ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

หน้าที่ ๙๔-๙๗.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส

คำว่า ที่กำหนด ได้แก่ การกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) การกำหนดด้วย อำนาจตัณหา (๒) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจ ตัณหา... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ๑- คำว่า ในภพน้อยภพใหญ่ อธิบายว่า ในภพน้อยภพใหญ่ คือในกรรมวัฏและ วิปากวัฏ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในกรรมวัฏ เป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในภพต่อไป ในคติ ต่อไป ในการถือกำเนิดต่อไป ในปฏิสนธิต่อไป ในการบังเกิดของอัตภาพต่อไป คำว่า ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่ ของผู้มีปัญญาเครื่อง กำจัด ไม่มีในที่ไหนๆ ในโลก อธิบายว่า ทิฏฐิที่กำหนด คือ กำหนดทั่ว ปรุงแต่ง เฉพาะ ตั้งมั่นไว้ดีแล้ว(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ในที่ไหนๆ ในโลก ได้แก่ ทิฏฐิที่กำหนดนั้นผู้มี ปัญญาเครื่องกำจัดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้ เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพ น้อยภพใหญ่ ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ไม่มีในที่ไหนๆ ในโลก
ว่าด้วยความหลอกลวงและความถือตัว
คำว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ละความหลอกลวงและความถือตัวได้แล้ว อธิบายว่า ความประพฤติหลอกลวง ตรัสเรียกว่า ความหลอกลวง คนบางคนใน โลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ แล้วตั้งความปรารถนาชั่วทราม เพราะ การปกปิดทุจริตนั้นเป็นเหตุ คือปรารถนาว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย” ดำริว่า “ใคร อย่ารู้ทันเราเลย” กล่าววาจาด้วยคิดว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย” พยายามทางกาย ด้วยคิดว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย” @เชิงอรรถ : @ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๙๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส

ความหลอกลวง ความเป็นผู้มีความหลอกลวง ความเสแสร้ง ความล่อลวง การปิดบัง การหลบเลี่ยง การหลีกเลี่ยง การซ่อน การซ่อนเร้น การปิด การปกปิด การไม่เปิดเผย การไม่ทำให้แจ่มแจ้ง การปิดสนิท การทำความชั่วเห็นปานนี้ นี้ตรัส เรียกว่า ความหลอกลวง คำว่า ความถือตัว อธิบายว่า ความถือตัวนัยเดียว คือ ความที่จิตใฝ่สูง ความถือตัว ๒ นัย คือ ๑. การยกตน ๒. การข่มผู้อื่น ความถือตัว ๓ นัย คือ ๑. ความถือตัวว่าเราเลิศกว่าเขา ๒. ความถือตัวว่าเราเสมอเขา ๓. ความถือตัวว่าเราด้อยกว่าเขา ความถือตัว ๔ นัย คือ ๑. เกิดความถือตัวเพราะลาภ ๒. เกิดความถือตัวเพราะยศ ๓. เกิดความถือตัวเพราะความสรรเสริญ ๔. เกิดความถือตัวเพราะความสุข ความถือตัว ๕ นัย คือ ๑. เกิดความถือตัวว่าเราได้รูปที่ถูกใจ ๒. เกิดความถือตัวว่าเราได้เสียงที่ถูกใจ ๓. เกิดความถือตัวว่าเราได้กลิ่นที่ถูกใจ ๔. เกิดความถือตัวว่าเราได้รสที่ถูกใจ ๕. เกิดความถือตัวว่าเราได้โผฏฐัพพะที่ถูกใจ ความถือตัว ๖ นัย คือ ๑. เกิดความถือตัวเพราะมีตาสมบูรณ์ ๒. เกิดความถือตัวเพราะมีหูสมบูรณ์ ๓. เกิดความถือตัวเพราะมีจมูกสมบูรณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๙๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส

๔. เกิดความถือตัวเพราะมีลิ้นสมบูรณ์ ๕. เกิดความถือตัวเพราะมีกายสมบูรณ์ ๖. เกิดความถือตัวเพราะมีใจสมบูรณ์ ความถือตัว ๗ นัย คือ ๑. ความถือตัว ๒. ความดูหมิ่น ๓. ความดูหมิ่นด้วยอำนาจความถือตัว ๔. ความถือตัวว่าด้อยกว่าเขา ๕. ความถือตัวว่าเลิศกว่าเขา ๖. ความถือเราถือเขา ๗. ความถือตัวผิดๆ ความถือตัว ๘ นัย คือ ๑. เกิดความถือตัวเพราะได้ลาภ ๒. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะเสื่อมลาภ ๓. เกิดความถือตัวเพราะมียศ ๔. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะเสื่อมยศ ๕. เกิดความถือตัวเพราะความสรรเสริญ ๖. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะถูกนินทา ๗. เกิดความถือตัวเพราะความสุข ๘. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะความทุกข์ ความถือตัว ๙ นัย คือ ๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา ๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าเสมอเขา ๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา ๔. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา ๕. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าเสมอเขา ๖. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา ๗. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๙๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส

๘. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าเสมอเขา ๙. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา ความถือตัว ๑๐ นัย คือ คนบางคนในโลกนี้ ๑. เกิดความถือตัวเพราะชาติ ๒. เกิดความถือตัวเพราะโคตร ๓. เกิดความถือตัวเพราะเป็นบุตรของผู้มีตระกูล ๔. เกิดความถือตัวเพราะเป็นผู้มีรูปงาม ๕. เกิดความถือตัวเพราะมีทรัพย์ ๖. เกิดความถือตัวเพราะการศึกษา ๗. เกิดความถือตัวเพราะหน้าที่การงาน ๘. เกิดความถือตัวเพราะมีหลักแห่งศิลปวิทยา ๙. เกิดความถือตัวเพราะวิทยฐานะ ๑๐. เกิดความถือตัวเพราะความคงแก่เรียน เกิดความถือตัวเพราะปฏิภาณ หรือเกิดความถือตัว เพราะสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว ความถือตัว กริยาที่ถือตัว ภาวะที่ถือตัว ความลำพองตน ความทะนงตน ความเชิดชูตนเป็นดุจธง ความเห่อเหิม ความที่จิตต้องการเชิดชูตนเป็นดุจธงเห็น ปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความถือตัว คำว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ละความหลอกลวงและความถือตัวได้แล้ว อธิบายว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ละ คือ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง ความไม่มีอีกซึ่งความหลอกลวงและความถือตัว รวมความว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ละความหลอกลวงและความถือตัวได้แล้ว
ว่าด้วยความถือมั่น ๒ อย่าง
คำว่า ความถือมั่น ในคำว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้น ... ไม่มีความถือมั่น จะพึงไปด้วยเหตุอะไรเล่า ได้แก่ ความถือมั่น ๒ อย่าง คือ (๑) ความถือมั่นด้วย อำนาจตัณหา (๒) ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจ ตัณหา ... นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๙๗}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๙๔-๙๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=29&page=94&pages=4&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=2824 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=29&A=2824#p94 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29



จบการแสดงผล หน้าที่ ๙๔-๙๗.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]