ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
             [๑๓๔] ดูกรอานนท์ ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก
เป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นถูปารหบุคคลจำพวก
หนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง สาวกของพระตถาคต
เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง ฯ
             ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระตถาคตอรหันต-
*สัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมาก ยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้
เป็นสถูปของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้
เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลก
สวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงเป็นถูปารหบุคคล ฯ
             ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
จึงเป็นถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้า
แต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์
ข้อนี้แล พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงเป็นถูปารหบุคคล ฯ
             ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สาวกของพระตถาคต
จึงเป็นถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของสาวก
ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใส
ในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล สาวกของพระตถาคตจึงเป็นถูปารหบุคคล ฯ
             ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระเจ้าจักรพรรดิจึงเป็น
ถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของพระธรรมราชา
ผู้ทรงธรรมนั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ
กายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล
พระเจ้าจักรพรรดิจึงเป็นถูปารหบุคคล ดูกรอานนท์ ถูปารหบุคคล ๔ จำพวกนี้แล ฯ
             [๑๓๕] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้คันทวย
ร้องไห้อยู่ว่า เรายังเป็นเสขบุคคลมีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่ง
เป็นผู้อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งถาม
พวกภิกษุว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไปไหน พวกภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ท่านอานนท์นั้น เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้คันทวยร้องไห้อยู่ว่า
เรายังเป็นเสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่งเป็นผู้
อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งกะภิกษุรูปหนึ่งว่า
เธอจงไปเถิดภิกษุ จงบอกอานนท์ตามคำของเราว่า ท่านอานนท์ พระศาสดา
รับสั่งหาท่าน ภิกษุนั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาท่าน
พระอานนท์ถึงที่ใกล้ ครั้นเข้าไปหาแล้วบอกว่า ท่านอานนท์ พระศาสดา
รับสั่งหาท่าน ท่านพระอานนท์รับคำภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง ฯ
             ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านว่า
อย่าเลย อานนท์ เธออย่าเศร้าโศก ร่ำไรไปเลย เราได้บอกไว้ก่อนแล้วไม่ใช่
หรือว่า ความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่นจากของรักของ
ชอบใจทั้งสิ้นต้องมี เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหน สิ่ง
ใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนา
ว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ดูกรอานนท์ เธอได้
อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ซึ่ง
เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หาประมาณมิได้มาช้านาน เธอ
ได้กระทำบุญไว้แล้ว อานนท์ จงประกอบความเพียรเถิด เธอจักเป็นผู้ไม่มี
อาสวะโดยฉับพลัน ฯ
             ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใด ได้มีแล้วในอดีตกาล ภิกษุผู้เป็น
อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายนั้นอย่างยิ่ง ก็เพียงนี้เท่านั้น คือเหมือน
อานนท์ของเรา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใด จักมีในอนาคตกาล
ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายนั้น อย่างยิ่งก็เพียงนี้เท่านั้น คือ
เหมือนอานนท์ของเรา อานนท์เป็นบัณฑิต ย่อมรู้ว่า นี้เป็นกาลเพื่อจะเข้าเฝ้า
พระตถาคต นี้เป็นกาลของพวกภิกษุ นี้เป็นกาลของพวกภิกษุณี นี้เป็นกาลของ
พวกอุบาสก นี้เป็นกาลของพวกอุบาสิกา นี้เป็นกาลของพระราชา นี้เป็นกาล
ของราชมหาอำมาตย์ นี้เป็นกาลของพวกเดียรถีย์ นี้เป็นกาลของพวกสาวก
เดียรถีย์ ฯ
             [๑๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้ มี
อยู่ในอานนท์ อัพภูตธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุ
บริษัทเข้าไปเพื่อจะเห็นอานนท์ ด้วยการที่ได้เห็น ภิกษุบริษัทนั้นย่อมยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้ด้วยการแสดงธรรม ภิกษุบริษัทนั้นก็
ยินดี ภิกษุบริษัทยังไม่อิ่มเลย อานนท์ย่อมนิ่งไปในเวลานั้น ถ้าภิกษุณีบริษัท ...
อุบาสกบริษัท ... อุบาสิกาบริษัทเข้าไปเพื่อจะเห็นอานนท์ ด้วยการที่ได้เห็น
อุบาสิกาบริษัทนั้นย่อมยินดี ถ้าอานนท์แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้ด้วย
การแสดง อุบาสิกาบริษัทนั้นก็ยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่อิ่มเลย อานนท์ย่อม
นิ่งไปในเวลานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้แล
มีอยู่ในอานนท์ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้ มีอยู่ในพระเจ้า
จักรพรรดิ ถ้าขัตติยบริษัทเข้าไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ ด้วยการที่ได้เฝ้า ขัตติย-
*บริษัทนั้นย่อมยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชดำรัสในขัตติยบริษัทนั้น แม้ด้วย
พระราชดำรัส ขัตติยบริษัทนั้นก็ยินดี ขัตติยบริษัทยังไม่อิ่มเลย พระเจ้าจักรพรรดิ
ย่อมทรงนิ่งไปในเวลานั้น ถ้าพราหมณ์บริษัท ... คฤหบดีบริษัท ... สมณบริษัท
เข้าไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ ด้วยการที่ได้เฝ้า สมณบริษัทนั้นย่อมยินดี ถ้า
พระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชดำรัสในสมณบริษัทนั้น แม้ด้วยพระราชดำรัส สมณ-
*บริษัทนั้นก็ยินดี สมณบริษัทยังไม่อิ่มเลย พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงนิ่งไปใน
เวลานั้น ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการ มีอยู่ใน
อานนท์ ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าภิกษุบริษัทเข้าไปเพื่อจะเห็นอานนท์ ด้วยการที่ได้
เห็น ภิกษุบริษัทนั้นย่อมยินดี ถ้าอานนท์แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้ด้วย
การแสดง ภิกษุบริษัทนั้นย่อมยินดี ภิกษุบริษัทยังไม่อิ่มเลย อานนท์ย่อมนิ่งไป
ในเวลานั้น ถ้าภิกษุณีบริษัท ... อุบาสกบริษัท ... อุบาสิกาบริษัท เข้าไปเพื่อ
จะเห็นอานนท์ ด้วยการที่ได้เห็น อุบาสิกาบริษัทนั้น ย่อมยินดี ถ้าอานนท์
แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้ด้วยการแสดง อุบาสิกาบริษัทนั้นก็ยินดี
อุบาสิกาบริษัทยังไม่อิ่มเลย อานนท์ย่อมนิ่งไปในเวลานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อัพภูตธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้แล มีอยู่ในอานนท์ ฯ
             [๑๓๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบ
ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคอย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองเล็ก
เมืองดอน กิ่งเมืองนี้เลย นครใหญ่เหล่าอื่นมีอยู่ คือ เมืองจัมปา เมืองราชคฤห์
เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองโกสัมพี เมืองพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จ
ปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดี
มหาศาลที่เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระตถาคต มีอยู่มากในเมืองเหล่านี้ ท่านเหล่านั้น
จักกระทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้
เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า เมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองดังนี้เลย ดูกรอานนท์
แต่ปางก่อน มีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่ามหาสุทัสสนะ ผู้ทรงธรรม เป็น
พระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรง
ชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ เมืองกุสินารานี้
มีนามว่า กุสาวดี เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ โดยยาวด้านทิศบูรพา
และทิศประจิม ๑๒ โยชน์ โดยกว้างด้านทิศทักษิณและทิศอุดร ๗ โยชน์ กุสาวดี
ราชธานีเป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้
ง่าย ดูกรอานนท์ อาลกมันทาราชธานีแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย เป็นเมืองที่มั่งคั่ง
รุ่งเรือง มีชนมาก ยักษ์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ง่าย แม้ฉันใด กุสาวดี
ราชธานีก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่น
และมีภิกษาหาได้ง่าย กุสาวดีราชธานีมิได้เงียบจากเสียงทั้ง ๑๐ ประการ ทั้ง
กลางวันและกลางคืน คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน
เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคม และเสียงเป็นที่ ๑๐ ว่า
ท่านทั้งหลายจงบริโภค จงดื่ม จงเคี้ยวกิน จงไปเถิดอานนท์ เธอจงเข้าไปใน
เมืองกุสินารา แล้วบอกแก่พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย
พระตถาคตจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้ พวกท่านจงรีบออกไปกัน
เถิดๆ พวกท่านอย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังว่า พระตถาคตได้ปรินิพพานใน
คามเขตของพวกเรา พวกเราไม่ได้เฝ้าพระตถาคตในกาลครั้งสุดท้าย ท่าน
พระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร
เข้าไปในเมืองกุสินาราลำพังผู้เดียว สมัยนั้น พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ประชุม
กันอยู่ที่สัณฐาคารด้วยกรณียกิจบางอย่าง ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปยัง
สัณฐาคารของพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ครั้นแล้วได้บอกแก่พวกเจ้ามัลละเมือง
กุสินาราว่า ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย พระตถาคตจักเสด็จปรินิพพานในปัจฉิมยาม
แห่งราตรีในวันนี้ พวกท่านจงรีบออกไปเถิดๆ พวกท่านอย่าได้มีความร้อนใจใน
ภายหลังว่า พระตถาคตได้ปรินิพพานในคามเขตของพวกเรา พวกเราไม่ได้เฝ้า
พระตถาคตในกาลเป็นครั้งสุดท้าย พวกเจ้ามัลละกับโอรส สุณิสาและปชาบดีได้
สดับคำนี้ของท่านพระอานนท์แล้ว เป็นทุกข์เสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยความทุกข์
ใจ บางพวกสยายพระเกศา ประคองหัตถ์ทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือก
ไปมา ดุจมีบาทอันขาดแล้ว ทรงรำพันว่า พระผู้มีพระภาคจักเสด็จปรินิพพาน
เสียเร็วนัก พระสุคตจักเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลก
จักอันตรธานเสียเร็วนัก ฯ
             ครั้งนั้น พวกเจ้ามัลละกับโอรส สุณิสา ปชาบดี เป็นทุกข์เสียพระทัย
เปี่ยมไปด้วยความทุกข์ใจ เสด็จเข้าไปยังสาลวันอันเป็นที่แวะพักของเจ้ามัลละ
ทั้งหลาย เสด็จเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า ถ้า
เราจักให้พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทีละองค์ๆ พวก
เจ้ามัลละเมืองกุสินาราจักมิได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทั่วกัน ราตรีนี้จักสว่าง
เสีย ถ้ากระไร เราควรจะจัดให้พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราถวายบังคมพระผู้มี-
*พระภาคโดยลำดับสกุลๆ ด้วยกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละมี
นามอย่างนี้พร้อมด้วยโอรส ชายา บริษัทและอำมาตย์ ขอถวายบังคมพระบาท
ทั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ฯ
             ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์จัดให้พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราถวายบังคม
พระผู้มีพระภาคโดยลำดับสกุล ด้วยกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละ
มีนามอย่างนี้ พร้อมด้วยโอรส ชายา บริษัท และอำมาตย์ ขอถวายบังคม
พระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า โดยอุบายเช่นนี้ ท่าน
พระอานนท์ ยังพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ให้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเสร็จ
โดยปฐมยามเท่านั้น ฯ
             [๑๓๘] ก็สมัยนั้น ปริพาชกนามว่า สุภัททะ อาศัยอยู่ในเมืองกุสินารา
สุภัททปริพาชกได้สดับว่า พระสมณโคดมจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรี
ในวันนี้แหละ สุภัททปริพาชกได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ก็เราสดับถ้อยคำของพวก
ปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวอยู่ว่า พระตถาคตอรหันต-
*สัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลก ในบางครั้งบางคราว พระสมณโคดมจัก
ปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ อนึ่ง ธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้
ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่เราก็มีอยู่ เราเลื่อมใสในพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม
ย่อมสามารถจะแสดงธรรมแก่เรา โดยประการที่เราจะพึงละธรรมอันเป็นที่สงสัย
นี้ได้ ฯ
             ลำดับนั้น สุภัททปริพาชกเข้าไปยังสาลวันอันเป็นที่แวะพักของพวกเจ้า
มัลละ เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอานนท์
ข้าพเจ้าได้สดับถ้อยคำของพวกปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์และปาจารย์
กล่าวอยู่ว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลก ในบางครั้ง
บางคราว พระสมณโคดมจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ อนึ่ง
ธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าก็มีอยู่ ข้าพเจ้าเลื่อมใสในพระ-
*สมณโคดมอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมย่อมสามารถจะแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าโดย
ประการที่ข้าพเจ้าจะพึงละธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ได้ ข้าแต่ท่านอานนท์ ขอโอกาส
เถิด ข้าพเจ้าควรได้เฝ้าพระสมณโคดม เมื่อสุภัททปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว
ท่านพระอานนท์ได้กล่าวตอบสุภัททปริพาชกว่า อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่า
เบียดเบียนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคทรงลำบากแล้ว แม้ครั้งที่สอง สุภัทท-
*ปริพาชก ... แม้ครั้งที่สาม สุภัททปริพาชกก็ได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอานนท์
ข้าพเจ้าได้สดับถ้อยคำของพวกปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์และปาจารย์
กล่าวอยู่ว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลก ในบางครั้ง
บางคราว พระสมณโคดมจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ
อนึ่ง ธรรมเป็นที่สงสัยนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าก็มีอยู่ ข้าพเจ้าเลื่อมใสใน
พระสมณโคดมอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมย่อมสามารถจะแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า
โดยประการที่ข้าพเจ้าจะพึงละธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ได้ ข้าแต่ท่านพระอานนท์
ขอโอกาสเถิด ข้าพเจ้าควรได้เฝ้าพระสมณโคดม แม้ครั้งที่สาม ท่านพระอานนท์
ก็ได้กล่าวตอบสุภัททปริพาชกว่า อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคต
เลย พระผู้มีพระภาคทรงลำบากแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงได้ยินถ้อยคำท่าน
พระอานนท์เจรจากับสุภัททปริพาชก จึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า อย่า
เลยอานนท์ เธออย่าห้ามสุภัททะ สุภัททะจงได้เฝ้าตถาคต สุภัททะจักถามปัญหา
อย่างใดอย่างหนึ่งกะเรา จักมุ่งเพื่อความรู้ มิใช่มุ่งความเบียดเบียน อนึ่ง เราอัน
สุภัททะถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความอันใดแก่สุภัททะนั้น สุภัททะจักรู้ทั่วถึงข้อ
ความนั้นโดยฉับพลันทีเดียว ฯ
             ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้บอกสุภัททปริพาชกว่า ไปเถิดสุภัททะ
พระผู้มีพระภาคทรงทำโอกาสแก่ท่าน สุภัททปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย
พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่
พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์เหล่านี้ใด เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์
มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นคนดี คือบูรณกัสสป
มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครณฐนาฏบุตร
สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ได้ตรัสรู้ตามปฏิญญาของตนๆ หรือว่าทั้งหมด
ไม่ได้ตรัสรู้ หรือว่าบางพวกไม่ได้ตรัสรู้ ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อย่าเลย สุภัททะ ที่ข้อถามนั้นงดเสียเถิด
ดูกรสุภัททะ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว สุภัททปริพาชกทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มี-
*พระภาคได้ตรัสว่า ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘
ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔
ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑
ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วย
องค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ลัทธิอื่นๆ
ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระ-
*อรหันต์ทั้งหลาย ฯ
             [๑๓๙] ดูกรสุภัททะ เราโดยวัยได้ ๒๙ ปี บวชแล้ว ตามแสวงหาว่า
             อะไรเป็นกุศล ตั้งแต่เราบวชแล้ว นับได้ ๕๑ ปี แม้สมณะผู้
เป็นไปในประเทศแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออก ไม่มีในภายนอก
แต่ธรรมวินัยนี้ ฯ
             สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ก็มิได้มี ลัทธิอื่นว่างจากสมณะ
ผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
             [๑๔๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุภัททปริพาชก ได้กราบ-
*ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป
ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้น เหมือน
กัน ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสุภัททะ ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชา
หวังอุปสมบท ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นต้องอยู่ปริวาสสี่เดือน เมื่อล่วงสี่เดือน ภิกษุ
ทั้งหลายเต็มใจแล้ว จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุ ก็แต่ว่า
เรารู้ความต่างแห่งบุคคลในข้อนี้ ฯ
             สุภัททปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากผู้ที่เคยเป็นอัญญ-
*เดียรถีย์ หวังบรรพชา หวังอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสสี่เดือน
เมื่อล่วงสี่เดือน ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความ
เป็นภิกษุไซร้ ข้าพระองค์จักอยู่ปริวาสสี่ปี เมื่อล่วงสี่ปี ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว
จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบทเถิด ฯ
             ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์
ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้สุภัททปริพาชกบวชเถิด ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของ
พระผู้มีพระภาคแล้ว สุภัททปริพาชกได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรท่านอานนท์
ผู้มีอายุ เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ที่พระศาสดาทรงอภิเษกด้วยอันเตวาสิกา-
*ภิเษก ในที่เฉพาะพระพักตร์ในพระศาสนานี้ สุภัททปริพาชกได้บรรพชา อุปสมบท
ในสำนักพระผู้มีพระภาค ก็ท่านสุภัททปริพาชกได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน
หลีกออกไปอยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่
ไม่ช้านานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตร
ทั้งหลายผู้มีความต้องการ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ด้วยปัญญา
อันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบ
แล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ท่านสุภัททะ
ได้เป็นอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเป็นสักขิสาวกองค์
สุดท้ายของพระผู้มีพระภาค ฯ
จบภาณวารที่ห้า
[๑๔๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัย อันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น ศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ดูกรอานนท์ บัดนี้ พวกภิกษุยัง เรียกกันและกันด้วยวาทะว่า อาวุโส ฉันใด โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ไม่ควรเรียกกัน ฉันนั้น ภิกษุผู้แก่กว่า พึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า โดยชื่อหรือโคตร หรือโดยวาทะว่า อาวุโส แต่ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ภันเต หรืออายัสมา ดูกรอานนท์ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา สงฆ์จำนงอยู่ ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างได้ โดยกาลล่วงไป แห่งเรา พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนภิกษุ ท่านพระอานนท์กราบทูลถามว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ก็พรหมทัณฑ์เป็นไฉน พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ ฉันนภิกษุพึงพูดได้ตามที่ตนปรารถนา ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่า ไม่พึงกล่าว ไม่พึง สั่งสอน ฯ [๑๔๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ใน มรรค หรือในข้อปฏิบัติ จะพึงมีบ้างแก่ภิกษุ แม้รูปหนึ่ง พวกเธอจงถามเถิด อย่าได้มีความร้อนใจภายหลังว่า พระศาสดาอยู่เฉพาะหน้าเราแล้ว ยังมิอาจ ทูลถามพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นพากันนิ่ง แม้ครั้งที่สอง ... แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาครับสั่ง กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระ ธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติจะพึงมีบ้างแก่ภิกษุแม้รูปหนึ่ง พวก เธอจงถามเถิด อย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังว่า พระศาสดาอยู่เฉพาะหน้าเรา แล้ว เรายังมิอาจทูลถามพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์ แม้ครั้งที่สามภิกษุ เหล่านั้น ก็พากันนิ่ง ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บางทีพวกเธอไม่ถาม แม้เพราะความเคารพในพระศาสดา แม้ภิกษุผู้เป็นสหาย ก็จงบอกแก่ภิกษุผู้สหายเถิด เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุพวกนั้น พากันนิ่ง ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระ องค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เลื่อมใสในภิกษุสงฆ์อย่างนี้ว่า ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือใน ข้อปฏิบัติ มิได้มีแก่ภิกษุแม้รูปหนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อานนท์ เธอพูดเพราะความเลื่อมใสตถาคตหยั่งรู้ในข้อนี้เหมือนกันว่า ความสงสัย เคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติ มิ ได้มีแก่ภิกษุแม้รูปหนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้ บรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ภิกษุรูปที่ต่ำที่สุด ก็เป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า ฯ [๑๔๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ฯ นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต ฯ [๑๔๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเข้าปฐมฌานออกจากปฐมฌาน แล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจาก ตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจาย- *ตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจาก วิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตน- *สมาบัติแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตน- *สมาบัติแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ฯ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวถามท่านพระอนุรุทธะว่าพระผู้มีพระภาค เสด็จปรินิพพานแล้วหรือ ท่านพระอนุรุทธะตอบว่าอานนท์ผู้มีอายุ พระผู้มีพระ ภาคยังไม่เสด็จปรินิพพาน ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ฯ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว ทรง เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรง เข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญ- *จายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออก จากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน แล้ว ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจาก ทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน พระ ผู้มีพระภาคออกจากจตุตถฌานแล้ว เสด็จปรินิพพานในลำดับ (แห่งการพิจารณา องค์จตุตถฌานนั้น) ฯ [๑๔๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมกับการเสด็จ ปรินิพพาน ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ เกิดความขนพองสยองเกล้าน่าพึงกลัว ทั้ง กลองทิพย์ก็บันลือขึ้น ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ บรรทัดที่ ๓๓๖๒-๓๖๕๓ หน้าที่ ๑๓๗-๑๔๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=3362&Z=3653&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=10&siri=3              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=67              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [134-145] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=10&item=134&items=12              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=2965              The Pali Tipitaka in Roman :- [134-145] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=10&item=134&items=12              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=2965              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_10              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/10i067-e2.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/10i067-e3.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/dn/dn.16.5-6.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/dn/dn.16.1-6.vaji.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/digha/dn16.html https://suttacentral.net/dn16/en/sujato https://suttacentral.net/dn16/en/anandajoti

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :