็นขอบเขต ให้ราบเรียบเพียงดังฝ่ามือ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ทิ้งหินลงในซอกเขา. [๗๒๙] ดูกรการันทิยะ เราสำคัญว่า มนุษย์คนเดียว ย่อมไม่สามารถจะทำ แผ่นดินให้ราบเรียบดังฝ่ามือได้ ท่านพยายามจะทำซอกเขานี้ให้เต็มขึ้น ท่านก็จักละชีวโลกนี้ไปเสียเปล่าเป็นแน่. [๗๓๐] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ หากว่า มนุษย์คนเดียวไม่สามารถจะทำแผ่นดินใหญ่ นี้ให้ราบเรียบได้ ฉันใด ท่านก็จักนำมนุษย์เหล่านี้ผู้มีทิฏฐิต่างๆ กันมา ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน. [๗๓๑] ดูกรการันทิยะ ท่านได้บอกความจริงโดยย่อแก่เรา ข้อนั้น เป็น อย่างนี้ แผ่นดินนี้มนุษย์ไม่สามารถจะทำให้ราบเรียบได้ ฉันใด เราก็ไม่ อาจจะทำให้มนุษย์ทั้งหลายมาอยู่ในอำนาจของเราได้ ฉันนั้น.
จบ การันทิยชาดกที่ ๖.
๗. ลฏุกิกชาดก
คติของคนมีเวร
[๗๓๒] ดิฉันขอไหว้พญาช้างผู้มีกำลังเสื่อมในกาลที่มีอายุได้หกสิบปีแล้ว ผู้อยู่ ในป่า เป็นเจ้าโขลง เพรียบพร้อมด้วยบริวารยศนั้น ดิฉันขอทำอัญชลี ท่านด้วยปีกทั้งสอง ขอท่านอย่าได้ฆ่าลูกน้อยๆ ของฉันผู้มีกำลังทุรพล เสียเลย. [๗๓๓] ดิฉันขอไหว้พญาช้างผู้เที่ยวไปเชือกเดียว ผู้อยู่ในป่า เที่ยวหาอาหาร กินตามเชิงภูเขา ดิฉันขอทำอัญชลีท่านด้วยปีกทั้งสอง ขอท่านอย่าได้ ฆ่าลูกน้อยๆ ของดิฉันผู้มีกำลังทุรพลเสียเลย. [๗๓๔] แน่ะนางนกไส้ เราจะฆ่าลูกน้อยของเจ้าเสีย เจ้ามีกำลังน้อยจักทำ อะไรเราได้ เราจะขยี้นกไส้อย่างเจ้าตั้งแสนตัวให้ละเอียดไปด้วยเท้า ข้างซ้าย. [๗๓๕] กิจที่จะพึงทำด้วยกำลังกาย ย่อมสำเร็จในที่ทั้งปวง เพราะกำลังกายของ คนพาล ย่อมมีเพื่อฆ่าคนอื่น แน่ะพญาช้าง ผู้ใด ฆ่าลูกน้อยๆ ของเรา ผู้มีกำลังทุรพล เราจักทำสิ่งที่ไม่ใช่ความเจริญให้แก่ผู้นั้น. [๗๓๖] ท่านจงดูกา นางนกไส้ กบ และแมลงวันหัวเขียว สัตว์ทั้งสี่เหล่านี้ ได้ร่วมใจกันฆ่าช้างเสียได้ ท่านจงเห็นคติของคนมีเวรแก่คนมีเวร ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแล ท่านทั้งหลาย อย่าได้กระทำเวรกับใครๆ ถึง จะไม่เป็นที่รักใคร่กันเลย.
จบ ลฏุกิกชาดกที่ ๗.
๘. จุลลธรรมปาลชาดก
ความรักของแม่ที่มีต่อลูก
[๗๓๗] หม่อมฉันผู้เดียวที่ตัดความเจริญ กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยธรรมปาล- กุมารนี้เสียเถิด โปรดรับสั่งให้ตัดมือของหม่อมฉันเถิด. [๗๓๘] หม่อมฉันผู้เดียวที่ตัดความเจริญ กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยธรรมปาลกุมาร นี้เสียเถิด โปรดรับสั่งให้ตัดเท้าของหม่อมฉันเถิด. [๗๓๙] หม่อมฉันผู้เดียวที่ตัดความเจริญ กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยธรรมปาลกุมาร นี้เสียเถิด โปรดรับสั่งให้ตัดศีรษะของหม่อมฉันเถิด. [๗๔๐] ใครๆ ผู้เป็นมิตร และอำมาตย์ของพระราชานี้ ที่มีใจดี คงจะไม่มีแน่ นอน ผู้ที่จะทูลห้ามพระราชาว่า อย่าทรงปลงพระชนม์พระราชบุตรซึ่ง เกิดแต่พระอุระเสียเลย ก็ไม่มี. [๗๔๑] ใครๆ ผู้เป็นมิตรและพระญาติของพระราชานี้ ที่มีใจดี คงจะไม่มีแน่ นอน ผู้ที่จะทูลห้ามพระราชาว่า อย่าทรงปลงพระชนม์พระราชบุตรที่ เกิดจากพระองค์เสียเลย ก็ไม่มี. [๗๔๒] แขนของธรรมปาลกุมารผู้เป็นทายาทแห่งแผ่นดิน อันลูบไล้ด้วยแก่น จันทน์แดง มาขาดไปเสีย ข้าแต่สมมติเทพ ชีวิตของหม่อมฉันก็คงจะ ดับไป
จบ จุลลธรรมปาลชาดกที่ ๘.
๙. สุวรรณมิคชาดก
ว่าด้วยเนื้อติดบ่วงนายพราน
[๗๔๓] ข้าแต่เนื้อผู้มีกำลังมาก ท่านจงพยายามดึงบ่วงออก ข้าแต่ท่านผู้มี เท้าดุจทองคำ ท่านจงพยายามดึงบ่วงที่ติดแน่นให้ขาดเถิด ฉันผู้เดียวจะ ไม่พึงยินดีอยู่ในป่า. [๗๔๔] ฉันพยายามดึงอยู่ แต่ไม่สามารถจะทำบ่วงให้ขาดได้ ฉันเอาเท้าตะกุย แผ่นดินด้วยกำลังแรง บ่วงติดแน่นเหลือเกิน จึงครูดเอาเท้าของฉันเข้า. [๗๔๕] ข้าแต่นายพราน ท่านจงปูใบไม้ลง จงชักดาบออก จงฆ่าฉันเสียก่อน แล้วจึงฆ่าพญาเนื้อต่อภายหลัง. [๗๔๖] เราไม่เคยได้ยินได้ฟัง หรือได้เห็นเนื้อที่พูดภาษามนุษย์ได้ แนะนางผู้มี หน้าอันเจริญ ตัวท่าน และพญาเนื้อนี้จงเป็นสุขเถิด. [๗๔๗] ข้าแต่นายพราน วันนี้ ฉันเห็นพญาเนื้อหลุดพ้นมาได้แล้ว ย่อมชื่นชม ยินดี ฉันใด ขอให้ท่านพร้อมด้วยญาติทั้งมวลของท่าน จงชื่นชม ยินดี ฉันนั้น.
จบ สุวรรณมิคชาดกที่ ๙.
๑๐. สุสันธีชาดก
ว่าด้วยนางผิวหอม
[๗๔๘] กลิ่นดอกไม้มิติระหอมฟุ้งไป น้ำทะเลคะนองใหญ่ พระนางสุสันธี อยู่ห่างไกลจากนครนี้ ข้าแต่พระเจ้าตัมพราช กามทั้งหลายเสียบแทงหัว ใจข้าพระบาทอยู่. [๗๔๙] ท่านข้ามทะเลไปได้อย่างไร ท่านได้เห็นเกาะเสรุมได้อย่างไร ดูกรนาย อัคคะ ความสมาคมของนาง และท่าน ได้มีขึ้นอย่างไร? [๗๕๐] เมื่อพวกพ่อค้าผู้แสวงหาทรัพย์ ออกไปจากท่าชื่อภรุกัจฉะ พวกมังกร ทำให้เรือแตกแล้ว เราได้ลอยไปกับแผ่นกระดาน. [๗๕๑] พระนางสุสันธีมีกลิ่นพระกายหอมดุจแก่นจันทน์อยู่เป็นนิตย์ น่าดูน่าชม ทรงเห็นข้าพระบาทเข้าแล้ว ปลอบโยนด้วยวาจาอันอ่อนหวาน ได้ทรง อุ้มข้าพระบาทด้วยแขนทั้งสองเหมือนกับมารดา อุ้มบุตรผู้เกิดจากอก ฉะนั้น. [๗๕๒] พระนางผู้มีพระเนตรอ่อนหวาน ทรงบำรุงบำเรอข้าพระบาทด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน และแม้ด้วยพระองค์ ข้าแต่พระเจ้าตัมพราช ขอพระ องค์โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด.
จบ สุสันธีชาดกที่ ๑๐.
จบ มณิกุณฑลวรรคที่ ๑.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. มณิกุณฑลชาดก ๒. สุชาตชาดก ๓. เวนสาขชาดก ๔. อุรคชาดก ๕. ธังกชาดก ๖. การันทิยชาดก ๗. ลฏุกิกชาดก ๘. จุลลธรรมปาลชาดก ๙. สุวรรณมิคชาดก ๑๐. สุสันธีชาดก.
๒. วรรณาโรหวรรค
๑. วรรณาโรหชาดก
ว่าด้วยผู้มีใจคอหนักแน่น
[๗๕๓] ท่านผู้มีเขี้ยวงามกล่าวว่า เสือโคร่งชื่อสุพาหุนี้ มีลักษณะ วรรณะ ชาติ กำลังกาย และกำลังความเพียร ไม่ประเสริฐไปกว่าเรา. [๗๕๔] เสือโคร่งชื่อสุพาหุกล่าวว่า ราชสีห์ผู้มีเขี้ยวงาม มีลักษณะ วรรณะ ชาติ กำลังกาย และกำลังความเพียร ไม่ประเสริฐไปกว่าเรา. [๗๕๕] แนะเพื่อนสุพาหุ ถ้าท่านจะประทุษร้ายเราผู้อยู่กับท่านอย่างนี้ บัดนี้ เราก็ไม่พึงยินดีอยู่ร่วมกับท่านต่อไป. [๗๕๖] ผู้ใดเชื่อฟังคำของคนอื่นตามที่เป็นจริง ผู้นั้นต้องพลันแตกจากมิตร และต้องประสบเวรเป็นอันมาก. [๗๕๗] ผู้ใดไม่ประมาททุกขณะ มุ่งความแตกร้าว คอยแต่จับความผิด ผู้นั้น ไม่ชื่อว่าเป็นมิตร ส่วนผู้ใดอันคนอื่นยุให้แตกกันไม่ได้ ไม่มีความรังเกียจ มิตร นอนอยู่อย่างปลอดภัย เหมือนบุตรนอนแอบอกมารดา ฉะนั้น ผู้นั้นนับว่าเป็นมิตรแท้.
จบ วรรณาโรหชาดกที่ ๑.
๒. สีลวีมังสชาดก
ผู้ประพฤติธรรมย่อมเป็นผู้เสมอกัน
[๗๕๘] ข้าพระองค์มีความสงสัยว่า ศีลประเสริฐ หรือสุตะประเสริฐ ศีลนี่แหละ ประเสริฐกว่าสุตะ ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยแล้ว. [๗๕๙] ชาติและวรรณะเป็นของเปล่า ได้สดับมาว่า ศีลเท่านั้นประเสริฐที่สุด บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยศีล ย่อมไม่ได้ประโยชน์เพราะสุตะ. [๗๖๐] กษัตริย์และแพศย์ผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ไม่อาศัยธรรม ชนทั้งสองนั้นละ โลกนี้ไปแล้ว ย่อมเข้าถึงทุคติ. [๗๖๑] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล และคนเทหยากเยื่อ ประพฤติธรรมในธรรมวินัยนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้เสมอกันในไตรทิพย์. [๗๖๒] เวท ชาติ แม้พวกพ้อง ก็ไม่สามารถจะให้อิสริยยศหรือความสุขใน ภพหน้าได้ ส่วนศีลของตนเองที่บริสุทธิ์ดีแล้ว ย่อมนำความสุขใน ภพหน้ามาให้ได้.
จบ สีลวีมังสชาดกที่ ๒.
๓. หิริชาดก
การกระทำที่ส่อให้รู้ว่ามิตรหรือมิใช่มิตร
[๗๖๓] ผู้ใดหมดความอาย เกลียดชังความมีเมตตา กล่าวอยู่ว่า เราเป็นมิตร สหายของท่าน ไม่ได้เอื้อเฟื้อทำการงานที่ดีกว่า บัณฑิตรู้จักผู้นั้นได้ดี ว่า ผู้นี้มิใช่มิตรสหายของเรา. [๗๖๔] เพราะว่า บุคคลชอบทำอย่างไร ก็พึงกล่าวอย่างนั้น ไม่ชอบทำอย่างไร ก็ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น บัณฑิตทั้งหลายรู้จักบุคคลนั้นว่า ผู้ไม่ทำให้สม กับพูด เป็นแต่กล่าวอยู่ว่า เราเป็นมิตรสหายของท่าน. [๗๖๕] ผู้ใดไม่ประมาทอยู่ทุกขณะ มุ่งความแตกร้าว คอยแต่จับความผิด ผู้ นั้นไม่ชื่อว่าเป็นมิตร ส่วนผู้ใดอันคนอื่นยุให้แตกกันไม่ได้ ไม่มีความ รังเกียจในมิตร นอนอยู่อย่างปลอดภัย เหมือนบุตรนอนแอบอก มารดา ฉะนั้น ผู้นั้นนับว่าเป็นมิตรแท้. [๗๖๖] กุลบุตรผู้มองเห็นผลอานิสงส์ เมื่อจะนำธุระของบุรุษ ย่อมให้เกิดฐานะ คือ การทำความปราโมทย์ และความสุข อันจะนำความสรรเสริญมาให้. [๗๖๗] บุคคลได้ดื่มรสอันเกิดจากวิเวก รสแห่งความสงบ และรสคือธรรมปีติ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย เป็นผู้หมดบาป.
จบ หิริชาดกที่ ๓.
๔. ขัชโชปนกชาดก
ว่าด้วยเห็นหิ่งห้อยว่าเป็นไฟ
[๗๖๘] ใครหนอ เมื่อไฟมีอยู่ ยิ่งเที่ยวแสวงหาไฟอีก เห็นหิ่งห้อยในเวลา กลางคืน ก็มาสำคัญว่าเป็นไฟ. [๗๖๙] บุคคลนั้น เอาจุรณโคมัยและหญ้าขยี้ให้ละเอียดโปรยลงบนหิ่งห้อย เพื่อจะให้เกิดไฟ ก็ไม่สามารถจะให้ไฟลุกได้ ด้วยความสำคัญวิปริต ฉันใด. [๗๗๐] คนพาล ย่อมไม่ได้สิ่งที่ต้องประสงค์โดยมิใช่อุบาย นมโคไม่มีที่เขา โค คนรีดนมโคจากเขาโค ย่อมไม่ได้นม ก็ฉันนั้น. [๗๗๑] ชนทั้งหลาย ย่อมบรรลุถึงประโยชน์ด้วยอุบายต่างๆ คือ ด้วยการข่มศัตรู และด้วยการยกย่องมิตร. [๗๗๒] พระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย ย่อมครอบครองแผ่นดินอยู่ได้ ก็ด้วยการได้ อำมาตย์ผู้เป็นประมุขของเสนี และด้วยการแนะนำของอำมาตย์ผู้ที่ทรง โปรดปราน.
จบ ขัชโชปนกชาดกที่ ๔.
๕. อหิตุณฑิกชาดก
ว่าด้วยลิงกับหมองู
[๗๗๓] ดูกรสหายผู้มีหน้างาม เราเป็นนักเลงสะกา แพ้เขาเพราะลูกบาด ท่าน จงทิ้งมะม่วงสุกลงมาบ้าง เราจะได้บริโภคเพราะความเพียรของท่าน. [๗๗๔] ดูกรสหาย ท่านมากล่าวสรรเสริญเราผู้ลอกแลก ด้วยคำไม่เป็นจริง ขึ้น ชื่อว่าลิงที่มีหน้างาม ท่านเคยได้ยินหรือเคยได้เห็นที่ไหนมาบ้าง? [๗๗๕] ดูกรหมองู ท่านทำกรรมใดไว้กะเรา กรรมนั้นย่อมปรากฏอยู่ในหัวใจ ของเราจนวันนี้ ท่านเข้าไปยังตลาดขายข้าวเปลือก เมาสุราแล้ว ตีเรา ผู้กำลังหิวโหยถึงสามครั้ง. [๗๗๖] เราระลึกถึงการนอนเป็นทุกข์ อยู่ที่ตลาดนั้นได้ อนึ่ง ถึงท่านจะยก ราชสมบัติให้เราครอบครอง ท่านขอมะม่วงเราแม้ผลเดียว เราก็ไม่ให้ เพราะว่าเราถูกท่านคุกคามให้กลัวเสียแล้ว. [๗๗๗] อนึ่ง บัณฑิตรู้จักผู้ใดที่เกิดในตระกูล เอิบอิ่มอยู่ในห้อง ไม่มีความ ตระหนี่ ก็ควรจะผูกความเป็นสหาย และมิตรภาพกับผู้นั้นไว้ให้สนิท.
จบ อหิตุณฑิกชาดกที่ ๕.
๖. คุมพิยชาดก
เปรียบวัตถุกามเหมือนยาพิษ
[๗๗๘] ยักษ์ชื่อคุมพิยะเที่ยวหาเหยื่อของตนอยู่ ได้วางยาพิษอันมีสี กลิ่นและ รสเหมือนน้ำผึ้งไว้ในป่า. [๗๗๙] สัตว์เหล่าใด มาสำคัญว่าน้ำผึ้ง กินยาพิษนั้นเข้าไป ยาพิษนั้นเป็นของ ร้ายแรงกว่าสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้น ต้องพากันเข้าถึงความตาย เพราะ ยาพิษนั้น. [๗๘๐] ส่วนสัตว์เหล่าใดพิจารณารู้ว่า เป็นยาพิษแล้ว ละเว้นเสีย สัตว์เหล่า นั้น เมื่อสัตว์ที่บริโภคยาพิษเข้าไป กระสับกระส่ายอยู่ ถูกฤทธิ์ยาพิษ แผดเผาอยู่ ก็เป็นผู้มีความสุข ดับความทุกข์เสียได้. [๗๘๑] วัตถุกามทั้งหลายฝังอยู่ในมนุษย์ บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นยาพิษ เหมือน กับยาพิษ อันยักษ์วางไว้ที่หนทางฉะนั้น กามคุณนี้ชื่อว่าเป็นเหยื่อ ของสัตวโลก และชื่อว่าเป็นเครื่องผูกมัดสัตวโลกไว้ มฤตยูมีถ้ำคือ ร่างกายเป็นที่อยู่อาศัย. [๗๘๒] บัณฑิตเหล่าใด ผู้มีความเร่าร้อน ย่อมละเว้นกามคุณเหล่านี้ อันเป็น เครื่องบำรุง ปรุงกิเลส เสียได้ในกาลทุกเมื่อ บัณฑิตเหล่านั้นนับว่า ได้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องในโลกแล้ว เหมือนกับผู้ละเว้นยาพิษที่ยักษ์ วางไว้ในหนทางใหญ่ ฉะนั้น.
จบ คุมพิยชาดกที่ ๖.
๗. สาลิยชาดก
ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว
[๗๘๓] ผู้ใดลวงให้เราจับงูเห่าว่า นี่ลูกนกสาลิกา ผู้นั้นตามพร่ำสอนสิ่งที่ลามก ถูกงูนั้นกัดตายแล้ว. [๗๘๔] คนใดปรารถนาจะฆ่าบุคคลผู้ไม่ฆ่าเอง และผู้ไม่ใช้คนอื่นให้ฆ่าตน คน นั้นถูกฆ่าแล้วนอนตายอยู่ เหมือนกับบุรุษผู้ถูกงูกัดตายแล้ว ฉะนั้น. [๗๘๕] คนใดปรารถนาจะฆ่าบุคคลผู้ไม่เบียดเบียนตน และไม่ฆ่าตน คนนั้น ถูกฆ่าแล้วนอนตายอยู่ เหมือนกับบุรุษถูกงูกัดตายแล้ว ฉะนั้น. [๗๘๖] บุรุษผู้กำฝุ่นไว้ในมือ พึงซัดฝุ่นไปในที่ทวนลม ละอองฝุ่นนั้น ย่อม หวนกลับมากระทบบุรุษนั้นเอง เหมือนบุรุษถูกงูกัดตายแล้ว ฉะนั้น. [๗๘๗] ผู้ใดประทุษร้ายคนผู้ไม่ประทุษร้ายตน เป็นคนบริสุทธิ์ ไม่มีความผิด เลย บาปย่อมกลับมาถึงคนพาลผู้นั้นเอง เหมือนกับละอองละเอียด ที่บุคคลซัดไปทวนลม ฉะนั้น.
จบ สาลิยชาดกที่ ๗.
๘. ตจสารชาดก
คนฉลาดย่อมไม่แสดงอาการให้ศัตรูเห็น
[๗๘๘] พวกเจ้าตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู ถูกเขาจองจำด้วยท่อนไม้ไผ่แล้ว ยังเป็นผู้มีสีหน้าผ่องใส เพราะเหตุไรพวกเจ้าจึงไม่เศร้าโศกเล่า? [๗๘๙] บุคคลไม่พึงได้ความเจริญแม้แต่เล็กน้อย ด้วยความเศร้าโศก และ ความร่ำรำพัน พวกศัตรูรู้ว่า บุคคลนั้นเศร้าโศก ได้รับความทุกข์ ย่อม ดีใจ. [๗๙๐] ส่วนบัณฑิตผู้ฉลาดในการวินิจฉัยความ ย่อมไม่สะทกสะท้านเพราะอัน- ตรายที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าเมื่อไร พวกศัตรูได้เห็นหน้าของบัณฑิตนั้น อัน ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นเหมือนแต่ก่อน ย่อมเกิดความทุกข์. [๗๙๑] บุคคลจะพึงได้ประโยชน์ในที่ใด ด้วยประการใดๆ เช่น การร่ายมนต์ การปรึกษาท่านผู้รู้ การกล่าววาจาอ่อนหวาน การให้สินบน หรือการสืบ วงศ์ตระกูล พึงหาเพียรในที่นั้น ด้วยประการนั้นๆ เถิด. [๗๙๒] ก็ในการใด บัณฑิตพึงรู้ว่า ประโยชน์นี้เราหรือคนอื่นไม่พึงได้รับ ใน กาลนั้น ก็ไม่ควรเศร้าโศก ควรอดกลั้นไว้ด้วยคิดเสียว่า กรรมเป็น ของมั่นคง บัดนี้ เราจะกระทำอย่างไรดี.
จบ ตจสารชาดกที่ ๘.
๙. มิตตวินทุกชาดก
ว่าด้วยจักรกรดพัดบนหัว
[๗๙๓] ข้าพเจ้าได้กระทำอะไรไว้ให้แก่เทวดาทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้กระทำบาป กรรมอะไรไว้ จักรกรดจึงได้มากระทบศีรษะของข้าพเจ้าพัดอยู่บนกระ หม่อม? [๗๙๔] ท่านล่วงเลยปราสาทแก้วผลึก ปราสาทแก้วมณี ปราสาทเงิน และ ปราสาททอง แล้วมาในที่นี้เพราะเหตุอะไร? [๗๙๕] เชิญท่านดูข้าพเจ้าผู้ถึงความฉิบหาย เพราะความสำคัญเช่นนี้ว่า โภค สมบัติในที่นี้ เห็นจะมีมากกว่าโภคสมบัติในปราสาททั้งสี่นั้น. [๗๙๖] ท่านละทิ้งนางเวมานิกเปรต ๔ มาได้นางเวมานิกเปรต ๘ ละทิ้งนางเวมา- นิกเปรต ๘ มาได้นางเวมานิกเปรต ๑๖ ละทิ้งนางเวมานิกเปรต ๑๖ มา ได้นางเวมานิกเปรต ๓๒ ปรารถนาไม่รู้จักพอ จึงมายินดีจักรกรด จักรกรดจึงพัดอยู่บนกระหม่อมของท่าน ผู้ถูกความปรารถนาครอบงำไว้. [๗๙๗] อันธรรมดา ตัณหาเป็นสิ่งที่กว้างขวางอยู่ ณ เบื้องบน ให้เต็มได้ยาก มักเป็นไปตามอำนาจของความปรารถนา เพราะฉะนั้น ชนเหล่าใดมา กำหนัดยินดีตัณหานั้น ชนเหล่านั้นจึงต้องเป็นผู้ทูนจักรกรดไว้.
จบ มิตตวินทุกชาดกที่ ๙.
๑๐. ปลาสชาดก
ว่าด้วยเหตุที่จะต้องหนีจากไป
[๗๙๘] พระยาหงส์ได้กล่าวกะปลาสเทวดาว่า ดูกรสหาย ต้นไทรเกิดติดอยู่ที่ ค่าคบของท่านแล้ว มันเจริญขึ้นแล้ว จะตัดชีวิตของท่านเสีย. [๗๙๙] ข้าพเจ้าจะเป็นที่พึ่งทำต้นไทรให้เจริญขึ้น ต้นไทรนี้จักเป็นที่พึ่งของ ข้าพเจ้า เหมือนมารดาบิดา เป็นที่พึ่งของบุตรแล้ว บุตรกลับเป็นที่พึ่ง ของมารดาบิดา ฉะนั้น. [๘๐๐] เหตุใดท่านจึงให้ต้นไม้ที่น่าหวาดเสียวดุจข้าศึก เจริญขึ้นอยู่ที่ค่าคบ เหตุ นั้นข้าพเจ้าบอกท่านแล้วจะไป ความเจริญแห่งต้นไทรนั้น ข้าพเจ้าไม่ ชอบใจเลย. [๘๐๑] บัดนี้ ต้นไทรนี้ทำให้เราน่าหวาดเสียวภัยอันใหญ่หลวง ได้มาถึงเรา เพราะไม่รู้สึกถึงคำ อันใหญ่หลวงของพระยาหงส์ ซึ่งควรเปรียบ ด้วยขุนเขาสิเนรราช. [๘๐๒] ผู้ใด เมื่อกำลังเจริญอยู่ กระทำที่พึ่งอาศัยให้พินาศไปเสีย ความเจริญ ของผู้นั้น ท่านผู้ฉลาดไม่สรรเสริญ นักปราชญ์รังเกียจความพินาศของผู้ นั้น จึงเพียรพยายามที่จะตัดรากเหง้าเสีย.
จบ ปลาสชาดกที่ ๑๐.
จบ วรรณาโรหวรรคที่ ๒.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. วรรณาโรหชาดก ๒. สีลวีมังสชาดก ๓. หิริชาดก ๔. ขัชโชปนกชาดก ๕. อหิตุณฑิกชาดก ๖. คุมพิยชาดก ๗. สาลิยชาดก ๘. ตจสารชาดก ๙. มิตตวินทุกชาดก ๑๐. ปลาสชาดก
-----------------------------------------------------
๓. อัฑฒวรรค
๑. ทีฆีติโกสลชาดก
ว่าด้วยเวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร
[๘๐๓] ข้าแต่พระราชา เมื่อพระองค์ตกอยู่ในอำนาจของข้าพระองค์อย่างนี้แล้ว เหตุอันใดอันหนึ่งที่จะทำให้พระองค์พ้นจากทุกข์ได้ มีอยู่หรือ? [๘๐๔] พ่อเอ๋ย เมื่อฉันตกอยู่ในอำนาจของท่านถึงอย่างนี้แล้ว เหตุอันใดอัน หนึ่งที่จะทำให้ฉันพ้นจากทุกข์ได้ ไม่มีเลย. [๘๐๕] ข้าแต่พระราชา เว้นสุจริต และวาจาสุภาษิตเสีย เหตุอย่างอื่นจะป้อง กันได้ในเวลาใกล้มรณกาล ไม่มีเลย ทรัพย์นอกนี้ก็เหมือนกันแหละ. [๘๐๖] ชนเหล่าใด เข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา คนนี้ได้ฆ่าเรา คนนี้ได้ชนะ เรา คนนี้ได้ลักของๆ เรา เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่สงบ ส่วนชน เหล่าใด ไม่เข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา คนนี้ได้ฆ่าเรา คนนี้ได้ชนะ เรา คนนี้ได้ลักของๆ เรา เวรของชนเหล่านั้น ย่อมสงบ. [๘๐๗] ในกาลไหนๆ เวรในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย แต่ย่อมระงับ ได้ด้วยความไม่มีเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า.
จบ ทีฆีติโกสลชาดกที่ ๑.
๒. มิคโปตกชาดก
คำพูดที่ทำให้หายเศร้าโศก
[๘๐๘] การที่ท่านเศร้าโศกถึงลูกเนื้อผู้ละไปแล้ว เป็นการไม่สมควรแก่ท่านผู้ หลีกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต สงบระงับ. [๘๐๙] ดูกรท้าวสักกะ ความรักของมนุษย์ หรือเนื้อ ย่อมเกิดขึ้นในใจ เพราะ อยู่ร่วมกันมา มนุษย์ หรือเนื้อนั้น อาตมภาพไม่สามารถที่จะไม่เศร้าโศก ถึงได้. [๘๑๐] ชนเหล่าใด มาร้องไห้รำพัน บ่นเพ้อถึงผู้ตายไปแล้ว และผู้จะตายอยู่ ณ บัดนี้ การร้องไห้ของชนเหล่านั้น สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวว่า เปล่า จากประโยชน์ ดูกรฤาษี เพราะฉะนั้น ท่านอย่าร้องไห้เลย. [๘๑๑] ดูกรพราหมณ์ ผู้ที่ตายไปแล้ว ละไปแล้ว หากจะพึงกลับเป็นขึ้นได้ เพราะการร้องไห้ เราก็จะประชุมกันทั้งหมดร้องไห้ ถึงพวกญาติของ กันและกัน. [๘๑๒] มหาบพิตร มารดอาตมภาพผู้เดือดร้อนยิ่งนักให้หายร้อน ดับความกระ วนกระวายได้ทั้งสิ้น เหมือนบุคคลเอาน้ำรดไฟติดที่เปรียงให้ดับ ฉะนั้น มหาบพิตรมาถอนลูกศรคือความโศกที่เสียบแน่นอยู่ในหทัยของอาตมภาพ ออกได้แล้วหนอ เมื่ออาตมภาพถูกความโศกครอบงำ มหาบพิตรก็ได้ บรรเทาความโศกถึงบุตรเสียได้ ดูกรท้าววาสวะ อาตมภาพเป็นผู้ถอนลูก ศรออกได้แล้ว ปราศจากความเศร้าโศก ไม่มีความมัวหมอง อาตมภาพจะไม่เศร้าโศกร้องไห้ เพราะได้ฟังถ้อยคำของมหาบพิตร.
จบ มิคโปตกชาดกที่ ๒.
๓. มูสิกชาดก
ควรเรียนทุกอย่างแต่ไม่ควรใช้ทุกอย่าง
[๘๑๓] คนบ่นพร่ำอยู่ว่า นางทาสีชื่อมูสิกาไปไหนๆ เราคนเดียวเท่านั้นรู้ว่า นางทาสีชื่อมูสิกา ตายอยู่ในบ่อน้ำ. [๘๑๔] เหตุใด ท่านจึงคิดอย่างนี้ ลามองหาโอกาสจะประหารทางนี้ๆ กลับไป แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงรู้ว่า ท่านฆ่านางทาสีชื่อว่ามูสิกาตาย ทิ้งไว้ใน บ่อ วันนี้ ปรารถนาจะกินข้าวเหนียวอีกหรือ. [๘๑๕] แม่เจ้าผู้โง่เขลา เจ้ายังเป็นเด็กอ่อน ตั้งอยู่ในปฐมวัย มีผมดำสนิท มายืนถือท่อนไม้ยาวนี้อยู่ เราจะไม่ยอมยกชีวิตให้แก่เจ้า. [๘๑๖] เราเป็นผู้อันบุตรปรารถนาจะฆ่าเสีย ไม่ได้พ้นจากความตายวันนี้ เพราะ ภพในอากาศ หรือเพราะบุตรที่รักเปรียบด้วยอวัยวะเลย เราพ้นจาก ความตายเพราะคาถาที่อาจารย์ผูกให้. [๘๑๗] บุคคลควรเรียนวิชาที่ควรเรียนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเลว ดี หรือปานกลาง ก็ตาม บุคคลควรรู้ประโยชน์ของวิชาที่เรียนทุกอย่าง แต่ไม่ควรประ กอบทั้งหมด ศิลป ที่ศึกษาแล้วนำประโยชน์ให้ ในเวลาใด แม้เวลา เช่นนั้นย่อมมีแท้.
จบ มูสิกชาดกที่ ๓.
๔. จุลลธนุคคหชาดก
ว่าด้วยจุลลธนุคคหบัณฑิต
[๘๑๘] ข้าแต่พราหมณ์ ท่านถือเอาห่อเครื่องประดับทั้งหมดข้ามฝั่งไปแล้ว ขอ จงรีบกลับมานำเอาฉันข้ามไปบัดนี้. [๘๑๙] แน่ะนางผู้เจริญ ท่านนับถือเราผู้อันท่านไม่เคยเชยชิด เสียกว่าสามีผู้ที่ เคยเชยชิดมานาน นับถือเราผู้ไม่ใช่ผัวเสียยิ่งกว่าผัว นางผู้เจริญจะ พึงนับถือผู้อื่นยิ่งกว่าเราอีก เราจักไปให้ไกลยิ่งกว่าที่นี้อีก. [๘๒๐] ใครที่มาทำการหัวเราะอยู่ในพุ่มตะไคร้น้ำ ในที่นี้ก็ไม่มีการฟ้อนรำ ขับร้อง หรือการดีดสีตีเป่า แน่ะนางงามผู้มีตะโพกอันผึ่งผาย ทำไมเจ้า จึงมาหัวเราะอยู่ในเวลาที่ควรร้องไห้? [๘๒๑] แน่ะสุนัขจิ้งจอกพาลผู้โง่เขลา ชาติชัมพุกะ เจ้าเป็นสัตว์มีปัญญาน้อย เสื่อมจากปลาและชิ้นเนื้อ ซบเซาอยู่ เหมือนคนกำพร้า. [๘๒๒] โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก เจ้านั่นแหละ เสื่อมจากผัว และชายชู้แล้ว ซบเซาแม้กว่าเราเสียอีก. [๘๒๓] แน่ะพระยาเนื้อชาติชัมพุกะ ท่านกล่าวอย่างใด ข้อนี้ก็เป็นอย่างนั้น ฉัน ไปจากที่นี้แล้ว จักเป็นหญิงอยู่ในอำนาจของผัว. [๘๒๔] ผู้ใด นำภาชนะดินไป ถึงผู้นั้นจะพึงนำภาชนะสำริดไป บาปที่เจ้าทำไว้ แล้วนั่นแหละ เจ้าจะทำอย่างนั้นอีก.
จบ จุลลธนุคคหชาดกที่ ๔.
๕. กโปตกชาดก
ว่าด้วยโภคะของมนุษย์
[๘๒๕] บัดนี้ เราเป็นสุข ไม่มีโรค นกพิราบผู้เหมือนหนามในหทัยบินไปแล้ว บัดนี้ เราจักกระทำความยินดีแห่งหทัย เพราะเหตุว่า ชิ้นเนื้อและแกง จะทำให้เราเกิดกำลัง. [๘๒๖] นกกระยางอะไรนี่ มีหงอน ขี้ขโมย เป็นปู่นก โลดเต้นอยู่ แน่ะนก กระยาง ท่านจงออกมาข้างนอกเสีย กาผู้เป็นสหายของเราดุร้าย. [๘๒๗] ท่านได้เห็นเรามีขนปีก อันพ่อครัวถอนแล้วทาด้วยน้ำข้าวเช่นนี้ ไม่ ควรจะมาหัวเราะเยาะเลย. [๘๒๘] ท่านอาบดีแล้ว ลูบไล้ดีแล้ว เอิบอิ่มไปด้วยข้าวและน้ำ และมีแก้ว ไพฑูรย์อยู่ที่คอ ได้ไปกชังคลประเทศมาหรือ? [๘๒๙] เราจะเป็นมิตร หรือมิใช่มิตรของท่านก็ตาม ท่านอย่าได้กล่าวว่า ท่าน ได้ไปยังกชังคลประเทศมาหรือ เพราะว่า ในกชังคลประเทศนั้น ชน ทั้งหลายถอนขนของเราออกแล้ว ผูกชิ้นกระเบื้องไว้ที่คอ. [๘๓๐] แน่ะสหาย ท่านจะประสบสภาพเห็นปานนี้อีก เพราะปกติของท่าน เป็นเช่นนั้น อันโภคะของพวกมนุษย์ไม่ใช่เป็นของที่นกจะกินได้ง่ายเลย.
จบ กโปตกชาดกที่ ๕.
จบ อัฑฒวรรคที่ ๓.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ทีฆีติโกสลชาดก ๒. มิคโปตกชาดก ๓. มูสิกชาดก ๔. จุลลธนุคคหชาดก ๕. กโปตกชาดก.
-----------------------------------------------------
รวมวรรคที่มีในปัญจกนิบาตนี้ คือ
๑. มณิกุณฑลวรรค ๒. วรรณาโรหวรรค ๓. อัฑฒวรรค.
จบ ปัญจกนิบาตชาดก
-----------------------------------------------------
ฉักกนิบาตชาดก
๑. อาวาริยวรรค
๑. อาวาริยชาดก
การกระทำที่ไม่เจริญด้วยโภคะ
[๘๓๑] ดูกรมหาบพิตรผู้เป็นจอมภูมิดล จอมพลรถ ขอมหาบพิตรอย่าทรงพระ พิโรธ ขอมหาบพิตรอย่าทรงพระพิโรธ พระราชาไม่ทรงพระพิโรธต่อ บุคคลที่โกรธ อันชาวแว่นแคว้นบูชาแล้วในบ้านหรือในป่า ในที่ลุ่ม หรือในที่ดอนก็ตาม อาตมภาพย่อมตามสอนอรรถทุกอย่าง อย่าทรง พระพิโรธเลย. [๘๓๒] ณ แม่น้ำแห่งหนึ่ง มีนายเรือจ้างชื่อว่าอาวาริยบิดา ข้ามส่งคนเสีย ก่อน แล้วจึงเรียกค่าจ้างเมื่อภายหลัง เพราะเหตุนั้น นายเรือจ้างนั้น จึงเกิดทะเลาะกัน และไม่เจริญด้วยโภคสมบัติทั้งหลาย. [๘๓๓] ดูกรพ่อนายเรือจ้าง ท่านจงขอเรียกค่าจ้างคนที่ยังไม่ข้ามถึงฝั่งเสียให้ เสร็จทีเดียว เพราะว่า คนที่ข้ามถึงฝั่งแล้วมีใจเป็นอย่างหนึ่ง คนที่ ปรารถนาจะข้ามไปฝั่งโน้น ก็มีใจเป็นอย่างหนึ่ง. [๘๓๔] ดูกรนายเรือจ้าง จะเป็นที่บ้านหรือที่ป่า ที่ลุ่มหรือที่ดอนก็ตาม ฉัน พร่ำสอนทุกอย่าง ท่านอย่าโกรธเลย. [๘๓๕] พระราชาพระราชทานบ้านส่วย เพราะวาจาเครื่องพร่ำสอนใด นาย เรือจ้างได้ตบปากดาบส เพราะวาจาเครื่องพร่ำสอนนั้นนั่นแหละ. [๘๓๖] นายเรือจ้างทุบสำรับ ถีบภรรยา ลูกไหลตกลงยังแผ่นดิน เขาไม่อาจ ทำประโยชน์ให้เจริญขึ้นได้ เหมือนกับเนื้อไม่อาจทำประโยชน์ให้เจริญ ได้ด้วยทองคำ ฉะนั้น.
จบ อาวาริยชาดกที่ ๑.
๒. เสตเกตุชาดก
ว่าด้วยคนที่ได้ชื่อว่าเป็นทิศ
[๘๓๗] พ่อเอ๋ย อย่าโกรธเลย เพราะความโกรธไม่ดี ทิศที่เจ้าไม่ได้ยินได้ฟังมี เป็นอันมาก พ่อเสตเกตุเอ๋ย มารดาบิดาชื่อว่า เป็นทิศ พระอริยเจ้า ทั้งหลายกล่าวสรรเสริญอาจารย์ว่า เป็นทิศ. [๘๓๘] คฤหัสถ์ทั้งหลายผู้ให้ข้าว น้ำ และผ้า ผู้ให้มารับ ท่านก็กล่าวว่า เป็นทิศ เสตเกตุเอ๋ย บุคคลผู้มีความทุกข์ถึงทิศใดแล้วกลับเป็นผู้มีความสุข ทิศ นั้นชื่อว่า เป็นทิศสูงสุด. [๘๓๙] ชฎิลเหล่าใด นุ่งหนังเสือเหลืองทั้งเล็บ มีฟันเขรอะ รูปร่างมอมแมม สาธยายมนต์อยู่ ชฎิลเหล่านั้น ตั้งอยู่ในความเพียรที่มนุษย์ควรทำ เจน จัดโลกนี้ จะพ้นจากอบายได้ละหรือ? [๘๔๐] ข้าแต่พระราชา บุคคลแม้จะมีเวทมนต์ตั้งพัน เป็นพหูสูต กระทำแต่ กรรมอันลามกทั้งหลาย ไม่พึงประพฤติธรรม ผู้นั้น อาศัยความเป็น พหูสูตนั้น ไม่ประพฤติจรณธรรม จะพึงพ้นจากทุกข์ไปไม่ได้. [๘๔๑] บุคคลแม้มีเวทมนต์ตั้งพัน อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น แต่ไม่ประพฤติ จรณธรรม พึงพ้นจากทุกข์ไปไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราย่อมสำคัญว่า เวททั้งหลาย ย่อมไม่มีผล การประพฤติสำรวมด้วยดีนั่นแล เป็นความ จริงแท้. [๘๔๒] เวททั้งหลายจะไม่มีผลเลยนั้นหามิได้ การประพฤติสำรวมด้วยดีนั่นแล เป็นความจริงแท้ บุคคลเรียนเวททั้งหลายแล้ว ย่อมได้รับเกียรติ บุคคล ฝึกฝนตนด้วยจรณธรรม ย่อมถึงสันติ.
จบ เสตเกตุชาดกที่ ๒.
๓. ทรีมุขชาดก
ว่าด้วยโทษของกาม
[๘๔๓] ดูกรมหาบพิตร กามทั้งหลายเหมือนสวะ กามทั้งหลายเหมือนหล่ม อนึ่ง กามนี้ นักปราชญ์กล่าวว่า เป็นภัยใหญ่หลวง มั่นคง ไม่หวั่นไหว อาตมภาพขอถวายพระพรว่า กามเป็นธุลี และเป็นควัน ขอพระองค์ จงทรงละกาม เสด็จออกทรงผนวชเสียเถิด. [๘๔๔] ดูกรพราหมณ์ ข้าพเจ้ายังกำหนัดยินดีลุ่มหลงในกามทั้งหลายอยู่ ยังมี ความต้องการความเป็นอยู่อย่างนี้ จึงไม่สามารถจะละกามอันน่ากลัวนั้น ได้ แต่ข้าพเจ้าจะกระทำบุญเป็นอันมาก. [๘๔๕] ผู้ใด อันบุคคลผู้หวังความเจริญรุ่งเรือง อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์ กล่าว ตักเตือนอยู่ ก็ไม่ทำตามคำสอน ยังสำคัญว่า สิ่งนี้เท่านั้นประเสริฐ ผู้ นั้น เป็นคนเขลา จะต้องเกิดอยู่ร่ำไป. [๘๔๖] ผู้นั้นเมื่อเข้าถึงท้องมารดา ชื่อว่า เข้าถึงนรกอันร้ายกาจ เป็นของไม่งาม ของท่านผู้งดงาม เต็มไปด้วยมูตรและกรีส สัตว์เหล่าใด ยังกำหนัด ยัง ไม่ปราศจากความรักใคร่ในกามทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้น ก็ละกายของตน ไปไม่ได้. [๘๔๗] สัตว์เหล่านี้ ย่อมแปดเปื้อนด้วยมูตร คูถ เลือด และเศลษคลอดออก มา ในเวลานั้น ย่อมจะถูกต้องส่วนใดส่วนหนึ่งด้วยกาย ส่วนนั้น ล้วนไม่น่ายินดี มีแต่ทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น. [๘๔๘] อาตมภาพกล่าวมาประมาณเท่านี้ ไม่ใช่ว่าได้ยินได้ฟังมาจากสมณะหรือ หรือพราหมณ์อื่น กล่าวเพราะได้เห็นมาเอง อาตมภาพระลึกชาติก่อนๆ ได้เป็นอันมาก พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อทรีมุข ยังพระเจ้าพรหมทัตต์ผู้มี พระปรีชาเฉลียวฉลาดให้ทรงเชื่อถือ ด้วยคาถาเป็นสุภาษิตมีเนื้อความ อันวิจิตร.
จบ ทรีมุขชาดกที่ ๓.
๔. เนรุชาดก
อานุภาพของเนรุบรรพต
[๘๔๙] กาป่า กาบ้าน และพวกเราที่ประเสริฐกว่านกทั้งหลาย มาจับที่ภูเขาลูก นี้แล้ว ย่อมเหมือนกันทั้งหมดทีเดียว. [๘๕๐] ราชสีห์ เสือโคร่ง นก และเนื้อทั้งหลายซึ่งอยู่ที่ภูเขานี้ ย่อมมีสีกาย เหมือนกันทั้งหมด ภูเขาลูกนี้ชื่อว่าอะไร? [๘๕๑] มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรู้จักภูเขาอันอุดมนี้ว่า เนรุบรรพต สัตว์ทุกชนิดอยู่ ที่เนรุบรรพตนี้ ย่อมมีสีกายเหมือนทอง. [๘๕๒] การไม่นับถือก็ดี การดูหมิ่นก็ดี การเสมอกันกับคนเลวก็ดี จะพึงมี แก่บัณฑิตทั้งหลายในที่ใด บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่พอใจอยู่ในที่นั้น. [๘๕๓] คนเกียจคร้านกับคนขยัน คนกล้าหาญกับคนขลาด มีผู้บูชาเสมอกันในที่ ใด สัตบุรุษ ย่อมไม่อยู่ในที่นั้น ซึ่งเป็นภูเขาที่ไม่สามารถจะแบ่งคนให้ แปลกกันได้. [๘๕๔] เนรุบรรพตนี้ ย่อมไม่จำแนกคนชั้นเลว คนชั้นกลาง และคนชั้นสูง ทำให้เหมือนกันไปเสียหมด มิฉะนั้น เราจะละเนรุบรรพตนี้ไปเสีย.
จบ เนรุชาดกที่ ๔.
๕. อาสังกชาดก
ว่าด้วยความหวัง
[๘๕๕] เถาวัลย์ชื่อว่าอาสาวดี เกิดในสวนจิตรลดา เถาวัลย์อาสาวดีนั้น นับได้ ๑,๐๐๐ ปี จึงเกิดผลสักครั้งหนึ่ง. [๘๕๖] เมื่อผลมีอยู่ห่างไกลถึงเพียงนั้น พวกเทวดาก็ยังหมั่นเข้าไปดูเถาวัลย์นั้น เสมอ ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์ทรงหวังไว้เถิด ความหวังย่อม มีผลเป็นความสุข. [๘๕๗] นกยังหวังสำเร็จได้เมื่อผลมีอยู่ห่างไกลถึงเพียงนั้น ความหวังของนกนี้ ยังสำเร็จได้ ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์ทรงหวังไว้เถิด ความหวังมี ผลเป็นความสุข. [๘๕๘] เจ้ายังให้เราเอิบอิ่มด้วยถ้อยคำ แต่ไม่ยังเราให้เอิบอิ่มไปด้วยการกระทำ เปรียบเหมือนดอกหงอนไก่ มีแต่สี ไม่มีกลิ่น ฉะนั้น. [๘๕๙] บุคคลใด ไม่ให้ ไม่แบ่งปันโภคสมบัติลงได้ ย่อมพูดวาจาที่อ่อนหวาน แต่ไร้ผลในมิตรทั้งหลาย ความสนิทสนมกับบุคคลนั้น ย่อมไม่ยืดยาว. [๘๖๐] บุคคลทำสิ่งใด พึงพูดถึงสิ่งนั้น ไม่พึงทำสิ่งใด ไม่พึงกล่าวถึงสิ่งนั้น บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมติเตียนคนดีแต่พูดแต่ไม่ทำ [๘๖๑] เมื่อเราจะอยู่ในที่นี้อีกต่อไป พลนิกายของเราก็ร่อยหรอลงไป ทั้งเสบียง อาหารก็จะไม่มี เรารังเกียจถึงชีวิตของตนเองจะไม่ยั่งยืน ผิฉะนั้น เรา ขอลาไปเดี๋ยวนี้. [๘๖๒] ข้าแต่พระมหาราชผู้ประเสริฐ พระดำรัสที่พระองค์ตรัสนี้แล เป็นชื่อ ชื่อของหม่อมฉัน ขอพระองค์เสด็จไปตรัสบอกชื่อของหม่อมฉันกับ บิดาเถิด.
จบ อาสังกชาดกที่ ๕.
๖. มิคาโลปชาดก
ว่าด้วยโทษของคนหัวดื้อ
[๘๖๓] ลูกมิคาโลปะเอ๋ย ฉันไม่ชอบใจการที่เจ้าบินไปไกลเช่นนั้นเลย เจ้าบิน ไกลเกินไป ไปซ่องเสพภูมิสถานอันไม่สมควร. [๘๖๔] ลูกเอ๋ย แผ่นดินพึงปรากฏแก่เจ้าเหมือนคันนา ๔ มุม เจ้าจงกลับจากที่ นั้นเสีย อย่าบินเลยจากที่นั้นไปเป็นอันขาด. [๘๖๕] แม้แร้งตัวอื่นๆ ที่มีปีกบินไปในอากาศมีอยู่มาก แร้งเหล่านั้นมาสำคัญ เสมอด้วยแผ่นดินและภูเขา ถูกกำลังลมพัดคร่าไป พากันพินาศ หมดแล้ว. [๘๖๖] แร้งชื่อมิคาโลปะ ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของแร้งชื่ออปรัณณะผู้บิดา ซึ่ง เป็นผู้เจริญด้วยคุณสมบัติ บินผ่านลมกาลวาตขึ้นไปตกอยู่ในอำนาจของ ลมเวรัมภวาต. [๘๖๗] บุตรและภรรยาของแร้งมิคาโลปะนั้น และแร้งอื่นที่อาศัยแร้งนั้นอยู่ พา กันถึงความพินาศสิ้น เพราะแร้งมิคาโลปะ ไม่กระทำตามโอวาทของบิดา. [๘๖๘] ผู้ใด ในโลกนี้ ไม่เชื่อฟังคำของผู้เจริญ ผู้นั้น ย่อมถึงความพินาศ เพราะ ไม่ทำตามคำสอนของท่านผู้รู้ ดุจแร้งละเมิดคำสั่งสอน บินเลยเขตแดน ถึงความพินาศหมด ฉะนั้น.
จบ มิคาโลปชาดกที่ ๖.
๗. สิริกาฬกัณณิชาดก
ว่าด้วยสิริกับกาฬกรรณี
[๘๖๙] ท่านเป็นใครหนอ มีผิวพรรณดำ ไม่น่ารักน่าดูเลย ท่านเป็นใคร หรือ เป็นธิดาของใคร จะรู้จักท่านได้อย่างไร? [๘๗๐] ฉันเป็นธิดาของท้าวมหาราชนามว่าวิรูปักษ์ เป็นหญิงดุร้าย เป็นหญิงกาฬี ไม่มีบุญ ทวยเทพรู้จักเราว่า เป็นหญิงกาฬกรรณี ฉันขอพักอาศัยอยู่ ในสำนักของท่านสักราตรีหนึ่ง ขอท่านจงให้โอกาสเถิด. [๘๗๑] ท่านตั้งใจมั่นอยู่ในบุรุษผู้มีศีล มีสมาจารเช่นไร แน่ะนางกาฬี เราถาม ท่าน ท่านจงบอกเรา เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร? [๘๗๒] บุรุษใด ลบหลู่คุณท่าน ตีเสมอท่าน แข่งดี ริษยา ตระหนี่ โอ้อวด และได้ทรัพย์มาแล้ว ย่อมพินาศหมดไป บุรุษนั้น เป็นที่รักใคร่ของเรา. [๘๗๓] บุรุษใด เป็นคนมักโกรธ ผูกโกรธไว้ ส่อเสียด ยุยงให้แตกกัน มีวาจา กระด้าง หยาบคาย บุรุษนั้น เป็นที่รักใคร่ของฉันยิ่งกว่าบุรุษคนก่อน นั้นอีก. [๘๗๔] บุรุษไม่รู้จักประโยชน์ของตนว่า กรรมนี้ควรทำวันนี้ กรรมนี้ควรทำ พรุ่งนี้ เป็นคนสำคัญตนว่า ดีกว่าเขา เมื่อถูกตักเตือนก็โกรธเคือง. [๘๗๕] บุรุษผู้อันความคะนองในกามคุณครอบงำเป็นนิตย์ ย่อมเสื่อมจากมิตร ทุกคน บุรุษนั้น เป็นที่รักใคร่ของฉัน ถ้าฉันได้บุรุษเช่นนั้นแล้ว จะไม่ เกี่ยวข้องในบุรุษอื่นเลย. [๘๗๖] แน่ะนางกาฬี เจ้าจงหลีกไปเสียจากที่นี้ อุปกิเลสมีความลบหลู่เป็นต้น ที่กระทำความรักใคร่ของเจ้านั้น ไม่มีในเรา เจ้าจงไปยังชนบท นิคม และราชธานีอื่นเสียเถิด. [๘๗๗] แม้ฉันก็รู้จักสิ่งที่ทำความพอใจให้แก่ฉัน มีความลบหลู่คุณท่านเป็นตน นี้ว่า ไม่มีอยู่ในท่าน คนไร้ปัญญามีอยู่ในโลก ย่อมรวบรวมเอาทรัพย์ ไว้มากมาย ฉัน และพี่ของฉัน ผู้เป็นเทพบุตร ทั้งสองคนจะช่วยกัน กำจัดทรัพย์ที่คนไม่มีปัญญารวบรวมไว้เสียก็ได้. [๘๗๘] ท่านเป็นใครหนอ มีรัศมีเป็นทิพย์ ยืนอยู่ที่แผ่นดินอย่างเรียบร้อย ท่าน เป็นใคร หรือเป็นธิดาของใคร เราจะรู้จักท่านอย่างไร. [๘๗๙] ดิฉันเป็นธิดาของท้าวมหาราชนามว่าธตรฐ ผู้มีสิริ ข้าพเจ้ามีสิริด้วย มี บุญด้วย ทวยเทพรู้จักข้าพเจ้าว่า มีปัญญาดุจแผ่นดิน ดิฉันขอพัก อาศัยอยู่ในสำนักของท่านสักราตรีหนึ่ง ขอท่านจงให้โอกาสเถิด. [๘๘๐] ท่านตั้งใจมั่นอยู่ในบุรุษผู้มีศีล มีสมาจารเช่นไร แน่ะนางลักขี ข้าพเจ้า ถามท่าน ท่านจงบอกข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะรู้จักท่านได้อย่างไร? [๘๘๑] บุรุษใด เมื่อหนาว ร้อน ลม แดด เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน มีอยู่ ก็ครอบงำความหิวความกระหายทั้งหมด ประกอบการงานทั้งหลาย มิได้ขาด ทั้งกลางคืนกลางวัน ไม่ทำประโยชน์ที่มาถึงตามกาลให้เสื่อม เสียไป บุรุษนั้น เป็นที่พอใจของดิฉัน ดิฉันตั้งใจมั่นอยู่ในบุรุษนั้น. [๘๘๒] อนึ่ง บุรุษใด เป็นคนไม่โกรธ มีมิตรดี ชอบบริจาคทาน มีศีล ไม่ โอ้อวด เป็นคนตรง สงเคราะห์มิตร มีวาจาอ่อนหวานไพเราะ แม้ได้ รับแต่งตั้งเป็นใหญ่โต ก็ยังประพฤติถ่อมตนอยู่ ดิฉันพอใจในบุรุษนั้น เป็นอย่างมาก ดุจคลื่นทะเลปรากฏแก่คนที่มองดูสีน้ำทะเลเหมือนมีมาก ฉะนั้น. [๘๘๓] อนึ่ง บุรุษใด ประพฤติสังคหธรรม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ในมิตร หรือผู้ที่มิใช่มิตร ในคนที่ประเสริฐกว่า คนที่เสมอกัน หรือคนที่เลว กว่า คนที่ประพฤติประโยชน์ หรือคนที่ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่กล่าววาจาหยาบคายในกาลไหนๆ ดิฉันจะขอคบบุรุษนั้น ทั้งเมื่อ เขาตายแล้วและเป็นอยู่. [๘๘๔] บุรุษใด เป็นคนไม่มีปัญญา ปรารถนาสิริที่คนพอใจ ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาคุณตามที่กล่าวมาแล้วนี้ แล้วลืมเสีย ดิฉันขอเว้นบุรุษนั้น ผู้ประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ เป็นเหตุเดือดร้อน เหมือนบุคคลเว้นหลุ่มคูถ ห่างไกล ฉะนั้น. [๘๘๕] บุคคลย่อมทำความดี และความชั่วด้วยตนเอง คนอื่นจะทำความดี หรือ ความชั่วให้แก่คนอื่นไม่ได้เลย.
จบ สิริกาฬกัณณิชาดกที่ ๗.
๘. กุกกุฏชาดก
ผลของการไม่เชื่อง่าย
[๘๘๖] ข้าแต่ท่านผู้มีขนปีกอันวิจิตรตระการตา มีหงอนงามสง่า อาจจะไปใน อากาศได้โดยฉับพลัน เชิญท่านลงมากจากกิ่งไม้เสียเถิด ฉันจะยอม เป็นภรรยาของท่านโดยไม่รับมูลค่าอันใดเลย. [๘๘๗] ดูกรนางแมวรูปงามน่ารื่นรมย์ใจ เจ้ามีสี่เท้า เรามีสองเท้า เจ้าเป็นแมว เราเป็นไก่ ไม่สมควรกันเลย เชิญเจ้าไปแสวงหาสามีอื่นเถิด. [๘๘๘] ฉันจะเป็นนางกุมาริกาของท่าน มีวาจาอ่อนหวาน พูดน่ารัก ของท่าน จงรับฉันผู้มีความงาม ประพฤติธรรมอันประเสริฐ ไว้ด้วยการได้อันดี งามเถิด. [๘๘๙] แน่ะนางขโมย เลอะเทอะไปด้วยเลือดเหมือนซากศพ ชอบกัดกินไข่ เจ้าไม่ได้ปรารถนาเราเป็นสามีโดยการได้อย่างดีดอก. [๘๙๐] หญิงทั้งหลายประกอบด้วยวาจามีองค์ ๔ เห็นชายดีเข้าแล้ว ย่อมชักนำ ไปด้วยวาจาอ่อนหวาน เหมือนนางแมวชักชวนพระยาไก่ ฉะนั้น. [๘๙๑] ก็ผู้ใด ไม่รู้ประโยชน์อันเกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้นั้น ย่อมตกไปสู่อำนาจ ศัตรู และจะต้องเดือดร้อนในภายหลัง. [๘๙๒] ส่วนผู้ใด รู้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้นั้น ย่อมพ้นจากความ เบียดเบียนของศัตรู เหมือนพระยาไก่หลุดพ้นจากนางแมว ฉะนั้น.
จบ กุกกุฏชาดกที่ ๘.
๙. ธัมมัทธชชาดก
พูดอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง
[๘๙๓] ดูกรญาติทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงประพฤติธรรม ท่านทั้งหลายจง ประพฤติธรรมอยู่เสมอๆ เถิด ความเจริญจะมีแก่ท่านทั้งหลาย ผู้ ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า. [๘๙๔] กาตัวนี้เจริญดีจริงหนอ ประพฤติธรรมอย่างสูง ยืนอยู่ด้วยเท้าข้างเดียว ย่อมพร่ำสอนแต่ธรรมเท่านั้นแก่พวกเรา. [๘๙๕] ท่านทั้งหลายไม่รู้จักปกติของมัน จึงพากันสรรเสริญเพราะความไม่รู้ เท่าทัน มันกินไข่และลูกนกแล้วก็ร้องว่า ธัมโม ธัมโม. [๘๙๖] กาตัวนี้พูดด้วยวาจาเป็นอย่างหนึ่ง กระทำด้วยกายเป็นอย่างหนึ่ง ประพฤติ ธรรมเพียงวาจา แต่ไม่กระทำด้วยกาย เพราะฉะนั้น มันไม่ได้ตั้งอยู่ใน ธรรมเลย. [๘๙๗] กานี้เป็นสัตว์มีถ้อยคำอ่อนหวาน มีใจรู้ได้ยาก เปรียบเหมือนงูเห่าปกปิด ร่างกายด้วยปล่อง หรือเปรียบเหมือนคนผู้เอาธรรมบังหน้า คนโง่ไม่รู้ จริงพากันยกย่องว่า เป็นคนดีในหมู่บ้านและในนิคม ฉะนั้น. [๘๙๘] ท่านทั้งหลายจงช่วยกันประหารกาลามกตัวนี้ ด้วยจะงอยปาก ด้วยปีก และด้วยเท้าให้มันพินาศไป กาตัวนี้ไม่ควรจะอยู่ร่วมกับพวกเรา.
จบ ธัมมัทธชชาดกที่ ๙.
๑๐. นันทิยมิคราชชาดก
ว่าด้วยพระยาเนื้อนันทิยะ
[๘๙๙] ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าท่านจะไปยังเมืองสาเกตุ โปรดช่วยส่งข่าวบุตรของ ข้าพเจ้าชื่อนันทิยะ ผู้อยู่ในพระราชอุทยานชื่ออัญญชนวันว่า มารดา บิดาของท่านแก่แล้ว ปรารถนาจะได้เห็นท่าน. [๙๐๐] ดูกรพราหมณ์ เหยื่อ คือ น้ำและหญ้าของพระราชา ข้าพเจ้าบริโภค แล้ว เมื่อข้าพเจ้ายังไม่ทำกิจของพระราชาให้เป็นผลสำเร็จ ก็ไม่สามารถ บริโภคราชทรัพย์ให้เป็นการบริโภคชั่วได้. [๙๐๑] ข้าพเจ้าจะยืนหันข้างให้พระราชาผู้ทรงพระแสงธนู เมื่อใด เมื่อนั้น ข้าพเจ้าก็จะพ้นจากมรณภัย มีความสุข ได้พบเห็นมารดา. [๙๐๒] เมื่อก่อน เราเป็นพระยาเนื้อชื่อว่านันทิยะ มีรูปงาม อาศัยพระราช- อุทยานของพระเจ้าโกศล. [๙๐๓] พระเจ้าโกศลเสด็จมาที่พระราชอุทยานชื่ออัญชนวันนั้น ทรงโก่งธนูสอด ลูกศร หมายจะทรงยิงเรา. [๙๐๔] เรายืนหันข้างให้พระเจ้าโกศลผู้ทรงพระแสงธนู เมื่อใด เมื่อนั้น เรา พ้นจากมรณภัย มีความสุข กลับมาหามารดา.
จบ นันทิยมิคราชชาดกที่ ๑๐.
จบ อาวาริยวรรคที่ ๑.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อาวาริยชาดก ๒. เสตเกตุชาดก ๓. ทรีมุขชาดก ๔. เนรุชาดก ๕. อาสังกชาดก ๖. มิคาโลปชาดก ๗. สิริกาฬกัณณิชาดก ๘. กุกกุฏชาดก ๙. ธัมมัทธชชาดก ๑๐. นันทิยมิคราชชาดก.
-----------------------------------------------------
๒. ขุรปุตตวรรค
๑. ขุรปุตตชาดก
ว่าด้วยทำตนให้ไร้ประโยชน์
[๙๐๕] เป็นความจริงทีเดียว ที่บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า แพะเป็นสัตว์โง่เขลา ดูเถิด แพะโง่เขลา มิได้รู้จักกรรมที่ควรทำในที่ลับและที่แจ้ง. [๙๐๖] แน่ะม้าผู้เป็นสหาย ท่านจงรู้เถิดว่า ท่านเป็นสัตว์โง่เขลา เพราะท่าน นั่นแหละถูกเขาผูกด้วยเชือก มีปากคดถูกปิดหน้า. [๙๐๗] แน่ะสหาย ความโง่ของเจ้ายังมีอยู่อีก เจ้าเขาแก้ออกแล้วไม่หนีไปเสีย นั่นและชื่อว่า เจ้ายังมีโง่อยู่อีก แน่ะสหาย พระเจ้าเสนกะที่เจ้าพา ไปนั้นยังโง่ไปกว่าเจ้าเสียอีก. [๙๐๘] ดูกรพระยาแพะผู้สหาย ได้ยินว่า ท่านรู้ว่า เราเป็นสัตว์โง่เขลา แต่ พระเจ้าเสนกะ โง่เขลากว่า เพราะเหตุไรเล่า ขอเจ้าจงบอกเหตุที่เราถาม นั้นเถิด? [๙๐๙] พระเจ้าเสนกะได้มนต์วิเศษชื่อว่า สัพพรุทชานนมนต์ แล้วประทาน มนต์นั้นแก่พระอัครมเหสี ทรงยอมสละพระองค์ ด้วยเหตุนั้น พระ- อัครมเหสีนั้น จักไม่เป็นพระเทวีของพระเจ้าเสนกะ เพราะฉะนั้น พระเจ้าเสนกะจึงทรงโง่เขลากว่าท่าน. [๙๑๐] ข้าแต่จอมประชาชน บุคคลผู้เช่นกับพระองค์ ทำตนให้ไร้ประโยชน์ ด้วยคิดว่า สิ่งนี้เป็นที่รักของเรา ชื่อว่า ไม่ซ่องเสพสิ่งที่เป็นที่รัก ทั้งหลาย ตนเท่านั้น ประเสริฐกว่าสิ่งที่ประเสริฐอย่างอื่น ภรรยาผู้เป็นที่ รักอันบุรุษผู้มีตนอันเจริญแล้วอาจจะได้ในภายหลัง.
จบ ขุรปุตตชาดกที่ ๑.
๒. สูจิชาดก
ว่าด้วยเข็ม
[๙๑๑] ใครต้องการจะซื้อเข็มอันไม่ขรุขระ ไม่หยาบ ชุบแก่กล้า มีรูอันเรียบร้อย ละเอียด มีปลายคมบ้าง? [๙๑๒] ใครต้องการจะซื้อเข็มอันเกลี้ยงเกลา เจาะรูเรียบร้อย สนได้คล่อง แข็งแกร่ง อาจแทงทั่งให้ทะลุได้บ้าง? [๙๑๓] เวลานี้ เข็มและเบ็ดทั้งหลาย ย่อมแพร่หลายออกไปจากบ้านช่างทองนี้ ทั้งนั้น ใครเล่าจะปรารถนามาขายเข็มในบ้านช่างทอง? [๙๑๔] ศาตราทั้งหลายก็แพร่หลายออกมาจากบ้านช่างทองนี้ แม้การงานเป็น อันมาก ย่อมดำเนินไปด้วยเครื่องอุปกรณ์ที่ได้มาจากบ้านช่างทองนี้ทั้งนั้น ใครเล่าจะปรารถนามาขายเข็มในบ้านช่างทอง? [๙๑๕] คนฉลาดควรจะขายเข็มในบ้านช่างทอง อาจารย์ทั้งหลาย ย่อมรู้กรรมที่ บุคคลทำดี และทำชั่วได้ดี. [๙๑๖] ดูกรนางผู้เจริญ ถ้าบิดาของท่าน จะพึงรู้เข็มที่ข้าพเจ้าทำนี้ จะต้องยกท่าน ให้ข้าพเจ้า พร้อมด้วยทรัพย์อย่างอื่นที่มีอยู่ในเรือน.
จบ สูจิชาดกที่ ๒.
๓. ตุณฑิลชาดก
ธรรมเหมือนน้ำ บาปธรรมเหมือนเหงื่อไคล
[๙๑๗] วันนี้ มารดาให้ข้าวที่เทลงใหม่ๆ รางข้าวก็เต็ม มารดาก็ยืนอยู่ใกล้ๆ รางข้าวนั้น ใช่แต่เท่านั้น ยังมีคนเป็นอันมากยืนถือบ่วงอยู่ ฉันไม่พอใจ จะบริโภคข้าวนั้นเลย. [๙๑๘] เจ้าสะดุ้งกลัวภัย หมุนไปมา ปรารถนาที่ซ่อนเร้น เป็นผู้ไร้ที่พึ่ง จะไป ไหนเล่า ดูกรน้องตุณฑิละ เจ้าจงมีความขวนขวายน้อยบริโภคอาหาร เสียเถิด เราทั้งสองมารดาเลี้ยงไว้ ก็เพื่อจะต้องการเนื้อ. [๙๑๙] เจ้าจงหยั่งลงยังห้วงน้ำที่ไม่มีเปือกตม แล้วชำระเหงื่อและมลทินทั้งปวง เสีย จงถือเอาเครื่องลูบไล้ใหม่ๆ ที่มีกลิ่นหอม ไม่รู้จักหายในกาล ไหนๆ เถิด. [๙๒๐] อะไรหนอ ที่ท่านกล่าวว่า ห้วงน้ำไม่มีเปือกตม อะไรเล่า ท่านกล่าวว่า เหงื่อไคลและมลทิน และอะไรเล่า ท่านกล่าวว่า เครื่องลูบไล้ใหม่ๆ ที่มีกลิ่นหอม ไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ? [๙๒๑] ธรรมบัณฑิตกล่าวว่า เป็นห้วงน้ำไม่มีเปือกตม บาปธรรมบัณฑิตกล่าวว่า เหงื่อไคลและมลทิน และศีลบัณฑิตกล่าวว่า เป็นเครื่องลูบไล้ใหม่ที่มี กลิ่นหอม ไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ. [๙๒๒] มนุษย์ทั้งหลาย ผู้โง่เขลา ฆ่าตัวเอง ย่อมพอใจทำบาป ส่วนสัตว์ผู้รักษาตัวเอง ย่อมไม่พอใจทำบาป สัตว์ทั้งหลาย รื่นเริงในเดือนมีพระจันทร์เต็มดวง ย่อมสละชีวิตได้.
จบ ตุณฑิลชาดกที่ ๓.
๔. สุวรรณกักกฏกชาดก
ว่าด้วยปูตัวฉลาด
[๙๒๓] ปูมีก้ามเหมือนเขาแห่งมฤค ตายาว มีกระดูกเป็นหนัง อาศัยอยู่ในน้ำ ไม่มีขน เราถูกมันหนีบร้องไห้อยู่เหมือนคนกำพร้า ดูกรสหายผู้เจริญ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงละทิ้งเราไปเสีย? [๙๒๔] งูเห่า เมื่อจะปลอบกาให้เบาใจ จึงแผ่แม่เบี้ยใหญ่เลื้อยไปใกล้ปู จะช่วยเหลือสหายของตนไว้ ปูจึงเอาก้ามอีกข้างหนีบคอไว้. [๙๒๕] ก็ปูเป็นสัตว์ต้องการอาหารแต่ไม่กินกา ไม่กินงู ดูกรท่านผู้มีตายาว เราขอถามท่าน เพราะเหตุไร ท่านจึงหนีบเราทั้งสองไว้? [๙๒๖] บุรุษใดปรารถนาประโยชน์แก่เรา จับเราไปปล่อยในน้ำ บุรุษนั้น เมื่อเขาตาย ความทุกข์จักมีแก่เราไม่น้อย เรากับบุรุษนั้นเป็นคนๆ เดียวกัน [๙๒๗] อนึ่ง คนทั้งปวงได้เห็นเราผู้มีกายอันเติบโตขึ้น ก็ปรารถนาจะเบียดเบียน เราผู้มีเนื้อดีและอ่อนนุ่ม แม้กาทั้งหลายเห็นเราแล้วก็พึงเบียดเบียนเรา. [๙๒๘] ถ้าท่านหนีบเราทั้งสองไว้ เพราะเหตุบุรุษนั้น ก็ขอให้บุรุษจงลุกขึ้นเถิด เราจะดูดพิษออกเสียให้หมด ขอท่านจงรีบปล่อยเรา และกาโดยเร็วเถิด ก่อนที่พิษจะแล่นเข้าไปสู่บุรุษรุนแรง ทำให้ตายเสีย. [๙๒๙] เราจะปล่อยงูไป แต่กาเรายังไม่ปล่อยก่อน เพราะว่า เราจะเอากาไว้เป็น ประกันก่อน เราเห็นบุรุษมีความสุข ปราศจากโรคแล้ว จึงจะปล่อย กาไป เหมือนกับงู. [๙๓๐] พระเทวทัตต์ในครั้งนั้น ได้เกิดเป็นกา ส่วนช้างเกิดเป็นงูเห่า พระอานนท์ ผู้เจริญเกิดเป็นปู เราผู้เป็นศาสดาในครั้งนั้น เกิดเป็นพราหมณ์.
จบ สุวรรณกักกฏกชาดกที่ ๔.
๕. มัยหสกุณชาดก
ว่าด้วยการใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์
[๙๓๑] นกชื่อว่ามัยหกะ เที่ยวไปตามไหล่เขาและซอกเขา บินไปสู่ต้นเลียบ อันมีผลสุก แล้วร้องว่า ของเราๆ. [๙๓๒] เมื่อนกมัยหกะนั้น รำพันเพ้ออยู่อย่างนั้น ฝูงนกทั้งหลายก็พากันบินมา จิกกินผลเลียบแล้วพากันบินไปต้นอื่น ส่วนนกมัยหกะนั้น ก็ร้องเพ้ออยู่ นั่นเอง. [๙๓๓] บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน รวบรวมทรัพย์ไว้มากมายแล้ว ตนเองก็ไม่ได้ใช้สอย ทั้งไม่แบ่งปันให้ญาติทั้งหลายตามส่วน. [๙๓๔] บุคคลนั้น ไม่ใช้เป็นค่าเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ดอกไม้ และเครื่องลูบไล้ อะไรๆ สักครั้งเดียวเลย ไม่สงเคราะห์ญาติทั้งหลาย. [๙๓๕] เมื่อบุคคลนั้นเฝ้ารำพันอยู่อย่างนี้ว่า ของเราๆ พระราชา โจร หรือ ทายาทที่ไม่ชอบพอกันย่อมมาถือเอาทรัพย์ไป บุคคลนั้น ก็รำพันเพ้ออยู่ นั่นเอง. [๙๓๖] นักปราชญ์อาศัยทรัพย์สมบัติแล้ว ย่อมสงเคราะห์ญาติ ย่อมได้เกียรติคุณ เพราะทรัพย์นั้น ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงอยู่ในสวรรค์.
จบ มัยหสกุณชาดกที่ ๕.
๖. ปัพพชิตวิเหฐกชาดก
ว่าด้วยกราบไหว้ผู้ควรกราบไหว้
[๙๓๗] ท่านมีรูปงาม ประนมมือนอบน้อมสมณะผู้มีรูปร่างไม่น่าดูที่อยู่ข้างหน้า สมณะนั้นประเสริฐกว่าท่าน หรือว่าเสมอกับท่าน ท่านจงบอกชื่อสมณะนั้น และชื่อของตนแก่เรา. [๙๓๘] ข้าแต่พระราชา เทวดาทั้งหลาย ย่อมไม่ถือเอานามและโคตรของ พระขีณาสพผู้พร้อมเพรียงกัน ผู้ปฏิบัติตรงๆ ก็แต่ว่า หม่อมฉันจะบอก ชื่อของหม่อมฉันแก่พระองค์ หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพชาว ไตรทศทั้งหลาย. [๙๓๙] ข้าแต่เทวราช หม่อมฉันขอถามเนื้อความนี้กะพระองค์ ผู้ใด เห็นภิกษุ ผู้ประกอบด้วยจรณะแล้วให้ท่านอยู่ข้างหน้า ประนมมือนอบน้อม ผู้นั้นจุติจากมนุษยโลกนี้ไปแล้ว จะได้ความสุขอะไร? [๙๔๐] ผู้ใด เห็นภิกษุผู้ประกอบด้วยจรณะแล้วให้ท่านอยู่ข้างหน้า ประนมมือ นอบน้อม ผู้นั้น ย่อมได้ความสรรเสริญในปัจจุบัน และเมื่อตายไปแล้ว ย่อมไปสวรรค์. [๙๔๑] ปัญญารู้ผลแห่งกุศล และอกุศลเกิดขึ้นแก่หม่อมฉันในวันนี้ หม่อมฉัน ได้เห็นท้าววาสวะผู้เป็นใหญ่กว่าหมู่สัตว์ ข้าแต่ท้าวสักกะ หม่อมฉันได้ เห็นภิกษุและพระองค์แล้ว จักกระทำบุญไม่น้อย. [๙๔๒] บุคคลเหล่าใด มีปัญญา เป็นพหูสูต สามารถคิดเหตุการณ์ได้มาก บุคคลเหล่านั้น ควรคบหาโดยแท้เทียว ข้าแต่พระราชา พระองค์ได้ทรง เห็นภิกษุและหม่อมฉันแล้ว จงทรงกระทำบุญให้มากเถิด. [๙๔๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ หม่อมฉันจักเป็นผู้ไม่โกรธ มีจิตเลื่อมใส เป็นนิตย์ จักเป็นผู้ควรแก่การขอของแขกผู้มาทุกประเภท จักกำจัด มานะเสีย แล้วกราบไหว้ท่านผู้ควรกราบไหว้ เพราะได้ฟังคำที่พระองค์ ตรัสดีแล้ว.
จบ ปัพพชิตวิเหฐกชาดกที่ ๖.
๗. อุปสิงฆปุปผกชาดก
ว่าด้วยคนดีไม่ควรทำชั่วแม้นิดหน่อย
[๙๔๔] การที่ท่านเข้าไปสูดดมกลิ่นดอกบัวที่เขายังมิได้ให้ นี้เป็นส่วนแห่งการ ขโมยอย่างหนึ่ง ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ท่านชื่อว่า เป็นผู้ขโมยกลิ่น. [๙๔๕] เราไม่ได้นำเอาไป ไม่ได้บริโภค เรายืนดมดอกบัวอยู่ในที่ไกล เมื่อเป็น เช่นนั้น เหตุไฉน ท่านจึงกล่าวว่า เราเป็นผู้ขโมยกลิ่นดอกบัวเล่า? [๙๔๖] บุรุษใด มาขุดเหง้าบัวทั้งหลาย เด็ดเอาดอกบัวไป เพราะเหตุไร ท่านจึง ไม่ว่ากล่าวบุรุษนั้น ผู้ทำกรรมหยาบช้าอย่างนี้เล่า? [๙๔๗] บุรุษผู้หยาบช้า โหดร้าย แปดเปื้อนไปด้วยบาป เหมือนผ้านุ่งของ แม่นม ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ว่ากล่าวบุรุษนั้น แต่ข้าพเจ้า ปรารถนาจะว่ากล่าวท่าน ผู้ทำกรรมไม่สมควร. [๙๔๘] บาปเพียงเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏแก่บุรุษผู้ไม่มีโทษเหมือนท่าน แสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์ เหมือนเท่ามหาเมฆ ฉะนั้น. [๙๔๙] ดูกรเทวดา ท่านรู้จักเรา และอนุเคราะห์เราโดยแท้ ท่านเห็นโทษเช่นนี้ ของเรา เมื่อใด ขอท่านจงตักเตือนเราแม้อีก เมื่อนั้น. [๙๕๐] ข้าพเจ้าไม่ได้อาศัยท่านเลี้ยงชีพ และไม่เป็นลูกจ้างของท่าน ดูกรภิกษุ ท่านนั้นแล พึงรู้การกระทำอันเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ
จบ อุปสิงฆปุปผกชาดกที่ ๗.
๘. วิฆาสาทชาดก
ว่าด้วยการกินของที่เป็นเดน
[๙๕๑] ชนเหล่าใด บริโภคอาหารที่เป็นเดน ชนเหล่านั้น ย่อมเป็นอยู่ สบายดีหนอ เป็นผู้ได้รับความสรรเสริญในปัจจุบัน และมีสุคติใน โลกหน้า. [๙๕๒] เมื่อนกแขกเต้าพูดอยู่ ท่านทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิต ไม่ได้ฟังท่านทั้งหลาย ผู้ร่วมอุทรกันมา จงฟังคำของนกนั้น นกแขกเต้าตัวนี้กำลังสรรเสริญ พวกเราอยู่เป็นแน่. [๙๕๓] ข้าพเจ้าไม่ได้สรรเสริญท่านทั้งหลาย ดูกรท่านทั้งหลาย ผู้กินซากศพ ท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ท่านทั้งหลายกินของเดนทิ้ง ไม่ใช่ผู้กิน เดนเหลือ. [๙๕๔] เราออกบวช กระหมวดมวยผม เลี้ยงชีพด้วยของเป็นเดนเหลืออยู่ กลางป่า ตลอด ๗ ปี ผิว่า ท่านผู้เจริญ พึงติเตียนเราทั้งหลาย ก็ใคร เล่าที่ท่านผู้เจริญจะพึงสรรเสริญ? [๙๕๕] ท่านทั้งหลายเลี้ยงชีพด้วยของเป็นเดนทิ้ง ของราชสีห์ เสือและเนื้อ ทั้งหลาย ยังสำคัญว่า เป็นผู้กินเดนเหลือ. [๙๕๖] ชนเหล่าใด บริโภคอาหารซึ่งเหลือจากที่เขาให้แก่สมณะ พราหมณ์ และ วณิพกอื่น ชนเหล่านั้นชื่อว่า เป็นคนกินเดนเหลือ.
จบ วิฆาสาทชาดกที่ ๘.
๙. วัฏฏกชาดก
ว่าด้วยการทำให้เกิดความสุข
[๙๕๗] พ่อลุงกา ท่านบริโภคอาหารของมนุษย์อย่างประณีต คือ เนยใส และ น้ำมัน เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงซูบผอม. [๙๕๘] เมื่อกาอยู่ในท่ามกลางศัตรู แสวงหาเหยื่ออยู่ในที่นั้นๆ มีใจหวาด สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ที่ไหนจะอ้วนเล่า. [๙๕๙] พวกกามีใจหวาดสะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ได้อาหารมาด้วยกรรมเป็นบาปจึง ไม่อิ่ม ดูกรนกกระจาบ เราซูบผอม เพราะเหตุนั้น. [๙๖๐] ดูกรนกกระจาบ ท่านกินพืชหญ้าหยาบๆ มีโอชาน้อย เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงอ้วนพีหนอ. [๙๖๑] ดูกรกา เราเลี้ยงชีพด้วยความปรารถนาน้อยในอาหาร ๑ ด้วยความคิด แต่น้อย ๑ ด้วยไม่แสวงหาในที่ไกล ๑ ด้วยอาหารตามมีตามได้ ๑ เราเป็นผู้อ้วนพี เพราะเหตุ ๔ อย่างนั้น. [๙๖๒] เป็นความจริง ความเป็นไปของบุรุษผู้มีความปรารถนาน้อย คิดถึง ความสุขแต่น้อย และถือเอาประมาณในอาหารพอดี สามารถจะให้เกิด ความสุขได้.
จบ วัฏฏกชาดกที่ ๙.
๑๐. มณิชาดก
ว่าด้วยแก้วมณี
[๙๖๓] นานมาแล้วหนอ เราเพิ่งเห็นสหายประดับแก้วมณี เพื่อนของเราแต่ง หนวดเสียเรียบร้อยงดงามจริงหนอ. [๙๖๔] เรามัวยุ่งอยู่ในราชการ หาโอกาสไม่ได้ จึงมีเล็บและขนปีกยาวรุงรัง เป็นเวลานานแล้ว เราเพิ่งได้ช่างกัลบกในวันนี้ จึงให้ถอนขนออก จนหมด. [๙๖๕] ท่านได้ช่างกัลบกที่หาได้ยาก แล้วให้ถอนขนออกเช่นนี้ ท่านชอบใจ เราจะให้เขาทำให้บ้าง ดูกรสหาย เออก็อะไรเล่า แขวนอยู่ที่คอของท่าน. [๙๖๖] แก้วมณีของมนุษย์ผู้สุขุมาลชาติห้อยอยู่ที่คอเรา เราสำเหนียกตามอย่าง ของมนุษย์ผู้สุขุมาลชาติเหล่านั้น ท่านอย่าสำคัญว่า เราทำเล่น. [๙๖๗] ดูกรสหาย ถ้าแม้ท่านปรารถนาจะให้แต่งหนวดให้เรียบร้อยเหมือน อย่างเรา เราก็จะให้เขาทำให้แก่ท่าน แก้วมณีเราก็จะให้แก่ท่านด้วย. [๙๖๘] ท่านผู้เดียวเท่านั้น สมควรแก่แก้วมณีและหนวดที่เขาแต่งดีแล้วด้วย การที่ได้พบเห็นท่านเป็นที่พอใจของเรา เพราะฉะนั้น เราขอลาท่าน ไปก่อน.
จบ มณิชาดกที่ ๑๐.
จบ ขุรปุตตวรรคที่ ๒.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ขุรปุตตชาดก ๒. สูจิชาดก ๓. ตุณฑิลชาดก ๔. สุวรรณกักกฏชาดก ๕. มัยหกสกุณชาดก ๖. ปัพพชิตวิเหฐกชาดก ๗. อุปสิงฆปุปผกชาดก ๘. วิฆาสาทชาดก ๙. วัฏฏกชาดก ๑๐. มณิชาดก.
รวมวรรคในฉักกนิบาตนี้มี ๒ วรรค คือ
๑. อาวาริยวรรค ๒. ขุรปุตตวรรค.
จบ ฉักกนิบาตชาดก.
-----------------------------------------------------
สัตตกนิบาตชาดก
๑. กุกกุวรรค
๑. กุกกุชาดก
ว่าด้วยปฏิปทาของพระราชาผู้เป็นบัณฑิต
[๙๖๙] ช่อฟ้าโดยส่วนสูงประมาณสองศอกคืบ โดยรอบกว้างประมาณแปดคืบ เป็นไม้สีเสียดมีแต่แก่น ไม่มีกระพี้ ตั้งอยู่ได้อย่างไร จึงไม่ตกลงจาก ข้างบน? [๙๗๐] กลอนสามสิบอันสำเร็จด้วยไม้แก่น ไม่มีกระพี้ เรียงรายตั้งอยู่ได้ส่วน กัน ช่อฟ้าอันกลอนเหล่านั้น และกำลังยึดเหนี่ยวรั้งไว้แน่นหนา ตั้ง อยู่ได้ส่วนกัน จึงไม่ตกลงจากข้างบน ฉันใด. [๙๗๑] พระราชาผู้เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้น อันกัลยาณมิตรทั้งหลายผู้มีจิตมั่นคง มิ ได้แตกร้าว เป็นคนสะอาด มีปัญญา สงเคราะห์เป็นอย่างดีแล้ว ย่อมไม่ เสื่อมจากศิริ เหมือนช่อฟ้าที่กลอนเหนี่ยวรั้งไว้ ฉะนั้น. [๙๗๒] บุคคลถือมีดไม่ปอกผลมะนาวที่มีเปลือกอันแข็งออกเสียก่อน ก็จะทำ รสมะนาวให้ขมได้ เมื่อปอกเปลือกออกดีแล้วจะทำให้มะนาวมีรสอร่อย ดีขึ้น แต่เมื่อปอกเปลือกออกไม่หมดดี ก็จะทำให้มีรสไม่อร่อยได้ ฉันใด. [๙๗๓] แม้พระราชาผู้เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้น พระทัยไม่เหี้ยมโหดแก่ชาวบ้านและ ชาวนิคม รวบรวมทรัพย์ไว้ ทรงประพฤติตามธรรมปฏิบัติอยู่ ไม่ทรง เบียดเบียนประชาชน ทรงทำแต่ความเจริญรุ่งเรืองให้. [๙๗๔] ดอกบัวเกิดในน้ำอันใสสะอาด มีรากอันขาวเกิดขึ้นในสระโบกขรณี พอต้องแสงอาทิตย์ก็บาน เปือกตม ธุลีและน้ำก็มิได้แปดเปื้อน ฉันใด. [๙๗๕] พระมหากษัตริย์ก็ฉันนั้น ทรงทำการวินิจฉัยโดยชอบธรรม เว้นอคติ ไม่ตัดสินโดยผลุนผลัน มีการงานบริสุทธิ์ปราศจากกรรมอันชั่วช้า ย่อม ไม่แปดเปื้อนกรรมกิเลส เหมือนดอกบัวที่เกิดในสระโบกขรณี ฉะนั้น.
จบ กุกกุชาดกที่ ๑.
๒. มโนชชาดก
คบคนชั่วไม่ได้ความสุขยั่งยืน
[๙๗๖] เหตุใดลูกศรจึงไม่หลุดไปจากแหล่ง และสายจึงหดหู่เข้ามา พระยาเนื้อ ชื่อมโนชะสหายของเรา คงถูกเขาฆ่าตายเป็นแน่. [๙๗๗] ผิฉะนั้น บัดนี้ เราจะหลีกไปชายป่าตามความสบาย ธรรมดาสหายผู้ ตายแล้วเช่นนี้ไม่มี เราผู้มีชีวิตอยู่พึงได้สหาย. [๙๗๘] บุคคลผู้คบหากับปาปชน ย่อมไม่ได้ความสุขยืนนาน จงดูพระยาเนื้อ ชื่อมโนชะ มาคบกับสุนัขจิ้งจอก ทำตามคำสอนของสุนัขจิ้งจอก [๙๗๙] มารดาย่อมไม่ยินดีกับบุตรผู้คบหาปาปชน จงดูแต่พระยาเนื้อชื่อมโนชะ คบกับสุนัขจิ้งจอก นอนจมเลือดอยู่. [๙๘๐] บุรุษมาถึงความเป็นอย่างนั้นบ้าง จะต้องถึงความเลวทรามต่ำช้า ผู้ใดไม่ ทำตามคำของบุคคลผู้หวังความเกื้อกูล ช่วยชี้ประโยชน์ให้ ผู้นั้นเป็น ผู้เลวทรามต่ำช้า. [๙๘๑] อนึ่ง ผู้ใดเป็นคนชั้นสูงแต่มาคบหากับคนชั้นต่ำ ผู้นั้นเป็นคนเลวทราม ต่ำช้ากว่าเขาเสียอีก อย่างนี้ จงดูแต่ราชสีห์เป็นสัตว์ชั้นสูงเป็นใหญ่กว่า มฤคชาติ แต่มาคบหากับสุนัขจิ้งจอกผู้ชั่วช้า ต้องตายด้วยกำลังลูกศร ของนายพราน. [๙๘๒] บุรุษผู้คบหากับคนเลวทราม ย่อมเลวทราม ผู้คบหากับคนที่เสมอกับตน ย่อมไม่เสื่อมในกาลไหนๆ เมื่อจะเข้าไปคบหากับคนที่ดีกว่าตน ควรรีบ เข้าไปคบหา เพราะฉะนั้น จงคบแต่ผู้ที่ดีกว่าตน.
จบ มโนชชาดกที่ ๒.
๓. สุตนชาดก
ว่าด้วยเสียเพื่อได้
[๙๘๓] ดูกรมฆเทพผู้สิงสถิตอยู่ ณ ต้นไทรนี้ พระราชารับสั่งให้ส่งอาหารเจือ ด้วยเนื้ออันสะอาดมาให้ท่าน เชิญท่านออกมาบริโภคเสียเถิด. [๙๘๔] ดูกรมาณพ เชิญท่านนำอาหารพร้อมด้วยกับมาให้เรา ดูกรมาณพ ท่าน ก็มีอาหาร เรามาบริโภคกันเถิด. [๙๘๕] ดูกรยักษ์ ท่านจะละประโยชน์อันใหญ่เสีย เพราะประโยชน์เล็กน้อย ชนทั้งหลายผู้หวาดเกรงความตาย เขาจักไม่นำอาหารมาให้. [๙๘๖] ดูกรยักษ์ เมื่อท่านไม่กินเรา คนจะนำอาหารที่สะอาดประณีต ประกอบ ด้วยรสดีมาให้ท่านบริโภคเป็นนิตย์ แต่เมื่อท่านกินเราเสียแล้ว คนที่จะ นำอาหารมาให้ท่านก็จะหาได้ยาก. [๙๘๗] ดูกรสุตนมาณพ ประโยชน์ที่ท่านกล่าวถึง ย่อมเจริญแก่เราทุกประการ เราอนุญาตให้ท่านกลับไปหามารดาโดยสวัสดี. [๙๘๘] ดูกรมาณพ ท่านจงถือพระขรรค์ ฉัตรและถาดกลับไปเถิด มารดาของ ท่านจะได้เห็น และท่านก็จะได้เห็นมารดาโดยสวัสดี. [๙๘๙] ดูกรยักษ์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจงมีความสุขพร้อมด้วยญาติทั้งปวงเถิด ทรัพย์เราก็ได้แล้ว และพระดำรัสสั่งของพระราชาเราก็ได้สนองแล้ว.
จบ สุตนชาดกที่ ๓.
๔. มาตุโปสกคิชฌชาดก
เมื่อถึงคราวพินาศความคิดย่อมวิบัติ
[๙๙๐] มารดาและบิดาของเราแก่เฒ่าชราแล้ว นอนอยู่ในถ้ำจักทำอย่างไรหนอ เราก็ติดบ่วงตกอยู่ในอำนาจของนายพราน? [๙๙๑] ดูกรแร้ง เหตุไรท่านจึงคร่ำครวญอยู่เล่า การคร่ำครวญของท่านเป็นอย่าง ไรหนอ แร้งพูดภาษามนุษย์ เราไม่เคยได้ยินหรือเห็นมาเลย. [๙๙๒] ข้าพเจ้าเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าชรานอนอยู่ในถ้ำ มารดาบิดาท่านจักทำ อย่างไร เพราะข้าพเจ้าตกอยู่ในอำนาจของท่านเสียแล้ว. [๙๙๓] เขาพูดกันว่า แร้งมองเห็นซากศพได้ไกลถึงร้อยโยชน์ เหตุไฉนท่าน แม้จะมาถึงข่าย และบ่วงก็ไม่รู้สึก. [๙๙๔] เมื่อใด จะมีความพินาศ สัตว์จะถึงความสิ้นชีวิต เมื่อนั้นถึงแม้จะมา ถึงข่าย และบ่วงก็ไม่รู้สึกเลย. [๙๙๕] ท่านจงไปเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าชรา นอนอยู่ในถ้ำ เราอนุญาตให้ ท่านกลับไปหาพวกญาติโดยสวัสดี. [๙๙๖] ดูกรนายพราน เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจงเพลิดเพลินพร้อมด้วยญาติทั้ง ปวงเถิด ข้าพเจ้าจะไปเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าชรานอนอยู่ในถ้ำ.
จบ มาตุโปสกคิชฌชาดกที่ ๔.
๕. ทัพพปุปผกชาดก
โทษของการโต้เถียงกัน
[๙๙๗] ดูกรสหาย นากผู้เที่ยวไปตามฝั่ง ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน ท่านจงตาม ฉันมา จับปลาใหญ่ได้ตัวหนึ่ง มันพาฉันไปด้วยกำลังแรง. [๙๙๘] ดูกรนากผู้เที่ยวไปในน้ำลึก ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน ท่านจงจับปลาให้ มั่นด้วยกำลัง ฉันจักยกปลานั้นขึ้น เหมือนครุฑคาบพระยานาค ฉะนั้น. [๙๙๙] เราทั้งสองมัวโต้เถียงกันอยู่ ดูกรสหายทัพพปุปผกะ ขอท่านจงฟัง ข้าพเจ้า จงระงับความโต้เถียงกัน ขอการโต้เถียงกันจงระงับเสีย. [๑๐๐๐] เราเคยเป็นผู้พิพากษาในกาลก่อน พิจารณาอรรถคดีมามากนักแล้ว แน่ะ สหาย เราจะช่วยระงับความโต้เถียง ความโต้เถียงของท่านทั้งสองจะ ระงับ. [๑๐๐๑] ดูกรนากผู้เที่ยวไปตามฝั่ง ท่านจงคาบเอาท่อนหางไป ท่อนหัวเป็นของ นากผู้เที่ยวไปในน้ำลึก ส่วนท่อนกลางนี้จักเป็นของเราผู้ตัดสิน. [๑๐๐๒] ท่อนกลางที่สุนัขจิ้งจอกนำเอาไปนั้น จักเป็นอาหารได้หลายวัน ถ้าเรา ไม่โต้แย้งกัน สุนัขจิ้งจอกก็จะนำเอาปลาตะเพียนท่อนกลางไปไม่ได้. [๑๐๐๓] พระมหากษัตริย์ได้ครอบครองราชสมบัติแล้ว จะพึงทรงยินดีแม้ฉันใด ดิฉันได้เห็นสามี มีหน้าอันเบิกบานในวันนี้ก็ย่อมยินดี ฉันนั้น. [๑๐๐๔] ท่านเป็นสัตว์เกิดบนบก ไฉนจึงจับเอาปลาในน้ำมาได้ ดูกรท่านผู้ร่วม ใจ ดิฉันถามท่าน จงบอกดิฉันว่า ท่านจับปลานั้นมาได้อย่างไร? [๑๐๐๕] สัตว์ทั้งหลายย่อมซูบผอมเพราะวิวาทกัน เป็นผู้หมดทรัพย์ก็เพราะวิวาท กัน นากสองตัว เสื่อมจากปลานี้เพราะวิวาทกัน ดูกรนางมายาวี จงกินปลาตะเพียนแดงนี้เสียเถิด. [๑๐๐๖] ในหมู่มนุษย์มีการวิวาทกันขึ้น ณ ที่ใด หมู่มนุษย์ก็พากันไปหาผู้พิพากษา ณ ที่นั้น เพราะว่าผู้พิพากษาเป็นผู้แนะนำพวกเขา ใช่แต่เท่านั้น เขา ยังจะเสื่อมจากทรัพย์อีก เหมือนนากทั้งสองเสื่อมจากปลาตะเพียน ฉะนั้น พระคลังหลวงย่อมเจริญขึ้น.
จบ ทัพพปุปผกชาดกที่ ๕.
๖. ทสรรณกชาดก
ให้แล้วไม่เดือดร้อนภายหลังทำได้ยาก
[๑๐๐๗] บุรุษคนนี้กลืนดาบมีคมกล้า อันเป็นดาบในทสรรณกรัฐ ดื่มกินเลือดผู้ อื่นที่ถูกต้องแล้ว ในท่ามกลางบริษัท เหตุอย่างอื่นที่ทำยากกว่าการกลืน ดาบนี้ ยังมีอีกไหม ฉันถามท่านถึงเหตุที่ทำได้ยากอย่างอื่น ขอท่านจง บอกแก่ฉัน? [๑๐๐๘] บุรุษกลืนดาบอันดื่มกินเลือดของผู้อื่นที่ถูกต้องได้ เพราะความโลภ ก็ผู้ ใดพูดว่าจะให้สิ่งนั้น สิ่งนี้ คำพูดของผู้นั้นทำได้ยากกว่าการกลืนดาบ นั้น เหตุอย่างอื่นทั้งหมดทำได้ง่ายนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชาว มคธ ขอพระองค์โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด. [๑๐๐๙] อายุรบัณฑิตเป็นผู้ฉลาดในอรรถธรรม ได้แก้ปัญหาแล้ว บัดนี้ ฉันจะ ถามปุกกุสบัณฑิตบ้าง เหตุอย่างอื่นที่ทำยากกว่าคำพูดนั้น ยังมีอยู่หรือ ฉันถามท่านถึงเหตุที่ทำได้ยากอย่างอื่น ขอท่านจงบอกแก่ฉัน? [๑๐๑๐] ชนทั้งหลายย่อมไม่รักษาคำพูดไว้ คำที่พูดนั้นก็ไม่มีผล ผู้ใดให้ปฏิญญาไว้ ว่า จะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่อยากได้สิ่งนั้นคืน คำพูดของผู้นั้นทำได้ยากกว่า การกลืนดาบ และกว่าคำพูดว่าจะให้สิ่งนั้น สิ่งนี้นั้นเสียอีก เหตุอย่าง อื่นทั้งหมดทำได้ง่าย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชาวมคธ ขอพระองค์ โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด. [๑๐๑๑] ปุกกุสบัณฑิตเป็นผู้ฉลาดในอรรถธรรม ได้แก้ปัญหาแล้ว บัดนี้ ฉันจะ ถามเสนกบัณฑิตบ้าง เหตุอย่างอื่นที่ทำยากกว่านั้นยังมีอีกหรือ ฉันถาม ท่านถึงเหตุที่ทำได้ยากอย่างอื่น ขอท่านจงบอกแก่ฉัน? [๑๐๑๒] บุรุษควรจะให้ทาน จะน้อย หรือมากก็ตาม ก็ผู้ใดให้ของรักของตน แล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนภายหลัง ข้อนั้นทำได้ยากกว่าการกลืนดาบ กว่าคำว่าจะให้สิ่งนั้น สิ่งนี้ และกว่าการให้ของรักนั้นเสียอีก เหตุ อย่างอื่นทั้งหมดทำได้ง่าย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชาวมคธ ขอพระ องค์โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด. [๑๐๑๓] อายุรบัณฑิตได้แก้ปัญหาแก่ฉันแล้ว อนึ่ง ปุกกุสบัณฑิตก็ได้แก้ปัญหา แก่ฉันแล้ว เสนกบัณฑิตแก้ปัญหาครอบงำปัญหาเสียทั้งหมด ฉันใด ฉันก็ให้ทานนั้นแล้ว หาควรจะเดือดร้อนภายหลังไม่ ฉันนั้น.
จบ ทสรรณกชาดกที่ ๖.
๗. เสนกชาดก
ผู้มีปัญญาช่วยคนอื่นได้
[๑๐๑๔] ท่านเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน มีอินทรีย์กำเริบ หยาดน้ำตาไหลออกจากนัยน์ตา ทั้งสองของท่าน อะไรของท่านหายหรือ หรือว่าท่านปรารถนาอะไรจึงได้ มาในที่นี้ ดูกรพราหมณ์ เชิญท่านพูดไปเถิด? [๑๐๑๕] (รุกขเทวดาตนหนึ่งกล่าวว่า) เมื่อข้าพเจ้าไปสู่เรือนวันนี้ ภรรยาของ ข้าพเจ้าจะตาย เมื่อข้าพเจ้าไม่ไป ความตายจะมีแก่ข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้า เป็นผู้หวาดเกรงด้วยทุกข์นี้ ข้าแต่เสนกบัณฑิต ขอท่านจงบอกเหตุนี้ แก่ข้าพเจ้าเถิด. [๑๐๑๖] เราคิดเห็นเหตุเป็นอันมากได้ตลอดแล้ว บรรดาเหตุเหล่านั้น เหตุที่เราจะ บอกเป็นความจริง ดูกรพราหมณ์ เราเข้าใจว่าเมื่อท่านมิได้รู้สึก งูเห่า ตัวหนึ่งเลื้อยเข้าไปในไถ้ข้าวสัตตูของท่าน. [๑๐๑๗] ท่านจงเอาท่อนไม้เคาะไถ้ดูเถิด จะเห็นงูแลบลิ้นมีน้ำลายไหลเลื้อยออก จากไถ้ ท่านจะสิ้นความสงสัยเคลือบแคลงวันนี้แหละ ท่านจะได้เห็นงู เดี๋ยวนี้แหละ จงแก้ไถ้เถิด. [๑๐๑๘] พราหมณ์นั้นสลดใจ ได้แก้ไถ้ข้าวสัตตู ณ ท่ามกลางบริษัท ลำดับนั้น งูพิษมากได้แผ่แม่เบี้ยเลื้อยออกมา. [๑๐๑๙] การที่พระเจ้าชนกได้ทรงเห็นเสนกบัณฑิต ผู้มีปัญญา ให้สำเร็จประ- โยชน์กิจทั้งปวง เป็นลาภ อันพระองค์ได้ดีแล้ว ท่านเป็นผู้เปิดหลังคา คือ กิเลสได้แล้วหนอ เป็นผู้เห็นแจ้งในสิ่งทั้งปวง ข้าแต่พราหมณ์ ความรู้ของท่านน่าพิศวงยิ่งนัก ข้าพเจ้ามีทรัพย์อยู่ ๗๐๐ ขอท่านจงรับ ไว้เถิด ข้าพเจ้าขอให้ท่านทั้งหมด ข้าพเจ้าได้ชีวิตในวันนี้ ก็เพราะท่าน อนึ่ง ท่านยังได้ทำความสวัสดีให้แก่ภรรยาของข้าพเจ้าอีกด้วย. [๑๐๒๐] บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่รับรางวัล เพราะคาถา อันวิจิตรที่ตนกล่าวดีแล้ว ดูกรพราหมณ์ ท่านจงให้ทรัพย์ของท่านที่ใกล้เท้าของเรานี้เสียก่อน แล้ว จงถือเอาไปยังเรือนของตนเถิด.
จบ เสนกชาดกที่ ๗.
๘. อัฏฐิเสนชาดก
ว่าด้วยการขอ
[๑๐๒๑] ข้าแต่ท่านอัฏฐิเสนะ วณิพกเหล่าใดที่ข้าพเจ้าไม่รู้จัก วณิพกเหล่านั้นมา หาข้าพเจ้าแล้วเป็นต้องขอ เหตุไรพระผู้เป็นเจ้า จึงไม่ขออะไรๆ ข้าพเจ้า? [๑๐๒๒] ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ถูกขอ ผู้ถูกขอเมื่อไม่ให้ก็ไม่เป็นที่รักของผู้ขอ เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงไม่ทูลขออะไรพระองค์ โดยคิดเห็นว่า อาตมภาพอย่าหมางใจกับพระองค์เสียเลย. [๑๐๒๓] ผู้ใดเป็นอยู่ด้วยการขอ ย่อมไม่ขอสิ่งที่ควรขอ ในเวลาที่ควรขอ ผู้นั้น ย่อมทำให้ผู้อื่นเสื่อมจากบุญ แม้ตัวเองก็หาเลี้ยงชีพไม่สะดวก. [๑๐๒๔] ส่วนผู้ใดเป็นอยู่ด้วยการขอ ย่อมขอสิ่งที่ควรขอในเวลาที่ควรขอ ผู้นั้น ย่อมทำให้ผู้อื่นได้บุญ แม้ตัวเองก็หาเลี้ยงชีพสะดวกด้วย. [๑๐๒๕] ผู้มีปัญญาเห็นยาจกมาแล้ว ย่อมไม่โกรธเลย ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นที่พอใจของข้าพเจ้า ท่านต้องการอะไร เชิญบอกมาเถิด ข้าพเจ้าจะให้ ทุกอย่าง. [๑๐๒๖] ผู้มีปัญญาย่อมไม่ออกปากขอเลย ส่วนผู้ที่ฉลาดควรจะรู้ความต้องการได้ เอง พระอริยะทั้งหลาย ย่อมไม่ออกปากขอ มีแต่ยืนนิ่งอยู่ ด้วย ภิกขาจารวัตรเท่านั้น นี่เป็นอาการขอของพระอริยะทั้งหลาย. [๑๐๒๗] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าขอถวายโคนมสีแดงพันตัว พร้อมทั้งโคผู้พัน ตัวแก่ท่าน เพราะว่า ผู้ที่มีมารยาทดังพระอริยะ ได้ฟังคาถาอันประกอบ ไปด้วยธรรมของท่านแล้ว จะไม่ถวายแก่ท่านผู้มีมารยาทดังพระอริยะ อย่างไรได้.
จบ อัฏฐิเสนชาดกที่ ๘.
๙. กปิชาดก
คุณธรรมของผู้บริหารคณะ
[๑๐๒๘] ผู้คอยจองเวรอยู่ในที่ใด บัณฑิตไม่ควรอยู่ในที่นั้น บุคคลอยู่ในที่มีคน จองเวรเพียงคืนเดียว หรือสองคืน ก็อยู่เป็นทุกข์. [๑๐๒๙] บุคคลมีจิตเบา คล้อยไปตามเขาง่ายๆ ย่อมกระทำกิจของคนจองเวร เพราะเหตุลิงตัวเดียว ถูกเขาทำความฉิบหายให้ทั้งฝูง. [๑๐๓๐] คนพาลผู้สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ปกครองหมู่คณะ ตกอยู่ในอำนาจจิต ของตนแล้ว พึงนอนตาย เหมือนลิงจ่าฝูง นอนตายอยู่ ฉะนั้น. [๑๐๓๑] อันคนพาลถึงจะมีกำลังปกครองหมู่คณะ ไม่ดีเลย เพราะไม่เป็นประ- โยชน์แก่ญาติทั้งหลาย เหมือนนกต่อ ไม่เป็นประโยชน์แก่นกทั้งหลาย ฉะนั้น. [๑๐๓๒] ส่วนนักปราชญ์มีกำลังปกครองหมู่คณะ ดีมาก เพราะว่าเป็นประโยชน์ แก่ญาติทั้งหลาย เหมือนท้าววาสวะผู้เป็นประโยชน์แก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ทั้งหลาย ฉะนั้น. [๑๐๓๓] ผู้ใดพิจารณาเห็นศีล ปัญญา และสุตะในตน ผู้นั้นย่อมประพฤติประ- โยชน์ได้ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งตน และผู้อื่น. [๑๐๓๔] เพราะฉะนั้น นักปราชญ์พึงพิจารณาดูตน ดุจดูศีล ปัญญาและสุตะ ฉะนั้น พึงบริหารหมู่คณะเถิด หรือจะเป็นผู้อยู่แต่ผู้เดียว ก็พึงเว้นรอบ.
จบ กปิชาดกที่ ๙.
๑๐. พกพรหมชาดก
ว่าด้วยศีลและพรตของพกพรหม
[๑๐๓๕] ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์มีอยู่ ๗๒ คน ล้วนได้ทำบุญมาแล้ว มี อำนาจแผ่ทั่วไป ล่วงชาติและชราได้แล้ว การเกิดเป็นพรหมนี้ เป็นที่ สุด สำเร็จได้ด้วยพระเวท ชนเป็นอันมากมุ่งหวังอยากให้เป็นอย่าง พวกข้าพระองค์. [๑๐๓๖] ดูกรพกพรหม อายุของท่านนี้น้อย ไม่มากเลย ท่านมาสำคัญว่าอายุ ของท่านมากตั้งแสนนิรัพพุทะ (ร้อยคูณแสน ๑๐ ล้านปี) ดูกร พกพรหม เรารู้อายุของท่าน. [๑๐๓๗] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสว่า พระองค์รู้กำหนดอายุของข้า- พระองค์ และตรัสว่ารู้เห็นไม่มีที่สิ้นสุด เป็นผู้ล่วงชาติชราและความโศก ได้แล้ว ขอพระองค์จงตรัสบอกการสมาทานพรต และศีลวัตร ของข้า- พระองค์ ครั้งก่อนว่าเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทราบตามความเป็นจริง ที่พระองค์ตรัสบอก? [๑๐๓๘] ท่านได้ช่วยมนุษย์เป็นอันมากผู้ถูกแดดแผดเผา กระหายน้ำจัดให้ได้ดื่ม น้ำ เราระลึกถึงการสมาทานพรต และศีลวัตรครั้งก่อนของท่านนั้นได้ ดุจนอนหลับฝันตื่นขึ้นจำได้ ฉะนั้น. [๑๐๓๙] ท่านได้ช่วยมหาชน ผู้ถูกหมู่โจรจับไปจะให้เป็นเชลยให้พ้นมาได้ ที่ริม ฝั่งแม่น้ำเอณิ เรายังระลึกถึงการสมาทานพรต และศีลวัตรครั้งก่อน ของท่านนั้นได้ ดุจนอนหลับฝันตื่นขึ้นจำได้ ฉะนั้น. [๑๐๔๐] ท่านได้ทุ่มเทกำลังเข้าช่วยพวกมนุษย์ ผู้ไปเรือในกระแสแม่น้ำคงคา ให้ พ้นจากนาคราชผู้ตัวดุร้าย มักทำมนุษย์ให้พินาศ เรายังระลึกถึงการ สมาทานพรตและศีลวัตรครั้งก่อน ของท่านนั้นได้ ดุจนอนหลับฝันตื่น ขึ้นจำได้ ฉะนั้น. [๑๐๔๑] อนึ่ง เราเองมีชื่อว่ากัปปะ ได้เคยเป็นอันเตวาสิกของท่าน ได้รู้แล้วว่า ท่านเป็นดาบสที่มีปัญญาและวัตรดีผู้หนึ่ง เรายังระลึกถึงการสมาทานพรต และศีลวัตรครั้งก่อนของท่านนั้นได้ ดุจนอนหลับฝันตื่นขึ้นจำได้ ฉะนั้น. [๑๐๔๒] พระองค์ทรงทราบชัดอายุของข้าพระองค์ ได้แน่นอน แม้สิ่งอื่นพระองค์ ก็ทรงทราบ พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เพราะเหตุนั้นแล พระรัศมีอันรุ่งเรืองของพระองค์นี้ จึงได้ส่องพรหมโลกให้สว่างไสวอยู่.
จบ พกพรหมชาดกที่ ๑๐.
จบ กุกกุวรรคที่ ๑.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุกกุชาดก ๒. มโนชชาดก ๓. สุตนชาดก ๔. มาตุโปสกคิชฌชาดก ๕. ทัพพปุปผกชาดก ๖. ทสรรณกชาดก ๗. เสนกชาดก ๘. อัฏฐิเสนชาดก ๙. กปิชาดก ๑๐. พกพรหมชาดก.
-----------------------------------------------------
๒. คันธารวรรค
๑. คันธารชาดก
[๑๐๔๓] ท่านสละหมู่บ้านอันบริบูรณ์ถึงหมื่นหกพันตำบล และคลังที่เต็มไปด้วย ทรัพย์มาแล้ว บัดนี้ ทำไมยังมาทำการสะสมเพียงก้อนเกลืออีกเล่า? [๑๐๔๔] ท่านสู้สละคันธารวิสัย อันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์มากมาย เลิกการสั่งสม มาแล้ว บัดนี้ ทำไมยังมาสอนข้าพเจ้าให้สั่งสมในที่นี้อีกเล่า? [๑๐๔๕] ดูกรท่านวิเทหดาบส ข้าพเจ้าย่อมกล่าวแต่คำที่เป็นธรรม ข้าพเจ้าไม่พอ ใจกล่าวคำที่ไม่เป็นธรรม เมื่อข้าพเจ้ากล่าวคำที่เป็นธรรมอยู่ บาปย่อม ไม่เข้ามาติดอยู่เลย. [๑๐๔๖] บุคคลอื่นได้รับความโกรธเคือง เพราะถ้อยคำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงหาก ถ้อยคำนั้นจะมีประโยชน์มาก บัณฑิตก็ไม่ควรกล่าว. [๑๐๔๗] บุคคลทำกรรมที่ไม่สมควร เมื่อถูกตักเตือนอยู่ จะโกรธเคืองก็ตาม ไม่ โกรธเคืองก็ตาม หรือจะทิ้งเสียเหมือนโปรยข้าวลีบก็ตาม เมื่อข้าพเจ้า กล่าวคำที่เป็นธรรมอยู่ บาปย่อมไม่เข้าติดอยู่เลย. [๑๐๔๘] ถ้าสัตว์เหล่านี้ไม่พึงมีปัญญาของตนเอง หรือไม่พึงได้ศึกษาวินัยดีแล้ว ชนเป็นอันมากก็จะเที่ยวไป เหมือนกระบือตาบอดเที่ยวไปในป่า ฉะนั้น. [๑๐๔๙] ก็แลบุคคลบางพวกในโลกนี้ ได้ศึกษาวินัยมาเป็นอย่างดีในสำนักอาจารย์ เพราะฉะนั้น เขาทั้งหลาย จึงมีวินัยอันอาจารย์แนะนำแล้ว เป็น นักปราชญ์ มีจิตตั้งมั่นดี เที่ยวไป.
จบ คันธารชาดกที่ ๑.
๒. มหากปิชาดก
ว่าด้วยคุณธรรมของหัวหน้า
[๑๐๕๐] ดูกรพระยาลิง ท่านได้ทอดตัวเป็นสะพาน ให้ลิงเหล่านี้ข้ามไปได้ จนมี ความสวัสดี ท่านเป็นอะไรกับลิงเหล่านั้น หรือว่าลิงเหล่านั้นเป็นอะไร กับท่าน? [๑๐๕๑] ข้าแต่พระองค์ผู้ปราบศัตรู ข้าพระองค์เป็นใหญ่ เป็นนายฝูง ปกครองหมู่ ลิงเหล่านั้น เมื่อเขาเหล่านั้นถูกความโศกครอบงำ เกรงกลัวพระองค์. [๑๐๕๒] ข้าพระองค์ได้กระโจนไปชั่วระยะร้อยลูกธนู เอาเถาวัลย์ผูกกับตอไม้ไผ่ ข้างหนึ่ง ผูกที่สะเอวข้างหนึ่ง. [๑๐๕๓] กระโจนกลับมายังต้นมะม่วง เหมือนลมตัดอากาศ แต่ไม่ถึงต้นมะม่วง นั้น ข้าพระองค์เอามือมาทั้งสองเหนี่ยวกิ่งมะม่วงไว้. [๑๐๕๔] ร่างกายของข้าพระองค์ถูกกิ่งไม้ และเถาวัลย์คร่าไปมา ดุจสายพิณที่เขา ขึงตึงเครียด ฉะนั้น พวกบริวารพากันไต่ข้าพระองค์ไปได้รับความสวัสดี. [๑๐๕๕] ข้าพระองค์จะถูกจองจำ หรือถูกฆ่า ก็ไม่ครั่นคร้ามเดือดร้อนอย่างไร เพราะข้าพระองค์ได้นำความสุขมาให้แก่หมู่ลิงที่ยกย่องให้ข้าพระองค์เป็น ใหญ่. [๑๐๕๖] ข้าแต่พระราชาผู้ปราบปรามศัตรู ข้าพระองค์จะแสดงข้ออุปมาถวายพระ- องค์ ขอพระองค์จงสดับ ธรรมดาพระราชามหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชา สามารถ พึงแสวงหาความสุขให้แก่รัฐ สัตว์พาหนะ ทหาร และ พลเมืองถ้วนหน้ากัน.
จบ มหากปิชาดกที่ ๒.
๓. กุมภการชาดก
เหตุให้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร
[๑๐๕๗] อาตมภาพได้เห็นมะม่วงอันงอกงามออกช่อและผลเขียวไปทั้งต้น ใน ระหว่างป่ามะม่วง เวลากลับ อาตมภาพได้เห็นมะม่วงต้นนั้นหักย่อยยับ เพราะผลเป็นเหตุ จึงได้เที่ยวประพฤติภิกขาจาริยวัตร. [๑๐๕๘] นางนารีคนหนึ่งสวมกำไรมือหินคู่หนึ่ง เกลี้ยงกลม อันนายช่างผู้ ชำนาญทำแล้วไม่มีเสียงดัง เพราะอาศัยข้างที่สอง จึงเกิดมีเสียงดังขึ้น ได้ อาตมภาพได้เห็นอย่างนี้ จึงได้เที่ยวประพฤติภิกขาจาริยวัตร. [๑๐๕๙] นกจำนวนมากพากันล้อมลุมตามจิก ตีนกตัวหนึ่งซึ่งกำลังคาบก้อนเนื้ออยู่ ได้ก้อนเนื้อแล้วบินไป เพราะอาหารเป็นเหตุ อาตมภาพได้เห็นอย่างนี้ จึงได้เที่ยวประพฤติภิกขาจาริยวัตร. [๑๐๖๐] อาตมภาพได้เห็นวัวหนึ่งตัวอยู่ในท่ามกลางฝูง มีวลัยเป็นเครื่องประดับ ประกอบด้วยสีสรรและกำลังมาก ได้ขวิดเอาวัวตัวหนึ่งตาย เพราะกาม เป็นเหตุ อาตมภาพได้เห็นอย่างนี้ จึงได้เที่ยวประพฤติภิกขาจาริยวัตร. [๑๐๖๑] พระเจ้ากรันฑกะของชาวกลิงครัฐ พระเจ้านัคคชิของชาวคันธารรัฐ พระเจ้าเนมิราชของชาววิเทหรัฐ และพระเจ้าทุมมุขะของชาวปัญจาลรัฐ ทั้งสี่พระองค์นี้ต่างพากันทรงละรัฐออกผนวช หาความห่วงใยมิได้. [๑๐๖๒] แม้พระราชาเหล่านั้นทุกๆ พระองค์ เปรียบด้วยเทพเจ้า มาพร้อมหน้ากัน ย่อมสง่างามไปด้วยคุณ เหมือนไฟอันงามสว่างไสวฉะนั้น ดูกรนางภัควิ แม้เราเองจะสละกามทั้งหลายตามส่วนของตนๆ แล้วจะออกบวชเที่ยว ไปแต่ผู้เดียว. [๑๐๖๓] เวลานี้เท่านั้น เวลาอื่นจากนี้เป็นไม่มี ภายหลังบุคคลผู้สอนดิฉันจะไม่มี ข้าแต่ท่านผู้มีส่วนความดี แม้ดิฉันก็จะขอพ้นจากมือของบุรุษเที่ยวไป ผู้เดียว ดังนางนกที่พ้นจากมือของบุรุษ ฉะนั้น. [๑๐๖๔] เด็กสองคนนั้นย่อมรู้จักว่านี่ข้าวดิบ นี่ข้าวสุก และรู้จักว่านี่เค็ม นี่ไม่ เค็ม ฉันเห็นอย่างนี้แล้วจึงออกบวช ท่านจงประพฤติภิกขาจาริยวัตร เถิด ถึงฉันก็จะประพฤติภิกขาจาริยวัตรเช่นเดียวกัน.
จบ กุมภการชาดกที่ ๓.
๔. ทัฬหธรรมชาดก
ว่าด้วยความกตัญญู
[๑๐๖๕] เมื่อข้าพเจ้าเป็นสาว ได้ทำลายช้างศัตรูนำกิจนั้นไป ได้ช่วยถอนลูกศรที่ เสียบอยู่ที่พระอุระ วิ่งตะลุยไล่เหยียบย่ำข้าศึกไปในเวลารบ ยังทำให้ พระเจ้าทัฬหธรรมราชาพอพระทัยไม่ได้. [๑๐๖๖] พระราชาคงไม่ทราบความเพียรพยายามของข้าพเจ้า ความดีความชอบใน สงคราม และการเป็นทูตเดินส่งข่าวสาส์นเป็นแน่. [๑๐๖๗] ข้าพเจ้าไม่มีพวกพ้อง ไร้ที่พึ่งอาศัย จักต้องตายแน่ๆ ยังมิหนำซ้ำพระ ราชทานข้าพเจ้าให้แก่ช่างหม้อ ไว้สำหรับขนโคมัย. [๑๐๖๘] คนบางคนในโลกนี้ ยังมีความหวังอยู่เพียงใด ก็ยังคบหากันอยู่เพียง นั้น เมื่อประโยชน์ที่หวังสิ้นไป คนพาลทั้งหลายย่อมละทิ้งเขา เหมือน พระมหากษัตริย์ทอดทิ้งช้างพังโอฏฐิพยาธิ ฉะนั้น. [๑๐๖๙] ผู้ใดอันคนอื่นทำความยินดีให้แก่ตนก่อน ช่วยเหลือกิจให้สำเร็จทุกอย่าง แล้ว ไม่รู้สึก ประโยชน์ทั้งหลายของบุคคลผู้ช่วยเหลือนั้น ย่อมพินาศ ไปหมด. [๑๐๗๐] ผู้ใดอันคนอื่นทำความดีให้แก่ตนก่อน ช่วยเหลือกิจให้สำเร็จทุกอย่าง แล้ว ย่อมรู้สึก ประโยชน์ทั้งหลายของบุคคลผู้ช่วยเหลือนั้น ย่อมเจริญ ทวีขึ้น. [๑๐๗๑] เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงขอพูดกะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย มาประ ชุมกันอยู่ ณ ที่นี้มีประมาณเท่าใด ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ประมาณเท่านั้น ขอท่านทุกคนจงเป็นผู้มีกตัญญู ท่านทั้งหลายจักประ ดิษฐานอยู่ในสวรรค์ตลอดกาลนาน.
จบ ทัฬหธรรมชาดกที่ ๔.
๕. โสมทัตตชาดก
ว่าด้วยความเศร้าโศกถึงผู้เป็นที่รัก
[๑๐๗๒] พ่อโสมทัตช้างมาตังคะ แต่ก่อนเคยออกมาต้อนรับเราผู้กลับจากป่าแต่ที่ ไกล บัดนี้ ไปไหนเสียเล่า เราจึงไม่เห็น? [๑๐๗๓] โธ่เอ๋ย นี่พ่อโสมทัตนั้นแน่แล้ว มานอนตายอยู่ที่พื้นแผ่นดิน ดัง หน่อเถาย่างทรายที่บุคคลเด็ดทิ้งฉะนั้น พ่อโสมทัตกุญชรชาติตายเสีย แล้วหนอ. [๑๐๗๔] การที่ท่านมาเศร้าโศกถึงผู้ที่ตายไปแล้วนั้น เป็นการไม่ดีงามแก่ท่านผู้ ออกบวช เป็นสมณะพ้นวิเศษแล้ว. [๑๐๗๕] ดูกรท้าวสักกะ มนุษย์หรือสัตว์เดียรัจฉานก็ตาม ย่อมเกิดความรักใคร่ กันฝังอยู่ในใจ เพราะการอยู่ร่วมกันโดยแท้ อาตมภาพจึงไม่อาจอด กลั้น ความเศร้าโศกถึงผู้ที่เป็นที่รักใคร่นั้นได้. [๑๐๗๖] สัตว์เหล่าใดร้องไห้รำพันเพ้อถึงผู้ที่ตาย สัตว์เหล่านั้นก็ต้องตายเหมือน กัน ดูกรฤาษี เพราะเหตุนั้น ท่านอย่าร้องไห้เลย สัตบุรุษกล่าวการ ร้องไห้ ของบุคคลผู้ร้องไห้ถึงผู้ที่ตายไปแล้วว่าไร้ผล. [๑๐๗๗] ดูกรท่านผู้ประเสริฐ บุคคลผู้ตายไปแล้ว จะพึงกลับเป็นขึ้นอีกเพราะการ ร้องไห้แน่แล้ว เราทั้งหมดก็มาประชุมร้องไห้ถึงญาติของกันและกันเถิด. [๑๐๗๘] อาตมภาพถูกไฟคือความโศกแผดเผา มหาบพิตรมาช่วยดับความกระวน กระวายทั้งหมดให้หายได้ เหมือนบุคคลเอาน้ำดับไฟไหม้เปรียงฉะนั้น. มหาบพิตร ได้ถอนลูกศรอันปักแน่น อยู่ในหัวใจของอาตมภาพออกแล้ว เมื่ออาตมภาพถูกความโศกครอบงำ มหาบพิตรก็ได้บรรเทาความโศกถึง บุตรนั้นเสียได้. ดูกรท้าวสักกะ อาตมภาพนั้นเป็นผู้มีลูกศรคือความโศก เศร้าอันมหาบพิตรถอนออกแล้ว หายโศก ใจไม่ขุ่นมัว จะไม่เศร้า โศก จะไม่ร้องไห้ต่อไป เพราะได้ฟังคำของมหาบพิตร.
จบ โสมทัตตชาดกที่ ๕.
๖. สุสีมชาดก
ว่าด้วยพระเจ้าสุสีมะออกผนวช
[๑๐๗๙] เมื่อก่อนผมดำเกิดบนศีรษะอันเป็นประเทศที่สมควร ดูกรสุสิมะ วันนี้ ท่านเห็นผมเหล่านั้นกลายเป็นสีขาวแล้ว จงประพฤติธรรมเถิด เวลานี้ เป็นการสมควรจะประพฤติพรหมจรรย์แล้ว. [๑๐๘๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ผมหงอกของหม่อมฉันเอง ไม่ใช่ของพระองค์ หม่อมฉันถอนออกจากศีรษะของหม่อมฉันเอง หม่อมฉันได้ทูลคำเท็จ ด้วยคิดจะทำประโยชน์แก่ตน ขอพระองค์จงทรงพระราชทานอภัยโทษให้ สักครั้งหนึ่งเถิด เพคะ. [๑๐๘๑] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์ยังหนุ่ม มีพระโฉมชวนพิศ ยังทรงตั้งอยู่ในปฐมวัย มีพระฉวีวรรณงาม ดังใบกล้วยมีนวลอ่อนๆ เมื่อแรกขึ้นฉะนั้น ขอเชิญพระองค์ดำรงราชสมบัติอยู่ก่อนเถิด เชิญ ทอดพระเนตรหม่อมฉันก่อน อย่าทรงทำให้หม่อมฉันเป็นหม้ายไร้ที่พึ่ง เสียเลย เพคะ. [๑๐๘๒] เราได้เห็นนางกุมารีรุ่นสาวมีฉวีวรรณอันเกลี้ยงเกลา ร่างกายงาม ทรวด ทรงเฉิดฉายอ่อนละมุนละไม เหมือนเถากาลวัลลี เมื่อต้องลมอ่อนรำเพย พัด ก็โอนเอนไปมา เข้าไปใกล้ชายดั่งยั่วยวนใจชายอยู่. [๑๐๘๓] สมัยต่อมา เราได้เห็นนารีคนนั้นถึงความชรามีอายุล่วงไป ๘๐-๙๐ ปี ถือไม้เท้าสั่นงันงก มีกายคดน้อมลงดุจกลอนเรือน เดินก้มหน้าอยู่. [๑๐๘๔] เรากำลังตริตรองถึงความพอใจและโทษของรูปทั้งหลายนั้นแลอยู่ จึงหลีก ออกไปนอนอยู่ท่ามกลางที่นอนแต่ผู้เดียว เราพิจารณาเห็นว่า แม้เราเอง ก็จักต้องเป็นอย่างนั้นบ้าง จึงมิได้ยินดีในการอยู่ในเรือนเลย ถึงเวลาที่ เราจะประพฤติพรหมจรรย์แล้ว. [๑๐๘๕] ความยินดีของบุคคลผู้อยู่ครอบครองเรือนนี้แหละ เป็นเชือกเครื่องเหนี่ยว รั้งไว้ ธีรชนตัดเชือกนี้แล้ว หาความอาลัยใยดีมิได้ ละทิ้งกามสุขแล้ว ออกบวช.
จบ สุสีมชาดกที่ ๖.
๗. โกฏสิมพลิชาดก
ว่าด้วยการระวังภัยที่ยังไม่มาถึง
[๑๐๘๖] เราได้จับนาคราชยาวถึงพันวามาแล้ว ท่านยังทรงนาคราชนั้นและเราซึ่งมี กายใหญ่ไว้ได้ ไม่หวั่นไหว. [๑๐๘๗] ดูกรโกฏสิมพลีเทพบุตร ก็ท่านทรงนางนกตัวเล็กนี้ ซึ่งมีเนื้อน้อยกว่า เรา กลัวหวั่นไหวอยู่ เพราะเหตุอะไร? [๑๐๘๘] ดูกรพระยาครุฑ ท่านมีเนื้อเป็นภักษาหาร นกนี้มีผลไม้เป็นภักษาหาร นางนกนี้จักไปจิกกินพืชเมล็ดต้นไทร เมล็ดต้นกร่าง เมล็ดต้นมะเดื่อ และเมล็ดต้นโพธิ แล้วมาถ่ายวัจจะลงบนค่าคบไม้ของเรา. [๑๐๘๙] ต้นไม้เหล่านั้นจักเจริญงอกงามขึ้น ไม่มีลมมากระทบข้างของเราได้ ต้น ไม้เหล่านั้นจักปกคลุมเรา ทำเราไม่ให้เป็นต้นไม้ไปเสีย. [๑๐๙๐] ต้นไม้ทั้งหลายแม้ชนิดอื่น เป็นหมู่ไม้มีรากประกอบด้วยลำต้นมีอยู่ นก ตัวนี้นำเอาพืชมาถ่ายไว้ ทำให้พินาศ. [๑๐๙๑] เพราะว่าต้นไม้ทั้งหลายมีต้นไทรเป็นต้น งอกงามขึ้นปกคลุมไม้ซึ่งเป็นเจ้า ป่า แม้ที่มีลำต้นใหญ่ได้ ดูกรพระยาครุฑ เหตุนี้แหละ เราได้มองเห็น ภัยในอนาคต จึงได้หวั่นไหว. [๑๐๙๒] นักปราชญ์พึงรังเกียจสิ่งที่น่ารังเกียจ พึงระวังภัยที่ยังไม่มาถึง นักปราชญ์ ย่อมพิจารณาดูโลกทั้งสอง เพราะภัยในอนาคต.
จบ โกฏสิมพลิชาดกที่ ๗.
๘. ธูมการีชาดก
เศร้าโศกเพราะได้ใหม่ลืมเก่า
[๑๐๙๓] พระเจ้ายุธิฏฐิละผู้ทรงพอพระทัยในธรรม ได้ตรัสถามวิธูรบัณฑิตว่า ดูกร พราหมณ์ ท่านรู้บ้างไหมว่า ใครผู้เดียวเศร้าโศกเป็นอันมาก? [๑๐๙๔] พราหมณ์วาเสฏฐโคตรผู้เป็นใหญ่ในฝูงแพะมากด้วยกัน ไม่เกียจคร้านทั้ง กลางคืนกลางวัน เมื่ออยู่ในป่า ได้ก่อไฟให้เกิดควัน. [๑๐๙๕] ชะมดทั้งหลายถูกเหลือบยุงรบกวน ก็พากันเข้าไปอาศัยอยู่ในสำนักของ พราหมณ์ธูมการีตลอดฤดูฝน เพราะกลิ่นควันของพราหมณ์นั้น. [๑๐๙๖] พราหมณ์นั้นเอาใจใส่อยู่กับพวกชะมด ไม่เอาใจใส่ถึงพวกแพะ ว่าจะ มาเข้าคอกหรือไม่มา แพะของเขาเหล่านั้นได้หายไป. [๑๐๙๗] พอถึงสารทสมัย และในป่ามียุงซาลงแล้ว พวกชะมดก็พากันเข้าไปสู่ ภูเขาทางที่กันดาร และต้นแม่น้ำทั้งหลาย ฯ [๑๐๙๘] พราหมณ์เห็นพวกชะมดหนีไปหมด และแพะทั้งหลายหายไป ก็ซูบผอม มีผิวพรรณซูบซีด เป็นโรคผอมเหลือง. [๑๐๙๙] เป็นอย่างนี้แหละ ผู้ใดละเลยคนเก่าเสียมากระทำความรักกับคนใหม่ ผู้นั้นเป็นคนเดียว เศร้าโศกอยู่มาก เหมือนพราหมณ์ธูมการี ฉะนั้น.
จบ ธูมการีชาดกที่ ๘.
๙. ชาครชาดก
ว่าด้วยผู้หลับและตื่น
[๑๑๐๐] ในโลกนี้ ใครเป็นผู้หลับในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้ตื่นอยู่ ใครเป็นผู้ตื่น ในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้หลับอยู่ ใครหนอรู้แจ้งปัญหาข้อนี้ ใครหนอจะ แก้ปัญหาข้อนั้นของเราได้? [๑๑๐๑] ข้าพเจ้าเป็นผู้หลับในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้ตื่นอยู่ ข้าพเจ้าเป็นผู้ตื่นใน ระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้หลับอยู่ ข้าพเจ้ารู้แจ้งปัญหาข้อนั้นของท่าน จะ แก้ปัญหาข้อนั้นของท่านได้. [๑๑๐๒] ท่านเป็นผู้หลับในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้ตื่นอยู่อย่างไร ท่านเป็นผู้ตื่นใน ระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้หลับอยู่อย่างไร ท่านรู้แจ้งปัญหาข้อนี้อย่างไร ท่านจะแก้ปัญหาข้อนี้ของข้าพเจ้าอย่างไร? [๑๑๐๓] ดูกรเทวดา ข้าพเจ้าตื่นอยู่ในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้หลับอยู่ด้วยความ ประมาท ไม่รู้ทั่วถึงธรรม ๒ ประการ คือ สัญญมะ ๑ ทมะ ๑. [๑๑๐๔] ดูกรเทวดา ข้าพเจ้าหลับอยู่ในระหว่างพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้สละราคะ โทสะ และอวิชชา ตื่นอยู่. [๑๑๐๕] ข้าพเจ้าเป็นผู้หลับในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้ตื่นอยู่อย่างนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ ตื่นในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้หลับอยู่อย่างนี้ ข้าพเจ้ารู้แจ้งปัญหาข้อนี้ อย่างนี้ ข้าพเจ้าแก้ปัญหาของท่านอย่างนี้. [๑๑๐๖] ถูกแล้ว ท่านเป็นผู้หลับในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้ตื่นอยู่ เป็นผู้ตื่นอยู่ใน ระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้หลับอยู่ ท่านรู้แจ้งปัญหาข้อนั้นของข้าพเจ้าถูก แล้ว ท่านแก้ปัญหาข้อนั้นของข้าพเจ้าดีแล้ว.
จบ ชาครชาดกที่ ๙.
๑๐. กุมมาสปิณฑชาดก
ว่าด้วยอานิสงส์ถวายขนมกุมมาส
[๑๑๐๗] ได้ยินว่า การทำสามีจิกรรมในพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าอโนมทัสสี มี คุณไม่น้อยเลย เชิญดูผลแห่งก้อนขนมกุมมาสแห้ง ไม่มีรสเค็ม. ส่งผล ให้เราได้ช้าง ม้า วัว ทรัพย์ ข้าวเปลือกเป็นอันมากนี้ ตลอดทั้งแผ่น ดินทั้งสิ้น และนางนารีเหล่านี้เปรียบด้วยนางอัปสร เชิญดูผลแห่งก้อน ขนมกุมมาส. [๑๑๐๘] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ผู้มีอัธยาศัยเป็นกุศล ผู้บำรุงรัฐให้เจริญ พระองค์ตรัสคาถาเพลงขับเสมอๆ ขอพระองค์ผู้มีพระทัยเปี่ยมด้วยปีติ อันแรงกล้า ได้โปรดตรัสบอกใจความแห่งคาถาเพลงขับที่หม่อมฉันทูล ถามนั้นเถิด. [๑๑๐๙] เราเกิดในตระกูลหนึ่งในนครนี้แหละ เป็นลูกจ้างทำงานให้คนอื่น ถึง จะเป็นลูกจ้างทำการงานเลี้ยงชีวิต แต่เราก็มีศีลสังวร. วันนั้นเราออก ไปทำงาน ได้เห็นสมณะ ๔ รูป ผู้ประกอบไปด้วยอาจาระและศีล เป็นผู้ เยือกเย็น ไม่มีอาสวะ. เรามีจิตเลื่อมใสในสมณะเหล่านั้น จึงนิมนต์ให้ท่านนั่งบนอาสนะที่ลาด ด้วยใบไม้แล้ว ได้ถวายขนมกุมมาสแก่ท่านด้วยมือของตน. ผลแห่งกุศล กรรมนั้นของเราเป็นเช่นนี้ เราจึงได้เสวยราชสมบัตินี้ อันมีแผ่นดินแผ่ ไพศาลไปด้วยสมบัติทุกชนิด. [๑๑๑๐] ข้าแต่พระองค์ผู้มีอัธยาศัยเป็นกุศล พระองค์ทรงประทานเสียก่อน จึงค่อย เสวยเอง พระองค์อย่าทรงประมาทในบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น พระองค์ จงทรงยังจักร ๔ มีการอยู่ในประเทศอันสมควรเป็นต้นให้เป็นไป อย่าได้ ทรงตั้งอยู่ในอธรรมเลย จงทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมเถิด. [๑๑๑๑] ดูกรพระราชธิดาของพระเจ้าโกศลผู้เลอโฉม เรานั้นจักประพฤติตามทางที่ พระอริยเจ้าประพฤติมาแล้วนั้นแลเสมอๆ พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นที่ พอใจของเราแท้ เราปรารถนาจะได้เห็นท่าน. [๑๑๑๒] ดูกรนางเทวีผู้เป็นพระราชธิดาที่รักของพระเจ้าโกศล เจ้างดงามอยู่ใน ท่ามกลางหมู่นารี เปรียบเหมือนนางเทพอัปสรฉะนั้น เจ้าได้ทำกรรมดี งามอะไรไว้ เจ้าเป็นผู้มีผิวพรรณผุดผ่องอย่างนี้ เพราะกรรมอะไร? [๑๑๑๓] ข้าแต่พระมหากษัตริย์ หม่อมฉันเป็นทาสีทำการรับใช้ของตระกูลกฏุมพี เป็นผู้สำรวมระวัง เป็นอยู่โดยธรรม มีศีล มีความเห็นชอบธรรม. คราวนั้น หม่อมฉันมีจิตโสมนัส ได้ถวายอาหารที่เป็นส่วนของหม่อม ฉัน แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ ด้วยมือตนเอง ผลแห่งกรรมนั้นของหม่อมฉัน เป็นเช่นนี้.
จบ กุมมาสปิณฑชาดกที่ ๑๐.
๑๑. ปรันตปชาดก
ลางบอกความชั่วและภัยที่จะมาถึง
[๑๑๑๔] ความชั่วและภัยจักมาถึงเรา เพราะกิ่งไม้ไหวคราวนั้น จะเป็นด้วยมนุษย์ หรือเนื้อทำให้ไหว ก็ไม่ปรากฏ. [๑๑๑๕] ความกระสันถึงนางพราหมณีผู้หวาดกลัวซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก จักทำให้เรา ผอมเหลือง เหมือนกิ่งไม้ทำนายปรันตปะให้ผอมเหลือง ฉะนั้น. [๑๑๑๖] ภรรยาที่รักของเราอยู่ในบ้านเมืองพาราณสี มีรูปงาม จักเศร้าโศกถึงเรา ความเศร้าโศกจักทำให้นางผอมเหลือง เหมือนกิ่งไม้ทำนายปรันตปะให้ ผอมเหลือง ฉะนั้น. [๑๑๑๗] หางตาที่เจ้าชำเลืองมาก็ดี การที่เจ้ายิ้มแย้มก็ดี เสียงที่เจ้าพูดก็ดี จักทำ เราให้ผอมเหลือง เหมือนกิ่งไม้ทำนายปรันตปะให้ผอมเหลือง ฉะนั้น. [๑๑๑๘] เสียงกิ่งไม้นั้นได้มาปรากฏแก่ท่านแล้ว เสียงนั้นชะรอยจะมาบอกท่านได้ แน่แล้ว ผู้ใดสั่นกิ่งไม้นั้น ผู้นั้นได้มาบอกเหตุนั้นแน่แล้ว. [๑๑๑๙] การที่เราผู้โง่เขลาคิดไว้ว่า กิ่งไม้ที่มนุษย์ หรือเนื้อทำให้ไหวในคราวนั้น ได้มาถึงเราเข้าแล้ว ฯ [๑๑๒๐] ท่านได้รู้ด้วยประการนั้นแล้ว ยังลวงฆ่าพระชนกของเราแล้ว เอากิ่งไม้ ปกปิดไว้ บัดนี้ ภัยจักตกมาถึงท่านบ้างละ.
จบ ปรันตปชาดกที่ ๑๑.
จบ คันธารวรรคที่ ๒.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. คันธารชาดก ๒. มหากปิชาดก ๓. กุมภการชาดก ๔. ทัฬหธรรมชาดก ๕. โสมทัตตชาดก ๖. สุสีมชาดก ๗. โกฏสิมพลิชาดก ๘. ธูมการีชาดก ๙. ชาครชาดก ๑๐. กุมมาสบิณฑชาดก ๑๑. ปรันตปชาดก.
รวมวรรคในสัตตกนิบาตนี้มี ๒ วรรค คือ
๑. กุกกุวรรค ๒. คันธารวรรค.
จบ สัตตกนิบาต.
-----------------------------------------------------
อัฏฐกนิบาตชาดก
๑. กัจจานิวรรค
๑. กัจจานิชาดก
ในกาลไหนๆ ธรรมย่อมไม่ตาย
[๑๑๒๑] ดูกรแม่กัจจานี เธอสระผม นุ่งห่มผ้าขาวสะอาด ยกถาดสำรับขึ้นสู่ เตากะโหลกหัวผี ยีแป้ง ล้างงา ซาวข้าวสารทำไม ข้าวสุกคลุกงา จักมีไว้เพราะเหตุอะไร? [๑๑๒๒] ดูกรพราหมณ์ ข้าวสุกคลุกงาซึ่งทำให้สุกดีนี้ มีไว้เพื่อจะบริโภค ก็หาไม่ ธรรม คือ ความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ และสุจริตธรรม ๓ ประการได้ สูญไปเสียแล้ว วันนี้ ดิฉันจักกระทำการบูชาแก่ธรรมนั้น ในท่ามกลาง ป่าช้า. [๑๑๒๓] ดูกรแม่กัจจานี เธอจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้ว จึงทำการงาน ใครบอก แก่เธอว่า ธรรมสูญเสียแล้ว ธรรมอันประเสริฐเหมือนท้าวสหัสนัย เทวราชผู้มีอาณุภาพหาผู้เปรียบมิได้ ย่อมไม่ตายในกาลไหนๆ. [๑๑๒๔] ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ ในข้อที่ว่าธรรมสูญนี้ ดิฉันมั่นใจเอาเอง ในข้อ ที่ว่า ธรรมไม่มี ดิฉันยังสงสัย เดี๋ยวนี้คนผู้ชั่วช้าย่อมมีความสุข เช่น ลูกสะใภ้ของดิฉันเป็นหมัน เขาทุบตีขับไล่ดิฉันแล้วคลอดลูก บัดนี้ เขา เป็นใหญ่ในตระกูลทั้งหมด ดิฉันถูกทอดทิ้ง ไม่มีที่พึ่ง อยู่แต่ลำพังผู้ เดียว. [๑๑๒๕] เรายังเป็นอยู่ ยังไม่ตาย มา ณ ที่นี้เพื่อประโยชน์แก่เธอโดยตรง ลูก สะใภ้คนใดทุบตีขับไล่เธอออกแล้วคลอดลูก เราจะกระทำลูกสะใภ้คน นั้นพร้อมกับลูก ให้ละเอียดเป็นเถ้าธุลี. [๑๑๒๖] ข้าแต่ท้าวเทวราช พระองค์ทรงยินดีเสด็จมาในที่นี้ เพื่อประโยชน์แก่ หม่อมฉันโดยตรงอย่างนี้ ขอให้หม่อมฉัน บุตร ลูกสะใภ้ และหลานจง ยินดีสมัครสมานอยู่เรือนร่วมกันเถิด. [๑๑๒๗] ดูกรแม่กาติยานี เธอยินดีอย่างนั้นก็ตามใจเธอ ถึงจะถูกทุบตีขับไล่ก็ไม่ ละธรรม คือเมตตาในพวกเด็กๆ ขอให้เธอ บุตร ลูกสะใภ้ และ หลาน จงยินดีสมัครสมานอยู่เรือนร่วมกันเถิด. [๑๑๒๘] นางกาติยานี ยินดีสมัครสมานกับลูกสะใภ้ อยู่เรือนร่วมกันแล้ว ลูก และหลานต่างช่วยกันบำรุง เพราะท้าวสักกเทวราชทรงอนุเคราะห์.
จบ กัจจานิชาดกที่ ๑.
๒. อัฏฐสัททชาดก
ว่าด้วยนิพพาน
[๑๑๒๙] สระมงคลโบกขรณีนี้ แต่ก่อนเป็นที่ลุ่มลึก มีน้ำมาก ปลาก็มาก เป็น ที่อยู่อาศัยของพระยานกยาง เป็นที่อยู่แห่งบิดาของเรา บัดนี้ น้ำแห้ง วันนี้พวกเราจะพากันเลี้ยงชีพด้วยกบ แม้พวกเราจะถูกความบีบคั้นถึง เพียงนี้ ก็จะไม่ละที่อยู่. [๑๑๓๐] ใครจะทำลายนัยน์ตาข้างที่สองของนายพันธุระ ผู้มีอาวุธในมือให้แตกได้ ใครจักกระทำลูก และรังของเรา และตัวเราให้มีความสวัสดีได้? [๑๑๓๑] ดูกรมหาบพิตร คติของกระพี้ไม้นั้นมีอยู่เพียงใด กระพี้ไม้ทั้งหมด แมลงภู่เจาะกินสิ้นแล้วเพียงนั้น แมลงภู่หมดอาหารแล้ว ย่อมไม่ยินดี ในไม้แก่น. [๑๑๓๒] ไฉนหนอ เราจึงจะจากที่นี่ไปให้พ้นจากราชนิเวศน์เสียได้ บันเทิงใจ ชมต้นไม้ กิ่งไม้ที่มีดอก ทำรังอาศัยอยู่ตามประสาของเรา. [๑๑๓๓] ไฉนหนอ เราจึงจะจากที่นี่ไปให้พ้นจากราชนิเวศน์เสียได้ จักนำหน้าฝูง ไปดื่มน้ำที่ดีเลิศได้. [๑๑๓๔] นายพรานภรตะชาวพาหิกรัฐ นำเราผู้มัวเมาด้วยกามทั้งหลาย ผู้กำหนัด หมกมุ่นอยู่ในกามมาแล้ว ลิงนั้นกล่าวว่า ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน ขอท่านจงปล่อยข้าพเจ้าเถิด. [๑๑๓๕] เมื่อความมืดตื้อปรากฏเบื้องบนภูเขาอันแข็งคม นางกินนรีนั้นได้กล่าว กะเราด้วยถ้อยคำอันไพเราะอ่อนหวานว่า ท่านอย่าจรดเท้าลงบนแผ่นดิน. [๑๑๓๖] เราเห็นนิพพานอันเป็นที่สิ้นชาติ ไม่ต้องเวียนมายังกำเนิดคัพภไสยาอีก ต่อไป โดยไม่ต้องสงสัย ความเกิดของเรานี้เป็นชาติมีในที่สุดกำเนิด คัพภไสยาก็มีในภายหลัง สงสารเพื่อภพใหม่ต่อไปของเราสิ้นสุดแล้ว.
จบ อัฏฐสัททชาดกที่ ๒.
๓. สุลสาชาดก
ผู้รอบรู้เหตุผลย่อมรอดพ้นศัตรู
[๑๑๓๗] สร้อยคอทองคำนี้ แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์มีมาก ท่านจงนำเอาทรัพย์นี้ ไปทั้งหมด ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน และจงประกาศข้าพเจ้าว่า เป็น ทาสีเถิดฯ [๑๑๓๘] แน่ะแม่คนงาม เจ้าจงเปลื้องเครื่องประดับออก อย่ามัวร่ำไรให้มากเลย เราไม่รู้อะไรทั้งนั้น เรานำเจ้ามาเพื่อทรัพย์เท่านั้น. [๑๑๓๙] ฉันมานึกถึงตัวเอง นับตั้งแต่น้อยคุ้มใหญ่ ฉันไม่ได้รู้จักรักชายอื่นยิ่งไป กว่าท่านเลย. [๑๑๔๐] ขอเชิญท่านนั่งลง ฉันจักขอกอดรัดท่านให้สมรัก และจักกระทำ ประทักษิณท่านเสียก่อน เพราะว่าต่อแต่นี้ไป การคบหากันระหว่างฉัน กับท่านจะไม่มีอีก. [๑๑๔๑] ชายจะเป็นบัณฑิตในที่ทุกแห่งก็หาไม่ แม้หญิงก็เป็นบัณฑิตมีปัญญา เฉลียวฉลาดในที่นั้นๆ ได้. [๑๑๔๒] ชายจะเป็นบัณฑิตในที่ทุกแห่งก็หาไม่ แม้หญิงก็เป็นบัณฑิตมีปัญญาดำริ เหตุผลได้รวดเร็ว. [๑๑๔๓] นางสุลสาหญิงแพศยายืนอยู่ ณ ที่ใกล้โจร คิดอุบายจะฆ่าโจร ได้ฆ่าโจร สัตตุกะตายได้รวดเร็ว เหมือนนายพรานเนื้อผู้ฉลาดฆ่าเนื้อได้เร็วพลัน เมื่อมีธนูบริบูรณ์มากแล้ว ฉะนั้น. [๑๑๔๔] ในโลกนี้ ผู้ใดไม่รู้เหตุผลที่เกิดขึ้นได้ฉับพลัน ผู้นั้นมีปัญญาเขลาย่อม ถูกฆ่าตาย เหมือนโจรถูกฆ่าตายที่ซอกภูเขา ฉะนั้น. [๑๑๔๕] ในโลกนี้ ผู้ใดย่อมรอบรู้เหตุผลที่เกิดขึ้นได้ฉับพลัน ผู้นั้นย่อมพ้นจาก ความเบียดเบียนของศัตรูได้ เหมือนนางสุลสาหญิงแพศยาหลุดพ้นไป จากโจรสัตตุกะ ฉะนั้น.
จบ สุลสาชาดกที่ ๓.
๔. สุมังคลชาดก
ว่าด้วยคุณธรรมของกษัตริย์
[๑๑๔๖] พระเจ้าแผ่นดินทรงรู้ว่า เรากำลังกริ้วจัดไม่พึงลงอาชญา อันไม่สมควร แก่ตนโดยไม่ใช่ฐานะก่อน พึงเพิกถอนความทุกข์ของผู้อื่นอย่างร้ายแรง ไว้. [๑๑๔๗] เมื่อใด พึงรู้ว่าจิตของตนผ่องใส พึงใคร่ครวญ ความผิดที่ผู้อื่นทำไว้ พึงพิจารณาให้เห็นแจ่มแจ้งด้วยตนเองว่า นี่ส่วนประโยชน์ นี่ส่วนโทษ เมื่อนั้น จึงปรับไหมบุคคลนั้นๆ ตามสมควร. [๑๑๔๘] อนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ไม่ถูกอคติครอบงำ ย่อมแนะนำผู้อื่น ที่ควรแนะนำ และไม่ควรแนะนำได้ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นชื่อว่า ไม่เผาผู้อื่น และพระองค์เอง พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดในโลกนี้ ทรงลงอาชญาสมควรแก่โทษ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น อันคุณงาม ความดีคุ้มครองแล้ว ย่อมไม่เสื่อมจากศิริ. [๑๑๔๙] กษัตริย์เหล่าใดถูกอคติครอบงำ ไม่ทรงพิจารณาเสียก่อนแล้วทำไป ทรง ลงอาชญาโดยผลุนผลัน กษัตริย์เหล่านั้นประกอบไปด้วยโทษน่าติเตียน ย่อมละทิ้งชีวิตไป และพ้นไปจากโลกนี้แล้ว ก็ย่อมไปสู่ทุคติ. [๑๑๕๐] พระราชาเหล่าใด ทรงยินดีแล้วในทศพิธราชธรรม อันพระอริยเจ้าประกาศ ไว้ พระราชาเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐด้วยกาย วาจา และใจ พระราชา เหล่านั้นทรงดำรงมั่นอยู่แล้วในขันติ โสรัจจะ และสมาธิ ย่อมถึงโลก ทั้งสองโดยวิธีอย่างนั้น. [๑๑๕๑] เราเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่ของสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าเราโกรธ ขึ้นมา เราก็ตั้งตนไว้ในแบบอย่างที่โบราณราชแต่งตั้งไว้ คอยห้ามปราม ประชาชนอยู่อย่างนั้น ลงอาชญาโดยอุบายอันแยบคายด้วยความเอ็นดู. [๑๑๕๒] ข้าแต่กษัตริย์ผู้ชนาธิปัติ บริวารสมบัติและปัญญามิได้ละพระองค์ในกาล ไหนๆ เลย พระองค์มิได้มักกริ้วโกรธ มีพระหฤทัยผ่องใสอยู่เป็นนิจ ขอพระองค์ทรงปราศจากทุกข์ บำรุงพระชนม์ชีพยืนอยู่ตลอดร้อยพรรษา เถิด. [๑๑๕๓] ข้าแต่กษัตริย์ ขอพระองค์ทรงประกอบด้วยคุณธรรมเหล่านี้ คือ โบราณ ราชวัตร มั่นคงทรงอนุญาตให้หนูเตือนได้ ไม่ทรงกริ้วโกรธมีความสุข สำราญ ไม่เดือดร้อน ปกครองแผ่นดินให้ร่มเย็น แม้จุติจากโลกนี้ไปแล้ว ก็จงทรงถึงสุคติเถิด. [๑๑๕๔] พระเจ้าธรรมิกราชทรงฉลาดในอุบาย เมื่อครองราชสมบัติด้วยอุบายอัน เป็นธรรม คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ อันบัณฑิตแนะนำกล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ พึงยังมหาชนผู้กำเริบร้อนกายและจิตให้ดับหายไป เหมือนมหาเมฆยัง แผ่นดินให้ชุ่มชื่นด้วยน้ำ ฉะนั้น.
จบ สุมังคลชาดกที่ ๔.
๕. คังคมาลชาดก
กามทั้งหลายเกิดจากความดำริ
[๑๑๕๕] แผ่นดินร้อนเหมือนถ่านไฟ ดาดาษไปด้วยทรายอันร้อนเหมือนเถ้ารึง เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้ายังทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ขับเพลงอยู่ได้ แดดไม่เผาเจ้า ดอกหรือ? เบื้องบนก็ร้อน เบื้องล่างก็ร้อน เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้ายังทำ เป็นทองไม่รู้ร้อน ขับเพลงอยู่ได้ แดดไม่เผาเจ้าดอกหรือ? [๑๑๕๖] ข้าแต่พระราชา แดดหาเผาข้าพระองค์ไม่ แต่ว่าวัตถุกาม และกิเลสกาม ย่อมเผาข้าพระองค์ เพราะว่าความประสงค์หลายๆ อย่าง มีอยู่ ความ ประสงค์เหล่านั้นย่อมเผาข้าพระองค์ แดดหาได้เผาข้าพระองค์ไม่. [๑๑๕๗] ดูกรกาม เราได้เห็นมูลรากของเจ้าแล้ว เจ้าเกิดจากความดำริ เราจักไม่ ดำริถึงเจ้าอีกละ เจ้าจักไม่เกิดด้วยอาการอย่างนี้. [๑๑๕๘] กามแม้น้อยก็ไม่พอแก่มหาชน มหาชนย่อมไม่อิ่มด้วยกามแม้มาก น่า สลดใจที่พวกคนพาลพากันบ่นว่า รูป เสียง เหล่านี้จงมีแก่เรา กุลบุตร ผู้ประกอบความเพียร พึงเว้นให้ขาดเถิด. [๑๑๕๙] การที่พระเจ้าอุทัยได้ถึงความเป็นใหญ่เป็นโตนี้ เป็นผลแห่งกรรมมี ประมาณน้อยของเรา มาณพใดละกามราคะออกบวชแล้ว มาณพนั้นชื่อ ว่าได้ลาภดีแล้ว. [๑๑๖๐] สัตว์ทั้งหลายย่อมละกรรมชั่วด้วยตบะ แต่สัตว์เหล่านั้น จะละความเป็น คน เอาหม้อตักน้ำให้เขาอาบด้วยตบะได้หรือ แน่ะคังคมาละ การที่ท่าน ข่มขี่ด้วยตบะ แล้วร้องเรียกโอรสของเราโดยชื่อว่าพรหมทัตต์วันนี้นั้น ไม่เป็นการสมควรเลย. [๑๑๖๑] เสด็จแม่ เราทั้งหลายพร้อมทั้งพระราชา และอำมาตย์ พากันไหว้ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เป็นผู้อันชนทั้งปวงไหว้แล้ว เชิญเสด็จแม่ ทอดพระเนตรดูผลแห่งขันติและโสรัจจะในปัจจุบันเถิด. [๑๑๖๒] ท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวอะไรๆ กะท่านคังคมาละผู้เป็นปัจเจกมุนี ศึกษา อยู่ในคลองมุนี ความจริง พระปัจเจกมุนีคังคมาละนี้ ข้ามห้วงน้ำที่ พระปัจเจกมุนีทั้งหลายข้ามแล้ว หมดความเศร้าโศกเที่ยวไป.
จบ คังคมาลชาดกที่ ๕.
๖. เจติยราชชาดก
ว่าด้วยเชฏฐาปจายนธรรม
[๑๑๖๓] เชฏฐาปจายนธรรม อันบุคคลใดทำลายแล้ว ย่อมทำลายบุคคลนั้นเสีย โดยแท้ เชฏฐาปจายนธรรมอันบุคคลใดไม่ทำลายแล้ว ย่อมไม่ทำลาย บุคคลนั้นสักหน่วยหนึ่ง เพราะเหตุนั้นแล พระองค์ไม่ควรทำลาย เชฏฐาปจายนธรรมเลย เชฏฐาปจายนธรรมที่พระองค์ทำลายแล้ว อย่า ได้กลับมาทำลายพระองค์เลย. [๑๑๖๔] เมื่อพระองค์ยังตรัสคำกลับกลอกอยู่ เทวดาทั้งหลายก็จะพากันหลีกหนี ไปเสีย พระโอฐจักมีกลิ่นบูดเน่าเหม็นฟุ้งไป ผู้ใดรู้อยู่ เมื่อถูกถามปัญหา แล้ว แกล้งแก้ปัญหานั้นไปเสียอย่างอื่น ผู้นั้นย่อมต้องพลัดตกลงจาก ฐานะของตน ข้าแต่พระเจ้าเจติยราช ถ้าพระองค์ตรัสสัจจวาจา พระองค์ ก็จะประทับอยู่ในพระราชวังตามเดิมได้ ถ้าพระองค์ยังตรัสมุสาอยู่ ก็จะ ประทับอยู่ได้ที่พื้นดินเท่านั้น. [๑๑๖๕] พระราชาพระองค์ใดทรงทราบอยู่ เมื่อถูกถามปัญหาแล้ว แกล้งตรัสแก้ ปัญหานั้นเสียอย่างอื่น ในแว่นแคว้นของพระราชาพระองค์นั้น ฝนย่อม ตกในเวลาไม่ใช่ฤดูกาล ย่อมไม่ตกตามฤดูกาล ข้าแต่พระเจ้าเจติยราช ถ้าพระองค์ตรัสสัจจวาจา พระองค์ก็จะประทับอยู่ในพระราชวังตามเดิมได้ ถ้าพระองค์ตรัสมุสาอยู่ ก็จะถูกแผ่นดินสูบ. [๑๑๖๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในทิศ พระราชาพระองค์ใดทรงทราบอยู่ เมื่อ ถูกถามปัญหาแล้วแกล้งตรัสแก้ปัญหานั้นไปเสียอย่างอื่น พระชิวหาของ พระราชาพระองค์นั้น จะเป็นแฉกเหมือนลิ้นงู ฉะนั้น ข้าแต่พระเจ้า- เจติยราช ถ้าพระองค์ตรัสสัจจวาจา พระองค์ก็จะประทับอยู่ใน พระราชวังตามเดิมได้ ถ้าพระองค์ยังตรัสมุสาอยู่ ก็จะถูกแผ่นดินสูบ ลึกลงไปอีก. [๑๑๖๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในทิศ พระราชาพระองค์ใดทรงทราบอยู่ เมื่อ ถูกถามปัญหาแล้ว แกล้งตรัสแก้ปัญหานั้นไปเสียอย่างอื่น พระชิวหา ของพระราชาพระองค์นั้น จะไม่มีเหมือนปลาฉะนั้น ข้าแต่พระเจ้าเจติย- ราช ถ้าพระองค์ตรัสสัจจวาจา พระองค์ก็จะประทับอยู่ในพระราชวัง ตามเดิมได้ ถ้าพระองค์ยังตรัสมุสาอยู่ ก็จะถูกแผ่นดินสูบลึกยิ่งกว่านี้ ไปอีก. [๑๑๖๘] พระราชาพระองค์ใดทรงทราบอยู่ เมื่อถูกถามปัญหาแล้ว แกล้งตรัสแก้ ปัญหานั้นไปเสียอย่างอื่น พระราชาพระองค์นั้นจะมีแต่พระธิดาเท่านั้น มาเกิด หามีพระโอรสมาเกิดในราชสกุลไม่ ข้าแต่พระเจ้าเจติยราช ถ้าพระองค์ตรัสสัจจวาจา พระองค์ก็จะประทับอยู่ในพระราชวังตามเดิม ได้ ถ้าพระองค์ยังตรัสมุสาอยู่ ก็จะถูกแผ่นดินสูบลึกยิ่งไปกว่านี้อีก. [๑๑๖๙] พระราชาพระองค์ใดทรงทราบอยู่ เมื่อถูกถามปัญหาแล้ว แกล้งตรัสแก้ ปัญหานั้นไปเสียอย่างอื่น พระราชาพระองค์นั้นจะไม่มีพระราชโอรส ถ้ามีก็พากันหลีกหนีไปยังทิศน้อย ทิศใหญ่ ข้าแต่พระเจ้าเจติยราช ถ้า พระองค์ตรัสสัจจวาจา พระองค์ก็จะประทับอยู่ในพระราชวังตามเดิมได้ ถ้าพระองค์ยังตรัสมุสาอยู่ ก็จะถูกแผ่นดินสูบลึกยิ่งกว่านั้นลงไปอีก. [๑๑๗๐] พระเจ้าเจติยราชนั้น แต่ก่อนเคยเสด็จเที่ยวไปได้ในอากาศ ภายหลังถูก พระฤาษีสาปแล้วเสื่อมอำนาจ ถึงกำหนดเวลาของตนแล้วก็ถูกแผ่นดิน สูบ เพราะเหตุนั้นแหละ บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญฉันทาคติ บุคคล ไม่พึงเป็นผู้มีจิตถูกฉันทาคติเป็นต้นประทุษร้าย พึงกล่าวแต่คำสัจเท่านั้น.
จบ เจติยราชชาดกที่ ๖.
๗. อินทริยชาดก
ว่าด้วยดี ๔ ชั้น
[๑๑๗๑] ดูกรนารทะ บุรุษใดตกอยู่ในอำนาจแห่งอินทรีย์เพราะกาม บุรุษนั้นละ โลกทั้งสองไปแล้ว ย่อมเกิดในอบายมีนรกเป็นต้น แม้เมื่อยังเป็นอยู่ก็ ย่อมซูบซีดไป. [๑๑๗๒] ทุกข์เกิดในลำดับแห่งสุข สุขเกิดในลำดับแห่งทุกข์ ส่วนท่านนั้นประ สบความทุกข์มากกว่าสุข ท่านจงหวังความสุขอันประเสริฐเถิด. [๑๑๗๓] ในเวลาเกิดความลำบาก บุคคลใดอดทนต่อความลำบากได้ บุคคลนั้น ย่อมไม่เป็นไปตามความลำบาก บุคคลนั้นเป็นนักปราชญ์ ย่อมบรรลุสุข ปราศจากเครื่องประกอบ อันเป็นที่สุดแห่งความลำบาก. [๑๑๗๔] ท่านไม่ควรเคลื่อนจากธรรม เพราะปรารถนากามทั้งหลาย เพราะเหตุใช่ ประโยชน์ เพราะเหตุเป็นประโยชน์ ถึงท่านจะทำสุขในฌานที่สำเร็จ แล้วให้นิราศไป ก็ไม่ควรจะเคลื่อนจากธรรมเลย. [๑๑๗๕] ความขยันของคฤหบดีผู้อยู่ครองเรือนดีชั้นหนึ่ง การแบ่งปันโภคทรัพย์ ให้แก่สมณพราหมณ์ ผู้ตั้งอยู่ในธรรมแล้วบริโภคด้วยตนเอง ดีชั้น สอง เมื่อได้ประโยชน์ไม่ระเริงใจด้วยความมัวเมา ดีชั้นสาม เมื่อเวลา เสื่อมประโยชน์ ไม่มีความลำบากใจ ดีชั้นสี่. [๑๑๗๖] เทวิลดาบสผู้สงบระงับ ได้พร่ำสอนความเป็นบัณฑิตกะนารทดาบสนั้น ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ว่า บุคคลผู้เลวกว่าผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจอินทรีย์ ไม่มีเลย. [๑๑๗๗] ข้าแต่พระเจ้าสีวิราช พระองค์เกือบจะถึงความพินาศอยู่ในเงื้อมมือของ ศัตรูทั้งหลายเทียว เหมือนข้าพระองค์ไม่กระทำกรรมที่ควรกระทำ ไม่ ศึกษาศิลปวิทยา ไม่ทำความขวนขวายเพื่อให้เกิดโภคทรัพย์ ไม่ทำ อาวาหวิวาหะ ไม่รักษาศีล ไม่กล่าววาจาอ่อนหวาน ทำยศเหล่านี้ให้ เสื่อมไป จึงมาบังเกิดเป็นเปรต เพราะกรรมของตน. [๑๑๗๘] ข้าพระองค์นั้นปฏิบัติชอบแล้ว พึงยังโภคะให้เกิดขึ้น เหมือนบุรุษชำนะ แล้วพันคน ไม่มีพวกพ้องที่พึ่งอาศัย ล่วงเสียจากอริยธรรม มีอาการ เหมือนเปรต ฉะนั้น. [๑๑๗๙] ข้าพระองค์ทำสัตว์ทั้งหลาย ผู้ใคร่ต่อความสุขให้ได้รับความทุกข์ จึงได้ มาถึงส่วนอันนี้ ข้าพระองค์นั้นดำรงอยู่ เหมือนบุคคลอันกองถ่านไฟ ล้อมรอบด้าน ย่อมไม่ได้ประสบความสุขเลย.
จบ อินทริยชาดกที่ ๗.
๘. อาทิตตชาดก
ว่าด้วยการให้ทานกับการรบ
[๑๑๘๐] เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ บุคคลผู้เป็นเจ้าของขนเอาสิ่งของอันใดออกได้ สิ่ง ของอันนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เจ้าของนั้น แต่ของที่ถูกไฟไหม้ย่อมไม่ เป็นประโยชน์แก่เขา. [๑๑๘๑] โลกถูกชราและมรณะเผาแล้วอย่างนี้ บุคคลพึงนำออกเสียด้วยการให้ทาน ทานที่ให้แล้วจะน้อยก็ตามมากก็ตาม ชื่อว่าเป็นอันนำออกดีแล้ว. [๑๑๘๒] คนใดให้ทานแก่ท่านผู้มีธรรมอันได้แล้ว ผู้บรรลุธรรมด้วยความเพียรและ ความหมั่น คนนั้นล่วงเลยเวตรณีนรกของพระยายมไปได้แล้ว จะเข้า ถึงทิพยสถาน. [๑๑๘๓] ท่านผู้รู้กล่าวทานกับการรบว่ามีสภาพเสมอกัน นักรบแม้จะมีน้อยก็ชำนะ คนมากได้ เจตนาเครื่องบริจาคก็เหมือนกัน แม้จะน้อย ย่อมชำนะหมู่ กิเลสแม้มากได้ ถ้าบุคคลเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ย่อมให้ทานแม้ น้อย เขาก็เป็นสุขในโลกหน้า เพราะการบริจาคมีประมาณน้อยนั้น. [๑๑๘๔] การเลือกทักขิณาทานและพระทักขิไณยบุคคลแล้วจึงให้ทาน พระสุคต ทรงสรรเสริญ ทานที่บุคคลถวายในพระทักขิไณยบุคคล มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ในสัตว์โลกนี้ ย่อมมีผลมาก เหมือนพืชที่หว่านลงใน นาดี ฉะนั้น. [๑๑๘๕] บุคคลใดไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายเที่ยวไปอยู่ ไม่ทำบาป เพราะกลัวคน อื่นจะติเตียน บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลผู้กลัวบาปนั้น ย่อม ไม่สรรเสริญบุคคลผู้กล้าในการทำบาป เพราะว่าสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ ทำบาป เพราะความกลัวถูกติเตียน. [๑๑๘๖] บุคคลย่อมเกิดในสกุลกษัตริย์เพราะพรหมจรรย์อย่างต่ำ เกิดในเทวโลก เพราะพรหมจรรย์อย่างกลาง และบริสุทธิ์ได้เพราะพรหมจรรย์อย่างสูง. [๑๑๘๗] ทานท่านผู้รู้สรรเสริญโดยส่วนมากก็จริง แต่ว่าบทแห่งธรรมแลประเสริฐ กว่าทาน เพราะว่าสัตบุรุษทั้งหลายในครั้งก่อน หรือว่าก่อนกว่านั้นอีก ผู้มีปัญญาเจริญสมถวิปัสสนาแล้วได้บรรลุนิพพานนั่นเทียว.
จบ อาทิตตชาดกที่ ๘.
๙. อัฏฐานชาดก
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
[๑๑๘๘] เมื่อใด แม่น้ำคงคาดาดาษด้วยดอกบัวก็ดี นกดุเหว่าสีขาวเหมือนสังข์ก็ ดี ต้นหว้าพึงให้ผลเป็นตาลก็ดี เมื่อนั้นเราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่. [๑๑๘๙] เมื่อใด ผ้าสามชนิดจะพึงสำเร็จได้ด้วยขนเต่า ใช้เป็นเครื่องกันหนาว ในคราวน้ำค้างตกได้ เมื่อนั้น เราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่. [๑๑๙๐] เมื่อใด เท้ายุงทั้งหลายจะพึงทำเป็นป้อมมั่นคงดีไม่หวั่นไหว อาจจะทน บุรุษผู้ขึ้นรบได้ตั้งร้อย เมื่อนั้น เราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่. [๑๑๙๑] เมื่อใด เขากระต่ายจะพึงทำเป็นบันไดเพื่อขึ้นไปสวรรค์ได้ เมื่อนั้น เรา ทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่. [๑๑๙๒] เมื่อใด หนูทั้งหลายจะพึงไต่บันไดขึ้นไปกัดพระจันทร์ และขับไล่ราหู ให้หนีไปได้ เมื่อนั้น เราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่. [๑๑๙๓] เมื่อใด แมลงวันทั้งหลายเที่ยวไปเป็นหมู่ๆ ดื่มเหล้าหมดหม้อเมาแล้ว จะพึงเข้าไปอยู่ในโรงถ่านเพลิง เมื่อนั้นเราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่. [๑๑๙๔] เมื่อใด ลาพึงมีริมฝีปากงาม สีเหมือนผลมะพลับ มีหน้างามเหมือนแว่น ทอง จะเป็นสัตว์ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้องได้ เมื่อนั้น เราทั้งสองพึง อยู่ร่วมกันได้แน่. [๑๑๙๕] เมื่อใด กากับนกเค้าพึงปรารถนาสมบัติให้แก่กันและกัน ปรึกษา ปรองดองกันอยู่ในที่ลับได้ เมื่อนั้น เราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่. [๑๑๙๖] เมื่อใด รากไม้และใบไม้อย่างละเอียด พึงเป็นร่มมั่นคงป้องกันฝนได้ เมื่อนั้น เราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่. [๑๑๙๗] เมื่อใด นกตัวเล็กๆ พึงเอาจะงอยปากคาบภูเขาคันธมาทน์บินไปได้ เมื่อนั้น เราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่. [๑๑๙๘] เมื่อใด เด็กๆ พึงจับเรือใหญ่อันประกอบด้วยเครื่องยนต์และใบพัด กำลังแล่นไปในสมุทรไว้ได้ เมื่อนั้น เราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันได้แน่.
จบ อัฏฐานชาดกที่ ๙.
๑๐. ทีปิชาดก
ว่าด้วยคนร้ายไม่ต้องการเหตุผล
[๑๑๙๙] คุณลุงครับ ท่านพออดทนหรือ พอจะเยียวยาอัตภาพไปได้อยู่หรือ ท่าน มีความสุขดีหรือ มารดาของฉันได้ถามถึงความสุขของท่าน เราทั้งหลาย ปรารถนาความสุขแก่ท่านเหมือนกัน. [๑๒๐๐] แน่ะแม่แพะ เจ้ามารังแกเหยียบหางของเราได้ วันนี้เจ้าสำคัญว่า จะพึง พ้นความตายด้วยวาทะว่าลุงหรือ? [๑๒๐๑] ท่านนั่งผินหน้าตรงทิศบูรพา ฉันก็ได้มานั่งอยู่ตรงหน้าท่าน ไฉน ฉันจะ เข้าไปเหยียบหางของท่าน ซึ่งอยู่เบื้องหลังได้เล่า. [๑๒๐๒] ทวีปทั้งสี่ ทั้งมหาสมุทรและภูเขา มีประมาณเท่าใด เราเอาหางของเรา วงที่มีประมาณเท่านั้นไว้หมด เจ้าจะงดเว้นที่ที่เราเอาหางวงไว้นั้นได้ อย่างไร? [๑๒๐๓] ในกาลก่อน มารดาบิดาก็ดี พี่น้องทั้งหลายก็ดี ได้บอกความเรื่องนี้แก่ ฉันแล้ว ว่าหางของท่านผู้ประทุษร้ายยาว ฉันจึงมาทางอากาศ. [๑๒๐๔] แน่ะแม่แพะ ก็เพราะว่าฝูงเนื้อเห็นเจ้ามาในอากาศ จึงพากันหนีไปเสีย ภักษาหารของเรา เจ้าทำให้พินาศหมดแล้ว. [๑๒๐๕] เมื่อแม่แพะวิงวอนอยู่อย่างนี้ เสือเหลืองผู้มีเลือดเป็นภักษาหารก็ขม้ำคอ วาจาสุภาษิตมิได้มีในบุคคลประทุษร้าย. [๑๒๐๖] เหตุผล สภาพธรรม วาจาสุภาษิต มิได้มีในบุคคลผู้ประทุษร้ายเลย บุคคลพึงพยายามหลีกไปให้พ้นบุคคลผู้ประทุษร้าย ก็บุคคลผู้ประทุษร้าย นั้น ย่อมไม่ยินดีคำสุภาษิตของสัตบุรุษทั้งหลาย.
จบ ทีปิชาดกที่ ๑๐.
จบ กัจจานิวรรค.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กัจจานิชาดก ๒. อัฏฐสัททชาดก ๓. สุลสาชาดก ๔. สุมังคลชาดก ๕. คังคมาลชาดก ๖. เจติยราชชาดก ๗. อินทริยชาดก ๘. อาทิตตชาดก ๙. อัฏฐานชาดก ๑๐. ทีปิชาดก.
จบ อัฏฐกนิบาตชาดก.
-----------------------------------------------------
นวกนิบาตชาดก
๑. คิชฌชาดก
ผู้ไม่ทำตามคำสอนย่อมพินาศ
[๑๒๐๗] ทางบนคิชฌบรรพตชื่อว่า ปริสังกุปถะ เป็นของเก่าแก่ แร้งเลี้ยงดู มารดาบิดาผู้ชราอยู่ที่ทางนั้น. [๑๒๐๘] โดยมากไปเที่ยวหามันข้นงูเหลือมมาให้มารดาบิดาเหล่านั้นกิน ฝ่ายบิดา รู้ว่าแร้งสุปัตผู้ลูกมีปีกแข็งแล้ว กล้าหาญ มักร่อนขึ้นไปสูง เที่ยวไป ไกลๆ จึงได้กล่าวสอนลูกว่า. [๑๒๐๙] ลูกเอ๋ย เมื่อใด เจ้ารู้ว่าแผ่นดินอันทะเลล้อมรอบ กลมดังกงจักร ลอย อยู่บนน้ำเหมือนใบบัว เมื่อนั้น เจ้าจงกลับเสียจากที่นั้น อย่าบินต่อ จากนั้นไปอีกเลย. [๑๒๑๐] แร้งสุปัตเป็นสัตว์มีกำลังมาก ปีกแข็ง ร่างกายสมบูรณ์ บินขึ้นไปถึง อากาศเบื้องบนโดยกำลังเร็ว เมื่อเหลียวกลับมาแลดูภูเขา และป่าไม้ ทั้งหลาย ฯ [๑๒๑๑] ก็ได้แลเห็นแผ่นดินอันทะเลล้อมรอบ กลมดังกงจักร เหมือนกับคำที่ตน ได้ฟังมาจากสำนักแร้งผู้บิดา ฉะนั้น. [๑๒๑๒] แร้งสุปัตนั้น ได้บินล่วงเลยที่นั้นขึ้นไปเบื้องหน้าอีก ยอดลมแรงได้ ประหารแร้งสุปัตผู้มีกำลังมากนั้นให้เป็นจุรณ. [๑๒๑๓] แร้งสุปัตบินเกินไป ไม่สามารถจะกลับจากที่นั้นได้อีก ตกอยู่ในอำนาจ ของลมเวรัพภาวาต ถึงความพินาศแล้ว. [๑๒๑๔] เมื่อแร้งสุปัตไม่ทำตามโอวาทของบิดา บุตรภรรยา และแร้งอื่นๆ ที่ อาศัยเลี้ยงชีพ ก็พากันถึงความพินาศไปด้วยทั้งหมด. [๑๒๑๕] แม้ในศาสนานี้ก็เหมือนกัน ภิกษุใดไม่เชื่อถ้อยฟังคำของผู้ใหญ่ ภิกษุ นั้นเป็นผู้ชื่อว่าล่วงศาสนา ดุจแร้งล่วงเขตแดน ฉะนั้น ผู้ไม่ทำตามคำ สอนของท่านผู้ใหญ่ ย่อมถึงความพินาศทั้งหมด.
จบ คิชฌชาดกที่ ๑.
๒. โกสัมพิยชาดก
อยู่คนเดียวดีกว่าร่วมกับคนพาล
[๑๒๑๖] คนพาลมีเสียงอื้ออึงเหมือนกันหมด สักคนหนึ่งก็ไม่รู้สึกตนว่าเป็นคน พาล เมื่อสงฆ์แตกกัน ก็ไม่รู้เหตุอื่นโดยยิ่งกว่าสงฆ์แตกกันเพราะเรา. [๑๒๑๗] เพราะเป็นคนมีสติหลงลืม ยังพูดว่าตนเป็นบัณฑิต มีวาจาเป็นโคจร ช่าง พูด ย่อมปรารถนาจะให้เสียงออกจากปากอยู่เพียงใด ก็พูดไปเพียงนั้น เขาถูกความทะเลาะนำไปแล้ว ยังไม่รู้ว่าการทะเลาะนั้นเป็นโทษ. [๑๒๑๘] ก็ชนเหล่าใดเข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตี เรา คนโน้นได้ชำนะเรา คนโน้นได้ลักของๆ เรา เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่ระงับเลย. [๑๒๑๙] ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้น ได้ตีเรา คนโน้นได้ชำนะเรา คนโน้นได้ลักของๆ เรา เวรของชน เหล่านั้นย่อมระงับไป. [๑๒๒๐] ในกาลไหนๆ เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับ เพราะความไม่มีเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า. [๑๒๒๑] ก็ชนเหล่าอื่นย่อมไม่รู้สึกว่า พวกเราจะพากันยุบยับในท่ามกลางสงฆ์นี้ ฝ่ายชนเหล่าใดในหมู่นั้นย่อมรู้สึกได้ ความหมายมั่นกันย่อมสงบระงับ ไป เพราะการทำไว้ในใจโดยแยบคายของชนเหล่านั้น. [๑๒๒๒] คนที่ปล้นแว่นแคว้น ชิงทรัพย์สมบัติตัดกระดูกกัน ปลงชีวิตกัน ก็ ยังกลับสามัคคีกันได้ เหตุไรเธอทั้งหลายจึงไม่สามัคคีกันเล่า? [๑๒๒๓] ถ้าจะพึงได้สหายผู้มีปัญญา เป็นนักปราชญ์เที่ยวไปร่วมกัน ผู้มีปกติ อยู่ด้วยกรรมดี พึงครอบงำอันตรายทั้งปวงเสีย แล้วดีใจ มีสติเที่ยวไป กับสหายนั้น. [๑๒๒๔] ถ้าไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญา เป็นนักปราชญ์เที่ยวไปร่วมกัน ผู้มีปกติ อยู่ด้วยกรรมดี พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว เหมือนพระราชาทรงสละ แว่นแคว้นเสด็จไปแต่พระองค์เดียว หรือเหมือนช้างมาตังคะเที่ยวไปใน ป่าแต่เชือกเดียว ฉะนั้น. [๑๒๒๕] การเที่ยวไปผู้เดียวประเสริฐกว่า เพราะคุณเครื่องความเป็นสหายย่อมไม่ มีในคนพาล ควรเที่ยวไปแต่ผู้เดียวแต่ไม่ควรทำบาป เหมือนช้างมาตังคะ มีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปในป่า ไม่ทำกรรมชั่ว ฉะนั้น.
จบ โกสัมพิยชาดกที่ ๒.
๓. มหาสุวราชชาดก
ว่าด้วยสหายย่อมไม่ละทิ้งสหาย
[๑๒๒๖] เมื่อใด ต้นไม้มีผลบริบูรณ์ เมื่อนั้น ฝูงนกย่อมพากันมามั่วสุมบริโภค ผลไม้ต้นนั้น ครั้นรู้ว่าต้นไม้นั้นสิ้นผลแล้ว ฝูงนกก็พากันจากต้นไม้นั้น บินไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่. [๑๒๒๗] ดูกรนกแขกเต้าผู้มีจะงอยปากแดง ท่านจงเที่ยวจาริกไปเถิด อย่ามาตาย เสียเลย ทำไมท่านจึงซบเซาอยู่ที่ต้นไม้แห้ง แน่ะนกแขกเต้าผู้มีขนเขียว ดังไพรสณฑ์ในฤดูฝน ขอเชิญท่านบอกเถิด เหตุไรท่านจึงไม่ทิ้งต้นไม้ แห้งไป? [๑๒๒๘] ดูกรพญาหงส์ ชนเหล่าใดเป็นเพื่อนของเพื่อนทั้งหลาย ในคราวร่วม สุขทุกข์จนตลอดชีวิต ชนเหล่านั้นเป็นสัตบุรุษ ระลึกถึงธรรมของ สัตบุรุษ ย่อมละทิ้งสหายผู้สิ้นทรัพย์ หรือยังไม่สิ้นทรัพย์ไปไม่ได้เลย. [๑๒๒๙] ดูกรพญาหงส์ เราก็เป็นผู้หนึ่งในบรรดาสัตบุรุษทั้งหลาย ต้นไม้นี้เป็น ทั้งญาติเป็นทั้งเพื่อนของเรา เราต้องการเพียงเพื่อเป็นอยู่ จึงไม่อาจละทิ้ง ต้นไม้นั้นไปได้ การที่จะละทิ้งไปเพราะมารู้ว่าต้นไม้นั้นสิ้นผลแล้ว ไม่ ยุติธรรมเลย. [๑๒๓๐] ดูกรปักษี ความเป็นสหาย ความไมตรี ความสนิทสนมกัน ท่านทำ ได้เป็นอย่างดีแล้ว ถ้าท่านชอบธรรมนี้ ท่านก็เป็นผู้ควรที่วิญญูชนทั้ง หลายพึงสรรเสริญ. [๑๒๓๑] ดูกรนกแขกเต้าผู้มีปีกเป็นยาน มีคอโค้งเป็นสง่า เราจะให้พรแก่ท่าน ท่านจงเลือกเอาพรตามใจปรารถนาเถิด. [๑๒๓๒] ดูกรพญาหงส์ ถ้าท่านจะให้พรแก่เรา ขอต้นไม้นี้พึงได้มีอายุต่อไป ต้นไม้นั้นจงมีกิ่งมีผลงอกงามดี มีผลมีรสหวาน เหมือนน้ำผึ้งตั้งอยู่อย่าง งามสง่าเถิด. [๑๒๓๓] ดูกรสหาย ท่านจงดูต้นไม้นั้นมีผลมากมาย ขอให้ท่านได้อยู่ร่วมกับต้นมะ เดื่อของท่าน ขอให้ต้นมะเดื่อนั้นจงมีกิ่งก้านมีผลงอกงามดีมีผลมีรส หวานเหมือนน้ำผึ้งตั้งอยู่อย่างงามสง่า. [๑๒๓๔] ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญสุขพร้อมกับพระญาติทั้ง ปวง เหมือนข้าพระบาทมีความสุข เพราะได้เห็นต้นไม้เผล็ดผลในวันนี้ ฉะนั้นเถิด. [๑๒๓๕] ท้าวสักกเทวราช ได้ฟังคำของนกแขกเต้า ทรงทำต้นไม้ให้มีผลแล้ว เสด็จกลับไปสู่เทพนันทวันพร้อมกับมเหสี.
จบ มหาสุวราชชาดกที่ ๓.
๔. จุลลสุวกราชชาดก
ว่าด้วยผู้รักษาไมตรี
[๑๒๓๖] ต้นไม้ทั้งหลายมีใบเขียว มีผลดก มีอยู่เป็นอันมาก เหตุไรพญานก แขกเต้าจึงมีใจยินดีในไม้แห้งผุเล่า? [๑๒๓๗] เราได้กินผลแห่งต้นไม้นี้นับได้หลายปีมาแล้ว ถึงเราจะรู้ว่าต้นไม้นั้นไม่มี ผลแล้ว ก็ต้องรักษาไมตรีให้เหมือนในกาลก่อน. [๑๒๓๘] นกทั้งหลายย่อมละทิ้งต้นไม้แห้งผุ ไม่มีใบ ไม่มีผลไป แน่ะนกแขกเต้า ท่านเห็นโทษอะไรหรือ? [๑๒๓๙] นกเหล่าใด คบหากันเพราะต้องการผลไม้ ครั้นรู้ว่าต้นไม้นี้ไม่มีผลแล้ว ก็ละทิ้งต้นไม้นั้นไปเสีย นกเหล่านั้นโง่เขลา มีความรู้เพื่อประโยชน์ ของตนเท่านั้น มักทำฝักใฝ่แห่งมิตรภาพให้ตกไป. [๑๒๔๐] ดูกรปักษี ความเป็นสหาย ความไมตรี ความสนิทสนมกัน ท่านทำ ไว้เป็นอย่างดีแล้ว ถ้าท่านชอบธรรมนี้ ท่านก็เป็นผู้ควรที่วิญญูชน ทั้งหลายพึงสรรเสริญ. [๑๒๔๑] ดูกรนกแขกเต้าผู้มีปีกเป็นยาน มีคอโค้งเป็นสง่า เราจะให้พรแก่ท่าน ท่านจงเลือกเอาพรตามใจปรารถนาเถิด. [๑๒๔๒] ไฉนข้าพเจ้าจะพึงได้เห็นต้นไม้นั้นกลับมีใบมีผลอีกเล่า ข้าพเจ้าจะยินดี ที่สุด เหมือนคนจนได้ขุมทรัพย์ ฉะนั้น. [๑๒๔๓] ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงวักน้ำอมฤตมาประพรมต้นไม้นั้น กิ่งก้าน แห่งต้นไม้นั้นก็งอกงาม มีร่มเงาชุ่มชื่นน่ารื่นรมย์ใจ. [๑๒๔๔] ข้าแต่ท้าวสักกเทวราช ขอพระองค์ทรงพระเจริญสุขพร้อมด้วยพระญาติ ทั้งปวง เหมือนข้าพระบาทมีความสุข เพราะได้เห็นต้นไม้เผล็ดผลใน วันนี้ ฉะนั้นเถิด. [๑๒๔๕] ท้าวสักกเทวราชได้ทรงฟังคำของนกแขกเต้า ทรงทำต้นไม้ให้มีผล แล้ว เสด็จกลับไปสู่เทพนันทวันพร้อมกับพระมเหสี.
จบ จุลลสุวกราชชาดกที่ ๔.
๕. หริตจชาดก
ว่าด้วยกิเลสที่มีกำลังกล้า
[๑๒๔๖] ข้าแต่มหาพราหมณ์ โยมได้ยินเขาพูดกันว่า หาริตดาบสบริโภคกาม คำนี้ ไม่เป็นจริงกระมัง ท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่แลหรือ? [๑๒๔๗] ขอถวายพระพรมหาบพิตร คำที่พระองค์ทรงสดับมาแล้วอย่างใด คำนั้น ก็เป็นจริงอย่างนั้น อาตมภาพเป็นผู้หมกมุ่นอยู่ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่ง ความหลง เดินทางผิดแล้ว. [๑๒๔๘] ปัญญาอันละเอียด คิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นเครื่องให้ใจบรรเทา ราคะที่เกิดแล้วของท่าน มีไว้เพื่อประโยชน์อะไร? [๑๒๔๙] ขอถวายพระพรมหาบพิตร กิเลส ๔ อย่างนี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มทะ เป็นของมีกำลังกล้าหยาบคายในโลก เมื่อกิเลสเหล่าใดรึงรัดแล้ว ปัญญา ก็ย่อมหยั่งไม่ถึง. [๑๒๕๐] โยมได้ยกย่องท่านแล้วว่า หาริตดาบสเป็นพระอรหันต์ สมบูรณ์ด้วย ศีล ประพฤติบริสุทธิ์ เป็นบัณฑิต มีปัญญา. [๑๒๕๑] ขอถวายพระพรมหาบพิตร วิตกอันลามก เป็นไปด้วยการยึดถือนิมิต ว่างาม ประกอบด้วยราคะ ย่อมเบียดเบียนแม้ผู้มีปัญญายินดีแล้วใน คุณธรรมของฤาษี. [๑๒๕๒] ราคะนี้เกิดขึ้นในสรีระ เกิดขึ้นมาแล้วเป็นของทำลายวรรณะ ท่านจงละ ราคะนั้นเสีย โยมขอนอบน้อมท่าน ท่านเป็นผู้อันชนหมู่มากยกย่อง แล้วว่าเป็นคนมีปัญญา. [๑๒๕๓] กามเหล่านั้นทำแต่ความมืดให้ มีทุกข์มาก มีพิษใหญ่หลวง อาตมภาพจัก ค้นหามูลรากแห่งกามเหล่านั้น จักตัดราคะพร้อมทั้งเครื่องผูกเสีย. [๑๒๕๔] ครั้นหาริตฤาษีกล่าวอย่างนี้แล้ว มีความบากบั่นอย่างแท้จริง คลายกาม ราคะได้แล้ว ได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก.
จบ หริตจชาดกที่ ๕.
๖. ปทกุศลมาณวชาดก
ว่าด้วยภัยที่เกิดแต่ที่พึ่งอาศัย
[๑๒๕๕] แม่น้ำคงคา ย่อมพัดพาเอามาณพชื่อปาฏลีผู้มีถ้อยคำอันไพเราะ ได้ศึกษา มามาก ให้ลอยไป ข้าแต่นายผู้ถูกน้ำพัดไป ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน ขอท่านจงให้เพลงขับบทน้อยๆ แก่ข้าพเจ้าสักบทหนึ่งเถิด. [๑๒๕๖] ชนทั้งหลายย่อมรดบุคคล ผู้ที่ได้รับความทุกข์ด้วยน้ำใด ชนทั้งหลาย ย่อมรดบุคคลผู้เร่าร้อนด้วยน้ำใด เราก็จักตายในท่ามกลางน้ำนั้น ภัย เกิดขึ้นแต่ที่พึ่งอาศัยแล้ว. [๑๒๕๗] พืชทั้งหลายงอกงามขึ้นได้บนแผ่นดินใด สัตว์ทั้งหลายดำรงอยู่ได้บน แผ่นดินใด แผ่นดินนั้นก็ทำลายศีรษะของเราแตก ภัยเกิดขึ้นแต่ที่พึ่ง อาศัยแล้ว. [๑๒๕๘] ชนทั้งหลายย่อมหุงข้าวด้วยไฟใด และกำจัดความหนาวด้วยไฟใด ไฟ นั้นก็มาลวกตัวของเรา ภัยเกิดขึ้นแต่ที่พึ่งอาศัยแล้ว. [๑๒๕๙] พราหมณ์และกษัตริย์ทั้งหลายเป็นจำนวนมาก ย่อมเลี้ยงชีพด้วยข้าวสุก ใด ข้าวสุกที่เรากินแล้ว ก็มาทำเราให้ถึงความพินาศ ภัยเกิดขึ้นแต่ที่พึ่ง อาศัยแล้ว. [๑๒๖๐] บัณฑิตทั้งหลายย่อมปรารถนาลมในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน ลมนั้นมาพัด ประหารตัวเรา ภัยเกิดขึ้นแต่ที่พึ่งอาศัยแล้ว. [๑๒๖๑] นกทั้งหลายพากันอาศัยต้นไม้ใด ต้นไม้นั้นก็พ่นไฟออกมา นกทั้งหลาย พากันหลบหนีไป ภัยเกิดขึ้นแต่ที่พึ่งอาศัยแล้ว. [๑๒๖๒] เรานำเอาหญิงใดผู้มีความโสมนัส ผู้ทัดทรงดอกไม้ มีกายอันประพรม ด้วยจันทน์เหลืองมา หญิงนั้นขับไล่เราให้ออกจากเรือน ภัยเกิดขึ้นแต่ ที่พึ่งอาศัยแล้ว. [๑๒๖๓] เราชื่นชมยินดีด้วยบุตรใด และเราปรารถนาความเจริญให้แก่บุตรใด บุตร นั้นก็มาขับไล่เราออกจากเรือน ภัยเกิดขึ้นแต่ที่พึ่งอาศัยแล้ว. [๑๒๖๔] ชาวชนบท และชาวนิคมผู้มาประชุมกันแล้วขอจงฟังข้าพเจ้า น้ำมีในที่ ใด ไฟก็มีในที่นั้น ความเกษมสำราญบังเกิดขึ้นแต่ที่ใด ภัยก็บังเกิด ขึ้นแต่ที่นั้น พระราชา และพราหมณ์ปุโรหิต ย่อมพากันปล้นรัฐเสีย เอง ท่านทั้งหลายจงพากันรักษาตนของตนอยู่เถิด ภัยเกิดขึ้นแต่ที่พึ่ง อาศัยแล้ว.
จบ ปทกุศลมาณวชาดกที่ ๖.
๗. โลมสกัสสปชาดก
ว่าด้วยตบะเป็นคุณธรรมอันประเสริฐ
[๑๒๖๕] ถ้าท่านนำเอาฤาษีชื่อโลมสกัสสปะมาบูชายัญได้ ท่านพึงได้เป็นพระราชา เสมอด้วยพระอินทร์ไม่รู้แก่ไม่รู้ตายเลย. [๑๒๖๖] อาตมาไม่ปรารถนาแผ่นดินซึ่งมีสมุทรล้อมรอบ มีสาครเป็นขอบเขต พร้อมกับความนินทา ดูกรไสยหะ ท่านจงทราบอย่างนี้เถิด. [๑๒๖๗] ดูกรพราหมณ์ เราติเตียนการได้ยศ การได้ทรัพย์ และความประพฤติ อันไม่เป็นธรรม มีแต่จะให้ถึงความพินาศ. [๑๒๖๘] ถึงแม้จะเป็นบรรพชิตต้องอุ้มบาตรหาเลี้ยงชีพ ความเป็นอยู่นั่นแหละดี กว่า การแสวงหาโดยไม่เป็นธรรมจะดีอะไร. [๑๒๖๙] ถึงแม้จะเป็นบรรพชิตต้องอุ้มบาตรหาเลี้ยงชีพ แต่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความเป็นอยู่นั่นแหละประเสริฐกว่าความเป็นพระราชาในโลก. [๑๒๗๐] พระจันทร์มีกำลัง พระอาทิตย์มีกำลัง สมณะและพราหมณ์มีกำลัง ฝั่ง แห่งสมุทรก็มีกำลัง หญิงก็มีกำลังยิ่งกว่ากำลังทั้งหลาย. [๑๒๗๑] เพราะพระนางจันทวดีทำให้ฤาษีชื่อโลมสกัสสปะ ผู้มีตบะกล้ามาบูชายัญ เพื่อประโยชน์แก่พระราชบิดาได้. [๑๒๗๒] กรรมที่บุคคลทำด้วยความโลภนั้น เป็นกรรมเผ็ดร้อน มีกามเป็นเหตุ เราจักค้นหามูลรากแห่งกรรมนั้น จักตัดราคะพร้อมทั้งเครื่องผูกเสีย. [๑๒๗๓] ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพติเตียนกามคุณทั้งหลายในโลกมากมาย ตบะ ธรรมเท่านั้นเป็นคุณธรรมอันประเสริฐกว่ากามคุณทั้งหลาย อาตมภาพจัก เลิกละกามคุณทั้งหลายเสียแล้ว บำเพ็ญตบะ รัฐก็ดี พระนางจันทวดี ก็ดี จงเป็นของพระองค์ตามเดิมเถิด.
จบ โลมสกัสสปชาดกที่ ๗.
๘. จักกวากชาดก
ว่าด้วยความเป็นอยู่ของนกจักรพราก
[๑๒๗๔] ข้าพเจ้าขอถามนกทั้งหลาย ผู้มีสีดังคลุมด้วยผ้าย้อมน้ำฝาด มีใจเพลิด เพลินเที่ยวอยู่ นกทั้งหลายย่อมสรรเสริญชาติของนกอะไรในหมู่มนุษย์ ทั้งหลาย ขอเชิญท่านทั้งสองบอกนกนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด? [๑๒๗๕] ดูกรท่านผู้เบียดเบียนมนุษย์ ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย นกทั้งหลายย่อมกล่าว ถึงข้าพเจ้าผู้มีชื่อว่านกจักรพราก ติดต่อกันมาว่า ในบรรดานกทั้งหลาย เขายกย่องกันว่า เราเป็นนกที่มีความงดงาม (เราเป็นนกมีรูปร่างงดงาม เที่ยวอยู่ที่สระ) เรามิได้ทำบาปแม้เพราะเหตุแห่งอาหาร. [๑๒๗๖] ดูกรนกจักรพราก ท่านทั้งหลายกินผลไม้อะไรที่สระนี้ หรือว่าท่านกินเนื้อ ที่ไหน หรือว่าท่านกินโภชนาหารอะไร กำลังและวรรณะของท่านจึงไม่ เสื่อมทรามผิดรูปไป? [๑๒๗๗] ดูกรกา ที่สระนี้จะมีผลไม้ก็หาไม่ เนื้อที่นกจักรพรากจะกิน ก็มิได้มีที่ ไหน เราจะกินแต่สาหร่ายกับน้ำ (เรามิได้ทำบาปแม้เพราะเหตุแห่งอาหาร) เราเป็นนกมีรูปร่างงดงามเที่ยวอยู่ที่สระนี้. [๑๒๗๘] ดูกรนกจักรพราก อาหารที่ท่านกินนี้เราไม่ชอบใจ อาหารที่ท่านกินใน ภพนี้อย่างไร ท่านก็คล้ายกันกับอาหารนั้น ครั้งก่อนเราเคยเป็นอย่างนี้มา แล้ว แต่บัดนี้เรากลายเป็นอย่างอื่นไป ด้วยเหตุนี้แหละ เราจึงเกิด ความสงสัยในสีกายของท่าน. [๑๒๗๙] แม้เราได้กินเนื้อ ผลไม้ และข้าวคลุกด้วยเกลือเจือด้วยน้ำมัน เรา ได้กินอาหารมีรสที่เขากินกันในหมู่มนุษย์ จึงได้กล้าหาญเข้าต่อสู่สงคราม ได้ ดูกรนกจักรพราก แต่สีสันวรรณะของเราหาได้เหมือนของท่านไม่. [๑๒๘๐] ดูกรกา ท่านเป็นผู้กินอาหารไม่บริสุทธิ์ มักจะโฉบลงในขณะที่เขา พลั้งเผลอ จะได้กินข้าวน้ำก็โดยยาก ผลไม้ทั้งหลายท่านก็ไม่ชอบใจกิน หรือเนื้อในกลางป่าช้าท่านก็ไม่ชอบใจกิน. [๑๒๘๑] ดูกรกา ผู้ใดอาศัยบริโภคโภคสมบัติด้วยกรรมอันสาหัส มักจะโฉบ ลงในขณะที่เขาพลั้งเผลอ ภายหลังสภาวธรรมก็ย่อมติเตียนผู้นั้น ผู้นั้น ถูกสภาวธรรมติเตียนแล้ว ก็ย่อมละทิ้งสีและกำลังเสีย. [๑๒๘๒] ถ้าผู้ใดได้บริโภคอาหารแม้สักนิดหน่อย ซึ่งเป็นของเย็นไม่เบียดเบียน ผู้อื่นด้วยกรรมอันผลุนผลัน กำลังกายและวรรณะก็ย่อมมีแก่ผู้นั้น วรรณะทั้งปวงจะได้มีแก่ผู้นั้นด้วยอาหารมีประการต่างๆ เท่านั้นก็หาไม่.
จบ จักกวากชาดกที่ ๘.
๙. หลิททราคชาดก
ว่าด้วยลักษณะของผู้ที่จะคบ
[๑๒๘๓] ความอดทนด้วยดีอยู่ในป่า อันมีที่นอนและที่นั่งสงัดเงียบ จะมีผล ดีอะไร ส่วนชนเหล่าใดอดทนอยู่ในบ้าน ชนเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐ กว่าท่าน. [๑๒๘๔] คุณพ่อครับ ผมออกจากป่าไปถึงบ้านแล้ว จะพึงคบหาบุรุษมีศีล อย่างไร มีวัตรอย่างไร ผมถามคุณพ่อแล้ว ขอคุณพ่อช่วยบอกข้อนั้น แก่ผมด้วย? [๑๒๘๕] ลูกเอ๋ย ผู้ใดพึงคุ้นเคยกับเจ้า อดทนต่อความวิสาสะของเจ้าได้ เป็นผู้ตั้งใจฟังคำพูดของเจ้า และอดทนต่อคำพูดของเจ้าได้ เจ้าไปจากที่ นี้แล้วจงคบผู้นั้นเถิด. [๑๒๘๖] ผู้ใดไม่มีกรรมชั่วด้วยกาย วาจา ใจ เจ้าไปจากที่นี้แล้วจงตั้งตน เหมือนลูกที่เกิดแต่อกของผู้นั้น แล้วจงคบผู้นั้นเถิด. [๑๒๘๗] อนึ่ง ผู้ใดย่อมประพฤติโดยธรรม แม้เมื่อประพฤติอยู่ก็ไม่ถือตัว เจ้า ไปจากที่นี้แล้วจงคบผู้นั้นผู้กระทำกรรมอันบริสุทธิ์มีปัญญาเถิด. [๑๒๘๘] ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าคบบุรุษผู้มีจิตกลับกลอกดุจผ้าที่ย้อมด้วยน้ำขมิ้น รัก ง่ายหน่ายเร็ว ถึงแม้ว่าพื้นชมพูทวีปจะพึงไร้มนุษย์. [๑๒๘๙] เจ้าจงเว้นคนเช่นนั้นเสียให้ห่างไกล เหมือนบุคคลผู้ละเว้นอสรพิษ ที่ดุร้าย เหมือนบุคคลผู้ละเว้นหนทางที่เปื้อนคูถ และเหมือนบุคคลผู้ไป ด้วยยานละเว้นหนทางขรุขระ ฉะนั้น. [๑๒๙๐] ลูกเอ๋ย ความฉิบหายย่อมเจริญแก่บุคคลผู้คบหาคนพาล เจ้าอย่า สมาคมกับคนพาลเลย การอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นทุกข์ทุกเมื่อ ดังอยู่ ร่วมกับศัตรู ฉะนั้น. [๑๒๙๑] ลูกเอ๋ย เพราะเหตุนั้น พ่อจึงขอร้องเจ้า ขอเจ้าจงกระทำตามถ้อย คำของพ่อ เจ้าอย่าสมาคมกับคนพาลเลย เพราะการสมาคมกับคนพาล เป็นทุกข์.
จบ หลิททราคชาดกที่ ๙.
๑๐. สมุคคชาดก
เปรียบหญิงมีอาการคล้ายก้นเหว
[๑๒๙๒] ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านทั้งสามคนพากันมาจากที่ไหนหนอ ท่าน ทั้งหลายมาดีแล้ว เชิญมานั่งที่อาสนะนี้เถิด ท่านผู้เจริญทั้งหลายเห็นจะ จะสุขสบายดี ไม่มีความป่วยไข้กระมัง นานมาแล้ว ท่านทั้งหลายพึ่ง มาในที่นี้? [๑๒๙๓] เราคนเดียวเท่านั้นมาถึงที่นี้ในวันนี้เอง อนึ่ง ใครที่จะเป็นคนที่สอง ของเราก็ไม่มี ข้าแต่พระฤาษี คำที่ท่านกล่าวว่า ดูกรท่านผู้เจริญ ท่าน ทั้งสามคนพากันมาจากที่ไหนหนอ ดังนี้ หมายถึงอะไร? [๑๒๙๔] ท่านคนหนึ่ง และภรรยาที่รักของท่านที่ท่านใส่ไว้ในสมุคคนหนึ่ง ภรรยา ที่ท่านรักษาไว้ในท้องของท่านทุกเมื่อ ยินดีอยู่กับวิชาธรชื่อว่าวายุบุตร ภายในท้องของท่านนั้นอีกคนหนึ่ง. [๑๒๙๕] อสูรนั้นอันฤาษีชี้แจงให้ฟังแล้ว ก็เกิดความสลดใจ จึงคายสมุค ออกมา ณ ที่นั้น ได้เห็นภรรยาผู้ทัดทรงดอกไม้อันสะอาด ยินดีอยู่กับ วิชาธรชื่อว่าวายุบุตร ในสมุคที่อยู่ในท้องของตนนั้น. [๑๒๙๖] เหตุอันนี้ ท่านผู้ประพฤติตบะชั้นสูงเห็นดีแล้ว นรชนเหล่าใดเป็น คนเลวทราม ตกอยู่ในอำนาจแห่งความชื่นชมยินดี นรชนเหล่านั้นได้ แก่ตัวเราเอง เพราะว่าภรรยาที่เรารักษาไว้ในท้องเพียงดังชีวิต กลับมา ประทุษร้ายเรา ไปชื่นชมยินดีกะบุรุษอื่น. [๑๒๙๗] ภรรยานั้นเราบำรุงบำเรอทั้งกลางวันกลางคืน ดุจไฟอันโชติช่วงที่ดาบสผู้มี ตบะอยู่ในป่าบำเรอฉะนั้น ภรรยานั้นก้าวล่วงธรรมมาประพฤติสิ่งที่ไม่ เป็นธรรม กายเชยชิดสนิทสนมกับภรรยาผู้ร่าเริง เราไม่ควรทำเลย. [๑๒๙๘] เรามาสำคัญเสียว่า ภรรยาอยู่ในท่ามกลางสรีระ และมาสำคัญหญิง ผู้ไม่มีความสงบไม่สำรวมว่า หญิงนี้เป็นภรรยาของเรา ภรรยาของเรานั้น ก้าวล่วงธรรมมาประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นธรรม การเชยชิดสนิทสนมกับภรรยา ผู้ร่าเริง เราไม่ควรทำเลย. [๑๒๙๙] บัณฑิตจะพึงวางใจอย่างไรได้ว่า หญิงนี้เรารักษาไว้ดีแล้ว วิธีที่จะ ป้องกันรักษาหญิงผู้มีหลายใจ ไม่พึงมีโดยแท้ เพราะว่าหญิงเหล่านั้นมี อาการคล้ายก้นเหวที่เรียกกันว่าบาดาล บุรุษผู้ประมาทในหญิงเหล่านั้น ย่อมถึงความพินาศทั้งนั้น. [๑๓๐๐] เพราะเหตุนั้นแหละ ชนเหล่าใดไม่เที่ยวคลุกคลีกับมาตุคาม ชนเหล่า นั้นมีความสุขปราศจากความโศก ความประพฤติไม่คลุกคลีกับมาตุคามนี้ เป็นคุณนำความสุขมาให้ บุคคลผู้ปรารถนาความเกษมอันอุดม ไม่พึงทำ ความเชยชิดสนิทสนมกับมาตุคามเลย.
จบ สมุคคชาดกที่ ๑๐.
๑๑. ปูติมังสชาดก
โทษของการมองในเวลาที่ไม่ควรมอง
[๑๓๐๑] ดูกรสหาย การมองดูของสุนัขจิ้งจอกชื่อว่าปูติมังสะ เราไม่พอใจ เสียเลย พึงละเว้นจากสหายเช่นนี้เสียให้ห่างไกล. [๑๓๐๒] นางสุนัขจิ้งจอกชื่อว่าเวนินี้เป็นบ้าไปได้ ย่อมพรรณนาถึงนางแพะ ผู้เป็นสหายให้ผัวฟัง ครั้นนางแพะถอยหลังกลับไปไม่มา ก็นั่งซบเซา ถึงนางแพะผู้มาแล้วถอยหลังกลับไปเสีย. [๑๓๐๓] ดูกรสหาย ท่านนั้นแหละบ้า มีปัญญาทราม ไม่มีปัญญาเครื่องใคร่ ครวญ ท่านทำอุบายล่อลวงว่าตาย ย่อมมองดูโดยกาลอันไม่ควร. [๑๓๐๔] บัณฑิตไม่ควรมองดูในกาลอันไม่ควร ควรมองดูแต่ในกาลอันควร ผู้ใด มองดูในกาลอันไม่ควร ผู้นั้นย่อมซบเซา ดังสุนัขจิ้งจอกชื่อปูติมังสะ ฉะนั้น. [๑๓๐๕] ดูกรสหาย ฉันมีความรัก ท่านจงให้ความอิ่มแก่ฉัน สามีของฉัน กลับฟื้นขึ้น ถ้าท่านรักฉันจงมาไปกับฉันเถิด. [๑๓๐๖] ดูกรสหาย ท่านมีความรักฉันจริง ฉันจะให้ความอิ่มเอิบแก่ท่าน ฉันจักมาพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ท่านจงจัดแจงโภชนาหารไว้เถิด. [๑๓๐๗] บริวารของท่านเช่นไร ฉันจักจัดแจงโภชนาหารเพื่อบริวารเหล่าใด ก็ บริวารเหล่านั้นทั้งหมดมีชื่อว่าอย่างไร ฉันถามท่านถึงบริวารท่าน จงบอก ฉันไปเถิด. [๑๓๐๘] บริวารของฉันเช่นนี้ คือ สุนัขชื่อมาลิยะ ๑ ชื่อจตุรักขะ ๑ ชื่อปิงคิยะ ๑ ชื่อชัมพุกะ ๑ ท่านจงจัดแจงโภชนาหารไว้เพื่อบริวารเหล่านั้นเถิด. [๑๓๐๙] เมื่อท่านออกจากเรือนไป แม้สิ่งของก็จักพินาศหมด คำพูดของสหาย มิได้มีความรังเกียจ ท่านจงอยู่ในที่นี้เถิด อย่าไปเลย.
จบ ปูติมังสชาดกที่ ๑๑.
๑๒. ทัททรชาดก
คนอกตัญญู ไม่รู้จักบุญคุณคนอื่น
[๑๓๑๐] ผู้ใดเจ้าให้ข้าวหุงกิน กลับกินลูกทั้งสองของเจ้าซึ่งมิได้มีความผิดเลย เจ้าจงวางเขี้ยวลงบนผู้นั้น อย่าปล่อยให้มันมีชีวิตอยู่ต่อไปเลย. [๑๓๑๑] บุรุษผู้มีความหยาบช้าร้ายแรง ผู้ลบหลู่ชิ้นผ้าที่ตนนุ่งอยู่ ฉันไม่ขอเห็น มันเลย ฉันจะวางเขี้ยวลงในบุรุษใดเล่า? [๑๓๑๒] อันบุรุษผู้อกตัญญู มักคอยแสวงหาโอกาสอยู่เป็นนิตย์ ถึงจะพึงให้แผ่น ดินทั้งปวง ก็ไม่พึงทำให้บุรุษนั้นชื่นชมยินดีได้เลย. [๑๓๑๓] ดูกรเสือโคร่งชื่อสุพาหุ เพราะเหตุไรหนอท่านจึงรีบด่วนกลับมาพร้อมกับ มาณพ กิจที่เป็นประโยชน์อะไรของท่านมีอยู่ในที่นี้ เราขอถามท่านถึง กิจอันเป็นประโยชน์นั้น ท่านจงบอกแก่เรา? [๑๓๑๔] นกกระทาผู้มีรูปงามตัวใด ซึ่งเป็นสหายของท่าน เราสงสัยว่านกกระทา ตัวนั้นจะถูกฆ่าเสียแล้วในวันนี้ เราได้ฟังเหตุอันเกี่ยวเนื่องด้วยการ กระทำของบุรุษนั้น จึงมิได้สำคัญว่านกกระทาตัวนั้นจะอยู่เป็นสุขในวันนี้. [๑๓๑๕] ท่านได้ฟังเหตุอะไรอันเกี่ยวเนื่องด้วยการกระทำของบุรุษนี้ ในความ ประพฤติเลี้ยงชีพของบุรุษนี้ หรือท่านได้ฟังคำปฏิญาณอะไรของบุรุษนี้ จึงสงสัยว่า นกกระทาถูกมาณพนี้ ฆ่าเสียแล้ว [๑๓๑๖] การค้าขายอันเป็นของชาวเมืองกลิงครัฐ บุรุษนี้ก็ได้ประพฤติมาแล้ว แม้ หนทางที่มีหลักตอ บุรุษนี้ก็ได้ประพฤติท่องเที่ยวไปด้วยการรับจ้าง การ ฟ้อนรำขับร้องร่วมกับคนฟ้อนทั้งหลาย บุรุษนี้ก็ได้ประพฤติมา ถึงการ รบกันด้วยท่อนไม้ในท่ามกลางมหรสพ บุรุษนี้นี้ก็ได้เคยรบมาแล้ว. [๑๓๑๗] นกทั้งหลายบุรุษนี้ก็ได้ดักมาแล้ว การตวงข้าวเปลือกด้วยเครื่องตวง บุรุษ นี้ก็ได้ตวงมาแล้ว สกาบุรุษนี้ก็ได้ชนะมาแล้ว ความสำรวมระวังบุรุษนี้ ก็ก้าวล่วงเสีย เลือดที่ไหลออกมาตั้งครึ่งคืนบุรุษนี้ก็คัดให้หยุดได้ มือ ทั้งสองของบุรุษนี้มีความร้อนในเวลารับก้อนข้าว. [๑๓๑๘] เราได้ฟังเหตุทั้งหลาย อันเกี่ยวเนื่องด้วยการกระทำของบุรุษนี้ ในความ ประพฤติเลี้ยงชีวิตของบุรุษนี้มาดังนี้ว่า กลุ่มขนนกกระทาก็ยังปรากฏอยู่ บนชฎาของบุรุษนี้ วัวทั้งหลายบุรุษนี้ก็ได้ฆ่ากินแล้ว ไฉนจะไม่ฆ่านก กระทากินเล่า.
จบ ทัททรชาดกที่ ๑๒.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. คิชฌชาดก ๒. โกสัมพิยชาดก ๓. มหาสุวราชชาดก ๔. จุลลสุวกราชชาดก ๕. หริตจชาดก ๖. ปทกุสลมาณวชาดก ๗. โลมสกัสสปชาดก ๘. จักกวากชาดก ๙. หลิททราคชาดก ๑๐. สมุคคชาดก ๑๑. ปูติมังสชาดก ๑๒. ทัททรชาดก.
จบ นวกนิบาตชาดก.
-----------------------------------------------------
ทสกนิบาตชาดก
๑. จตุทวารชาดก
ว่าด้วยจักรกรดพัดบนศีรษะ
[๑๓๑๙] เมืองนี้มีประตู ๔ ประตู มีกำแพงมั่นคงล้วนแล้วไปด้วยเหล็กแดง ข้าพเจ้า ถูกล้อมไว้ด้วยกำแพง ข้าพเจ้าได้ทำบาปอะไรไว้? [๑๓๒๐] ประตูทั้งหมดจึงปิดแน่น ข้าพเจ้าถูกขังเหมือนนก ข้าแต่เทวดา เหตุ เป็นมาอย่างไร ข้าพเจ้าจึงลูกจักรกรดพัดศีรษะ? [๑๓๒๑] ท่านได้ทรัพย์มากมายถึงสองล้านแล้ว มิได้ทำตามคำชอบของญาติ ทั้งหลายผู้เอ็นดู. [๑๓๒๒] ท่านแล่นเรือไปสู่สมุทรซึ่งอาจยังเรือให้โลดขึ้นได้ เป็นสาครมีสิทธิ์น้อย ได้ประสบนางเวมานิกเปรต ๔ นาง จาก ๔ นางเป็น ๘ นาง จาก ๘ นางเป็น ๑๖ นาง. [๑๓๒๓] ถึงจะได้ประสบนางเวมานิกเปรตจาก ๑๖ นางเป็น ๓๒ นาง ก็ยังปรารถนา ยิ่งไปกว่านั้น จึงได้ประสบจักรนี้ จักรกรดย่อมพัดผันบนศีรษะของ คนผู้ถูกความอยากครอบงำ. [๑๓๒๔] ความอยากเป็นของสูงใหญ่ไพศาล ยากที่จะให้เต็มได้ มักให้ถึงความ วิบัติ ชนเหล่าใดย่อมยินดีไปตามความอยาก ชนเหล่านั้นต้องเป็นผู้ทรง จักรกรดไว้. [๑๓๒๕] อนึ่ง ชนเหล่าใดละทิ้งสิ่งของมากมายเสีย ไม่พิจารณาหนทางให้ถ่องแท้ ไม่ใคร่ครวญเหตุนั้นให้ถี่ถ้วน ชนเหล่านั้นต้องเป็นผู้ทรงจักรกรดไว้. [๑๓๒๖] ผู้ใดพึงพิจารณาถึงการงาน และโภคะอันไพบูลย์ ไม่ซ่องเสพความอยาก อันประกอบด้วยความฉิบหาย ทำตามถ้อยคำของผู้เอ็นดูทั้งหลาย ผู้เช่น นั้นไม่พึงถูกจักรกรดพัดผัน. [๑๓๒๗] ข้าแต่เทวดา จักรกรดจักตั้งอยู่บนศีรษะของข้าพเจ้านานสักเท่าไรหนอ สักกี่พันปี ข้าพเจ้าขอถามความนั้น ขอท่านได้โปรดบอกแก่ข้าพเจ้า เถิด? [๑๓๒๘] ดูกรมิตตวินทุกะ ท่านจงฟังเรา ท่านจะต้องทนทุกข์ทรมานไปอีกนาน จักรกรดจะพัดผันอยู่บนศีรษะของท่าน เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ จะพ้น จักรกรดนั้นไปไม่ได้.
จบ จตุทวารชาดกที่ ๑.
๒. กัณหชาดก
ว่าด้วยขอพร
[๑๓๒๙] บุรุษนี้ดำจริงหนอ บริโภคโภชนะก็ดำ อยู่ในภูมิประเทศก็ดำ ไม่เป็น ที่ชอบใจของเราเลย. [๑๓๓๐] คนไม่ชื่อว่าเป็นคนดำเพราะผิวหนัง เพราะคนที่มีแก่นภายในจึงชื่อว่าเป็น พราหมณ์ ผู้ใดมีบาปกรรม ผู้นั้นแหละชื่อว่าเป็นคนดำ นะท้าวสุชัมบดี. [๑๓๓๑] ดูกรท่านพราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว สมควรเป็นสุภาษิต ข้าพเจ้าจะ ให้พรแก่ท่านอย่างหนึ่ง ตามแต่ใจท่านปรารถนา. [๑๓๓๒] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพรแก่ ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ปรารถนาให้ความประพฤติของตน อย่าให้มี ความโกรธ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้มีความโลภ อย่าให้มีความสิเนหา ขอได้ทรงโปรดประทานพร ๔ ประการนี้แก่ข้าพระองค์เถิด. [๑๓๓๓] ดูกรท่านพราหมณ์ ท่านเห็นโทษในความโกรธ ในโทสะ ในโลภะ และในสิเนหาเป็นอย่างไรหรือ ข้าพเจ้าขอถามความนั้น ขอท่านจงบอก แก่ข้าพเจ้าเถิด? [๑๓๓๔] ความโกรธเกิดแต่ความไม่อดทน ทีแรกเป็นของน้อย แต่ภายหลังเป็น ของมาก ย่อมเจริญขึ้นโดยลำดับ ความโกรธมักทำความเกี่ยวข้อง มี ความคับแค้นมาก เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจความโกรธ. [๑๓๓๕] วาจาของผู้ประกอบด้วยโทสะ เป็นวาจาหยาบคาย ถัดจากนั้นก็เกิด ปรามาสถูกต้องกัน ต่อจากนั้นก็ชกต่อยกันด้วยมือ ต่อไปก็หยิบท่อน ไม้เข้าทุบตีกัน จนถึงจับศาตราเข้าฟันแทงกันเป็นที่สุด โทสะเกิดแต่ ความโกรธ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจโทสะ. [๑๓๓๖] ความโลภเป็นอาการหยาบ เป็นเหตุให้เที่ยวปล้นขู่เอาสิ่งของแสดงของ ปลอมเปลี่ยนเอาของคนอื่น ทำอุบายล่อลวง บาปธรรมทั้งหลายนี้ มี ปรากฏอยู่เพราะโลภธรรม เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจโลภะ. [๑๓๓๗] กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย อันสิเนหาผูกรัดเข้าอีก เป็นของสำเร็จด้วย ใจ นอนเนื่องอยู่เป็นอันมาก ย่อมทำให้บุคคลเดือดร้อนยิ่งนัก เพราะ ฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจความสิเนหา. [๑๓๓๘] ดูกรท่านพราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว สมควรเป็นสุภาษิต ข้าพเจ้า จะให้พรแก่ท่านอย่างหนึ่ง ตามแต่ใจท่านปรารถนา. [๑๓๓๙] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพรแก่ ข้าพระองค์ ขออาพาธทั้งหลายอันเป็นของร้ายแรง ซึ่งจะทำอันตรายตบะ กรรมได้ อย่าพึงบังเกิดแก่ข้าพระองค์ผู้อยู่ในป่า ซึ่งอยู่แต่ผู้เดียว เป็นนิตย์. [๑๓๔๐] ดูกรท่านพราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว สมควรเป็นสุภาษิต ข้าพเจ้า จะให้พรแก่ท่านอย่างหนึ่ง ตามแต่ใจท่านปรารถนา. [๑๓๔๑] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพรแก่ข้า พระองค์ ขอใจหรือร่างกายของข้าพระองค์ อย่าเข้าไปกระทบกระทั่ง ใครๆ ในกาลไหนๆ เลย ขอได้ทรงโปรดประทานพรนี้เถิด.
จบ กัณหชาดกที่ ๒.
๓. จตุโปสถชาดก
ว่าด้วยสมณะ
[๑๓๔๒] ผู้ใด ไม่ทำความโกรธในบุคคลผู้ควรโกรธ ผู้นั้นเป็นสัตบุรุษ ย่อมไม่ โกรธ ณ ในกาลไหนๆ บุคคลนั้นแม้จะโกรธ ก็ไม่ทำความโกรธให้ ปรากฏ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้นแล ว่าเป็นสมณะในโลก. [๑๓๔๓] นรชนใดมีท้องพร่อง ย่อมทนความหิวได้ นรชนนั้นเป็นผู้ฝึกตน แล้ว มีตบะ มีข้าวและน้ำพอประมาณ ย่อมไม่ทำบาปเพราะเหตุแห่ง อาหาร นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวนรชนนั้นแล ว่าเป็นสมณะในโลก. [๑๓๔๔] บุคคลละการเล่นและความยินดีทั้งปวงได้เด็ดขาด ไม่กล่าวคำเหลาะแหละ นิดหน่อยในโลก เว้นจากการแต่งเนื้อแต่งตัว และเว้นจากเมถุนธรรม นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้นแล ว่าเป็นสมณะในโลก. [๑๓๔๕] บุคคลใด ละสิ่งที่เขาหวงแหน และโลภธรรมทั้งปวงเสีย ด้วยปัญญา เครื่องกำหนดรู้ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้นแล ผู้ฝึกตนแล้ว มีจิตตั้งมั่น ไม่มีตัณหา ไม่มีความหวังว่า เป็นสมณะในโลก. [๑๓๔๖] ดูกรท่านผู้มีปัญญาสามารถจะรู้เหตุและมิใช่เหตุที่ควรทำ เราขอถามท่าน ความทุ่มเถียงกันในถ้อยคำทั้งหลาย บังเกิดมีแก่เราทั้งหลาย ขอท่าน โปรดช่วยตัดเสียซึ่งความสงสัยความเคลือบแคลงในวันนี้ ขอได้โปรด ช่วยเราทั้งหมดให้ข้ามพ้นความสงสัยนั้นในวันนี้? [๑๓๔๗] บัณฑิตเหล่าใดเป็นผู้สามารถเห็นเนื้อความ บัณฑิตเหล่านั้นจึงจะกล่าวได้ โดยแยบคายในกาลนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้จอมประชานิกร ท่านผู้ฉลาด ทั้งหลาย จะพึงวินิจฉัยเนื้อความแห่งถ้อยคำทั้งหลาย ที่ยังไม่ได้กล่าว แล้วได้อย่างไรหนอ? [๑๓๔๘] พญานาคกล่าวอย่างไร พญาครุฑกล่าวอย่างไร ท้าวสักกะผู้เป็นพระราชา ของคนธรรพ์ตรัสอย่างไร และพระราชาผู้ประเสริฐของชาวกุรุรัฐตรัส อย่างไร? [๑๓๔๙] พญานาคกล่าวสรรเสริญขันติ พญาครุฑกล่าวยกย่องการไม่ประหาร ท้าว สักกะผู้เป็นพระราชาของคนธรรพ์ตรัสชมการละความยินดี พระราชา ผู้ประเสริฐของชาวกุรุรัฐ ตรัสสรรเสริญความไม่กังวล. [๑๓๕๐] คำเหล่านี้ทั้งหมดเป็นสุภาษิต ในถ้อยคำของท่านทั้ง ๔ นี้ ไม่มีคำทุพภาษิต แม้นิดหน่อยเลย คุณทั้ง ๔ มีขันติเป็นต้นนี้ ตั้งมั่นอยู่ในผู้ใด ก็เปรียบ ได้กับกำรถ หยั่งเข้าเป็นอันดีที่ดุมรถ ฉะนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าว บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยธรรม ๔ ประการนั้นแล ว่าเป็นสมณะในโลก. [๑๓๕๑] ท่านนั้นแลเป็นผู้ประเสริฐ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นผู้ถึงธรรม รู้แจ้งธรรม มีปัญญาดี พิจารณาปัญหาด้วยปัญญา เป็นนักปราชญ์ ตัดความสงสัย ความเคลือบแคลงทั้งหลายเสีย ได้ตัดความสงสัยความเคลือบแคลง ทั้งหลายสำเร็จแล้ว ดุจนายช่างงาตัดงาช้างด้วยเครื่องมืออันคมฉะนั้น [๑๓๕๒] ดูกรท่านผู้เป็นปราชญ์ ข้าพเจ้าพอใจด้วยการพยากรณ์ปัญหาของท่าน จึง ขอให้ผ้าผืนนี้ซึ่งมีสีสดใสดุจสีอุบลเขียว ไม่หม่นหมองหาค่ามิได้ มีสี เสมอด้วยควันไฟ เพื่อเป็นธรรมบูชาแก่ท่าน. [๑๓๕๓] ดูกรท่านผู้เป็นปราชญ์ ข้าพเจ้าพอใจด้วยการพยากรณ์ปัญหาของท่าน จึง ขอให้ดอกไม้ทองมีกลีบตั้งร้อยอันแย้มบาน มีเกสร ประดับด้วยรัตนะ จำนวนพัน เพื่อเป็นธรรมบูชาแก่ท่าน. [๑๓๕๔] ดูกรท่านผู้เป็นปราชญ์ ข้าพเจ้าพอใจด้วยการพยากรณ์ปัญหาของท่าน จึง ขอให้แก้วมณีอันหาค่ามิได้ งามผ่องใส คล้องอยู่ที่คอ เป็นแก้วมณี เครื่องประดับคอของข้าพเจ้า เพื่อเป็นธรรมบูชาแก่ท่าน. [๑๓๕๕] ดูกรท่านผู้เป็นปราชญ์ ข้าพเจ้าพอใจด้วยการพยากรณ์ปัญหาของท่าน จึง ขอให้โคนม โคผู้ และช้าง อย่างละพัน รถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ๑๐ คัน และบ้านส่วย ๑๖ ตำบลแก่ท่าน. [๑๓๕๖] พญานาคในกาลนั้น เป็นพระสารีบุตร พญาครุฑเป็นพระโมคคัลลานะ ท้าวสักกเทวราชเป็นพระอนุรุทธะ พระเจ้าโกรัพยะเป็นพระอานนท์ บัณฑิต วิธูรบัณฑิตเป็นพระโพธิสัตว์นั่นเอง ขอท่านทั้งหลายจงจำ ชาดกไว้อย่างนี้.
จบ จตุโปสถชาดกที่ ๓.
๔. สังขชาดก
ว่าด้วยอานิสงส์ถวายรองเท้า
[๑๓๕๗] ข้าแต่สังขพราหมณ์ ท่านเป็นพหูสูต ได้ฟังธรรมมาแล้ว และสมณะ พราหมณ์ทั้งหลาย ท่านก็ได้เห็นมาแล้ว เหตุไร ท่านจึงแสดงคำพร่ำเพ้อ ในขณะอันไม่สมควร คนอื่นนอกจากข้าพเจ้า ใครเล่าที่จะมาเจรจากับ ท่านได้? [๑๓๕๘] นางเทพธิดามีหน้างาม เลอโฉม ประดับเครื่องประดับทอง ยกถาดทอง เต็มด้วยอาหารทิพย์ มาร้องเชิญให้ข้าพเจ้าบริโภค นางเป็นผู้มีศรัทธา และปลื้มใจ ข้าพเจ้าตอบกะนางว่า ไม่บริโภค. [๑๓๕๙] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ บุรุษผู้ปรารถนาความสุขได้พบเห็นเทวดาเช่นนั้นแล้ว ควรถามให้ได้ความ ขอท่านจงลุกขึ้นประนมมือ ถามเทวดานั้นว่า ท่าน เป็นเทวดาหรือมนุษย์? [๑๓๖๐] เพราะเหตุว่า ท่านมามองดูข้าพเจ้าด้วยสายตาอันแสดงความรัก ร้อง เชิญให้ข้าพเจ้าบริโภคอาหาร ดูกรนางผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอถาม ท่าน ท่านเป็นเทวดาหรือมนุษย์? [๑๓๖๑] ข้าแต่ท่านสังขพราหมณ์ ข้าพเจ้าเป็นเทวดาผู้มีอานุภาพมากมาในกลาง สมุทรนี้ ก็เพราะเป็นผู้มีความเอ็นดู จะได้มีจิตประทุษร้ายก็หาไม่ ข้าพเจ้ามาในที่นี้เพื่อประโยชน์แก่ท่านนั่นเอง. [๑๓๖๒] ข้าแต่ท่านสังขพราหมณ์ ในสมุทรนี้มีข้าวน้ำ ที่นอน ที่นั่ง และยาน พาหนะ มากมายหลายอย่าง ใจของท่านปรารถนาสิ่งใด ข้าพเจ้าจะให้ สิ่งนั้นทุกอย่างแก่ท่าน. [๑๓๖๓] ข้าแต่เทพธิดาผู้มีร่างกายสวยงาม ตะโพกผึ่งผาย คิ้วงาม เอวบางร่างน้อย ยัญ และการเซ่นสรวงของข้าพเจ้าอย่างใด อย่างหนึ่งที่มีอยู่ ท่านเป็น ผู้สามารถรู้วิบากแห่งกรรมของข้าพเจ้าทุกอย่าง การที่ข้าพเจ้าได้ที่พึ่งใน มหาสมุทรนี้ เป็นวิบากแห่งกรรมอะไร? [๑๓๖๔] ข้าแต่ท่านสังขพราหมณ์ ท่านได้ถวายรองเท้ากะพระภิกษุรูปหนึ่ง ผู้เดิน กระโหย่งเท้า เดินสะดุ้งลำบากในหนทางอันร้อน ทักขิณานั้นอำนวยผล สิ่งที่น่าปรารถนาแก่ท่านในวันนี้. [๑๓๖๕] ขอเรือต่อด้วยแผ่นกระดาน น้ำไม่รั่ว มีใบสำหรับพาเรือให้แล่นไป จงบังเกิดมี เพราะในสมุทรนี้ ไม่มีพื้นที่สำหรับยานพาหนะอย่างอื่น ขอท่านได้ส่งข้าพเจ้าให้ถึงเมืองโมลินีในวันนี้เถิด. [๑๓๖๖] นางเทพธิดานั้น มีจิตชื่นชมโสมนัสปราโมทย์ นิรมิตเรืออันงดงามแล้ว พาสังขพราหมณ์กับบุรุษคนใช้มาส่งถึงเมืองอันเป็นที่รื่นรมย์ยินดีอย่างยิ่ง.
จบ สังขชาดกที่ ๔.
๕. จุลลโพธิชาดก
ว่าด้วยความโกรธ
[๑๓๖๗] ดูกรพราหมณ์ ผู้ใดมาพาเอานางปริพาชิกาผู้มีนัยน์ตางามน่ารัก มีใบหน้า ยิ้มแย้มของท่านไปด้วยพลการ ท่านจะทำอย่างไร? [๑๓๖๘] ถ้าความโกรธบังเกิดขึ้นแก่อาตมภาพแล้ว ยังไม่เสื่อมคลายไป เมื่อ อาตมภาพยังมีชีวิตอยู่ก็ยังไม่หาย อาตมภาพจะห้ามกันเสียโดยพลันที เดียว ดังฝนห่าใหญ่ชำระล้างธุลี ฉะนั้น. [๑๓๖๙] ท่านกล่าวอวดอ้างไว้ในวันก่อนอย่างไรหนอ วันนี้เป็นเหมือนว่ามีกำลัง ทำเป็นไม่เห็น นั่งนิ่งเย็บสังฆาฏิอยู่ในบัดนี้. [๑๓๗๐] ความโกรธบังเกิดแก่อาตมภาพแล้ว ยังไม่ได้เสื่อมคลายไป เมื่อ อาตมภาพยังมีชีวิตอยู่ก็ยังไม่หาย อาตมภาพจะห้ามกันเสียโดยพลันที เดียว ดังฝนห่าใหญ่ชำระล้างธุลี ฉะนั้น. [๑๓๗๑] ความโกรธบังเกิดขึ้นแก่ท่านแล้ว ยังไม่ได้เสื่อมคลายไปอย่างไร เมื่อ ท่านยังมีชีวิตอยู่ ความโกรธยังไม่หายอย่างไร ท่านได้ห้ามความโกรธ ดัง ฝนห่าใหญ่ชำระล้างธุลี ฉะนั้น เป็นไฉน? [๑๓๗๒] เมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้ว บุคคลย่อมไม่เห็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้ อื่น เมื่อความโกรธไม่เกิดขึ้น บุคคลย่อมเห็นได้ดี ความโกรธนั้นเกิด ขึ้นแก่อาตมภาพแล้ว ยังไม่เสื่อมคลายไป ความโกรธเป็นอารมณ์ของ คนไร้ปัญญา. [๑๓๗๓] ชนทั้งหลายย่อมยินดีด้วยความโกรธที่เกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่าเป็นศัตรูหา ทุกข์ให้แก่ตนเอง ความโกรธนั้นเกิดขึ้นแก่อาตมภาพแล้ว ยังไม่เสื่อม คลายไป ความโกรธเป็นอารมณ์ของคนไร้ปัญญา. [๑๓๗๔] อนึ่ง เมื่อความโกรธเกิดขึ้น บุคคลไม่รู้จักประโยชน์ตน ความโกรธนั้น เกิดขึ้นแก่อาตมภาพแล้ว ยังไม่เสื่อมคลายไป ความโกรธเป็นอารมณ์ ของคนไร้ปัญญา. [๑๓๗๕] บุคคลถูกความโกรธครอบงำแล้ว ย่อมละทิ้งกุศลเสีย ย่อมซัดส่าย ประโยชน์แม้มากมายได้ เขาประกอบด้วยเสนา คือ กิเลสหมู่ใหญ่ที่ น่ากลัว มีกำลัง สามารถปราบผู้อื่นให้อยู่ในอำนาจได้ ความโกรธนั้น ยังไม่เสื่อมคลายไปจากอาตมภาพ ขอถวายพระพร. [๑๓๗๖] ธรรมดาไฟย่อมเกิดขึ้นที่ไม้สีไฟอันบุคคลสีอยู่ ไฟเกิดขึ้นแต่ไม้ใด ย่อม เผาไม้นั้นเองให้ไหม้. [๑๓๗๗] ความโกรธย่อมเกิดขึ้นแก่คนโง่เขลา เบาปัญญา ไม่รู้จริง เพราะความ แข่งดี แม้เขาก็ถูกความโกรธนั้นแหละเผาลน. [๑๓๗๘] ความโกรธย่อมเจริญขึ้นแก่ผู้ใด ดุจไฟเจริญขึ้นในกองหญ้าและไม้ ฉะนั้น ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อมไป เหมือนพระจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น. [๑๓๗๙] ความโกรธของผู้ใดย่อมสงบลง เหมือนไฟหมดเชื้อ ฉะนั้น ยศของผู้นั้น ย่อมเต็มเปี่ยม เหมือนพระจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น.
จบ จุลลโพธิชาดกที่ ๕.
๖. มัณฑัพยชาดก
ว่าด้วยความรักที่มีต่อบุตร
[๑๓๘๐] เราเป็นผู้ต้องการบุญ ได้มีจิตเลื่อมใสประพฤติพรหมจรรย์อยู่เพียง ๗ วัน เท่านั้น ต่อจากนั้นมา แม้เราจะไม่มีความใคร่บรรพชา ก็ได้ประพฤติ พรหมจรรย์ของเราอยู่ได้ถึง ๕๐ ปีกว่า ด้วยความสัจนี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ยัญญทัตตกุมาร พิษจงคลาย ยัญญทัตตกุมาร จงรอดชีวิตเถิด. [๑๓๘๑] เพราะเหตุที่เราเห็นแขกในเวลาที่มาถึงบ้าน เพื่อจะพักอยู่ บางครั้งไม่ พอใจจะให้เลย แม้สมณพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต ก็ไม่ทราบความไม่พอใจ ของเรา แม้เราไม่ประสงค์จะให้ก็ให้ได้ ด้วยความสัจนี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ยัญญทัตตกุมาร พิษจงคลาย ยัญญทัตตกุมาร จงรอดชีวิตเถิด. [๑๓๘๒] ลูกรัก อสรพิษที่ออกจากโพรงกัดเจ้านั้น มีเดชมาก ไม่เป็นที่รักของ แม่ในวันนี้เลย อสรพิษนั้นกับบิดาของเจ้า ไม่แปลกอะไรกันเลย ด้วย ความสัจนี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ยัญญทัตตกุมาร พิษจงคลาย ยัญญ- ทัตตกุมาร จงรอดชีวิตเถิด. [๑๓๘๓] ก็นักพรตทั้งหลายเป็นผู้สงบระงับ ฝึกฝนตนแล้ว ย่อมเว้นรอบ นอก จากท่านกัณหะแล้วที่จะเป็นผู้ทนฝืนใจ ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีเลย ดูกรท่านทีปายนะ ท่านเกลียดชังอะไร จึงสู่ฝืนใจประพฤติพรหมจรรย์ อยู่ได้. [๑๓๘๔] บุคคลออกบวชด้วยศรัทธาแล้ว กลับเข้าบ้านอีก เป็นคนเหลวไหล เป็นคนกลับกลอก เราเกลียดต่อถ้อยคำเช่นนี้ จึงสู้ฝืนใจ ประพฤติ พรหมจรรย์อยู่ นี้เป็นฐานะที่วิญญูชนสรรเสริญ และเป็นฐานะของ สัตบุรุษทั้งหลาย เราเป็นผู้กระทำบุญด้วยเหตุนี้แหละ. [๑๓๘๕] ท่านเลี้ยงสมณะ พราหมณ์และคนเดินทาง ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าว และน้ำ เรือนของท่าน บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำเป็นเหมือนบ่อน้ำ เออ ก็ท่านเกลียดต่อถ้อยคำอะไร แม้ไม่ประสงค์ ก็ให้ทานนี้ได้? [๑๓๘๖] มารดาบิดาและปู่ย่าตายายของดิฉัน เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี รู้ความ ประสงค์ของผู้ขอ ดิฉันอนุวัตรตามธรรมเนียมของตระกูลนั้น กำหนดใจ ไว้ว่า อย่าได้เป็นคนตัดธรรมเนียมแห่งตระกูลนี้เสียเลย ดิฉันเกลียด ถ้อยคำเช่นนี้ แม้ไม่ประสงค์ก็ให้ทานนี้ได้. [๑๓๘๗] ดูกรนางผู้มีร่างกายงาม เรานำเจ้าผู้ยังเป็นสาวน้อย ฯ ยังไม่มีปัญญา สามารถที่จะจับจ่ายมาแต่ตระกูลญาติ แม้เจ้าไม่ได้แสดงความไม่รักใคร่เรา เจ้าปฏิบัติเราเว้นจากความรักใคร่ เออก็นางผู้เจริญ การที่เจ้าอยู่ร่วมกับ เราเห็นปานนี้ได้ เพราะเหตุอะไร? [๑๓๘๘] ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา อันภรรยาที่มีสามีบ่อยๆ มิได้มีอยู่ในตระกูลนี้ ดิฉันได้อนุวัตรตามธรรมเนียมของตระกูลนั้น กำหนดใจไว้ว่า ขออย่า ให้เป็นคนตัดธรรมเนียมของตระกูลในภายหลังเลย ดิฉันเกลียดต่อถ้อย คำเช่นนี้ แม้ไม่ประสงค์ก็ปฏิบัติท่านได้. [๑๓๘๙] ดูกรท่านมัณฑัพยะ วันนี้ดิฉันพูดถ้อยคำที่ไม่ควรจะพูด ขอท่านจงอด โทษถ้อยคำนั้นให้แก่ดิฉัน เพราะเหตุแห่งบุตรเถิด สิ่งอื่นอะไรๆ ใน โลกนี้ ที่จะรักยิ่งไปกว่าบุตรมิได้มี ยัญญทัตตกุมารของเรานี้รอดชีวิตแล้ว.
จบ มัณฑัพยชาดกที่ ๖.
๗. นิโครธชาดก
ว่าด้วยการคบคนดี
[๑๓๙๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระนามว่านิโครธ ท่านสาขะเสนาบดีพูดว่า เราไม่ รู้จักคนนี้เลยว่าเป็นใครกัน หรือเป็นเพื่อนของใคร พระองค์จะทรงเข้า พระทัยอย่างไร? [๑๓๙๑] ลำดับนั้น บุรุษผู้ทำตามคำของท่านสาขะเสนาบดี เข้าจับคอตบหน้าข้า พระองค์ ขับไสออกไป. [๑๓๙๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชานิกร กรรมอันไม่ประเสริฐเช่นนี้ อัน ท่านสาขะเสนาบดี ผู้เป็นเพื่อนเก่าของพระองค์ เป็นคนมีความคิดทราม เป็นคนอกตัญญู ประทุษร้ายมิตรได้ทำแล้ว. [๑๓๙๓] ดูกรสหาย เรื่องนี้เราไม่รู้เลย ใครก็ไม่ได้บอกแก่เรา ท่านมาบอกแก่ เราว่า ท่านสาขะเสนาบดีฉุดคร่าท่าน. [๑๓๙๔] ท่านเป็นคนทำเพื่อให้มีชีวิตอยู่สบายดี ท่านเป็นคนให้อิศริยยศ คือ ความเป็นใหญ่ ในหมู่มนุษย์แก่เราและสาขะเสนาบดีทั้งสองคน เราได้ รับความสำเร็จเพราะท่านในเรื่องนี้ เราไม่มีความสงสัยเลย. [๑๓๙๕] กรรมที่บุคคลทำในอสัตบุรุษ ย่อมฉิบหายไม่งอกงาม เหมือนพืชที่ บุคคลหว่านลงในไฟ ย่อมถูกไฟไหม้ ไม่งอกงามฉะนั้น. [๑๓๙๖] ส่วนกรรมที่บุคคลทำในคนกตัญญู มีศีล มีความประพฤติประเสริฐ ย่อม ไม่ฉิบหายไป เหมือนพืชที่บุคคลหว่านลงในนาดีฉะนั้น. [๑๓๙๗] ราชบุรุษทั้งหลาย จงฆ่าสาขะเสนาบดีผู้ชั่วช้า มักหลอกลวง มีความคิด อย่างอสัตบุรุษคนนี้เสีย ด้วยหอกทั้งหลาย เราไม่ปรารถนาให้เขามี ชีวิตอยู่เลย. [๑๓๙๘] ข้าแต่พระมหาราชา ขอพระองค์ได้โปรดอดโทษให้แก่เขาเถิด ชีวิตของ คนตายแล้วไม่อาจจะนำกลับคืนมาได้ ขอได้ทรงโปรดอดโทษ แก่ อสัตบุรุษเถิด พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระบาทไม่ปรารถนาให้ฆ่าเขา. [๑๓๙๙] ควรคบหาแต่นิโครธเท่านั้น ไม่ควรเข้าไปอาศัยเจ้าสาขะอยู่ ความตาย ในสำนักท่านนิโครธประเสริฐกว่า ความเป็นอยู่ในสำนักเจ้าสาขะจะ ประเสริฐอะไร.
จบ นิโครธชาดกที่ ๗.
๘. ตักกลชาดก
ว่าด้วยการเลี้ยงดูบิดามารดา
[๑๔๐๐] พ่อจ๋า มันนก มันเทศ มันมือเสือ ผักทอดยอด ก็มิได้มี พ่อต้องการ อะไร จึงขุดหลุม อยู่คนเดียวในป่ากลางป่าช้าเช่นนี้เล่า? [๑๔๐๑] ลูกเอ๋ย ปู่ของเจ้าทุพพลภาพมากแล้ว ถูกกองทุกข์อันเกิดจากโรคภัย หลายอย่างเบียดเบียน วันนี้พ่อจะฝังปู่ของเจ้านั้นเสียในหลุม เพราะ พ่อไม่ปรารถนา จะให้ปู่ของเจ้ามีชีวิตอยู่อย่างลำบากเลย ลูกเอ๋ย. [๑๔๐๒] พ่อได้ความดำริอันลามกนี้แล้ว ได้กระทำกรรมที่หยาบช้า อันล่วงเสีย ซึ่งประโยชน์ พ่อจ๋า แม้เมื่อพ่อแก่ลงแล้ว ก็จักได้รับกรรมเช่นนี้เพราะ ลูกบ้าง แม้ลูกเองก็จะอนุวัตรตามธรรมเนียมของตระกูลนั้น จักฝังพ่อ เสียในหลุมบ้าง. [๑๔๐๓] ลูกเอ๋ย เจ้ามากล่าวกระทบกระเทียบขู่เข็ญพ่อ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย เจ้าเป็นลูกเกิดแต่อกของพ่อ แต่หามีความอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่พ่อไม่. [๑๔๐๔] พ่อจ๋า มิใช่ฉันจะไม่มีความอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่พ่อ ฉันเป็นผู้มีความ อนุเคราะห์เกื้อกูลแก่พ่อ แต่เพราะฉันไม่กล้าพอที่จะห้ามพ่อ ผู้ทำบาป กรรมโดยตรงได้ จึงได้พูดกระทบกระเทียบเช่นนั้น. [๑๔๐๕] พ่อจ๋า ผู้ใดเป็นคนมีธรรมอันลามก เบียดเบียนมารดาหรือบิดาผู้ไม่ประทุษ ร้าย ผู้นั้นครั้นตายไปภายหน้า ต้องเข้าถึงนรกโดยไม่ต้องสงสัย. [๑๔๐๖] พ่อจ๋า ผู้ใดบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาด้วยข้าวน้ำ ผู้นั้นครั้นตายไปภายหน้า ย่อมเข้าถึงสุคติ โดยไม่ต้องสงสัย. [๑๔๐๗] ลูกเอ๋ย เจ้าจะเป็นผู้ไม่เกื้อกูลอนุเคราะห์แก่พ่อก็หาไม่ เจ้าชื่อว่าเป็นผู้ เกื้อกูลอนุเคราะห์แก่พ่อ แต่พ่อถูกแม่ของเจ้าว่ากล่าว จึงได้กระทำกรรม อันหยาบช้าเช่นนี้. [๑๔๐๘] หญิงชั่วเป็นภรรยาของพ่อ เป็นแม่บังเกิดเกล้าของฉัน พ่อจงขับไล่ไป เสียจากเรือนของตน เพราะแม่จะนำทุกข์อย่างอื่นมาให้พ่ออีก. [๑๔๐๙] หญิงชั่วผู้เป็นภรรยาของพ่อ เป็นแม่บังเกิดเกล้าของฉัน เป็นหญิงมี บาปธรรม ถูกทรมาน ดังช้างพัง ที่นายควาญฝึกให้อยู่ในอำนาจแล้ว จงกลับมาเรือนเถิด.
จบ ตักกลชาดกที่ ๘.
๙. มหาธรรมปาลชาดก
ว่าด้วยเหตุที่ไม่ตายในวัยหนุ่ม
[๑๔๑๐] อะไรเป็นวัตรของท่าน อะไรเป็นพรหมจรรย์ของท่าน การที่คนหนุ่มๆ ในตระกูลของท่านไม่ตายนี้ เป็นผลของกรรมอะไรที่ท่านได้ประพฤติมา เป็นอย่างดีแล้ว ดูกรพราหมณ์ ขอท่านช่วยบอกเนื้อความนี้แก่เรา เหตุไรหนอคนหนุ่มๆ ของท่านจึงไม่ตาย? [๑๔๑๑] พวกเราประพฤติธรรม ไม่กล่าวมุสา งดเว้นกรรมชั่ว งดเว้นกรรมอัน ไม่ประเสริฐทั้งปวง เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่มๆ ของพวกเราจึงไม่ ตาย. [๑๔๑๒] พวกเราได้ฟังธรรมของอสัตบุรุษ และสัตบุรุษแล้ว ไม่ชอบใจธรรมของ อสัตบุรุษเลย ละทิ้งอสัตบุรุษเสีย แต่ไม่ละทิ้งสัตบุรุษ เพราะเหตุนี้ แหละ คนหนุ่มๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย. [๑๔๑๓] ก่อนจะให้ทาน พวกเราก็เป็นผู้ตั้งใจดี แม้กำลังให้ก็ชื่นชมยินดี ครั้น ให้แล้วก็ไม่เดือดร้อน ในภายหลัง เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่มๆ ของ พวกเราจึงไม่ตาย. [๑๔๑๔] พวกเราเลี้ยงดูสมณะ พราหมณ์ คนเดินทาง วณิพก ยาจก และคน ขัดสนทั้งหลาย ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวน้ำ เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่มๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย. [๑๔๑๕] พวกเราไม่นอกใจภรรยา ถึงภรรยาก็ไม่นอกใจพวกเรา พวกเราประพฤติ พรหมจรรย์นอกจากภรรยาของตน เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่มๆ ของ พวกเราจึงไม่ตาย. [๑๔๑๖] เราทุกคนงดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นสิ่งที่เขาไม่ให้ในโลก ไม่กล่าว มุสา ไม่ดื่มน้ำเมา เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่มๆ ของพวกเราจึงไม่ ตาย. [๑๔๑๗] บุตรของพวกเราเกิดในหญิงที่ดีเหล่านั้น เป็นผู้ฉลาดเฉลียว มีปัญญามาก เป็นพหูสูต เรียนจบไตรเพท เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่มๆ ของ พวกเราจึงไม่ตาย. [๑๔๑๘] มารดาบิดา พี่น้องหญิงชาย บุตรภรรยา และเราทุกคนประพฤติธรรม เพราะเหตุแห่งโลกหน้า เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่มๆ ของพวกเราจึง ไม่ตาย. [๑๔๑๙] ทาส ทาสี คนอาศัยเลี้ยงชีพ คนใช้ และกรรมกรทั้งหมด ก็ประพฤติ ธรรมเพราะเหตุแห่งโลกหน้า เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่มๆ ของพวก เราจึงไม่ตาย. [๑๔๒๐] ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อม นำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ. [๑๔๒๑] ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เหมือนร่มใหญ่ในฤดูฝนฉะนั้น ธรรม ปาละบุตรของเรา อันธรรมคุ้มครองแล้ว กระดูกที่ท่านนำเอามานี้เป็น กระดูกสัตว์อื่น บุตรของเรายังมีความสุข.
จบ มหาธรรมปาลชาดกที่ ๙.
๑๐. กุกกุฏชาดก
ว่าด้วยพ้นศัตรูเพราะรู้เท่าทัน
[๑๔๒๒] บุคคลไม่พึงคุ้นเคยในคนทำบาป คนมักพูดเหลาะแหละ คนมีปัญญาคิด แต่ประโยชน์ตน และคนทำเป็นสงบแต่ภายนอก. [๑๔๒๓] มีบุรุษพวกหนึ่ง มีปกติเหมือนโคกระหายน้ำ ทำทีเหมือนจะกล้ำกลืน มิตรด้วยวาจา แต่ไม่ใช้ด้วยการงาน ไม่ควรคุ้นเคยในคนเช่นนั้น. [๑๔๒๔] บุรุษพวกหนึ่ง เป็นคนชูมือเปล่า พัวพันอยู่ แต่ด้วยวาจาเป็นมนุษย์ กระพี้ ไม่มีความกตัญญู ไม่ควรคุ้นเคยในคนเช่นนั้น. [๑๔๒๕] บุคคลไม่ควรคุ้นเคยต่อหญิง หรือบุรุษ ผู้มีจิตกลับกลอก ไม่ทำความ ข้องเกี่ยวให้แจ้งชัด. [๑๔๒๖] ไม่ควรคุ้นเคยกับบุคคลผู้หยั่งลงสู่กรรม อันไม่ประเสริฐ เป็นคนไม่แน่ นอน กำจัดคนไม่เลือก เหมือนดาบที่เขาลับแล้วปกปิดไว้ ฉะนั้น. [๑๔๒๗] คนบางพวกในโลกนี้ คอยเพ่งโทษ เข้าไปหาด้วยอุบายต่างๆ ด้วยคำ พูดอันคมคายซึ่งไม่ตรงกับน้ำใจ ด้วยสามารถแห่งมิตรเทียม แม้คนเช่น นี้ ก็ไม่ควรคุ้นเคย. [๑๔๒๘] คนมีปัญญาทรามเช่นนั้น พบเห็นอามิส หรือทรัพย์เข้า ณ ที่ใด ย่อม คิดประทุษร้าย และย่อมละทิ้งเพื่อนนั้นไป แม้คนเช่นนั้น ก็ไม่ควร คุ้นเคย. [๑๔๒๙] มีคนเป็นจำนวนมาก ที่ปลอมเป็นมิตรคบหา บุคคลพึงละบุรุษชั่วเหล่า นั้นเสีย เหมือนไก่ละเหยี่ยว ฉะนั้น. [๑๔๓๐] อนึ่ง บุคคลใดไม่รู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นได้ฉับพลัน หลงไปตามอำนาจ ศัตรู บุคคลนั้น ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง. [๑๔๓๑] ส่วนบุคคลใดรู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นได้ ฉับพลัน บุคคลนั้นย่อมพ้นจาก ความเบียดเบียนของศัตรู เหมือนไก่พ้นจากเหยี่ยว ฉะนั้น. [๑๔๓๒] นรชนผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา ควรละเว้นบุคคลผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม มัก ทำการกำจัดอยู่เป็นนิตย์ ดังแร้วที่เขาดักไว้ในป่าเช่นนั้นเสียให้ห่างไกล เหมือนไก่ในป่าไผ่ละเว้นเหยี่ยว ฉะนั้น.
จบ กุกกุฏชาดกที่ ๑๐.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ บรรทัดที่ ๑-๕๘๑๕ หน้าที่ ๑-๒๖๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=1&Z=5815&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12], [13], [14], [15], [16], [17], [18], [19], [max20]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=27&siri=1              ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1-1432] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=27&item=1&items=1432              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=35&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- [1-1432] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=27&item=1&items=1432              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=35&A=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja1/en/chalmers

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :