ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
มหานิบาตชาดก
๑. เตมิยชาดก
พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี
[๓๙๔] ท่านจงอย่าแสดงตนเป็นคนฉลาด จงให้คนทั้งปวงรู้ว่าตนเป็นคนโง่ คนทั้งหมดนั้นจะได้ดูหมิ่นท่านว่า เป็นคนกาฬกัณณี ความประสงค์ของ ท่านจะสำเร็จด้วยอาการอย่างนี้. [๓๙๕] ดูกรแม่เทพธิดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำที่ท่านกล่าว ท่านเป็นผู้ปรารถนา ประโยชน์ ปรารถนาจะเกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า. [๓๙๖] ดูกรนายสารถี ท่านจะรีบขุดหลุมไปทำไม เราถามแล้ว ขอท่านจงบอก ท่านจักทำประโยชน์อะไรด้วยหลุม. [๓๙๗] พระราชโอรสของพระราชาเป็นใบ้ เป็นง่อยเปลี้ย ไม่มีจิตใจ พระราชา ตรัสสั่งข้าพเจ้าว่า พึงฝังลูกเราเสียในป่า. [๓๙๘] ดูกรนายสารถี เรามิได้เป็นคนหนวก มิได้เป็นคนใบ้ มิได้เป็นง่อยเปลี้ย มิได้มีอินทรีย์วิกลการ ถ้าท่านพึงฝังเราในป่า ท่านก็ชื่อว่าพึงกระทำสิ่งที่ ไม่เป็นธรรม เชิญท่านดูขาและแขนของเรา และเชิญฟังคำภาษิตของเรา ถ้าท่านพึงฝังเราเสียในป่า ท่านก็ชื่อว่าพึงกระทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม. [๓๙๙] ท่านเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ ท่านเป็นใคร หรือว่าเป็นบุตรของใคร เราทั้งหลายจะรู้จักท่านอย่างไร. [๔๐๐] เราไม่ใช่เป็นเทวดา ไม่ใช่เป็นคนธรรพ์ ไม่ใช่เป็นท้าวสักกปุรินททะ เราเป็นโอรสของพระเจ้ากาสีผู้ที่ท่านอาศัยบารมีเลี้ยงชีพอยู่ ดูกรนายสารถี ถ้าท่านพึงฝังเราเสียในป่า ท่านก็ชื่อว่าพึงกระทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม บุคคล พึงนั่งหรือนอนที่ร่มเงาต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งต้นไม้นั้น เพราะว่า ผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม พระราชาเป็นเหมือนต้นไม้ เราเป็น เหมือนกิ่งไม้ ท่านสารถีเป็นเหมือนคนอาศัยร่มเงา ดูกรนายสารถี ถ้าท่านพึงฝังเราเสียในป่า ท่านก็ชื่อว่าพึงกระทำซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นธรรม. [๔๐๑] ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ออกจากเรือนของตน ไปในที่ไหนๆ ย่อมมี อาหารมากมาย คนเป็นอันมากย่อมอาศัยผู้นั้นเป็นอยู่ ผู้ใดไม่ประทุษร้าย มิตร ผู้นั้นไปยังชนบท นิคม ราชธานีใดๆ ย่อมเป็นผู้อันชนทั้งหลาย ในชนบท นิคม ราชธานีนั้นๆ บูชา ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ผู้นั้นโจร ทั้งหลายไม่ข่มเหง พระมหากษัตริย์ ก็ไม่ทรงดูหมิ่น และผู้นั้นย่อมข้าม พ้นศัตรูทั้งปวงได้ ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ผู้นั้นไม่ได้โกรธเคืองใครๆ มายังเรือนของตน ย่อมเป็นผู้อันมหาชนยินดีต้อนรับในสภา ทั้งเป็น ผู้สูงสุดในหมู่ญาติ ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ผู้นั้นสักการะคนอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้อันคนอื่นสักการะตอบ เคารพคนอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้อันคนอื่น เคารพตอบ ทั้งเป็นผู้อันบุคคลกล่าวสรรเสริญเกียรติคุณ ผู้ใดไม่ประทุษ ร้ายมิตร บูชาผู้อื่น ย่อมได้บูชาตอบ ไหว้ผู้อื่น ย่อมได้ไหว้ตอบ ทั้งย่อมถึงอิสริยยศและเกียรติยศ ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ผู้นั้นย่อม รุ่งเรืองเหมือนกองไฟ ย่อมไพโรจน์เหมือนเทวดา เป็นผู้อันสิริไม่ละแล้ว ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร โคของผู้นั้นย่อมเกิดมากมูล พืชในนาย่อม งอกงาม ผู้นั้นย่อมได้บริโภคผลที่หว่านลงแล้ว นรชนใดไม่ประทุษร้าย มิตร นรชนนั้น พลาดจากภูเขา หรือพลาดตกจากต้นไม้ ย่อมได้ที่พึ่ง ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ศัตรูทั้งหลายย่อมไม่ข่มขี่ผู้นั้น เหมือนต้นไทร ที่มีรากหยั่งลงมั่นแล้ว ลมประทุษร้ายไม่ได้ฉะนั้น. [๔๐๒] ข้าแต่พระราชโอรส เชิญเสด็จเถิด เกล้ากระหม่อม จักนำพระองค์ เสด็จกลับยังพระราชมณเฑียร เชิญพระองค์เสวยราชสมบัติ พระองค์ จงทรงพระเจริญ จะทรงหาประโยชน์อะไรอยู่ในป่าเล่า. [๔๐๓] ดูกรนายสารถี เราไม่ต้องการด้วยราชสมบัติ พระประยูรญาติ หรือทรัพย์ สมบัติ ที่เราจะพึงได้ด้วยการประพฤติธรรม. [๔๐๔] ข้าแต่พระราชโอรส พระองค์เสด็จกลับจากที่นี้แล้ว จะทำให้เกล้า- กระหม่อมได้รางวัลที่น่ายินดี เมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้ว พระชนกและ พระชนนีพึงพระราชทานรางวัลแก่เกล้ากระหม่อม ข้าแต่พระราชโอรส เมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้ว นางสนม พวกกุมาร พ่อค้า และพวก พราหมณ์ จะพึงดีใจ ให้รางวัลแก่เกล้ากระหม่อม ข้าแต่พระราชโอรส เมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้ว กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และ กองพลราบ จะพึงดีใจให้รางวัล แก่เกล้ากระหม่อม ข้าแต่พระราชโอรส เมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้ว ชาวชนบท และชาวนิคม ผู้มีธัญญาหาร มากมาย จะมาประชุมกันให้เครื่องบรรณาการแก่เกล้ากระหม่อม. [๔๐๕] เราเป็นผู้อันพระชนกและพระชนนี ชาวแว่นแคว้น ชาวนิคม และ กุมารทั้งปวงสละแล้ว เราไม่มีเรือนของตน เราอันพระชนนีทรงอนุญาต แล้ว และพระชนกก็ทรงยินดี สละอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว ไม่พึงปรารถนา กามทั้งหลาย เราจะบวช. [๔๐๖] ความปรารถนาผลของบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จแน่นอน เราเป็น ผู้มีพรหมจรรย์อันสำเร็จแล้ว ดูกรนายสารถี ท่านจงรู้อย่างนี้ ประโยชน์ โดยชอบของบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จโดยแท้ เราเป็นผู้มีพรหมจรรย์ อันสำเร็จแล้ว เราออกบวชแล้ว เป็นผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ. [๔๐๗] พระองค์เป็นผู้มีพระวาจาอันไพเราะ สละสลวยอย่างนี้ เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ตรัสในสำนักพระชนกและพระชนนีในกาลนั้น. [๔๐๘] เราเป็นคนง่อยเปลี้ยเพราะไม่มีเครื่องต่อก็หาไม่ เป็นคนหนวกเพราะ ไม่มีช่องหูก็หาไม่ เป็นคนใบ้เพราะไม่มีลิ้นก็หาไม่ ท่านอย่าเข้าใจว่า เราเป็นใบ้ เราระลึกชาติก่อนที่เราเสวยราชสมบัติได้ เราได้เสวย ราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว ต้องไปตกนรกอันกล้าแข็ง เราได้เสวย ราชสมบัติในกาลนั้นยี่สิบปีแล้วต้องหมกไหม้อยู่ในนรก ๘๐,๐๐๐ ปี เรา กลัวจะต้องเสวยราชสมบัตินั้น จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอชนทั้งหลาย อย่าได้อภิเษกเราในราชสมบัติเลย เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่พูดในสำนัก ของพระชนก และพระชนนีในกาลนั้น พระชนกทรงอุ้มเรา ให้นั่ง บนพระเพลา แล้วตรัสสั่งข้อความว่า จงฆ่าโจรคนหนึ่ง จงขังโจร คนหนึ่งไว้ในเรือนจำ จงเอาหอกแทงโจรคนหนึ่ง แล้วราดด้วยน้ำแสบ ที่แผล จงเสียบโจรคนหนึ่งบนหลาว พระชนกตรัสสั่งข้อความแก่มหาชน ด้วยประการดังนี้ เราได้ฟังพระวาจาอันหยาบคาย ที่พระชนกตรัสนั้น จึง กลัวต่อการเสวยราชสมบัติ เรามิได้เป็นใบ้ ก็ทำเหมือนเป็นใบ้ มิได้เป็น คนง่อยเปลี้ย ก็ทำเหมือนเป็นคนง่อยเปลี้ย เราแกล้งนอนเกลือกกลิ้งอยู่ ในอุจจาระปัสสาวะของตน ชีวิตเป็นของฝืดเคือง เป็นของน้อย ทั้งประกอบไปด้วยทุกข์ ใครเล่าอาศัยชีวิตนี้แล้ว พึงก่อเวรกับใครๆ ใคร เล่าได้อาศัยชีวิตนี้แล้ว พึงก่อเวรกับใครๆ เพราะไม่ได้ปัญญา และเพราะ ไม่เห็นธรรม ความหวังผลของบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จแน่นอน เราเป็นผู้มีพรหมจรรย์อันสำเร็จแล้ว ดูกรนายสารถี ท่านจงรู้อย่างนี้ ประโยชน์โดยชอบของบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จโดยแท้ เราเป็นผู้ มีพรหมจรรย์อันสำเร็จแล้ว เราออกบวชแล้วเป็นผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ. [๔๐๙] ข้าแต่พระราชโอรส แม้เกล้ากระหม่อม ก็จักบวชในสำนักของพระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดตรัสอนุญาตให้เกล้ากระหม่อมบวชด้วยเถิด ขอพระ องค์จงทรงพระเจริญ เกล้ากระหม่อมก็ชอบบวช. [๔๑๐] ดูกรนายสารถี เรามอบรถให้ท่านไว้ ท่านจงเป็นผู้ไม่มีหนี้มา จริงอยู่ การบรรพชา ของบุคคลผู้ไม่มีหนี้ ท่านผู้แสวงหาทั้งหลายสรรเสริญ. [๔๑๑] ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ เมื่อใด เกล้ากระหม่อมได้ทำตามพระดำรัส ของพระองค์แล้ว เมื่อนั้น เกล้ากระหม่อมทูลวิงวอนแล้ว ขอพระองค์ ได้ทรงโปรดกระทำตามคำของเกล้ากระหม่อม ขอพระองค์จงประทับรอ อยู่ ณ ที่นี้จนกว่าเกล้ากระหม่อมจะเชิญเสด็จพระราชามา เมื่อพระชนก ของพระองค์ ทอดพระเนตรเห็นแล้ว จะพึงทรงมีพระปีติโสมนัสเป็นแน่. [๔๑๒] ดูกรนายสารถี เราจะทำตามคำที่ท่านกล่าวกะเรา แม้เราก็ปรารถนาจะได้ เห็นพระชนกของเราเสด็จมา ณ ที่นี้ เชิญท่านกลับไปเถิด ท่านได้ทูล พระประยูรญาติด้วยก็เป็นความดี ท่านเป็นผู้อันเราสั่งแล้ว พึงกราบทูล ถวายบังคมพระชนนีและพระชนกของเรา. [๔๑๓] นายสารถีจับพระบาทของพระโพธิสัตว์ และกระทำประทักษิณแล้ว ขึ้น รถบ่ายหน้าเข้าไป ยังพระทวารพระราชวัง. [๔๑๔] พระราชชนนีทอดพระเนตรเห็นรถเปล่า นายสารถีกลับมาแต่ผู้เดียว ทรงกรรแสง มีพระเนตรชุ่มด้วยน้ำอัสสุชล ทอดพระเนตรดูนายสารถี นั้นอยู่ ทรงเข้าพระทัยว่านายสารถีฝังลูกของเราเสร็จแล้วกลับมา ลูก ของเราอันนายสารถีฝังในแผ่นดิน ถมแผ่นดินแล้วเป็นแน่ ศัตรูทั้งหลาย ย่อมพากันยินดี คนมีเวรทั้งหลายย่อมพากันอิ่มใจแน่แท้ เพราะเห็นนาย สารถีกลับมา เพราะนายสารถีฝังลูกของเรา พระราชชนนีทอดพระเนตร เห็นรถเปล่า และนายสารถีกลับมาแต่ผู้เดียว จึงทรงกรรแสง มีพระเนตร ชุ่มด้วยน้ำอัสสุชล ตรัสถามนายสารถีระร่ำระรักว่า ลูกของเราเป็นใบ้ หรือ เป็นง่อยเปลี้ยจริงหรือ ลูกของเราขณะเมื่อท่านจะฝังในแผ่นดิน พูด อะไรบ้างหรือเปล่า ดูกรนายสารถี ขอได้บอกเนื้อความนั้นแก่เราเถิด ลูก ของเราเป็นใบ้ ง่อยเปลี้ย เมื่อท่านจะฝังลงแผ่นดิน กระดิกมือและเท้า อย่างไร เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เรา. [๔๑๕] ขอเดชะพระแม่เจ้า ขอได้โปรดพระราชทานอภัยแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้า- พระพุทธเจ้าขอกราบทูลตามที่ได้ยินและได้เห็นมา ในสำนักพระราชโอรส. [๔๑๖] ดูกรนายสารถีผู้สหาย เราให้อภัยแก่ท่าน อย่ากลัวเลย จงพูดไปเถิด ตามที่ท่านได้ฟัง หรือได้เห็นมาในสำนักพระราชโอรส. [๔๑๗] พระราชโอรสนั้น มิได้ทรงเป็นใบ้ มิได้เป็นง่อยเปลี้ย มีพระวาจาสละ- สลวย ทราบว่า พระองค์ทรงกลัวต่อการครองราชสมบัติ จึงได้ทรง กระทำการลวงเป็นอันมาก พระองค์ทรงระลึกถึงชาติก่อนที่พระองค์ได้ เสวยราชสมบัติได้ พระองค์ได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว ต้องไป ตกนรกอันกล้าแข็ง พระองค์ได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้น ๒๐ ปี แล้ว ต้องหมกไหม้อยู่ในนรก ๘๐๐๐๐ ปี พระองค์ทรงกลัวจะต้องเสวยราช- สมบัตินั้น จึงทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอชนทั้งหลายอย่าอภิเษกเราใน ราชสมบัติเลย เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ตรัสในราชสำนัก ของ พระชนกและพระชนนีในกาลนั้น พระราชโอรสทรงสมบูรณ์ด้วยอังคา- พยพ มีพระรูปสมบัติงดงามสมส่วน มีพระวาจาสละสลวย มีพระ ปัญญาเฉียบแหลม ทรงสถิตอยู่ในทางสวรรค์ ถ้าพระแม่เจ้าทรงปรารถนา พระราชโอรสของพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลเชิญเสด็จพระแม่เจ้า เสด็จไปให้ถึงสถานที่ ซึ่งพระเตมีย์ราชโอรสประทับอยู่เถิด พระพุทธ- เจ้าข้า. [๔๑๘] เจ้าหน้าที่ทั้งหลายจงเทียมรถ จงเทียมม้า จงผูกเครื่องประดับช้าง จง กระทั่งสังข์และบัณเฑาะว์ จงตีกลองหน้าเดียว จงตีกลองสองหน้า และรำมะนาอันไพเราะ ขอชาวนิคม จงตามเรามา เราจักไปให้โอวาท พระราชโอรส นางสนม พวกกุมาร พวกพ่อค้า และพวกพราหมณ์ จงรีบตระเตรียมยาน เราจักไปให้โอวาทพระราชโอรส พวกกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถและกองพลราบ จงรีบเทียมยาน เราจักไปให้ โอวาทพระราชโอรส ชาวชนบท และชาวนิคม จงมาพร้อมกัน จงรีบ ตระเตรียมยาน เราจักไปให้โอวาทพระราชโอรส. [๔๑๙] พวกสารถี จูงม้าที่เทียมรถและม้าสินธพ ซึ่งเป็นพาหนะว่องไว มายัง ประตูพระราชวัง แล้วกราบทูลว่า ม้าทั้งสองนี้เทียมไว้เสร็จแล้วพระเจ้าข้า. [๔๒๐] ม้าอ้วนไม่มีความว่องไว ม้าผอมไม่มีเรี่ยวแรง จงเว้นม้าผอมและม้า อ้วนเสีย เลือกเทียมแต่ม้าที่สมบูรณ์. [๔๒๑] ลำดับนั้น พระราชารีบเสด็จขึ้นประทับสินธพ อันเทียมแล้ว ได้ตรัส กับนางชาววังว่า จงตามเรามาทุกคน พระราชาตรัสสั่งว่า จงตระเตรียม เครื่องปัญจราชกกุธภัณฑ์ คือ พัดวาลวีชนี อุณหิส พระขรรค์ เศวต- ฉัตร และฉลองพระบาททอง ให้ขนขึ้นรถไปด้วย ลำดับนั้นแล พระ ราชาตรัสสั่งให้นายสารถีนำทางเสด็จเคลื่อนขบวนเข้าไปถึงสถานที่ ที่ พระเตมีย์ ราชฤาษีประทับอยู่โดยพลัน. [๔๒๒] ส่วนพระเตมีย์ราชฤาษี ทอดพระเนตรเห็นพระชนกนาถกำลังเสด็จมา ทรงรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ ทรงแวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ จึงถวาย พระพรว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร ทรงปราศจากพระโรคาพาธหรือ ทรง พระสำราญดีหรือ ราชกัญญาทั้งปวง และโยมพระมารดาของอาตมภาพ ไม่มีพระโรคพาธหรือ. [๔๒๓] ดูกรพระลูกรัก ดิฉันไม่มีโรคาพาธ สุขสำราญดี พระราชกัญญาทั้งปวง และโยมพระมารดาของพระลูกรักไม่มีโรคาพาธ. [๔๒๔] ขอถวายพระพร มหาบพิตรไม่เสวยน้ำจัณฑ์ หรือ ไม่ทรงโปรดปราน น้ำจัณฑ์หรือ พระหฤทัยของมหาบพิตรทรงยินดีในสัจจะ ในธรรม และในทานหรือ. [๔๒๕] ดูกรพระลูกรัก ดิฉันไม่ดื่มน้ำจัณฑ์ ไม่โปรดปรานน้ำจัณฑ์ ใจของดิฉัน ยินดีในสัจจะ ในธรรมและในทาน. [๔๒๖] ขอถวายพระพร พาหนะมีม้าเป็นต้นของมหาบพิตรที่เขาเทียมแล้วไม่มี โรคหรือ นำอะไรๆ ไปได้หรือ มหาบพิตรไม่มีพยาธิที่เข้าไปแผดเผาพระ สรีระแลหรือ. [๔๒๗] ดูกรพระลูกรัก พาหนะมีม้าเป็นต้นของดิฉันที่เทียมแล้ว ไม่มีโรค นำ อะไรๆ ไปได้ ดิฉันไม่มีพยาธิเข้าไปแผดเผาสรีระ. [๔๒๘] ขอถวายพระพร ปัจจันตชนบทของมหาบพิตรยังเจริญดีอยู่หรือ คาม- นิคมในท่ามกลางรัฐสีมาของมหาบพิตรยังแน่นหนาดีหรือ ฉางหลวง และท้องพระคลังของมหาบพิตรยังบริบูรณ์ดีอยู่หรือ. [๔๒๙] ดูกรพระลูกรัก ปัจจันตชนบทของดิฉันยังเจริญดีอยู่ คามนิคมในท่าม กลางรัฐสีมาของดิฉันยังแน่นหนาดี ฉางหลวงและท้องพระคลังของ ดิฉันทั้งหมดยังบริบูรณ์ดี. [๔๓๐] ขอถวายพระพร มหาบพิตรเสด็จมาดีแล้ว มหาบพิตรเสด็จไม่ร้าย ขอ ราชบุรุษทั้งหลายจงจัดตั้งบัลลังก์ถวายให้พระราชาประทับเถิด. [๔๓๑] ขอเชิญประทับนั่ง ณ เครื่องลาดใบไม้ที่เขาปูลาดไว้ถวายมหาบพิตร ณ ที่นี้ จงทรงตักน้ำจากภาชนะนี้ล้างพระบาทของมหาบพิตรเถิด. [๔๓๒] ขอถวายพระพร ใบหมากเม่าของอาตมภาพนี้เป็นของสุก (นึ่งแล้ว) ไม่ มีรสเค็ม มหาบพิตรผู้เป็นแขกของอาตมภาพเสด็จมาถึงแล้วเชิญเสวย เถิด ขอถวายพระพร. [๔๓๓] ดิฉันไม่บริโภคใบหมากเม่า ใบหมากเม่านี้ไม่ใช่อาหารสำหรับดิฉัน ดิฉัน บริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลี ซึ่งปรุงด้วยมังสะอันสะอาด. [๔๓๔] ความอัศจรรย์ย่อมแจ่มแจ้งกะดิฉัน เพราะได้เห็นพระลูกรักอยู่ในที่ลับแต่ ผู้เดียว บริโภคอาหารเช่นนี้ เหตุไรผิวพรรณ (ของผู้บริโภคอาหารเช่นนี้) จึงผ่องใส. [๔๓๕] ขอถวายพระพร อาตมภาพนอนผู้เดียวบนเครื่องลาดใบไม้ที่ปูลาดไว้แล้ว เพราะการนอนผู้เดียวนั้น ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส ใครๆ มิได้ ตั้งการรักษาทางราชการที่ต้องผูกเหน็บดาบสำหรับอาตมภาพ เพราะการ นอนผู้เดียวนั้นผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส ขอถวายพระพร อาตม- ภาพไม่ได้เศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว ไม่ปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มา ถึง ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะเหตุนั้น ผิว พรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส คนพาลทั้งหลายย่อมเหือดแห้ง เพราะ ปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง เพราะเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว เปรียบเหมือนไม้อ้ออันเขียวสด ถูกถอนขึ้นทิ้งไว้ที่แดด ฉะนั้น. [๔๓๖] ดูกรพระลูกรัก ดิฉันขอมอบกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กอง พลราบ กองโล่ห์และพระราชนิเวศน์อันเป็นสถานที่รื่นรมย์แก่พระลูกรัก ดิฉันขอมอบนางสนมกำนัลผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง ขอ พระลูกรักจงปกครองนางสนมกำนัลเหล่านั้น จงเป็นพระราชาของดิฉัน ทั้งหลาย หญิง ๔ คน เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง ศึกษา ดีแล้วในหน้าที่ของหญิง จักยังพระลูกรักให้รื่นรมย์ในกาม พระลูกรัก จักทำประโยชน์อะไรในป่า ดิฉันจักนำราชกัญญาจากพระราชาเหล่าอื่นผู้ ประดับประดาดีแล้ว พระลูกรักให้พระโอรสเกิดในหญิงเหล่านั้นหลาย คนแล้วภายหลังจึงบวชเถิด พระลูกเจ้ายังทรงพระเยาว์หนุ่มแน่น ตั้งอยู่ ในปฐมวัย พระเกศายังดำสนิท จงเสวยราชสมบัติก่อนเถิด พระลูก เจ้าจงทรงพระเจริญ จักกระทำประโยชน์อะไรในป่า. [๔๓๗] ขอถวายพระพร คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ควรจะเป็นคนหนุ่ม เพราะว่าการบวชของคนหนุ่ม ท่านผู้แสวงหาคุณ- ธรรมมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญคนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ ประพฤติพรหมจรรย์ควรจะเป็นคนหนุ่ม อาตมภาพจักประพฤติพรหม- จรรย์ อาตมภาพไม่ต้องการด้วยราชสมบัติ อาตมภาพเห็นเด็กชายของ ท่านทั้งหลาย ผู้เรียกมารดาบิดา ซึ่งเป็นบุตรที่รักอันได้มาด้วยยากยิ่งนัก ยังไม่ทันถึงแก่ก็ตายเสียแล้ว อาตมภาพเห็นเด็กหญิงของท่านทั้งหลาย ซึ่งสวยสดงดงามน่าดูน่าชม มีอันสิ้นไปแห่งชีวิตเหมือนหน่อไม้ไผ่ที่ถูก ถอน ฉะนั้น จริงอยู่ จะเป็นชายหรือหญิงก็ตามแม้จะยังหนุ่มสาวก็ตาย เพราะเหตุนั้น ใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตนั้นว่า เรายังเป็นหนุ่มสาว อายุของคนเป็นของน้อยนัก เพราะวันคืนล่วงไปๆ เปรียบเหมือนอายุ ของฝูงปลาในน้ำน้อย ความเป็นหนุ่มสาวในวัยนั้นจักทำอะไรได้ สัตว์โลกถูกครอบงำและถูกห้อมล้อมอยู่เป็นนิตย์ เมื่อสิ่งที่ไม่เป็น ประโยชน์เป็นไปอยู่ มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพในราชสมบัติทำไม. [๔๓๘] สัตว์โลกอันอะไรครอบงำไว้ และอันอะไรห้อมล้อมไว้ อะไรชื่อว่าสิ่ง ไม่เป็นประโยชน์เป็นไปอยู่ ดิฉันถามแล้ว ขอพระลูกเจ้าจงบอกข้อนั้น แก่ดิฉัน. [๔๓๙] สัตว์โลกอันความตายครอบงำไว้ อันความแก่ห้อมล้อมไว้ วันคืนชื่อว่าสิ่ง ไม่เป็นประโยชน์เป็นไป มหาบพิตรจงทรงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร เมื่อด้ายที่เขากำลังทอ ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอก็ยัง เหลืออยู่น้อยเท่านั้น แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น แม้น้ำ ที่เต็มฝั่งย่อมไม่ไหลไปสู่ที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่ กลับมาสู่ความเป็นเด็กอีก ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้ ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ฉันใด สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัด พาไป ฉันนั้น. [๔๔๐] ดูกรพระลูกรัก ดิฉันขอมอบกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กอง พลราบ กองพลโล่ห์ และพระราชนิเวศน์อันเป็นสถานที่รื่นรมย์แก่พระ ลูกรัก ดิฉันขอมอบนางสนมกำนัลผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง ขอพระลูกจงปกครองนางสนมกำนัลเหล่านั้น จงเป็นพระราชาของดิฉัน ทั้งหลาย หญิง ๔ คน เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง ศึกษา ดีแล้วในหน้าที่ของหญิง จักยังพระลูกรักให้รื่นรมย์ในกาม พระลูกรัก จักทำประโยชน์อะไรในป่า ดิฉันจักนำราชกัญญาจากพระราชาเหล่าอื่น ผู้ ประดับประดาดีแล้ว มาให้แก่พระลูก พระลูกรักให้พระโอรสเกิดใน หญิงเหล่านั้นหลายคนแล้ว ภายหลังจึงบวชเถิด พระลูกเจ้ายังทรงพระ- เยาว์หนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัยพระเกศายังดำสนิท จงเสวยราชสมบัติ ก่อนเถิด พระลูกเจ้าจงทรงพระเจริญ จักกระทำประโยชน์อะไรในป่า ดูกร พระลูกรัก ดิฉันขอมอบฉางหลวง พระคลัง พาหนะ พลนิกายและนิเวศน์ อันน่ารื่นรมย์ แก่พระลูกรัก พระลูกรักจงแวดล้อมด้วยราชกัญญาอันงด งามเป็นมณฑล จงห้อมล้อมด้วยหมู่นางทาสี เสวยราชสมบัติก่อนเถิด พระลูกรักจงทรงพระเจริญ จักกระทำประโยชน์อะไรในป่า. [๔๔๑] มหาบพิตรจะให้อาตมภาพเสื่อมไปเพราะทรัพย์ทำไม บุคคลจักตายเพราะ ภรรยาทำไม ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นหนุ่มสาวซึ่งต้องแก่ ทำไมจะ ต้องให้ชราครอบงำในโลกพิศวาสอันมีชราและมรณะเป็นธรรมดานั้น จัก เพลิดเพลินไปทำไม จะเล่นหัวไปทำไม จะยินดีไปทำไม จะมีประโยชน์ อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยลูกและเมียแก่ อาตมภาพ อาตมภาพหลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูก ขอถวายพระพร มัจจุราช ย่อมไม่ย่ำยีอาตมภาพซึ่งรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว จะยินดีไปทำไม จะประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ ผลไม้ที่สุก แล้ว ย่อมเกิดภัยแก่การหล่นเป็นนิตย์ ฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว ย่อมมีภัยแต่ความตายเป็นนิตย์ ฉันนั้น คนเป็นอันมากได้พบกันในเวลา เช้าพอเวลาเย็นก็ไม่เห็นกัน คนเป็นอันมากได้พบกันในเวลาเย็น พอ ถึงเวลาเช้าก็ไม่ได้เห็นกัน ควรรีบทำความเพียรเสียแต่ในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะพึงรู้ความตายว่าจะมีในวันพรุ่งนี้ เพราะความผัดเพี้ยนกับ มัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นไม่มีเลย โจรทั้งหลายย่อมปรารถนาทรัพย์ อาตมภาพเป็นผู้พ้นจากเครื่องผูก ขอถวายพระพร เชิญมหาบพิตรเสด็จ กลับเถิด อาตมภาพไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ.
จบ เตมิยชาดกที่ ๑

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ บรรทัดที่ ๒๖๐๗-๒๘๗๐ หน้าที่ ๑๐๒ - ๑๑๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=28&A=2607&Z=2870&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=441&book=28              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=28&siri=13              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=394              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=28&A=3157              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=28&A=3157              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_28

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]