ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

หน้าที่ ๒๕๒-๒๕๓.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส

สัมผัสโผฏฐัพพะเช่นนี้” ... ไม่ตั้งใจเพื่อให้ได้ใจและธรรมารมณ์ที่ยังไม่ได้ว่า “ใน อนาคตกาล เราพึงมีใจเช่นนี้ รู้ธรรมารมณ์เช่นนี้” เพราะไม่มีความตั้งใจเช่นนั้นเป็น ปัจจัย พระอรหันต์จึงไม่เพลิดเพลินใจและธรรมารมณ์นั้น เมื่อไม่เพลิดเพลินใจและ ธรรมารมณ์นั้น พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีความมุ่งหวังในอนาคตกาล อย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง พระอรหันต์ย่อมไม่ตั้งใจเพื่อให้ได้ภพที่ยังไม่ได้ว่า “เราจักเป็น เทพเจ้า หรือเทวดาตนใดตนหนึ่งด้วยศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้” เพราะการ ไม่ตั้งใจเช่นนั้นเป็นปัจจัย พระอรหันต์จึงไม่เพลิดเพลินภพนั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน ภพนั้น พระอรหันต์จึงไม่มีความมุ่งหวังในอนาคตกาล อย่างนี้บ้าง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) ก่อนดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหา ไม่ติดอยู่กับความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น ใครๆ กำหนดไม่ได้ในส่วนท่ามกลาง พระอรหันต์นั้นมิได้มุ่งหวังถึงตัณหาและทิฏฐิ(ในส่วนเบื้องปลาย) [๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า) บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง ไม่โอ้อวด ไม่คะนอง พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นผู้สำรวมวาจา นั้นแล ชื่อว่าเป็นมุนี
ว่าด้วยเหตุเกิดความโกรธ ๑๐ อย่าง
คำว่า ผู้ไม่โกรธ ในคำว่า ผู้ไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง กล่าวไว้แล้วข้างต้น อนึ่ง ควรกล่าวถึงความโกรธก่อน ความโกรธ ย่อมเกิดได้เพราะเหตุ ๑๐ อย่าง คือ ๑. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๒. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๓. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๔. ... ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา ๕. ... ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา ๖. ... ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๕๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส

๗. ... ผู้นี้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา ๘. ... ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา ๙. ... ผู้นี้จักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา ๑๐. ความโกรธเกิดขึ้นในฐานะอันไม่สมควร ใจปองร้าย มุ่งร้าย ขัดเคือง ขุ่นเคือง เคือง เคืองมาก เคืองตลอด ชัง ชิงชัง เกลียดชัง ใจพยาบาท ใจแค้นเคือง ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ ความคิด ประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย ความคิดปองร้าย กิริยา ที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย ความโกรธ ความแค้น ความดุร้าย ความ เกรี้ยวกราด ความไม่แช่มชื่นแห่งจิตเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความโกรธ อีกนัยหนึ่ง พึงทราบความโกรธมาก ความโกรธน้อย บางครั้งความโกรธ เพียงทำให้ใจขุ่นมัว ยังไม่ถึงกับหน้าเง้าหน้างอก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้ หน้าเง้าหน้างอ แต่ยังไม่ถึงกับคางสั่นก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้คางสั่น แต่ ยังไม่ถึงกับพูดคำหยาบก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้พูดคำหยาบ แต่ยังไม่ถึง กับตาขวางมองทิศมองทางก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้ตาขวางมองทิศ มองทาง แต่ยังไม่ถึงกับคว้าไม้คว้ามีดก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้คว้าไม้ คว้ามีด แต่ยังไม่ถึงกับเงือดเงื้อไม้และมีด(ที่ถือไว้)ก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแค่ ทำให้เงือดเงื้อไม้และมีด แต่ยังไม่ถึงกับลงมือฟาดฟันก็มี บางครั้งความโกรธเพียง แต่ฟาดฟัน แต่ยังไม่ถึงกับทำให้เกิดบาดแผลก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่ทำให้ เกิดบาดแผล แต่ยังไม่ถึงกับทำให้กระดูกหักก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่ทำให้ กระดูกหัก แต่ยังไม่ถึงกับทำให้อวัยวะขาดหลุดไปก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่ ทำให้อวัยวะขาดหลุดไป แต่ยังไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิตก็มี บางครั้งความโกรธเพียง แต่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่ยังไม่ถึงกับทำให้ดำรงอยู่เพื่อฆ่าตนเองก็มี เมื่อใด ความ โกรธทำให้ฆ่าบุคคลอื่นแล้วฆ่าตนเองเสียด้วย เมื่อนั้น ความโกรธเป็นไปรุนแรงมาก ถึงความเป็นสิ่งร้ายแรงอย่างยิ่ง ความโกรธนั้น ผู้ใด ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่โกรธ บุคคลชื่อว่าผู้ไม่โกรธ เพราะละความโกรธได้แล้ว บุคคล ชื่อว่าผู้ไม่โกรธ เพราะกำหนดรู้วัตถุแห่งความโกรธได้แล้ว บุคคลชื่อว่าผู้ไม่โกรธ เพราะตัดเหตุแห่งความโกรธได้แล้ว รวมความว่า ผู้ไม่โกรธ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๕๓}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๒๕๒-๒๕๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=29&page=252&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=7521 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=29&A=7521#p252 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๕๒-๒๕๓.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]