ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

หน้าที่ ๔๖.

๖. อุปาลิวาทสูตร
เรื่องทีฆตปัสสีนิครนถ์
[๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน ใกล้เมืองนาลันทา. สมัยนั้น นิครนถ์นาฏบุตรอาศัยอยู่ ณ เมืองนาลันทาพร้อมด้วยบริษัทนิครนถ์เป็นอันมาก ครั้งนั้นแล. นิครนถ์ชื่อว่าทีฆตปัสสี เที่ยวบิณฑบาตไปในเมืองนาลันทา เวลาภายหลังภัต กลับจาก บิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงปาวาริกัมพวัน ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ กะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ดูกรทีฆตปัสสี อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ ก็จงนั่งเถิด เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่งนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
กรรม ๓ ของนิครนถ์นาฏบุตร
[๖๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ดูกรทีฆตปัสสี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม ไว้เท่าไร? ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ทูลว่า ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตร จะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้ เป็นอาจิณหามิได้ ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า ทัณฑะๆ ดังนี้แล เป็น อาจิณ. พ. ดูกรทีฆตปัสสี ก็นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการทำบาปกรรม ในการ เป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร? ที. ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะในการทำบาปกรรม ในการเป็นไป แห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ กายทัณฑะ ๑ วจีทัณฑะ ๑ มโนทัณฑะ ๑.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๗.

ดูกรตปัสสี ก็กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่ง หรือ? ท่านพระโคดม กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่ง. ดูกรตปัสสี ก็บรรดาทัณฑะ ๓ ประการนี้ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกัน เหล่านี้ ทัณฑะไหน คือ กายทัณฑะ วจีทัณฑะ หรือมโนทัณฑะ ที่นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่ามี โทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม? ท่านพระโคดม บรรดาทัณฑะทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่าง ต่างกันเหล่านี้ นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า กายทัณฑะมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ใน การเป็นไปแห่งบาปกรรม จะบัญญัติวจีทัณฑะ มโนทัณฑะ ว่ามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะ หามิได้. ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ? ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าว่ากายทัณฑะ. ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ? ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ. ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ? ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ. พระผู้มีพระภาคทรงให้ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ยืนยันในเรื่องที่พูดนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการ ฉะนี้. [๖๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กราบทูลถามพระผู้มี พระภาคว่า ท่านพระโคดม พระองค์เล่าย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไป แห่งบาปกรรมไว้เท่าไร? ดูกรตปัสสี ตถาคตจะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้เป็นอาจิณ. ท่านพระโคดม ก็พระองค์ย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่ง บาปกรรม ไว้เท่าไร?

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๘.

ดูกรตปัสสี เราย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ กายกรรม ๑ วจีกรรม ๑ มโนกรรม ๑. พระโคดม ก็กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่งมิใช่หรือ? ดูกรตปัสสี กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง. ท่านพระโคดม ก็บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกัน เหล่านี้ กรรมไหน คือ กายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมที่พระองค์บัญญัติว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม? ดูกรตปัสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกัน เหล่านี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม เราจะบัญญัติกายกรรม วจีกรรมว่ามีโทษมากเหมือนมโนกรรมหามิได้. ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ? ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม. ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ? ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม. ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ? ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม. ทีฆตปัสสีนิครนถ์ให้พระผู้มีพระภาคทรงยืนยันในเรื่องที่ตรัสนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการ ฉะนี้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่. [๖๕] ก็สมัยนั้น นิครนถ์นาฏบุตรนั่งอยู่พร้อมด้วยคิหิบริษัทเป็นอันมาก ผู้มีความเขลา มีอุบาลิคฤหบดีเป็นประมุข. ได้เห็นทีฆตปัสสีนิครนถ์มาแต่ไกล ได้กล่าวกะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ดูกรตปัสสี ดูเถอะ ท่านมาจากไหนแต่ยังวันเทียวหนอ? ทีฆตปัสสีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาจากสำนักพระโคดมนี้เอง. นิ. ดูกรตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมเรื่องอะไรบ้างหรือ? ที. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมมาบ้าง. ดูกรตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมมาอย่างไร?

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๙.

ลำดับนั้น ทีฆตปัสสีนิครนถ์บอกเรื่องการเจรจาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคจนหมดสิ้น แก่นิครนถ์นาฏบุตร. เมื่อทีฆตปัสสีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์นาฏบุตรได้กล่าวกะทีฆตปัสสีนิครนถ์ ว่า ดูกรตปัสสี ดีละๆ ข้อที่ทีฆตปัสสีนิครนถ์พยากรณ์แก่พระสมณโคดม ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะอันต่ำทราม จะงามอะไรเล่า เมื่อเทียบกับกาย- *ทัณฑะอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่. [๖๖] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดีได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตร ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทีฆตปัสสีพยากรณ์ดีแล้วๆ ข้อที่ท่านทีฆตปัสสีพยากรณ์แก่พระสมณโคดม ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะอันต่ำทรามจะงามอะไรเล่า เมื่อเทียบกับกายทัณฑะอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำ บาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะ ไม่ ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม ถ้า พระสมณโคดมจักยืนยันแก่ข้าพเจ้า เหมือนอย่างที่ยืนยันกับท่านตปัสสีไซร้ ข้าพเจ้าจักฉุดกระชาก ลากไปมา ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดม เหมือนบุรุษมีกำลังพึงจับแกะมีขนยาวที่ขนแล้ว ฉุดกระชากลากไปมา ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักฉุดกระชากลากไปมา ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดม เหมือนบุรุษมีกำลังผู้ทำการงานโรงสุรา พึงทิ้งกระสอบเครื่องประกอบสุราใหญ่ไว้ในห้วงน้ำลึกแล้ว จับที่มุมฉุดกระชากลากไปมา ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักขจัด ขยี้ บด ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณ- *โคดม เหมือนบุรุษที่มีกำลังเป็นนักเลงสุรา พึงจับถ้วยสุราที่หูถ้วยแล้ว พลิกลง พลิกขึ้น ไสไป ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเล่นดังเล่นล้างเปลือกป่าน กะพระสมณโคดม เหมือนช้างแก่อายุ ๖๐ ปี ลงไปยังสระลึกเล่นล้างเปลือกป่าน ฉะนั้น ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะ ในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม. นิ. ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม ดูกรคฤหบดี เราก็ได้ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๐.

[๖๗] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวกะนิครนถ์- *นาฏบุตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้า ไม่ชอบใจเลย ด้วยว่า พระสมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของ พวกอัญญเดียรถีย์. นิ. ดูก่อนตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม. ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่ อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยพระสมณโคดม เป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์. นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม. ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๓ ว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่ อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยพระสมณโคดม เป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์. นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม. [๖๘] อุบาลีคฤหบดีรับคำนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว ลุกจากอาสนะไหว้นิครนถ์นาฏบุตร ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงปาวาริกัมพวัน ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้มา ณ ที่นี้หรือ?

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๑.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า ดูกรคฤหบดี ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้มา ณ ที่นี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์ได้เจรจาปราศรัยเรื่องอะไรๆ กับทีฆตปัสสีนิครนถ์ บ้างหรือ? ดูกรคฤหบดี เราได้เจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์บ้าง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์ได้เจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์อย่างไรบ้าง? ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสบอกเรื่องการเจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์จน หมดสิ้นแก่อุบาลีคฤหบดี. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสบอกอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดีได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆตปัสสีพยากรณ์ดีแล้วๆ ข้อที่ทีฆตปัสสีพยากรณ์ แก่พระผู้มีพระภาคนั้น ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของพระศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะ อันต่ำทรามนั้นจะงามอะไรเล่า เมื่อเทียบกับกายทัณฑะนี้ อันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่. ดูกรคฤหบดี ถ้าแลท่านจะพึงมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน เราทั้งสองพึงเจรจาปราศรัยกันได้ ในเรื่องนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจักมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัย กันในเรื่องนี้เถิด.
พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามปัญหากรรม ๓
[๖๙] ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญในความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้เป็นคน อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ห้ามน้ำเย็น ดื่มแต่น้ำร้อน เมื่อเขาไม่ได้น้ำเย็นจะต้องตาย ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติความเกิดของนิครนถ์ผู้นี้ในที่ไหนเล่า? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาชื่อว่ามโนสัตว์มีอยู่ นิครนถ์นั้นย่อมเกิดในเทวดาจำพวกนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะนิครนถ์ผู้นั้นเป็นผู้มีใจเกาะเกี่ยวทำกาละ. ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้ว จงพยากรณ์คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับ คำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจาต่อกัน ของเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๒.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้นกายทัณฑะเท่านั้น มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรมในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษ มากเหมือนกายทัณฑะไม่. [๗๐] ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้พึงเป็นผู้ สำรวมด้วยการสังวรโดยส่วน ๔ คือห้ามน้ำทั้งปวง ประกอบด้วยการห้ามบาปทั้งปวง กำจัดบาป ด้วยการห้ามบาปทั้งปวง อันการห้ามบาปทั้งปวงถูกต้องแล้ว เมื่อเขาก้าวไป ถอยกลับ ย่อมถึง การฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ เป็นอันมาก ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติวิบากเช่นไรแก่นิครนถ์ ผู้นี้? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรมิได้บัญญัติกรรม อันเป็นไปโดยไม่จงใจว่ามี โทษมากเลย. ดูกรคฤหบดี ก็ถ้าจงใจเล่า? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นกรรมมีโทษมาก. ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนไหน? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนมโนทัณฑะ. ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้ว จงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อน กับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น กายทัณฑะเท่านั้น มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่. ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บ้านนาลันทานี้เป็นบ้านมั่งคั่ง เป็น บ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น? อย่างนั้น พระเจ้าข้า บ้านนาลันทา เป็นบ้านมั่งคั่ง เป็นบ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๓.

ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน ในบ้านนาลันทานี้ พึงมีบุรุษคนหนึ่ง เงื้อดาบมา เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้อ อันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่ง ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะสามารถทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้อ อันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่งได้หรือ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษ ๑๐ คนก็ดี ๒๐ คนก็ดี ๓๐ คนก็ดี ๔๐ คนก็ดี ๕๐ คนก็ดี ไม่สามารถจะทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อ อันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึงได้ พระเจ้าข้า บุรุษผู้ต่ำทรามคนเดียว จะงาม อะไรเล่า. ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความ เป็นผู้ชำนาญในทางจิต พึงมาในบ้านนาลันทานี้ สมณะหรือพราหมณ์นั้น พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจคิดประทุษร้ายดวงเดียว ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น จะสามารถ ทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่งได้หรือหนอ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บ้านนาลันทา ๑๐ บ้านก็ดี ๒๐ บ้านก็ดี ๓๐ บ้านก็ดี ๔๐ บ้านก็ดี ๕๐ บ้านก็ดี สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น สามารถจะทำให้ เป็นเถ้าได้ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่ง บ้านนาลันทาอันต่ำทรามบ้านเดียวจะงามอะไรเล่า. ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้วจงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อน กับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริงถึงอย่างนั้น กายทัณฑะเท่านั้น มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๔.

ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาแล้วหรือ? อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว. ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาว่าอย่างไร เกิดเป็นป่าไปเพราะเหตุอะไร? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไปนั้น เพราะใจประทุษร้าย อันพวกเทวดาทำเพื่อฤาษี. ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้วจงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อน กับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.
อุบาลีคฤหบดีแสดงตนเป็นอุบาสก
[๗๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคด้วยข้ออุปมา ข้อแรก แต่ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะฟังปฏิภาณการพยากรณ์ปัญหาอันวิจิตร ของพระผู้มีพระภาค นี้ ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงยังแกล้งทำเป็นดุจถือตรงกันข้ามอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือน บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนที่หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้น เหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระ ภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะ ตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป. [๗๒] ดูกรคฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ การที่มนุษย์ผู้มีชื่อเสียง เช่นท่านใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำเป็นความดี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยเหตุที่พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า ดูกร คฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ การที่มนุษย์ผู้มีชื่อเสียงเช่นท่านใคร่ครวญเสียก่อน

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๕.

แล้วจึงทำเป็นความดีนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายิ่งชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคมากขึ้น ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ด้วยว่าพวกอัญญเดียรถีย์ได้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวกแล้ว จะพึงยกธงปฏากเที่ยวไปตลอด บ้านนาลันทาทั้งสิ้น ซึ่งเป็นเหตุจะได้รู้กันว่า อุบาลีคฤหบดี ถึงความเป็นสาวกของพวกเราดังนี้ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้ว จึงทำ ด้วยว่ามนุษย์ผู้มีชื่อเสียงเช่นท่าน ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำเป็นความดี ดังนี้ ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ เป็นครั้งที่ ๒ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป. [๗๓] ดูกรคฤหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มานานแล้ว ท่านพึง สำคัญบิณฑบาตอันท่านพึงให้แก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มานานแล้ว ท่านพึงสำคัญบิณฑบาต อันท่านพึงให้แก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึงนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายิ่งชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาค มากขึ้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้มาว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ควรให้ทานแก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่คนเหล่าอื่น ควรให้ทานแก่สาวกทั้งหลายของเราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของผู้อื่น ทานที่บุคคลให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่บุคคลให้แก่สาวก ของผู้อื่นไม่มีผลมาก แต่ความจริง พระผู้มีพระภาคยังทรงชักชวนข้าพระพุทธเจ้าในการให้ทาน แม้ในพวกนิครนถ์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แต่ว่าข้าพระพุทธเจ้าจักทราบกาลอันควรในการให้ทาน นี้ ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ เป็นครั้ง ที่ ๓ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป.
ทรงแสดงอนุบุพพิกถา
[๗๔] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสอนุบุพพิกถาแก่อุบาลีคฤหบดีคือ ทรงประกาศ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษแห่งกามอันต่ำทราม เศร้าหมอง อานิสงส์ในเนกขัมมะ เมื่อใดพระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบอุบาลีคฤหบดีว่ามีจิตควร มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๖.

มีจิตสูง มีจิตผ่องใส เมื่อนั้น จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้น แสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากดำ ควรได้รับน้ำย้อมด้วยดี ฉันใด ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่อุบาลี คฤหบดีที่อาสนะนั้นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความ ดับไปเป็นธรรมดา ฉันนั้นเหมือนกัน. ลำดับนั้น อุบาลีคฤหบดีมีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันบรรลุแล้ว มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงมั่นแล้ว ข้ามวิจิกิจฉาแล้ว ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลลาไป ณ บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามีกิจมาก มีธุระที่จะต้องทำมาก. ดูกรคฤหบดี ท่านจงรู้กาลอันสมควร ณ บัดนี้เถิด. [๗๕] ครั้งนั้นแล อุบาลีคฤหบดีชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจาก อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณ แล้วเข้าไปยังนิเวศน์ของตน เรียกนายประตูมา ว่า ดูกรนายประตูผู้สหาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์ และเปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาค เพื่อสาวกของพระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ถ้านิครนถ์คนใดคนหนึ่งมา ท่านพึงว่ากะนิครนถ์คนนั้นอย่างนี้ว่า จงหยุดท่านผู้เจริญ อย่า เข้าไปเลยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว ท่าน ปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์ ท่านเปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาค สาวกของ พระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านมีความต้องการด้วยอาหาร ท่านจงหยุดอยู่ที่นี่แหละ ชนทั้งหลายจักนำมาเพื่อท่านในที่นี้ นายประตูรับคำอุบาลีคฤหบดีแล้ว. [๗๖] ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ฟังข่าวว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณ- *โคดมแล้ว ลำดับนั้น จึงเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังข่าวนี้มาว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดม แล้ว.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๗.

นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้. ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า ได้ฟังข่าวนี้มาว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว. นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้. ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังข่าวนี้มาว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว. นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้. ที. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป เพียงจะทราบว่าอุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความ เป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว หรือหาไม่? นิ. ดูกรตปัสสี ท่านจงไป จงรู้ว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระ สมณโคดม หรือหาไม่?
ห้ามพวกเดียรถีย์เข้าบ้าน
[๗๗] ครั้งนั้น ทีฆตปัสสีนิครนถ์ จึงเข้าไปยังนิเวศน์ของอุบาลีคฤหบดี นายประตู ได้เห็นทีฆตปัสสีนิครนถ์มาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วจึงกล่าวว่า จงหยุดเถิดท่านผู้เจริญ อย่าเข้า มาเลย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว ท่านปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์เปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาคและสาวกของ พระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านมีความต้องการอาหาร จงหยุดอยู่ที่นี้แหละ ชนทั้งหลายจักนำมาเพื่อท่าน ณ ที่นี้.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๘.

ทีฆตปัสสีกล่าวว่า ผู้มีอายุ เรายังไม่ต้องการอาหารดอก แล้วกลับจากที่นั้น เข้าไปหา นิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็น สาวกของพระโคดมนั้น เป็นความจริงทีเดียว ข้าพเจ้าไม่ได้คำที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า ข้อที่อุบาลี คฤหบดีพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยว่า พระสมณโคดมเป็น คนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ ดังนี้ จากท่าน ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีของท่านถูกพระสมณโคดม กลับใจด้วยมายาอันเป็นเครื่องกลับใจ เสียแล้ว. นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้. ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีเข้า ถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น เป็นความจริงทีเดียว ข้าพเจ้าไม่ได้คำที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยว่าพระ- *สมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ ดังนี้ จากท่าน ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีของท่านถูกพระสมณโคดมกลับใจ ด้วยมายาอันเป็นเครื่อง กลับใจเสียแล้ว. นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ และกล่าวต่อไปว่า เอาเถอะ ตปัสสี เราจะไปเพียงจะรู้เองทีเดียวว่า อุบาลี คฤหบดี เข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมจริงหรือไม่? [๗๘] ลำดับนั้น นิครนถ์นาฏบุตร พร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมาก เข้าไปยัง นิเวศน์ของอุบาลีคฤหบดี นายประตูได้เห็นนิครนถ์นาฏบุตรมาแต่ไกล ได้กล่าวว่า จงหยุดเถิด ท่านผู้เจริญ อย่าเข้ามา ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระ- *สมณโคดมแล้ว ท่านปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์แล้ว ท่านเปิดประตูเพื่อ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๙.

พระผู้มีพระภาคและสาวกของพระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านต้องการอาหาร จงหยุดอยู่ที่นี่แหละ ชนทั้งหลายจักนำมาเพื่อท่าน ณ ที่นี้. นิ. นายประตูผู้เป็นสหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเข้าไปหาอุบาลีคฤหบดี แล้วจงกล่าว อย่างนี้ว่า นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมาก มายืนอยู่ที่ซุ้มประตูข้างนอก เขาอยากจะพบท่าน นายประตูรับคำนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว เข้าไปหาอุบาลีคฤหบดี แล้วได้เรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมาก มายืนอยู่ที่ซุ้มประตู ข้างนอก เขาอยากจะพบท่าน. อุ. ดูกรนายประตูผู้เป็นสหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงปูลาดอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลาง. นายประตูรับคำอุบาลีคฤหบดีแล้ว ปูลาดอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลาง แล้วเข้าไปหาอุบาลีคฤหบดี แล้วได้เรียนว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปูอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลางแล้ว ท่านย่อมสำคัญกาล อันควร ณ บัดนี้. ลำดับนั้น อุบาลีคฤหบดี เข้าไปยังศาลาประตูกลาง แล้วนั่งบนอาสนะอันเลิศ ประเสริฐอุดม และประณีต อันมีอยู่ ณ ที่นั้นเสียเอง แล้วเรียกนายประตูมาว่า นายประตู ผู้เป็นสหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตร จงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีกล่าวอย่างนี้ว่า เชิญท่านเข้าไปเถิด ถ้าท่านจำนง. นายประตูรับคำอุบาลีคฤหบดีแล้ว เข้าไปนิครนถ์นาฏบุตร แล้วได้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เชิญท่านเข้าไปเถิด ถ้าท่านจำนง. ลำดับนั้น นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็น อันมาก เข้าไปยังศาลาประตูกลาง. [๗๙] ครั้งนั้นแล ได้ยินว่า แต่ก่อนอุบาลีคฤหบดีเห็นนาฏบุตรมาแต่ไกลเท่าใด แล้ว ต้อนรับแต่ที่เท่านั้น เอาผ้าห่มกวาดอาสนะที่เลิศ ประเสริฐอุดม และประณีต อันมีอยู่ ณ ที่นั้น แล้วกำหนดให้นั่ง บัดนี้ ท่านอุบาลีคฤหบดีนั่งบนอาสนะที่เลิศ ประเสริฐ อุดม และประณีต อันมีอยู่ ณ ที่นั้นเสียเอง แล้วได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่า ท่านคฤหบดีผู้เจริญ อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านหวังเชิญนั่งเถิด. เมื่ออุบาลีคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์นาฏบุตรได้กล่าวว่า ท่าน เป็นบ้าเสียแล้วหรือ คฤหบดี ท่านเป็นคนเขลาเสียแล้วหรือ คฤหบดี ท่านกล่าวว่า ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะแก่พระสมณโคดม ครั้นไปแล้ว กลับถูกวาทะดุจไม้ขื่อ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๐.

อันใหญ่สวมมาแล้วหรือ ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษผู้นำอัณฑะไป ถูกควักอัณฑะออก กลับมา ฉันใด ดูกรคฤหบดี อนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษนำดวงตาไป ถูกควักดวงตากลับมา ฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านก็ฉันนั้นแล กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะ แก่พระสมณโคดม ครั้นไปแล้ว กลับถูกวาทะดุจไม้ขื่ออันใหญ่สวมมาแล้ว ท่านถูกพระสมณ- *โคดมกลับใจ ด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจเสียแล้วหรือ.
มายาเครื่องกลับใจ
[๘๐] อุ. ท่านผู้เจริญ มายาอันเป็นเครื่องกลับใจนี้ดี ท่านผู้เจริญ มายาอันนี้เป็น เครื่องกลับใจนี้งาม ท่านผู้เจริญ ญาติสาโลหิตผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้าจะพึงกลับใจได้ด้วยมายา เครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่ญาติสาโลหิตผู้เป็นที่รัก ของข้าพเจ้า สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ แม้ถ้ากษัตริย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่อง กลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่กษัตริย์แม้ทั้งปวง สิ้น กาลนาน ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าพราหมณ์ทั้งปวงจะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้น จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่พราหมณ์แม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าแพศย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่แพศย์แม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญแม้ถ้าศูทรทั้งปวงจะพึง กลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ศูทร แม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ จะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้น จะพึงเป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก แก่ หมู่สัตว์พร้อมสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจักทำอุปมาแก่ท่าน วิญญูชนบางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้อรรถแห่งภาษิตได้ แม้ด้วยการ เปรียบเทียบ. [๘๑] ท่านผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว นางมาณวิกาสาว เป็นภริยาของพราหมณ์แก่ ผู้เฒ่าผู้ใหญ่คนหนึ่ง มีครรภ์ใกล้จะคลอด. ครั้งนั้น นางมาณวิกานั้นได้กล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปซื้อลูกวานรจากตลาดมาไว้ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกเรา ท่านผู้เจริญ.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๑.

เมื่อนางมาณวิกากล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์นั้นได้กล่าวว่า นางผู้เจริญ จงรอจนกว่าเธอจะคลอด เสียก่อนเถิด ถ้าเธอคลอดลูกเป็นชาย ฉันจักซื้อลูกวานรตัวผู้จากตลาดมาให้เธอ จักได้เป็น เพื่อนเล่นของลูกชายของเธอ แต่ถ้าเธอคลอดลูกเป็นหญิง ฉันจักซื้อลูกวานรตัวเมียจากตลาด มาให้เธอ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกหญิงของเธอ. ท่านผู้เจริญ นางมาณวิกานั้นได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปซื้อ ลูกวานรจากตลาดมาไว้ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกเรา ท่านผู้เจริญ. พราหมณ์ก็ได้กล่าวเป็น ครั้งที่ ๒ ว่า นางผู้เจริญ จงรอจนกว่าเธอจะคลอดเสียก่อนเถิด ถ้าเธอคลอดลูกเป็นชาย ฉันจักซื้อลูกวานรตัวผู้จากตลาดมาให้เธอ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกชายของเธอ แต่ถ้าเธอ คลอดลูกเป็นผู้หญิง ฉันจักซื้อลูกวานรตัวเมียจากตลาดมาให้เธอ เพื่อจักได้เป็นเพื่อนเล่นของ ลูกหญิงของเธอ. ท่านผู้เจริญ นางมาณวิกาได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปซื้อ ลูกวานรจากตลาดมาไว้ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกเรา ท่านผู้เจริญ. ลำดับนั้น พราหมณ์ผู้นั้น กำหนัดมาก มีจิตปฏิพัทธ์ในนางมาณวิกานั้น จึงซื้อลูกวานรมาจากตลาด แล้วได้กล่าวว่า นางผู้เจริญ ฉันซื้อลูกวานรจากตลาดมาให้เธอแล้ว จักเป็นเพื่อนเล่นของลูกเธอ. เมื่อพราหมณ์ กล่าวอย่างนี้แล้ว นางมาณวิกานั้นได้กล่าวว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไป จงอุ้มลูกวานรตัวนี้ เข้าไปหาบุตรช่างย้อมผู้ชำนาญการย้อม แล้วจงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะเพื่อนผู้ชำนาญการย้อม ฉันอยากจะให้ท่านย้อมลูกวานรตัวนี้ให้เป็นสีน้ำย้อม ให้น้ำย้อมจับดี ทุบแล้วทุบอีกให้เกลี้ยงดี ทั้งสองข้าง. ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นกำหนัดมาก มีจิตปฏิพัทธ์ในนางมาณวิกานั้น จึงอุ้มลูกวานร เข้าไปหาบุตรช่างย้อม ผู้ชำนาญการย้อม แล้วได้กล่าวว่า แน่ะเพื่อนผู้ชำนาญการย้อม ฉันอยาก จะให้ท่านย้อมลูกวานรนี้ให้เป็นสีน้ำย้อม ให้น้ำย้อมจับดี ทุบแล้วทุบอีกให้เกลี้ยงดีทั้งสองข้าง. เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ บุตรช่างย้อมผู้ชำนาญการย้อมได้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ลูกวานรของ ท่านตัวนี้ ควรแต่จะย้อมเท่านั้น แต่ไม่ควรจะทุบ ไม่ควรจะขัดสี ฉันใด. ท่านผู้เจริญ วาทะของนิครนถ์ผู้เขลา ก็ฉันนั้น ควรเป็นที่ยินดีของคนเขลาเท่านั้น ไม่ควรเป็นที่ยินดี ไม่ควรซักไซ้ ไม่ควรพิจารณาของบัณฑิตทั้งหลาย. ท่านผู้เจริญ ครั้นสมัยต่อมา พราหมณ์นั้นถือคู่ผ้าใหม่เข้าไปหาบุตรช่างย้อม ผู้ชำนาญ การย้อม แล้วได้กล่าวว่า แน่ะเพื่อนผู้ชำนาญการย้อม ฉันอยากจะให้ท่านย้อมคู่ผ้าใหม่นี้ให้เป็น

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๒.

สีน้ำย้อม ให้น้ำย้อมจับดี ทุบแล้วทุบอีกให้เกลี้ยงดีทั้งสองข้าง. เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว บุตรช่างย้อมผู้ชำนาญการย้อมได้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ คู่ผ้าใหม่ของท่านนี้ ควรจะย้อม ควรจะทุบ ควรจะขัดสี ฉันใด. ท่านผู้เจริญ วาทะของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็ฉันนั้น ควรเป็นที่ยินดีของบัณฑิตทั้งหลายเท่านั้น แต่ไม่ควรซักไซ้ และไม่ควรพิจารณาของ คนเขลาทั้งหลาย. นิ. ดูกรคฤหบดี บริษัทพร้อมทั้งพระราชา รู้จักท่านอย่างนี้ว่า อุบาลีคฤหบดีเป็นสาวก ของนิครนถ์นาฏบุตร ดังนี้ เราทั้งหลายจะทรงจำท่านว่าเป็นสาวกของใครเล่า?
อุบาลีคฤหบดีประกาศตนเป็นสาวก
[๘๒] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดี ลุกจากอาสนะ ทำผ้าห่ม เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตร ว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟังพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ข้าพเจ้าเป็นสาวก ข้าพเจ้า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นนักปราชญ์ ปราศจากโมหะ ทรงทำลายกิเลสเครื่องตรึงใจ ได้ ทรงชำนะมาร ไม่มีทุกข์ มีจิตเสมอด้วยดี มีมารยาทอันเจริญ มีพระปัญญาดี ทรงข้าม กิเลสอันปราศจากความเสมอได้ ปราศจากมลทิน ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้ไม่มี ความสงสัย มีพระทัยดี ทรงคายโลกามิสได้แล้ว ทรงบันเทิง ทรงมีสมณธรรมอันทำสำเร็จแล้ว ทรงเกิดเป็นมนุษย์ มีพระสรีระเป็นที่สุด เป็นพระไม่มีผู้เปรียบได้ ปราศจากธุลี ข้าพเจ้า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้ไม่มีความสงสัย ทรงเฉียบแหลม ทรงแนะนำสัตว์ เป็นสารถี อันประเสริฐ ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า มีธรรมอันงามหมดความเคลือบแคลง ทรงทำแสงสว่าง ทรงตัดมานะเสียได้ ทรงมีพระวิริยะ ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้องอาจ ไม่มีใคร ประมาณได้ มีพระคุณลึกซึ้ง บรรลุถึงญาณ ทรงทำความเกษม ทรงมีพระญาณ ทรงตั้งอยู่ในธรรม ทรงสำรวมพระองค์ดี ทรงล่วงกิเลสเป็นเครื่องข้อง ผู้พ้นแล้ว ข้าพเจ้าเป็นสาวกของ พระผู้มีพระภาค ผู้ประเสริฐ ทรงมีเสนาสนะอันสงัด มีสังโยชน์สิ้นแล้ว ผู้พ้นแล้ว ทรงมี พระปัญญาเครื่องคิดอ่าน ทรงมีพระญาณเครื่องรู้ ผู้ลดธงคือมานะเสียได้ ปราศจากราคะ ผู้ฝึกแล้ว ผู้ไม่มีธรรมเครื่องหน่วง ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระฤาษีที่ ๗ ผู้ไม่ลวงโลก ทรงไตรวิชชา เป็นสัตว์ประเสริฐ ทรงล้างกิเลสแล้ว ทรงฉลาด ประสมอักษร ให้เป็นบทคาถา ทรงระงับแล้ว มีพระญาณอันรู้แล้ว ทรงให้ธรรมทานก่อนทั้งหมด ทรงสามารถ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๓.

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอริยะ มีพระองค์อบรมแล้ว ทรงบรรลุคุณ ที่ควรบรรลุ ทรงแสดงอรรถให้พิสดาร ทรงมีสติ ทรงเห็นแจ้ง ไม่ทรงยุบลง ไม่ทรงฟูขึ้น ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงบรรลุความเป็นผู้ชำนาญ ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้เสด็จไปดี ทรงมีฌาน ไม่ทรงปล่อยจิตไปตาม ทรงบริสุทธิ์ ไม่ทรงสะดุ้ง ปราศจากความกลัว สงัดทั่ว ทรงบรรลุธรรมอันเลิศ ทรงข้ามได้เอง ทรงยังสัตว์อื่นให้ข้ามได้ ข้าพเจ้าเป็นสาวกของ พระผู้มีพระภาค ผู้สงบแล้ว มีพระปัญญากว้างใหญ่เสมอด้วยแผ่นดิน มีพระปัญญาใหญ่หลวง ปราศจากโลภ ทรงดำเนินปฏิปทาเหมือนพระพุทธเจ้าในปางก่อน เสด็จไปดีแล้ว ไม่มีบุคคล เปรียบ ไม่มีผู้เสมอเหมือน ทรงแกล้วกล้า ผู้ละเอียดสุขุม ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้ตัดตัณหาได้ขาด ทรงตื่นอยู่ ปราศจากควัน ผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาได้ ผู้ควรรับการบูชา ทรงได้พระนามว่ายักขะ ๑- เป็นอุดมบุคคล มีพระคุณไม่มีใครชั่งได้ เป็นผู้ใหญ่ ทรงถึงยศอย่าง ยอดเยี่ยม. [๘๓] นิ. ดูกรคฤหบดี ท่านประมวลถ้อยคำสำหรับพรรณนาคุณของพระสมณโคดม ไว้แต่เมื่อไร? อุ. ดูกรท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนช่างดอกไม้ หรือลูกมือช่างดอกไม้คนขยัน พึง ร้อยกรองดอกไม้ต่างๆ กองใหญ่ ให้เป็นพวงมาลาอันวิจิตรได้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ก็ฉันนั้น ทรงมีพระคุณควรพรรณนาเป็นอเนก ทรงมีพระคุณควรพรรณนาตั้งหลายร้อย ก็ใครจัก ไม่ทำการพรรณนาพระคุณของพระองค์ผู้ควรพรรณนาพระคุณได้เล่า. ครั้นเมื่อนิครนถ์นาฏบุตรทนดูสักการะของพระผู้มีพระภาคไม่ได้ โลหิตอันอุ่นได้พลุ่ง ออกจากปากในที่นั้นเอง ดังนี้แล.
จบ อุปาลิวาทสูตร ที่ ๖.
-----------------------------------------------------
@๑. เพราะแสดงอานุภาพได้ หรือเพราะไม่ปรากฏพระองค์.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๑๐๔๔-๑๔๗๗ หน้าที่ ๔๖-๖๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=1044&Z=1477&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=6              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=62              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [62-83] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=13&item=62&items=22              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=975              The Pali Tipitaka in Roman :- [62-83] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=13&item=62&items=22              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=975              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i062-e1.php# https://suttacentral.net/mn56/en/sujato https://suttacentral.net/mn56/en/narada-mahinda

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :