ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๓
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. ปาฏิกสูตร (๒๔)
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม ของชาวมัลละ ใน แคว้นมัลละ ครั้งนั้นแลเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังอนุปิยนิคม ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า ยังเช้านักที่จะเข้าไปบิณฑบาตยังอนุปิยนิคม ถ้ากระไร เราพึงไปหาปริพาชก ชื่อ ภัคควโคตรที่อารามของเขา ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาปริพาชกชื่อ ภัคควโคตรที่อารามของเขาแล้ว ฯ ปริพาชกชื่อภัคควโคตรได้กราบทูลเชิญพระผู้มีพระภาคว่า ขอเชิญ พระผู้มีพระภาคเสด็จมาเถิด พระเจ้าข้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว นานๆ พระองค์จึง จะมีโอกาสเสด็จมาที่นี้ ขอเชิญประทับนั่ง นี้อาสนะที่จัดไว้ พระผู้มีพระภาคได้ ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้แล้ว ฝ่ายปริพาชกชื่อภัคควโคตร ถือเอาอาสนะต่ำแห่ง หนึ่งนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว จึงได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อนๆ พระโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ได้เข้ามาหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ แล้ว บอกว่า ดูกรภัคควะ บัดนี้ ข้าพเจ้าบอกคืนพระผู้มีพระภาคแล้ว ข้าพเจ้าไม่อยู่อุทิศ ต่อพระผู้มีพระภาค ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำนั้นเป็นดังที่เขากล่าวหรือ ฯ ก็เป็นดังที่โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะกล่าวนั้นแล ภัคควะ ในวันก่อนๆ เขาได้เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอบอกคืนพระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์จักไม่อยู่ อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค เมื่อเขากล่าวอย่างนี้แล้ว เราจึงได้กล่าวว่า ดูกรสุนักขัตตะ เราได้กล่าวกะเธออย่างนี้ว่า มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่อุทิศต่อเรา ดังนี้บ้าง หรือ ฯ หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ หรือว่า เธอได้กล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ จักอยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค ฯ หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ ดูกรสุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เราไม่ได้กล่าวกะเธอว่า มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่อุทิศต่อเรา ดังนี้ อนึ่ง เธอก็ไม่ได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค ดังนี้ ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเมื่อบอกคืน จะชื่อว่าบอกคืนใคร เธอจงเห็นว่า ข้อนี้เป็นความผิดของเธอ เท่านั้น ฯ [๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงกระทำอิทธิปาฏิ- *หาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่ข้าพระองค์เลย ฯ ดูกรสุนักขัตตะ เราได้กล่าวกะเธออย่างนี้ว่า มาเถิดสุนักขัตตะ เธอจงอยู่ อุทิศต่อเรา เราจะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่เธอ ดังนี้ บ้างหรือ ฯ หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ หรือว่า เธอได้กล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ จักอยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจักทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็น ธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่ข้าพระองค์ ฯ หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ ดูกรสุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เรามิได้กล่าวกะเธอว่า มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่อุทิศต่อเรา เราจักกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่เธอ ดังนี้ อนึ่ง เธอก็มิได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่อุทิศ ต่อพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจักทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวด ของมนุษย์แก่ข้าพระองค์ ดังนี้ ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเมื่อบอกคืน จะชื่อว่าบอกคืนใคร ดูกรสุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คือเมื่อ เราได้กระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ หรือมิได้กระทำก็ดี ธรรม ที่เราได้แสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ [หรือหาไม่] ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์ได้ทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็น ธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ หรือมิได้ทรงกระทำก็ดี ธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ พระเจ้าข้าฯ ดูกรสุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เมื่อเราได้กระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรม ยิ่งยวดของมนุษย์ หรือมิได้กระทำก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงไว้ย่อมนำผู้ประพฤติให้ สิ้นทุกข์โดยชอบ เช่นนี้ เธอจะปรารถนาการกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรม ยิ่งยวดของมนุษย์ไปทำไม ดูกรโมฆบุรุษ เธอจงเห็นว่า ข้อนี้เป็นความผิดของเธอ เท่านั้น ฯ [๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบัญญัติสิ่งที่โลก สมมติว่าเลิศแก่ข้าพระองค์เลย ฯ ดูกรสุนักขัตตะ เราได้กล่าวกะเธออย่างนี้ว่า มาเถิดสุนักขัตตะ เธอจงอยู่ อุทิศต่อเรา เราจักบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศแก่เธอ ดังนี้ บ้างหรือ ฯ หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ หรือว่า เธอได้กล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ จักอยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจักทรงบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ แก่ข้าพระองค์ ฯ หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ ดูกรสุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เรามิได้กล่าวกะเธอว่า มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่อุทิศต่อเรา เราจักบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศแก่เธอ ดังนี้ อนึ่ง เธอ ก็มิได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจักทรงบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศแก่ข้าพระองค์ ดังนี้ ดูกร- *โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเมื่อบอกคืน จะชื่อว่าบอกคืนใคร ดูกรสุนักขัตตะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน คือเมื่อเราได้บัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ หรือ มิได้บัญญัติก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ [หรือหาไม่] ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์ได้บัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ หรือ มิได้บัญญัติก็ดี ธรรมที่พระองค์ได้แสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดย ชอบ ฯ ดูกรสุนักขัตตะ เพราะเหตุที่เมื่อเราได้บัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศหรือ มิได้บัญญัติก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงไว้ ย่อมนำผู้ประพฤติให้สิ้นทุกข์โดยชอบ เช่นนี้ เธอจะปรารถนาการบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศไปทำไม ดูกรโมฆบุรุษ เธอจง เห็นว่า ข้อนี้ เป็นความผิดของเธอเท่านั้น สุนักขัตตะ เธอได้สรรเสริญเราที่ วัชชีคาม โดยปริยายมิใช่น้อยว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม ดังนี้ เธอได้ สรรเสริญพระธรรมที่วัชชีคามโดยปริยายมิใช่น้อยว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาค ตรัสดีแล้ว อันผู้บรรลุพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควร น้อมเข้าไปในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ และเธอได้สรรเสริญพระสงฆ์ ที่วัชชีคาม โดยปริยายมิใช่น้อยว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นั่นคือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรรับของบูชา เป็นผู้ควรรับ ของต้อนรับ เป็นผู้ควรรับของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นบุญญเขตของ ชาวโลกไม่มีเขตอื่นยิ่งกว่า ดังนี้ สุนักขัตตะ เราขอบอกเธอ เราขอเตือนเธอว่า จักมีผู้กล่าวติเตียนเธอว่า โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ไม่สามารถประพฤติ พรหมจรรย์ในพระสมณโคดม บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว ดังนี้ ดูกรภัคควะ โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ถึงแม้ถูกเรากล่าวอยู่อย่างนี้ ก็ได้หนี ไปจากธรรมวินัยนี้ เหมือนสัตว์อบาย เหมือนสัตว์นรก ฉะนั้น ฯ [๔] ดูกรภัคควะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่นิคมแห่งชาวถูลูชื่ออุตตรกาในถูลู ชนบทครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เรานุ่งแล้วถือบาตรและจีวร มีโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนัก ขัตตะเป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปบิณฑบาตที่อุตตรกานิคม สมัยนั้น มีอเจลกคน หนึ่งชื่อโกรักขัตติยะ ประพฤติอย่างสุนัข เดินด้วยข้อศอกและเข่า กินอาหารที่ กองบนพื้นด้วยปาก ดูกรภัคควะ โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ได้เห็นแล้วจึง คิดว่าเขาเป็นสมณะอรหันต์ที่ดีผู้หนึ่ง ครั้งนั้น เราได้ทราบความคิดในใจของโอรส เจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะด้วยใจแล้ว จึงกล่าวกะเขาว่า ดูกรโมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยังจักปฏิญาณตนว่าเป็นศากยบุตรอยู่หรือ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ดูกรโมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยังจักปฏิญาณตนว่าเป็นศากยบุตรอยู่หรือ ฯ ดูกรสุนักขัตตะ เธอได้เห็นโกรักขัตติยอเจลกคนนี้ ซึ่งประพฤติอย่างสุนัข เดินด้วยข้อศอกและเข่า กินอาหารที่กองบนพื้นด้วยปาก แล้วเธอจึงได้คิดต่อไป ว่า เขาเป็นสมณะอรหันต์ที่ดีผู้หนึ่งมิใช่หรือ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคยังทรงหวง พระอรหันต์อยู่หรือ ฯ ดูกรโมฆบุรุษ เรามิได้หวงพระอรหันต์ แต่ว่า เธอได้เกิดทิฐิลามกขึ้น เธอจงละมันเสีย ทิฐิลามกนั้นอย่าได้มีแก่เธอ เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน อนึ่ง เธอย่อมเข้าใจโกรักขัตติยอเจลกว่า เป็นสมณะ อรหันต์ที่ดีผู้หนึ่ง อีก ๗ วัน เขาจักตายด้วยโรคอลสกะ ๑- ครั้นแล้ว จักบังเกิด ในเหล่าอสูรชื่อกาลกัญชิกา ๒- ซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง และจักถูกเขานำไปทิ้ง ที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ และเมื่อเธอประสงค์อยู่ พึงเข้าไปถามโกรักขัตติยอเจลก- *ว่า ดูกรโกรักขัตติยะผู้มีอายุ ท่านย่อมทราบคติของตนหรือ ข้อที่โกรักขัตติย- *อเจลกพึงตอบเธอว่า ดูกรสุนักขัตตะผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทราบคติของตนอยู่ คือ ข้าพเจ้าไปเกิดในเหล่าอสูรชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง ดังนี้ เป็น ฐานะที่มีได้ ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ได้เข้าไปหาโกรักขัตติยอเจลก แล้วจึงบอกว่า ดูกรโกรักขัตติยะผู้มีอายุ ท่านถูกพระสมณโคดมทรงพยากรณ์ว่า อีก ๗ วัน โกรักขัตติยอเจลกจักตายด้วยโรคอลสกะ แล้วจักบังเกิดในเหล่าอสูร ชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง และจักถูกเขานำไปทิ้งที่ป่าช้าชื่อ วีรณัตถัมภกะ ฉะนั้น ท่านจงกินอาหารและดื่มน้ำแต่พอสมควร จงให้คำพูดของ พระสมณโคดมเป็นผิด ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ได้นับวันตั้งแต่ วันที่ ๑ ที่ ๒ ตลอดไปจนครบ ๗ วัน เพราะเขาไม่เชื่อต่อพระตถาคต ครั้งนั้น โกรักขัตติยอเจลก ได้ตายด้วยโรคอลสกะในวันที่ ๗ แล้วได้ไปบังเกิดในเหล่า อสูรชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง และถูกเขานำไปทิ้งไว้ที่ป่าช้าชื่อ วีรณัตถัมภกะ โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ได้ทราบข่าวว่า โกรักขัตติยอเจลก ได้ตายด้วยโรคอลสกะ ได้ถูกเขานำไปทิ้งไว้ที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ ครั้นแล้ว จึงเข้าไปหาศพโกรักขัตติยอเจลกที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ แล้วจึงเอามือตบซากศพ เขาถึง ๓ ครั้ง แล้วถามว่า ดูกรโกรักขัตติยะ ท่านทราบคติของตนหรือ ครั้งนั้น ซากศพโกรักขัตติยอเจลกได้ลุกขึ้นยืนพลางเอามือลูบหลังตนเองตอบว่า ดูกรสุนัก- *ขัตตะผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทราบคติของตนอยู่ คือข้าพเจ้าไปบังเกิดในเหล่าอสูรชื่อกาล กัญชิกา ซึ่งเลวกว่าอสุรกายทั้งปวง ดังนี้ แล้วล้มลงนอนหงายอยู่ ณ ที่นั้นเอง @๑. โรคนี้เกิดเพราะกินอาหารมากเกินไป ไฟธาตุไม่ย่อย และเพราะธาตุที่ทรมานตนโดย @คลานไปด้วยศอกและเข่า ๒. อสูรพวกนี้ มีตัวสูง ๓ คาวุต มีเนื้อและโลหิตน้อย @เช่นใบไม้แก่ มีตาติดบนศีรษะคล้ายตาปู มีปากเท่ารูเข็มบนศีรษะ ทั้งกินอาหาร @ด้วยปากเล็กๆ นั้น ฯ ดูกรภัคควะ ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะได้เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ถวาย อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เราได้กล่าวกะเขาผู้นั่งเรียบร้อยแล้วว่า สุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน วิบากนั้นได้มีแล้ว เหมือนดังที่ เราได้พยากรณ์โกรักขัตติยอเจลกไว้แก่เธอ มิใช่โดยประการอื่น ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วิบากนั้นได้มีแล้ว เหมือนดังที่พระผู้มีพระภาค ได้ทรงพยากรณ์ โกรักขัตติยอเจลกไว้แก่ข้าพระองค์ มิใช่โดยประการอื่น ฯ ดูกรสุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนี้ อิทธิ ปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ชื่อว่าเป็นคุณอันเราได้แสดงไว้แล้ว หรือมิใช่ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นอันทรงแสดงไว้แล้ว แน่นอน มิใช่ไม่ได้ ทรงแสดงไว้ ฯ ดูกรโมฆบุรุษ แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอยังจะกล่าวกะเราผู้แสดงอิทธิปาฏิ- *หาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มี พระภาคมิได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ แก่ข้าพระองค์ ดังนี้ ดูกรโมฆบุรุษ เธอจงเห็นว่า ข้อนี้ เป็นความผิดของเธอเท่านั้น ดูกรภัคควะ โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อว่าสุนักขัตตะ ถูกเรากล่าวอยู่อย่างนี้ ได้หนีไปจากพระธรรมวินัย นี้ เหมือนสัตว์ผู้ควรเกิดในอบาย เหมือนสัตว์ผู้ควรเกิดในนรก ฉะนั้น ฯ [๕] ดูกรภัคควะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขต เมืองเวสาลี สมัยนั้น อเจลกคนหนึ่งชื่อกฬารมัชฌกะอาศัยอยู่ที่วัชชีคามเขตเมือง เวสาลี เป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศ เขาได้ยึดถือสมาทานข้อวัตรทั้ง ๗ คือ:- ๑. เราพึงเปลือยกาย ไม่นุ่งห่มผ้าตลอดชีวิต ฯ ๒. เราพึงประพฤติพรหมจรรย์ไม่เสพเมถุนธรรมตลอดชีวิต ฯ ๓. เราพึงเลี้ยงชีวิตด้วยการดื่มสุราและกินเนื้อสัตว์ ไม่กินข้าวและขนม ตลอดชีวิต ฯ ๔. เราพึงไม่ล่วงเกินอุเทนเจดีย์ ซึ่งอยู่ทิศบูรพาแห่งเมืองเวสาลี ฯ ๕. เราพึงไม่ล่วงเกินโคตมเจดีย์ ซึ่งอยู่ทิศทักษิณแห่งเมืองเวสาลี ฯ ๖. เราพึงไม่ล่วงเกินสัตตัมพเจดีย์ ซึ่งอยู่ที่ทิศประจิมแห่งเมืองเวสาลี ฯ ๗. เราพึงไม่ล่วงเกินพหุปุตตกเจดีย์ ซึ่งอยู่ทิศอุดรแห่งเมืองเวสาลี ฯ เพราะการสมาทานข้อวัตรทั้ง ๗ นี้ เขาจึงเป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศอยู่ที่ วัชชีคาม ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะได้เข้าไปหาอเจลกชื่อกฬารมัชฌกะ แล้วถามปัญหากะเขา เขาไม่สามารถแก้ปัญหาของโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ให้ถูกต้องได้ จึงแสดงความโกรธ โทสะและความโทมนัสให้ปรากฏ ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะได้คิดว่า ตนได้รุกรานสมณะผู้เป็นพระอรหันต์ที่ดี ข้อนั้นอย่าได้มีแก่เราเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน ครั้ง นั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะได้เข้ามาหาเราถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง เราได้กล่าวกะเขาผู้นั่งเรียบร้อยแล้วว่า ดูกรโมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอก็ ยังจักปฏิญาณตนเป็นศากยบุตรอยู่หรือ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ดูกรโมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยังจักปฏิญาณตนเป็นศากยบุตรอยู่หรือ ฯ ดูกรสุนักขัตตะ เธอได้เข้าไปหาอเจลกชื่อกฬารมัชฌกะแล้วถามปัญหากะ เขา เขาไม่สามารถแก้ปัญหาของเธอให้ถูกต้องได้ จึงได้แสดงความโกรธ โทสะ และความโทมนัสให้ปรากฏ เธอจึงได้คิดว่า ตนได้รุกรานสมณะผู้เป็นพระอรหันต์ ที่ดี ข้อนั้นอย่าได้มีแก่เราเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน ดังนี้ มิใช่หรือ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงหวง พระอรหัต อยู่หรือ ฯ ดูกรโมฆบุรุษ เรามิได้หวงพระอรหัต แต่ว่าเธอได้เกิดทิฐิลามก เธอจง ละมันเสีย ทิฐิอันลามกนี้อย่าได้เกิดแก่เธอ เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อ ทุกข์สิ้นกาลนาน อนึ่ง เธอย่อมเข้าใจอเจลกชื่อกฬารมัชฌกะ ว่าเป็นสมณะผู้เป็น พระอรหันต์ที่ดีผู้หนึ่ง ต่อไปไม่นาน เขาจักกลับนุ่งห่มผ้า มีภรรยา กินข้าวและ ขนม ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ในเมืองเวสาลีทั้งหมด กลายเป็นคนเสื่อมยศ แล้วตายไป ดูกรภัคควะ ต่อมาไม่นาน อเจลกชื่อกฬารมัชฌกะ ก็กลับนุ่งห่มผ้า มีภรรยา กินข้าวและขนม ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ในเมืองเวสาลีทั้งหมดกลายเป็นคนเสื่อมยศ แล้วตายไป โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะได้ทราบข่าวว่า อเจลกชื่อกฬารมัชฌกะ กลับนุ่งห่มผ้า มีภรรยา กินข้าวและขนม ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ในเมืองเวสาลีทั้ง หมด กลายเป็นคนเสื่อมยศ แล้วตายไป จึงได้เข้ามาหาเราถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เราจึงกล่าวกะเขาผู้นั่งเรียบร้อยแล้วว่า สุนักขัตตะ เธอ จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน วิบากนั้น ได้มีแล้วเหมือนดังที่เราได้พยากรณ์ อเจลกชื่อกฬารมัชฌกะไว้แก่เธอ มิใช่โดยประการอื่น ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วิบากนั้นได้มีแล้ว เหมือนดังที่พระผู้มีพระภาคได้ ทรงพยากรณ์อเจลกชื่อกฬารมัชฌกะไว้แก่ข้าพระองค์ มิใช่โดยประการอื่น ฯ ดูกรสุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนี้ อิทธิ ปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ชื่อว่าเป็นคุณอันเราได้แสดงไว้แล้ว หรือมิใช่ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นอันทรงแสดงแล้วแน่นอน มิใช่ไม่ทรง แสดง ฯ ดูกรโมฆบุรุษ แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอยังจะกล่าวกะเราผู้แสดงอิทธิปาฏิ- *หาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มี พระภาคมิได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์แก่ข้าพระองค์ ดังนี้ ดูกรโมฆบุรุษ เธอจงเห็นว่า ข้อนี้เป็นความผิดของเธอเท่านั้น ดูกรภัคควะ โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ถูกเรากล่าวอยู่อย่างนี้ ได้หนีไปจากพระธรรมวินัยนี้ เหมือนสัตว์ผู้ควรเกิดในอบาย เหมือนสัตว์ผู้ควรเกิดในนรก ฉะนั้น ฯ [๖] ดูกรภัคควะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขต เมืองเวสาลีนั้นเอง สมัยนั้น อเจลกชื่อปาฏิกบุตร อาศัยอยู่ที่วัชชีคาม เขตเมือง เวสาลี เป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศ เขากล่าววาจาในบริษัทที่เมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า แม้พระสมณโคดมก็เป็นญาณวาท แม้เราก็เป็นญาณวาท ก็ผู้ที่เป็นญาณวาท ย่อม ควรแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์กับผู้ที่เป็นญาณวาท พระ- *สมณโคดมพึงเสด็จไปกึ่งหนทาง แม้เราก็พึงไปกึ่งหนทาง ในที่พบกันนั้น แม้เรา ทั้ง ๒ พึงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ถ้าพระสมณโคดม จักทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ๑ อย่าง เราจักกระทำ ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำ ๒ อย่าง เราจักกระทำ ๔ อย่าง ถ้า สมณโคดมจักทรงกระทำ ๔ อย่าง เราจักกระทำ ๘ อย่าง พระสมณโคดมจักทรง กระทำเท่าใดๆ เราก็จักกระทำให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณๆ โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อ สุนักขัตตะทราบข่าวนั้น จึงเข้ามาหาเราถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วจึงกล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อเจลกชื่อปาฏิกบุตรอาศัยอยู่ที่ วัชชีคาม เขตเมืองเวสาลี เป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศ เขากล่าววาจาในบริษัทที่ เมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า แม้พระสมณโคดมก็เป็นญาณวาท แม้เราก็เป็นญาณวาท ก็ผู้ที่เป็นญาณวาท ย่อมควรแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ กับผู้ที่เป็นญาณวาท พระสมณโคดมพึงเสด็จไปกึ่งหนทาง แม้เราก็พึงไปกึ่งหนทาง ในที่พบกันนั้น แม้เราทั้ง ๒ พึงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของ มนุษย์ ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของ มนุษย์ ๑ อย่าง เราจักกระทำ ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรงทำ ๒ อย่าง เราจักกระทำ ๔ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักกระทำ ๔ อย่าง เราจักกระทำ ๘ อย่าง พระสมณโคดมจักทรงกระทำเท่าใดๆ เราจักกระทำให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณๆ เมื่อโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ กล่าวอย่างนี้ เราได้กล่าวกะเขาว่า สุนักขัตตะ อเจลกชื่อปาฏิกบุตร เมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถ ที่จะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืน ทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึงแตกออก ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรักษาพระวาจานั้น ขอ พระสุคตจงทรงรักษาพระวาจานั้น ฯ ดูกรสุนักขัตตะ ก็ไฉนเธอจึงกล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรักษาพระวาจานั้น ขอพระสุคตจงทรงรักษาพระวาจานั้น ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสวาจาโดยแน่นอนว่า อเจลกชื่อปาฏิกบุตร เมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถ จะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืน ทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึงแตกออก ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อเจลกชื่อปาฏิกบุตรอาจแปลงรูปมาพบเห็นพระผู้มี พระภาคก็ได้ ในคราวนั้น พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคก็พึงเป็นมุสา ฯ ดูกรสุนักขัตตะ ตถาคตเคยกล่าววาจาที่เป็น ๒ ไว้บ้างหรือ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคทรงทราบอเจลกชื่อปาฏิกบุตร โดยแจ้งชัดด้วยพระหฤทัยว่า เขาเมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่ สามารถที่จะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และ สละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึง แตกออกหรือเทวดามาทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคว่า เขาเมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาพบเห็นพระองค์ได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็น อย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณ โคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึงแตกออก ฯ ดูกรสุนักขัตตะ เราทราบอเจลกชื่อปาฏิกบุตร โดยแจ้งชัดด้วยใจของเรา ว่า เขาไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น จึงไม่สามารถที่จะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไป พบเห็นสมณโคดมได้ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึงแตกออก แม้เทวดาก็ได้บอกความ นั้นแก่เราว่า เขาเมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถจะมา พบเห็นพระองค์ได้ ถ้าแม้เขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืน ทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึงแตกออก แม้ เสนาบดีแห่งเจ้าลิจฉวีชื่ออชิตะ ซึ่งได้ตายไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เข้าถึงพวก เทวดาชั้นดาวดึงส์ ก็ได้เข้ามาบอกเราอย่างนี้ว่า อเจลกชื่อปาฏิกบุตรเป็นคนไม่ ละอาย ชอบกล่าวมุสา ทั้งได้พยากรณ์ข้าพระองค์ว่า เสนาบดีแห่งเจ้าลิจฉวี ชื่ออชิตะ ในวัชชีคาม เข้าถึงมหานรก แต่ข้าพระองค์มิได้เข้าถึงมหานรก ได้เข้า ถึงพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาไม่ละอาย ชอบกล่าวมุสา เขาเมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถจะมาพบเห็นพระองค์ได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็น อย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดม ได้ ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึงแตกออก แม้เพราะเหตุนี้แล สุนักขัตตะ เราทราบ อเจลกชื่อปาฏิกบุตรโดยแจ้งชัดด้วยใจของเราว่า เขาไม่ละวาจา จิต สละคืนทิฐิ เช่นนั้น ไม่ควรมาพบเห็นเรา แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ ดังนี้ ศีรษะเขาจะพึง- *แตกออก แม้เทวดาก็บอกความนี้แก่เราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อเจลกชื่อ ปาฏิกบุตร ไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ไม่ควรมาพบเห็นพระผู้มี พระภาค ถ้าแม้เขาพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิ เช่นนั้น พึงไปพบเห็นสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะของเขาจะพึงแตกออก ดูกร สุนักขัตตะ เรานี้แล เที่ยวไปบิณฑบาตที่เมืองเวสาลี กลับจากบิณฑบาตในเวลา ปัจฉาภัต แล้วเข้าไปยังอารามของอเจลกชื่อปาฏิกบุตร เพื่อพักผ่อนกลางวัน บัดนี้ ถ้าเธอปรารถนาก็จงไปบอกเขาเถิด ฯ [๗] ดูกรภัคควะ ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เรานุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตที่เมืองเวสาลี กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต แล้วเข้าไป ยังอารามของอเจลกชื่อปาฏิกบุตร เพื่อพักผ่อนกลางวัน ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวี ชื่อสุนักขัตตะ รีบเข้าไปเมืองเวสาลีแล้ว เข้าไปหาพวกเจ้าลิจฉวีที่มีชื่อเสียงบอกว่า ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาตที่เมืองเวสาลี กลับจากบิณฑบาต ในเวลาปัจฉาภัต แล้วเสด็จเข้าไปยังอารามของอเจลกชื่อปาฏิกบุตร เพื่อทรงพักผ่อน กลางวัน ขอพวกท่านจงรีบออกไป จักมีการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรม ยอดเยี่ยมของมนุษย์ ของพวกสมณะที่ดี ฯ ครั้งนั้น พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงได้คิดกันว่า ท่านผู้เจริญทราบข่าวว่า จักมีการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ของพวกสมณะที่ดี ฉะนั้น เชิญพวกเราไปกัน และโอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ เข้าไปหาพวก พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ผู้มีชื่อ เสียง แล้วบอกว่า ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาตที่เมืองเวสาลี กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัตแล้วเสด็จเข้าไปยังอารามของอเจลกชื่อปาฏิกบุตร เพื่อทรงพักผ่อนกลางวัน ขอพวกท่านจงรีบออกไป จักมีการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่ เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ของพวกสมณะที่ดี ครั้งนั้น พวกพราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียง ได้คิดกันว่า ท่านผู้เจริญ ทราบข่าวว่า จักมีการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยม ของ พวกสมณะที่ดี ฉะนั้น เชิญพวกเราไปกัน ฯ ครั้งนั้น พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง และพราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียง ได้เข้าไปยังอารามของอเจลก ชื่อปาฏิกบุตร ดูกรภัคควะ บริษัทนั้นๆ มีหลายร้อย หลายพันคน ฯ อเจลกชื่อปาฏิกบุตรได้ทราบข่าวว่า บรรดาเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง และ พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ผู้มี ชื่อเสียง ได้พากันออกมาแล้ว แม้พระสมณโคดมก็ทรงนั่งพักผ่อนกลางวันที่อาราม ของเรา ครั้นแล้ว จึงเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า ครั้งนั้น อเจลกชื่อปาฏิกบุตร เมื่อกลัว หวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า จึงเข้าไปยังอาราม ของปริพาชกชื่อติณฑุกขานุ บริษัทนั้นได้ทราบข่าวว่า อเจลกชื่อปาฏิกบุตรกลัว หวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า เข้าไปยังอารามของปริพาชกชื่อติณฑุกขานุ ฯ ครั้งนั้น บริษัทนั้นได้เรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปหา อเจลกชื่อปาฏิกบุตรที่อารามของปริพาชกชื่อติณฑุกขานุ แล้วจงบอกกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไป บรรดาเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง และพราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียง ได้พากัน ออกมาแล้ว แม้สมณโคดมก็ประทับนั่งพักผ่อนกลางวันที่อารามของท่าน อนึ่ง ท่าน ได้กล่าววาจาในบริษัทที่เมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า แม้พระสมณโคดมก็เป็นญาณวาท แม้เราก็เป็นญาณวาท ก็ผู้ที่เป็นญาณวาท ย่อมควรแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรม ยอดเยี่ยมของมนุษย์กับผู้ที่เป็นญาณวาท พระสมณโคดมพึงเสด็จมากึ่งหนทาง แม้เราก็พึงไปกึ่งหนทาง ในที่พบกันนั้น แม้เราทั้ง ๒ พึงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่ เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ๑ อย่าง เราจักกระทำ ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดม จักทรงกระทำ ๒ อย่าง เราจักกระทำ ๔ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำ ๔ อย่าง เราจักกระทำ ๘ อย่าง พระสมณโคดมจักทรงกระทำเท่าใดๆ เราก็จัก กระทำให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณๆ ดังนี้ ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงออกไปกึ่งหนทาง พระสมณโคดมเสด็จมาก่อนคนทั้งปวงทีเดียว ประทับนั่งพักผ่อนกลางวันที่อาราม ของท่าน ฯ ดูกรภัคควะ บุรุษนั้นรับคำสั่งบริษัทนั้นแล้ว จึงเข้าไปหาอเจลก ชื่อปาฏิกบุตร ที่อารามของปริพาชกชื่อติณฑุกขานุ แล้วบอกกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไป พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง และพราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียงได้พากันออก มาแล้ว แม้พระสมณโคดมก็ประทับนั่งพักผ่อนกลางวันที่อารามของท่าน อนึ่ง ท่านได้กล่าววาจาในที่บริษัทที่เมืองเวสาลี อย่างนี้ว่า แม้พระสมณโคดมก็เป็น ญาณวาท แม้เราก็เป็นญาณวาท ก็ผู้ที่เป็นญาณวาท ย่อมควรแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์กับผู้ที่เป็นญาณวาท พระสมณโคดมพึงเสด็จมา กึ่งหนทาง แม้เราก็พึงไปกึ่งหนทาง ในที่พบกันนั้น แม้เราทั้ง ๒ พึงกระทำ อิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำ อิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ๑ อย่าง เราจักกระทำ ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำ ๒ อย่าง เราจักกระทำ ๔ อย่าง ถ้าพระสมณโคดม จักทรงกระทำ ๔ อย่าง เราจักกระทำ ๘ อย่าง พระสมณโคดมจักทรงกระทำเท่าใดๆ เราจักกระทำให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณๆ ดังนี้ ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงออกไป กึ่งหนทาง พระสมณโคดมเสด็จมาก่อนคนทั้งปวงทีเดียว ประทับนั่งพักผ่อนกลางวัน ที่อารามของท่าน เมื่อบุรุษนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว อเจลกชื่อปาฏิกบุตรจึงกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ ฯ ครั้งนั้น บุรุษนั้นได้กล่าวกะเขาว่า ท่านปาฏิกบุตร ไฉนท่านจึงเป็นอย่างนี้ ตะโพกของท่านติดกับที่นั่ง หรือว่าที่นั่งติดกับตะโพกของท่าน ท่านกล่าวว่า เราจะ ไปๆ แต่กลับซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ ดูกรภัคควะ อเจลกชื่อปาฏิกบุตร แม้ถูกว่าอยู่อย่างนี้ ก็ยังกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วก็ซบ ศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ เมื่อบุรุษนั้นได้ทราบว่า อเจลก ชื่อปาฏิกบุตรนี้เป็นผู้แพ้แล้ว ก็ยังกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ในที่นั้น เอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ จึงกลับมาหาบริษัทนั้น แล้วบอกว่า ท่านผู้เจริญ อเจลกชื่อปาฏิกบุตรนี้ เป็นผู้แพ้แล้ว ก็ยังกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วก็ซบศีรษะ อยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ ฯ ดูกรภัคควะ เมื่อบุรุษนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เราจึงได้กล่าวกะบริษัทนั้นว่า ท่านทั้งหลาย อเจลกชื่อปาฏิกบุตร เมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะเขาจะพึง แตกออก ฯ
จบ ภาณวาร ที่หนึ่ง
-----------------------------------------------------
[๘] ดูกรภัคควะ ครั้งนั้น มหาอำมาตย์แห่งเจ้าลิจฉวีคนหนึ่ง ลุกขึ้นยืน กล่าวกะบริษัทนั้นว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น ขอให้พวกท่านจงรอคอยสักครู่หนึ่ง พอให้ข้าพเจ้าไป บางทีข้าพเจ้าอาจนำเอาอเจลกชื่อปาฏิกบุตรมาสู่บริษัทนี้ได้ ครั้งนั้น มหาอำมาตย์แห่งเจ้าลิจฉวีคนนั้น จึงเข้าไปหาอเจลกชื่อปาฏิกบุตร ที่อารามของ ปริพาชกชื่อติณฑุกขานุ แล้วจึงกล่าวว่า ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไป การกลับ ไปของท่านเป็นการดี พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง และพราหมณ์มหาศาล คฤหบดี ผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียง ได้พากันออกมาแล้ว แม้พระสมณโคดมก็ประทับนั่งพักผ่อนกลางวันที่อารามของท่าน อนึ่ง ท่านได้กล่าว วาจาในบริษัทที่เมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า แม้พระสมณโคดมก็เป็นญาณวาท แม้เราก็ เป็นญาณวาท ก็ผู้ที่เป็นญาณวาท ย่อมควรแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยม ของมนุษย์กับผู้ที่เป็นญาณวาท พระสมณโคดมพึงเสด็จมากึ่งหนทาง แม้เราก็พึง ไปกึ่งหนทาง ในที่พบกันนั้น แม้เราทั้ง ๒ พึงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรม ยอดเยี่ยมของมนุษย์ ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรม ยอดเยี่ยมของมนุษย์ ๑ อย่าง เราจักกระทำ ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรง กระทำ ๒ อย่าง เราจักกระทำ ๔ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำ ๔ อย่าง เราจักกระทำ ๘ อย่าง พระสมณโคดมจักทรงกระทำเท่าใดๆ เราจักกระทำให้ มากกว่านั้นเป็นทวีคูณๆ ดังนี้ ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงออกไปกึ่งหนทาง พระสมณ- *โคดมเสด็จมาก่อนคนทั้งปวงทีเดียว ประทับนั่งพักผ่อนกลางวันที่อารามของท่าน อนึ่ง พระสมณโคดมได้ตรัสวาจาในบริษัทว่า อเจลกชื่อปาฏิกบุตร เมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็น อย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดม ได้ ดังนี้ แม้ศีรษะของเขาจะพึงแตกออก ดังนี้ ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไป ด้วยการกลับไปนั่นแหละ พวกข้าพเจ้าจักให้ชัยชนะแก่ท่าน จักให้ความปราชัย แก่พระสมณโคดม ฯ ดูกรภัคควะ เมื่อมหาอำมาตย์แห่งเจ้าลิจฉวีกล่าวแล้วอย่างนี้ อเจลก ชื่อปาฏิกบุตรจึงกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วกลับซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจ ลุกขึ้นจากอาสนะได้ ครั้งนั้น มหาอำมาตย์แห่งเจ้าลิจฉวีจึงกล่าวกะเขาว่า ท่าน ปาฏิกบุตร ท่านเป็นอย่างไรไปเล่า ตะโพกของท่านติดกับที่นั่ง หรือว่าที่นั่งติดกับ ตะโพกของท่าน ท่านกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วกลับซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ เมื่อมหาอำมาตย์แห่งเจ้าลิจฉวีนั้นได้ทราบว่า อเจลก ชื่อปาฏิกบุตรนี้เป็นผู้แพ้แล้ว ก็ยังกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วกลับซบศีรษะอยู่ใน ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ จึงมาหาบริษัทนั้นแล้วบอกว่า ดังนี้ ท่าน ผู้เจริญ อเจลกชื่อปาฏิกบุตรนี้เป็นผู้แพ้แล้ว ก็ยังกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วกลับ ซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ ฯ ดูกรภัคควะ เมื่อมหาอำมาตย์แห่งเจ้าลิจฉวีนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เราจึง กล่าวกะบริษัทนั้นว่า ท่านทั้งหลาย อเจลกชื่อปาฏิกบุตร เมื่อไม่ละวาจา จิต และ สละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะของเขาจะพึงแตกออก แม้ถ้าพวกเจ้าลิจฉวีพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า พวกเรา จักเอาเชือกมัดอเจลกชื่อปาฏิกบุตร แล้วจึงฉุดมาด้วยคู่โคมากคู่ เชือกเหล่านั้น หรืออเจลกชื่อปาฏิกบุตรพึงขาดออก ก็อเจลกชื่อปาฏิกบุตร เมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็น อย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณ- *โคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะของเขาจะพึงแตกออก ฯ [๙] ดูกรภัคควะ ครั้งนั้น ศิษย์ช่างกลึงบาตรไม้ ชื่อชาลิยะลุกขึ้นยืน กล่าวกะบริษัทนั้นว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น ขอให้พวกท่านจงรอคอยสักครู่หนึ่ง พอให้ข้าพเจ้าไป บางทีข้าพเจ้าอาจนำเอาอเจลกชื่อปาฏิกบุตรมาสู่บริษัทนี้ได้ ครั้งนั้น ศิษย์ช่างกลึงบาตรไม้ ชื่อชาลิยะ จึงเข้าไปหาอเจลกชื่อปาฏิกบุตร ที่อารามของ ปริพาชก ชื่อติณฑุกขานุ แล้วจึงกล่าวว่า ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไป การกลับ ของท่านเป็นการดี พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง และพราหมณ์มหาศาล คฤหบดี ผู้มั่งคั่ง เหล่าเดียรถีย์ต่างๆ และสมณพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียง ได้พากันออกมาแล้ว แม้พระสมณโคดมก็ประทับนั่งพักผ่อนกลางวันที่อารามของท่าน อนึ่ง ท่านได้กล่าว วาจาในบริษัทที่เมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า แม้พระสมณโคดมก็เป็นญาณวาท แม้เราก็ เป็นญาณวาท ก็ผู้ที่เป็นญาณวาท ย่อมควรแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยม ของมนุษย์กับผู้ที่เป็นญาณวาท พระสมณโคดมพึงเสด็จมากึ่งหนทาง แม้เราก็พึงไป กึ่งหนทาง ในที่พบกันนั้น แม้เราทั้ง ๒ พึงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรม ยอดเยี่ยมของมนุษย์ ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรม ยอดเยี่ยมของมนุษย์ ๑ อย่าง เราจักกระทำ ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรง กระทำ ๒ อย่าง เราจักกระทำ ๔ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรงกระทำ ๔ อย่าง เราจักกระทำ ๘ อย่าง พระสมณโคดมจักทรงกระทำเท่าใดๆ เราจักกระทำ ให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณๆ ดังนี้ ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงออกไปกึ่งหนทาง พระสมณโคดมเสด็จมาก่อนคนทั้งปวงทีเดียว ประทับนั่งพักผ่อนกลางวันที่ อารามของท่าน อนึ่ง พระสมณโคดมได้ตรัสวาจาในบริษัทว่า อเจลกชื่อปาฏิกบุตร เมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะของเขาจะพึงแตกออก แม้ถ้า พวกเจ้าลิจฉวีจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า พวกเราจักเอาเชือกมัดอเจลกชื่อปาฏิกบุตร แล้วจึงฉุดมาด้วยคู่โคมากคู่ เชือกเหล่านั้นหรืออเจลกชื่อปาฏิกบุตรพึงขาดออก ก็อเจลกชื่อปาฏิกบุตร เมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถ ที่จะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละ- *คืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะของเขาจะพึง แตกออก ดังนี้ ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไป ด้วยการกลับไปนั่นแหละ พวก ข้าพเจ้าจักให้ชัยชนะแก่ท่าน จักให้ความปราชัยแก่พระสมณโคดม ฯ ดูกรภัคควะ เมื่อศิษย์ช่างกลึงบาตรไม้ชื่อชาลิยะกล่าวแล้วอย่างนี้ อเจลก ชื่อปาฏิกบุตรกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วกลับซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้น จากอาสนะได้ ครั้งนั้น ศิษย์ช่างกลึงบาตรไม้ชื่อชาลิยะจึงกล่าวกะเขาว่า ท่าน ปาฏิกบุตร ท่านเป็นอย่างไรไปเปล่า ตะโพกของท่านติดกับที่นั่ง หรือว่าที่นั่งติด กับตะโพกของท่าน ท่านกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วกลับซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่ อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ อเจลกชื่อปาฏิกบุตร แม้ถูกว่าอย่างนี้ ก็ยังกล่าวว่า เรา จะไปๆ แล้วกลับซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเองไม้อาจลุกขึ้นจากอาสนะได้ เมื่อศิษย์ ช่างกลึงบาตรไม่ชื่อชาลียะได้ทราบว่า อเจลกชื่อปาฏิกบุตรนี้เป็นผู้แพ้แล้ว ก็ยัง กล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วกลับซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากอาสนะได้ จึงกล่าวกะเขาต่อไปว่า- ดูกรท่านปาฏิกบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว คือพญาสีหมิคราชได้คิดอย่างนี้ ว่า ถ้ากระไร เราพึงอาศัยป่าทึบบางแห่งซ่อนอยู่ แล้วออกจากที่ซ่อนในเวลา เย็น ดัดกาย เหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ แล้วบันลือสีหนาท ๓ ครั้ง จึงเที่ยว ไปหากิน เราต้องฆ่าหมูเนื้อตัวล่ำสันกินเนื้อที่อ่อนนุ่มๆ แล้วกลับมาซ่อนตัวอยู่ ตามเคย ครั้งนั้น พญาสีหมิคราชนั้น จึงอาศัยป่าทึบบางแห่งซ่อนอยู่ ออกจาก ที่ซ่อนในเวลาเย็น ดัดกาย เหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ บันลือสีหนาท ๓ ครั้ง เที่ยวไปหากิน มันฆ่าหมูเนื้อตัวล่ำสัน กินเนื้อที่อ่อนนุ่มๆ แล้วกลับมาซ่อนอยู่ ตามเคย ท่านปาฏิกบุตร มีสุนัขจิ้งจอกแก่ตัวหนึ่ง กินเนื้อที่เป็นแดนของพญา- *สีหมิคราชตัวนั้น แล้วก็เจริญอ้วนท้วนมีกำลัง ต่อมา สุนัขจิ้งจอกแก่ตัวนั้นจึง เกิดความคิดว่า เราคือใคร พญาสีหมิคราชคือใคร ถ้ากระไร เราพึงอาศัยป่าทึบ บางแห่งซ่อนอยู่ ออกจากที่ซ่อนในเวลาเย็น ดัดกาย เหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดย รอบบันลือสีหนาท ๓ ครั้ง เที่ยวไปหากิน เราต้องฆ่าหมูเนื้อตัวล่ำสันกินเนื้อ อ่อนนุ่มๆ แล้วก็กลับมาซ่อนอยู่ตามเคย ครั้งนั้น สุนัขจิ้งจอกแก่ตัวนั้นอาศัย ป่าทึบบางแห่งซ่อนอยู่ ออกจากที่ซ่อนในเวลาเย็น ดัดกาย เหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ แล้วคิดว่า เราจักบันลือสีหนาท ๓ ครั้ง แต่กลับบันลือเสียงสุนัข จิ้งจอกอย่างน่ากลัวน่าเกลียด สุนัขจิ้งจอกตัวลามกเป็นอย่างไร และการบันลือของ สีหะเป็นอย่างไร ดูกรท่านปาฏิกบุตร ท่านก็เป็นเช่นนั้น ดำรงชีพตามแบบพระสุคต บริโภค ๑- อาหารที่เป็นเดนพระสุคต ยังสำคัญการรุกรานพระตถาคตผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านปาฏิกบุตรเป็นอย่างไร การรุกรานพระตถาคตผู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างไร ดูกรภัคควะ เมื่อศิษย์ช่างกลึงบาตรไม้ชื่อชาลิยะ ไม่สามารถที่จะให้ อเจลกชื่อปาฏิกบุตรเคลื่อนจากอาสนะนั้นได้ แม้ด้วยคำเปรียบเปรยเช่นนี้ จึงได้ กล่าวคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า สุนัขจิ้งจอกเข้าใจว่า ตนเป็นสีหะ จึงได้ถือตัวว่าเป็นมิคราช มันได้บันลือเสียงสุนัขจิ้งจอกเช่นนั้น สุนัขจิ้งจอกตัวลามกเป็นอย่างไร การบันลือของสีหะเป็นอย่างไร ฯ [๑๐] ดูกรท่านปาฏิกบุตร ท่านก็เป็นเช่นนั้น ดำรงชีพตามแบบ พระสุคต บริโภคอาหารที่เป็นเดนพระสุคต ยังสำคัญการรุกรานพระตถาคตผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านปาฏิกบุตรเป็นอย่างไร การรุกรานพระตถาคตผู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างไร ดูกรภัคควะ เมื่อศิษย์ช่างกลึงบาตร ไม้ชื่อชาลิยะไม่สามารถที่จะให้อเจลกชื่อปาฏิกบุตรเคลื่อนจากอาสนะนั้นได้ แม้ ด้วยคำเปรียบเปรยเช่นนี้ จึงได้กล่าวคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า สุนัขจิ้งจอกจ้องดูเงาของตนซึ่งปรากฏในน้ำ ที่บ่อไม่เห็นตนตามความเป็นจริง จึงถือตัวว่า เป็นสีหะ มันได้บันลือเสียงสุนัขจิ้งจอกเช่น นั้น เสียงสุนัขจิ้งจอกตัวลามกเป็นอย่างไร การบันลือของสีหะเป็นอย่างไร ฯ [๑๑] ดูกรท่านปาฏิกบุตร ท่านก็เป็นเช่นนั้น ดำรงชีพตามแบบ @๑. อธิบายว่า บริโภคอาหารบิณฑบาตที่เขานำมาให้ แต่เป็นของที่เหลือจากถวาย @พระสุคตแล้ว พระสุคต บริโภคอาหารที่เป็นเดนพระสุคต ยังสำคัญการรุกรานพระตถาคตผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านปาฏิกบุตรเป็นอย่างไร การรุกรานพระตถาคต ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างไร ดูกรภัคควะ เมื่อศิษย์ช่างกลึงบาตร ไม้ชื่อชาลิยะไม่สามารถที่จะให้อเจลกชื่อปาฏิกบุตรเคลื่อนจากอาสนะนั้นได้ แม้ ด้วยคำเปรียบเปรยเช่นนี้ จึงได้กล่าวคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า สุนัขจิ้งจอกกินกบ [ตามบ่อ] และหนูตามลาน ข้าว ซากศพที่ทิ้งตามป่าช้า จึงอ้วนพีอยู่ตาม ป่าใหญ่ ตามป่าที่ว่างเปล่า จึงได้ถือตัวว่าเป็น มิคราช มันได้บันลือเสียงสุนัขจิ้งจอกเช่นนั้น สุนัขจิ้งจอกตัวลามกเป็นอย่างไร การบันลือ ของสีหะเป็นอย่างไร ฯ [๑๒] ดูกรท่านปาฏิกบุตร ท่านก็เป็นเช่นนั้น ดำรงชีพตามแบบ พระสุคต บริโภคอาหารที่เป็นเดนพระสุคต ยังสำคัญการรุกรานพระตถาคตผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านปาฏิกบุตรเป็นอย่างไร การรุกรานพระตถาคตผู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างไร ฯ ดูกรภัคควะ เมื่อศิษย์ช่างกลึงบาตรไม้ชื่อชาลิยะ ไม่สามารถที่จะให้ อเจลกชื่อปาฏิกบุตรเคลื่อนจากอาสนะนั้นได้ แม้ด้วยคำเปรียบเปรยเช่นนี้ จึงกลับ มาหาบริษัทนั้น แล้วบอกว่า ท่านผู้เจริญ อเจลกชื่อปาฏิกบุตรนี้เป็นผู้แพ้แล้ว ก็ ยังกล่าวว่า เราจะไปๆ แล้วกลับซบศีรษะอยู่ในที่นั้นเอง ไม่อาจลุกขึ้นจาก อาสนะได้ ดูกรภัคควะ เมื่อศิษย์ช่างกลึงบาตรไม้ชื่อชาลิยะนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เรา จึงกล่าวกะบริษัทนั้นว่า ท่านทั้งหลาย อเจลกชื่อปาฏิกบุตร เมื่อไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขาพึงคิดเห็น อย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้นก็พึงไปพบเห็นพระสมณโคดม ได้ ดังนี้ แม้ศีรษะของเขาจะพึงแตกออก แม้ถ้าพวกเจ้าลิจฉวีจะพึงคิดเห็นอย่าง นี้ว่า พวกเราจะเอาเชือกมัดอเจลกชื่อปาฏิกบุตรแล้วจึงฉุดมาด้วยคู่โคมากคู่ เชือก เหล่านั้นหรืออเจลกชื่อปาฏิกบุตรพึงขาดออก ก็อเจลกชื่อปาฏิกบุตร เมื่อไม่ละ วาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาพบเห็นเราได้ แม้ถ้าเขา พึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราไม่ละวาจา จิต และสละคืนทิฐิเช่นนั้น ก็พึงไปพบเห็น พระสมณโคดมได้ ดังนี้ แม้ศีรษะของเขาพึงแตกออก ฯ ดูกรภัคควะ ลำดับนั้น เราจึงยังบริษัทนั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้ อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถา ทำให้พ้นจากเครื่องผูกใหญ่ ๑- รื้อถอน สัตว์ประมาณ ๘๔,๐๐๐ ขึ้นจากหล่มใหญ่จึงเข้าเตโชธาตุกสิณเหาะขึ้นสู่เวหาสสูง ประมาณ ๗ ชั่วลำตาล นิรมิตไฟอื่นให้ลุกโพลงมีควันกลบ สูงประมาณ ๗ ชั่ว ลำตาล แล้วจึงกลับมาปรากฏที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ดูกรภัคควะ ครั้งนั้น โอรสเจ้าลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ได้เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ ควรส่วนข้างหนึ่ง เราจึงได้กล่าวกะเขาผู้นั่งเรียบร้อยแล้วว่า สุนักขัตตะ เธอจะ สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน วิบากนั้น ได้มีแล้ว เหมือนดังที่เราได้พยากรณ์ อเจลกชื่อปาฏิกบุตรแก่เธอ มิใช่โดยประการอื่น ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วิบากนั้น ได้มีแล้ว เหมือนดังที่พระผู้มีพระภาค ได้ทรงพยากรณ์อเจลกชื่อปาฏิกบุตรแก่ข้าพระองค์ มิใช่โดยประการอื่น ฯ ดูกรสุนักขัตตะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนี้ อิทธิ ปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์ ชื่อว่าเป็นคุณอันเราได้แสดงแล้ว หรือ มิใช่ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นอันทรงแสดงไว้แล้วแน่นอน มิใช่ไม่ทรง แสดง ฯ ดูกรโมฆบุรุษ แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอยังจะกล่าวกะเราผู้แสดงอิทธิ ปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มี พระภาคมิได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นธรรมยอดเยี่ยมของมนุษย์แก่ข้าพระองค์ ดังนี้ เธอจงเห็นว่า ข้อนี้เป็นความผิดของเธอเท่านั้น ดูกรภัคควะ โอรสเจ้า @๑. นิพพาน ฯ ลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะถูกเรากล่าวอย่างนี้ ได้หนีไปจากพระธรรมวินัยนี้ เหมือน สัตว์ผู้ควรเกิดในอบาย เหมือนสัตว์ผู้ควรเกิดในนรก ฉะนั้น ฯ [๑๓] ดูกรภัคควะ อนึ่ง เราย่อมทราบชัดซึ่งสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ทั้ง รู้ชัดยิ่งกว่านั้น และไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วย เมื่อไม่ยึดมั่น จึงทราบความดับ ได้เฉพาะตน ฉะนั้น ตถาคตจึงไม่ถึงทุกข์ ฯ ดูกรภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางพวกบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่า พระอิศวรทำให้ ว่าพระพรหมทำให้ ตามลัทธิอาจารย์ เราจึงเข้าไปถามเขาอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่าพระอิศวรทำให้ ว่าพระ- *พรหมทำให้ ตามลัทธิอาจารย์จริงหรือ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถูกเราถามอย่างนี้ แล้วยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น เราจึงถามต่อไปว่า พวกท่านบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่า เลิศ ว่าพระอิศวรทำให้ ว่าพระพรหมทำให้ ตามลัทธิอาจารย์มีแบบอย่างไร สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้ เมื่อตอบไม่ถูก จึงย้อนถามเรา เราถูก ถามแล้วจึงพยากรณ์ว่า ท่านทั้งหลาย มีสมัยบางครั้งบางคราวโดยระยะกาลยืดยาว ช้านาน ที่โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดใน ชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออก จากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้น กาลยืดยาวช้านาน ฯ ดูกรท่านทั้งหลาย มีสมัยบางครั้งบางคราวโดยระยะกาลยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้จะกลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญอยู่ วิมานของพรหมปรากฏว่าว่างเปล่า ครั้งนั้น สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นอาภัสสรพรหม เพราะสิ้นอายุหรือสิ้นบุญย่อม เข้าถึงวิมานพรหมที่ว่างเปล่า แม้สัตว์ผู้นั้นก็ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหารมี รัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงามสถิตอยู่ใน ภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน เพราะสัตว์นั้นอยู่แต่ผู้เดียวเป็นเวลานาน จึงเกิดความ กระสันความดิ้นรนขึ้นว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง ต่อมา สัตว์เหล่าอื่นก็จุติจากชั้นอาภัสสรพรหม เพราะสิ้นอายุหรือเพราะสิ้นบุญ ย่อมเข้า ถึงวิมานพรหมที่ว่าง เป็นสหายของสัตว์ผู้นั้น แม้สัตว์พวกนั้นก็ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ใน วิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ฯ ดูกรท่านทั้งหลาย บรรดาสัตว์จำพวกนั้น ผู้ใดเกิดก่อน ผู้นั้นย่อมมีความ คิดเห็นอย่างนี้ว่า เราเป็นพรหม เราเป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ไม่มีใครข่มได้ เห็น ถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้วและกำลังเป็น สัตว์ เหล่านี้ เราเนรมิตขึ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า เราได้มีความคิดอย่างนี้ก่อนว่า โอหนอแม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง ความตั้งใจของเราเป็นเช่นนี้และ สัตว์เหล่านี้ก็ได้มาเป็นอย่างนี้แล้ว แม้พวกสัตว์ที่เกิดภายหลังก็มีความคิดเห็นอย่าง นี้ว่าท่านผู้เจริญนี้แลเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มได้ เห็น ถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้วและกำลังเป็น พวก เราอันพระพรหมผู้เจริญนี้นิรมิตแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าพวกเราได้เห็น ท่านพรหมผู้นี้เกิดก่อน ส่วนพวกเราเกิดภายหลัง ฯ ดูกรท่านทั้งหลาย บรรดาสัตว์จำพวกนั้นสัตว์ใดเกิดก่อน สัตว์นั้นมีอายุ ยืนกว่า มีผิวพรรณงามกว่า มีศักดิ์มากกว่า ส่วนสัตว์ที่เกิดภายหลังมีอายุน้อย กว่า มีผิวพรรณทรามกว่า มีศักดิ์น้อยกว่า ดูกรท่านทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมี ได้แล ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็น ๑- อย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผา กิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิ ที่เมื่อตั้งมั่นแล้ว ย่อมตามระลึก ถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนนั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงกล่าวอย่าง นี้ว่า ท่านผู้ใดแลเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มได้ เห็น @๑. เกิดเป็นมนุษย์ ถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้วและกำลังเป็น พระพรหมผู้เจริญ ใดที่นิรมิตพวกเรา พระพรหมผู้เจริญนั้นเป็นผู้เที่ยงยั่งยืน คงทน มีอายุยืน มีอันไม่ แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวกเราที่พระพรหม ผู้เจริญนั้นนิรมิตแล้วนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน มีอายุน้อย ยังต้อง จุติมาเป็นอย่างนี้ ก็พวกท่านบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่าพระอิศวรทำให้ ว่าพระพรหมทำให้ตามลัทธิอาจารย์ มีแบบเช่นนี้หรือมิใช่ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ตอบอย่างนี้ว่า ท่านโคดม พวกข้าพเจ้าได้ทราบมาดังที่ท่านโคดมได้กล่าวมานี้แล ฯ ดูกรภัคควะ เราย่อมทราบชัดซึ่งสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ทั้งรู้ชัดยิ่งกว่านั้น และไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วย เมื่อไม่ยึดมั่น จึงทราบความดับได้เฉพาะตน ฉะนั้น ตถาคตจึงไม่ถึงทุกข์ ฯ [๑๔] ดูกรภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางพวกบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่ามีมูลมาแต่เทวดาเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ ตามลัทธิอาจารย์ เราจึงเข้าไปถามอย่างนี้ ว่า ทราบว่าท่านทั้งหลายบัญญัติสิ่งโลกสมมติว่าเลิศ ว่ามีมูลมาแต่เทวดาเหล่า ขิฑฑาปโทสิกะ ตามลัทธิอาจารย์จริงหรือ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่าง นี้แล้ว ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น เราจึงถามต่อไปว่า พวกท่านบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติ ว่าเลิศ ว่ามีมูลมาแต่เทวดาเหล่าขิฑฑาปโทสิกะตามลัทธิอาจารย์ มีแบบอย่างไร สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ตอบไม่ถูก เมื่อตอบไม่ถูก จึงย้อน ถามเรา เราถูกถามแล้ว จึงพยากรณ์ว่า- ดูกรท่านทั้งหลาย พวกเทวดาชื่อว่าขิฑฑาปโทสิกะมีอยู่ พวกนั้นพากัน หมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือการสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา เมื่อพวก นั้นพากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือการสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา สติก็ย่อมหลงลืม เพราะสติหลงลืม จึงพากันจุติจากชั้นนั้น ดูกรท่านทั้งหลาย ก็เป็น ฐานะที่จะมีได้แล ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เมื่อมาเป็น อย่างนี้แล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วอาศัยความเพียร เป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนืองๆ อาศัย ความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เมื่อตั้งมั่นแล้ว ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนนั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่าน พวกเทวดาผู้มิใช่เหล่าขิฑฑาปโทสิกะ ย่อมไม่พากัน หมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือการสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา สติ ย่อมไม่หลงลืม เพราะสติไม่หลงลืม พวกเหล่านั้นจึงไม่จุติจากชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงทน มีอายุยืน มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้น ทีเดียว ส่วนพวกเราเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ หมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือการ สรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา สติย่อมหลงลืม เพราะสติหลงลืม พวกเราจึง พากันจุติจากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็น อย่างนี้ ก็พวกท่านบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่ามีมูลมาแต่เทวดาเหล่าขิฑฑาป- *โทสิกะ ตามลัทธิอาจารย์ มีแบบเช่นนี้หรือมิใช่ สมณพราหมณ์เหล่านั้นตอบ อย่างนี้ว่า ท่านโคดม พวกข้าพเจ้าได้ทราบมาดังที่ท่านโคดมได้กล่าวมานี้แล ดูกร ภัคควะ เราย่อมทราบชัดซึ่งสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ทั้งรู้ชัดยิ่งกว่านั้น และไม่ยึดมั่น ความรู้ชัดนั้นด้วย เมื่อไม่ยึดมั่น จึงทราบความดับเฉพาะตน ฉะนั้น ตถาคต จึงไม่ถึงทุกข์ ฯ [๑๕] ดูกรภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางจำพวกบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติ ว่าเลิศ ว่ามีมูลมาแต่เทวดาเหล่ามโนปโทสิกะ ตามลัทธิอาจารย์ เราจึงเข้าไปถาม เขาอย่างนี้ว่า ทราบว่าท่านทั้งหลายบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศว่ามีมูลมาแต่เทวดา เหล่ามโนปโทสิกะ ตามลัทธิอาจารย์จริงหรือ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถาม อย่างนี้แล้ว ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น เราจึงถามต่อไปว่า พวกท่านบัญญัติสิ่งที่โลก สมมติว่าเลิศ ว่ามีมูลมาแต่เทวดาเหล่ามโนปโทสิกะ ตามลัทธิอาจารย์ มีแบบ อย่างไร สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ตอบไม่ถูก เมื่อตอบไม่ถูก จึงย้อนถามเรา เราถูกถามแล้ว จึงพยากรณ์ว่า- ดูกรท่านทั้งหลาย พวกเทวดาชื่อมโนปโทสิกะมีอยู่ พวกนั้นมักเพ่งโทษ กันและกันเกินควร เมื่อมัวเพ่งโทษกันและกันเกินควร ย่อมคิดมุ่งร้ายกันและกัน เมื่อต่างคิดมุ่งร้ายกันและกัน จึงลำบากกายลำบากใจ พากันจุติจากชั้นนั้น ดูกร ท่านทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็น อย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบ เนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิ ที่เมื่อตั้งมั่นแล้ว ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนนั้นได้ หลังแต่ นั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่าน พวกเทวดาผู้มิใช่เหล่ามโนปโทสิกะ ย่อมไม่มัวเพ่งโทษกันและกันเกินควร เมื่อไม่มัวเพ่งโทษกันและกันเกินควร ก็ ไม่คิดมุ่งร้ายกันและกัน เมื่อต่างไม่คิดมุ่งร้ายกันและกันแล้ว ก็ไม่ลำบากกาย ไม่ลำบากใจ พวกนั้นจึงไม่จุติจากชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงทน มีอายุยืน มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวกเรา เหล่ามโนปโทสิกะมัวเพ่งโทษกันและกันเกินควร เมื่อมัวเพ่งโทษกันและกันเกิน ควร ก็คิดมุ่งร้ายกันและกัน เมื่อต่างคิดมุ่งร้ายกันและกัน จึงพากันลำบากกาย ลำบากใจ พวกเราจึงพากันจุติจากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้ ก็พวกท่านบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ว่า มีมูลมาแต่เทวดาเหล่ามโนปโทสิกะ ตามลัทธิอาจารย์ มีแบบเช่นนี้ หรือมิใช่ สมณพราหมณ์เหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า ท่านโคดม พวกข้าพเจ้าได้ทราบมาดังที่ ท่านโคดมได้กล่าวมานี้แล ดูกรภัคควะ เราย่อมทราบชัดซึ่งสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ทั้งรู้ชัดยิ่งกว่านั้น แต่เราไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วย เมื่อไม่ยึดมั่น จึงทราบ ความดับเฉพาะตน ฉะนั้น ตถาคตจึงไม่ถึงทุกข์ ฯ [๑๖] ดูกรภัคควะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่า เลิศ ถือกันว่าเกิดขึ้นลอยๆ ตามลัทธิอาจารย์ เราจึงเข้าไปถามเขาอย่างนี้ว่า ทราบว่า ท่านทั้งหลายบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ถือกันว่าเกิดขึ้นลอยๆ ตาม ลัทธิอาจารย์ จริงหรือ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ยืนยันว่า เป็นเช่นนั้น เราจึงถามต่อไปว่า พวกท่านบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ถือกันว่า เกิดขึ้นลอยๆ ตามลัทธิอาจารย์ มีแบบอย่างไร สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถาม อย่างนี้แล้ว ตอบไม่ถูก เมื่อตอบไม่ถูก จึงย้อนถามเรา เราถูกถามแล้ว จึง พยากรณ์ว่า- ดูกรท่านทั้งหลาย มีเทวดาเหล่าอสัญญีสัตว์ ก็แลเทวดาเหล่านั้นย่อมจุติ จากชั้นนั้น เพราะความเกิดขึ้นแห่งสัญญา ดูกรท่านทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมี ได้แล ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้น แล้วมาเป็นอย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผา กิเลส อาศัยความเพียรเป็นที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนืองๆ อาศัยความไม่ ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เมื่อตั้งมั่นแล้ว ย่อม ตามระลึกถึงความเกิดขึ้นแห่งสัญญานั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงกล่าว อย่างนี้ว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะว่า เมื่อ ก่อนข้าพเจ้าไม่ได้มีแล้ว [ไม่ได้มีสัญญา] เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้านั้นไม่มี เพราะน้อมไป เพื่อความเป็นผู้สงบแล้ว ก็พวกท่านบัญญัติสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ถือกันว่าเกิดขึ้น ลอยๆ ตามลัทธิอาจารย์ มีแบบเช่นนี้หรือ สมณพราหมณ์เหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า ท่านโคดม พวกข้าพเจ้าก็ได้ทราบมาดังที่ท่านโคดมได้กล่าวมานี้แล ดูกรภัคควะ เราย่อมทราบชัดซึ่งสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ ทั้งรู้ชัดยิ่งกว่านั้น และไม่ยึดมั่นความรู้ชัด นั้นด้วย เมื่อไม่ยึดมั่น จึงทราบความดับเฉพาะตน ฉะนั้น ตถาคตจึงไม่ถึงทุกข์ ฯ [๑๗] ดูกรภัคควะ สมณพราหมณ์บางจำพวกกล่าวตู่เรา ผู้กล่าวอยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ ด้วยคำที่ไม่มีจริง ด้วยคำเปล่า ด้วยคำมุสา ด้วยคำที่ไม่เป็นจริงว่า พระสมณโคดม และพวกภิกษุวิปริตไปแล้ว เพราะพระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า สมัยใด พระโยคาวจรเข้าสุภวิโมกข์อยู่ สมัยนั้น ย่อมทราบชัดซึ่งสิ่งทั้งปวงว่า ไม่งาม ดูกรภัคควะ ก็เราไม่ได้กล่าวอย่างนี้เลยว่า สมัยใด พระโยคาวจรย่อมเข้า สุภวิโมกข์อยู่ สมัยนั้น ย่อมทราบชัดซึ่งสิ่งทั้งปวงว่า ไม่งาม แต่เราย่อมกล่าว อย่างนี้ว่า สมัยใด พระโยคาวจรย่อมเข้าสุภวิโมกข์อยู่ สมัยนั้น ย่อมทราบชัด แต่สิ่งที่งามเท่านั้น และผู้ที่ชื่อว่าวิปริตไปแล้ว ก็คือผู้ที่กล่าวร้ายพระผู้มีพระภาค และพวกภิกษุ เพราะตนวิปริตไปเองว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใส ในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคทรงสามารถแสดงธรรมให้ข้าพระองค์ เข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ ฯ ดูกรภัคควะ การที่ท่านผู้มีความเห็นไปทางหนึ่ง มีความพอใจไปทางหนึ่ง มีความชอบใจไปทางหนึ่ง ไม่มีความเพียรเป็นเครื่องประกอบ ไม่มีลัทธิอาจารย์ จะเข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ เป็นของยากมาก ขอให้ท่านจงพยายามรักษาความเลื่อมใส ในเราเท่าที่ท่านมีอยู่ให้ดีก็พอ ฯ ปริพาชกชื่อภัคควโคตร จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าว่าการ ที่ข้าพระองค์ผู้มีความเห็นไปทางหนึ่ง มีความพอใจไปทางหนึ่ง มีความชอบใจ ไปทางหนึ่ง ไม่มีความเพียรเป็นเครื่องประกอบ ไม่มีลัทธิอาจารย์เข้าถึงสุภวิโมกข์ อยู่ เป็นของยากไซร้ ข้าพระองค์ก็จักพยายามรักษาความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค เท่าที่ข้าพระองค์มีอยู่ให้ดี ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธพจน์นี้แล้ว ปริพาชกชื่อภัคควโคตร ยินดี ชื่นชม เพลิดเพลินพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล ฯ
จบ ปาฏิกสูตร ที่ ๑
-----------------------------------------------------
๒. อุทุมพริกสูตร (๒๕)
---------------------------
[๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราช- *คฤห์ ก็สมัยนั้น นิโครธปริพาชก อาศัยอยู่ในปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ประมาณ ๓,๐๐๐ ครั้งนั้น สันธานคฤหบดี ออกจากพระนครราชคฤห์ในเวลาบ่ายวันหนึ่งเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค สันธาน- *คฤหบดีดำริว่า เวลานี้ยังไม่เป็นเวลาอันสมควรเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน พระผู้มีพระภาคยังกำลังทรงหลีกเร้นอยู่ แม้ภิกษุทั้งหลายผู้อบรมใจ ก็ไม่ใช่สมัย ที่จะพบ ภิกษุทั้งหลายผู้อบรมใจก็ยังหลีกเร้นอยู่ ถ้ากระไร เราควรจะเข้าไปหา นิโครธปริพาชกยังปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา จึงเข้าไป ณ ที่นั้น ฯ [๑๙] สมัยนั้น นิโครธปริพาชกนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ กำลัง สนทนาติรัจฉานกถาต่างเรื่อง ด้วยเสียงดังลั่นอึกทึก คือพูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องชนบท เรื่องนคร เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องดื่มสุรา เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ พอนิโครธปริพาชกได้เห็น สันธานคฤหบดีมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนให้สงบว่า ขอท่านทั้งหลายเบาๆ เสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอึงนัก สันธานคฤหบดีนี้ เป็นสาวกของพระสมณโคดม กำลังมา สาวกของพระสมณโคดมที่เป็นคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาวมีประมาณเท่าใด อาศัยอยู่ ในเมืองราชคฤห์ บรรดาสาวกเหล่านั้น สันธานคฤหบดีนี้เป็นสาวกคนหนึ่ง ท่าน เหล่านั้นชอบเสียงเบาและกล่าวสรรเสริญคุณของเสียงเบา บางทีสันธานคฤหบดี นี้ทราบว่า บริษัทมีเสียงเบาแล้ว พึงสำคัญที่จะเข้ามาก็ได้ เมื่อนิโครธปริพาชก กล่าวอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้นได้พากันนิ่งอยู่ ฯ [๒๐] ครั้งนั้นแล สันธานคฤหบดีเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่ ได้ ปราศรัยกับนิโครธปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวกะนิโครธปริพาชกว่า พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ผู้เจริญเหล่านี้ มาพบมาประชุมพร้อมกันแล้วมีเสียงดังลั่นอึกทึก ขวนขวายติรัจฉาน กถาต่างเรื่องอยู่โดยประการอื่นแล คือขวนขวายเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ ด้วยประการนั้นๆ ส่วนพระผู้มีพระภาคนั้น พระองค์ทรงเสพราวไพรในป่า เสนาสนะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย ปราศจากลมแต่ชนผู้เดิน เข้าออก สมควรแก่การทำกรรมอันเร้นลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกเร้นโดย ประการอื่นแล เมื่อสันธานคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กล่าวกะ สันธานคฤหบดีว่า เอาเถิด คฤหบดี ท่านพึงรู้พระสมณโคดมจะทรงเจรจากับใคร จะถึงการสนทนาด้วยใคร จะถึงความเป็นผู้ฉลาดด้วยพระปัญญา กว่าใคร พระปัญญาของพระสมณโคดมฉิบหายเสียในเรือนอันสงัด พระสมณโคดมไม่กล้า เสด็จเที่ยวไปในบริษัท ไม่สามารถเพื่อจะทรงเจรจา พระองค์ท่านทรงเสพที่อันสงัด ณ ภายในอย่างเดียว อุปมาเหมือนแม่โคบอดเที่ยววนเวียน เสพที่อันสงัด ณ ภายใน ฉะนั้น เอาเถิด คฤหบดี พระสมณโคดมพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ พวก ข้าพเจ้าพึงสนทนากะพระองค์ท่านด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เห็นจักพึงบีบรัด พระองค์ท่านเหมือนบุคคลบีบรัดหม้อเปล่า ฉะนั้น ฯ [๒๑] พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับการเจรจาของสันธานคฤหบดี กับ นิโครธปริพาชกนี้ด้วยพระทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏ แล้วเสด็จเข้าไปยังที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา ครั้นแล้ว เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ ที่ให้เหยื่อ แก่นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา พอนิโครธปริพาชกได้เห็นพระผู้มีพระภาค เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ ที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา จึงห้าม บริษัทของตนให้สงบว่า ขอท่านทั้งหลายเบาๆ เสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอึงนัก พระสมณโคดมนี้ เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ ที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝั่ง สระโบกขรณีสุมาคธา พระองค์ท่านโปรดเสียงเบา และกล่าวสรรเสริญคุณของ เสียงเบา บางทีพระองค์ท่านทรงทราบว่า บริษัทนี้มีเสียงเบาแล้ว พึงสำคัญที่จะ เสด็จเข้ามาก็ได้ ถ้าว่าพระสมณโคดมจะพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ไซร้ เราจะพึงทูลถาม ปัญหากะพระองค์ท่านว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของพระผู้มีพระภาคสำหรับทรง แนะนำพระสาวกนั้นชื่ออะไร ธรรมชื่ออะไร สำหรับรู้แจ้งชัดอาทิพรหมจรรย์ อันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพระสาวกที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำ แล้วถึงความยินดี เมื่อนิโครธปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้นได้พากันนิ่งอยู่ ฯ [๒๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหานิโครธปริพาชก ถึงที่อยู่แล้ว นิโครธปริพาชกจึงกราบทูลเชิญพระผู้มีพระภาคว่า ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเสด็จ มาเถิด พระเจ้าข้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว นานๆ พระองค์จึงจะมีโอกาสเสด็จ มาที่นี่ ขอเชิญประทับนั่ง นี้อาสนะที่จัดไว้ พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะ ที่จัดไว้ ฝ่ายนิโครธปริพาชกถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้ว ฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งถามนิโครธปริพาชกว่า ดูกรนิโครธะ บัดนี้ พวก ท่านนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ และเรื่องอะไรเล่าที่พวกท่านสนทนาค้างอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ ที่ให้ เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าว่าพระสมณโคดม จะพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ไซร้ พวกเราจะพึงถามปัญหานี้กะพระองค์ท่านว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของพระผู้มีพระภาคสำหรับทรงแนะนำพระสาวกนั้นชื่ออะไร ธรรมชื่ออะไรสำหรับรู้แจ้งชัด อาทิพรหมจรรย์อันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพระสาวก ที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำ แล้วถึงความยินดี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้แล ที่พวกข้าพระองค์สนทนาค้างอยู่ พอดีพระองค์เสด็จมาถึง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ การที่ท่านมีความเห็นไปทางหนึ่ง มีความพอใจไปทางหนึ่ง มีความ ชอบใจไปทางหนึ่ง ไม่มีความพยายาม ไม่มีลัทธิอาจารย์ ยากที่จะรู้ธรรมที่เรา แนะนำพระสาวก ยากที่จะรู้ธรรมสำหรับรู้แจ้งชัด อาทิพรหมจรรย์อันเป็นที่อาศัย อยู่แห่งพระสาวกที่เราแนะนำ แล้วถึงความยินดี เชิญเถิดนิโครธะ ท่านจงถาม ปัญหาในการหน่ายบาปอย่างยิ่ง ในลัทธิอาจารย์ของตนกะเราว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ การหน่ายบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์ มีอย่างไรหนอแล ที่ไม่บริบูรณ์ มีอย่างไร เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้นได้เป็นผู้มีเสียงดังลั่น อึกทึกขึ้นว่า อัศจรรย์นัก ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมา ท่านผู้เจริญ พระสมณโคดม มีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก พระองค์จักหยุดวาทะของพระองค์ไว้ จักปวารณาด้วยวาทะ ของผู้อื่น ฯ [๒๓] ครั้งนั้น นิโครธปริพาชกห้ามพวกปริพาชกเหล่านั้นให้เบาเสียงแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์แล กล่าวการ หน่ายบาปด้วยตบะ ติดการหน่ายบาปด้วยตบะอยู่ การหน่ายบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์ มีอย่างไรหนอแล ที่ไม่บริบูรณ์ มีอย่างไร ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้เป็นคนเปลือย ไร้มรรยาท เลียมือ เขาเชิญให้รับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่รับ ภิกษาที่เขานำมาไว้ก่อน ไม่รับภิกษาที่เขาทำเฉพาะ ไม่รับภิกษาที่เขานิมนต์ เขาไม่ รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากหม้อข้าว ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมธรณี ประตูนำมา ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมครกนำมา ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อม สากนำมา ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมท่อนไม้นำมา ไม่รับภิกษาของคน ๒ คน ที่กำลังบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงผู้กำลังให้ลูก ดื่มนม ไม่รับภิกษาที่เขานัดแนะกันทำไว้ ไม่รับภิกษาในที่ซึ่งสุนัขได้รับเลี้ยงดู ไม่รับ ในที่แมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ภิกษา ไม่ดื่มยาดอง เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๒ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง ๒ ใบบ้าง ๗ ใบบ้าง กินอาหารที่มีระหว่างเว้นวันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๗ วันบ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยความขวนขวายในการบริโภคภัตที่เวียนมา มีระหว่างเว้นตั้งกึ่ง- *เดือนเช่นนี้บ้าง เขาเป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูก เดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มียางหรือสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีกำยานเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษา บ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นเอง เยียวยาอัตภาพ เขาทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้างหนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกปอกรอง บ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์บ้าง ผ้าทำ ด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือประกอบความขวนขวายในการ ถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ยืนคือห้ามอาสนะบ้าง เป็นผู้กระโหย่ง คือประกอบ ความเพียรในการกระโหย่งบ้าง เป็นผู้นอนบนหนามคือสำเร็จการนอนบนหนามบ้าง สำเร็จการนอนบนแผ่นกระดานบ้าง สำเร็จการนอนบนเนินดินบ้าง เป็นผู้นอน ตะแคงข้างเดียวบ้าง เป็นผู้หมักหมมด้วยธุลีบ้าง เป็นผู้อยู่กลางแจ้งบ้าง เป็นผู้นั่ง บนอาสนะตามที่ลาดไว้บ้าง เป็นผู้บริโภคคูถ คือประกอบความขวนขวายในการ บริโภคคูถบ้าง เป็นผู้ห้ามน้ำเย็น คือขวนขวายในการห้ามน้ำเย็นบ้าง เป็นผู้อาบน้ำ วันละ ๓ ครั้ง คือประกอบความขวนขวายในการลงน้ำบ้าง ดูกรนิโครธะ ท่าน จะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การหน่ายบาปด้วยตบะ เป็นการ หน่ายบริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์ ฯ นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การ หน่ายบาปด้วยตบะ เป็นการหน่ายบริบูรณ์หามิได้ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ เรากล่าวอุปกิเลสมากอย่างในการ หน่ายบาปด้วยตบะ แม้ที่บริบูรณ์แล้ว อย่างนี้แล ฯ [๒๔] นิโครธปริพาชกทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาค ตรัสอุปกิเลสมากอย่างในการหน่ายบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์แล้วอย่างนี้ อย่างไรเล่า ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ย่อมถือ มั่นตบะ เขาเป็นผู้ดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ ดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น นี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ ยกตนข่มผู้อื่นด้วย ตบะนั้น นี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาย่อมเมา ย่อมลืมสติ ย่อมถึงความเมาด้วยตบะนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ เมา ลืมสติ ถึงความเมาด้วยตบะนั้น นี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาเป็นผู้ดีใจ มีความ ดำริบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ดีใจ มีความ ดำริบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่ บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่น ด้วยสักการะและความสรรเสริญนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ ยังลาภสักการะ และความสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น ยกตนข่มผู้อื่นด้วยลาภสักการะและความ สรรเสริญนั้นนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาย่อมเมา ย่อมลืมสติ ย่อมถึงความเมาด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เมา ลืมสติ ถึงความเมา ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมถือมั่นตบะ ย่อมถึงส่วน ๒ ในโภชนะทั้งหลายว่า สิ่งนี้ควรแก่เรา สิ่งนี้ไม่ควรแก่เรา ก็สิ่งใดแล ไม่ควรแก่เขา เขามุ่งละสิ่งนั้นเสีย แต่ส่วนสิ่งใดควรแก่เขา เขากำหนัด ลืมสติ ติดสิ่งนั้น ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิดสลัดออก บริโภคอยู่ แม้ข้อนี้แล ย่อม เป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมถือมั่นตบะ ด้วยคิดว่า พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชากษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี เดียรถีย์ จักสักการะเรา เพราะเหตุแห่งความใคร่ลาภสักการะและความสรรเสริญ แม้ข้อ นี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมเป็นผู้ รุกรานสมณะหรือพราหมณ์อื่นแต่ที่ไหนๆ ว่า ก็ไฉน ผู้นี้เลี้ยงชีพด้วยวัตถุหลาย อย่าง กินวัตถุทุกๆ อย่าง คือพืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ดเป็นที่ครบห้า ปลายฟันของผู้นี้คมประดุจสายฟ้า คนทั้งหลายย่อมจำกันได้ด้วยวาทะว่าเป็นสมณะ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่ บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเห็นสมณะหรือ พราหมณ์อื่น ที่เขาสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ในสกุลทั้งหลาย เขาดำริอย่างนี้ว่า คนทั้งหลายย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา สมณะหรือพราหมณ์ชื่อนี้แล ผู้เลี้ยงชีพด้วยวัตถุหลายอย่าง ในสกุลทั้งหลาย แต่ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาเราผู้มีตบะ เลี้ยงชีพด้วยวัตถุเศร้าหมอง เขาเป็นผู้ให้ความริษยาและความตระ หนี่เกิดขึ้นในสกุลทั้งหลาย ดังนี้ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ เป็นผู้นั่งในที่ เป็นทางที่คนแลเห็น แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมเที่ยวแสดง ตนไปในสกุลทั้งหลายว่า กรรมแม้นี้อยู่ในตบะของเรา กรรมแม้นี้อยู่ในตบะของเรา แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมเสพโทษอัน ปกปิดบางอย่าง เขาถูกผู้อื่นถามว่า โทษนี้ควรแก่ท่านหรือ กล่าวโทษที่ไม่ควรว่าควร กล่าวโทษที่ควรว่าไม่ควร เขาเป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ ดังนี้ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็น อุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ เมื่อพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคตแสดงธรรมอยู่ ย่อมไม่ผ่อนตามปริยายซึ่งควรจะผ่อนตาม อันมีอยู่ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเป็นผู้มักโกรธ มักผูกโกรธ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเป็นผู้มีความ ลบหลู่ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ โอ้อวด มีมารยา กระด้าง ถือตัวจัด เป็นผู้มี ความปรารถนาลามก ไปสู่อำนาจแห่งความปรารถนาอันลามก เป็นมิจฉาทิฐิ ประกอบด้วยทิฐิอันดิ่งถึงที่สุด เป็นผู้ลูบคลำทิฐิเอง เป็นผู้ถือมั่น สละคืนได้ยาก แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ ดูกรนิโครธะ ท่านจะพึงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การหน่ายบาปด้วย ตบะเหล่านี้ เป็นอุปกิเลสหรือไม่เป็นอุปกิเลส ฯ นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การหน่ายบาปด้วยตบะ เหล่านี้ เป็นอุปกิเลสแน่แท้ ไม่เป็นอุปกิเลสหามิได้ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ พึงเป็น ผู้ประกอบด้วยอุปกิเลสเหล่านี้มีครบทุกอย่าง ข้อนี้แล เป็นฐานะที่จะมีได้ จะป่วย กล่าวไปไยถึงอุปกิเลสเพียงบางข้อๆ ฯ [๒๕] ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ ย่อมถือมั่นตบะ เขาเป็นผู้ ไม่ดีใจ ไม่มีความดำริบริบูรณ์ ด้วยตบะนั้น ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ ไม่ดีใจ ไม่มีความดำริบริบูรณ์ ด้วยตบะนั้น อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมถือมั่นตบะ เขาย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยตบะนั้น ... อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ในฐานะนั้น ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมถือมั่นตบะ เขาย่อมไม่เมา ไม่ลืมสติ ย่อมไม่ถึงความเมา ด้วยตบะนั้น ... อย่างนี้ เขาย่อม เป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญ เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาเป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่มีความดำริบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ... อย่างนี้ เขาย่อม เป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญ เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ... อย่างนี้ เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ในฐานะนั้น ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมถือมั่นตบะ ย่อมไม่ถึงส่วน ๒ ในโภชนะทั้งหลายว่า สิ่งนี้ควรแก่เรา สิ่งนี้ไม่ควรแก่เรา ก็สิ่งใดแลไม่ควรแก่เขา เขาไม่มุ่งละสิ่งนั้นเสีย ส่วนสิ่งใดควรแก่เขา เขาไม่ กำหนัด ไม่ลืมสติ ไม่ติดสิ่งนั้น แลเห็นโทษ มีปัญญาคิดสลัดออก บริโภค อยู่ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมถือมั่นตบะ แต่เขาไม่คิดว่า พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี เดียรถีย์ จักสักการะเรา เพราะเหตุแห่งความใคร่ลาภสักการะและความสรรเสริญ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ไม่เป็นผู้ รุกรานสมณะหรือพราหมณ์อื่นว่า ก็ไฉน ผู้นี้เลี้ยงชีพด้วยวัตถุหลายอย่าง กินวัตถุ ทุกๆ อย่าง คือ พืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ดเป็นที่ครบห้า ปลายฟันของผู้นี้คมประดุจสายฟ้า คนทั้งหลายย่อม จำกันได้ด้วยวาทะเป็นสมณะ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ เห็นสมณะ หรือพราหมณ์อื่นที่เขาสักการะเคารพนับถือบูชาอยู่ในสกุลทั้งหลาย เขาไม่ดำริ อย่างนี้ว่า คนทั้งหลายย่อมสักการะ เคารพนับถือ บูชาสมณะหรือพราหมณ์ชื่อนี้แล ผู้เลี้ยงชีพด้วยวัตถุหลายอย่างในสกุลทั้งหลาย แต่ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาเราผู้มีตบะ เลี้ยงชีพด้วยวัตถุเศร้าหมอง เขาไม่ให้ความริษยาและความตระ หนี่เกิดขึ้นในสกุลทั้งหลาย ดังนี้ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ เป็นผู้ไม่นั่ง ในที่เป็นทางที่คนแลเห็น อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมไม่เที่ยว แสดงตนไปในสกุลทั้งหลายว่า กรรมแม้นี้อยู่ในตบะ ของเรา กรรมแม้นี้อยู่ในตบะ ของเรา อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมไม่เสพ โทษอันปกปิดบางอย่าง เขาถูกผู้อื่นถามว่า โทษนี้ควรแก่ท่านหรือ กล่าวโทษที่ ไม่ควรว่าไม่ควร กล่าวโทษที่ควรว่าควร เขาเป็นผู้ไม่กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ ดังนี้ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ เมื่อพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคตแสดงธรรมอยู่ ย่อมผ่อนตามปริยายซึ่งควรผ่อนตามอันมี อยู่อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่มักผูกโกรธ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ไม่เป็นผู้มีความ ลบหลู่ ไม่ตีเสมอ ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่กระด้าง ไม่ถือตัวจัด ไม่เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ไม่ไปสู่อำนาจแห่งความปรารถนา อันลามก ไม่เป็นมิจฉาทิฐิ ไม่ประกอบด้วยทิฐิอันดิ่งถึงที่สุด ไม่เป็นผู้ลูบคลำทิฐิเอง ไม่เป็นผู้ถือมั่น สละคืนได้ง่าย อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ ดูกรนิโครธะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การ หน่ายบาปด้วยตบะ จะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ฯ นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การ หน่ายบาปด้วยตบะเหล่านี้บริสุทธิ์แน่แท้ ไม่บริสุทธิ์หามิได้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดและ ถึงแก่น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ การหน่ายบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุ เพียงเท่านี้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดถึงแก่น หามิได้ ที่แท้ เป็นกิริยาที่ถึงสะเก็ดเท่านั้น ฯ [๒๖] นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การหน่าย บาปด้วยตบะ เป็นกิริยาที่ถึงยอดและถึงแก่น ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ขอประทาน พระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้ข้าพระองค์ถึงยอดถึงแก่นแห่งการหน่ายบาป ด้วยตบะเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ เป็นผู้ สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ ๑. ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ เมื่อผู้อื่นฆ่าสัตว์ ไม่เป็นผู้ดีใจ ฯ ๒. ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่ เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เมื่อผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่เป็น ผู้ดีใจ ฯ ๓. ไม่พูดเท็จ ไม่ใช้ผู้อื่นให้พูดเท็จ เมื่อผู้อื่นพูดเท็จ ไม่เป็นผู้ดีใจ ฯ ๔. ไม่เสพกามคุณ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเสพกามคุณ เมื่อผู้อื่นเสพกามคุณ ไม่เป็นผู้ดีใจ ฯ ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะเป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการอย่างนี้ ดูกรนิโครธะ เพราะว่าบุคคลผู้มีตบะเป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ ข้อที่ จะกล่าวต่อไปนี้ จึงเป็นลักษณะของเขา เพราะเป็นผู้มีตบะ เขารักษายิ่งซึ่งศีล ไม่เวียนมาเพื่อเพศอันเลว เขาเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำในภูเขา ป่าช้า ป่าชัด ที่แจ้ง ลอมฟาง ในปัจฉาภัต เขากลับ จากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้จำเพาะหน้า เขาละความ เพ่งเล็งในโลกเสียแล้ว มีใจปราศจากความเพ่งเล็ง ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก ความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้าย คือ พยาบาท ไม่พยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือ พยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ ที่แสงสว่าง มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้ บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉา เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความสงสัย ในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้ เขาละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ อันเป็นอุปกิเลสแห่งใจที่ทำให้ปัญญาถอยกำลัง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้ง เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่ มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ เขามีใจประกอบด้วยกรุณา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง อยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถานด้วยใจอันประกอบ ด้วยกรุณา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความ เบียดเบียนอยู่ เขามีใจประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยมุทิตา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน อยู่ เขามีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอด โลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถานด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ฯ ดูกรนิโครธะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การ หน่ายบาปด้วยตบะ จะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ฯ นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การ หน่ายบาปด้วยความเพียร บริสุทธิ์แน่แท้ ไม่บริสุทธิ์หามิได้ เป็นกิริยาที่ถึงยอด และถึงแก่น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ การหน่ายบาปด้วยตบะ ด้วย เหตุเพียงเท่านี้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดหรือถึงแก่นหามิได้ ที่แท้ เป็นกิริยาที่ถึงเปลือก เท่านั้น ฯ [๒๗] นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การหน่าย บาปด้วยตบะ เป็นกิริยาที่ถึงยอดและถึงแก่น ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ขอประทาน พระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้ข้าพระองค์ถึงยอดถึงแก่นแห่งการหน่ายบาป ด้วยตบะเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ เป็นผู้ สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน ฯลฯ ดูกรนิโครธะ เพราะ ว่า บุคคลผู้มีตบะ เป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ ข้อที่จะกล่าวต่อไปนี้ จึงเป็นลักษณะของเขา เพราะเป็นผู้มีตบะ เขารักษายิ่งซึ่งศีล ไม่เวียนมาเพื่อเพศ อันเลว เขาเสพเสนาสนะอันสงัด ฯลฯ เขาละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ อันเป็นอุปกิเลส แห่งใจ ที่ทำให้ปัญญาถอยกำลัง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง อยู่ ฯลฯ เขาย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง ฯลฯ สิบชาติบ้าง ยี่สิบ ชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติ บ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอัน มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้นมีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพ นั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่าง นั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้น แล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เขาย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ฯ ดูกรนิโครธะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การ หน่ายบาปด้วยตบะ จะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ฯ นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การ หน่ายบาปด้วยตบะ บริสุทธิ์แน่แท้ ไม่บริสุทธิ์หามิได้เป็นกิริยาที่ถึงยอดและถึง แก่น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะการหน่ายบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียง เท่านี้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดหรือถึงแก่นหามิได้ ที่แท้ เป็นกิริยาที่ถึงกระพี้เท่านั้น ฯ [๒๘] นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การหน่าย บาปด้วยตบะ เป็นกิริยาที่ถึงยอดและถึงแก่น ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ขอประทาน พระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้ข้าพระองค์ถึงยอดถึงแก่นแห่งการหน่ายบาป ด้วยตบะเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ เป็นผู้ สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ ฯลฯ เขาย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เขาระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ เขาเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วย ทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกาย แตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือ การกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เขาย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ดูกรนิโครธะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การหน่ายบาปด้วยตบะ จะ บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ฯ นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การ หน่ายบาปด้วยตบะ บริสุทธิ์แน่แท้ ไม่บริสุทธิ์ หามิได้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดและ ถึงแก่น ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ การหน่ายบาปด้วยตบะ เป็นกิริยา ที่ถึงยอดและถึงแก่น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ดูกรนิโครธะ ท่านได้กล่าวกะเราอย่าง นี้ว่า ธรรมของพระผู้มีพระภาค สำหรับทรงแนะนำสาวกนั้นชื่ออะไร ธรรมชื่อ อะไรสำหรับรู้แจ้งชัดอาทิพรหมจรรย์ อันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพระสาวกที่พระผู้มีพระ ภาคทรงแนะนำแล้ว ถึงความยินดี ดูกรนิโครธะ ฐานะที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ดังนี้ แล เป็นธรรมสำหรับเราแนะนำสาวก เป็นธรรมสำหรับรู้แจ้งชัดอาทิพรหมจรรย์ อันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพระสาวกที่เราแนะนำแล้ว ถึงความยินดี เมื่อพระผู้มีพระ ภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้น ได้เป็นผู้มีเสียงดังลั่นอึกทึกว่า พวก เรากับอาจารย์ยังไม่เห็นในคัมภีร์มีคัมภีร์อเจลกเป็นต้นนี้ พวกเรากับอาจารย์ยังไม่ เห็นในบาลีมีบาลีอเจลกเป็นต้นนี้ พวกเรายังไม่รู้ชัด การบรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งไป กว่านี้ ฯ [๒๙] ในกาลที่สันธานคฤหบดีได้ทราบว่า บัดนี้ พวกปริพาชกอัญญ- *เดียรถีย์เหล่านี้ตั้งใจฟัง เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ถึงภาษิตของพระผู้มีพระภาคโดย แท้แล จึงได้กล่าวกะนิโครธปริพาชกว่า ดูกรท่านนิโครธะ ท่านได้กล่าวกะเรา อย่างนี้แลว่า เอาเถิด คฤหบดี ท่านพึงรู้ พระสมณโคดมจะทรงเจรจากับใคร จะถึงการสนทนาด้วยใคร จะถึงความเป็นผู้ฉลาดด้วยพระปัญญากว่าใคร พระ ปัญญาของพระสมณโคดมฉิบหายเสียในเรือนอันสงัด พระสมณโคดมไม่กล้าเสด็จ เที่ยวไปในบริษัท ไม่สามารถเพื่อจะทรงเจรจา พระองค์ท่านทรงเสพที่อันสงัด ณ ภายในอย่างเดียว อุปมาเหมือนแม่โคบอดเที่ยววนเวียน เสพที่อันสงัด ณ ภาย ใน ฉะนั้น เอาเถิด คฤหบดี พระสมณโคดมพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ พวกข้าพเจ้า พึงสนทนากะพระองค์ท่าน ด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เห็นจะพึงบีบรัดพระองค์ ท่าน เหมือนบุคคลบีบรัดหม้อเปล่า ฉะนั้น ดูกรท่านนิโครธะ บัดนี้ พระผู้มี พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเสด็จถึงแล้ว ณ ที่นี้ ก็พวกท่านจง ทำพระองค์ท่านไม่ให้กล้าเสด็จเที่ยวไปในบริษัท จงทำให้เป็นเหมือนแม่โคบอด เที่ยววนเวียน จงสนทนากะพระองค์ท่านด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เห็นจะบีบรัด พระองค์ท่าน เหมือนบุคคลบีบรัดหม้อเปล่า ฉะนั้น เมื่อสันธานคฤหบดีกล่าว อย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกเป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่มี ปฏิภาณ ฯ [๓๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบซึ่งนิโครธปริพาชกเป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่มีปฏิภาณ จึงตรัสกะนิโครธปริพาชกว่า ดูกรนิโครธะ วาจานี้ท่านกล่าวจริงหรือ นิโครธปริพาชกทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ เจริญ วาจานี้ ข้าพระองค์กล่าวจริง ด้วยความเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเคย ได้ยินปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวว่ากระไร พระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้มีแล้วในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคทั้งหลายเหล่านั้น ประชุมพร้อมกันแล้ว มีเสียงดังลั่นอึกทึก ขวนขวายติรัจฉานกถาต่างเรื่องอยู่ คือ ขวนขวายเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญ และความเสื่อม ด้วย ประการนั้นๆ เหมือนท่านกับอาจารย์ในบัดนี้ อย่างนี้หรือ หรือว่า พระผู้มีพระ ภาคทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมทรงเสพราวไพรในป่า เสนาสนะอันสงัด ซึ่งมีเสียง น้อย มีเสียงกึกก้องน้อย ปราศจากลมแต่ชนผู้เดินเข้าออก สมควรแก่การทำกรรม อันเร้นลับแห่งมนุษย์ สมควรแก่การหลีกเร้น เหมือนเราในบัดนี้ นิโครธปริพาชก กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เคยได้ยินปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ เป็น อาจารย์และปาจารย์กล่าวว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายได้มีแล้วใน อดีตกาล พระผู้มีพระภาคทั้งหลายนั้น ประชุมพร้อมกันแล้ว มีเสียงดังลั่นอึกทึก ขวนขวายติรัจฉานกถาต่างเรื่องอยู่อย่างนี้ คือ ขวนขวายเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ เหมือนข้าพระองค์กับ อาจารย์ในบัดนี้ อย่างนี้ หามิได้ พระผู้มีพระภาคทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมทรงเสพ ราวไพรในป่า เสนาสนะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย ปราศจาก ลมแต่ชนผู้เดินเข้าออก สมควรแก่การทำกรรมอันเร้นลับแห่งมนุษย์ สมควรแก่ การหลีกเร้น เหมือนพระผู้มีพระภาคในบัดนี้ อย่างนี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ ท่านแลเป็นผู้รู้ เป็นผู้แก่ ไม่ได้ดำริว่า พระผู้มีพระภาคนั้น เป็น พระพุทธะ ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความตรัสรู้ พระผู้มีพระภาคนั้น เป็นผู้ฝึกแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความฝึก พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นผู้สงบระงับแล้ว ย่อมทรง แสดงธรรมเพื่อความสงบระงับ พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นผู้ข้ามได้แล้ว ย่อมทรง แสดงธรรมเพื่อความข้าม พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นผู้ดับแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรม เพื่อความดับ ฯ [๓๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำ ข้าพระองค์ซึ่งเป็น คนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด จึงได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงรับทราบความผิดของข้าพระองค์นั้น โดยเป็นความผิด เพื่อสำรวมต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จริง จริง นิโครธะ ความผิดได้ครอบงำท่าน ซึ่งเป็น คนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด จึงได้กล่าวกะเราอย่างนี้ เราขอรับทราบความผิดของ ท่าน เพราะท่านได้เห็นความผิดโดยเป็นความผิดแล้วสารภาพตามเป็นจริง ก็การ ที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริง แล้วสารภาพตามเป็นจริง รับสังวรต่อ ไปนี้ เป็นความเจริญในพระวินัยของพระอริยเจ้าแล ดูกรนิโครธะ ก็เรากล่าว อย่างนี้ว่า บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีชาติตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติอยู่ตามคำสั่งสอน จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอด เยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ อัน อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ตลอด เจ็ดปี ดูกรนิโครธะ เจ็ดปีจงยกไว้ บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีชาติตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติอยู่ตามคำสั่งสอน จักทำ ให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตโดยชอบต้องการ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ตลอดหกปี ... ห้าปี ... สี่ปี ... สามปี ... สองปี ... ปีหนึ่ง ดูกรนิโครธะ ปีหนึ่ง จงยกไว้ บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีชาติตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติอยู่อย่างนั้นตามคำสั่งสอน จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตโดยชอบต้องการ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ตลอดเจ็ดเดือน ดูกรนิโครธะ เจ็ดเดือนจงยกไว้ บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีชาติตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติอยู่อย่างนั้นตามคำสั่งสอน จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม ที่ กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ อันเป็นที่สุด แห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ตลอดหกเดือน ... ห้าเดือน ... สี่เดือน ... สามเดือน ... สองเดือน ... เดือนหนึ่ง ... กึ่งเดือน ดูกรนิโครธะ กึ่งเดือนจงยกไว้ บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีชาติตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติอยู่ตามคำสั่งสอน จักทำให้แจ้งประโยชน์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญา อันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ตลอดเจ็ดวัน ดูกรนิโครธะ แต่บางที ท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ เพราะใคร่ได้อันเตวาสิก ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนี้ ผู้ใดเป็นอาจารย์ของท่านได้อย่างนี้ ผู้นั้นแหละจงเป็น อาจารย์ของท่าน ดูกรนิโครธะ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม ปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจากอุเทศ [เสื่อมจากการเล่าเรียน] จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้น ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อุเทศใดของท่านได้อย่างนี้ อุเทศนั้นแหละ จงเป็นอุเทศของท่าน ดูกรนิโครธะ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม ปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจากอาชีวะ จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ก็อาชีวะของท่านนั้นแหละ จงเป็นอาชีวะของท่าน ดูกรนิโครธะ แต่บางทีท่าน จะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์ตั้งอยู่ในอกุศลธรรม ซึ่งเป็นส่วนอกุศล จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้น ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อกุศลธรรม เหล่านั้นแหละ จงเป็นส่วนอกุศลของท่านกับอาจารย์ ดูกรนิโครธะ แต่บางที ท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์ห่างจากกุศล ธรรม ซึ่งเป็นส่วนกุศล จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น กุศลธรรม เหล่านั้นแหละ จงเป็นส่วนกุศลของท่านกับอาจารย์ ดูกรนิโครธะ ด้วยประการ ดังนี้แล เรากล่าวอย่างนี้ เพราะใคร่ได้อันเตวาสิก หามิได้ เราปรารถนาจะให้ ท่านเคลื่อนจากอุเทศ จึงกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ ปรารถนาจะให้เคลื่อนจากอาชีวะ จึงกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ ปรารถนาจะให้ท่านกับอาจารย์ตั้งอยู่ในอกุศลธรรม ซึ่ง เป็นส่วนอกุศล จึงกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ ปรารถนาจะให้ท่านกับอาจารย์ห่างจาก กุศลธรรม ซึ่งเป็นส่วนกุศล จึงกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ ดูกรนิโครธะ ก็อกุศลธรรม อันเป็นเครื่องเศร้าหมอง มีปรกติทำภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นผล เป็นปัจจัยแห่งชาติชรามรณะต่อไป ซึ่งท่านยังละไม่ได้ มีอยู่ ที่เราจะแสดงธรรม เพื่อละเสีย ธรรมเป็นเครื่องเศร้าหมอง อันท่านปฏิบัติแล้วอย่างไร จักละได้ ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความผ่องแผ้ว จักเจริญยิ่ง ท่านจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ แห่งมรรคปัญญาและความไพบูลย์แห่งผลปัญญา ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้น เป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่มีปฏิภาณ เหมือนถูกมารดลใจ ฉะนั้น ฯ [๓๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า พวกโมฆบุรุษเหล่านี้ แม้ทั้งหมด ถูกมารดลใจแล้ว ในพวกเขาแม้สักคนหนึ่ง ไม่มีใครคิดอย่างนี้ว่า เอาเถิด พวกเราจะพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม เพื่อความรู้ทั่วถึงบ้าง เจ็ดวันจักทำอะไร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันลือสีหนาท ในปริพาชการาม ของพระนางอุทุมพริกาแล้ว เหาะขึ้นสู่เวหาส ปรากฏอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ สันธาน คฤหบดีเข้าไปสู่พระนครราชคฤห์ในขณะนั้นเอง ดังนี้แล ฯ
จบ อุทุมพริกสูตร ที่ ๒
-----------------------------------------------------
๓. จักกวัตติสูตร (๒๖)
--------------------------
[๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองมาตุลาในแคว้นมคธ ณ ที่ นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯ ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามี สิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง เป็นไฉน ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก เสียได้ ฯ ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก เสียได้ ฯ ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรม ทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในโคจรซึ่งเป็นวิสัยอันสืบมาจากบิดาของตน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในโคจร ซึ่งเป็นวิสัยอันสืบมาจากบิดา ของตน มารจักไม่ได้โอกาส มารจักไม่ได้อารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญนี้ เจริญขึ้นอย่างนี้ เพราะเหตุถือมั่นธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศล ฯ [๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพระราชาจักรพรรดิ พระนามว่า ทัลหเนมิ ผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชำนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗ พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วน กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ ทรงชำนะโดยธรรม มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศัสตราครอบครองแผ่นดิน มีสาคร เป็นขอบเขต ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น โดยล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลาย พันปี ท้าวเธอตรัสเรียกบุรุษคนหนึ่งมารับสั่งว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านเห็นจักรแก้ว อันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ในกาลใด พึงบอกแก่เราในกาลนั้นทีเดียว ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย บุรุษนั้นทูลสนองพระราชดำรัสของท้าวเธอแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยล่วงไปอีกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี บุรุษนั้นได้เห็นจักรแก้วอันเป็น ทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ จึงเข้าไปเฝ้าท้าวเธอถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์พึงทรงทราบ จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระองค์ถอย- *เคลื่อนจากที่แล้ว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอตรัสเรียกพระกุมารองค์ใหญ่มา รับสั่งว่า ดูกรพ่อกุมาร ได้ยินว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อถอยเคลื่อนจากที่แล้ว ก็พ่อได้สดับมาดังนี้ว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิองค์ใด ถอย เคลื่อนจากที่ พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น พึงทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นานในบัดนี้ ก็กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์ พ่อได้บริโภคแล้ว บัดนี้เป็นสมัยที่จะแสวงหากาม ทั้งหลายอันเป็นทิพย์ของพ่อ มาเถิดพ่อกุมาร พ่อจงปกครองแผ่นดิน อันมีสมุทร เป็นขอบเขตนี้ ฝ่ายพ่อจักปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิต ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงสั่งสอนพระกุมารองค์ใหญ่ ในราชสมบัติเรียบร้อยแล้ว ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้าย้อม- *น้ำฝาด เสด็จออกจากเรือน ทรงผนวชเป็นบรรพชิตแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพระราชฤาษี ทรงผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ฯ [๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น ราชบุรุษคนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระราชา ผู้เป็นกษัตริย์ ซึ่งได้มูรธาภิเษกแล้ว ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระพุทธเจ้าข้า พระองค์พึงทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น เมื่อจักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ท้าวเธอได้ทรงเสียพระทัยและทรงเสวยแต่ความเสียพระทัย ท้าวเธอเสด็จเข้าไป หาพระราชฤาษีถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระพุทธเจ้าข้า พระองค์พึงทรงทราบว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเธอกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระราชฤาษีจึงตรัสกะท้าวเธอว่า ดูกรพ่อ พ่อ อย่าเสียใจ และอย่าเสวยแต่ความเสียใจไปเลย ในเมื่อจักรแก้วอันเป็นทิพย์ อันตรธานไปแล้ว ดูกรพ่อ ด้วยว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์หาใช่สมบัติสืบมาจาก บิดาของพ่อไม่ ดูกรพ่อ เชิญพ่อประพฤติในจักกวัตติวัตรอันประเสริฐเถิด ข้อนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้แล เมื่อพ่อประพฤติในจักกวัตติวัตรอันประเสริฐ จักรแก้ว อันเป็นทิพย์ซึ่งมีกำพันหนึ่ง มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง จักปรากฏมี แก่พ่อผู้สระพระเศียร แล้วรักษาอุโบสถอยู่ ณ ปราสาทอันประเสริฐชั้นบน ใน วันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ฯ ร. พระพุทธเจ้าข้า ก็จักกวัตติวัตรอันประเสริฐนั้น เป็นไฉน ฯ ราช. ดูกรพ่อ ถ้าเช่นนั้น พ่อจงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม ทำความเคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่ จงจัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันเป็นธรรม ในชนภายใน ในหมู่พล ในพวกกษัตริย์ผู้เป็นอนุยนต์ ในพวกพราหมณ์และ คฤหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบททั้งหลาย ในพวกสมณพราหมณ์ ในเหล่าเนื้อ และนก ดูกรพ่อ การอธรรมอย่าให้มีได้ในแว่นแคว้นของพ่อเลย ดูกรพ่อ อนึ่ง บุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นของพ่อ ไม่มีทรัพย์ พ่อพึงให้ทรัพย์แก่บุคคลเหล่านั้น ด้วย ดูกรพ่อ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใด ในแว่นแคว้นของพ่อ งดเว้นจาก ความเมาและความประมาท ตั้งมั่นอยู่ในขันติและโสรัจจะ ฝึกตนแต่ผู้เดียว สงบ ตนแต่ผู้เดียว ให้ตนดับกิเลสอยู่แต่ผู้เดียว พึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น โดยกาลอันควร แล้วไต่ถามสอบถามว่า ท่านขอรับ กุศลคืออะไร ท่านขอรับ อกุศลคืออะไร กรรมมีโทษคืออะไร กรรมไม่มีโทษคืออะไร กรรมอะไรควรเสพ กรรมอะไรไม่ควรเสพ กรรมอะไรอันข้าพเจ้ากระทำอยู่ พึงมีเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน หรือว่ากรรมอะไรที่ข้าพเจ้ากระทำอยู่ พึงมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน พ่อได้ฟังคำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว สิ่งใด เป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้นเสีย สิ่งใดเป็นกุศลพึงถือมั่นสิ่งนั้นประพฤติ ดูกรพ่อ นี้แล คือจักกวัตติวัตรอันประเสริฐนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวเธอรับสนองพระดำรัสพระราชฤาษีแล้ว ทรง ประพฤติในจักกวัตติวัตรอันประเสริฐ เมื่อท้าวเธอทรงประพฤติจักกวัตติวัตรอัน ประเสริฐอยู่ จักรแก้วอันเป็นทิพย์ซึ่งมีกำพันหนึ่ง มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วย อาการทุกอย่าง ปรากฏมีแก่ท้าวเธอผู้สระพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถอยู่ ณ ปราสาทอันประเสริฐชั้นบน ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นแล้ว มีพระดำริว่า ก็เราได้สดับมาว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ มีกำพันหนึ่ง มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ปรากฏมีแก่พระราชาผู้เป็นกษัตริย์พระองค์ใด ผู้ได้ มูรธาภิเษก สระพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถอยู่ ณ ปราสาทอันประเสริฐชั้นบน ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ พระราชาพระองค์นั้น เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เราได้เป็น พระเจ้าจักรพรรดิหรือหนอ ฯ [๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอเสด็จลุกจากพระที่แล้ว ทรงทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง จับพระเต้าด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรง ประคองจักรแก้วด้วยพระหัตถ์ขวา แล้วตรัสว่า ขอจักรแก้วอันประเสริฐ จงเป็น ไปเถิด ขอจักรแก้วอันประเสริฐ จงชนะโลกทั้งปวงเถิด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขณะนั้น จักรแก้วนั้นก็เป็นไปทางทิศบูรพา พระเจ้า จักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ก็เสด็จติดตามไป ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่ ณ ทิศบูรพาพากันเสด็จ เข้าไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเชิญเสด็จมาเถิด มหาราช- *เจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว ราชอาณาจักรเหล่านี้ เป็นของพระองค์ทั้งสิ้น ขอ พระองค์พระราชทานพระบรมราโชวาทเถิด มหาราชเจ้า ท้าวเธอจึงตรัสอย่างนี้ว่า พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ไม่พึงกล่าวคำเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา จงบริโภคตามเดิมเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่ ณ ทิศบูรพาได้พากันตาม เสด็จท้าวเธอไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น จักรแก้วนั้น ก็ลงไปสู่สมุทร ด้านบูรพา แล้วโผล่ขึ้นไปลงที่สมุทรด้านทักษิณ แล้วโผล่ขึ้นไปสู่ทิศปัจฉิม ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาก็เสด็จติดตามไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักรแก้ว ประดิษฐานอยู่ ณ ประเทศใด ท้าวเธอก็เสด็จเข้าไปพักอยู่ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่ ณ ทิศปัจฉิมก็พากันเสด็จ เข้าไปเฝ้าท้าวเธอ ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเชิญเสด็จมาเถิด มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มหาราชเจ้า อาณาจักรเหล่านี้เป็นของพระองค์ทั้งสิ้น มหาราชเจ้า ขอพระองค์พระราชทานพระบรมราโชวาทเถิด ท้าวเธอจึงตรัสอย่างนี้ว่า พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ไม่พึงกล่าวคำเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา จงบริโภคตามเดิมเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่ ณ ทิศอุดร ได้พากันตาม เสด็จท้าวเธอไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น จักรแก้วนั้นได้ชนะวิเศษยิ่งซึ่ง แผ่นดินมีสมุทรเป็นขอบเขตได้แล้ว จึงกลับคืนสู่ราชธานีนั้น ได้หยุดอยู่ที่ประตู พระราชวังของท้าวเธอ ปรากฏเหมือนเครื่องประดับ ณ มุขสำหรับทำเรื่องราว สว่างไสวอยู่ทั่วภายในพระราชวังของท้าวเธอ ฯ [๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ ก็ดี องค์ที่ ๓ ก็ดี องค์ที่ ๔ ก็ดี องค์ที่ ๕ ก็ดี องค์ที่ ๖ ก็ดี องค์ที่ ๗ ก็ดี โดยกาลล่วงไป หลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี ได้ตรัสเรียกบุรุษคนหนึ่งมารับสั่งว่า ดูกรบุรุษ ผู้เจริญ ท่านเห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ ถอยเคลื่อนจากที่ในกาลใด พ่อพึงบอก แก่เราในกาลนั้นทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นทูลสนองพระราชดำรัสของ ท้าวเธอแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยล่วงไปอีกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี บุรุษนั้นได้แลเห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ จึงเข้าไปเฝ้าท้าวเธอถึงที่ ประทับ แล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์พึงทรงทราบ จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระองค์ถอยเคลื่อนจากที่แล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับ นั้น ท้าวเธอตรัสเรียกพระกุมารองค์ใหญ่มารับสั่งว่า ดูกรพ่อกุมาร ได้ยินว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อถอยเคลื่อนจากที่แล้ว ก็พ่อได้สดับมาดังนี้ว่า จักร- *แก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใด ถอยเคลื่อนออกจากที่ พระ- *เจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้นพึงทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน ในบัดนี้ ก็กามทั้งหลาย อันเป็นของมนุษย์ พ่อได้บริโภคแล้ว บัดนี้เป็นสมัยที่จะแสวงหากามทั้งหลาย อันเป็นทิพย์ของพ่อ มาเถิดพ่อกุมาร พ่อจงปกครองแผ่นดินอันมีสมุทรเป็น ขอบเขตนี้ ฝ่ายพ่อจะปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงสั่งสอนพระกุมารองค์ ใหญ่ในราชสมบัติเรียบร้อยแล้ว ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้า ย้อมน้ำฝาด เสด็จออกจากเรือนทรงผนวชเป็นบรรพชิตแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพระราชฤาษี ทรงพระผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธาน ไปแล้ว ฯ [๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระราชา ผู้กษัตริย์ ซึ่งได้มูรธาภิเษกแล้วถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระพุทธเจ้าข้า พระองค์พึงทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอเมื่อจักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ได้ทรงเสียพระทัย และได้ทรงเสวยแต่ความเสียพระทัย แต่ไม่ได้เสด็จเข้าไป เฝ้าพระราชฤาษี ทูลถามจึงจักกวัตติวัตรอันประเสริฐ นัยว่าท้าวเธอทรงปกครอง ประชาราษฎร์ ตามพระมติของพระองค์เอง เมื่อท้าวเธอทรงปกครองประชาราษฎร์ ตามพระมติของพระองค์อยู่ ประชาราษฎร์ก็ไม่เจริญต่อไป เหมือนเก่าก่อน เหมือน เมื่อกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ซึ่งได้ทรงประพฤติในจักกวัตติวัตรอันประเสริฐอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น คณะอำมาตย์ข้าราชบริพารโหราจารย์และมหาอำมาตย์ นายกองช้าง นายกองม้า เป็นต้น จนคนรักษาประตู และคนเลี้ยงชีพด้วยปัญญา ได้ประชุมกันกราบทูลท้าวเธอว่า พระพุทธเจ้าข้า ได้ยินว่าเมื่อพระองค์ทรงปกครอง ประชาราษฎร์ตามพระมติของพระองค์เอง ประชาราษฎร์ไม่เจริญเหมือนเก่าก่อน เหมือนเมื่อกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ซึ่งได้ทรงประพฤติในจักกวัตติวัตรอันประเสริฐ อยู่ พระพุทธเจ้าข้า ในแว่นแคว้นของพระองค์มีอำมาตย์ข้าราชบริพาร โหราจารย์ และมหาอำมาตย์ นายกองช้าง นายกองม้า เป็นต้น จนคนรักษาประตู และคน เลี้ยงชีพด้วยปัญญา อยู่พร้อมทีเดียว ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือข้าพระพุทธเจ้า ทั้งหลายด้วยและประชาราษฎร์ เหล่าอื่นด้วย ทรงจำจักกวัตติวัตรอันประเสริฐได้อยู่ ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสถามถึงจักกวัตติวัตรอันประเสริฐเถิด พวกข้าพระพุทธ- *เจ้าอันพระองค์ตรัสถามแล้ว จักกราบทูลแก้จักกวัตติวัตรอันประเสริฐถวายพระองค์ฯ [๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอโปรดให้ประชุมอำมาตย์ราช- *บริพารโหราจารย์และมหาอำมาตย์ นายกองช้าง นายกองม้าเป็นต้น จนคนรักษา ประตู และคนเลี้ยงชีพด้วยปัญญา แล้วตรัสถามจักกวัตติวัตรอันประเสริฐ เขา เหล่านั้นอันท้าวเธอตรัสถามจักกวัตติวัตรอันประเสริฐแล้ว จึงกราบทูลแก้ถวาย ท้าวเธอ ท้าวเธอได้ฟังคำทูลแก้ของพวกเขาแล้ว จึงทรงจัดการรักษาป้องกัน และคุ้มครอง อันชอบธรรม แต่ไม่ได้พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ เมื่อไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนจึงได้ถึงความแพร่ หลาย เมื่อความขัดสนถึงความแพร่หลาย บุรุษคนหนึ่งจึงขโมยทรัพย์ของคนอื่น ไป เขาช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว แสดงแก่ท้าวเธอพร้อมด้วยกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า บุรุษคนนี้ขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อ เขาพากันกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสคำนี้กะบุรุษผู้นั้นว่า พ่อบุรุษ ได้ ยินว่า เธอขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นไปจริงหรือ ฯ บุ. จริง พระพุทธเจ้าข้า ฯ ร. เพราะเหตุไร ฯ บุ. เพราะข้าพระพุทธเจ้าไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขา แล้วรับสั่งว่า พ่อบุรุษ เธอจงเลี้ยงชีพ จงเลี้ยงมารดาบิดา จงเลี้ยงบุตรภรรยา จงประกอบการงานทั้งหลาย จงตั้งทักษิณาที่มีผลในเบื้องบน อันเกื้อกูลแก่สวรรค์ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลายด้วยทรัพย์นี้เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เขาได้สนองพระราชดำรัสของท้าวเธอแล้ว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้บุรุษอีกคนหนึ่งก็ได้ขโมยทรัพย์ของคนอื่นไป เขา ช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้วจึงแสดงแก่ท้าวเธอพร้อมด้วยกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า บุรุษผู้นี้ขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขาพากันกราบทูล อย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสคำนี้กะบุรุษผู้นั้นว่า พ่อบุรุษ ได้ยินว่า เธอขโมย เอาทรัพย์ของคนอื่นไป จริงหรือ ฯ บุ. จริงพระพุทธเจ้าข้า ฯ ร. เพราะเหตุไร ฯ บุ. เพราะข้าพระพุทธเจ้าไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขา แล้วรับสั่งว่า พ่อบุรุษ เธอจงเลี้ยงชีพ จงเลี้ยงชีพมารดาบิดา จงเลี้ยงบุตรภรรยา จงประกอบการงานทั้งหลาย จงตั้งทักษิณาที่มีผล ในเบื้องบน อันเกื้อกูลแก่ สวรรค์ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลายด้วยทรัพย์ นี้เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เขาได้สนองพระราชดำรัสของท้าวเธอแล้ว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลายได้ฟังมาว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า คนขโมยทรัพย์ของคนพวกอื่นไป พระเจ้าแผ่นดินยังทรงพระราชทาน ทรัพย์ให้อีก เขาได้ยินมา จึงพากันคิดเห็นอย่างนี้ว่า อย่ากระนั้นเลย แม้เรา ทั้งหลายก็ควรขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นบ้าง ฯ [๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งขโมยเอาทรัพย์ของ คนอื่นไป เขาช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว จึงแสดงแก่ท้าวเธอพร้อมด้วยกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า บุรุษผู้นี้ขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อ เขาพากันกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสคำนี้กะบุรุษผู้นั้นว่า พ่อบุรุษ ได้ ยินว่า เธอขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นไปจริงหรือ ฯ บุ. จริง พระพุทธเจ้าข้า ฯ ร. เพราะเหตุไร ฯ บุ. เพราะข้าพระพุทธเจ้าไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงทรงพระดำริอย่างนี้ว่า ถ้าเรา จักให้ทรัพย์แก่คนที่ขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นเสมอไป อทินนาทานนี้จักเจริญทวี ขึ้นด้วยประการอย่างนี้ อย่ากระนั้นเลย เราจะให้คุมตัวบุรุษผู้นี้ให้แข็งแรง จะทำ การตัดต้นตอ ตัดศีรษะของบุรุษนั้นเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอ ตรัสสั่งบังคับราชบุรุษทั้งหลายว่า แน่ะ พนาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเอาเชือก เหนียวๆ มัดบุรุษนี้ให้มือไพล่หลังให้แน่น เอามีดโกนๆ ศีรษะให้โล้น แล้วพาตระเวนตามถนน ตามตรอก ด้วยบัณเฑาะว์เสียงกร้าว ออกทางประตู ด้านทักษิณ จงคุมตัวให้แข็งแรง ทำการตัดต้นตอ ตัดศีรษะบุรุษนั้นเสีย นอก พระนครทิศทักษิณ ราชบุรุษทั้งหลายรับพระราชดำรัสของเธอแล้ว จึงเอาเชือก เหนียวมัดบุรุษนั้นให้มือไพล่หลังให้แน่น เอามีดโกนๆ ศีรษะให้โล้น แล้วพา ตระเวนตามถนน ตามตรอก ด้วยบัณเฑาะว์เสียงกร้าว ออกทางประตูด้านทักษิณ คุมตัวให้แข็งแรง ทำการตัดต้นตอ ตัดศีรษะบุรุษนั้น นอกพระนคร ทิศทักษิณแล้ว ฯ [๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลายได้ฟังมาว่า ดูกรท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ได้ยินว่า พระเจ้าแผ่นดินให้คุมตัวบุคคลผู้ขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่น อย่างแข็งแรง ทำการตัดต้นตอ ตัดศีรษะพวกเขาเสีย เพราะได้ฟังมา พวกเขา จึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า อย่ากระนั้นเลย แม้พวกเราควรให้ช่างทำศัสตรา อย่างคม ครั้นแล้วจะคุมตัวบุรุษที่เราจักขโมยเอาทรัพย์ให้แข็งแรง จักทำการตัด ต้นตอ ตัดศีรษะพวกมันเสีย พวกเขาจึงให้ช่างทำศัสตราอย่างคม ครั้นแล้ว จึงเริ่มทำการปล้นบ้านบ้าง ปล้นนิคมบ้าง ปล้นพระนครบ้าง ปล้นตามถนน หนทางบ้าง คุมตัวบุคคลที่พวกเขาจักขโมยเอาทรัพย์ไว้อย่างแข็งแรง ทำการตัด ต้นตอ ตัดศีรษะบุคคลนั้นเสีย ฯ [๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหา- *กษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็ได้ถึงความแพร่ หลาย เมื่อความขัดสนถึงความแพร่หลาย อทินนาทานก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่ออทินนาทานถึงความแพร่หลาย ศัสตราก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อศัสตราถึง ความแพร่หลาย ปาณาติบาตก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตถึงความแพร่ หลาย มุสาวาทก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อมุสาวาทถึงความแพร่หลาย แม้อายุ ของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจาก อายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุ ถอยลง เหลือ ๔๐,๐๐๐ ปี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๔๐,๐๐๐ ปี บุรุษคนหนึ่งขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นไป เขาช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว จึงแสดง แก่พระราชาผู้กษัตริย์ ซึ่งได้มูรธาภิเษกพร้อมด้วยกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า บุรุษผู้นี้ขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขาพากันกราบทูลอย่าง นี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสคำนี้กะบุรุษนั้นว่า พ่อบุรุษ ได้ยินว่า เธอขโมยเอาทรัพย์ของ คนอื่นไปจริงหรือ บุรุษนั้นได้กราบทูล คำเท็จทั้งรู้อยู่ว่า ไม่จริงเลยพระพุทธเจ้าข้า ฯ [๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหา- *กษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็ได้ถึงความแพร่ หลาย เมื่อความขัดสนถึงความแพร่หลาย อทินนาทานก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่ออทินนาทานถึงความแพร่หลาย ศัสตราก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อศัสตราถึง ความแพร่หลาย ปาณาติบาตก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตถึงความแพร่ หลาย มุสาวาทก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อมุสาวาทถึงความแพร่หลาย แม้อายุ ของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจาก อายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๔๐,๐๐๐ ปี ก็มี อายุ ๒๐,๐๐๐ ปี ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๒๐,๐๐๐ ปี บุรุษคนหนึ่งขโมย เอาทรัพย์ของคนอื่นไป บุรุษอีกคนหนึ่งจึงกราบทูลแก่พระราชาผู้กษัตริย์ซึ่งได้ มูรธาภิเษกเป็นการส่อเสียดว่า พระพุทธเจ้าข้า บุรุษชื่อนี้ ขโมยเอาทรัพย์ ของคนอื่นไป ฯ [๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหา- *กษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็ได้ถึงความแพร่ หลาย เมื่อความขัดสนถึงความแพร่หลาย ปิสุณาวาจาก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อปิสุณาวาจาถึงความแพร่หลาย แม้อายุของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้ วรรณก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๒๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุถอยลงเหลือ ๑๐,๐๐๐ ปี ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐,๐๐๐ ปี สัตว์บางพวกมีวรรณะ ดี สัตว์บางพวกมีวรรณะไม่ดี ในสัตว์ทั้งสองพวกนั้น สัตว์พวกที่มีวรรณะไม่ดี ก็เพ่งเล็งสัตว์พวกที่มีวรรณดี ถึงความประพฤติล่วงในภรรยาของคนอื่น ฯ [๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหา- *กษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็ได้ถึงความแพร่ หลาย เมื่อความขัดสนถึงความแพร่หลาย อทินนาทานก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่ออทินนาทานถึงความแพร่หลาย กาเมสุมิจฉาจารก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อ กาเมสุมิจฉาจารถึงความแพร่หลาย แม้อายุของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้ วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๑๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุถอยลงเหลือ ๕,๐๐๐ ปี ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๕,๐๐๐ ปี ธรรม ๒ ประการคือ ผรุสวาจาและสัมผัปปลาปะก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อธรรม ๒ ประการถึงความ แพร่หลาย แม้อายุของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวก เขาเสื่อมถอยจากอายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๕,๐๐๐ ปี บางพวกมีอายุ ๒,๕๐๐ ปี บางพวกมีอายุ ๒,๐๐๐ ปี ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๒,๕๐๐ ปี อภิชฌาและพยาบาท ก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่ออภิชฌาและพยาบาทถึงความแพร่หลาย แม้อายุของ สัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุ บ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๒,๕๐๐ ปี ก็มีอายุถอยลง เหลือ ๑,๐๐๐ ปี ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑,๐๐๐ ปี มิจฉาทิฐิก็ได้ถึงความ แพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฐิถึงความแพร่หลาย แม้อายุของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะ บ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๑,๐๐๐ ปี ก็มีอายุถอยลงเหลือ ๕๐๐ ปี ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๕๐๐ ปี ธรรม ๓ ประการคือ อธรรมราคะ ๑- วิสมโลภ ๒- มิจฉาธรรม ๓- ก็ได้ถึงแก่ความแพร่หลาย เมื่อธรรม ๓ ประการถึงความแพร่หลาย แม้อายุของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็ เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง บุตร ของมนุษย์ที่มีอายุ ๕๐๐ ปี บางพวกมีอายุ ๒๕๐ ปี บางพวกมีอายุ ๒๐๐ ปี ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๒๕๐ ปี ธรรมเหล่านี้คือ ความ ไม่ปฏิบัติชอบในมารดา ความไม่ปฏิบัติชอบในบิดา ความไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ ความไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ความไม่อ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ก็ได้ ถึงความแพร่หลาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็ได้ถึงแก่ความแพร่หลาย เมื่อความขัดสนถึงความแพร่หลาย อทินนาทานก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อ อทินนาทานถึงความแพร่หลาย ศัสตราก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อศัสตราถึงความ แพร่หลาย ปาณาติบาตถึงความแพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตถึงความแพร่หลาย มุสาวาทก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อมุสาวาทถึงความแพร่หลาย ปิสุณาวาจาก็ได้ ถึงความแพร่หลาย เมื่อปิสุณาวาจาถึงความแพร่หลาย กาเมสุมิจฉาจารก็ได้ถึงความ แพร่หลาย เมื่อกาเมสุมิจฉาจารถึงความแพร่หลาย ธรรม ๒ ประการคือ ผรุสวาจา และสัมผัปปลาปะก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อธรรม ๒ ประการถึงความแพร่หลาย อภิชฌาและพยาบาทก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่ออภิชฌาและพยาบาทถึงความ แพร่หลาย มิจฉาทิฐิก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฐิถึงความแพร่หลาย ธรรม ๓ ประการคือ อธรรมราคะ วิสมโลภ มิจฉาธรรม ก็ได้ถึงความแพร่หลาย @(๑) ความกำหนัดในฐานะอันไม่ชอบธรรม (๒) ความโลภไม่เลือก (๓) ความ @กำหนัดด้วยอำนาจความพอใจผิดธรรมดา เมื่อธรรม ๓ ประการถึงความแพร่หลาย ธรรมเหล่านี้ คือ ความไม่ปฏิบัติชอบใน มารดา ความไม่ปฏิบัติชอบในบิดา ความไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ ความไม่ปฏิบัติ ชอบในพราหมณ์ ความไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อธรรมเหล่านี้ถึงความแพร่หลาย แม้อายุของสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้ วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อสัตว์เหล่านั้นเสื่อมถอยจากอายุบ้าง เสื่อมถอยจากวรรณะ บ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๒๕๐ ปี ก็มีอายุถอยลงเหลือ ๑๐๐ ปี ฯ [๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักมีสมัยที่มนุษย์เหล่านี้มีบุตรอายุ ๑๐ ปี ใน เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕ ปี จักสมควรมีสามีได้ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี รสเหล่านี้คือเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และเกลือ จักอันตรธานไปสิ้น ดูกรภิกษุทั้งหลายในเมื่อมนุษย์ มีอายุ ๑๐ ปี หญ้ากับแก้ ๑- จักเป็นอาหารอย่างดี ดูกรภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนข้าวสุก ข้าวสาลีระคนกับเนื้อสัตว์ จักเป็นอาหารอย่างดี ในบัดนี้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี หญ้ากับแก้ก็จักเป็นอาหารอย่างดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี กุศลกรรมบถ ๑๐ จักอันตรธานไปหมด สิ้น อกุศลกรรมบถ ๑๐ จักรุ่งเรืองเหลือเกิน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี แม้แต่ชื่อว่ากุศลก็จักไม่มี และคนทำกุศลจักมีแต่ไหน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี คนทั้งหลายจักไม่ปฏิบัติชอบในมารดา จักไม่ปฏิบัติ ชอบในบิดา จักไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ จักไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ จักไม่ ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล เขาเหล่านั้นก็จักได้รับการบูชา และ ได้รับการสรรเสริญ เหมือนคนปฏิบัติชอบในมารดา ปฏิบัติชอบในบิดา ปฏิบัติ ชอบในสมณะ ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ใน ตระกูล ในบัดนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี เขาจักไม่มีจิตคิดเคารพ ยำเกรงว่า นี่แม่ นี่น้า นี่พ่อ นี่อา นี่ป้า นี่ภรรยาของอาจารย์ หรือว่านี่ภรรยา ของท่านที่เคารพทั้งหลาย สัตว์โลกจักถึงความสมสู่ปะปนกันหมด เปรียบเหมือน แพะ ไก่ สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี สัตว์เหล่านั้นต่างก็จักเกิดความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความ คิดจะฆ่าอย่างแรงกล้าในกันและกัน มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับ บุตรก็ดี บุตรกับบิดาก็ดี พี่ชายกับน้องหญิงก็ดี น้องหญิงกับพี่ชายก็ดี จักเกิดความ อาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า นายพราน เนื้อเห็นเนื้อเข้าเกิดความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่า อย่างแรงกล้าฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ [๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี จักมีสัตถันตรกัป สิ้น ๗ วัน มนุษย์เหล่านั้นจักกลับได้ความสำคัญกันเองว่าเป็นเนื้อ ศัสตราทั้ง หลายอันคมจักปรากฏมีในมือของพวกเขา พวกเขาจะฆ่ากันเองด้วยศัสตราอันคม นั้นโดยสำคัญว่า นี้เนื้อ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้น บางพวกมี ความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราอย่าฆ่าใครๆ และใครๆ ก็อย่าฆ่าเรา อย่ากระนั้น เลย เราควรเข้าไปตามป่าหญ้าสุมทุมป่าไม้ ระหว่างเกาะ หรือซอกเขา มีรากไม้ และผลไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีวิตอยู่ เขาพากันเข้าไปตามป่าหญ้าสุมทุมป่าไม้ ระหว่างเกาะหรือซอกเขา มีรากไม้และผลไม้ ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีวิตอยู่ตลอด ๗ วัน เมื่อล่วง ๗ วันไป เขาพากันออกจากป่าหญ้าสุมทุมป่าไม้ ระหว่างเกาะ ซอกเขา แล้วต่างสวมกอดกันและกัน จักขับร้องดีใจอย่างเหลือเกินในที่ประชุม ว่า สัตว์ผู้เจริญ เราพบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่หรือๆ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น สัตว์เหล่านั้น จักมีความคิดอย่างนี้ว่า เรา ถึงความสิ้นญาติอย่างใหญ่เห็นปานนี้ เหตุเพราะสมาทานธรรมที่เป็นอกุศล อย่ากระ นั้นเลยเราควรทำกุศล ควรทำกุศลอะไร เราควรงดเว้นปาณาติบาต ควรสมาทาน กุศลธรรมนี้แล้วประพฤติ เขาจักงดเว้นจากปาณาติบาต จักสมาทานกุศล ธรรมนี้แล้วประพฤติ เพราะเหตุที่สมาทานกุศลธรรม เขาจักเจริญด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วยวรรณะบ้าง เมื่อเขาเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง บุตร ของมนุษย์ทั้งหลายที่มีอายุ ๑๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๒๐ ปี ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นสัตว์เหล่านั้นจักมีความคิดอย่างนี้ว่า เราเจริญ ด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง เพราะเหตุที่สมาทานกุศลธรรม อย่ากระนั้นเลย เราควรทำกุศลยิ่งๆ ขึ้นไป ควรทำกุศลอะไร เราควรงดเว้นจากอทินนาทาน ควรงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ควรงดเว้นจากมุสาวาท ควรงดเว้นจากปิสุณาวาจา ควรงดเว้นจากผรุสวาจา ควรงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ ควรละอภิชฌา ควรละพยาบาท ควรละมิจฉาทิฐิ ควรละธรรม ๓ ประการ คืออธรรมราคะ วิสมโลภ มิจฉาธรรม อย่ากระนั้นเลยเราควรปฏิบัติชอบในมารดา ควรปฏิบัติชอบในบิดา ควรปฏิบัติชอบ ในสมณะ ควรปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ควรประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ใน ตระกูล ควรสมาทานกุศลธรรมนี้แล้วประพฤติ เขาเหล่านั้นจักปฏิบัติชอบในมารดา ปฏิบัติชอบในบิดา ปฏิบัติชอบในสมณะ ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ประพฤติ อ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล จักสมาทานกุศลธรรมนี้แล้วประพฤติ เพราะ เหตุที่สมาทานกุศลธรรมเหล่านั้น เขาเหล่านั้นจักเจริญด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วย วรรณะบ้าง เมื่อเขาเหล่านั้นเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง บุตรของคน ผู้มีอายุ ๒๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๔๐ ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๔๐ ปี จักมีอายุ เจริญขึ้นถึง ๘๐ ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๘๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๑๖๐ ปี บุตร ของคนผู้มีอายุ ๑๖๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๓๒๐ ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๓๒๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๖๔๐ ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๖๔๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๒,๐๐๐ ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๒,๐๐๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๔,๐๐๐ ปี บุตร ของคนผู้มีอายุ ๔,๐๐๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๘,๐๐๐ ปี บุตรของคนมีอายุ ๘,๐๐๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๒๐,๐๐๐ ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๒๐,๐๐๐ ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๔๐,๐๐๐ ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๔๐,๐๐๐ ปี จักมีอายุเจริญ ขึ้นถึง ๘๐,๐๐๐ ปี ฯ [๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี เด็กหญิงมี อายุ ๕๐๐ ปี จึงจักสมควรมีสามีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี จักเกิดมีอาพาธ ๓ อย่าง คือ ความอยากกิน ๑ ความไม่อยากกิน ๑ ความแก่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ชมพูทวีปนี้จัก มั่งคั่งและรุ่งเรือง มีบ้านนิคมและราชธานีพอชั่วไก่บินตก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ชมพูทวีปนี้ประหนึ่งว่าอเวจีนรก จักยัดเยียดไป ด้วยผู้คนทั้งหลาย เปรียบเหมือนป่าไม้อ้อ หรือป่าสาลพฤกษ์ฉะนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี เมืองพาราณสีนี้ จัก เป็นราชธานีมีนามว่า เกตุมดี เป็นเมืองที่มั่งคั่งและรุ่งเรืองมีพลเมืองมาก มีผู้คน คับคั่ง และมีอาหารสมบูรณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ในชมพูทวีปนี้จักมีเมือง ๘๔,๐๐๐ เมือง มีเกตุมดีราชธานีเป็นประมุข ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี จักมีพระเจ้าจักร- *พรรดิ์ทรงพระนามว่า พระเจ้าสังขะ ทรงอุบัติขึ้น ณ เกตุมดีราชธานี เป็นผู้ทรง ธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือจักรแก้ว ๑ ช้างแก้ว ๑ ม้าแก้ว ๑ แก้วมณี ๑ นางแก้ว ๑ คฤหบดีแก้ว ๑ ปริณายกแก้วเป็น ที่ ๗ พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรมมิต้องใช้อาชญา มิต้อง ใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นขอบเขต ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี พระผู้มีพระภาคทรง พระนามว่าเมตไตรย์ จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์เป็นอรหันต์ ตรัสรู้เอง โดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม เหมือนตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้ เป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดีแล้ว รู้แจ้ง โลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระผู้มีพระภาคพระนามว่า เมตไตรย์พระองค์นั้น จักทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้ แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณ- *พราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม เหมือนตถาคตในบัดนี้ ทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตถาคตเองแล้ว สอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตามอยู่ พระผู้มีพระภาคพระนามว่า เมตไตรย์พระองค์นั้นจักทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งาม ในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงเหมือนตถาคตในบัดนี้ แสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรย์พระองค์นั้น จักทรงบริหาร ภิกษุสงฆ์หลายพัน เหมือนตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์หลายร้อย ในบัดนี้ฉะนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าสังขะจักทรงให้ยกขึ้นซึ่งปราสาทที่ พระเจ้ามหาปนาทะทรงสร้างไว้ แล้วประทับอยู่ แล้วจักทรงสละ จักทรงบำเพ็ญ ทาน แก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจกทั้งหลาย จัก ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากเรือน ทรง ผนวชเป็นบรรพชิต ในสำนักของพระผู้มีพระภาคพระนามว่า เมตไตรย์อรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้า ท้าวเธอทรงผนวชอย่างนี้แล้ว ทรงปลีกพระองค์อยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้ว ไม่ช้านักก็จักทรงทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลาย พากันออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เอง ใน ทิฐธรรมเทียว เข้าถึงอยู่ ฯ [๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มี ธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างไรเล่า ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก เสียได้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มี ความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรม ทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก เสียได้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่ พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างนี้แล ฯ [๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในโคจร ซึ่งเป็นวิสัย อันสืบมาจากบิดาของตน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในโคจร ซึ่งเป็นวิสัยอันสืบมาจากบิดาของตน จักเจริญทั้งด้วยอายุ จักเจริญทั้งด้วยวรรณะ จักเจริญทั้งด้วยสุข จักเจริญทั้งด้วยโภคะ จักเจริญทั้งด้วยพละ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องอายุของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เจริญอิทธิบาทประกอบด้วยฉันทะสมาธิปธาน สังขาร เจริญอิทธิบาทประกอบด้วยวิริยะสมาธิปธานสังขาร เจริญอิทธิบาท ประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธาน สังขาร เธอนั้น เพราะเจริญอิทธิบาท ๔ เหล่านี้ เพราะกระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ เหล่านี้ เมื่อปรารถนาก็พึงตั้งอยู่ได้ถึงกัป ๑ หรือเกินกว่ากัป ๑ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายในเรื่องอายุของภิกษุ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องวรรณะของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายในเรื่องวรรณะ ของภิกษุ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องสุขของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุ ปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแก่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มี ความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มี สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะ ทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข บรรลุ จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายใน เรื่องสุขของภิกษุ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องโภคะของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีจิตประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ด้วยจิตประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณ มิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุก สถาน ด้วยมีจิตประกอบด้วยกรุณา แผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ด้วยจิต ประกอบด้วยกรุณาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มี ความเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยมีจิต ประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือน กัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ด้วยจิตประกอบด้วยมุทิตา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยมีจิตประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้ง เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ด้วยจิตประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความ เป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายในเรื่องโภคะ ของภิกษุ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องพละของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ อันหา อาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในทิฐธรรมเทียว เข้าถึงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอธิบายในเรื่องพละของภิกษุ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นแม้กำลังสักอย่างหนึ่งอื่น อันข่มได้ แสนยาก เหมือนกำลังของมารนี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญนี้จะเจริญขึ้นได้ อย่างนี้ เพราะเหตุถือมั่นกุศลธรรมทั้งหลาย ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นยินดีชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วดังนี้แล ฯ
จบ จักกวัตติสูตร ที่ ๓
-----------------------------------------------------
๔. อัคคัญญสูตร
[๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพาราม เป็นปราสาท ของนางวิสาขามิคารมารดา เขตพระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล วาเสฏฐ- *สามเณรกับภารทวาชสามเณร เมื่อจำนงความเป็นภิกษุอยู่ อยู่อบรมในสำนักภิกษุ ทั้งหลาย เย็นวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จลงจาก ปราสาทแล้ว ทรงจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งในร่มเงาปราสาท วาเสฏฐสามเณรได้เห็น พระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จลงจากปราสาทกำลังเสด็จจงกรม อยู่ในที่แจ้ง ในร่มเงาปราสาทในเวลาเย็น ครั้นแล้วจึงเรียกภารทวาชสามเณรมา พูดว่า ดูกรภารทวาชะผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลา เย็น เสด็จลงจากปราสาททรงจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งในร่มเงาปราสาท เรามาไปกัน เถิด พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางทีเราจะได้ฟังธรรมีกถา เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์บ้างเป็นแม่นมั่น ส่วนภารทวาชสามเณรรับคำของ วาเสฏฐสามเณรแล้ว ทันใดนั้น วาเสฏฐสามเณรกับภารทวาชสามเณร พากัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้ว ชวนกันเดินตามเสด็จพระองค์ผู้กำลังเสด็จจงกรมอยู่ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกวาเสฏฐสามเณรมาแล้วตรัสว่า ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสอง มีชาติเป็นพราหมณ์ มีตระกูลเป็นพราหมณ์ ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์ ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกพราหมณ์ไม่ด่าว่าเธอทั้งสองบ้างดอกหรือ ฯ สามเณรทั้งสองนั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ พากันด่าว่าข้าพระองค์ทั้ง ๒ ด้วยคำเหยียดหยามอย่างสมใจ อย่างเต็มที่ ไม่มีลด- *หย่อนเลย พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามต่อไปว่า ก็พวกพราหมณ์พากันด่าว่าเธอ ทั้งสองด้วยถ้อยคำอันเหยียดหยามอย่างสมใจ อย่างเต็มที่ ไม่มีลดหย่อนอย่างไร เล่า สามเณรทั้งสองกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์พากันว่า อย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียว บริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจาก อุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาท ของพรหม เจ้าทั้งสองคนมาละวรรณะที่ประเสริฐที่สุดเสียแล้ว ไปเข้ารีตวรรณะ ที่เลวทราม คือ พวกสมณะที่มีศีรษะโล้น เป็นพวกคฤหบดี เป็นพวกดำ เป็น พวกเกิดจากเท้าของพรหม เจ้าทั้งสองคนมาละพวกที่ประเสริฐที่สุดใดเสีย ไป เข้ารีตวรรณะเลวทราม คือพวกสมณะที่มีศีรษะโล้น เป็นพวกคฤหบดี เป็นพวกดำ เป็นพวกเกิดจากเท้าของพรหม ข้อนั้นไม่ดี ไม่สมควรเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์พากันด่าว่าข้าพระองค์ทั้งสองด้วยถ้อยคำที่เหยียดหยาม อย่างสมใจ อย่างเต็มที่ ไม่มีลดหย่อนเลยอย่างนี้แล พระองค์จึงตรัสว่า ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ พวกพราหมณ์ระลึกถึงเรื่องเก่าของพวกเขาไม่ได้ จึงพากันพูดอย่างนี้ พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พราหมณ์ พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิด จากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม ดังนี้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ตามที่ปรากฏอยู่แล คือ นางพราหมณี ทั้งหลายของพวกพราหมณ์ มีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดอยู่บ้าง ให้ลูกกินนม อยู่บ้าง อันที่จริง พวกพราหมณ์เหล่านั้น ก็ล้วนแต่เกิดจากช่องคลอดของนาง พราหมณีทั้งนั้น พากันอวดอ้างอย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐ ที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็น วรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม เขาเหล่านั้นกล่าวตู่พรหม และพูดเท็จ ก็จะประสบแต่บาปเป็นอันมาก ฯ [๕๒] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ วรรณะเหล่านี้ มีอยู่สี่คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็กษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้ มีปรกติฆ่าสัตว์ มีปรกติ ลักทรัพย์ มีปรกติประพฤติผิดในกามทั้งหลาย มีปรกติพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ละโมภมาก คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นผิด ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล เป็นธรรมมีโทษ นับว่าเป็นธรรมมีโทษ เป็นธรรมไม่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมไม่ควรเสพ ไม่ควรเป็นอริยธรรม นับว่าไม่ควรเป็นอริยธรรม เป็นธรรมดำ มีวิบากดำ วิญญูชนติเตียน อกุศลธรรมเหล่านั้น มีปรากฏอยู่แม้ ในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้พราหมณ์บางคน ในโลกนี้ ฯลฯ แม้แพศย์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้ศูทรบางคนในโลกนี้ มีปรกติฆ่าสัตว์ มีปรกติลักทรัพย์ มีปรกติประพฤติผิดในกามทั้งหลาย มีปรกติพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ละโมภมาก คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นผิด ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล เป็นธรรมมีโทษ นับว่าเป็นธรรมมีโทษ เป็นธรรมไม่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมไม่ควรเสพ ไม่ควรเป็นอริยธรรม นับว่าไม่ควรเป็นอริยธรรม เป็นธรรมดำ มีวิบากดำ วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านั้นมีปรากฏอยู่แม้ในศูทร บางคนในโลกนี้ ฯ [๕๓] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ฝ่ายกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจาก การประพฤติผิดในกาม เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ เป็นผู้เว้นขาดจากการพูด ส่อเสียด เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่ ละโมภมาก ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นชอบ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล เป็นธรรม ไม่มีโทษ นับว่าเป็นธรรมไม่มีโทษ เป็นธรรมที่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมที่ ควรเสพ ควรเป็นอริยธรรม ควรนับว่าเป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว มีวิบากขาว วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านั้นมีปรากฏอยู่แม้ในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้พราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ แม้แพศย์บางคน ในโลกนี้ ฯลฯ แม้ศูทรบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ไม่ ละโมภมาก ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นชอบ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใดที่เป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล เป็นธรรมไม่มีโทษ นับว่าเป็นธรรมไม่มี โทษ เป็นธรรมที่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมที่ควรเสพ ควรเป็นอริยธรรม นับว่า ควรเป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว มีวิบากขาว วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านั้น มีปรากฏอยู่แม้ในศูทรบางคนในโลกนี้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็เมื่อวรรณะ ทั้งสี่เหล่านี้แล รวมเป็นบุคคลสองจำพวก คือพวกที่ตั้งอยู่ในธรรมดำ วิญญูชน ติเตียนจำพวกหนึ่ง พวกที่ตั้งอยู่ในธรรมขาว วิญญูชนสรรเสริญจำพวกหนึ่ง เช่นนี้ ไฉนพวกพราหมณ์จึงพากันอวดอ้างอยู่อย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็น วรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พวกพราหมณ์เป็นวรรณะขาว พวก อื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หา บริสุทธิ์ไม่ พราหมณ์พวกเดียวเป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มี กำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม ดังนี้เล่า ท่านผู้รู้ ทั้งหลายย่อมไม่รับรองถ้อยคำของพวกเขา ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ เพราะว่า บรรดาวรรณะทั้งสี่เหล่านั้น ผู้ใดเป็นภิกษุสิ้นกิเลสและ อาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ได้วางภาระเสีย แล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว สิ้นเครื่องเกาะเกี่ยวในภพแล้ว หลุดพ้นไปแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นปรากฏว่าเป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายโดยชอบธรรมแท้ มิได้ ปรากฏโดยไม่ชอบธรรมเลย ด้วยว่าธรรมเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งใน เวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยบรรยาย นี้แล เธอทั้งสองพึงทราบเถิดว่า ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ [๕๔] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงทราบ แน่ชัดว่า พระสมณโคดมผู้ยอดเยี่ยมได้ทรงผนวชจากศากยตระกูล ดังนี้ ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็พวกศากยตระกูลยังต้องเป็นผู้โดยเสด็จพระเจ้าปเสน- *ทิโกศลอยู่ทุกๆ ขณะและพวกเจ้าศากยะต้องทำการนอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมในพระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล พวกเจ้าศากยะยังต้องกระทำการ นอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมอันใดอยู่ในพระเจ้า ปเสนทิโกศล แต่ถึงกระนั้น กิริยาที่นอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลี กรรม และสามีจิกรรมอันนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ยังทรงกระทำอยู่ในตถาคต ด้วยทรงถือว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีพระชาติสูง เรามีชาติต่ำกว่า พระสมณ- *โคดมเป็นผู้มีพระกำลัง เรามีกำลังน้อยกว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีคุณน่าเลื่อมใส เรามีคุณน่าเลื่อมใสน้อยกว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สูงศักดิ์ เราเป็นผู้ต่ำศักดิ์กว่า ดังนี้ แต่ที่แท้ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมพระธรรมนั้นเทียว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำการนอบน้อม กราบ ไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ในตถาคตอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยปริยายนี้แล เธอทั้งสองพึงทราบเถิดว่า ธรรม เท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ [๕๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสองคนมีชาติก็ต่างกัน มีชื่อก็เพี้ยนกัน มีโคตรก็แผกกัน มีตระกูลก็ผิดกัน พากันทิ้งเหย้าเรือนเสีย มาบวชเป็นบรรพชิต เมื่อจะมีผู้ถามว่า ท่านทั้งสองนี้เป็น พวกไหน เธอทั้งสองพึงตอบเขาว่า ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นพวกพระสมณศากยบุตร ดังนี้เถิด ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ผู้ใดแล มีศรัทธาตั้งมั่นเกิดขึ้นแล้วแต่ รากแก้วคืออริยมรรค ประดิษฐานมั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือผู้ใดผู้หนึ่งในโลก ไม่พรากไปได้ ควรเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ เกิดแต่พระโอฐของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดแต่พระธรรม เป็นผู้ที่พระธรรม เนรมิตขึ้น เป็นผู้รับมรดกพระธรรม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำว่า ธรรมกาย ก็ดี ว่าพรหมกาย ก็ดี ว่าธรรมภูต ก็ดี ว่าพรหมภูต ก็ดี เป็นชื่อของตถาคต ฯ [๕๖] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยล่วง ระยะกาลยืดยาวช้านานที่โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่า สัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิต อยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้ง บางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้จะกลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญ อยู่โดยมาก เหล่าสัตว์พากันจฺติจากชั้นอาภัสสรพรหมลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์นั้น ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ใน อากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ก็แหละ สมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้แลเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงจันทร์และ ดวงอาทิตย์ก็ยังไม่ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ยังไม่ปรากฏ กลางวันกลาง คืนก็ยังไม่ปรากฏ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ยังไม่ปรากฏ ฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฏ เพศชายและเพศหญิงก็ยังไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลาย ถึงซึ่งอันนับเพียงว่าสัตว์เท่า นั้น ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา โดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านาน เกิด ง้วนดินลอยอยู่บนน้ำทั่วไป ได้ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้นเหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยว ให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ฉะนั้นง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น มีรสอร่อยดุจรวงผึ้ง เล็กอันหาโทษมิได้ ฉะนั้น ฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมามีสัตว์ผู้หนึ่งเป็นคนโลนพูดว่า ท่าน ผู้เจริญทั้งหลาย นี่จักเป็นอะไร แล้วเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดู เมื่อเขาเอา นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดูอยู่ ง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว เขาจึงเกิดความอยาก ขึ้น ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สัตว์พวกอื่นก็พากันกระทำตามอย่างสัตว์นั้น เอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดู เมื่อสัตว์เหล่านั้นพากันเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลอง ลิ้มดูอยู่ ง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงเกิดความอยากขึ้น ต่อมาสัตว์ เหล่านั้นพยายามเพื่อจะปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ ด้วยมือแล้วบริโภค ดูกรเสฏฐะ และภารทวาชะ ในคราวที่พวกสัตว์พยายามเพื่อจะปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ ด้วยมือ แล้วบริโภคอยู่นั้น เมื่อรัศมีกายของสัตว์เหล่านั้นก็หายไปแล้ว ดวงจันทร์และดวง อาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ปรากฏแล้ว ดวงดาวนักษัตรทั้งหลาย ก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรปรากฏแล้ว กลางคืนและกลางวันก็ปรากฏ เมื่อ กลางคืนและกลางวันปรากฏแล้ว เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ปรากฏ เมื่อเดือนหนึ่ง และกึ่งเดือนปรากฏอยู่ ฤดูและปีก็ปรากฏ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วย เหตุเพียงเท่านี้แล โลกนี้จึงกลับเจริญขึ้นมาอีก ฯ [๕๗] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมาสัตว์เหล่านั้นพากันบริ- *โภคง้วนดิน รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน ด้วยเหตุที่สัตว์เหล่านั้นมัวเพลินบริโภคง้วนดินอยู่ รับประทานง้วนดิน มีง้วนดิน เป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้ง ผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมี ผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงามนั้นพากันดูหมิ่น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามีผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวกท่านมีผิว พรรณเลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้นเกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกันขึ้น เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย ง้วนดินก็หายไป เมื่อง้วนดินหายไป แล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงพากันจับกลุ่ม ครั้นแล้ว ต่างก็บ่นถึงกันว่า รสดีจริง รส ดีจริง ดังนี้ ถึงทุกวันนี้ก็เหมือนกัน คนเป็นอันมากได้ของที่มีรสดีอย่างใดอย่าง หนึ่ง มักพูดกันอย่างนี้ว่า รสอร่อยแท้ๆ รสอร่อยแท้ๆ ดังนี้ พวกพราหมณ์ ระลึกได้ถึงอักขระ ๑- ที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณนั้นเท่านั้น แต่ไม่รู้ชัดถึง เนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย ฯ [๕๘] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา เมื่อง้วนดินของสัตว์ เหล่านั้นหายไปแล้ว ก็เกิดมีกระบิดินขึ้น กระบิดินนั้นปรากฏลักษณะคล้ายเห็ด @๑. หมายถึงเรื่องราว กระบิดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีเหมือนเนยใส หรือเนยข้นอย่างดีฉะนั้น ได้มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ฉะนั้น ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นพยายามจะบริโภคกระบิดิน สัตว์เหล่านั้นบริโภคกระบิดินอยู่ รับประทานกระบิดิน มีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลนาน ดูกรวาเสฏฐะ และภารทวาชะ โดยประการที่สัตว์เหล่านั้นบริโภคกระบิดินอยู่ รับประทานกระบิดิน มีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้า ขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์ บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองจำพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงาม พากันดูหมิ่นสัตว์พวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามีผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวก ท่านมีผิวพรรณเลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้น เกิดมีการไว้ตัวดู หมิ่นกันขึ้น เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย กระบิดินก็หายไป เมื่อกระบิ ดินหายไปแล้ว ก็เกิดมีเครือดินขึ้น เครือดินนั้นปรากฏคล้ายผลมะพร้าวทีเดียว เครือดินนั้น ถึงพร้อมด้วยสี รส กลิ่น มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น ได้มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ฉะนั้น ฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นพยายามจะบริโภค เครือดิน สัตว์เหล่านั้นบริโภคเครือดินอยู่ รับประทานเครือดิน มีเครือดินเป็น อาหาร ดำรงมาได้สิ้นกาลช้านาน