ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๗. อกิตติชาดก
อกิตติดาบสขอพรท้าวสักกะ
[๑๘๐๖] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูต ทรงเห็นอกิตติดาบสผู้ยับยั้งอยู่ จึงได้ตรัส ถามว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านปรารถนาสมบัติอะไร ถึงยับยั้งอยู่ผู้เดียว ในถิ่นอันแห้งแล้ง? [๑๘๐๗] ดูกรท้าวสักกะ การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ อนึ่ง ความแตกทำลายแห่ง ร่างกาย และความตายอย่างหลงใหล ก็เป็นทุกข์ เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงยับยั้งอยู่ ณ ที่นี้. [๑๘๐๘] ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้ากล่าวนี้ เป็นถ้อยคำสมควร เป็นสุภาษิต โยมขอถวายพรแก่ท่านตามที่ท่านมีใจปรารถนา. [๑๘๐๙] ดูกรท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ถ้ามหาบพิตรจะทรงประทานพร แก่อาตมภาพ ชนทั้งหลายได้บุตร ภรรยา ทรัพย์ ข้าวเปลือก และ สิ่งของอันเป็นที่รักทั้งหลาย แล้วยังไม่อิ่มด้วยความโลภใด ความโลภนั้น อย่าพึงมีในอาตมภาพเลย. [๑๘๑๐] ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้ากล่าวนี้ เป็นถ้อยคำสมควร เป็นสุภาษิต โยมขอถวายพรแก่ท่านตามที่ท่านมีใจปรารถนา. [๑๘๑๑] ดูกรท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ถ้ามหาบพิตรจะทรงประทานพร แก่อาตมภาพ นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส กรรมกร ย่อมเสื่อม สิ้นไปด้วยโทสะใด โทสะนั้นอย่าพึงมีในอาตมภาพเลย. [๑๘๑๒] ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้ากล่าวนี้ เป็นถ้อยคำสมควร เป็นสุภาษิต โยมขอถวายพรแก่ท่านตามที่ท่านมีใจปรารถนา. [๑๘๑๓] ดูกรท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ถ้ามหาบพิตรจะทรงประทานพร แก่อาตมภาพ อาตมภาพไม่พึงเห็น ไม่พึงได้ฟังคนพาล ไม่พึงอยู่ร่วม กับคนพาล ไม่ขอกระทำ และไม่ขอชอบใจการเจรจาปราศรัยกับคนพาล. [๑๘๑๔] ข้าแต่ท่านกัสสปะ คนพาลได้กระทำอะไรให้แก่ท่านหรือ ขอท่านจงบอก เหตุนั้นแก่โยม เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ปรารถนาเห็นคนพาล? [๑๘๑๕] คนพาลผู้มีปัญญาทราม ย่อมแนะนำสิ่งที่ไม่ควรจะแนะนำ ย่อมชักชวนใน สิ่งที่ไม่ใช่ธุระ การแนะนำชั่วเป็นความดีของเขา คนพาลนั้นถึงจะ พูดดีก็โกรธ เขามิได้รู้วินัย การไม่เห็นคนพาลนั้นเป็นความดี. [๑๘๑๖] ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้ากล่าวนี้ เป็นถ้อยคำสมควร เป็นสุภาษิต โยมขอถวายพรแก่ท่านตามที่ท่านมีใจปรารถนา. [๑๘๑๗] ดูกรท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ถ้ามหาบพิตรจะทรงประทานพร แก่อาตมภาพ อาตมภาพพึงขอเห็น ขอฟังนักปราชญ์ ขออยู่ร่วมกัน กับนักปราชญ์ ขอกระทำ และขอชอบใจการเจรจาปราศรัยกับนักปราชญ์. [๑๘๑๘] ข้าแต่ท่านกัสสปะ นักปราชญ์ได้กระทำอะไรให้แก่ท่านหรือ ขอท่านจง บอกเหตุนั้นแก่โยม เพราะเหตุไร ท่านจึงปรารถนาเห็นนักปราชญ์? [๑๘๑๙] นักปราชญ์ย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ย่อมไม่ชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ การแนะนำดีเป็นความดีของนักปราชญ์นั้น นักปราชญ์นั้น ผู้อื่น กล่าวชอบก็ไม่โกรธ ย่อมรู้จักวินัย การสมาคมคบหากันกับนักปราชญ์ นั้นเป็นความดี. [๑๘๒๐] ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้ากล่าวนี้ เป็นถ้อยคำสมควร เป็นสุภาษิต โยมขอถวายพรแก่ท่านตามที่ท่านมีใจปรารถนา. [๑๘๒๑] ดูกรท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ถ้ามหาบพิตรจะทรงประทานพร แก่อาตมภาพ เมื่อราตรีสว่างแจ้ง พระอาทิตย์อุทัยขึ้นแล้ว ขออาหาร อันเป็นทิพย์ และยาจกผู้มีศีล พึงปรากฏขึ้น เมื่ออาตมภาพให้ทานอยู่ ขอให้ศรัทธาของอาตมภาพไม่พึงเสื่อมสิ้นไป ครั้นให้ทานแล้วขอให้ อาตมภาพไม่พึงเดือดร้อนในภายหลัง เมื่อกำลังให้อยู่ ก็ขอให้อาตมภาพ พึงยังจิตให้เลื่อมใส ดูกรท้าวสักกะ ขอมหาบพิตรทรงประทานพรนี้ แก่อาตมภาพเถิด. [๑๘๒๒] ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้ากล่าวนี้ เป็นถ้อยคำสมควร เป็นสุภาษิต โยมขอถวายพรแก่ท่านตามที่ท่านมีใจปรารถนา. [๑๘๒๓] ดูกรท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ถ้ามหาบพิตรจะทรงประทานพร แก่อาตมภาพ มหาบพิตรอย่าพึงเข้ามาใกล้อาตมภาพอีกเลย ดูกรท้าว สักกะ ขอมหาบพิตรทรงประทานพรนี้แก่อาตมภาพเถิด. [๑๘๒๔] นรชาติหญิงชายทั้งหลาย ย่อมปรารถนาจะเห็นโยมด้วยวัตรจริยาเป็น อันมาก เพราะเหตุไรหนอ การเห็นโยมจึงเป็นภัยแก่ท่าน? [๑๘๒๕] อาตมภาพเห็นเพศเทวดาเช่นพระองค์ ผู้สำเร็จด้วยสิ่งที่ต้องประสงค์ ทุกอย่างแล้ว ก็จะพึงประมาท ทำความเพียรปรารถนาตำแหน่งท้าวสักกะ การเห็นมหาบพิตรจึงเป็นภัยแก่อาตมภาพ.
จบ อกิตติชาดกที่ ๗.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ บรรทัดที่ ๗๐๐๓-๗๐๖๒ หน้าที่ ๓๑๕ - ๓๑๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=7003&Z=7062&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=1814&book=27              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=27&siri=480              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1806              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=27&A=7252              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=27&A=7252              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_27

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]