ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑

หน้าที่ ๑๖๘-๑๖๙.


                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

                                                                 ๔๒. สิกขาปทกถา

ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาดมีสามเณรหลายรูปไว้อุปัฏฐาก
สมัยนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระสารีบุตรส่งเด็กชายไปยังสำนักของท่าน ด้วยมอบหมายว่า “ขอพระเถระโปรดให้เด็กคนนี้บรรพชา” ขณะนั้น ท่านพิจารณาเห็นว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุรูปเดียว ไม่พึงใช้สามเณร ๒ รูปให้อุปัฏฐาก ก็เรามีสามเณรราหุลนี้อยู่แล้ว จะพึงปฏิบัติ อย่างไรหนอ” จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ รูปเดียวซึ่งเป็นผู้ฉลาดสามารถ ใช้สามเณร ๒ รูปให้อุปัฏฐากได้ หรืออนุญาตให้ใช้ สามเณรเท่าที่สามารถจะตักเตือนพร่ำสอนให้อุปัฏฐากได้”
๔๒. สิกขาปทกถา
ว่าด้วยสิกขาบทของสามเณร
[๑๐๖] ครั้งนั้น สามเณรทั้งหลายได้มีความคิดคำนึงว่า “สิกขาบทของพวกเรา มีเท่าไรหนอ และเราจะต้องศึกษาในสิกขาบทไหน” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ แก่สามเณร และให้สามเณรศึกษาในสิกขาบท ๑๐ นั้น คือ ๑. เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๒. เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ ๓. เจตนางดเว้นจากพฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์ ๔. เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ ๕. เจตนางดเว้นจากน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖. เจตนางดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๖๘}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

                                                                 ๔๓. ทัณฑกัมมวัตถุ

๗. เจตนางดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรีและดูการละเล่น อันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ๘. เจตนางดเว้นจากการทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ซึ่งใช้ เป็นเครื่องประดับตกแต่ง ๙. เจตนางดเว้นจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ ๑๐. เจตนางดเว้นจากการรับทองและเงิน ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ เหล่านี้แก่สามเณร และให้สามเณร ศึกษาในสิกขาบท ๑๐ เหล่านี้”
๔๓. ทัณฑกัมมวัตถุ
ว่าด้วยการลงทัณฑกรรมสามเณร
[๑๐๗] สมัยนั้น สามเณรทั้งหลายไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง มีความ ประพฤติไม่เข้ากันกับภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกสามเณรจึงได้ ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง มีความประพฤติไม่เข้ากันกับภิกษุทั้งหลายเล่า” จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรมแก่ สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ๑. พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่ภิกษุทั้งหลาย ๒. พยายามเพื่อความพินาศแก่ภิกษุทั้งหลาย ๓. พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แก่ภิกษุทั้งหลาย ๔. ด่า บริภาษภิกษุทั้งหลาย ๕. ยุยงภิกษุกับภิกษุให้แตกกัน ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรมแก่สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๖๙}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๖๘-๑๖๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=4&page=168&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=4&A=4747 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=4&A=4747#p168 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 4 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_4 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4 https://84000.org/tipitaka/english/?index_4



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๖๘-๑๖๙.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]