ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
มหาวรรคที่ ๕
[๑๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการแห่งธรรมทั้งหลาย ที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคล พึงหวังได้ อานิสงส์ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ...เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุ นั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ เธอมีสติ หลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขในภพนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้ บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่ง ธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ...เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยทิฐิ เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ ผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แต่ ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท เธอมีความ ปริวิตกอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือ ธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงกลอง เขาเดินทางไกล พึงได้ยินเสียง กลอง เขาไม่พึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลงว่า เสียงกลองหรือไม่ใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียงกลองทีเดียว ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ...บทแห่งธรรม ทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรม ในเทพบริษัท แต่เทพบุตรย่อม แสดงธรรมในเทพบริษัท เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติ พรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้นเอง สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์ นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงสังข์ เขาเดินทางไกล พึงได้ฟังเสียงสังข์เข้า เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลง ว่า เสียงสังข์หรือมิใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียงสังข์ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ แห่ง ธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... บทแห่งธรรม ทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แม้ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็มิได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดง ธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อนเตือนเทพบุตรผู้เกิดทีหลังว่า ท่านผู้ นฤทุกข์ย่อมระลึกได้หรือว่า เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในกาลก่อน เธอกล่าว อย่างนี้ว่า เราระลึกได้ท่านผู้นฤทุกข์ เราระลึกได้ท่านผู้นฤทุกข์ สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย สหายสองคน เล่นฝุ่นด้วยกัน เขามาพบกัน บางครั้งบางคราว ในที่บางแห่ง สหายคนหนึ่ง พึงกล่าวกะสหายคนนั้นอย่างนี้ว่า สหาย ท่านระลึกกรรมแม้นี้ได้หรือ เขาพึง กล่าวอย่างนี้ว่า เราระลึกได้ เราระลึกได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการนี้ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังแล้วเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอด ด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ ฯ [๑๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้พึงรู้ด้วยฐานะ ๔ ฐานะ ๔ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีล นั้นพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย มนสิการอยู่จึงจะรู้ ไม่มนสิการอยู่หารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ และ ความสะอาดนั้นพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย มนสิการอยู่จึงจะรู้ ไม่ มนสิการหารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ กำลังใจพึงรู้ได้ใน อันตราย และกำลังใจนั้นแล พึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย มนสิการจึง จะรู้ ไม่มนสิการหารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ปัญญาพึง รู้ได้ด้วยการสนทนาและปัญญานั้นแลพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย มนสิการ จึงจะรู้ ไม่มนสิการหารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน... คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร บุคคลในโลก นี้ เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้มักทำศีลให้ขาด มักทำให้ทะลุ มักทำให้ด่าง มักทำให้พร้อย ตลอดกาลนานแล ไม่กระทำติดต่อไป ไม่ประพฤติ ติดต่อในศีลทั้งหลาย ท่านผู้นี้เป็นคนทุศีล หาใช่เป็นคนมีศีลไม่ อนึ่ง บุคคล ในโลกนี้ เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้มีปรกติไม่ทำศีลให้ ขาด ไม่ทำให้ทะลุ ไม่ทำให้ด่าง ไม่ทำให้พร้อย ตลอดกาลนาน มีปรกติทำติด ต่อไป ประพฤติติดต่อในศีลทั้งหลาย ท่านผู้นี้เป็นผู้มีศีล หาใช่เป็นผู้ทุศีล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวว่า ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน...คนมีปัญญา ทรามหารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ... คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร บุคคลในโลกนี้ สนทนาอยู่กับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้พูดกันตัวต่อตัวเป็นอย่างหนึ่ง พูดกัน สองต่อสองเป็นอย่างหนึ่ง พูดกันสามคนเป็นอย่างหนึ่ง พูดกันมากคนเป็นอย่างหนึ่ง ท่านผู้นี้พูดคำหลังผิดแผกไปจากคำก่อน ท่านผู้นี้มีถ้อยคำไม่บริสุทธิ์ ท่านผู้นี้หามี ถ้อยคำบริสุทธิ์ไม่ อนึ่ง บุคคลในโลกนี้ เมื่อสนทนาอยู่กับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้พูดกันตัวต่อตัวเป็นอย่างไร พูดกันสองคน สามคน มากคน ก็อย่างนั้น ท่านผู้นี้พูดคำหลังไม่ผิดแผกจากคำก่อน มีถ้อยคำบริสุทธิ์ ท่านผู้นี้หามีถ้อยคำไม่ บริสุทธิ์ไม่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวว่า ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ... คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า กำลังใจพึงรู้ได้ในอันตราย...คนมี ปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร บุคคลบางคนในโลก นี้ กระทบความเสื่อมญาติ กระทบความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือกระทบความเสื่อม เพราะโรค ย่อมไม่พิจารณาอย่างนี้ว่า โลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนั้นเอง การได้ อัตภาพเป็นอย่างนั้น ในโลกสันนิวาสตามที่เป็นแล้ว ในการได้อัตภาพตามที่เป็น แล้ว โลกธรรม ๘ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ ย่อมหมุนเวียนไปตามโลก และโลก ย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ดังนี้ บุคคลนั้นกระทบความเสื่อมญาติ กระทบ ความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือกระทบความเสื่อมเพราะโรค ย่อมเศร้าโศก ลำบาก ใจ ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความหลงใหล ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ กระทบ ความเสื่อมญาติ กระทบความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือกระทบความเสื่อมเพราะโรค ย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่าโลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนั้นเอง การได้อัตภาพเป็นอย่าง นั้น ในโลกสันนิวาสตามที่เป็นแล้ว ในการได้อัตภาพตามที่เป็นแล้ว โลก ธรรม ๘ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ หมุนเวียน ไปตามโลก และโลกย่อม หมุนเวียนตามโลกธรรม ๘ ดังนี้ บุคคลนั้นกระทบความเสื่อมญาติ กระทบ ความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือกระทบความเสื่อมเพราะโรคย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ ลำบากใจ ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวว่า กำลังใจพึงรู้ได้ในอันตราย...คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา... คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร บุคคลบางคนใน โลกนี้ สนทนากับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า ความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เพียงไร อภินิหาร ของท่านผู้นี้เพียงไร และการถามปัญหาของท่านผู้นี้เพียงไร ท่านผู้นี้ปัญญาทราม ท่านผู้นี้ไม่มีปัญญา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านผู้นี้ไม่อ้างบทความอันลึกซึ้ง อันสงบ ประณีต ที่สามัญชนคาดไม่ถึง ละเอียด อันบัณฑิตพึงรู้ได้ อนึ่ง ท่าน ผู้นี้กล่าวธรรมอันใด ท่านผู้นี้ไม่สามารถจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิด เผย จำแนก กระทำให้ตื้น ซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นได้ โดยย่อหรือโดยพิสดาร ท่านผู้นี้มีปัญญาทราม ท่านผู้นี้ไม่มีปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่ ที่ฝั่งห้วงน้ำ พึงเห็นปลาเล็กๆ ผุดอยู่ เขาพึงทราบได้ว่า กิริยาผุดของปลาตัวนี้ เป็นอย่างไร ทำให้เกิดคลื่นเพียงไหน และมีความเร็วเพียงไร ปลาตัวนี้เล็ก ไม่ ใช่ปลาตัวใหญ่ ดังนี้ ฉันใด บุคคลเมื่อสนทนากับบุคคลก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เพียงไร ฯลฯ ท่านผู้นี้มีปัญญาทราม ท่าน ผู้นี้ไม่มีปัญญา ดังนี้ ส่วนบุคคลในโลกนี้ สนทนาอยู่กับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า ความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เพียงไร อภินิหารของท่านผู้นี้เพียงไร การถามปัญหาของ ท่านผู้นี้เพียงไร ท่านผู้นี้มีปัญญา ท่านผู้นี้ไม่ใช่ทรามปัญญา ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะท่านผู้นี้ย่อมอ้างบทความลึกซึ้ง สงบ ประณีต สามัญชนคาดไม่ถึง ละเอียด อันบัณฑิตพึงรู้ได้ และท่านผู้นี้ย่อมกล่าวธรรมใด ท่านผู้นี้เป็นผู้สามารถเพื่อจะ บอก เพื่อแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น ซึ่งเนื้อ ความแห่งธรรมนั้น ทั้งโดยย่อหรือพิสดารได้ ท่านผู้นี้เป็นผู้มีปัญญา ท่าน ผู้นี้หาใช่เป็นผู้มีปัญญาทรามไม่ ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่ที่ ฝั่งห้วงน้ำ พึงเห็นปลาตัวใหญ่กำลังผุด เขาพึงรู้อย่างนี้ว่า กิริยาผุดของปลาตัวนี้เป็น อย่างไร ทำให้เกิดคลื่นได้เพียงไหน มีความเร็วเพียงไร ปลาตัวนี้ใหญ่ หาใช่ ปลาตัวเล็กไม่ ดังนี้ ฉันใด บุคคลสนทนาอยู่กับบุคคลก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม รู้อย่างนี้ว่า ความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เพียงไร ฯลฯ ท่านผู้นี้มีปัญญา หาใช่เป็นผู้มี ปัญญาทรามไม่ ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวว่า ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการ สนทนา...คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้แล อันบุคคลพึงรู้ได้ด้วยฐานะ ๔ นี้ ฯ [๑๙๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่า มหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล ภัททิยลิจฉวีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า พระ- *สมณโคดมทรงมีมายา ย่อมทรงรู้มายาเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้ มานับถือ พวกเขาเหล่านั้นพากันกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมทรงมีมายา ย่อม ทรงรู้มายาเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้มานับถือ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ คนเหล่านั้นเป็นอันกล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแลหรือ ไม่ได้กล่าวตู่ พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่เป็นจริง ย่อมพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และการ คล้อยตาม วาทะอันชอบแก่เหตุไรๆ ย่อมไม่มาถึงฐานะอันควรติเตียนแลหรือ แท้จริง ข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภัททิยะ ท่านจงมาเถิด ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือโดยฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยสืบต่อ กันมา อย่าได้ถือโดยตื่นข่าว อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยนึกเดาเอาเอง อย่าได้ ถือโดยคาดคะเน อย่าได้ถือโดยตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าถูกกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเห็นว่าผู้พูดเป็นคนควรเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าสมณะเป็นครูของเรา ดูกรภัททิยะ เมื่อใด ท่านพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้อันวิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงละเสียเถิด ดูกรภัททิยะ ท่านจะ พึงสำคัญความความข้อนั้นเป็นไฉน ความโลภเมื่อเกิดขึ้น ภายในบุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อ ประโยชน์หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์ ฯ ภัท. เพื่อมิใช่ประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภัททิยะ ก็บุคคลผู้โลภมาก ถูกความโลภครอบงำย่ำยีจิต ย่อม ฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อ ความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือ ฯ ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โทสะ ... โมหะ ... การแข่งดี เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อมิใช่ ประโยชน์ ฯ ภัท. เพื่อมิใช่ประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภัททิยะ บุคคลผู้แข่งดี ถูกความแข่งดีครอบงำย่ำยีจิต ย่อม ฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ ชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็น อย่างนั้นก็ได้ ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานหรือ ฯ ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้เป็น กุศลหรือเป็นอกุศล ฯ ภัท. เป็นอกุศล พระเจ้าข้า ฯ พ. มีโทษหรือไม่มีโทษ ภัท. มีโทษ พระเจ้าข้า ฯ พ. วิญญูชนติเตียนหรือวิญญูชนสรรเสริญ ฯ ภัท. วิญญูชนติเตียน พระเจ้าข้า ฯ พ. บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อ ทุกข์ หรือมิใช่ หรือว่าท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้ ฯ ภัท. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเหล่านี้บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภัททิยะ เราได้กล่าวคำใดกะท่านว่า ท่านทั้งหลายอย่าถือโดย ฟังตามกันมา...เมื่อใด ท่านพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล...ท่าน ทั้งหลายควรละเสียเถิด ดังนี้ คำนั้นเรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้ ดูกรภัททิยะ ท่าน ทั้งหลายอย่าได้ถือโดยฟังตามกันมา...เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูชนสรรเสริญ ธรรม เหล่านี้บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่เถิด ดูกรภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อ นั้นเป็นไฉน ความไม่โลภเมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อ ประโยชน์หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์ ฯ ภัท. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภัททิยะ ก็บุคคลผู้ไม่โลภนี้ ไม่ถูกความโลภครอบงำย่ำยีจิต ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ และชักชวนผู้อื่นเพื่อความ เป็นอย่างนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน หรือ ฯ ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่โกรธ... ความไม่หลง...ความไม่แข่งดี เกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ฯ ภัท. เพื่อประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภัททิยะ ก็บุคคลผู้ไม่แข่งดีนี้ ไม่ถูกความแข่งดีครอบงำย่ำยีจิต ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ และชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็น อย่างนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนานหรือ ฯ ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้เป็น กุศล หรือเป็นอกุศล ฯ ภัท. เป็นกุศล พระเจ้าข้า ฯ พ. มีโทษหรือหาโทษมิได้ ฯ ภัท. หาโทษมิได้ พระเจ้าข้า ฯ พ. วิญญูชนติเตียนหรือสรรเสริญ ฯ ภัท. วิญญูชนสรรเสริญ พระเจ้าข้า ฯ พ. ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขหรือมิใช่ หรือท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้ ฯ ภัท. ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภัททิยะ เราได้กล่าวคำใดกะท่านว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือฟังตามกันมา...ท่านทั้งหลายพึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่เถิด ดังนี้ คำนั้นเรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ดูกรภัททิยะ คนเหล่าใดเป็นคนสงบ เป็น สัตบุรุษคนเหล่านั้นย่อมชักชวนสาวกอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านจงมา จงปราบ ปรามความโลภเสียเถิด เมื่อปราบปรามความโลภได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิด แต่ความโลภด้วยกายวาจาใจ จงปราบปรามความโกรธเสียเถิด เมื่อท่านปราบปราม ความโกรธได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความโกรธด้วยกาย วาจา ใจ จงปราบ ปรามความหลงเสียเถิด เมื่อปราบปรามความหลงได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิด แต่ความหลงด้วยกาย วาจา ใจ จงปราบปรามความแข่งดีเสียเถิด เมื่อปราบปราม ความแข่งดีได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความแข่งดีด้วยกาย วาจา ใจ ฯ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภัททิยลิจฉวีได้กราบทูลพระผู้มี- *พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอ พระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่ วันนี้เป็นต้นไป ฯ พ. ดูกรภัททิยะ ก็เราได้กล่าวชักชวนท่านอย่างนี้ว่า ดูกรภัททิยะ ขอท่านจงมาเป็นสาวกของเราเถิด เราจักเป็นศาสดาของท่าน ดังนี้หรือ ฯ ภัท. มิใช่เช่นนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภัททิยะ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวตู่เราผู้มีปรกติกล่าวอย่างนี้ มีปรกติบอกอย่างนี้ ด้วยคำอันไม่แน่นอน เป็นคำเปล่า คำเท็จ คำไม่จริง ว่า พระสมณโคดมมีมายา รู้จักมายาเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้มา นับถือ ฯ ภัท. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มายาเครื่องกลับใจนี้ดีนัก งามนัก ถ้าญาติ สาโลหิตอันเป็นที่รักของข้าพระองค์ พึงกลับใจมาด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจชนิด นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่บรรดาญาติสาโลหิตอัน เป็นที่รักของข้าพระองค์ ตลอดกาลนาน ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจมาด้วย มายาเป็นเครื่องกลับใจชนิดนี้ ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่กษัตริย์ ทั้งปวงตลอดกาลนาน ถ้าพราหมณ์ทั้งปวง...แพศย์...ศูทร์ทั้งปวงจะพึงกลับ ใจมาด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจชนิดนี้ ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่ศูทร์แม้ทั้งปวงตลอดกาลนาน ฯ ดูกรภัททิยะ คำที่ท่านกล่าวนี้เป็นอย่างนั้นๆ ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวงพึง ทรงกลับใจมาเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่กษัตริย์ทั้งปวงตลอดกาลนาน ถ้าแม้พราหมณ์... แพศย์...ศูทร์พึงกลับใจมาเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้นก็พึง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่ศูทร์ทั้งปวงตลอดกาลนาน ถ้าแม้โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ พึงกลับใจมาเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้นก็พึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก แก่ หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ตลอดกาลนาน ดูกรภัททิยะ ถ้าแม้พวกมหาศาลเหล่านี้ จะพึงกลับใจมาด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ เพื่อละอกุศล ธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่พวกมหาศาลเหล่านี้ตลอดกาลนาน ถ้ามหาศาลเหล่านี้พึงตั้งใจ จะป่วยกล่าว ไปไยถึงผู้ที่เป็นมนุษย์เล่า ฯ [๑๙๔] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ที่นิคมของพวกโกฬิยะ ชื่อสาปุคะ ในแคว้นโกฬิยะ ครั้งนั้นแล โกฬิยบุตรชาวนิคมสาปุคะมากด้วยกัน เข้าไปหา ท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะโกฬิยบุตรชาวสาปุคนิคมว่า ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๔ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความ หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญ แห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน องค์ ๔ ประการเป็นไฉน คือ องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ คือ ศีล ๑ จิต ๑ ทิฐิ ๑ วิมุตติ ๑ ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร เพื่อความบริสุทธิ์ คือ ศีลเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เรียกสีลปาริสุทธิ ความพอใจ ความ พยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ในสีลปาริสุทธินั้นว่า เราจักยังสีลปาริสุทธิเห็นปานนั้นอันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จักใช้ปัญญาประคับประคองสีลปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ นี้เรียกว่าองค์ เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ สีลปาริสุทธิ ฯ ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ จิตต- *ปาริสุทธิเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน... ทุติยฌาน...ตติยฌาน...จตุตถฌานอยู่ นี้เรียกว่าจิตตปาริสุทธิ ความพอใจ... สติและสัมปชัญญะในจิตตปาริสุทธินั้นว่า เราจักยังจิตตปาริสุทธิเห็นปานนั้นอัน ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จักใช้ปัญญาประคับประคองจิตตปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ ในฐานะนั้นๆ นี้เรียกว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ จิตตปาริสุทธิ ฯ ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ ทิฏฐิ- *ปาริสุทธิเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่าทิฏฐิปาริสุทธิ ความพอใจ...สติและสัมปชัญญะในทิฏฐิปาริสุทธินั้นว่า เราจักยังทิฏฐิปาริสุทธิ เห็นปานนั้นอันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จักใช้ปัญญาประคับประคองทิฏฐิปาริสุทธิ อันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ นี้เรียกว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ ทิฏฐิ ปาริสุทธิ ฯ ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ วิมุตติ- *ปาริสุทธิเป็นไฉน อริยสาวกนี้แล เป็นผู้ประกอบด้วยองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ สีลปาริสุทธิ...จิตตปาริสุทธิ...ทิฏฐิปาริสุทธิแล้ว ย่อมคลายจิตในธรรม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ย่อมเปลื้องในธรรมที่ควรเปลื้อง ครั้นแล้วย่อมถูกต้อง สัมมาวิมุติ นี้เรียกว่าวิมุตติปาริสุทธิ ความพอใจ...สติและสัมปชัญญะในวิมุตติ ปาริสุทธินั้นว่า เราจักยังวิมุตติปาริสุทธิเห็นปานนี้อันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จักใช้ปัญญาประคับประคองวิมุตติปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ นี้เรียกว่า องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ วิมุตติปาริสุทธิ ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๔ ประการนี้แล อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อ ความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและร่ำไร เพื่อความดับสูญ แห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ฯ [๑๙๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในนิโครธาราม เมือง กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่าวัปปะ เป็นสาวกของ นิครนถ์ เสด็จเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ ทรงอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวว่า ดูกรวัปปะ บุคคลในโลกนี้ พึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย สำรวมด้วยวาจา สำรวม ด้วยใจ เขาฆ่าตัวนี้ กลับไปฆ่าตัวอื่น เพราะอวิชชาดับไป วิชชาเกิดขึ้น ท่าน เห็นฐานะที่เป็นเหตุให้อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาไปตามบุคคลในสัมปราย- *ภพ หรือไม่ วัปปศากยราชตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเห็นฐานะนั้น บุคคลกระทำบาปกรรมไว้ในปางก่อนซึ่งยังให้ผลไม่หมด อาสวะทั้งหลายอันเป็น ปัจจัยแห่งทุกขเวทนา พึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพอันมีบาปกรรมนั้นเป็นเหตุ ท่านพระมหาโมคคัลลานะสนทนากับวัปปศากยราชสาวกของนิครนถ์ ค้างอยู่เพียง นี้เท่านั้น ครั้งนั้นแล เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น เสด็จเข้า ไปยังอุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่าน พระมหาโมคคัลลานะว่า ดูกรโมคคัลลานะ บัดนี้ เธอทั้งหลายประชุมสนทนากัน ด้วยเรื่องอะไร และเธอทั้งหลายพูดอะไรค้างกันไว้ในระหว่าง ท่านพระมหา- *โมคคัลลานะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์ได้กล่าวกะวัปปศากยราชสาวกของนิครนถ์ว่า ดูกรวัปปะ บุคคลใน โลกนี้ พึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย สำรวมด้วยวาจา สำรวมด้วยใจ เพราะอวิชชา ดับไป วิชชาเกิดขึ้น ท่านเห็นฐานะที่เป็นเหตุให้อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกข- *เวทนาไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้นหรือไม่ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว วัปปศากยราชสาวกของนิครนถ์ ได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเห็นฐานะนั้น บุคคลกระทำบาปกรรมไว้ในปางก่อนซึ่งยังให้ผลไม่หมด อาสวะทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพ อันมี บาปกรรมนั้นเป็นเหตุ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สนทนากับวัปปศากยราช สาวกของนิครนถ์ค้างอยู่เพียงนี้แล ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคก็เสด็จมาถึง ครั้ง นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับวัปปศากยราชสาวกของนิครนถ์ว่า ดูกรวัปปะ ถ้าท่านจะพึงยินยอมข้อที่ควรยินยอม และคัดค้านข้อที่ควรคัดค้านต่อเรา และท่าน ไม่รู้ความแห่งภาษิตของเราข้อใด ท่านพึงซักถามในข้อนั้นยิ่งขึ้นไปว่า ข้อนี้อย่างไร ความแห่งภาษิตข้อนี้อย่างไร ดังนี้ไซร้ เราพึงสนทนากันในเรื่องนี้ได้ วัปปศากย- *ราชกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักยินยอมข้อที่ควรยินยอมและ จักคัดค้านข้อที่ควรคัดค้านต่อพระผู้มีพระภาค อนึ่ง ข้าพระองค์ไม่รู้ความแห่ง ภาษิตของพระผู้มีพระภาคข้อใด ข้าพระองค์จักซักถามพระผู้มีพระภาคในข้อนั้นยิ่ง ขึ้นไปว่า ข้อนี้อย่างไร ความแห่งภาษิตข้อนี้อย่างไร ขอเราจงสนทนากันในเรื่อง นี้เถิด พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรวัปปะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อาสวะเหล่าใดก่อ ทุกข์ เดือดร้อน เกิดขึ้นเพราะการกระทำทางกายเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลงดเว้นจาก การกระทำทางกายแล้ว อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน ย่อมไม่มีแก่เขา เขาไม่ทำกรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้เป็นปฏิปทาเผา กิเลสให้พินาศ ผู้ปฏิบัติพึงเห็นได้เอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดูกรวัปปะ ท่านย่อมเห็นฐานะที่เป็นเหตุ ให้อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้นหรือไม่ ฯ ว. ไม่เห็น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรวัปปะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อาสวะเหล่าใดก่อ- *ทุกข์ เดือดร้อน เกิดขึ้นเพราะการกระทำทางวาจาเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลงดเว้น จากการกระทำทางวาจาแล้ว อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน ย่อมไม่ มีแก่เขา เขาไม่ทำกรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้เป็น ปฏิปทาเผากิเลสให้พินาศ...วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดูกรวัปปะ ท่านย่อมเห็น ฐานะที่เป็นเหตุให้อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนา พึงไปตามบุคคลใน สัมปรายภพนั้นหรือไม่ ฯ ว. ไม่เห็น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรวัปปะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อาสวะเหล่าใดก่อ- *ทุกข์ เดือดร้อน เกิดขึ้นเพราะการกระทำทางใจเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลงดเว้นจาก การกระทำทางใจแล้ว อาสวะที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน ย่อมไม่มีแก่เขา เขาไม่ทำ กรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้เป็นปฏิปทาเผากิเลสให้ พินาศ...วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดูกรวัปปะ ท่านย่อมเห็นฐานะที่เป็นเหตุให้ อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้นหรือไม่ ฯ ว. ไม่เห็น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรวัปปะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อาสวะเหล่าใดก่อ- *ทุกข์ เดือดร้อน เกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เพราะอวิชชาดับไป วิชชาเกิด ขึ้น อาสวะที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน เหล่านั้นย่อมไม่มีแก่เขา เขาไม่ทำกรรมใหม่ ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้เป็นปฏิปทาเผากิเลสให้พินาศ ... อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดูกรวัปปะ ท่านย่อมเห็นฐานะที่เป็นเหตุให้อาสวะอัน เป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้นหรือไม่ ฯ ว. ไม่เห็น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรวัปปะ เมื่อภิกษุมีจิตหลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมบรรลุ ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นนิตย์ ๖ ประการ เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ฟังเสียงด้วยหู...สูดกลิ่นด้วยจมูก...ลิ้มรส ด้วยลิ้น...ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ เธอเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อกายแตกสิ้นชีวิตไป เวทนาทั้งปวงอันไม่น่าเพลิดเพลินในโลกนี้ จักเป็นของเย็น ดูกรวัปปะ เงา ปรากฏเพราะอาศัยต้นไม้ ครั้งนั้น บุรุษพึงถือจอบและตะกร้ามา เขาตัดต้นไม้นั้น ที่โคน ครั้นแล้ว ขุดคุ้ยเอารากขึ้น โดยที่สุดแม้เท่าต้นแฝกก็ไม่ให้เหลือ เขา ตัดผ่าต้นไม้นั้นให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กระทำให้เป็นซีกๆ แล้วผึ่งลมและแดด ครั้นผึ่งลมและแดดแห้งแล้วเผาไฟ กระทำให้เป็นขี้เถ้า โปรยในที่มีลมพัดจัดหรือ ลอยในกระแสน้ำอันเชี่ยวในแม่น้ำ เมื่อเป็นเช่นนั้น เงาที่ปรากฏเพราะอาศัยต้นไม้ นั้น มีรากขาดสูญ ประดุจตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไปเป็น ธรรมดา แม้ฉันใด ดูกรวัปปะ ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่อภิกษุมีจิตหลุดพ้น โดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมได้บรรลุธรรมเป็นเครื่องอยู่เนืองนิตย์ ๖ ประการ เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ฟัง เสียงด้วยหู...สูดกลิ่นด้วยจมูก...ลิ้มรสด้วยลิ้น...ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วย กาย...รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติ- *สัมปชัญญะอยู่ เธอเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยเวทนา มีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิต เป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อกายแตกสิ้นชีวิตไป เวทนาทั้งปวงอันไม่น่าเพลิดเพลิน ในโลกนี้ จักเป็นของเย็น ฯ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วัปปศากยราชสาวกของนิครนถ์ ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษต้องการกำไร เลี้ยงลูกม้า ไว้ขาย (ถ้าลูกม้าตายหมด) เขาพึงขาดทุน ซ้ำยังต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากใจยิ่งขึ้น ไป แม้ฉันใด ข้าพระองค์หวังกำไรเข้าคบหานิครณถ์ผู้โง่ ต้องขาดทุน ทั้งต้อง เหน็ดเหนื่อยลำบากใจยิ่งขึ้นไป ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่ วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์นี้จักโปรยความเลื่อมใสในพวกนิครณถ์ผู้โง่เขลาเสีย ในที่ลมพัดจัด หรือลอยเสียในแม่น้ำ อันมีกระแสเชี่ยว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง นัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่ คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า คนผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระ- *ธรรม และพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ [๑๙๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคาร ศาลาป่ามหาวัน ใกล้นครเวสาลี ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีพระนามว่าสาฬหะและอภัย เสด็จเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เจ้าสาฬหะลิจฉวีได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติการรื้อถอนโอฆะ เพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ เพราะเหตุสีลวิสุทธิ ๑ เพราะเหตุเกลียดตบะ ๑ ส่วนในธรรมวินัยนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร พระเจ้าข้า ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรสาฬหะ เรากล่าวสีลวิสุทธิแลว่า เป็น องค์แห่งสมณธรรมอย่างหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใด มีวาทะยกย่องการเกลียดตบะ ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ติดอยู่ในการเกลียดตบะ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควร เพื่อจะรื้อถอนโอฆะออกได้ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมีความประพฤติทางกาย ไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางใจไม่บริสุทธิ์ มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควรเพื่อญาณทัศนะ เพื่อความตรัสรู้ ชั้นเยี่ยม ดูกรสาฬหะ เปรียบเหมือนบุรุษใคร่จะข้ามแม่น้ำ พึงถือผึ่งอันคมเข้า ไปสู่ป่า เขาพบต้นรังใหญ่ในป่านั้น ลำต้นตรง ยังหนุ่ม ไม่มีที่น่ารังเกียจ เขา พึงตัดที่โคน ตัดที่ปลาย ริดกิ่งและใบเรียบร้อยดีแล้ว ถากด้วยผึ่ง แล้วเกลา ด้วยมีด ขีดลงพอเป็นรอย ขัดด้วยลูกหินแล้วปล่อยลงแม่น้ำ ดูกรสาฬหะ ท่าน จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นควรจะข้ามแม่น้ำนั้นได้หรือ ฯ ส. ข้อนั้นเป็นไม่ได้ พระเจ้าข้า ฯ พ. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ฯ ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะต้นรังนั้นเขาแต่งเกลี้ยงเกลาในภายนอก ไม่เรียบร้อยในภายใน บุรุษนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ไม้รังจะต้องจม และบุรุษนั้น จักถึงความพินาศ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรสาฬหะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณพราหมณ์เหล่าใดมีวาทะ ยกย่องการเกลียดตบะ ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ติดอยู่ในการเกลียดตบะ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควรเพื่อรื้อถอนโอฆะออก อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใด มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีความ ประพฤติทางใจไม่บริสุทธิ์ มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควรเพื่อ ญาณทัศนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม ส่วนสมณพราหมณ์เหล่าใด ไม่เป็นผู้มี วาทะยกย่องการเกลียดตบะ ไม่ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ไม่ติดอยู่ในการ เกลียดตบะ สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรเพื่อรื้อถอนโอฆะออกได้ อนึ่ง สมณ- *พราหมณ์เหล่าใดมีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางใจบริสุทธิ์ มีอาชีพบริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรเพื่อ ญาณทัศนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม เปรียบเหมือนบุรุษใคร่จะข้ามแม่น้ำ ถือเอา ผึ่งอันคมเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นรังใหญ่ในป่านั้น ลำต้นตรง ยังหนุ่ม ไม่มีที่น่า รังเกียจ เขาพึงตัดมันที่โคน แล้วตัดปลาย ริดกิ่งและใบเรียบร้อยดีแล้ว ถาก ด้วยผึ่ง เกลาด้วยมีด ขัดแต่งด้วยสิ่ว ทำภายในให้เรียบร้อย ขุดเป็นร่อง แล้ว ขัดด้วยลูกหิน กระทำให้เป็นเรือ ติดกรรเชียงและหางเสือ แล้วปล่อยลงแม่น้ำ ดูกรสาฬหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นควรข้ามแม่น้ำได้หรือไม่ ฯ ส. ได้ พระเจ้าข้า ฯ พ. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ฯ ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะต้นรังนั้นเขาแต่งเกลี้ยงเกลาดีในภาย นอก เรียบร้อยในภายใน ทำเป็นเรือ ติดกรรเชียงและหางเสือ บุรุษนั้นพึงหวัง ข้อนี้ได้ว่า เรือจักไม่จม บุรุษจักถึงฝั่งได้โดยสวัสดี พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรสาฬหะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณพราหมณ์เหล่าใด ไม่มี วาทะยกย่องการเกลียดตบะ ไม่ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ไม่ติดอยู่ในการ เกลียดตบะ สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรเพื่อรื้อถอนโอฆะออกได้ อนึ่ง สมณ- *พราหมณ์เหล่าใด มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางใจบริสุทธิ์ มีอาชีพบริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรเพื่อ ญาณทัศนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม ดูกรสาฬหะ เปรียบเหมือนนักรบ ถึงแม้ จะรู้กระบวนลูกศรเป็นอันมาก ถึงกระนั้น เขาจะได้ชื่อว่าเป็นนักรบคู่ควรแก่ พระราชา เป็นผู้ควรที่พระราชาใช้สอย ย่อมถึงการนับว่าเป็นองค์ของพระราชา ทีเดียว ก็ด้วยสถาน ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้ยิงได้ไกล ๑ ยิงได้ไว ๑ ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้ ๑ ดูกรสาฬหะ นักรบผู้ยิงได้ไกล แม้ฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมาสมาธิก็ฉันนั้น อริยสาวกผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมเห็นด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ใกล้ หรือไกล รูปทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ย่อมเห็น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง...สัญญา อย่างใดอย่างหนึ่ง...สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง...วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็น อดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือ ประณีต ใกล้หรือไกล วิญญาณทั้งหมดนี้ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตน ของเรา ดังนี้ ดูกรสาฬหะ นักรบผู้ยิงได้ไวฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมาทิฏฐิก็ฉันนั้น อริยสาวกผู้มีสัมมาทิฏฐิย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูกรสาฬหะ นักรบผู้ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ ได้ ฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมาวิมุติก็ฉันนั้น อริยสาวกผู้มีสัมมาวิมุติย่อมทำลาย กองอวิชชาอันใหญ่เสียได้ ฯ [๑๙๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระนาง- *มัลลิกาเทวีเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้ มี ผิวพรรณทราม รูปชั่ว ไม่น่าดู ยากจนขัดสนทรัพย์สมบัติและต่ำศักดิ์ ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้ มี ผิวพรรณทราม รูปชั่ว ไม่น่าดู แต่เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก และสูงศักดิ์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคาม บางคนในโลกนี้ มีรูปงาม น่าดู น่าชม ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณ อันงามยิ่งนัก แต่เป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์สมบัติ และต่ำศักดิ์ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้ มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณงามยิ่งนัก ทั้งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์ มาก มีโภคสมบัติมากและสูงศักดิ์ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพระนางมัลลิกา มาตุคามบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ ถูกว่าแม้เล็กน้อยก็ขัดเคือง ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด กระด้างกระเดื่อง แสดงความโกรธความขัดเคืองและความไม่ พอใจให้ปรากฏ เป็นผู้ไม่ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ยวดยาน ระเบียบ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟ แก่สมณะหรือพราหมณ์ และเป็นผู้มีใจริษยาในลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้และ การบูชาของผู้อื่น เกียดกันตัดรอน ผูกความริษยา ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตภาพ นั้นมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม รูปชั่ว ไม่น่าดู ทั้งเป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์สมบัติและต่ำศักดิ์ ฯ ดูกรพระนางมัลลิกา มาตุคามบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากไป ด้วยความแค้นใจ ถูกว่าแม้เล็กน้อยก็ขัดเคือง ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด กระด้างกระเดื่อง แสดงความโกรธความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏ แต่เขาเป็นผู้ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ระเบียบ ของหอม เครื่อง ลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟ แก่สมณะหรือพราหมณ์ และไม่เป็นผู้มีใจริษยาในลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และบูชาของผู้อื่น ไม่เกียดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ผูกความริษยา ถ้ามาตุคามนั้น จุติจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อมเป็นผู้มี ผิวพรรณทราม รูปชั่ว ไม่น่าดู แต่เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก และสูงศักดิ์ ฯ ดูกรพระนางมัลลิกา มาตุคามบางคนในโลกนี้ ไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่าแม้มากก็ไม่ขัดเคือง ไม่ฉุนเฉียว ไม่- *กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้างกระเดื่อง ไม่แสดงความโกรธความขัดเคืองและ ความไม่พอใจให้ปรากฏ แต่เป็นผู้ไม่ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ระเบียบ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟ แก่สมณะ หรือพราหมณ์ และเป็นผู้มีใจริษยาในลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้และการบูชาของผู้อื่น เกียดกัน ตัดรอน ผูกความริษยา ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติ ใดๆ ย่อมเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าชม ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณงาม ยิ่งนัก แต่เป็นคนเข็ญใจ ยากจน ขัดสนและต่ำศักดิ์ ฯ ดูกรพระนางมัลลิกา มาตุคามบางคนในโลกนี้ ไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่าแม้มากก็ไม่ขัดเคือง ไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัด กระเฟียด ไม่กระด้างกระเดื่อง ไม่แสดงความโกรธความขัดเคืองและความไม่ พอใจให้ปรากฏ เป็นผู้ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ระเบียบ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟ แก่สมณะหรือพราหมณ์ และไม่เป็นผู้มีใจริษยาในลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้
และบูชาของผู้อื่น ไม่เกียดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ผูกความริษยา
ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิด ในชาติใดๆ ย่อมเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าชม ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณ งามยิ่งนัก ทั้งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากและสูงศักดิ์ ฯ ดูกรพระนางมัลลิกา นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้ มีผิวพรรณทราม รูปชั่ว ไม่น่าดู ทั้งเป็นคนเข็ญใจ ยากจนขัดสนและต่ำศักดิ์ อนึ่ง นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้มีผิวพรรณทราม รูปชั่ว ไม่น่าดู แต่เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก และสูงศักดิ์ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้มีรูปงาม น่าดู น่าชม ประกอบด้วย ความเป็นผู้มีผิวพรรณงามยิ่งนัก แต่เป็นคนเข็ญใจ ยากจน ขัดสนและต่ำศักดิ์ อนึ่ง นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้มีรูปงาม น่าดู น่าชม ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณงามยิ่งนัก ทั้งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มี โภคสมบัติมากและสูงศักดิ์ ฯ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระนางมัลลิกาเทวีได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในชาติอื่นชะรอยหม่อมฉันจะเป็นผู้ มักโกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ ถูกว่าแม้เล็กน้อยก็ขัดเคือง ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด กระด้างกระเดื่อง แสดงความโกรธความขัดเคืองและความ ไม่พอใจให้ปรากฏ ในบัดนี้ หม่อมฉันจึงมีผิวพรรณทราม รูปชั่ว ไม่น่าดู แต่ในชาติอื่น หม่อมฉันคงได้ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ระเบียบ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟ บัดนี้ หม่อมฉันจึงเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก ในชาติอื่น หม่อมฉัน คงจะไม่มีใจริษยาในลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้และ การบูชาของผู้อื่น ไม่เกียดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ผูกความริษยา ในบัดนี้ หม่อมฉัน จึงมีศักดิ์สูง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็นางกษัตริย์บ้าง นางพราหมณีบ้าง นาง- *คฤหบดีบ้าง มีอยู่ในราชสกุลนี้ หม่อมฉันได้ดำรงความเป็นใหญ่ยิ่งกว่าหญิง เหล่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่วันนี้ไป หม่อมฉันจักไม่โกรธ ไม่มาก ไปด้วยความแค้นใจ ถึงถูกว่ากล่าวมากก็จักไม่ขัดเคือง ไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัด- *กระเฟียด ไม่กระด้างกระเดื่อง ไม่แสดงความโกรธความขัดเคืองและความ ไม่พอใจให้ปรากฏ จักให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ระเบียบ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟ แก่สมณพราหมณ์ จักไม่มีใจริษยาในลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และบูชา ของผู้อื่น จักไม่เกียดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ผูกความริษยา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นอุบาสิกา ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ [๑๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน บางคนเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บางคนทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน และทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บางคนไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน และไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน และไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ เสวยสุข มีตน อันประเสริฐ อยู่ในปัจจุบันเทียว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็น ชีเปลือย ไร้มารยาท เลียมือ เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุด ก็ไม่หยุด ไม่ยินดีภิกษาที่เขานำมาเฉพาะ ไม่ยินดีภิกษาที่เขาทำเฉพาะ ไม่ยินดี การเชิญ ไม่รับภิกษาที่เขาแบ่งไว้ก่อน ไม่รับภิกษาจากปากหม้อข้าว ไม่รับภิกษา ที่คนยืนคร่อมธรณีประตูให้ ไม่รับภิกษาที่คนยืนคร่อมท่อนไม้ให้ ไม่รับภิกษาที่ คนยืนคร่อมสากให้ ไม่รับภิกษาของคนสองคนผู้กำลังบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของ หญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงผู้กำลังให้ลูกดูดนม ไม่รับภิกษาของหญิงผู้ คลอเคลียบุรุษ ไม่รับภิกษาที่นัดแนะกันไว้ ไม่รับภิกษาในที่ซึ่งสุนัขได้รับเลี้ยงดู ไม่รับภิกษาในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว คำเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือนสองหลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวสองคำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เยียวยาอัตภาพ ด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง ๒ ใบบ้าง ๗ ใบบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้ วันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๗ วันบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการบริโภคภัต ที่เวียนมาตั้งกึ่งเดือนเช่นนี้บ้าง ชีเปลือยนั้น เป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มียาง เป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีกำยานเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเหง้าและ ผลไม้ในป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นเยียวยาอัตภาพ ชีเปลือยนั้นทรงผ้าป่าน บ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้าง หนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกปอกรองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์บ้าง ผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถอนผมและหนวด ประกอบด้วยความขวนขวายในการถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ยืน คือ ห้ามอาสนะบ้าง เป็นผู้กระโหย่ง ประกอบความขวนขวายในการ กระโหย่งบ้าง เป็นผู้นอนบนหนาม คือ สำเร็จการนอนบนหนามบ้าง เป็นผู้อาบน้ำ วันละ ๓ ครั้ง คือ ประกอบความขวนขวายในการลงน้ำบ้าง เขาเป็นผู้ประกอบ ความขวนขวายในการทำกายให้เดือดร้อน ให้เร่าร้อนมีอย่างต่างๆ เห็นปานนี้อยู่ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ทำตนให้ เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร เป็นนายพรานนก เป็นนายพรานเนื้อ เป็นผู้หยาบช้า เป็นคน ฆ่าปลา เป็นโจร เป็นผู้ฆ่าโจร เป็นนักโทษ หรือเป็นผู้ทำกรรมอันหยาบช้า ชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นพระราชามหากษัตริย์ได้มูรธาภิเษก หรือว่าเป็นพราหมณ์มหาศาล บุคคลนั้น ให้สร้างสัณฐาคารใหม่ทางทิศตะวันออกแห่งพระนคร แล้วปลงผมและหนวด นุ่งหนังสัตว์มีเล็บ ชโลมกายด้วยเนยและน้ำมัน เกาหลังด้วยเขามฤค เข้าไปสู่ สัณฐาคารพร้อมด้วยมเหสีและพราหมณ์ปุโรหิต บุคคลนั้นสำเร็จการนอนบนพื้น อันปราศจากการปูลาด ไล้ด้วยมูลโคสด น้ำนมใดมีอยู่ในนมเต้าหนึ่งของแม่โค ลูกอ่อนตัวหนึ่ง พระราชาย่อมยังพระชนม์ให้เป็นไปด้วยน้ำนมเต้านั้น น้ำนมใด มีอยู่ในนมเต้าที่ ๒ พระมเหสีย่อมยังพระชนม์ให้เป็นไปด้วยน้ำนมเต้านั้น น้ำนม ใดมีอยู่ในนมเต้าที่ ๓ พราหมณ์ปุโรหิตย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยน้ำนมเต้านั้น น้ำนมใดมีอยู่ในนมเต้าที่ ๔ ย่อมบูชาไฟด้วยน้ำนมเต้านั้น ลูกโคย่อมยังอัตภาพ ให้เป็นไปด้วยน้ำนมที่เหลือ พระราชานั้นตรัสอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงฆ่าโคเท่านี้ เพื่อบูชายัญ จงฆ่าลูกโคผู้เท่านี้เพื่อบูชายัญ จงฆ่าลูกโคเมียเท่านี้เพื่อบูชายัญ จงฆ่าแพะเท่านี้เพื่อบูชายัญ จงฆ่าแกะเท่านี้เพื่อบูชายัญ จงตัดต้นไม้เท่านี้เพื่อ ทำหลัก จงเกี่ยวหญ้าคาเท่านี้เพื่อบังและลาด แม้ชนเหล่าใดที่เป็นทาสก็ดี เป็นคนรับใช้ก็ดี เป็นคนงานก็ดี ของพระราชานั้น แม้ชนเหล่านั้นสะดุ้งต่ออาญา สะดุ้งต่อภัย มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้ทำการงานอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบด้วยความขวนขวาย ในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความ ขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน และไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่ทำตนให้ เดือดร้อน และไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่มีความหิว ดับ เย็นใจ เสวยสุข มีตนอันประเสริฐอยู่ในปัจจุบันเทียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคต เสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วย วิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระตถาคตพระองค์นั้นทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรง สอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดง ธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดีหรือบุตร แห่งคฤหบดี หรือบุคคลผู้เกิดในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น เขาฟัง ธรรมนั้นแล้ว ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคต เขาประกอบด้วยการได้ซึ่งศรัทธานั้น ย่อมเห็นตระหนักชัดดังนี้ว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็น ทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์โดย ส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด สมัย ต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อเขาบวชแล้วอย่างนี้ ถึงความเป็นผู้ มีสิกขาและสาชีพ เสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู อนุเคราะห์เกื้อกูลสรรพ สัตว์อยู่เสมอ ละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ถือเอาแต่ของที่เขาให้ จำนงแต่ของที่เขาให้ มีตนไม่เป็นขโมย สะอาดอยู่เสมอ ละกรรมอันเป็นข้าศึก แก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นจากเมถุนอันเป็น กิจของชาวบ้าน ละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็น หลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟัง จากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้น แล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้ว บ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคน ผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้พร้อม เพรียงกัน ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบ กล่าวแต่คำที่ปราศจากโทษ เสนาะโสต ชวนให้รัก จับใจ สุภาพ คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ ละคำ เพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบ ด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร เธอเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล เว้นขาดจากการ ฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เว้นขาด จากการทัดทรง ประดับและตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่อง ประเทืองผิว อันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอน อันสูงใหญ่ เว้นขาดจากการรับทองและเงิน เว้นขาดจากการรับธัญชาติดิบ เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี เว้นขาดจากการรับ ทาสีและทาส เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้าและฬา เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน เว้นขาด จากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เว้นขาดจากการซื้อขาย เว้นขาดจากการ ฉ้อโกงด้วยตาชั่ง โกงด้วยของปลอมและโกงด้วยเครื่องตวงวัด เว้นขาดจากการ รับสินบน การล่อลวงและการตลบตะแลง เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้นและกรรโชก เธอเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง นกมีปีกจะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไป ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็น เครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง เธอเป็นผู้ประกอบ ด้วยศีลขันธ์อันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวม จักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมใน จักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู...ดมกลิ่นด้วยจมูก...ลิ้มรสด้วยลิ้น...ถูกต้อง โผฏฐัพพะด้วยกาย...รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถือ อนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุ ให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษา มนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ เธอประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็น อริยะ เช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันบริสุทธิ์ไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน เธอย่อม ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป ในการถอยกลับ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการแล ในการเหลียว ย่อมทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ย่อมทำความ รู้สึกตัวในการทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ย่อมทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ย่อมทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความ รู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น ความนิ่ง เธอประกอบ ด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร และสติสัมปชัญญะ อันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมเสพ- *เสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละความโลภในโลก มีใจปราศจากความโลภอยู่ ย่อม ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความโลภ ละความประทุษร้าย คือพยาบาท ไม่คิด พยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูล แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้ บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือ พยาบาท ละถีนมิทธะแล้ว มีความกำหนด หมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติ มีสัมปชัญญะ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายใน ย่อมชำระจิตให้ บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความ สงสัยในกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา เธอละนิวรณ์ เหล่านี้อันเป็นอุปกิเลสของใจ เป็นเครื่องทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มี กิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้ เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติ บ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขและทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มี ผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขและทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุ เพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติ ก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิต อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่ออาสวขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกข- *นิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ความ ดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อม หลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้น แล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบ แล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความ ขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน และไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความ ขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน และบุคคลนั้นเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่มีความหิว เป็นผู้ดับ เย็นใจ เสวยสุข มีตน อันประเสริฐ อยู่ในปัจจุบัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏ อยู่ในโลก ฯ [๑๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงตัณหาเช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อสัตว์โลกนี้ ซึ่งนุงเหมือนกลุ่มด้ายอันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเป็นเหมือนหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วง พ้นอบาย ทุคติ วินิบาต และสงสารไปได้ เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหาเช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อสัตว์โลกนี้ ซึ่งนุงเหมือนกลุ่มด้ายอัน ยุ่งเหยิง ขอดเป็นปม เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วงพ้น อบาย ทุคติ วินิบาต และสงสารไปได้นั้นเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตัณหา วิจริต ๑๘ ประการนี้ อาศัยขันธบัญจกภายใน ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้ อาศัยขันธบัญจกภายนอก ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอันอาศัยขันธบัญจกภายใน เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีความถือว่า เรามี ก็ย่อมมีความถือว่า เราเป็น อย่างนี้ เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างอื่น เราไม่เป็นอยู่ เราพึงเป็นอย่างนี้ เราพึงเป็นอย่างนั้น เราพึงเป็นอย่างอื่น แม้ไฉนเราพึงเป็น แม้ไฉนเราพึงเป็น อย่างนี้ แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนั้น แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างอื่น เราจักเป็น เรา จักเป็นอย่างนี้ เราจักเป็นอย่างนั้น เราจักเป็นอย่างอื่น ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ นี้อาศัยขันธบัญจกภายใน ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอันอาศัยขันธบัญจกภายนอก เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีความถือว่า เรามีด้วยขันธบัญจกนี้ ก็ย่อม มีความถือว่า เราเป็นอย่างนี้ด้วยขันธบัญจกนี้ เราเป็นอย่างนั้นด้วยขันธบัญจกนี้ เราเป็นอย่างอื่นด้วยขันธบัญจกนี้ เราเป็นอยู่ด้วยขันธบัญจกนี้ เราไม่เป็นอยู่ด้วย ขันธบัญจกนี้ เราพึงเป็นด้วยขันธบัญจกนี้ เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธบัญจกนี้ เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธบัญจกนี้ เราพึงเป็นอย่างอื่นด้วยขันธบัญจกนี้ แม้ไฉน เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธบัญจกนี้ แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธบัญจกนี้ แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธบัญจกนี้ แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างอื่นด้วยขันธ- *บัญจกนี้ เราจักเป็นด้วยขันธบัญจกนี้ เราจักเป็นอย่างนี้ด้วยขันธบัญจกนี้ เราจัก เป็นอย่างนั้นด้วยขันธบัญจกนี้ เราจักเป็นอย่างอื่นด้วยขันธบัญจกนี้ ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้อาศัยขันธบัญจกภายนอก ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธบัญจก ภายใน ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธบัญจกภายนอก ด้วยประการฉะนี้ รวมเรียกว่า ตัณหาวิจริตเห็นปานนี้ ที่เป็นอดีต ๓๖ อนาคต ๓๖ เป็นปัจจุบัน ๓๖ รวมเป็นตัณหาวิจริต ๑๐๘ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตัณหานี้ นั้นแล เช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อสัตว์โลกนี้ ซึ่งนุงเหมือนด้ายอันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปม เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต และสงสารไปได้ ฯ [๒๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๔ ประการนี้ย่อมเกิด ๔ ประการ เป็นไฉน คือ ความรักย่อมเกิดเพราะความรัก ๑ โทสะย่อมเกิดเพราะความรัก ๑ ความรักย่อมเกิดเพราะโทสะ ๑ โทสะย่อมเกิดเพราะโทสะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความรักย่อมเกิดเพราะความรักอย่างไร บุคคลในโลกนี้เป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของบุคคล คนอื่นๆ มาประพฤติต่อบุคคลที่รักนั้น ด้วยอาการที่น่า ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า คนอื่นมาประพฤติต่อ บุคคลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของเรา ด้วยอาการอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เขาย่อมเกิดความรักในคนเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความรัก ย่อมเกิดเพราะความรักอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โทสะย่อมเกิดเพราะความรักอย่างไร บุคคลในโลก นี้เป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของบุคคล คนอื่นมาประพฤติต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ บุคคลนั้นย่อมมีความคิด อย่างนี้ว่า คนอื่นมาประพฤติต่อบุคคลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของเรา ด้วยอาการอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เขาย่อมเกิดโทสะในคน เหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทสะย่อมเกิดเพราะความรัก อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความรักย่อมเกิดเพราะโทสะอย่างไร บุคคลในโลก นี้ไม่เป็นที่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจของบุคคล คนอื่นๆ มาประพฤติ ต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ บุคคลนั้น ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า คนอื่นๆ มาประพฤติต่อบุคคลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่า ใคร่ ไม่น่าพอใจของเรา ด้วยอาการอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เขาย่อมเกิดความรักใคร่ในคนเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความรักย่อมเกิดเพราะ โทสะอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โทสะย่อมเกิดเพราะโทสะอย่างไร บุคคลในโลกนี้ ไม่เป็นที่น่าปรารถนา ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าพอใจของบุคคล คนอื่นๆ มาประพฤติ ต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ บุคคลนั้นย่อมมี ความคิดอย่างนี้ว่า คนอื่นๆ มาประพฤติต่อคนที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่า พอใจของเรา ด้วยอาการอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เขาย่อมเกิดโทสะ ในบุคคลเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทสะย่อมเกิดเพราะโทสะอย่างนี้แล ดูกร- *ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๔ ประการนี้แล ย่อมเกิด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสงัดจากกาม ฯลฯ เข้าปฐมฌานอยู่ สมัยนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะความรัก ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้โทสะที่เกิด เพราะความรัก ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะโทสะ ย่อมไม่มีแก่ ภิกษุนั้น แม้โทสะที่เกิดเพราะโทสะ ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเข้าทุติยฌาน ฯลฯ ตติยฌาน ฯลฯ จตุตถฌาน สมัยนั้น แม้ ความรักที่เกิดเพราะความรัก ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้โทสะที่บังเกิดเพราะความ รัก ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะโทสะ ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหา อาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ สมัยนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะความรัก เป็นธรรมชาติอันภิกษุนั้นละ ได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วนทำให้ไม่ให้มี ไม่เกิดขึ้น ต่อไปเป็นธรรมดา แม้โทสะที่เกิดเพราะความรัก...แม้ความรักที่เกิดเพราะโทสะ... แม้โทสะที่เกิดเพราะโทสะ เป็นธรรมชาติอันภิกษุนั้นละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่ให้มี ไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ไม่ยึดถือ ไม่โต้ตอบ ไม่บังหวนควัน ไม่ลุกโพลง ไม่ถูกไฟไหม้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุชื่อว่ายึดถืออย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเห็น รูปโดยความเป็นตน เห็นตนว่ามีรูป เห็นรูปในตน หรือเห็นตนในรูป ย่อมเห็นเวทนา โดยความเป็นตน เห็นตนว่ามีเวทนา เห็นเวทนาในตน หรือเห็นตนในเวทนา ย่อม เห็นสัญญาโดยความเป็นตน เห็นตนว่ามีสัญญา เห็นสัญญาในตน หรือเห็นตน ในสัญญา ย่อมเห็นสังขารทั้งหลาย โดยความเป็นตน เห็นตนว่ามีสังขาร เห็น สังขารในตน หรือเห็นตนในสังขาร ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน เห็น ตนว่ามีวิญญาณ เห็นวิญญาณในตน หรือเห็นตนในวิญญาณ ภิกษุชื่อว่ายึดถือ อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุชื่อว่าไม่ยึดถืออย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นตน ไม่เห็นตนว่ามีรูป ไม่เห็นรูปในตน หรือไม่เห็น ตนในรูป ไม่เห็นเวทนา...ไม่เห็นสัญญา...ไม่เห็นสังขาร...ไม่เห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนว่ามีวิญญาณ ไม่เห็นวิญญาณในตน หรือไม่เห็น ตนในวิญญาณ ภิกษุชื่อว่าไม่ยึดถืออย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าย่อมโต้ตอบอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมด่าตอบผู้ด่าตน ย่อมโกรธตอบผู้โกรธตน ย่อมโต้เถียงตอบผู้โต้เถียงตน ภิกษุชื่อว่าย่อมโต้ตอบอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าย่อมไม่โต้ตอบอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ด่าตอบผู้ด่าตน ย่อมไม่โกรธตอบผู้โกรธตน ย่อมไม่โต้เถียงตอบผู้ โต้เถียงตน ภิกษุชื่อว่าไม่โต้ตอบอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมบังหวนควันอย่างไร เมื่อมีความถือว่า เราเป็นอย่างนี้ เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างอื่น เราเป็นอยู่ เราไม่เป็นอยู่ เราพึงเป็น เราพึงเป็นอย่างนี้ เราพึงเป็นอย่างนั้น เราพึงเป็นอย่างอื่น แม้ไฉน เราพึงเป็น แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนี้ แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนั้น แม้ไฉนเราพึง เป็นอย่างอื่น เราจักเป็น เราจักเป็นอย่างนี้ เราจักเป็นอย่างนั้น เราจักเป็นอย่าง อื่น ภิกษุชื่อว่าย่อมบังหวนควันอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่บังหวนควันอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่มีความถือว่า เรามีอยู่ ก็ย่อมไม่มีความถือว่า เราเป็นอย่างนี้ ... เราจัก เป็นอย่างอื่น ภิกษุชื่อว่าย่อมไม่บังหวนควันอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุลุกโพลงอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมี ความถือว่า เรามีขันธบัญจกนี้ ก็ย่อมมีความถือว่า เราเป็นอย่างนี้ด้วยขันธบัญจก นี้ เราเป็นอย่างนั้นด้วยขันธบัญจกนี้ เราเป็นอย่างอื่นด้วยขันธบัญจกนี้ เราเป็น อยู่ด้วยขันธบัญจกนี้ เราไม่เป็นอยู่ด้วยขันธบัญจกนี้ เราพึงเป็นขันธบัญจกนี้ เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธบัญจกนี้ เราพึงเป็นอย่างอื่นด้วยขันธบัญจกนี้ แม้ไฉน เราพึงเป็นด้วยขันธบัญจกนี้ แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธบัญจกนี้ แม้ไฉน เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธบัญจกนี้ เราจักเป็นอย่างนี้ด้วยขันธบัญจกนี้ เราจัก เป็นอย่างอื่นด้วยขันธบัญจกนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุลุกโพลงอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุไม่ลุกโพลงอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่มี ความถือว่า เรามีด้วยขันธบัญจกนี้ ก็ย่อมไม่มีความถือว่า เราเป็นอย่างนี้ด้วย ขันธบัญจกนี้...เราจักเป็นอย่างอื่นด้วยขันธบัญจกนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ย่อมไม่ลุกโพลงอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุถูกไฟไหม้อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังละ อัสมิมานะ ตัดรากขาด ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิด อีกต่อไปเป็นธรรมดา ไม่ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุถูกไฟไหม้อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุไม่ถูกไฟไหม้อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละอัสมิมานะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ถูกไฟไหม้ อย่างนี้แล ฯ
จบมหาวรรคที่ ๕
จบจตุตถปัณณาสก์
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๔๙๙๑-๕๘๔๔ หน้าที่ ๒๑๔ - ๒๔๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=21&A=4991&Z=5844&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=200&book=21              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=21&siri=136              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=191              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=21&A=5326              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=21&A=5326              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_21

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]