ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

หน้าที่ ๓๐๑-๓๐๒.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส

ประกาศ รวมความว่า กิเลสเหล่านั้นมีมาจากไหน ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอก เหตุนั้น ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว ความดูหมิ่นและวาจาส่อเสียด มีมาจากไหน กิเลสเหล่านั้นมีมาจากไหน ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกเหตุนั้น [๙๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า) การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว ความดูหมิ่นและวาจาส่อเสียด มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก การทะเลาะ การวิวาท ประกอบในความตระหนี่ มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก เมื่อการวิวาทเกิดขึ้นแล้ว ก็มีวาจาส่อเสียดเกิดขึ้น
ว่าด้วยการทะเลาะเป็นต้น มาจากสิ่งเป็นที่รัก
คำว่า สิ่งเป็นที่รัก ในคำว่า การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ ความเศร้าโศก ความตระหนี่... มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก ได้แก่ สิ่งเป็นที่รัก ๒ จำพวก คือ (๑) สัตว์ (๒) สังขาร สัตว์เหล่าไหนเป็นที่รัก สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เป็นผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่เป็น ประโยชน์ ปรารถนาแต่สิ่งที่เกื้อกูล ปราถนาแต่ความผาสุก ปรารถนาแต่ความ หลุดพ้นจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว บุตร ธิดา มิตร อำมาตย์ ญาติ หรือผู้ร่วมสายโลหิตของผู้นั้น สัตว์เหล่านี้ชื่อว่าสิ่งเป็นที่รัก สังขารเหล่าไหนเป็นที่รัก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ สังขารเหล่านี้ ชื่อว่าสิ่งเป็นที่รัก ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะถูกแย่งชิงไป ย่อมก่อการทะเลาะกัน บ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักกำลังถูกแย่งชิงไปย่อมก่อการทะเลาะกันบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักถูก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๓๐๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส

แย่งชิงไปแล้วย่อมก่อการทะเลาะกันบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะ แปรผันไป ย่อมก่อการทะเลาะกันบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักกำลังแปรผันไป ย่อมก่อการ ทะเลาะกันบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักแปรผันไปแล้ว ย่อมก่อการทะเลาะกันบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะถูกแย่งชิงไป ย่อมวิวาทกันบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักกำลังถูกแย่งชิงไป ย่อมวิวาทกันบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักถูกแย่งชิงไปแล้ว ย่อมวิวาทกันบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะแปรผันไป ย่อมวิวาท กันบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักกำลังแปรผันไป ย่อมวิวาทกันบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รัก แปรผันไปแล้ว ย่อมวิวาทกันบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะถูกแย่งชิงไป ย่อมคร่ำครวญบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักกำลังถูกแย่งชิงไป ย่อมคร่ำครวญบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักถูกแย่งชิงไปแล้ว ย่อมคร่ำครวญบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะแปรผันไป ย่อม คร่ำครวญบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักกำลังแปรผันไป ย่อมคร่ำครวญบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รัก แปรผันไปแล้ว ย่อมคร่ำครวญบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะถูกแย่งชิงไป ย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อ สิ่งเป็นที่รักกำลังถูกแย่งชิงไป ย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักถูกแย่งชิงไปแล้ว ย่อมเศร้าโศกบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะแปรผันไป ย่อม เศร้าโศกบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักกำลังแปรผันไป ย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รัก แปรผันไปแล้ว ย่อมเศร้าโศกบ้าง ชนทั้งหลาย ย่อมรักษา ปกป้อง ถือครอง ยึดถือว่าเป็นของเรา ประพฤติ ตระหนี่อยู่ซึ่งสิ่งเป็นที่รัก คำว่า ความถือตัว ความดูหมิ่นและวาจาส่อเสียด อธิบายว่า ชนทั้งหลาย เกิดความถือตัวเพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รัก เกิดความดูหมิ่นเพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รัก ชนทั้งหลายเกิดความถือตัวเพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รัก เป็นอย่างไร คือ ชนทั้งหลายเกิดความถือตัวเพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รักว่า “เราเป็นผู้มีปกติได้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ถูกใจ” ชนทั้งหลายเกิดความถือตัวเพราะอาศัยสิ่ง เป็นที่รัก เป็นอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๓๐๒}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๓๐๑-๓๐๒. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=29&page=301&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=8973 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=29&A=8973#p301 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๐๑-๓๐๒.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]