ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๒. เทวทหสูตร
ว่าด้วยการกำจัดฉันทราคะในขันธ์ ๕
[๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้;- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมเทวทหะของศากยะทั้งหลายในสักกชนบท. ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกัน ปรารถนาจะไปสู่ปัจฉาภูมชนบทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวาย อภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ปรารถนาจะไปสู่ปัจฉาภูมชนบท เพื่อสำเร็จการอยู่อาศัยในปัจฉา ภูมชนบท. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เธอทั้งหลายลาสารีบุตรแล้วหรือ? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ยังมิได้ลาท่านพระสารีบุตร. พระผู้มี พระภาคตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไปลาสารีบุตรเถิด. สารีบุตรเป็นบัณฑิตอนุเคราะห์ เพื่อนพรหมจารี. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. [๗] ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรนั่งอยู่ในมณฑปเล็กๆ แห่งหนึ่งที่มุงด้วยตะใคร่น้ำ ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค. ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท ทำประทักษิณพระผู้มีพระภาคแล้ว พากันเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร กล่าวคำปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ข้าพเจ้า ทั้งหลายปรารถนาจะไปปัจฉาภูมชนบท เพื่อสำเร็จการอยู่อาศัยในปัจฉาภูมชนบท. ท่านพระ- *สารีบุตรกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย กราบทูลลาพระศาสดาแล้วหรือ? ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตบ้าง สมณะผู้เป็น บัณฑิตบ้าง เป็นผู้ถามปัญหากะภิกษุผู้ไปไพรัชชประเทศต่างๆ มีอยู่ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็พวกมนุษย์ที่เป็นบัณฑิตทดลองถามว่า พระศาสดาของพวกท่านมีวาทะอย่างไร? ตรัสสอน อย่างไร? ธรรมทั้งหลายพวกท่านฟังดีแล้ว เรียบร้อยดีแล้ว ใส่ใจดีแล้ว ทรงจำดีแล้ว แทง ตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญาบ้างหรือ? ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อพยากรณ์อย่างไร? จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว จะไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้. ภิ. ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทั้งหลาย มาแม้แต่ที่ไกล เพื่อจะรู้เนื้อความแห่งภาษิต นั้นในสำนักท่านพระสารีบุตร ดีละหนอ ขอเนื้อความแห่งภาษิตนั้น จงแจ่มแจ้งกะท่านพระ- *สารีบุตรเถิด. [๘] ส. ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว. ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็กษัตริย์เป็น บัณฑิตบ้าง พราหมณ์เป็นบัณฑิตบ้าง คฤหบดีเป็นบัณฑิตบ้าง สมณะเป็นบัณฑิตบ้าง เป็นผู้ถาม ปัญหากะภิกษุผู้ไปไพรัชชประเทศต่างๆ มีอยู่ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มนุษย์ทั้งหลายที่เป็น บัณฑิต จะทดลองถามว่า พระศาสดาของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มีวาทะว่าอย่างไร ตรัสสอน อย่างไร? ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาของเราทั้งหลายตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะ. เมื่อท่าน ทั้งหลายพยากรณ์อย่างนี้แล้ว กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง คฤหบดีผู้ เป็นบัณฑิตบ้าง สมณะผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พึงถามปัญหายิ่งขึ้นไป ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นบัณฑิต จะทดลองถามว่า ก็พระศาสดาของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ตรัสสอน ให้กำจัดฉันทราคะในสิ่งอะไร. ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่าน ผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายพยากรณ์อย่างนี้แล้ว กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตบ้าง สมณะผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พึงถามปัญหา ยิ่งขึ้นไป ก็มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นบัณฑิต จะทดลองถามว่า ก็พระศาสดาของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ทรงเห็นโทษอะไร จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ? ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มี อายุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความกระวน กระวาย ความทะยานอยากในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ยังไม่ปราศจากไปแล้ว โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสย่อมเกิดขึ้น เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาของเราทั้งหลาย ทรงเห็นโทษนี้แล จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แม้เมื่อท่านทั้งหลายพยากรณ์อย่างนี้แล กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตบ้าง สมณะผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พึงถามปัญหา ยิ่งขึ้นไป ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นบัณฑิตจะทดลองถามว่า ก็พระศาสดา ของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ทรงเห็นอานิสงส์อะไร? จึงตรัสสอนให้กำจัดให้ฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความ กระวนกระวาย ความทะยานอยากในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณปราศจากไปแล้ว โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาของเราทั้งหลาย ทรงเห็นอานิสงส์นี้แล จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ. [๙] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ จักได้มีการอยู่ สบาย ไม่มีความลำบาก ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเดือดร้อน ในปัจจุบันนี้ และเมื่อตาย ไปแล้ว ก็พึงหวังสุคติไซร้ พระผู้มีพระภาคก็จะไม่พึงทรงสรรเสริญ การละอกุศลธรรมทั้งหลาย. ก็เพราะเมื่อบุคคลเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมมีการอยู่เป็นทุกข์ มีความลำบาก มีความ คับแค้น มีความเดือดร้อน ในปัจจุบัน และเมื่อตายไปแล้ว ก็พึงหวังได้ทุคติ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาค จึงทรงสรรเสริญ การละอกุศลธรรมทั้งหลาย. [๑๐] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แต่เมื่อบุคคลเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ จักได้มีการ อยู่เป็นทุกข์ มีความลำบาก มีความคับแค้น มีความเดือดร้อน ในปัจจุบันนี้ และเมื่อตายไป แล้ว ก็พึงหวังได้ทุคติไซร้ พระผู้มีพระภาค ก็จะไม่พึงทรงสรรเสริญ การเข้าถึงกุศลธรรม ทั้งหลาย. ก็เพราะเมื่อบุคคลเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ มีการอยู่สบาย ไม่มีความลำบาก ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเดือดร้อน ในปัจจุบันนี้ และเมื่อตายไปแล้ว ก็พึงหวังได้สุคติ ฉะนั้นพระผู้มีพระภาค จึงทรงสรรเสริญ การเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย. ท่านพระสารีบุตรได้ กล่าวคำนี้แล้ว. ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตร ฉะนี้แล.
จบ สูตรที่ ๒.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๑๐๖-๑๘๐ หน้าที่ ๕ - ๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=106&Z=180&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=8&book=17              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=17&siri=2              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=6              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=17&A=132              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=17&A=132              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_17

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]