ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
             [๔๔๖] ธรรม ๘ อย่างที่ควรกำหนดรู้เป็นไฉน ได้แก่โลกธรรม ๘ คือ
ความได้ลาภ  ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ความได้ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑
สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ ธรรม ๘ อย่างเหล่านี้ควรกำหนดรู้ ฯ
             [๔๔๗] ธรรม ๘ อย่างที่ควรละเป็นไฉน ได้แก่มิจฉัตตะ ๘ คือ ความ
เห็นผิด ความดำริผิด เจรจาผิด การงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึก
ผิด ตั้งใจมั่นผิด ธรรม ๘ อย่างเหล่านี้ควรละ ฯ
             [๔๔๘] ธรรม ๘ อย่างที่เป็นไปในส่วนข้างเสื่อมเป็นไฉน ได้แก่เหตุ
เป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้าน ๘ อย่าง คือ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย การงานเป็นสิ่ง
อันภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พึงกระทำ เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า การงานจักเป็น
สิ่งที่เราควรกระทำ เมื่อเรากระทำการงานอยู่ ร่างกายจักเหน็ดเหนื่อย ช่างเถิด
เราจะนอน เธอนอนเสียไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุ
ธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้ง
แห่งความเกียจคร้านข้อที่ ๑ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง การงานเป็นสิ่งอันภิกษุกระทำแล้ว เธอย่อมมีความคิดอย่าง
นี้ว่า เราได้กระทำการงานแล้ว ก็เมื่อเรากระทำการงานอยู่ ร่างกายเหน็ดเหนื่อย
แล้ว ช่างเถิด เราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ... เพื่อทำให้
แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านข้อที่ ๒ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุจะต้องเดินทาง เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะ
ต้องเดินทาง ก็เมื่อเราเดินทางไปอยู่ ร่างกายจักเหน็ดเหนื่อย ช่างเถิด เรา
จะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ... เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้
แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านข้อที่ ๓ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเดินทางไปถึงแล้ว เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้
เดินทางมาถึงแล้ว ก็เมื่อเราเดินทางอยู่ ร่างกายเหน็ดเหนื่อยแล้ว ช่างเถิด เราจะ
นอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ... เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง
นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านข้อที่ ๔ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเที่ยวไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ไม่ได้ความบริบูรณ์
แห่งโภชนะอันเศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการ เธอย่อมมีความคิดอย่าง
นี้ว่า เราเที่ยวไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ไม่ได้ความบริบูรณ์แห่งโภชนะอัน
เศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการ กายของเรานั้นเหน็ดเหนื่อยแล้ว ไม่
ควรแก่การงาน ช่างเถิด เราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ... เพื่อ
ทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านข้อที่ ๕ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเที่ยวไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ได้ความบริบูรณ์แห่ง
โภชนะอันเศร้าหมองหรือประณีต พอแก่ความต้องการแล้ว เธอย่อมมีความคิด
อย่างนี้ว่า เราเที่ยวไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ได้ความบริบูรณ์แห่งโภชนะอัน
เศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการแล้ว กายของเรานั้นหนัก เหมือนถั่ว
ทองที่เขาหมักไว้ ไม่ควรแก่การงาน ช่างเถิด เราจะนอน เธอนอนเสีย ไม่
ปรารภความเพียร ... เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่ง
ความเกียจคร้านข้อที่ ๖ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง อาพาธเล็กน้อยเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า
อาพาธเล็กน้อยนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว ความสมควรเพื่อจะนอนมีอยู่ ช่างเถิด เราจะ
นอน เธอนอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ... เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง
นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านข้อที่ ๗ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุหายอาพาธแล้ว หายจากความเป็นผู้อาพาธยังไม่นาน
เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราหายอาพาธแล้ว หายจากความเป็นผู้อาพาธยังไม่
นาน กายของเรานั้นยังมีกำลังน้อย ไม่ควรแก่การงาน ช่างเถิด เราจะนอน เธอ
นอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร ... เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้
บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้าน
ข้อที่ ๘ ฯ
             ธรรม ๘ อย่างนี้เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม ฯ
             [๔๔๙] ธรรม ๘ อย่างที่เป็นไปในส่วนข้างวิเศษเป็นไฉน ได้แก่เหตุ
เป็นที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียร ๘ คือ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย การงานเป็นสิ่งอัน
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พึงกระทำ เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า การงานจักเป็นสิ่ง
ที่เราควรกระทำ ก็เมื่อเรากระทำการงานอยู่ ความกระทำไว้ในใจซึ่งคำสอนของ
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย มิใช่กระทำได้โดยง่าย ช่างเถิด เราจะปรารภความเพียร
เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้
ทำให้แจ้ง เธอปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้
บรรลุ เพื่อธรรมให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งการ
ปรารภความเพียรข้อที่ ๑ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง การงานย่อมเป็นสิ่งอันภิกษุกระทำเสร็จแล้ว เธอย่อมมีความ
คิดอย่างนี้ว่า เราได้กระทำการงานเสร็จแล้ว ก็เรากระทำการงานอยู่ ไม่อาจกระทำ
ไว้ในใจซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ช่างเถิด เราจะปรารภความเพียร
เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยัง
มิได้ทำให้แจ้ง เธอปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยัง
มิได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งการ
ปรารภความเพียรข้อที่ ๒ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุจะต้องเดินทาง เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะต้อง
เดินทาง ก็เมื่อเราเดินทางไปอยู่ ความกระทำไว้ในใจ ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้า
ทั้งหลาย มิใช่กระทำได้โดยง่าย ช่างเถิด เราจะปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรม
ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้
แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียรข้อที่ ๓ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง หนทางที่ภิกษุเดินไปถึงแล้ว เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า
เราได้เดินทางมาถึงแล้ว ก็เราเมื่อเดินทางไปอยู่ ไม่อาจกระทำไว้ในใจซึ่งคำสอน
ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ช่างเถิด เราจะปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังมิได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง เธอปรารภ
ความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังมิได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้ง
ซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียรข้อที่ ๔ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเที่ยวไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ไม่ได้โภชนะอัน
เศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการ เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราเที่ยว
ไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ไม่ได้ความบริบูรณ์แห่งโภชนะอันเศร้าหมองหรือ
ประณีตพอแก่ความต้องการ กายของเรานั่นเบา ควรแก่การงาน ช่างเถิด เราจัก
ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังมิได้บรรลุ เพื่อทำ
ให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง เธอปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังมิได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง นี้คือ
เหตุเป็นที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียรข้อที่ ๕ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเที่ยวไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ได้ความบริบูรณ์แห่ง
โภชนะอันเศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการ เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า
เราเที่ยวไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ได้ความบริบูรณ์แห่งโภชนะอันเศร้าหมอง
หรือประณีตพอแก่ความต้องการ กายของเรานั่น มีกำลัง ควรแก่การงาน ช่างเถิด
เราจะปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังมิได้บรรลุ
เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง เธอปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยัง
ไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังมิได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง
นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียรข้อที่ ๖ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง อาพาธเล็กน้อยเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า
อาพาธเล็กน้อยเกิดขึ้นแก่เราแล้ว ข้อที่อาพาธของเราจะพึงมากขึ้น เป็นฐานะที่จะ
มีได้ ช่างเถิด เราจะปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่
ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง เธอปรารภความเพียร
เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังมิได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยัง
มิได้ทำให้แจ้ง นี้คือเหตุเป็นที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียรข้อที่ ๗ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุหายอาพาธแล้ว หายจากความเป็นผู้อาพาธยังไม่นาน
เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราหายอาพาธแล้ว หายจากความเป็นผู้อาพาธยังไม่
นาน ข้อที่อาพาธของเราจะพึงกลับกำเริบขึ้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ช่างเถิด เราจะ
ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังมิได้บรรลุ เพื่อทำ
ให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง เธอปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้งนี้คือ
เหตุเป็นที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียรข้อที่ ๘ ฯ
             ธรรม ๘ อย่างเหล่านี้เป็นไปในส่วนข้างวิเศษ ฯ
             [๔๕๐] ธรรม ๘ อย่างที่แทงตลอดได้ยากเป็นไฉน ได้แก่กาลที่มิใช่
ขณะมิใช่สมัย เพื่ออยู่ประพฤติพรหมจรรย์ คือ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลกนี้ และพระองค์ทรงแสดงธรรมเป็นไป
เพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความดับ ยังสัตว์ให้ถึงความตรัสรู้ เป็นธรรมอันพระ
สุคตประกาศแล้ว แต่บุคคลนี้เป็นผู้เข้าถึงนรกเสีย นี้เป็นกาลมิใช่ขณะมิใช่สมัย
เพื่ออยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๑ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลกนี้
และพระองค์ทรงแสดงธรรมเป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความดับ ยังสัตว์
ให้ถึงความตรัสรู้ เป็นธรรมอันพระสุคตประกาศแล้ว แต่บุคคลนี้เป็นผู้เข้าถึง
กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเสีย นี้เป็นกาลมิใช่ขณะมิใช่สมัย เพื่ออยู่ประพฤติพรหม-
*จรรย์ข้อที่ ๒ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลกนี้ และ
พระองค์ทรงแสดงธรรมเป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความดับ ยังสัตว์ให้ถึง
ความตรัสรู้ เป็นธรรมอันพระสุคตประกาศแล้ว แต่บุคคลนี้เป็นผู้เข้าถึงปิตติวิสัย
เสีย นี้เป็นการมิใช่ขณะมิใช่สมัย เพื่ออยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๓ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลกนี้ และ
พระองค์ทรงแสดงธรรมเป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความดับ ยังสัตว์ให้ถึง
ความตรัสรู้ เป็นธรรมอันพระสุคตประกาศแล้ว แต่บุคคลนี้เป็นผู้เข้าถึงเทพนิกาย
ซึ่งมีอายุยืนอย่างใดอย่างหนึ่งเสีย นี้เป็นกาลมิใช่ขณะมิใช่สมัย เพื่ออยู่ประพฤติ
