ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑

หน้าที่ ๑-๗.


พระวินัยปิฎก
มหาวรรค ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. มหาขันธกะ
๑. โพธิกถา๑-
ว่าด้วยเหตุการณ์แรกตรัสรู้ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
เรื่องทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท
[๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้น โพธิพฤกษ์๒- ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้ ประทับนั่งโดยบัลลังก์เดียว๓- เสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์เป็นเวลา ๗ วัน ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท๔- โดยอนุโลมและปฏิโลมตลอด ปฐมยามแห่งราตรีว่า @เชิงอรรถ : @ ขุ.อุ. ๒๕/๑-๔/๙๓-๙๖ @ วิหรติ ... โพธิรุกฺขมูเล ปฐมาภิสมฺพุทฺโธ เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์ ฎีกาอธิบาย @ว่า “อภิสมฺพุทฺโธ หุตฺวา สพฺพปฐมํ โพธิรุกฺขมูเล วิหรติ ตรัสรู้แล้ว ประทับนั่ง ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์ @ก่อนที่อื่นทั้งหมด” (วิมติ.ฏีกา ๒/๑/๑๐๘) @ นั่งโดยบัลลังก์เดียว หมายถึงนั่งขัดสมาธิโดยไม่ลุกขึ้นเลยตลอด ๗ วัน (วิ.อ. ๓/๑/๓) @ มนสิการปฏิจจสมุปบาท แปลว่า พิจารณาโดยถ้วนถี่ ใส่ใจโดยถ้วนถี่ พิจารณาโดยแยบคายซึ่งปฏิจจ- @สมุปบาท คือธรรมที่อาศัยกันและกันแล้วยังธรรมที่เกิดร่วมกันให้เกิดขึ้น (วิ.อ. ๓/๑/๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

                                                                 ๑. โพธิกถา

ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสจึงมี กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้
ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ๑- สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ @เชิงอรรถ : @ วิราคะ ในที่นี้หมายถึงมรรค (วิ.อ. ๓/๑/๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

                                                                 ๑. โพธิกถา

เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสจึงดับ กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการดับด้วยอาการอย่างนี้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ใน เวลานั้นว่า
พุทธอุทานคาถาที่ ๑ ๑-
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ๒- [๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมและ ปฏิโลม ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรีว่า
ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี @เชิงอรรถ : @ พุทธอุทานที่ ๑ เกิดขึ้นด้วยอำนาจการที่ทรงพิจารณาปัจจยาการหรือปฏิจจสมุปบาท (วิ.อ. ๓/๓/๖) @ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงโพธิปักขิยธรรมที่ให้สำเร็จการตรัสรู้ปัจจยาการ(หรือปฏิจจสมุปบาท)โดย @อนุโลม(และปฏิโลม) (วิ.อ. ๓/๑/๕) @พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้ลอยบาปธรรมเสียได้ (วิ.อ. ๓/๑/๕) @ธรรม ในที่นี้หมายถึงธรรมคือกองทุกข์ทั้งสิ้นมีสังขารเป็นต้น พร้อมทั้งเหตุคืออวิชชาเป็นต้น (วิ.อ. ๓/๑/๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๓}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

                                                                 ๑. โพธิกถา

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสจึงมี กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้
ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสจึงดับ กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการดับด้วยอาการอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๔}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

                                                                 ๑. โพธิกถา

ลำดับนั้น ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่ง อุทานนี้ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทานคาถาที่ ๒ ๑-
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย [๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมและ ปฏิโลมตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรีว่า
ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสจึงมี กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ @เชิงอรรถ : @ พุทธอุทานที่ ๒ เกิดขึ้นด้วยอำนาจการที่ทรงพิจารณานิพพาน (วิ.อ. ๓/๓/๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๕}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

                                                                 ๑. โพธิกถา

ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสจึงดับ กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการดับด้วยอาการอย่างนี้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทานคาถาที่ ๓ ๑-
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่ เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนา๒- เสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัยขึ้นสาดส่องท้องฟ้าให้สว่างไสวฉะนั้น
โพธิกถา จบ
@เชิงอรรถ : @ พุทธอุทานที่ ๓ นี้ เกิดขึ้นด้วยอำนาจการที่ทรงพิจารณามรรค (วิ.อ. ๓/๓/๖) @ มารและเสนามาร ในที่นี้หมายถึงกามทั้งหลาย (วิ.อ. ๓/๓/๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๖}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

                                                                 ๒. อชปาลกถา

๒. อชปาลกถา
ว่าด้วยเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธ
เรื่องทรงแสดงธรรมเป็นเหตุให้เป็นพราหมณ์
[๔] ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จ จากควงต้นโพธิพฤกษ์ ไปยังควงต้นอชปาลนิโครธ๑- ครั้นถึงแล้ว จึงประทับนั่งโดย บัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธเป็นเวลา ๗ วัน ครั้งนั้น พราหมณ์หุหุกชาติ๒- ผู้หนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ ระลึกถึงกันและกันแล้วได้ยืน ณ ที่สมควร พราหมณ์นั้นผู้ยืน ณ ที่สมควรแล้วแล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระโคดมผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงไรหนอ ก็และธรรมเหล่าไหนที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า พราหมณ์ใด ลอยบาปธรรมเสีย ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด สำรวมตน๓- เรียนจบพระเวท๔- อยู่จบพรหมจรรย์๕- พราหมณ์นั้น ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้นในอารมณ์ไหนๆ ในโลก ควรกล่าววาทะว่า เราเป็นพราหมณ์โดยธรรม
อชปาลกถา จบ
@เชิงอรรถ : @ นิโครธ แปลว่า ต้นไทร ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Banyan” หรือ “Indian Fig-tree” ไม้จำพวกไทรหรือกร่าง @ของอินเดีย พวกคนเลี้ยงแพะชอบมานั่งที่ร่มเงาของต้นนิโครธนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อชปาลนิโครธ @(วิ.อ. ๓/๔/๘; PALI-ENGLISH DICTIONARY, P.355, Edited by T.W. RHYS DAVIDS and @WILLIAM STEDE) @ หุหุกชาติ คือ ชอบตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ พราหมณ์นี้มีทิฏฐิว่า “สิ่งที่เห็นแล้วเป็นมงคล” ชอบเที่ยวตวาดว่า @หึ หึ เพราะความถือตัวและเพราะความโกรธ (ดู ขุ.อุ. ๒๕/๔/๙๖) @ สำรวมตน หมายถึงมีจิตมุ่งมั่นอยู่ในภาวนาหรือสำรวมด้วยศีลสังวร (วิ.อ. ๓/๔/๙) @ เรียนจบพระเวท หมายถึงบรรลุมรรคญาณ ๔ (โสดาปัตติมรรค,สกทาคามิมรรค,อนาคามิมรรค,อรหัตต- @มรรค) หรือเรียนจบเวท ๓ (ฤคเวท,ยชุรเวท,สามเวท) (วิ.อ. ๓/๔/๙) @ อยู่จบพรหมจรรย์ หมายถึงจบมรรคพรหมจรรย์ (วิ.อ. ๓/๔/๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๗}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑-๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=4&page=1&pages=7&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=4&A=1 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=4&A=1#p1 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 4 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_4 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4 https://84000.org/tipitaka/english/?index_4



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑-๗.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]