ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒

หน้าที่ ๒๒๙-๒๓๐.


                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

                                                                 ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา

เรื่องทรงอนุญาตให้ถือวิสาสะผ้าเปลือกไม้
[๓๕๖] สมัยนั้น มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะ เป็นสหายของท่านพระอานนท์ มัลลกษัตริย์โรชะนั้นฝากผ้าเปลือกไม้เก่าไว้กับท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์ เองก็มีความต้องการผ้าเปลือกไม้เก่า ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผู้ประกอบด้วย คุณสมบัติ ๕ อย่างถือวิสาสะได้ คือ ๑. เคยเห็นกันมา ๒. เคยคบกันมา ๓. เคยบอกอนุญาตไว้ ๔. เขายังมีชีวิตอยู่ ๕. รู้ว่า “เมื่อเราถือเอาแล้ว เขา(ผู้เป็นเจ้าของ)จะพอใจ” ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ อย่างนี้ถือวิสาสะ กันได้”
เรื่องไตรจีวรบริบูรณ์
[๓๕๗] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีไตรจีวรบริบูรณ์ แต่ยังต้องการผ้ากรอง น้ำบ้าง ถุงบ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าบริขาร”
๒๒๑. ปัจฉิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
ว่าด้วยผ้าที่ต้องวิกัปเป็นอย่างต่ำเป็นต้น
เรื่องอธิษฐาน
[๓๕๘] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ผ้าที่พระผู้มีพระภาค ทรงอนุญาต คือไตรจีวร ผ้าอาบน้ำฝน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ผ้าปิดฝี ผ้าเช็ดปาก หรือผ้าบริขาร ต้องอธิษฐานทั้งหมดหรือ หรือว่าต้องวิกัป” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๒๙}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

                                                                 ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา

ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อธิษฐานผ้าไตรจีวร ไม่ใช่ให้วิกัป ให้อธิษฐาน ผ้าอาบน้ำฝนตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน พ้นเขตนั้นให้วิกัปไว้ ให้อธิษฐานผ้าปูนั่ง ไม่ใช่ให้วิกัป ให้อธิษฐานผ้าปูนอน ไม่ใช่ให้วิกัป ให้อธิษฐานผ้า ปิดฝีตลอดเวลาที่อาพาธ พ้นจากนั้นให้วิกัปไว้ ให้อธิษฐานผ้าเช็ดปาก ไม่ใช่ให้วิกัป ให้อธิษฐานผ้าบริขาร ไม่ใช่ให้วิกัป”
เรื่องจีวรมีขนาดเพียงไรจึงต้องวิกัป
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “จีวรมีขนาดเพียงไรเป็นอย่างต่ำ พึงวิกัป” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปจีวรมีขนาดยาว ๘ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว โดยนิ้วสุคตเป็นอย่างต่ำ”
เรื่องอุตตราสงค์ที่ทำจากผ้าบังสุกุลหนัก
[๓๕๙] สมัยนั้น อุตตราสงค์ที่ทำจากผ้าบังสุกุลของท่านพระมหากัสสปะหนัก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เย็บดามด้วยด้าย”
เรื่องชายสังฆาฏิไม่เสมอกัน
สังฆาฏิมีชายไม่เสมอกัน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อชายที่ไม่เท่ากันออก” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๓๐}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๒๒๙-๒๓๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=5&page=229&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=5&A=6122 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=5&A=6122#p229 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 5 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_5 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5 https://84000.org/tipitaka/english/?index_5



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๒๙-๒๓๐.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]