ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๒

หน้าที่ ๒๖๑-๒๖๗.


                                                                 พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

                                                                 ๑๔. อันเตวาสิกวัตตกถา

ถ้าจีวรของอาจารย์จะต้องย้อม อันเตวาสิกพึงย้อม หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงย้อมจีวรของอาจารย์” เมื่อจะย้อมจีวร พึงย้อม พลิกกลับไปกลับมาดีๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย ไม่พึงหลีกไป อันเตวาสิกไม่บอกอาจารย์ ไม่พึงให้บาตรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบาตรของ ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้จีวรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับจีวรของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ บริขารแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบริขารของภิกษุบางรูป ไม่พึงโกนผมให้ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปโกนผมให้ ไม่พึงทำบริกรรมแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุบางรูป ทำบริกรรมให้ ไม่พึงทำการขวนขวายแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงสั่งภิกษุบางรูปให้ทำการ ขวนขวาย ไม่พึงเป็นปัจฉาสมณะของภิกษุบางรูป ไม่พึงพาภิกษุบางรูปไปเป็น ปัจฉาสมณะ ไม่พึงนำบิณฑบาตไปถวายภิกษุบางรูป ไม่พึงสั่งภิกษุบางรูปให้นำ บิณฑบาตไปถวาย อันเตวาสิกไม่บอกลาอาจารย์ ไม่พึงเข้าหมู่บ้าน ไม่พึงไปป่าช้า ไม่พึงออกไป ต่างถิ่น ถ้าอาจารย์เป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าอาจารย์นั้นจะหาย ภิกษุทั้งหลาย นี้คือวัตรในอาจารย์ทั้งหลายสำหรับอันเตวาสิกทั้งหลาย โดย ที่อันเตวาสิกทั้งหลายต้องประพฤติชอบในอาจารย์ทั้งหลาย
๑๔. อันเตวาสิกวัตตกถา๑-
ว่าด้วยวัตรปฏิบัติในอันเตวาสิก
[๓๘๑] สมัยนั้น พระอาจารย์ทั้งหลายไม่ประพฤติชอบในอันเตวาสิกทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้มักน้อยจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระอาจารย์ทั้งหลาย จึงไม่ประพฤติชอบในอันเตวาสิกเล่า” @เชิงอรรถ : @ วิ.ม. (แปล) ๔/๗๙/๑๑๒-๑๑๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๖๑}

                                                                 พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

                                                                 ๑๔. อันเตวาสิกวัตตกถา

ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า อาจารย์ทั้งหลายไม่ประพฤติ ชอบในอันเตวาสิกทั้งหลาย จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า [๓๘๒] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราจะบัญญัติวัตรในอันเตวาสิกทั้งหลายแก่ อาจารย์ทั้งหลาย โดยที่อาจารย์ทั้งหลายต้องประพฤติชอบในอันเตวาสิกทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงประพฤติชอบในอันเตวาสิก วิธีประพฤติชอบใน อันเตวาสิกนั้นมีดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงสงเคราะห์อนุเคราะห์อันเตวาสิกด้วยอุทเทส ปริปุจฉา โอวาท และอนุศาสน์ ถ้าอาจารย์มีบาตร อันเตวาสิกไม่มีบาตร อาจารย์พึงถวายบาตรแก่อันเตวาสิก หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ บาตรพึงเกิดขึ้นแก่อันเตวาสิก” ถ้าอาจารย์มีจีวร อันเตวาสิกไม่มีจีวร อาจารย์พึงถวายจีวรแก่อันเตวาสิก หรือ พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ จีวรพึงเกิดขึ้นแก่อันเตวาสิก” ถ้าอาจารย์มีบริขาร อันเตวาสิกไม่มีบริขาร อาจารย์พึงถวายบริขารแก่ อันเตวาสิก หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ บริขารพึงเกิดขึ้นแก่ อันเตวาสิก” ถ้าอันเตวาสิกเป็นไข้ อาจารย์พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถวายไม้ชำระฟัน น้ำล้างหน้า ปูอาสนะ ถ้าข้าวต้มมี พึงล้างภาชนะใส่ข้าวต้มเข้าไปถวาย เมื่ออันเตวาสิกฉันข้าวต้ม เสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับภาชนะมาถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเก็บงำไว้ เมื่ออันเตวาสิกลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๖๒}

                                                                 พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

                                                                 ๑๔. อันเตวาสิกวัตตกถา

ถ้าอันเตวาสิกต้องการจะเข้าหมู่บ้าน พึงถวายผ้านุ่ง รับผ้านุ่งอาศัย ถวาย ประคดเอว ถวายสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน ล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำ ปูอาสนะไว้ โดยกำหนดว่า “เวลาเพียงเท่านี้ อันเตวาสิกจักกลับมา” พึงเตรียมน้ำล้างเท้า ตั่ง รองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้านุ่งอาศัย รับผ้า นุ่งมา ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อจะพับ จีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ตั้งใจว่า ตรงกลางจะได้ไม่มีรอยพับ พึงม้วน ประคดเอวใส่ขนดจีวร ถ้าบิณฑบาตมี และอันเตวาสิกต้องการจะฉัน พึงถวายน้ำแล้วน้อมบิณฑบาต เข้าไปถวาย นำน้ำฉันมาถวาย เมื่ออันเตวาสิกฉันเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำรับบาตร มาถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเช็ดให้สะเด็ดน้ำผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่ง ทิ้งไว้ที่แดด พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ในจึงเก็บจีวร เมื่ออันเตวาสิกลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ พึงเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด ถ้าอันเตวาสิกต้องการจะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าเธอต้องการน้ำเย็น พึงจัดน้ำเย็นถวาย ถ้าเธอต้องการน้ำอุ่น พึงจัดน้ำอุ่นถวาย ถ้าอันเตวาสิกต้องการจะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุรณ พึงแช่ดิน ถือตั่งสำหรับเรือน ไฟเดินไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วรับจีวรมาวาง ณ ที่สมควร พึงถวายจุรณ และดิน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๖๓}

                                                                 พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

                                                                 ๑๔. อันเตวาสิกวัตตกถา

ถ้าสามารถ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อจะเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้าปิดหน้าและหลัง จึงเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดพระเถระ ไม่พึงกีดกันอาสนะพระนวกะ พึงทำบริกรรม แก่อันเตวาสิกในเรือนไฟ เมื่อจะออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับเรือนไฟปิดหน้า และหลัง จึงออกจากเรือนไฟ พึงทำบริกรรมแก่อันเตวาสิกแม้ในน้ำ ตนสรงเสร็จแล้ว พึงขึ้นก่อนเช็ดตัวให้ แห้งแล้วผลัดผ้า พึงเช็ดน้ำจากตัวอันเตวาสิก ถวายผ้านุ่ง สังฆาฏิ ถือตั่งสำหรับ เรือนไฟมาก่อน ปูอาสนะเตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ นำน้ำ ฉันมาถวายอันเตวาสิก อันเตวาสิกอยู่ในวิหารใด ถ้าวิหารนั้นสกปรก ถ้าสามารถ พึงชำระให้สะอาด เมื่อจะชำระวิหารให้สะอาด พึงขนบาตรและจีวรออกก่อน วางไว้ ณ ที่สมควร พึงขน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร เตียง ตั่ง อาจารย์พึงยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบบานประตู และกรอบประตู ขนออกไปตั้งไว้ ณ ที่สมควร เขียงรองเตียง กระโถน พนักพิง พึงขนออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม ค่อยขนออกมา วางไว้ ณ ที่สมควร ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดเพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและมุมห้อง พึงเช็ด ถ้าฝาที่ทาน้ำมันหรือพื้นทาสีดำขึ้นรา พึงใช้ผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด ถ้าเป็นพื้นไม่ได้ทา พึงใช้น้ำประพรมแล้วเช็ด อย่าให้วิหารคลาคล่ำด้วยฝุ่นละออง พึงเก็บหยากเยื่อไปทิ้ง ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเตียง พึงผึ่งแดด เช็ด ขนกลับวางไว้ตามเดิม เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ชำระ ปัด ยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ บานประตูและกรอบประตู ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๖๔}

                                                                 พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

                                                                 ๑๔. อันเตวาสิกวัตตกถา

พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักพิง พึงผึ่งแดด เช็ดถู ขนกลับวางไว้ตามเดิม พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือข้าง หนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง เมื่อ จะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง เอา ชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร ถ้าลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก ถ้าพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก ถ้าพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ ถ้าพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้ ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎี รก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ ถ้าอันเตวาสิกเกิดความไม่ยินดี อาจารย์พึงช่วยระงับ หรือพึงบอกภิกษุอื่นให้ ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อันเตวาสิก ถ้าอันเตวาสิกเกิดความรำคาญ อาจารย์พึงช่วยบรรเทา หรือพึงบอกภิกษุอื่น ให้ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อันเตวาสิก ถ้าอันเตวาสิกเกิดความเห็นผิด อาจารย์พึงให้สละเสีย หรือพึงบอกภิกษุอื่น ให้ช่วยสละเสีย หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อันเตวาสิก ถ้าอันเตวาสิกต้องอาบัติหนัก ควรแก่ปริวาส อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อันเตวาสิก” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๖๕}

                                                                 พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

                                                                 ๑๔. อันเตวาสิกวัตตกถา

ถ้าอันเตวาสิกควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอันเตวาสิกเข้าหาอาบัติเดิม” ถ้าอันเตวาสิกควรแก่มานัต อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไร หนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อันเตวาสิก” ถ้าอันเตวาสิกควรแก่อัพภาน อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไร หนอ สงฆ์พึงอัพภานอันเตวาสิก” ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแก่อันเตวาสิก อาจารย์พึงทำการขวนขวาย ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อันเตวาสิกหรือพึงเปลี่ยนไปเป็น โทษเบา” หรือว่าอันเตวาสิกถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุเขปนียกรรมแล้ว อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย อย่างไรหนอ อันเตวาสิกพึงกลับประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้ สงฆ์ พึงระงับกรรมนั้นเสีย” ถ้าจีวรของอันเตวาสิกจะต้องซัก อาจารย์พึงบอกว่า “พึงซักอย่างนี้” หรือพึง ทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงซักจีวรของอันเตวาสิก” ถ้าจีวรของอันเตวาสิก จะต้องตัดเย็บ อาจารย์พึงบอกว่า “พึงตัดเย็บอย่างนี้” หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงตัดเย็บจีวรของ อันเตวาสิก” ถ้าน้ำย้อมของอันเตวาสิกจะต้องต้ม อาจารย์พึงบอกว่า “พึงต้มอย่างนี้” หรือ พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงต้มน้ำย้อมของอันเตวาสิก” ถ้าจีวรของอันเตวาสิกจะต้องย้อม อาจารย์พึงบอกว่า “พึงย้อมอย่างนี้” หรือ พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงย้อมจีวรของอันเตวาสิก” เมื่อจะย้อมจีวร พึงย้อมพลิกกลับไปกลับมาดีๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย ไม่พึงหลีกไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๖๖}

                                                                 พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๘. วัตตขันธกะ]

                                                                 รวมเรื่องที่มีในวัตตขันธกะ

ถ้าอันเตวาสิกเป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าอันเตวาสิกนั้น จะหาย ภิกษุทั้งหลาย นี้คือวัตรในพวกอันเตวาสิกทั้งหลายสำหรับอาจารย์ทั้งหลาย โดยที่อาจารย์ทั้งหลายต้องประพฤติชอบในพวกอันเตวาสิกทั้งหลาย
วัตตขันธกะที่ ๘ จบ
ในขันธกะนี้มี ๑๙ เรื่อง ๑๔ วัตร
รวมเรื่องที่มีในวัตตขันธกะ
ภิกษุอาคันตุกะสวมรองเท้า กั้นร่ม คลุมศีรษะ พาดจีวรบนศีรษะเข้าไปอาราม ใช้น้ำดื่มล้างเท้า ไม่ไหว้ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสผู้แก่พรรษา ไม่ต้อนรับด้วยเสนาสนะ งูตกลงมา ภิกษุผู้มีศีลตำหนิ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า ภิกษุอาคันตุกะจะเข้าอาราม พึงถอดรองเท้า ลดร่ม ลดจีวรลงบ่า ไม่ต้องรีบเข้าอาราม พึงสังเกตว่า ผู้อยู่ประจำในอาวาสประชุมกันที่ไหน เก็บบาตรจีวรไว้ด้านหนึ่ง ถืออาสนะที่เหมาะสม ถามถึงน้ำดื่ม น้ำใช้ พึงล้างเท้า เช็ดรองเท้าด้วยผ้าแห้งก่อนแล้วเช็ดด้วยผ้าเปียกทีหลัง อภิวาทภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสผู้มีพรรษามากกว่า ให้ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสผู้มีพรรษาน้อยกว่าอภิวาท ถามเสนาสนะทั้งที่มีและไม่มีภิกษุ ถามถึงโคจรคามและอโคจรคาม ตระกูลเสกขสมมติ ที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ น้ำดื่มน้ำใช้ ไม้เท้า กติกาสงฆ์ที่ตั้งไว้ว่า ควรเข้าออกเวลาไหน พึงรอสักครู่ วิหารรกพึงชำระให้สะอาด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๖๗}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๒๖๑-๒๖๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=7&page=261&pages=7&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=7&A=7057 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=7&A=7057#p261 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 7 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_7 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu7 https://84000.org/tipitaka/english/?index_7



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๖๑-๒๖๗.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]