โดยประการที่สัตว์เหล่านั้นบริโภคเครือดินอยู่ รับประทานเครือดิน มีเครือดินนั้นเป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงาม พากันดูหมิ่นพวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามี ผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวกท่านมีผิวพรรณเลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสอง พวกนั้นเกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกัน เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย เครือดิน ก็หายไป เมื่อเครือดินหายไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นก็พากันจับกลุ่ม ครั้นแล้วต่างก็ บ่นถึงกันว่า เครือดินได้เคยมีแก่พวกเราหนอ เดี๋ยวนี้เครือดินของพวกเราได้ สูญหายเสียแล้วหนอ ดังนี้ ถึงทุกวันนี้ก็เหมือนกัน คนเป็นอันมาก พอถูกความ ระทมทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งมากระทบ ก็มักบ่นกันอย่างนี้ว่า สิ่งของของเราทั้งหลาย ได้เคยมีแล้วหนอ แต่เดี๋ยวนี้ สิ่งของของเราทั้งหลายได้มาสูญหายเสียแล้วหนอ ดังนี้ พวกพราหมณ์ระลึกได้ถึงอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดีเป็นของโบราณนั้นเท่านั้น แต่ไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย ฯ [๕๙] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา เมื่อเครือดินของสัตว์ เหล่านั้นหายไปแล้ว ก็เกิดมีข้าวสาลีขึ้นเองในที่ที่ไม่ต้องไถ เป็นข้าวไม่มีรำ ไม่มี แกลบ ขาวสะอาด กลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ตอนเย็นสัตว์เหล่านั้นนำเอา ข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเย็น ตอนเช้าข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุกก็ งอกขึ้นแทนที่ ตอนเช้าเขาพากันไปนำเอาข้าวสาลีใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเช้า ตอนเย็นข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุกแล้วก็งอกขึ้นแทนที่ ไม่ปรากฏว่าบกพร่อง ไปเลย ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น พวกสัตว์บริโภคข้าวสาลีที่เกิด ขึ้นเองในที่ที่ไม่ต้องไถ พากันรับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นกาลช้านาน ก็โดยประการที่สัตว์เหล่านั้นบริโภคข้าวสาลีอันเกิดขึ้น เองอยู่ รับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นการช้า นาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่าง กันออกไป สตรีก็มีเพศหญิงปรากฏ และบุรุษก็มีเพศชายปรากฏ นัยว่า สตรีก็ เพ่งดูบุรุษอยู่เสมอ และบุรุษก็เพ่งดูสตรีอยู่เสมอ เมื่อคนทั้งสองเพศ ต่างเพ่งดู กันอยู่เสมอ ก็เกิดความกำหนัดขึ้น เกิดความเร่าร้อนขึ้นในกาย เพราะความเร่า ร้อนเป็นปัจจัย เขาทั้งสองจึงเสพเมถุนธรรมกัน ฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็โดยสมัยนั้นแล สัตว์พวกใดเห็นพวก อื่นเสพเมถุนธรรมกันอยู่ ย่อมโปรยฝุ่นใส่บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่ บ้าง พร้อมกับพูดว่า คนชาติชั่ว จงฉิบหาย คนชาติชั่ว จงฉิบหาย ดังนี้ แล้ว พูดต่อไปว่า ก็ทำไมขึ้นชื่อว่าสัตว์ จึงทำแก่สัตว์เช่นนี้เล่า ข้อที่ว่ามานั้น จึงได้ เป็นธรรมเนียมมาจนถึงทุกวันนี้ ในชนบทบางแห่ง คนทั้งหลาย โปรยฝุ่นใส่ บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่บ้าง ในเมื่อเขาจะนำสัตว์ที่ประพฤติชั่วร้าย ไปสู่ตะแลงแกง พวกพราหมณ์มาระลึกถึงอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี อันเป็นของ โบราณนั้นเท่านั้น แต่พวกเขาไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย ฯ [๖๐] ดูกรวาเสฏฐะและภารวาชะ ก็สมัยนั้นการโปรยฝุ่นใส่กันเป็นต้น นั้นแล สมมติกันว่าไม่เป็นธรรม มาในบัดนี้ สมมติกันว่าเป็นธรรมขึ้น ก็สมัยนั้น สัตว์พวกใด เสพเมถุนกัน สัตว์พวกนั้นเข้าบ้านหรือนิคมไม่ได้ สิ้นสองเดือน บ้าง สามเดือนบ้าง ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อใดแล สัตว์ทั้งหลายพา กันเสพอสัทธรรมนั่นอยู่เสมอ เมื่อนั้น จึงพยายามสร้างเรือนกันขึ้น เพื่อเป็นที่ กำบังอสัทธรรมนั้น ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่ง เกิดความเกียจคร้านขึ้น จึงได้มีความ เห็นอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ เราช่างลำบากเสียนี่กระไร ที่ต้องไปเก็บข้าวสาลี มา ทั้งในเวลาเย็นสำหรับอาหารเย็น ทั้งในเวลาเช้าสำหรับอาหารเช้า อย่ากระ นั้นเลย เราควรไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคทั้งเย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวเถิด ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อแต่นั้นมา สัตว์ผู้นั้นก็ไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้ เพื่อบริโภคทั้งเย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวกัน ฉะนี้แล ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่งเข้าไปหาสัตว์ผู้นั้นแล้วชวนว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ มาเถิด เรา จักไปเก็บข้าวสาลีกัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ฉันไปเก็บเอาข้าวสาลี มาไว้เพื่อบริโภคพอทั้งเย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวแล้ว ต่อมา สัตว์ผู้นั้นถือตามแบบ อย่างของสัตว์ผู้นั้น จึงไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้คราวเดียวเพื่อสองวัน แล้วพูดว่า ได้ยินว่า แม้อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันท่านผู้เจริญ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อ มาสัตว์อีกผู้หนึ่ง เข้าไปหาสัตว์ผู้นั้น แล้วชวนว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ มาเถิด เรา จักไปเก็บข้าวสาลีกัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ฉันไปเก็บเอาข้าวสาลี มาไว้เพื่อบริโภคพอทั้งเย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวแล้ว ฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้นั้นถือตามแบบอย่างของ สัตว์นั้น จึงไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้คราวเดียว เพื่อสี่วัน แล้วพูดว่า แม้อย่างนี้ ก็ดีเหมือนกัน ท่านผู้เจริญ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมาสัตว์อีกผู้หนึ่ง เข้าไปหาสัตว์ผู้นั้น แล้วชวนว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ มาเถิด เราจักไปเก็บข้าวสาลี กัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ไปเก็บข้าวสาลีมาไว้คราวเดียว เพื่อสี่วันแล้ว ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้นั้น ถือตามแบบอย่างของสัตว์นั้น จึงไปเก็บ ข้าวสาลีมาไว้คราวเดียว เพื่อแปดวัน แล้วพูดว่า แม้อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันท่านผู้ เจริญ เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นพยายามเก็บข้าวสาลีสะสมไว้เพื่อบริโภคกัน ขึ้น เมื่อนั้นแล ข้าวสาลีนั้นจึงกลายเป็นข้าวมีรำห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ด บ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกแทน ปรากฏว่าขาดเป็นตอนๆ (ตั้งแต่นั้น มา) จึงได้มีข้าวสาลีเป็นกลุ่มๆ ฯ [๖๑] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ในครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นพากันมา จับกลุ่ม ครั้นแล้วต่างก็มาปรับทุกข์กันว่า ดูกรท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ เกิดมีธรรม ทั้งหลายอันเลวทรามปรากฏขึ้นในสัตว์ทั้งหลายแล้ว ด้วยว่า เมื่อก่อนพวกเราได้ เป็นผู้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในวิมานนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน บาง ครั้งบางคราวโดยระยะยืดยาวช้านาน เกิดง้วนดินลอยขึ้นบนน้ำ ทั่วไปแก่เราทุกคน ง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเราทุกคนพยายามปั้นง้วนดินกระทำให้เป็น คำๆ ด้วยมือทั้งสองเพื่อจะบริโภค เมื่อพวกเราทุกคน พยายามปั้นง้วนดินกระ ทำให้เป็นคำๆ ด้วยมือทั้งสองเพื่อจะบริโภคอยู่ รัศมีกายก็หายไป เมื่อรัศมีกาย หายไปแล้ว ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏขึ้น เมื่อดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้น แล้ว ดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏขึ้น เมื่อดวงดาวนักษัตรทั้งหลายปรากฏขึ้นแล้ว กลางคืนและกลางวันก็ปรากฏขึ้น เมื่อกลางคืนและกลางวันปรากฏขึ้นแล้ว เดือน หนึ่งและกึ่งเดือนก็ปรากฏขึ้น เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือนปรากฏขึ้นแล้ว ฤดูและ ปีก็ปรากฏ พวกเราทุกคนบริโภคง้วนดินอยู่ รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็น อาหารดำรงชีพอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏ ขึ้นแก่พวกเรา ง้วนดินจึงหายไป เมื่อง้วนดินหายไปแล้ว จึงมีกระบิดินปรากฏขึ้น กระบิดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเราทุกคนบริโภคกระบิดิน เมื่อพวกเรา ทุกคนบริโภคกระบิดินนั้นอยู่ รับประทานกระบิดิน มีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏขึ้นแก่พวกเรา กระบิดินจึงหายไป เมื่อกระบิดินหายไปแล้ว จึงมีเครือดินปรากฏขึ้น เครือดินนั้น ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเราทุกคนพยายามบริโภคเครือดิน เมื่อพวกเรา ทุกคนบริโภคเครือดินนั้นอยู่ รับประทานเครือดิน มีเครือดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏขึ้นแก่พวกเรา เครือดินจึงหายไป เมื่อเครือดินหายไปแล้ว จึงมีข้าวสาลีปรากฏขึ้นเองในที่ไม่ ต้องไถ เป็นข้าวที่ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ ขาวสะอาด กลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าว สาร ตอนเย็นพวกเราทุกคนไปนำเอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเย็น ตอนเช้าข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุกก็งอกขึ้นแทนที่ ตอนเช้าพวกเราทุกคนไปนำ เอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเช้า ตอนเย็น ข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ด สุกก็งอกขึ้นแทนที่ ไม่ปรากฏว่าบกพร่องไปเลย เมื่อพวกเราทุกคนบริโภคข้าวสาลี ซึ่งเกิดขึ้นเองในที่ไม่ต้องไถอยู่ รับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏขึ้นแก่ พวกเรา ข้าวสาลีนั้นจึงกลายเป็นข้าวมีรำหุ้มเมล็ดบ้าง มีแกลบห่อเมล็ดไว้บ้าง แม้ต้นที่เกี่ยวแล้วก็ไม่งอกขึ้นแทนที่ ปรากฏว่าขาดเป็นตอนๆ จึงได้มีข้าวสาลี เป็นกลุ่มๆ อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรมาแบ่งข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกัน เสียเถิด ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นแล้ว สัตว์ทั้งหลายจึงแบ่งข้าวสาลี ปักปันเขตแดนกัน ฯ [๖๒] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้หนึ่งเป็นคน โลภ สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค สัตว์ ทั้งหลายจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้ตักเตือนอย่างนี้ว่า แน่ะสัตว์ ผู้เจริญ ก็ท่านกระทำกรรมชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่ เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำกรรมชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์ผู้นั้นแล รับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว แม้ครั้ง ที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ สัตว์นั้นสงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ ให้มาบริโภค สัตว์เหล่านั้นจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้ตักเตือนว่า แน่ะ สัตว์ผู้เจริญ ท่านทำกรรมอันชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเอาส่วน ที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำกรรมอันชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย สัตว์ พวกหนึ่งประหารด้วยฝ่ามือ พวกหนึ่งประหารด้วยก้อนดินบ้าง พวกหนึ่งประหาร ด้วยท่อนไม้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็นัยเพราะมีเหตุเช่นนั้นเป็นต้นมา การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จึงปรากฏ การติเตียนจึงปรากฏ การกล่าวเท็จ จึงปรากฏ การถือท่อนไม้จึงปรากฏ ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุม กัน ครั้นแล้ว ต่างก็ปรับทุกข์กันว่า พ่อเอ๋ย ก็การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ ให้จักปรากฏ การติเตียนจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏ การถือท่อนไม้จัก ปรากฏ ในเพราะบาปธรรมเหล่าใด บาปธรรมเหล่านั้นเกิดปรากฏแล้วในสัตว์ ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักสมมติสัตว์ผู้หนึ่งให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควร ว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ ส่วนพวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น ดังนี้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้น พากันเข้าไปหาสัตว์ที่ สวยงามกว่า น่าดูน่าชมกว่า น่าเลื่อมใสกว่า และน่าเกรงขามมากกว่าสัตว์ทุกคน แล้ว จึงแจ้งเรื่องนี้ว่า ข้าแต่สัตว์ผู้เจริญ มาเถิดพ่อ ขอพ่อจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่า กล่าวได้โดยชอบ จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้ โดยชอบเถิด ส่วนพวกข้าพเจ้าจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่พ่อ ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ สัตว์ผู้นั้นแลรับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว จึงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้ โดยชอบ ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ ส่วนสัตว์เหล่านั้นก็แบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่สัตว์ที่เป็นหัวหน้านั้น ฯ [๖๓] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้าอัน มหาชนสมมติ ดังนี้แล อักขระว่า มหาชนสมมติ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรก เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ยิ่งแห่งเขตทั้งหลาย ดังนี้แล อักขระว่า กษัตริย์ กษัตริย์ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สอง เพราะเหตุที่ผู้เป็นหัวหน้ายังชน เหล่าอื่นให้สุขใจได้โดยธรรม ดังนี้แล อักขระว่า ราชา ราชา จึงอุบัติขึ้นเป็น อันดับที่สาม ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังนี้แล การบังเกิดขึ้น แห่งพวกกษัตริย์นั้น มีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณ อย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้น จะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือ ไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในประชุมชนทั้งในเวลา ที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ [๖๔] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์บางจำพวกได้มี ความคิดขึ้นอย่างนี้ว่า พ่อเอ๋ย การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จักปรากฏ การ ติเตียนจักปรากฏ การกล่าวเท็จจักปรากฏ การถือท่อนไม้จักปรากฏ การขับไล่ จักปรากฏ ในเพราะบาปธรรมเหล่าใด บาปธรรมเหล่านั้นเกิดปรากฏแล้วในสัตว์ ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรไปลอยอกุศลธรรมที่ชั่วช้ากันเถิด สัตว์ เหล่านั้นพากันลอยอกุศลธรรมที่ชั่วช้าแล้ว ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะ เหตุที่สัตว์เหล่านั้นพากันลอยอกุศลธรรมที่ชั่วช้าอยู่ ดังนี้แล อักขระว่า พวก พราหมณ์ๆ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรก พราหมณ์เหล่านั้นพากันสร้างกระท่อมซึ่ง มุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า เพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ พวกเขา ไม่มีการหุงต้ม และไม่มีการตำข้าว เวลาเย็น เวลาเช้า ก็พากันเที่ยวแสวงหา อาหารตามคามนิคมและราชธานี เพื่อบริโภคในเวลาเย็นเวลาเช้า เขาเหล่านั้น ครั้นได้อาหารแล้ว จึงพากันกลับไปเพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ใน ราวป่าอีก คนทั้งหลายเห็นพฤติการณ์ของพวกพราหมณ์นั้นแล้วพากันพูดอย่างนี้ว่า พ่อเอ๋ย สัตว์พวกนี้แลพากันมาสร้างกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า แล้วเพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ ไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าว เวลาเย็นเวลาเช้า ก็พากันเที่ยวแสวงหาอาหารตามคามนิคมและราชธานี เพื่อ บริโภคในเวลาเย็นเวลาเช้า เขาเหล่านั้นครั้นได้อาหารแล้วจึงพากันกลับไปเพ่งอยู่ ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่าอีก ฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุนั้นแล อักขระว่า พวกเจริญ ฌาน พวกเจริญฌาน ดังนี้ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สอง บรรดาสัตว์เหล่านั้นแล สัตว์บางพวกเมื่อไม่อาจสำเร็จฌานได้ ที่กระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า จึงเที่ยวไปยังคามและนิคมที่ใกล้เคียงแล้วก็จัดทำพระคัมภีร์มาอยู่ คนทั้งหลายเห็น พฤติการณ์ของพวกพราหมณ์นี้นั้นแล้ว จึงพูดอย่างนี้ว่า พ่อเอ๋ย ก็สัตว์เหล่านี้ ไม่อาจสำเร็จฌานได้ที่กระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า เที่ยวไปยังบ้าน และนิคมที่ใกล้เคียง จัดทำพระคัมภีร์ไปอยู่ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ บัดนี้ พวกชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ บัดนี้ พวกชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ ดังนี้แล อักขระว่า อชฺฌายิกา ๑- อชฺฌายิกา จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สาม ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็สมัยนั้น การทรงจำ การสอน การบอกมนต์ ถูกสมมติว่าเลว มาในบัดนี้ สมมติว่าประเสริฐ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล การอุบัติขึ้นแห่งพวกพราหมณ์ นั้นมีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดีเป็นของโบราณอย่างนี้แล เรื่องของ สัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกันจะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรม เท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความจริง ธรรม เท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในประชุมชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลา ภายหน้า ฯ [๖๕] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์เหล่านั้นแล สัตว์บาง จำพวกยึดมั่นเมถุนธรรม แล้วประกอบการงานเป็นแผนกๆ เพราะเหตุที่สัตว์ เหล่านั้นยึดมั่นเมถุนธรรม แล้วประกอบการงานเป็นแผนกๆ นั้นแล อักขระว่า เวสฺสา เวสฺสา ดังนี้ จึงอุบัติขึ้น ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการ ดังที่กล่าวมานี้ การอุบัติขึ้นแห่งพวกแพศย์นั้นมีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็น ของดี เป็นของโบราณ อย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ฯลฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล การอุบัติขึ้นแห่งพวก ศูทรนั้นมีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณ อย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความ จริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในประชุมชนทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งใน เวลาภายหน้า ฯ [๖๖] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยอยู่ ที่กษัตริย์บ้าง พราหมณ์ บ้าง แพศย์บ้าง ศูทรบ้าง ตำหนิธรรมของตน จึงได้ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต ด้วยประสงค์ว่า เราจักเป็นสมณะ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พวก สมณะจะเกิดมีขึ้นได้ จากวรรณะทั้งสี่ นี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกัน หรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอก ไปจากธรรม ความจริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในประชุมชน ทั้งใน เวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ [๖๗] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สมณะก็ดี ... ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เพราะยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เป็นเหตุเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ทั้งสิ้น ฯ [๖๘] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สมณะก็ดี ... ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เพราะยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ [๖๙] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สมณะก็ดี ... มีปรกติกระทำกรรมทั้งสอง [คือสุจริตและทุจริต] ด้วย กาย มีปรกติกระทำกรรมทั้งสองด้วยวาจา มีปรกติกระทำกรรมทั้งสองด้วยใจ มี ความเห็นปนกัน ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจความเห็นปนกัน เพราะยึดถือการ กระทำด้วยอำนาจความเห็นปนกันเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อม เสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ฯ [๗๐] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้ง ๗ แล้ว ย่อมปรินิพพานในปัจจุบันนี้ทีเดียว ฯ [๗๑] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็บรรดาวรรณะทั้งสี่นี้ วรรณะใด เป็นภิกษุ สิ้นอาสวะแล้ว มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว วางภาระเสียได้แล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว หมดเครื่องเกาะเกี่ยวในภพแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ วรรณะนั้นปรากฏว่า เป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลาย โดยธรรมแท้จริง มิใช่นอกไปจากธรรมเลย ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความ จริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในประชุมชน ทั้งในเวลาเห็นอยู่ ทั้งใน เวลาภายหน้า ฯ [๗๒] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สนังกุมารพรหมก็ได้ภาษิต คาถาไว้ว่า กษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนผู้รังเกียจ ด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ ฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็คาถานี้สนังกุมารพรหมขับถูกไม่ผิด ภาษิต ไว้ถูก ไม่ผิด ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เราเห็น ด้วย ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ถึงเราก็กล่าวอย่างนี้ว่า กษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนผู้รังเกียจ ด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์แล้ว วาเสฏฐะและภารทวาชะยินดี ชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล ฯ
จบ อัคคัญญสูตร ที่ ๔
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ บรรทัดที่ ๑-๒๑๒๙ หน้าที่ ๑-๘๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A=1&Z=2129&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12], [13], [14], [15], [16], [17], [18], [19], [max20]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=11&siri=1              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1-72] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=11&item=1&items=72              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=6&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- [1-72] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=11&item=1&items=72              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=6&A=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_11              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/dn24/en/sujato https://suttacentral.net/dn24/en/tw_rhysdavids

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :