ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
รักขิตสูตร
[๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้ ตถาคตไม่ต้องรักษา และ ตถาคตไม่พึงถูกติเตียนด้วยฐานะ ๓ ประการ ฐานะ ๔ ประการที่ตถาคตไม่ต้อง รักษาเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีกายสมาจารบริสุทธิ์ ตถาคตไม่มีกาย ทุจริตที่จะต้องรักษาว่า คนอื่นอย่ารู้ข้อนี้ของเราเลย ตถาคตมีวจีสมาจารบริสุทธิ์ ตถาคตไม่มีวจีทุจริตที่จะต้องรักษาว่า คนอื่นอย่ารู้ข้อนี้ของเราเลย ตถาคตมีมโน สมาจารบริสุทธิ์ ไม่มีมโนทุจริตที่จะต้องรักษาว่า คนอื่นอย่ารู้ข้อนี้ของเราเลย ตถาคตมีอาชีวบริสุทธิ์ ไม่มีมิจฉาชีพที่จะต้องรักษาว่า คนอื่นอย่ารู้ข้อนี้ของเราเลย ฐานะ ๔ ประการนี้ ตถาคตไม่ต้องรักษา ตถาคตไม่พึงถูกติเตียนด้วยฐานะ ๓ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีธรรมอันกล่าวดีแล้ว สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี หรือใครๆ ในโลกก็ดี จักคัดค้าน เราในธรรมนั้นโดยชอบธรรมว่า แม้เพราะเหตุนี้ ท่านมิใช่เป็นผู้มีธรรมอันกล่าวดี แล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นนิมิตนั้น เมื่อไม่เห็น ย่อมถึงความเกษม ไม่มีภัย มีความแกล้วกล้าอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ปฏิปทาอันเป็นเครื่องยังสัตว์ ให้ถึงนิพพาน ที่สาวกของเราผู้ปฏิบัติตามแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ อันเราบัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย สมณะก็ดี พราหมณ์ ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี หรือใครๆ ในโลกก็ดี จักคัดค้านเราใน ปฏิปทานั้นโดยชอบธรรมว่า แม้เพราะเหตุนี้ ปฏิปทาอันเป็นเครื่องยังสัตว์ให้ถึง นิพพาน ที่สาวกของท่านปฏิบัติแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ฯลฯ ไม่ เป็นปฏิปทาอันท่านบัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่ เล็งเห็นนิมิตนั้น เมื่อไม่เห็น ย่อมถึงความเกษม ไม่มีภัย แกล้วกล้าอยู่ อนึ่ง สาวกบริษัทของเราเป็นร้อยๆ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหา อาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้า ถึงอยู่ สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี หรือใครๆ ใน โลกก็ดี จักคัดค้านเราในข้อนั้นโดยชอบธรรมว่า แม้เพราะเหตุนี้ สาวกบริษัท เป็นร้อยๆ ไม่ได้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เราไม่เล็งเห็น นิมิตนั้น เมื่อไม่เห็น ย่อมถึงความเกษม ไม่มีภัย แกล้วกล้าอยู่ ตถาคตไม่พึง ถูกติเตียนเพราะฐานะ ๓ ประการเหล่านี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้แล ตถาคตไม่จำเป็นต้องรักษา และตถาคตไม่พึงถูกติเตียนด้วยฐานะ ๓ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๕
กิมมิลสูตร
[๕๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้ เมืองกิมมิลา ครั้งนั้นแล ท่านพระกิมมิละเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้สัทธรรมไม่ตั้งอยู่นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกิมมิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระ ศาสดา ... ในธรรม ... ในสงฆ์ ... ในสิกขา ... ในสมาธิ ... ในความไม่ประมาท ... ในปฏิสันถาร ดูกรกิมมิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้สัทธรรมไม่ตั้ง อยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ฯ กิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้สัทธรรม ตั้งอยู่นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว ฯ พ. ดูกรกิมมิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในพระศาสดา ... ในธรรม ... ในสงฆ์ ... ในสิกขา ... ในสมาธิ ... ในความไม่ประมาท ... ในปฏิ- *สันถาร ดูกรกิมมิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้สัทธรรมตั้งอยู่นาน ใน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๖
สัตตธรรมสูตร
[๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ไม่นาน นัก พึงกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีศีล ๑ เป็นพหูสูต ๑ เป็นผู้หลีกออกเร้น ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีสติ ๑ มีปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ไม่นานนัก พึงกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๗
โมคคัลลานสูตร
[๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าเภสกลา มิคทายวัน ใกล้สุงสุมารคีรนคร แคว้นภัคคะ ก็สมัยนั้นแล ท่านมหาโมคคัลลานะนั่งโงก- *ง่วงอยู่ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตร เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งโงกง่วงอยู่ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุมนุษย์ ครั้นแล้วทรงหายจากเภสกลามิคทายวัน ใกล้สุงสุมารคีรนคร แคว้นภัคคะ เสด็จไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านพระมหาโมคคัล- *ลานะ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบน อาสนะที่ปูลาดแล้ว ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ดูกร โมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ ดูกรโมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ ท่านพระมหา โมคคัลลานะกราบทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ ดูกรโมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ เธออย่าทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก ข้อนี้จะเป็น เหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้าเธอยังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงตรึกตรองพิจารณา ถึงธรรมตามที่ตนได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้วด้วยใจ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละ ความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมาแล้ว ได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละ ไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัว ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละ ความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดู ทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงทำในใจถึงอาโลกสัญญา ตั้งความสำคัญในกลางวัน ว่า กลางวันอย่างไร กลางคืนอย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันอย่างนั้น มีใจ เปิดเผยอยู่ฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด ข้อนี้จะเป็นเหตุให้ เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรม กำหนด หมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก ข้อนี้จะเป็น เหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสำเร็จสีหไสยา คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายใน อันจะลุกขึ้น พอตื่นแล้วพึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบความสุขใน การนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ ดูกรโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ ดูกรโมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้อีกว่า เราจัก ไม่ชูงวง [ถือตัว] เข้าไปสู่ตระกูล ดูกรโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล และในตระกูลมีกรณียกิจหลายอย่าง ซึ่งจะเป็น เหตุให้มนุษย์ไม่ใส่ใจถึงภิกษุผู้มาแล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุย่อมมีความคิดอย่างนี้ ว่า เดี๋ยวนี้ใครหนอยุยงให้เราแตกในสกุลนี้ เดี๋ยวนี้ดูมนุษย์พวกนี้ มีอาการอิด หนาระอาใจในเรา เพราะไม่ได้อะไร เธอจึงเป็นผู้เก้อเขิน เมื่อเก้อเขิน ย่อม คิดฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ ฯ เพราะฉะนั้นแหละ โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักไม่พูดถ้อย คำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน ดูกรโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล เมื่อมี ถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน ก็จำต้องหวังการพูดมาก เมื่อมีการพูดมาก ย่อม คิดฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ ฯ ดูกรโมคคัลลานะ อนึ่ง เราหาสรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวง ไม่ แต่มิใช่ว่าจะไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงก็หามิได้ คือ เราไม่ สรรเสริญความคลุกคลีด้วยหมู่ชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ก็แต่ว่า เสนาสนะ อันใดเงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากการสัญจรของหมู่ชน ควรเป็นที่ประกอบกิจ ของผู้ต้องการความสงัด ควรเป็นที่หลีกออกเร้น เราสรรเสริญความคลุกคลีด้วย เสนาสนะเห็นปานนั้น ฯ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงไรหนอ ภิกษุจึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีธรรมเป็นแดน เกษมจากโยคะล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ พ. ดูกรโมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ ควรถือมั่น ครั้นได้สดับดังนั้นแล้ว เธอย่อมรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนด รู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุข มิใช่ทุกข์ก็ดี ย่อมพิจารณาเห็น ความไม่เที่ยงในเวทนาเหล่านั้น พิจารณาเห็น ความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืน เมื่อเธอ พิจารณาเห็นอย่างนั้นๆ อยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อม ไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตัวทีเดียว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ดูกรโมคคัลลานะ โดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงเป็นผู้ หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน เป็นผู้เกษมจากโยคะล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๘
ปุญญวิปากสูตร
[๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้ เป็นชื่อของความสุข ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมรู้ชัดซึ่งผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน เราเจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี ครั้นแล้ว เราไม่ได้กลับมายังโลกนี้ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ได้ยินว่า เมื่อโลกถึงความพินาศ [ถูกไฟไหม้] เราเข้าถึงพรหมโลกชั้น อาภัสสระ เมื่อโลกยังไม่ถึงความพินาศ เราย่อมเข้าถึงวิมานพรหมอันว่างเปล่า ได้ยินว่า ในวิมานพรหมนั้น เราเป็นพรหม เป็นท้าวมหาพรหม เป็นใหญ่ ใครๆ ครอบงำไม่ได้ มีความเห็นแน่นอน มีอำนาจเต็ม เป็นท้าวสักกะผู้เป็น ใหญ่แห่งทวยเทพ ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ตั้งอยู่ในธรรม เป็นธรรมราชา มีสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้ชนะสงคราม มีชนบทถึงความสถาพรตั้งมั่น ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ รัตนะ ๗ ประการของเรานั้นคือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ขุนพลแก้วเป็นที่ ๗ อนึ่ง เราเคยมีบุตรมากกว่าพันคน ล้วนแต่เป็นคนกล้าหาญชาญชัย ย่ำยีข้าศึกได้ เรา ครอบครองปฐพีมณฑลนี้ อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต โดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาตรา ฯ เชิญดูผลแห่งบุญกุศลของบุคคลผู้แสวงหาความสุข ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราเจริญเมตตาจิตมาแล้ว ๗ ปี ไม่ต้องกลับมาสู่ โลกนี้ ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป เมื่อโลกถึงความพินาศ เราเข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกยังไม่ถึงความ พินาศ เราเข้าถึงวิมานอันว่างเปล่า ในกาลนั้น เราเป็นท้าว มหาพรหมผู้มีอำนาจเต็ม ๗ ครั้ง เป็นท้าวสักกะจอมเทพ เสวยสมบัติในเทวโลก ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ เป็นใหญ่ในหมู่ชนชาวชมพูทวีป เป็นกษัตริย์ได้รับมุรธาภิเศก แล้ว เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์ปกครองปฐพีมณฑลนี้ โดยไม่ ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาตรา สั่งสอนคนในปฐพีมณฑล นั้นโดยธรรมสม่ำเสมอ ไม่ผลุนผลัน ครั้นได้เสวยราชใน ปฐพีมณฑลนี้โดยธรรมแล้ว ได้เกิดในตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์ สมบัติมากมาย ทั้งบริบูรณ์พร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ อัน อำนวยความประสงค์ให้ทุกอย่าง ฐานะดังที่กล่าวมานี้พระพุทธ- *เจ้าทั้งหลายผู้สงเคราะห์ประชาชาวโลกทรงแสดงไว้ดีแล้ว เหตุที่ท่านเรียกว่าเป็นเจ้าแผ่นดิน เพราะความเป็นใหญ่ เรา เป็นพระราชาผู้เรืองเดช มีอุปกรณ์เครื่องให้ปลื้มใจมากมาย มีฤทธิ์ มียศ เป็นใหญ่ ในหมู่ชนชาวชมพูทวีป ใครบ้าง ได้ฟังแล้วจะไม่เลื่อมใสแม้จะเป็นคนมีชาติต่ำ เพราะฉะนั้น แหละ ผู้มุ่งประโยชน์ จำนงหวังความเป็นใหญ่ ระลึกถึง คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเคารพสัทธรรม ฯ
จบสูตรที่ ๙
ภริยาสูตร
[๖๐] ครั้งนั้น เมื่อเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือ บาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ประทับนั่งบน อาสนะที่ปูลาดแล้ว ก็สมัยนั้นมนุษย์ทั้งหลายในนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิก- *เศรษฐีส่งเสียงอื้ออึง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัส ถามว่า ดูกรคฤหบดี เหตุไรหนอ มนุษย์ทั้งหลายในนิเวศน์ของท่านจึงส่งเสียง อื้ออึง เหมือนชาวประมงแย่งปลากัน อนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ นางสุชาดาคนนี้ข้าพระองค์นำมาจากตระกูลมั่งคั่งมาเป็นสะใภ้ใน เรือน นางไม่เชื่อถือ แม่ผัว พ่อผัว สามี แม้แต่พระผู้มีพระภาคนางก็ไม่ สักการะเคารพนับถือบูชา ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกนางสุชาดาหญิง สะใภ้ในเรือนว่า มานี่แน่ะนางสุชาดา นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับพระผู้ มีพระภาคแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรนางสุชาดา ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้ ๗ จำพวกเป็นไฉน คือ ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต ๑ เสมอด้วยโจร ๑ เสมอด้วยนาย ๑ เสมอด้วยแม่ ๑ เสมอด้วยพี่สาวน้องสาว ๑ เสมอด้วยเพื่อน ๑ เสมอด้วยทาสี ๑ ดูกรนางสุชาดา ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้แล เธอเป็นจำพวกไหนใน ๗ จำพวกนั้น นางสุชาดากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันยังไม่รู้ทั่วถึง ความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร ข้าแต่พระ องค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่ หม่อมฉัน โดยที่หม่อมฉันจะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาค ตรัสโดยย่อนี้ โดยพิสดารเถิด ฯ พ. ดูกรนางสุชาดา ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัส พระพุทธพจน์นี้ว่า ภริยาผู้มีจิตประทุษร้าย ไม่อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ยินดีในชายอื่น ดูหมิ่นสามี เป็นผู้อันเขาซื้อมาด้วยทรัพย์ พยายามจะฆ่าผัว ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า วธกาภริยา ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต สามีของหญิงประกอบด้วย ศิลปกรรม พาณิชยกรรม และกสิกรรม ได้ทรัพย์ใดมา ภริยา ปรารถนาจะยักยอกทรัพย์ แม้มีอยู่น้อยนั้นเสีย ภริยาของ บุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า โจรภริยา ภริยาเสมอด้วยโจร ภริยา ที่ไม่สนใจการงาน เกียจคร้าน กินมาก ปากร้าย ปากกล้า ร้ายกาจ กล่าวคำหยาบ ข่มขี่ผัวผู้ขยันขันแข็ง ภริยาของ บุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า อัยยาภริยา ภริยาเสมอด้วยนาย ภริยาใดอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลทุกเมื่อ ตามรักษา สามีเหมือนมารดารักษาบุตร รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า มาตาภริยา ภริยาเสมอด้วย มารดา ภริยาที่เป็นเหมือนพี่สาวน้องสาว มีความเคารพใน สามีของตน เป็นคนละอายบาป เป็นไปตามอำนาจสามี ภริยา ของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ภคินีภริยา ภริยาเสมอด้วยพี่สาว น้องสาว ภริยาใดในโลกนี้เห็นสามีแล้วชื่นชมยินดี เหมือน เพื่อนผู้จากไปนานแล้วกลับมา เป็นหญิงมีตระกูล มีศีล มีวัตรปฏิบัติสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า สขีภริยา ภริยาเสมอด้วยเพื่อน ภริยาใดสามีเฆี่ยนตี ขู่ตะคอก ก็ไม่โกรธ ไม่คิดพิโรธโกรธตอบสามี อดทนได้ เป็นไป ตามอำนาจสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ทาสีภริยา ภริยาเสมอด้วยทาสี ภริยาที่เรียกว่าวธกาภริยา ๑ โจรี ภริยา ๑ อัยยาภริยา ๑ ภริยาทั้ง ๓ จำพวกนั้น ล้วนแต่เป็น คนทุศีลหยาบช้า ไม่เอื้อเฟื้อ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงนรก ส่วนภริยาที่เรียกว่า มาตาภริยา ๑ ภคินีภริยา ๑ สขีภริยา ๑ ทาสีภริยา ๑ ภริยาทั้ง ๔ จำพวกนั้น เพราะตั้งอยู่ในศีล ถนอมรักไว้ยั่งยืน เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ ดูกรนางสุชาดา ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้แล เธอเป็นภริยาจำพวก ไหน ใน ๗ จำพวกนั้น ฯ ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นภริยาของสามีผู้เสมอด้วยทาสี ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
โกธนาสูตร
[๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ เป็นความมุ่งหมายของ คนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือ ชายผู้มีความโกรธ ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้เป็นข้า ศึกกันในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้มีผิว พรรณทรามเถิดหนอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนผู้เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดี ให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีผิวพรรณงาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธ ครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะอาบน้ำ ไล้ทา ตัดผม โกนหนวด นุ่งผ้าขาวสะอาดแล้วก็ ตาม แต่ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการ ของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนที่เป็นข้าศึกกัน อย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้พึงนอนเป็นทุกข์เถิดหนอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคน ผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันอยู่สบาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะนอนบนบัลลังก์อันลาดด้วยผ้า ขนสัตว์ ลาดด้วยผ้าขาวเนื้ออ่อน ลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีผ้า ดาดเพดาน มีหมอนหนุนศีรษะและหนุนเท้าแดงทั้งสองข้างก็ตาม แต่ถูกความโกรธ ครอบงำแล้ว ย่อมนอนเป็นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒ เป็นความ มุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมา ถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ อีกประการหนึ่ง คนเป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกัน อย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้อย่ามีความเจริญเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ คนผู้เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีความเจริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่า เราถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ธรรมเหล่านี้อันคนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำ ถือเอาแล้ว เป็นข้าศึกแก่กันและกัน ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓ เป็นความมุ่ง หมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึง หญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกัน อย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้อย่ามีโภคะเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนที่เป็น ข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีโภคะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะมีโภคะที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมได้ด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม พระราชาทั้งหลายย่อมริบโภคะของคนขี้โกรธเข้าพระคลังหลวง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของ คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกัน อย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้อย่ามียศเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนผู้เป็นข้าศึก กันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมียศ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความ โกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะได้ยศมาเพราะความไม่ประมาท ก็เสื่อมจากยศนั้น ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกัน อย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลนี้อย่ามีมิตรเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนที่เป็นข้าศึก กันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีมิตร ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความ โกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้เขาจะมีมิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิต มิตรอำมาตย์ญาติสา- *โลหิตเหล่านั้น ก็เว้นเขาเสียห่างไกล ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๖ เป็น ความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกัน อย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลนี้ เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้อ นั้นเพราะเหตุไร เพราะคนที่เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันไปสุคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว ย่อมประพฤติทุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๗ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึก กัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความ โกรธ ฯ คนโกรธมีผิวพรรณทราม ย่อมนอนเป็นทุกข์ ถือเอาสิ่งที่เป็น ประโยชน์แล้ว กลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ ทำ ปาณาติบาตด้วยกายและวาจา ย่อมถึงความเสื่อมทรัพย์ ผู้ มัวเมาเพราะความโกรธ ย่อมถึงความไม่มียศ ญาติมิตร และสหาย ย่อมเว้นคนโกรธเสียห่างไกล คนผู้โกรธย่อมไม่ รู้จักความเจริญ ทำจิตให้กำเริบ ภัยที่เกิดมาจากภายในนั้น คนผู้โกรธย่อมไม่รู้สึก คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ ไม่เห็นธรรม ความโกรธย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมี ในขณะนั้น คนผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ ง่าย ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว เขาย่อมเดือดร้อนเหมือน ถูกไฟไหม้ คนผู้โกรธย่อมแสดงความเก้อยากก่อน เหมือน ไฟแสดงควันก่อน ในกาลใด ความโกรธเกิดขึ้น คนย่อม โกรธ ในกาลนั้น คนนั้นไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ และไม่ มีความเคารพ คนที่ถูกความโกรธครอบงำย่อมไม่มีความ สว่างแม้แต่น้อยเลย กรรมใดยังห่างไกลจากธรรม อันให้ เกิดความเดือดร้อน เราจักบอกกรรมเหล่านั้น เธอทั้งหลาย จงฟังธรรมนั้นไปตามลำดับ คนโกรธฆ่าบิดาก็ได้ ฆ่ามารดา ของตนก็ได้ ฆ่าพระขีณาสพก็ได้ ฆ่าปุถุชนก็ได้ ลูกที่ มารดาเลี้ยงไว้จนได้ลืมตาดูโลกนี้ ลูกเช่นนั้นกิเลสหยาบช้า โกรธขึ้นมาย่อมฆ่าแม้มารดานั้นผู้ให้ชีวิตความเป็นอยู่ได้ จริง อยู่ สัตว์เหล่านั้นมีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพราะตนเป็น ที่รักอย่างยิ่ง คนโกรธหมกมุ่นในรูปต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเอง ได้เพราะเหตุต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเองด้วยดาบบ้าง กินยาพิษ บ้าง เอาเชือกผูกคอตายบ้าง โดดเขาตายบ้าง คนเหล่านั้น เมื่อกระทำกรรมอันมีแต่ความเสื่อมและทำลายตนก็ไม่รู้สึก ความเสื่อมเกิดแต่ความโกรธ ตามที่กล่าวมานี้ เป็นบ่วงของ มัจจุราช มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย บุคคลผู้มักโกรธ มีการฝึกตน คือมีปัญญา ความเพียรและสัมมาทิฐิ พึงตัดความโกรธนั้น ขาดได้ บัณฑิตพึงตัดอกุศลธรรมแต่ละอย่างเสียให้ขาด พึง ศึกษาในธรรมเหมือนอย่างนั้น เธอทั้งหลายปรารถนาอยู่ว่า ขอความเป็นผู้เก้อยากอย่าได้มีแก่เราทั้งหลาย เธอทั้งหลาย เป็นผู้ปราศจากความโกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ ปราศจาก ความโลภ ไม่มีความริษยา ฝึกฝนตนแล้ว ละความโกรธได้ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักปรินิพพาน ฯ
จบสูตรที่ ๑๑
จบอัพยากตวรรคที่ ๑
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อัพยากตสูตร ๒. ปุริสคติสูตร ๓. ติสสสูตร ๔. สีหสูตร ๕. รักขิตสูตร ๖. กิมมิลสูตร ๗. สัตตธรรมสูตร ๘. โมคคัลลาน- *สูตร ๙. ปุญญวิปากสูตร ๑๐. ภริยาสูตร ๑๑. โกธนาสูตร
-----------------------------------------------------
มหาวรรคที่ ๒
หิริสูตร
[๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่มีหิริและโอตตัปปะ อินทรีย์สังวรของ บุคคลผู้มีหิริและโอตตัปปะวิบัติ ย่อมมีนิสัยถูกกำจัด เมื่อไม่มีอินทรีย์สังวร ศีล ของบุคคลผู้มีอินทรีย์สังวรวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกกำจัด เมื่อไม่มีศีล สัมมาสมาธิ ของบุคคลผู้มีศีลวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกกำจัด เมื่อไม่มีสัมมาสมาธิ ยถาภูตญาณ- *ทัสสนะของบุคคลผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกกำจัด เมื่อไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะ นิพพิทาและวิราคะ ของบุคคลผู้มียถาภูตญาณทัสสนะ วิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกกำจัด เมื่อไม่มีนิพพิทาและวิราคะ วิมุตติญาณทัสสนะ ของบุคคลผู้มีนิพพิทาและวิราคะวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกกำจัด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไม้มีกิ่งและใบวิบัติ กระเทาะก็ดี เปลือกก็ดี กระพี้ก็ดี แก่นก็ดี ของต้นไม้นั้นย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีหิริและ โอตตัปปะ อินทรีย์สังวรของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ ย่อมสมบูรณ์ ด้วยอุปนิสัย เมื่อมีอินทรีย์สังวร ศีลของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์สังวร ย่อม สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย เมื่อมีศีล สัมมาสมาธิของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีลย่อม สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย เมื่อมีสัมมาสมาธิ ยถาภูตญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ ด้วยสัมมาสมาธิย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย เมื่อมียถาภูตญาณทัสสนะ นิพพิทาและ วิราคะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ ย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย เมื่อมีนิพพิทาและวิราคะ วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาและ วิราคะ ย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไม้ สมบูรณ์ด้วยกิ่งและใบ กะเทาะก็ดี เปลือกก็ดี กระพี้ก็ดี แก่นก็ดี ของต้นไม้ นั้น ย่อมถึงความสมบูรณ์ ฉะนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๑

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๑๘๑๒-๒๑๖๑ หน้าที่ ๗๙-๙๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=1812&Z=2161&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=23&siri=55              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=55              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [55-62] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=23&item=55&items=8              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=4277              The Pali Tipitaka in Roman :- [55-62] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=23&item=55&items=8              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=4277              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i051-e.php#sutta5 https://suttacentral.net/an7.58/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :