ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
นาลกสูตรที่ ๑๑
[๓๘๘] อสิตฤาษีอยู่ในที่พักกลางวัน ได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ และเทวดาคณะไตรทสผู้มีใจชื่นชม มีปีติโสมนัส ยกผ้า ทิพย์ขึ้นเชยชมอยู่อย่างเหลือเกิน ในที่อยู่อันสะอาด ครั้น แล้วจึงกระทำความนอบน้อม แล้วได้ถามเทวดาทั้งหลาย ผู้มีใจเบิกบานบันเทิงในที่นั้นว่า เพราะเหตุไรหมู่เทวดาจึง เป็นผู้ยินดีอย่างเหลือเกิน ท่านทั้งหลายยกผ้าทิพย์ขึ้นแล้ว รื่นรมย์อยู่เพราะอาศัยอะไร แม้คราวใด ได้มีสงครามกับ พวกอสูร พวกเทวดาชนะ พวกอสูรปราชัย แม้คราวนั้น ขนลุกพองเช่นนี้ก็มิได้มี เทวดาทั้งหลายได้เห็นเหตุอะไร ซึ่ง ไม่เคยมีมา จึงพากันเบิกบาน เปล่งเสียงชมเชย ขับร้อง ประโคม ปรบมือ และฟ้อนรำกันอยู่ เราขอถามท่าน ทั้งหลายผู้อยู่บนยอดเขาสิเนรุ ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงช่วยขจัดความสงสัยของเราโดยเร็วเถิด ฯ เทวดาทั้งหลายกล่าวว่า พระโพธิสัตว์ผู้เป็นรัตนะอันประเสริฐนั้น หาผู้เปรียบมิได้ ได้เกิดแล้วในมนุษย์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข ที่ป่าลุมพินีวันในคามชนบทของเจ้าศากยะทั้งหลาย เพราะ เหตุนั้น เราทั้งหลายจึงพากันยินดี เบิกบานอย่างเหลือเกิน พระโพธิสัตว์นั้น เป็นอัครบุคคลผู้สูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เป็น ผู้องอาจกว่านรชน สูงสุดกว่าหมู่สัตว์ทั้งมวลเหมือนสีหะผู้มี กำลัง ครอบงำหมู่เนื้อบันลืออยู่ จักทรงประกาศธรรมจักร ที่ป่าอิสิปตนะ ฯ อสิตฤาษีได้ฟังเสียงที่เทวดาทั้งหลายกล่าวแล้วก็รีบลง (จาก ชั้นดาวดึงส์) เข้าไปยังที่ประทับของพระเจ้าสุทโธทนะ นั่ง ณ ที่นั้นแล้ว ได้ทูลถามเจ้าศากยะทั้งหลายว่า พระกุมาร ประทับ ณ ที่ไหน แม้อาตมภาพประสงค์จะเฝ้า ลำดับนั้น เจ้าศากยะทั้งหลายได้ทรงแสดงพระกุมารผู้รุ่งเรือง เหมือน ทองคำที่ปากเบ้าซึ่งนายช่างทองผู้เฉลียวฉลาดหลอมดีแล้ว ผู้ รุ่งเรืองด้วยศิริ มีวรรณะไม่ทราม แก่อสิตฤาษี อสิตฤาษี ได้เห็นพระกุมารผู้รุ่งเรืองเหมือนเปลวไฟ เหมือนพระจันทร์ อันบริสุทธิ์ ซึ่งโคจรอยู่ในนภากาศ สว่างไสวกว่าหมู่ดาว เหมือนพระอาทิตย์พ้นแล้วจากเมฆ แผดแสงอยู่ในสรทกาล ก็เกิดความยินดีได้ปีติอันไพบูลย์ เทวดาทั้งหลายกั้นเศวตฉัตร มีซี่เป็นอันมาก และประกอบด้วยมณฑลตั้งพันไว้ในอากาศ จามรด้ามทองทั้งหลายตกลงอยู่ บุคคลผู้ถือจามรและเศวตฉัตร ย่อมไม่ปรากฏ ฤาษีผู้ทรงชฎาชื่อกัณหศิริ ได้เห็นพระกุมาร ดุจแท่งทองบนผ้ากัมพลแดง และเศวตฉัตรที่กั้นอยู่บน พระเศียร เป็นผู้มีจิตเฟื่องฟู ดีใจ ได้รับเอาด้วยมือทั้งสอง ครั้นแล้ว อสิตฤาษีผู้เรียนจบลักษณะมนต์ พิจารณาพระราช กุมารผู้ประเสริฐ มีจิตเลื่อมใส ได้เปล่งถ้อยคำว่า พระกุมาร นี้ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า สูงสุดกว่าสัตว์สองเท้า ทีนั้น อสิตฤาษี หวนระลึกถึงการบรรลุอรูปฌานของตน เป็นผู้เสียใจถึงน้ำตา ตก เจ้าศากยะทั้งหลายได้ทอดพระเนตรเห็นอสิตฤาษีร้องไห้ จึงตรัสถามว่า ถ้าอันตรายจักมีในพระกุมารหรือหนอ อสิต- ฤาษีได้ทูลเจ้าศากยะทั้งหลายผู้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว ไม่ทรง พอพระทัยว่า อาตมภาพระลึกถึงกรรมอันไม่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลในพระกุมารหามิได้ อนึ่ง แม้อันตรายก็จักไม่มีแก่ พระกุมารนี้ พระกุมารนี้เป็นผู้ไม่ทราม ขอมหาบพิตรทั้งหลาย จงเป็นผู้ดีพระทัยเถิด พระกุมารนี้จักทรงบรรลุพระสัพพัญ- ญุตญาณ พระกุมารนี้จักทรงเห็นนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จักทรงประกาศธรรม- จักร พรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย แต่อายุของ อาตมภาพ จักไม่ดำรงอยู่ได้นานในกาลนี้ อาตมภาพจัก กระทำกาละเสียในระหว่างนี้ จักไม่ได้ฟังธรรมของพระกุมาร ผู้มีความเพียรไม่มีบุคคลผู้เสมอ เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึง เป็นผู้เร่าร้อนถึงความพินาศ ถึงความทุกข์ อสิตฤาษียังปีติ อันไพบูลย์ให้เกิดแก่เจ้าศากยะทั้งหลายแล้ว ออกจากพระ ราชวัง ไปประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อจะอนุเคราะห์หลาน ของตน ได้ให้หลานสมาทานในธรรมของพระผู้มีพระภาคผู้มี ความเพียรไม่มีบุคคลผู้เสมอ แล้วกล่าวว่า ในกาลข้างหน้า เจ้าได้ยินเสียงอันระบือไปว่า พุทโธ ดังนี้ไซร้ พระผู้มี พระภาค ได้ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว ย่อมทรงเปิด เผยทางปรมัตถธรรม เจ้าจงไปทูลสอบถามด้วยตนเอง ใน สำนักของพระองค์ แล้วประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระผู้มี พระภาคพระองค์นั้นเถิด อสิตฤาษีนั้นผู้มีปรกติเห็นนิพพาน อันบริสุทธิ์อย่างยิ่งในอนาคต มีใจเกื้อกูลเช่นนั้น ได้สั่งสอน นาลกดาบส นาลกดาบสเป็นผู้สั่งสมบุญไว้ รักษาอินทรีย์ รอคอยพระชินสีห์อยู่ นาลกดาบสได้ฟังเสียงประกาศในการ ที่พระชินสีห์ทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ ได้ไปเฝ้า พระชินสีห์ผู้องอาจกว่าฤาษีแล้ว เป็นผู้เลื่อมใส ได้ทูลถาม ปฏิปทาอันประเสริฐของมุนีกะพระชินสีห์ ผู้เป็นมุนีผู้ ประเสริฐ ในเมื่อเวลาคำสั่งสอนของอสิตฤาษีมาถึงเข้า ฉะนี้แล ฯ
จบวัตถุกถา
[๓๘๙] ข้าพระองค์ ได้รู้ตามคำของอสิตฤาษีโดยแท้ เพราะเหตุนั้น ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรม ทั้งปวง พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอก มุนีและปฏิปทาอันสูงสุดของมุนี แห่งบรรพชิตผู้แสวงหาการ เที่ยวไปเพื่อภิกษา แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า เราจักบัญญัติปฏิปทาของมุนีที่บุคคลทำได้ยากให้เกิดความยินดี ได้ยาก แก่ท่าน เอาเถิดเราจักบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่ท่าน ท่านจงอุปถัมภ์ตน จงเป็นผู้มั่นคงเถิด พึงกระทำการด่าและ การไหว้ในบ้านให้เสมอกัน พึงรักษาความประทุษร้ายแห่งใจ พึงเป็นผู้สงบไม่มีความเย่อหยิ่งเป็นอารมณ์ อารมณ์ที่สูงต่ำมี อุปมาด้วยเปลวไฟในป่า ย่อมมาสู่คลองจักษุเป็นต้น เหล่านารี ย่อมประเล้าประโลมมุนี นารีเหล่านั้น อย่าพึงประเล้าประโลม ท่าน มุนีละกามทั้งหลายทั้งที่ดีแล้ว งดเว้นจากเมถุนธรรม ไม่ยินดียินร้าย ในสัตว์ทั้งหลายผู้สะดุ้งและมั่นคง พึงกระทำ ตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น สัตว์ เหล่านี้ ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว ไม่พึงฆ่าเอง ไม่ พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า มุนีละความปรารถนาและความโลภในปัจจัย ที่ปุถุชนข้องอยู่แล้ว เป็นผู้มีจักษุ พึงปฏิบัติปฏิปทาของมุนีนี้ พึงข้ามความทะเยอทะยานในปัจจัย ซึ่งเป็นเหตุแห่งมิจฉาชีพ ที่หมายรู้กันว่านรกนี้เสีย พึงเป็นผู้มีท้องพร่อง (ไม่เห็น แก่ท้อง) มีอาหารพอประมาณ มีความปรารถนาน้อย ไม่มี ความโลภเป็นผู้หายหิว ไม่มีความปรารถนาด้วยความปรารถนา ดับความเร่าร้อนได้แล้วทุกเมื่อ มุนีนั้นเที่ยวไปรับบิณฑบาต แล้ว พึงไปยังชายป่า เข้าไปนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ พึงเป็นผู้ ขวนขวายในฌาน เป็นนักปราชญ์ ยินดีแล้วในป่า พึงทำจิต ให้ยินดียิ่ง เพ่งฌานอยู่ที่โคนต้นไม้ ครั้นเมื่อล่วงราตรีไป แล้ว พึงเข้าไปสู่บ้าน ไม่ยินดีโภชนะที่ยังไม่ได้ และ โภชนะที่เขานำไปแต่บ้าน ไปสู่บ้านแล้ว ไม่พึงเที่ยวไปใน สกุลโดยรีบร้อน ตัดถ้อยคำเสียแล้ว ไม่พึงกล่าววาจาเกี่ยว ด้วยการแสวงหาของกิน มุนีนั้นคิดว่า เราได้สิ่งใด สิ่งนี้ยัง ประโยชน์ให้สำเร็จ เราไม่ได้ก็เป็นความดี ดังนี้แล้ว เป็น ผู้คงที่ เพราะการได้และไม่ได้ทั้งสองอย่างนั้นแล ย่อมก้าว ล่วงทุกข์เสียได้ เปรียบเหมือนบุรุษแสวงหาผลไม้ เข้าไปยัง ต้นไม้แล้ว แม้จะได้ แม้ไม่ได้ ก็ไม่ยินดี ไม่เสียใจ วางจิตเป็นกลางกลับไป ฉะนั้น มุนีมีบาตรในมือเที่ยวไปอยู่ ไม่เป็นใบ้ ก็สมมุติว่าเป็นใบ้ ไม่พึงหมิ่นทานว่าน้อย ไม่พึง ดูแคลนบุคคลผู้ให้ ก็ปฏิปทาสูงต่ำพระพุทธสมณะประกาศ แล้ว มุนีทั้งหลาย ย่อมไม่ไปสู่นิพพานถึงสองครั้ง นิพพาน นี้ควรถูกต้องครั้งเดียวเท่านั้น หามิได้ ก็ภิกษุผู้ไม่มีตัณหา ตัด กระแสกิเลสได้แล้ว ละกิจน้อยใหญ่ได้เด็ดขาดแล้ว ย่อม ไม่มีความเร่าร้อน ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราจักบอกปฏิปทาของมุนีแก่ท่าน ภิกษุผู้ปฏิบัติปฏิปทาของ มุนี พึงเป็นผู้มีคมมีดโกนเป็นเครื่องเปรียบ กดเพดานไว้ด้วย ลิ้นแล้ว พึงเป็นผู้สำรวมที่ท้อง มีจิตไม่ย่อหย่อน และไม่ พึงคิดมาก เป็นผู้ไม่มีกลิ่นดิบ อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว มีพรหมจรรย์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า พึงศึกษาเพื่อการนั่งผู้เดียว และเพื่อประกอบภาวนาที่สมณะพึงอบรม ท่านผู้เดียวแล จักอภิรมย์ความเป็นมุนีที่เราบอกแล้วโดยส่วนเดียว ทีนั้นจง ประกาศไปตลอดทั้งสิบทิศ ท่านได้ฟังเสียงสรรเสริญ ของ นักปราชญ์ทั้งหลายผู้เพ่งฌาน ผู้สละกามแล้ว แต่นั้นพึง กระทำหิริและศรัทธาให้ยิ่งขึ้นไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นสาวก ของเราได้ ท่านจะรู้แจ่มแจ้งซึ่งคำที่เรากล่าวนั้นได้ ด้วยการ แสดงแม่น้ำทั้งหลาย ทั้งในเหมืองและหนอง แม่น้ำห้วย ย่อมไหลดังโดยรอบ แม่น้ำใหญ่ย่อมไหลนิ่ง สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นย่อมดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นสงบ คนพาลเปรียบด้วย หม้อน้ำที่มีน้ำครึ่งหนึ่ง บัณฑิตเปรียบเหมือนห้วงน้ำที่เต็ม สมณะกล่าวถ้อยคำใดมากที่เข้าถึงประโยชน์ประกอบด้วย ประโยชน์ รู้ถ้อยคำนั้นอยู่ ย่อมแสดงธรรม สมณะผู้นั้นรู้ อยู่ ย่อมกล่าวถ้อยคำมาก สมณะใดรู้อยู่ สำรวมตน สมณะ นั้นรู้เหตุที่ไม่นำประโยชน์เกื้อกูล และความสุขมาให้แก่สัตว์ ทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวมาก สมณะผู้นั้นเป็นมุนี ย่อมควร ซึ่งปฏิปทาของมุนี สมณะนั้นได้ถึงธรรมเครื่องเป็นมุนีแล้ว ฯ
จบนาลกสูตรที่ ๑๑

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๙๕๕๖-๙๖๙๕ หน้าที่ ๔๑๕-๔๒๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=9556&Z=9695&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=25&siri=264              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=388              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [388-389] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=25&item=388&items=2              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=7078              The Pali Tipitaka in Roman :- [388-389] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=25&item=388&items=2              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=7078              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i354-e.php#sutta11 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.3.11.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.3.11.olen.html https://suttacentral.net/snp3.11/en/mills https://suttacentral.net/snp3.11/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :