ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร
ว่าด้วยข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ
[๔๗๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคมของหมู่อังคราชกุมาร เขตอังคชนบท. ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัส ของพระผู้มีพระภาคแล้ว. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ประชุมชนย่อมรู้จักพวกเธอว่า สมณะๆ ก็แหละพวกเธอ เมื่อเขาถามว่า ท่านทั้งหลายเป็นอะไร ก็ปฏิญญาว่า พวกเราเป็นสมณะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธอนั้น มีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้ จึงควรศึกษาอยู่ว่า ข้อปฏิบัติที่ดียิ่งของสมณะ อันใดมีอยู่ เราทั้งหลายจะปฏิบัติข้อปฏิบัติอันนั้น เมื่อพวกเราปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อและปฏิญญา นี้ของพวกเรา ก็จักเป็นความจริงแท้ ใช่แต่เท่านั้น พวกเราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ของทายกเหล่าใด ปัจจัยทั้งหลายนั้น ของทายกเหล่านั้น ก็จักมี ผลมาก มีอานิสงส์มาก ในเพราะพวกเรา อีกอย่างหนึ่งเล่า บรรพชานี้ของพวกเรา ก็จักไม่ เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ. [๔๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่ง? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดรูปหนึ่งมีอภิชฌามาก ยังละอภิชฌาไม่ได้ มีจิตพยาบาท ยังละพยาบาท ไม่ได้ เป็นผู้มักโกรธ ยังละความมักโกรธไม่ได้ มีความผูกโกรธ ยังละความโกรธไม่ได้ มีความลบหลู่ ยังละความลบหลู่ไม่ได้ มีความตีเสมอ ยังละความตีเสมอไม่ได้ ยังมีความ ริษยา ยังละความริษยาไม่ได้ มีความตระหนี่ ยังละความตระหนี่ไม่ได้ มีความโอ้อวด ยังละ ความโอ้อวดไม่ได้ มีมายา ยังละมายาไม่ได้ มีความปรารถนาลามก ยังละความปรารถนาลามก ไม่ได้ มีความเห็นผิด ยังละความเห็นผิดไม่ได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะยังละไม่ได้ซึ่งกิเลส เป็นมลทิน เป็นโทษ เป็นดังว่าน้ำฝาด ของสมณะ อันเป็นเหตุให้เกิดในอบาย มีวิบากอัน ตนพึงเสวยในทุคติเหล่านี้แล เราจึงไม่กล่าวว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาวุธชื่อมตชะ มีคมสองข้าง ทั้งชุบและลับดีแล้ว สอดไว้ในฝักและพันไว้ แม้ฉันใด เรากล่าวบรรพชาของภิกษุนี้ มีอุปมาฉันนั้น. [๔๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ครองผ้าสังฆาฏิ เราหากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วย อาการเพียงครองผ้าสังฆาฏิไม่. บุคคลถือเพศเปลือยกาย เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการ เพียงเปลือยกายไม่. บุคคลที่หมักหมมด้วยธุลี เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียง เป็นคนหมักหมมด้วยธุลีไม่. บุคคลลงอาบน้ำ (วันละสามครั้ง) เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงลงอาบน้ำไม่. บุคคลอยู่โคนไม้เป็นวัตร เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงอยู่โคนไม้เป็นวัตรไม่. บุคคลอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงเป็นผู้อยู่ในที่แจ้งเป็นวัตรไม่. บุคคลอบกายเป็นวัตร เราก็หากล่าวว่า เป็น สมณะ ด้วยอาการเพียงอบกายไม่. บุคคลกินภัตโดยวาระ เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงกินภัตโดยวาระไม่. บุคคลที่ท่องมนต์ เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วย อาการเพียงท่องมนต์ไม่. บุคคลที่มุ่นผม เราก็หากล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงมุ่นผมไม่. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลครองผ้าสังฆาฏิแล้ว มีอภิชฌามาก ก็ละอภิชฌาได้ มีจิต พยาบาท ก็ละพยาบาทได้ มีความมักโกรธก็สละความมักโกรธได้ มีความผูกโกรธ ก็ละความ ผูกโกรธได้ มีความลบหลู่ก็ละความลบหลู่ได้ มีความตีเสมอ ก็ละความตีเสมอได้ มีความริษยา ก็ละความริษยาได้ มีความตระหนี่ ก็ละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวด ก็ละความโอ้อวดได้ มีมายา ก็ละมายาได้ มีความปรารถนาลามก ก็ละความปรารถนาลามกได้ มีความเห็นผิด ก็ละความ เห็นผิดได้ ด้วยอาการสักว่า ครองผ้าสังฆาฏิไซร้ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต พึงทำให้บุคคลนั้น ครองผ้าสังฆาฏิตั้งแต่เกิดทีเดียว พึงเชิญชวนผู้นั้นให้ครองผ้าสังฆาฏิอย่างเดียวว่า ท่านผู้มีหน้า อันเจริญ มาเถิด ท่านจงเป็นผู้ครองผ้าสังฆาฏิ เมื่อท่านครองผ้าสังฆาฏิอยู่ มีอภิชฌามาก ก็จักละ อภิชฌาได้ มีจิตพยาบาท ก็จักละพยาบาทเสียได้ มีความมักโกรธ ก็จักละความมักโกรธเสียได้ มีความผูกโกรธ ก็จักละความผูกโกรธเสียได้ มีความลบหลู่ ก็จักละความลบหลู่เสียได้ มีความตี เสมอ ก็จักละความตีเสมอเสียได้ มีความริษยา ก็จักละความริษยาเสียได้ มีความตระหนี่ ก็จักละ ความตระหนี่เสียได้ มีความโอ้อวด ก็จักละความโอ้อวดเสียได้ มีมายา ก็จักละมายาเสียได้ มีความปรารถนาลามก ก็จักละความปรารถนาลามกเสียได้ มีความเห็นผิด ก็จักละความเห็นผิด เสียได้ ด้วยอาการเพียงครองผ้าสังฆาฏิ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเราเห็นบุคคลบางคนในโลก นี้ แม้ครองผ้าสังฆาฏิอยู่ ก็ยังมีอภิชฌามาก มีจิตพยาบาท มีความมักโกรธ มีความผูก โกรธ มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ มีความริษยา มีความตระหนี่ มีความโอ้อวด มีมายา มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด เพราะฉะนั้น บุคคลที่ครองผ้าสังฆาฏิ เราจึงมิได้กล่าวว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงครองผ้าสังฆาฏิ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลถือเพศเปลือยกายอยู่ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลหมักหมมด้วยธุลีอยู่ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลลงอาบน้ำอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลอยู่ โคนไม้อยู่ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลอยู่ในที่แจ้งอยู่ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลอบกายอยู่ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลกินภัตโดยวาระอยู่ ... ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลท่องมนต์อยู่ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อบุคคลมุ่นผมอยู่ มีอภิชฌามาก ก็ละอภิชฌาได้ มีจิตพยาบาท ก็ละพยาบาทได้ มีความมักโกรธ ก็ละ ความมักโกรธได้ มีความผูกโกรธ ก็ละความผูกโกรธได้ มีความลบหลู่ ก็ละความ ลบหลู่ได้ มีความตีเสมอ ก็ละความตีเสมอได้ มีความริษยา ก็ละความริษยาได้ มีความ ตระหนี่ ก็ละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวด ก็ละความโอ้อวดได้ มีมายา ก็ละมายาได้ มีความปรารถนาลามก ก็ละความปรารถนาลามกได้ มีความเห็นผิด ก็ละความเห็นผิดได้ ด้วยอาการเพียงมุ่นผมไซร้ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต พึงทำบุคคลนั้นให้มุ่นผมตั้งแต่ เกิดทีเดียว พึงเชิญชวนผู้นั้นให้มุ่นผมอย่างเดียวว่า ดูกรท่านผู้มีหน้าอันเจริญ มาเถิด ท่านจง เป็นผู้มุ่นผม เมื่อท่านมุ่นผมอยู่ มีอภิชฌามาก ก็จักละอภิชฌาเสียได้ มีจิตพยาบาท ก็จักละพยาบาทเสียได้ มีความมักโกรธ ก็จักละความมักโกรธเสียได้ มีความผูกโกรธ ก็จักละความผูกโกรธเสียได้ มีความลบหลู่ ก็จักละความลบหลู่เสียได้ มีความตีเสมอ ก็จักละความตีเสมอเสียได้ มีความริษยา ก็จักละความริษยาเสียได้ มีความตระหนี่ ก็จัก ละความตระหนี่เสียได้ มีความโอ้อวด ก็จักละความโอ้อวดเสียได้ มีมายา ก็จักละ มายาเสียได้ มีความปรารถนาลามก ก็จักละความปรารถนาลามกเสียได้ มีความเห็นผิด ก็จักละความเห็นผิดเสียได้ ด้วยอาการเพียงมุ่นผม. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเราเห็น บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้มุ่นผมอยู่ ก็ยังมีอภิชฌามาก มีจิตพยาบาท มีความมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ มีความริษยา มีความตระหนี่ มีความโอ้อวด มีมายา มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด เพราะฉะนั้น บุคคลที่มุ่นผม เราจึงมิได้ กล่าวว่า เป็นสมณะด้วยอาการเพียงมุ่นผม. [๔๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของ สมณะ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง มีอภิชฌามาก ก็ละอภิชฌาเสียได้ มีจิตพยาบาท ก็ละพยาบาทเสียได้ มีความมักโกรธ ก็ละความมักโกรธเสียได้ มีความผูกโกรธ ก็ละความผูก- *โกรธเสียได้ มีความลบหลู่ ก็ละความลบหลู่เสียได้ มีความตีเสมอ ก็ละความตีเสมอเสียได้ มีความริษยา ก็ละความริษยาเสียได้ มีความตระหนี่ ก็ละความตระหนี่เสียได้ มีความโอ้อวด ก็ละความโอ้อวดเสียได้ มีมายา ก็ละมายาเสียได้ มีความปรารถนาลามก ก็ละความปรารถนา ลามกเสียได้ มีความเห็นผิด ก็ละความเห็นผิดเสียได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะละเสียได้ซึ่งกิเลส อันเป็นมลทิน เป็นโทษ เป็นดังว่าน้ำฝาดของสมณะ อันเป็นเหตุให้เกิดในอบาย มีวิบากอันตน พึงเสวยในทุคติเหล่านี้แล เราจึงกล่าวว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ ภิกษุ นั้นย่อมพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นแล้วจากอกุศลธรรมอันลามกทั้งปวงนี้ เมื่อเธอพิจารณาเห็น ตนบริสุทธิ์ พ้นแล้วจากอกุศลธรรมอันลามกทั้งปวงนี้ ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อเธอเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติแล้ว นามกายก็สงบ เธอมีนามกายสงบแล้ว ก็เสวยสุข เมื่อเธอมีสุข จิตก็ตั้งมั่น เธอมีจิตสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่าง นั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น และเธอมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันกว้างขวาง เป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกหมดทุกส่วน โดยประการทั้งปวง ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง มีจิตสหรคตด้วยกรุณา ... มีจิตสหรคตด้วยมุทิตา ... มีจิตสหรคตด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น และเธอก็มีจิตสหรคตด้วยอุเบกขา อัน กว้างขวาง เป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกหมดทุกส่วน โดยประการทั้งปวง ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ดูกรภิกษุทั้งหลาย สระโบก- *ขรณี มีน้ำใสจืด เย็น สะอาด มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ ถ้าบุรุษมาแต่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ และจากที่ไหนๆ อันความร้อนแผดเผา เร่าร้อน ลำบาก ระหาย อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว ก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำ และความกระวนกระวายเพราะความ ร้อนเสียได้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลกษัตริย์มาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เรากล่าวว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่ง ของสมณะ ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลพราหมณ์ ... ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลแพศย์ ... ถ้ากุลบุตรออก จากสกุลศูทร ... ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลไหนๆ ก็ตาม มาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึงธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน เรากล่าวว่า กุลบุตรนั้นเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ ถ้ากุลบุตรออกจาก สกุลกษัตริย์บวชเป็นบรรพชิต เธอทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะ ด้วยความรู้ยิ่ง โดยตนเองเขาถึงพร้อมแล้วอยู่ในชาตินี้ เรากล่าวว่า เป็นสมณะ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลพราหมณ์ ... ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลแพศย์ ... ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลศูทร ... ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลไหนๆ ก็ตาม บวชเป็นบรรพชิต ทำให้ แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะด้วยความรู้ยิ่ง โดยตนเอง เข้าถึงพร้อมแล้วในชาตินี้ เรากล่าวว่า เป็นสมณะ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย. พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มี พระภาคแล้วแล.
จบ จูฬอัสสปุรสูตร ที่ ๑๐
จบ มหายมกวรรค ที่ ๔
รวมพระสูตรในวรรคนี้มี ๑๐ สูตร คือ
๑. จูฬโคสิงคสาลสูตร ๒. มหาโคสิงคสาลสูตร ๓. มหาโคปาลสูตร ๔. จูฬโคปาลสูตร ๕. จูฬสัจจกสูตร ๖. มหาสัจจกสูตร ๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร ๘. มหาตัณหาสังขยสูตร ๙. มหาอัสสปุรสูตร ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๘๗๔๔-๘๘๖๖ หน้าที่ ๓๕๙-๓๖๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=8744&Z=8866&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=12&siri=40              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=479              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [479-482] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=12&item=479&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=5960              The Pali Tipitaka in Roman :- [479-482] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=12&item=479&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=5960              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i479-e1.php# https://suttacentral.net/mn40/en/sujato https://suttacentral.net/mn40/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :