ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
ปุณณสูตร
[๑๑๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่- *ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ ประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อที่ ข้าพระองค์ได้สดับแล้วพึงเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความ เพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรปุณณะ รูปที่พึงรู้แจ้ง ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันรูปนั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็เกิดขึ้น ดูกรปุณณะ เพราะความ เพลินเกิดขึ้น จึงเกิดทุกข์ ฯลฯ ดูกรปุณณะ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่า ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุ ยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันธรรมารมณ์นั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็บังเกิดขึ้น ดูกรปุณณะ เพราะความเพลินเกิดขึ้น จึงเกิดทุกข์ ฯ [๑๑๓] ดูกรปุณณะ รูปทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี ไม่กล่าว

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๔.

สรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็ดับไป ดูกรปุณณะ เพราะความเพลิน ดับไป ทุกข์จึงดับ ฯลฯ ดูกรปุณณะ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็ดับไป ดูกรปุณณะ เพราะความเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ ดูกรปุณณะ ด้วยประการฉะนี้ เธอนั้นจึง ไม่ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้ ฯ [๑๑๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่เบาใจในธรรมนี้ เพราะข้าพระองค์ยังไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และความสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอจะ สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอย่อมพิจารณาเห็นจักษุว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่น ไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้หรือ ฯ ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดีละ ภิกษุ ก็ในข้อนี้ จักษุเป็นอันเธอพิจารณาเห็นด้วยดีด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ ตัวตนของเรา ผัสสายตนะที่ ๑ นี้เป็นอันเธอละขาดแล้วเพื่อไม่เกิดอีกต่อไป ด้วยอาการอย่างนี้ ฯลฯ เธอพิจารณาเห็นใจว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตน ของเรา ดังนี้หรือ ฯ ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดีละ ภิกษุ ก็ในข้อนั้น ใจจักเป็นอันเธอพิจารณาเห็นด้วยดีด้วย ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ผัสสายตนะที่ ๖ นี้ จักเป็นอันเธอละขาดแล้วเพื่อความ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๕.

ไม่เกิดอีกต่อไป ด้วยอาการอย่างนี้ ดูกรปุณณะ ดีละ เธออันเรากล่าวสอนแล้ว ด้วยโอวาทอันย่อนี้ จักอยู่ในชนบทไหน ฯ ท่านพระปุณณเถระทูลว่า พระเจ้าข้า ชนบทชื่อสุนาปรันตะมีอยู่ ข้าพระ- *องค์จักอยู่ในชนบทนั้น ฯ [๑๑๕] พ. ดูกรปุณณะ พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทดุร้าย หยาบ คายนัก ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษเธอ ในข้อนั้น เธอ จักมีความคิดอย่างไร ฯ ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จัก บริภาษข้าพระองค์ไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า มนุษย์ชาว สุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยมือ ข้าแต่ พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วย มือเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร ฯ ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหาร ข้าพระองค์ด้วยมือไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ ชาวสุนาปรันตชนบทเจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยก้อนดิน ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วย ก้อนดินเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร ฯ ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหาร ข้าพระองค์ด้วยก้อนดินไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวก มนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วย

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๖.

ท่อนไม้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่ พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ พ. ดูกรปุณณะ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วย ท่อนไม้เล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร ฯ ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหาร ข้าพระองค์ด้วยท่อนไม้ไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ ชาวสุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ประหารเราด้วยศาตรา ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ พ. ดูกรปุณณะ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วย ศาตราเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร ฯ ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักประหาร ข้าพระองค์ด้วยศาตราไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวก มนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้เจริญหนอ เจริญดีหนอ ที่เขาไม่ปลงเราเสียจากชีวิต ด้วยศาตราอันคม ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ [๑๑๖] พ. ดูกรปุณณะ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักปลงเธอ เสียจากชีวิตด้วยศาตราอันคมเล่า ในข้อนั้น เธอจักมีความคิดอย่างไร ฯ ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักปลง ข้าพระองค์เสียจากชีวิตด้วยศาตราอันคมไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักมีความคิด อย่างนี้ว่า พระสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคนั้น อึดอัดระอาเกลียดชังอยู่ด้วย กายและชีวิต ย่อมแสวงหาศาตราสำหรับปลงชีวิตเสีย มีอยู่ ศาตราสำหรับปลง ชีวิตที่เราแสวงหาอยู่นั้น เราได้แล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ ข้าพระองค์ จักมีความคิดอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต ในข้อนี้ ข้าพระองค์จักมีความคิดอย่างนี้ ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๗.

พ. ดีละๆ ปุณณะ เธอประกอบด้วยทมะและอุปสมะเช่นนี้ จักอาจอยู่ ในสุนาปรันตชนบทได้ บัดนี้ เธอย่อมรู้กาลอันควรไปได้ ฯ [๑๑๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มี- พระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เก็บ เสนาสนะแล้ว ถือบาตรและจีวรหลีกจาริกไปทางสุนาปรันตชนบท เมื่อเที่ยวจาริก ไปโดยลำดับ ก็บรรลุถึงสุนาปรันตชนบท ได้ยินว่า ท่านพระปุณณะอยู่ในสุนา- ปรันตชนบทนั้น ครั้งนั้นแล ในระหว่างพรรษานั้น ท่านพระปุณณะให้ชาว- สุนาปรันตชนบทแสดงตนเป็นอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน ได้ทำวิชชา ๓ ให้แจ้ง และปรินิพพานแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อว่าปุณณะที่พระผู้มีพระภาคตรัสสอนด้วยพระ โอวาทอย่างย่อนั้น ทำกาละแล้ว กุลบุตรนั้นมีคติเป็นอย่างไร มีอภิสัมปรายภพเป็น อย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรชื่อว่าปุณณะ เป็น บัณฑิต กล่าวคำจริง กล่าวธรรมสมควรแก่ธรรม มิได้ลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรชื่อว่าปุณณะปรินิพพานแล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๕

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๑๔๔๔-๑๕๔๘ หน้าที่ ๖๓-๖๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=1444&Z=1548&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=18&siri=68              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=112              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [112-117] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=18&item=112&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=476              The Pali Tipitaka in Roman :- [112-117] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=18&item=112&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=476              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i101-e.php#sutta5 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn35/sn35.088.than.html https://suttacentral.net/sn35.88/en/sujato https://suttacentral.net/sn35.88/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :