ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๘. สุปปวาสาสูตร
[๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่ากุณฑิฐานวัน ใกล้พระนคร กุณฑิยา ก็สมัยนั้นแล พระนางสุปปวาสาพระธิดาของพระเจ้าโกลิยะทรงครรภ์ อยู่ถึง ๗ ปี มีครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน พระนางสุปปวาสานั้น ผู้อันทุกขเวทนา กล้าเผ็ดร้อนถูกต้องแล้วทรงอดกลั้นได้ด้วยการตรึก ๓ ข้อว่า พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นตรัสรู้ด้วยพระองค์โดยชอบหนอ ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อละทุกข์ เห็นปานนี้ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ปฏิบัติดีแล้วหนอ ปฏิบัติเพื่อละทุกข์เห็นปานนี้ นิพพานซึ่งเป็นที่ไม่มีทุกข์เห็นปานนี้เป็นสุขดีหนอ ฯ [๖๐] ครั้งนั้นแล พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาเชิญพระสวามีมาว่า เชิญมานี่เถิดพระลูกเจ้า ขอเชิญพระองค์เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้ว ทรง ถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้าตามคำของหม่อมฉัน จงทูล ถามถึงความเป็นผู้มีพระอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง กะปรี้กะเปร่ามีพระกำลัง

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘๒.

ความอยู่สำราญว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางสุปปวาสาโกลิยธิดาถวายบังคม พระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และทูลถามความเป็นผู้มีพระอาพาธ น้อย พระโรคเบาบาง กะปรี้กะเปร่า มีพระกำลัง ความอยู่สำราญ อนึ่ง ขอพระองค์จงกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางสุปปวาสาโกลิยธิดา ทรงครรภ์ ๗ ปี มีครรภ์หลงอยู่ ๗ วัน นางสุปปวาสานั้นอันทุกขเวทนากล้าเผ็ดร้อน ถูกต้องแล้ว ย่อมอดกลั้นได้ด้วยการตรึก ๓ ข้อว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบหนอ ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อละทุกข์เห็นปานนี้ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ปฏิบัติดีหนอ ปฏิบัติเพื่อละทุกข์ เห็นปานนี้ นิพพานซึ่งเป็นที่ไม่มีทุกข์เห็นปานนี้ เป็นสุขดีหนอ พระราชบุตร พระเจ้าโกลิยะนั้น ทรงรับคำของพระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาแล้วเสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และตรัส ถามถึงความเป็นผู้มีพระอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง กะปรี้กะเปร่า ทรงพระ กำลัง ความอยู่สำราญ และรับสั่งอย่างนี้ว่า พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาทรง ครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีครรภ์หลงอยู่ ๗ วัน พระนางสุปปวาสานั้นผู้อันทุกขเวทนา กล้าเผ็ดร้อนถูกต้องแล้ว ย่อมอดกลั้นได้ด้วยการตรึก ๓ ข้อว่า พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบหนอ ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อละทุกข์ เห็นปานนี้ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ปฏิบัติดีหนอ ปฏิบัติ เพื่อละทุกข์เห็นปานนี้ นิพพานซึ่งเป็นที่ไม่มีทุกข์เห็นปานนี้ เป็นสุขดีหนอ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาจงเป็นผู้มีสุข หาโรค มิได้ คลอดบุตรหาโรคมิได้เถิด ก็แลพระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาทรงมีสุข หาโรคมิได้ ประสูติพระโอรสผู้หาโรคมิได้ พร้อมกับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค พระราชบุตรของพระเจ้าโกลิยะนั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ทรงชื่นชมยินดีพระภาษิต

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘๓.

ของพระผู้มีพระภาค เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมกระทำประทักษิณแล้ว เสด็จกลับไปสู่นิเวสน์ของตน ได้ทรงเห็นพระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาทรงมีสุข หาโรคมิได้ ประสูติพระโอรสผู้หาโรคมิได้ ครั้นแล้วได้ทรงดำริว่า น่าอัศจรรย์จริง หนอไม่เคยมีมา พระตถาคตมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ก็แลพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดานี้ทรงมีสุข หาโรคมิได้ คงจักประสูติพระโอรสผู้หาโรคมิได้ พร้อม กับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ได้เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน มีปีติโสมนัส ฯ [๖๑] ครั้งนั้นแล พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาทูลเชิญพระสวามีมาว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอเชิญพระองค์เสด็จมานี่เถิด เชิญพระองค์เสด็จไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค แล้วจงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าตามคำของหม่อมฉันว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางสุปปวาสาโกลิยธิดา ถวายบังคมพระบาทของพระผู้มี พระภาคด้วยเศียรเกล้า อนึ่ง ขอพระองค์จงทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางสุปปวาสาโกลิยธิดาทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีครรภ์หลงถึง ๗ วัน บัดนี้ พระ นางมีสุข หาโรคมิได้ คลอดบุตรผู้หาโรคมิได้ นางนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุขด้วยภัตตาหารสิ้น ๗ วัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค กับภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตตาหารของนางสุปปวาสาโกลิยธิดา ๗ วันเถิด พระราช บุตรของพระเจ้าโกลิยะนั้นทรงรับคำพระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาแล้ว เสร็จไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า อนึ่ง พระนาง รับสั่งมาอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาทรงครรภ์ อยู่ถึง ๗ ปี มีครรภ์หลงถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงมีสุข หาโรคมิได้ ประสูติพระโอรสผู้หาโรคมิได้ พระนางนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประมุขด้วยภัตตาหารสิ้น ๗ วัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคกับ ภิกษุสงฆ์โปรดทรงรับภัตตาหารของนางสุปปวาสาโกลิยธิดาสิ้น ๗ วันเถิด ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘๔.

[๖๒] ก็สมัยนั้นแล อุบาสกคนหนึ่งนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประมุขด้วยภัตเพื่อฉันในวันพรุ่ง ก็อุบาสกนั้นเป็นอุปัฏฐากของท่านพระมหา โมคคัลลานะ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า มานี่แน่ะโมคคัลลานะ ท่านจงเข้าไปหาอุบาสกนั้น ครั้นแล้วจงกล่าวกะอุบาสก นั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีครรภ์หลงถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงมีสุข หาโรคมิได้ ประสูติพระโอรส ผู้หาโรคมิได้ นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยภัตตาหารสิ้น ๗ วัน พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาจงทำภัตตาหารสิ้น ๗ วันเถิด อุปัฏฐากของท่านนั้น จักทำภายหลัง ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหา อุบาสกนั้น ครั้นแล้วได้กล่าวกะอุบาสกนั้นว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีครรภ์หลงถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงมีสุข หาโรคมิได้ ประสูติพระโอรสผู้หาโรคมิได้ นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุขด้วยภัตตาหารสิ้น ๗ วัน พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาจงทำภัตสิ้น ๗ วัน ท่านจักทำในภายหลัง อุบาสกนั้นกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าว่าพระ มหาโมคคัลลานะผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ประกันธรรม ๓ อย่าง คือ โภคสมบัติ ชีวิต และศรัทธา ของกระผมได้ไซร้ พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาจงทำภัตตาหารสิ้น ๗ วันเถิด กระผมจักทำในภายหลัง ฯ โม. ดูกรท่านผู้มีอายุ ฉันจะเป็นผู้ประกันธรรม ๒ อย่าง คือโภคสมบัติ และชีวิตของท่าน ส่วนท่านเองเป็นผู้ประกันศรัทธา ฯ อุ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าว่าพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ประกัน ธรรม ๒ อย่าง คือ โภคสมบัติและชีวิตได้ไซร้ พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดา จงทำภัตตาหารสิ้น ๗ วันเถิด กระผมจักทำในภายหลัง ฯ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ยังอุบาสกนั้นให้ยินยอมแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘๕.

ผู้เจริญ ข้าพระองค์ให้อุบาสกนั้นยินยอมแล้ว พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาจงทรง ทำภัตตาหารตลอด ๗ วัน อุบาสกนั้นจะทำในภายหลัง พระเจ้าข้า ฯ ครั้งนั้นแล พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดา ทรงอังคาสภิกษุสงฆ์มี พระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยพระหัตถ์ของ พระนาง สิ้น ๗ วัน ให้ทารกนั้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาคและให้ไหว้ภิกษุสงฆ์ แล้ว ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้ถามทารกนั้นว่า พ่อหนู เธอสบายดีหรือ พอเป็นไปหรอก หรือทุกข์อะไรๆ ไม่มีหรือ ทารกนั้นตอบว่า ข้าแต่พระสารีบุตร ผู้เจริญ กระผมจักสบายแต่ไหนได้ พอเป็นไปแต่ไหน กระผมอยู่ในท้องเปื้อน ด้วยโลหิตถึง ๗ ปี ลำดับนั้นแล พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดา ทรงมีพระทัย ชื่นชมเบิกบานเกิดปีติโสมนัสว่า บุตรของเราได้สนทนากับพระธรรมเสนาบดี ฯ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดา ทรงมีพระทัยชื่นชม เบิกบานเกิดปีติโสมนัสแล้ว จึงตรัสถามพระนางสุปปวาสา- *โกลิยธิดาว่า ดูกรพระนาง พึงปรารถนาพระโอรสเห็นปานนี้แม้อื่นหรือ พระนาง สุปปวาสากราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ หม่อมฉันพึงปรารถนาบุตร เห็นปานนี้แม้อื่นอีก ๗ คนเจ้าค่ะ ฯ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทาน นี้ในเวลานั้นว่า ทุกข์อันไม่น่ายินดี ย่อมครอบงำคนผู้ประมาท โดยความเป็น ของน่ายินดี ทุกข์อันไม่น่ารักย่อมครอบงำคนผู้ประมาท โดยความเป็นของน่ารัก ทุกข์ย่อมครอบงำบุคคลผู้ประมาท โดยความเป็นสุข ฯ
จบสูตรที่ ๘

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๑๘๗๐-๑๙๗๖ หน้าที่ ๘๑ - ๘๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=1870&Z=1976&pagebreak=1 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=62&book=25&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=25&siri=53              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=59              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=25&A=1875              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=25&A=1875              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_25

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]