พรหมจรรย์ข้อที่ ๔ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลกนี้ และ
พระองค์ทรงแสดงธรรมเป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความดับ ยังสัตว์ให้ถึง
ความตรัสรู้ เป็นธรรมอันพระสุคตประกาศแล้ว แต่บุคคลนี้เป็นผู้เกิดในปัจจันต-
*ชนบท อันเป็นถิ่นของชนมิลักขะผู้ไม่รู้ความ ซึ่งมิใช่คติของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
อุบาสิกา นี้เป็นกาลมิใช่ขณะมิใช่สมัย เพื่ออยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๕ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลกนี้ และ
พระองค์ทรงแสดงธรรมเป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความดับ ยังสัตว์ให้ถึง
ความตรัสรู้ เป็นธรรมอันพระสุคตประกาศแล้ว ส่วนบุคคลนี้เป็นผู้เกิดในมัชฌิม-
*ชนบท แต่เขาเป็นมิจฉาทิฐิ มีความเห็นผิดไปว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล การ
บูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี
โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์
ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติโดยชอบ ซึ่งกระทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้รู้ ไม่มีในโลกนี้ นี้เป็นกาลมิใช่ขณะมิใช่สมัย
เพื่ออยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๖ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลกนี้ และ
พระองค์ทรงแสดงธรรมเป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความดับ ยังสัตว์ให้ถึง
ความตรัสรู้ เป็นธรรมอันพระสุคตประกาศแล้ว ส่วนบุคคลนี้เป็นผู้เกิดในมัชฌิม-
*ชนบท แต่เขาเป็นคนมีปัญญาทราม โง่เขลา เป็นใบ้ ไม่สามารถจะรู้เนื้อความ
ของถ้อยคำที่เป็นสุภาษิตและทุพภาษิตได้ นี้เป็นกาลมิใช่ขณะมิใช่สมัย เพื่ออยู่
ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๗ ฯ
             อีกข้อหนึ่ง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติในโลก
และพระองค์ยังไม่ทรงแสดงธรรมเป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความดับ ยังสัตว์
ให้ถึงความตรัสรู้ เป็นธรรมอันพระสุคตประกาศแล้ว ส่วนบุคคลนี้เป็นผู้เกิดใน
มัชฌิมชนบท และเขาเป็นคนมีปัญญา ไม่โง่เขลา ไม่เป็นใบ้ สามารถจะรู้เนื้อ
ความของถ้อยคำที่เป็นสุภาษิตและทุพภาษิตได้ นี้เป็นกาลมิใช่ขณะมิใช่สมัย เพื่อ
อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๘ ฯ
             ธรรม ๘ อย่างเหล่านี้แทงตลอดได้ยาก ฯ
             [๔๕๑] ธรรม ๘ อย่าง ที่ควรให้เกิดขึ้น เป็นไฉน ได้แก่ มหาปุริสวิ-
*ตก ๘ คือ ธรรมนี้ของผู้มีความปรารถนาน้อย มิใช่ของผู้มีความปรารถนาใหญ่ ธรรม
นี้ของผู้สันโดษ มิใช่ของผู้ไม่สันโดษ ธรรมนี้ของผู้สงัด มิใช่ของผู้ยินดีในความ
คลุกคลี ธรรมนี้ของผู้ปรารภความเพียร มิใช่ของผู้เกียจคร้าน ธรรมนี้ของผู้เข้า
ไปตั้งสติไว้ มิใช่ของผู้มีสติหลง ธรรมนี้ของผู้มีจิตตั้งมั่น มิใช่ของผู้มีจิตไม่ตั้ง
มั่น ธรรมนี้ของผู้มีปัญญา มิใช่ของผู้มีปัญญาทราม ธรรมนี้ของผู้ไม่มีธรรมเป็น
เครื่องหน่วงให้เนิ่นช้าเป็นที่มายินดี ผู้ยินดีแล้วในธรรมไม่เป็นเครื่องหน่วงให้เนิ่น
ช้า มิใช่ของผู้มีธรรมเป็นเครื่องหน่วงให้เนิ่นช้าเป็นที่มายินดี ผู้ยินดีในธรรมเป็น
เครื่องหน่วงให้เนิ่นช้า ธรรม ๘ อย่างเหล่านี้ ควรให้บังเกิดขึ้น ฯ
             [๔๕๒] ธรรม ๘ อย่างที่ควรรู้ยิ่ง เป็นไฉน ได้แก่อภิภายตนะ ๘ คือ
ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่เล็ก มีผิวพรรณดีและผิวพรรณ
ทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็น
อภิภายตนะข้อที่ ๑ ฯ
             ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่ใหญ่ มีผิวพรรณดีและ
ผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น
อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่ ๒ ฯ
             ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่เล็ก มีผิวพรรณดีและ
ผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น
อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่ ๓ ฯ
             ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่ใหญ่ มีผิวพรรณ
ดีและมีผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้
เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่ ๔ ฯ
             ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเขียว มีวรรณเขียว
เขียวล้วน มีรัศมีเขียว ดอกผักตบอันเขียว มีวรรณเขียว เขียวล้วน มีรัศมี
เขียว หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี มีส่วนทั้งสองเกลี้ยงอันเขียว มีวรรณ
เขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว แม้ฉันใด ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็น
รูปภายนอกอันเขียว มีวรรณเขียว เขียวล้วน มีรัศมีเขียว ฉันนั้นเหมือนกัน
ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะ
ข้อที่ ๕ ฯ
             ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเหลือง มีวรรณ
เหลือง เหลืองล้วน มีรัศมีเหลือง ดอกกรรณิกาอันเหลือง มีวรรณเหลือง
เหลืองล้วน มีรัศมีเหลือง หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี มีส่วนทั้งสองอัน
เกลี้ยง อันเหลือง มีวรรณเหลือง เหลืองล้วน มีรัศมีเหลือง แม้ฉันใด ผู้หนึ่ง
มีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันเหลือง มีวรรณเหลือง เหลือง
ล้วน มีรัศมีเหลือง ฉันนั้นเหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญว่า
เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่ ๖ ฯ
             ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันแดง มีวรรณแดง
แดงล้วน มีรัศมีแดง ดอกชบาอันแดง มีวรรณแดง แดงล้วน มีรัศมีแดง
หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี มีส่วนทั้งสองเกลี้ยงอันแดง มีวรรณแดง
แดงล้วน มีรัศมีแดง แม้ฉันใด ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภาย
นอกอันแดง มีวรรณแดง แดงล้วน มีรัศมีแดง ฉันนั้นเหมือนกัน ครอบงำรูป
เหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่ ๗ ฯ
             ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันขาว มีวรรณขาว
ขาวล้วน มีรัศมีขาว ดาวประกายพฤกษ์อันขาว มีวรรณขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาว
หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี มีส่วนทั้งสองเกลี้ยงอันขาว มีวรรณขาว ขาว
ล้วน มีรัศมีขาว แม้ฉันใด ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอก
อันขาว มีวรรณขาว ขาวล้วน มีรัศมีขาว ฉันนั้นเหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่านั้น
แล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้เป็นอภิภายตนะข้อที่ ๘ ฯ
             ธรรม ๘ อย่างเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง ฯ
             [๔๕๓] ธรรม ๘ อย่างที่ควรทำให้แจ้ง เป็นไฉน ได้แก่วิโมกข์ ๘ คือ
ผู้มีรูป ย่อมเห็นรูปทั้งหลาย อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๑ ผู้หนึ่งมีความสำคัญใน
อรูปภายใน เห็นรูปภายนอก อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๒ บุคคลย่อมน้อมใจไปว่า
สิ่งนี้งามทีเดียว อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๓ เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดยประการ
ทั้งปวง เพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่ใส่ใจซึ่งนานัตตสัญญา บุคคลย่อมเข้า
ถึงซึ่งอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ ดังนี้อยู่ อันนี้เป็น
วิโมกข์ข้อที่ ๔ เพราะล่วงซึ่งอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง บุคคลย่อม
เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ ดังนี้อยู่ อันนี้เป็น
วิโมกข์ข้อที่ ๕ เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง บุคคลย่อม
เข้าถึงอากิญจัญญายตนะด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไรดังนี้อยู่ อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๖
เพราะล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะ บุคคลย่อมเข้าถึงซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะ
อยู่ อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๗ เพราะล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะโดย
ประการทั้งปวง บุคคลย่อมเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ อันนี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๘ ฯ
             ธรรม ๘ อย่างเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง ฯ
             ธรรมทั้ง ๘๐ ดังพรรณามานี้ เป็นของจริง แท้ แน่นอน ไม่ผิดพลาด
ไม่เป็นอย่างอื่น อันพระตถาคตตรัสรู้แล้วโดยชอบ ฯ
             [๔๕๔] ธรรม ๙ อย่างมีอุปการะมาก ธรรม ๙ อย่างควรให้เจริญ ธรรม
๙ อย่างควรกำหนดรู้ ธรรม ๙ อย่างควรละ ธรรม ๙ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม
ธรรม ๙ อย่างเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ ธรรม ๙ อย่างแทงตลอดได้ยาก ธรรม ๙
อย่างควรให้บังเกิดขึ้น ธรรม ๙ อย่างควรรู้ยิ่ง ธรรม ๙ อย่างควรทำให้แจ้ง ฯ
             [๔๕๕] ธรรม ๙ อย่างที่มีอุปการะมาก เป็นไฉน ได้แก่ธรรมอันมีมูลมา
แต่โยนิโสมนสิการ ๙ คือ เมื่อกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ปราโมทย์ย่อมเกิด
ปีติย่อมเกิดแก่ผู้ปราโมทย์ กายของผู้มีใจกอปรด้วยปิติย่อมสงบ ผู้มีกายสงบ ย่อม
เสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมรู้เห็นตามเป็นจริง ผู้รู้เห็น
ตามเป็นจริง ตนเองย่อมหน่าย เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด
ย่อมหลุดพ้น ธรรม ๙ อย่างเหล่านี้มีอุปการะมาก ฯ
             [๔๕๖] ธรรม ๙ อย่างที่ควรให้เจริญเป็นไฉน ได้แก่องค์เป็นที่ตั้งแห่ง
ความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๙ คือ ความหมดจดแห่งศีล ชื่อว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่ง
ความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ความหมดจดแห่งจิต ชื่อว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความ
เพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ความหมดจดแห่งทิฐิ ชื่อว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร
เพื่อความบริสุทธิ์ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย ชื่อว่า
องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่อง
เห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง ชื่อว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ความ
หมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ ชื่อว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อ
ความบริสุทธิ์ ความหมดจดแห่งญาณทัสนะ ชื่อว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร
เพื่อความบริสุทธิ์ ความหมดจดแห่งปัญญา ชื่อว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร
เพื่อความบริสุทธิ์ ความหมดจดแห่งวิมุตติ ชื่อว่าเป็นองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร
เพื่อความบริสุทธิ์ ธรรม ๙ อย่างเหล่านี้ควรให้เจริญ ฯ
             [๔๕๗] ธรรม ๙ อย่างที่ควรกำหนดรู้เป็นไฉน ได้แก่สัตตาวาส ๙ คือ
มีอยู่ ผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์พวกหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่นพวก
มนุษย์ พวกเทพบางหมู่ พวกเปรตบางหมู่ นี้เป็นสัตตาวาสข้อที่ ๑ สัตว์พวก
หนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่นพวกเทพผู้อยู่ในจำพวกพรหม
ผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน นี้เป็นสัตตาวาสข้อที่ ๒ สัตว์พวกหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน
มีสัญญาต่างกัน เช่นพวกเทพเหล่าอาภัสสระ นี้เป็นสัตตาวาสข้อที่ ๓ สัตว์พวก
หนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่นพวกเทพเหล่าสุภกิณหะ
นี้เป็นสัตตาวาสข้อที่ ๔ สัตว์พวกหนึ่งไม่มีสัญญา ไม่เสวยเวทนา เช่นพวก
เทพเหล่าอสัญญีสัตว์ นี้เป็นสัตตาวาสข้อที่ ๕ สัตว์พวกหนึ่งเข้าถึงชั้น
อากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญาโดย
ประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่กระทำไว้ในใจซึ่งนานัตตสัญญา
นี้เป็นสัตตาวาสข้อที่ ๖ สัตว์พวกหนึ่งเข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะด้วยมนสิการว่า
วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงชั้นอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็น
สัตตาวาสข้อที่ ๗ สัตว์พวกหนึ่งเข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะด้วยมนสิการว่า ไม่
มีอะไร เพราะล่วงชั้นวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นสัตตาวาสข้อ
ที่ ๘ สัตว์พวกหนึ่งเข้าถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะด้วยมนสิการว่า นี้สงบ
นี้ประณีต เพราะล่วงชั้นอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นสัตตาวาส
ข้อที่ ๙ ธรรม ๙ อย่างเหล่านี้ควรกำหนดรู้ ฯ
             [๔๕๘] ธรรม ๙ อย่างที่ควรละเป็นไฉน ได้แก่ธรรมอันมีมูลมาแต่
ตัณหา ๙ คือ ความแสวงหาย่อมเป็นไปเพราะอาศัยตัณหา ความได้ย่อมเป็นไป
เพราะอาศัยความแสวงหา ความตกลงใจย่อมเป็นไปเพราะอาศัยความได้ ความ
กำหนัดด้วยสามารถแห่งความพอใจ ย่อมเป็นไปเพราะอาศัยความตกลงใจ ความ
กล้ำกลืนย่อมเป็นไปเพราะอาศัยความกำหนัดด้วยสามารถแห่งความพอใจ ความ
หวงแหนย่อมเป็นไปเพราะอาศัยความกล้ำกลืน ความตระหนี่ย่อมเป็นไปเพราะ
อาศัยความหวงแหน ความรักษาย่อมเป็นไปเพราะอาศัยความตระหนี่ อกุศลธรรม
อันลามกมิใช่น้อย คือการถือไม้ ถือศัสตรา ความทะเลาะแก่งแย่งวิวาทกัน กล่าว
ส่อเสียดว่าท่านๆ และการพูดเท็จ ย่อมเป็นไปเพราะอาศัยความรักษาเป็นเหตุ
ธรรม ๙ อย่างเหล่านี้ควรละ ฯ
             [๔๕๙] ธรรม ๙ อย่างที่เป็นไปในส่วนข้างเสื่อมเป็นไฉน ได้แก่เหตุ
เป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาต ๙ คือ บุคคลย่อมผูกความอาฆาตว่า ผู้นี้ได้ประพฤติ
แล้วซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ย่อมผูกความอาฆาตว่า ผู้นี้ประพฤติอยู่ซึ่งสิ่ง
ที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ย่อมผูกความอาฆาตว่า ผู้นี้จักประพฤติซึ่งสิ่งที่ไม่เป็น
ประโยชน์แก่เรา ย่อมผูกความอาฆาตว่า ผู้นี้ได้ประพฤติแล้วซึ่งสิ่งที่ไม่เป็น
ประโยชน์แก่ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ย่อมผูกความอาฆาตว่า ผู้นี้ประพฤติอยู่
ซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ย่อมผูกความอาฆาตว่า
ผู้นี้จักประพฤติซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ย่อมผูก
ความอาฆาตว่า ผู้นี้ได้ประพฤติแล้วซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจ
ของเรา ย่อมผูกความอาฆาตว่า ผู้นี้ประพฤติอยู่ซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็น
ที่รักที่ชอบใจของเรา ย่อมผูกอาฆาตว่า ผู้นี้จักประพฤติซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้
ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรม ๙ อย่างเหล่านี้เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม ฯ
             [๔๖๐] ธรรม ๙ อย่างที่เป็นไปในส่วนข้างวิเศษเป็นไฉน ได้แก่ความ
กำจัดความอาฆาต ๙ คือ บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาตด้วยทำไว้ในใจว่า ผู้นี้ได้
ประพฤติแล้วซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา เพราะเหตุนั้น การที่จะไม่ให้มีการ
ประพฤติซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรานั้น จะหาได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน ย่อม
กำจัดความอาฆาตด้วยทำไว้ในใจว่า ผู้นี้ประพฤติอยู่ซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา
เพราะเหตุนั้น การที่จะไม่ให้มีการประพฤติซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรานั้นจะ
หาได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน ย่อมกำจัดความอาฆาตด้วยทำไว้ในใจว่า ผู้นี้จัก
ประพฤติซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา เพราะเหตุนั้น การที่จะไม่ให้มีการ
ประพฤติซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรานั้น จะหาได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน ย่อม
กำจัดความอาฆาตด้วยทำไว้ในใจว่า ผู้นี้ได้ประพฤติแล้วซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
แก่ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น การที่จะไม่ให้มีการประพฤติเช่นนั้น
จะหาได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน ย่อมกำจัดความอาฆาตด้วยทำไว้ในใจว่า ผู้นี้
ประพฤติอยู่ซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น
การที่จะไม่ให้มีการประพฤติเช่นนั้น จะหาได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน ย่อมกำจัด
ความอาฆาตด้วยทำไว้ในใจว่า ผู้นี้จักประพฤติซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เป็น
ที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น การที่จะไม่ให้มีการประพฤติเช่นนั้น จะหา
ได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน ย่อมกำจัดความอาฆาตด้วยทำไว้ในใจว่า ผู้นี้ได้ประพฤติ
แล้วซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น การที่
จะไม่ให้มีการประพฤติเช่นนั้น จะหาได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน ย่อมกำจัดความ
อาฆาตด้วยทำไว้ในใจว่า ผู้นี้ประพฤติอยู่ซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รัก
ที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น การที่จะไม่ให้มีการประพฤติเช่นนั้น จะหาได้ใน
บุคคลนี้แต่ที่ไหน ย่อมกำจัดความอาฆาตด้วยทำไว้ในใจว่า ผู้นี้จักประพฤติซึ่งสิ่ง
ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น การที่จะไม่ให้มี
การประพฤติเช่นนั้น จะหาได้ในบุคคลนี้แต่ที่ไหน ธรรม ๙ อย่างเหล่านี้เป็นไป
ในส่วนข้างวิเศษ ฯ
             [๔๖๑] ธรรม ๙ อย่างที่แทงตลอดได้ยากเป็นไฉน ได้แก่ความต่างกัน ๙
คือความต่างแห่งผัสสะ ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความต่างแห่งธาตุ ความต่างแห่ง
เวทนา ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความต่างแห่งผัสสะ ความต่างแห่งสัญญา ย่อม
บังเกิดเพราะอาศัยความต่างแห่งเวทนา ความต่างแห่งความดำริ ย่อมบังเกิดเพราะ
อาศัยความต่างแห่งสัญญา ความต่างแห่งความพอใจ ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความ
ต่างแห่งความดำริ ความต่างแห่งความเร่าร้อน ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความต่าง
แห่งความพอใจ ความต่างแห่งความแสวงหา ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความต่าง
แห่งความเร่าร้อน ความต่างแห่งความได้ ย่อมบังเกิดเพราะอาศัยความต่างแห่ง
ความแสวงหา ธรรม ๙ อย่างเหล่านี้แทงตลอดได้ยาก ฯ
             [๔๖๒] ธรรม ๙ อย่างที่ควรให้บังเกิดขึ้นเป็นไฉน ได้แก่สัญญา ๙ คือ
ความกำหนดหมายว่าไม่งาม ความกำหนดหมายในความตาย ความกำหนดหมาย
ในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล ความกำหนดหมายความไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ความ
กำหนดหมายว่าไม่เที่ยง ความกำหนดหมายในสิ่งไม่เที่ยงว่าเป็นทุกข์ ความ
กำหนดหมายในทุกข์ว่าไม่ใช่ตัวตน ความกำหนดหมายในการละ ความกำหนด
หมายในวิราคธรรม ธรรม ๙ อย่างเหล่านี้ควรให้บังเกิดขึ้น ฯ
             [๔๖๓] ธรรม ๙ อย่างที่ควรรู้ยิ่งเป็นไฉน ได้แก่อนุบุพพวิหาร ๙ คือ
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มี
ความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะ
วิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ อนึ่ง เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ
สัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่
พระอริยะเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
บรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัส
ก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานด้วย
มนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับ
ปฏิฆสัญญา เพราะไม่กระทำไว้ในใจซึ่งนานัตตสัญญาอยู่ บรรลุวิญญาณัญจายตน-
*ฌานด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดย
ประการทั้งปวงอยู่ บรรลุอากิญจัญญายตนฌานด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร เพราะ
ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวงอยู่ บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวงอยู่ บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ
เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวงอยู่ ธรรม ๙ อย่าง
เหล่านี้ควรรู้ยิ่ง ฯ
             [๔๖๔] ธรรม ๙ อย่างที่ควรทำให้แจ้งเป็นไฉน ได้แก่อนุบุพพนิโรธ ๙
คือ เมื่อเข้าปฐมฌาน กามสัญญาดับ เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตกวิจารดับ เมื่อเข้า
ตติยฌาน ปีติดับ เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลมอัสสาสปัสสาสะดับ เมื่อเข้า
อากาสานัญจายตนฌาน รูปสัญญาดับ เมื่อเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน อากาสานัญ-
*จายตนสัญญาดับ เมื่อเข้าอากิญจัญญายตนฌาน วิญญาณัญจายตนสัญญาดับ เมื่อ
เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อากิญจัญญายตนะดับ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิต-
*นิโรธ สัญญาและเวทนาดับ ธรรม ๙ อย่างเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง ฯ
             ธรรม ๙๐ ดังพรรณนามานี้ เป็นของจริง แท้ แน่นอน ไม่ผิดพลาด ไม่
เป็นอย่างอื่น อันพระตถาคตตรัสรู้แล้วโดยชอบ ฯ
             [๔๖๕] ธรรม ๑๐ อย่างมีอุปการะมาก ธรรม ๑๐ อย่างควรให้เจริญ
ธรรม ๑๐ อย่างควรกำหนดรู้ ธรรม ๑๐ อย่างควรละ ธรรม ๑๐ อย่างเป็นไป
ในส่วนข้างเสื่อม ธรรม ๑๐ อย่างเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ ธรรม ๑๐ อย่างแทง
ตลอดได้ยาก ธรรม ๑๐ อย่างควรให้บังเกิดขึ้น ธรรม ๑๐ อย่างควรรู้ยิ่ง ธรรม
๑๐ อย่างควรทำให้แจ้ง ฯ
             [๔๖๖] ธรรม ๑๐ อย่างที่มีอุปการะมากเป็นไฉน ได้แก่ธรรมกระทำที่
พึ่ง ๑๐ อย่าง คือ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล
สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจรอยู่ มีปรกติเห็นภัย
ในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ผู้มีอายุทั้งหลาย
แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและ
โคจรอยู่ มีปรกติเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท
ทั้งหลาย นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีธรรมอันสดับแล้วมาก ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว
สั่งสมธรรมที่ได้สดับแล้ว ธรรมที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เห็น
ปานนั้น อันเธอได้สดับแล้วมาก ทรงไว้แล้ว คล่องปาก ตามเพ่งด้วยใจ แทง
ตลอดด้วยดีด้วยความเห็น ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีธรรมอันสดับ
แล้วมาก ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว สั่งสมธรรมที่ได้สดับแล้ว ธรรมที่งามใน
เบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อม
ทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เห็นปานนั้น อันเธอได้สดับแล้วมาก ทรง
ไว้แล้ว คล่องปาก ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น นี้ก็เป็นธรรม
กระทำที่พึ่ง ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ผู้มีอายุทั้งหลาย
แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีเพื่อนดี มีสหายดี นี้ก็เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมที่กระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
เป็นผู้อดทน เป็นผู้รับอนุศาสนีโดยเบื้องขวา ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุเป็น
ผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมที่กระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน เป็นผู้รับ
อนุศาสนีโดยเบื้องขวา นี้ก็เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้าน ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่อง
พิจารณา อันเป็นอุบายในกรณียะนั้นๆ สามารถทำ สามารถจัด ในกรณียะกิจ
ใหญ่น้อยของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคน
ขยันไม่เกียจคร้าน ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในกรณียะ
นั้นๆ สามารถทำ สามารถจัดในกรณียะกิจใหญ่น้อยของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย
นี้ก็เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ใคร่ในธรรม เจรจาน่ารัก มีความปราโมทย์ยิ่งใน
อภิธรรม ในอภิวินัย ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ใคร่ในธรรม เจรจา
น่ารัก มีความปราโมทย์ยิ่งในอภิธรรม ในอภิวินัย นี้ก็เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
เภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแก่คนไข้ตามมีตามได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุ
เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแก่คน
ไข้ตามมีตามได้ นี้ก็เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อจะยัง
กุศลธรรมให้ถึงพร้อมอยู่ เป็นผู้มีเรี่ยวแรง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระ
ในธรรมที่เป็นกุศล ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อ
ละอกุศลธรรม เพื่อจะยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อมอยู่ มีเรี่ยวแรง มีความบากบั่น
มั่นคง ไม่ทอดธุระในธรรมที่เป็นกุศล นี้ก็เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตน
อย่างยอดเยี่ยม แม้สิ่งที่ทำแล้วนาน แม้คำที่พูดแล้วนาน ก็นึกได้ระลึกได้ ผู้มี
อายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีสติประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตน
อย่างยอดเยี่ยม แม้สิ่งที่ทำแล้วนาน แม้คำที่พูดแล้วนาน ก็นึกได้ระลึกได้ นี้ก็
เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่เห็น ความเกิด
และความดับอันประเสริฐ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและความ
ดับอันประเสริฐ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้ก็เป็นธรรม
กระทำที่พึ่ง ฯ
             ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้มีอุปการะมาก ฯ
             [๔๖๗] ธรรม ๑๐ อย่างที่ควรให้เจริญเป็นไฉน ได้แก่แดนแห่งกสิณ
๑๐ คือ ผู้หนึ่งย่อมจำปฐวีกสิณได้ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างเบื้องขวาง ตามลำดับ
หาประมาณมิได้ ผู้หนึ่งย่อมจำอาโปกสิณได้ ... ผู้หนึ่งย่อมจำเตโชกสิณได้ ... ผู้หนึ่ง
ย่อมจำวาโยกสิณได้ ... ผู้หนึ่งย่อมจำนีลกสิณได้ ... ผู้หนึ่งย่อมจำปีตกสิณได้ ... ผู้หนึ่ง
ย่อมจำโลหิตกสิณได้ ... ผู้หนึ่งย่อมจำโอทาตกสิณได้ ... ผู้หนึ่งย่อมจำอากาสกสิณได้
ผู้หนึ่งย่อมจำวิญญาณกสิณได้ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างเบื้องขวาง ตามลำดับ หา
ประมาณมิได้ ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้ควรให้เจริญ ฯ
             [๔๖๘] ธรรม ๑๐ อย่างที่ควรกำหนดรู้เป็นไฉน ได้แก่อายตนะ ๑๐ คือ
นัยน์ตา รูป หู เสียง จมูก กลิ่น ลิ้น รส กาย โผฏฐัพพะ ธรรม ๑๐ อย่าง
เหล่านี้ควรกำหนดรู้ ฯ
             [๔๖๙] ธรรม ๑๐ อย่างที่ควรละเป็นไฉน ได้แก่มิจฉัตตะ ๑๐ คือ ความ
เห็นผิด ความดำริผิด เจรจาผิด การงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด
ตั้งใจมั่นผิด ความรู้ผิด ความพ้นผิด ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้ควรละ ฯ
             [๔๗๐] ธรรม ๑๐ อย่างที่เป็นไปในส่วนข้างเสื่อมเป็นไฉน ได้แก่
อกุศลกรรมบถ ๑๐ คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูด
ส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ อยากได้ของเขา ปองร้ายเขา เห็นผิด
ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม ฯ
             [๔๗๑] ธรรม ๑๐ อย่างที่เป็นไปในส่วนข้างวิเศษเป็นไฉน ได้แก่
กุศลกรรมบถ ๑๐ คือ เว้นจากฆ่าสัตว์ เว้นจากลักทรัพย์ เว้นจากประพฤติผิด
ในกาม เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูด
เพ้อเจ้อ ไม่อยากได้ของเขา ไม่ปองร้ายเขา เห็นชอบ ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้
เป็นไปในส่วนข้างวิเศษ ฯ
             [๔๗๒] ธรรม ๑๐ อย่างที่แทงตลอดได้ยากเป็นไฉน ได้แก่อริยวาส ๑๐
คือ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว
ประกอบด้วยองค์ ๖ มีธรรมอย่างเดียวเป็นเครื่องรักษา มีธรรมเป็นพนักพิง ๔ ด้าน
มีสัจจะเฉพาะอย่างอันบรรเทาแล้ว มีความแสวงหาทุกอย่างอันสละแล้วโดยชอบ
มีความดำริไม่ขุ่นมัว มีกายสังขารอันระงับแล้ว มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว มีปัญญา
หลุดพ้นดีแล้ว ฯ
             ก็อย่างไร ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว กามฉันทะ พยาบาท
ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เป็นโทษอันภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ละได้
แล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว ฯ
             ก็อย่างไร ภิกษุจึงจะชื่อว่าประกอบด้วยองค์ ๖ ภิกษุในพระศาสนานี้เห็น
รูปด้วยนัยน์ตา ... ฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้อง
โผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ... ไม่ยินดียินร้าย เป็นผู้วางเฉย มี
สติสัมปชัญญะอยู่ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าประกอบด้วยองค์ ๖ ฯ
             ก็อย่างไร ภิกษุจึงจะชื่อว่ามีธรรมอย่างเดียวเป็นเครื่องรักษา ภิกษุในพระ-
*ธรรมวินัยนี้ ประกอบแล้วด้วยใจมีสติเป็นเครื่องรักษา อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่ามี
ธรรมอย่างเดียวเป็นเครื่องรักษา ฯ
             ก็อย่างไร ภิกษุจึงจะชื่อว่ามีธรรมเป็นพนักพิง ๔ ด้าน ภิกษุในพระธรรม
วินัยนี้ พิจารณาแล้วเสพของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วอดกลั้นของอย่างหนึ่ง
พิจารณาแล้วเว้นของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วบรรเทาของอย่างหนึ่ง อย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่ามีธรรมเป็นพนักพิง ๔ ด้าน
             ก็อย่างไร ภิกษุจึงจะชื่อว่ามีสัจจะเฉพาะอย่าง อันบรรเทาแล้ว สัจจะ
เฉพาะอย่างเป็นอันมาก ของสมณพราหมณ์เป็นอันมาก เป็นของอันภิกษุใน
พระธรรมวินัยนี้บรรเทาแล้ว บรรเทาดีแล้ว สละ คาย ปล่อย ละ สละคืน
เสียหมดสิ้นแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่ามีสัจจะเฉพาะอย่างอันบรรเทาแล้ว
             ก็อย่างไร ภิกษุจึงจะชื่อว่ามีความแสวงหาทุกอย่างอันสละแล้วโดยชอบ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ละการแสวงหากาม ละการแสวงหาภพ ละการแสวงหา
พรหมจรรย์ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่ามีความแสวงหาทุกอย่างอันสละแล้วโดยชอบ ฯ
             ก็อย่างไร ภิกษุจึงจะชื่อว่ามีความดำริไม่ขุ่นมัว ความดำริในกาม ความ
ดำริในความพยาบาท ความดำริในความเบียดเบียน เป็นโทษอันภิกษุในพระธรรม
วินัยนี้ละได้แล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่ามีความดำริไม่ขุ่นมัว ฯ
             ก็อย่างไร ภิกษุจึงจะชื่อว่ามีกายสังขารอันระงับแล้ว ภิกษุในพระธรรม
วินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละทุกข์ละสุขและดับโสมนัส
โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่ามี
กายสังขารอันระงับแล้ว ฯ
             ก็อย่างไร ภิกษุจึงจะชื่อว่ามีจิตหลุดพ้นดีแล้ว จิตของภิกษุในพระธรรม
วินัยนี้ พ้นแล้วจากราคะ โทสะ โมหะ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่ามีจิตหลุดพ้น
ดีแล้ว ฯ
             ก็อย่างไร ภิกษุจึงจะชื่อว่ามีปัญญาหลุดพ้นดีแล้ว ภิกษุในพระธรรมวินัย
นี้ย่อมรู้ชัดว่า ราคะ ... โทสะ ... โมหะอันเราละแล้ว มีรากอันเราถอนขึ้นแล้ว
กระทำให้เป็นดุจต้นตาลอันไม่มีที่ตั้ง กระทำไม่ให้มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็น
ธรรมดา อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่ามีปัญญาอันหลุดพ้นดีแล้ว ฯ
             ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้แทงตลอดได้ยาก ฯ
             [๔๗๓] ธรรม ๑๐ อย่างที่ควรให้บังเกิดขึ้นเป็นไฉน ได้แก่สัญญา ๑๐
คือ ความกำหนดหมายว่าไม่งาม ความกำหนดหมายในความตาย ความกำหนด
หมายในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล ความกำหนดหมายความไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง
ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง ความกำหนดหมายในสิ่งไม่เที่ยงว่าเป็นทุกข์ ความ
กำหนดหมายในทุกข์ว่าไม่ใช่ตัวตน ความกำหนดหมายในการละ ความกำหนด
หมายในวิราคธรรม ความกำหนดหมายในความดับ ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้ควร
ให้บังเกิดขึ้น ฯ
             [๔๗๔] ธรรม ๑๐ อย่างที่ควรรู้ยิ่งเป็นไฉน ได้แก่นิชชิณวัตถุ ๑๐ คือ
ความเห็นผิดอันบุคคลผู้เห็นชอบย่อมละได้ อนึ่ง แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่
น้อย ที่บังเกิดเพราะความเห็นผิดเป็นปัจจัยเขาก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย
ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัย ความดำริผิดอันบุคคลผู้
ดำริชอบย่อมละได้ อนึ่ง แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่บังเกิดเพราะความ
ดำริผิดเป็นปัจจัย เขาก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
เพราะความดำริชอบเป็นปัจจัย การเจรจาผิดอันบุคคลผู้เจรจาชอบย่อมละได้ อนึ่ง
แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่บังเกิดเพราะเจรจาผิดเป็นปัจจัย เขาก็ละได้
ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อยย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะเจรจาชอบเป็นปัจจัย การ
งานผิดอันบุคคลผู้ทำการงานชอบย่อมละได้ อนึ่ง แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่
น้อยที่บังเกิดเพราะการงานผิดเป็นปัจจัย เขาก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อยย่อม
ถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะการงานชอบเป็นปัจจัย การเลี้ยงชีพผิดอันบุคคล
ผู้เลี้ยงชีพชอบย่อมละได้ อนึ่ง แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่บังเกิดเพราะ
การเลี้ยงชีพผิดเป็นปัจจัย เขาก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อยย่อมถึงความเจริญ
บริบูรณ์ เพราะการเลี้ยงชีพชอบเป็นปัจจัย ความพยายามผิดอันบุคคลผู้พยายาม
ชอบย่อมละได้ อนึ่ง แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่บังเกิดเพราะความพยายาม
ผิดเป็นปัจจัย เขาก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
เพราะความพยายามชอบเป็นปัจจัย ความระลึกผิดอันบุคคลผู้ระลึกชอบย่อมละได้
อนึ่ง แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่บังเกิดเพราะความระลึกผิดเป็นปัจจัย เขา
ก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อยย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความระลึกชอบ
เป็นปัจจัย ความตั้งใจมั่นผิดอันบุคคลผู้ตั้งใจมั่นชอบย่อมละได้ อนึ่ง แม้อกุศลธรรม
อันลามกมิใช่น้อยที่บังเกิดเพราะความตั้งใจมั่นผิดเป็นปัจจัย เขาก็ละได้ ส่วน
กุศลธรรมมิใช่น้อยย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความตั้งใจมั่นชอบเป็นปัจจัย
ความรู้ผิดอันบุคคลผู้รู้ชอบย่อมละได้ อนึ่ง แม้อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่
บังเกิดเพราะความรู้ผิดเป็นปัจจัย เขาก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อยย่อมถึง
ความเจริญบริบูรณ์ เพราะความรู้ชอบเป็นปัจจัย ความพ้นผิดอันบุคคลผู้พ้นชอบ
ย่อมละได้ อนึ่ง อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อยที่บังเกิดเพราะความพ้นผิดเป็น
ปัจจัย เขาก็ละได้ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อยย่อมเจริญบริบูรณ์ เพราะความพ้น
ชอบเป็นปัจจัย ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง ฯ
             [๔๗๕] ธรรม ๑๐ อย่างที่ควรทำให้แจ้งเป็นไฉน ได้แก่อเสขธรรม
๑๐ คือ ความเห็นชอบเป็นของพระอเสขะ ความดำริชอบ ... เจรจาชอบ ... การงาน
ชอบ ... เลี้ยงชีพชอบ ... พยายามชอบ ... ระลึกชอบ ... ตั้งใจมั่นชอบ ... ความรู้ชอบ ... ความ
พ้นชอบ เป็นของพระอเสขะ ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง ฯ
             ธรรมร้อยหนึ่งดังพรรณนามานี้ เป็นของจริง แท้ แน่นอน ไม่ผิดพลาด
ไม่เป็นอย่างอื่น อันพระตถาคตตรัสรู้แล้วโดยชอบ ฯ
             ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวสูตรนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นดีใจ ชื่นชมภาษิตของ
ท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล ฯ
จบ ทสุตตรสูตร ที่ ๑๑
จบ ปาฏิกวรรค
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรในวรรคนี้ มี ๑๑ สูตร คือ
๑. ปาฏิกสูตร ๒. อุทุมพลิกสูตร ๓. จักกวัตติสูตร ๔. อัคคัญญสูตร ๕. สัมปสาทนียสูตร ๖. ปาสาทิกสูตร ๗. ลักขณสูตร ๘. สิงคาลกสูตร ๙. อาฏานาฏิยสูตร ๑๐. สังคีติสูตร ๑๑. ทสุตตรสูตร ฯ
ทีฆนิกายซึ่งประดับด้วยสูตร ๓๔ สูตร จบ
ทีฆนิกายนี้มีพระสูตร ๓๔ สูตร จัดเป็น ๓ วรรค ชื่อว่าทีฆนิกาย เป็น นิกายต้น เป็นไปโดยสมควร ก็เพราะเหตุไร นิกายนี้จึงเรียกว่า ทีฆนิกาย เพราะเป็นที่รวมเป็นที่อยู่แห่งพระสูตรขนาดยาวๆ จึงเรียกว่า ทีฆนิกาย ดังนี้แล ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ บรรทัดที่ ๗๖๑๔-๘๑๓๗ หน้าที่ ๓๑๓-๓๓๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A=7614&Z=8137&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=11&siri=12              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=364              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [446-475] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=11&item=446&items=30              The Pali Tipitaka in Roman :- [446-475] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=11&item=446&items=30              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_11              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/dn34/en/sujato https://suttacentral.net/dn34/en/tw-caf_rhysdavids

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :