ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

หน้าที่ ๑๙๙-๒๐๐.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต]

                                                                 ๑. มณิกุณฑลวรรค ๑. มณิกุณฑลชาดก (๓๕๑)

๕. ปัญจกนิบาต
๑. มณิกุณฑลวรรค
หมวดว่าด้วยต่างหูแก้วมณี
๑. มณิกุณฑลชาดก (๓๕๑)
ว่าด้วยต่างหูแก้วมณี
(พระราชาโจรเข้าไปหาพระราชาโพธิสัตว์แห่งกรุงพาราณสีแล้วตรัสว่า) [๑] พระองค์หมดสิ้น รถ ม้า และต่างหูแก้วมณี อนึ่ง พระองค์หมดสิ้นพระโอรสและนางสนม เมื่อโภคะทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีเหลืออยู่เลย เพราะเหตุใด พระองค์ไม่ทรงเดือดร้อนในคราวที่ควรเศร้าโศก (พระราชาโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า) [๒] โภคะทั้งหลายละทิ้งสัตวโลกไปก่อนก็มี สัตวโลกละทิ้งโภคะเหล่านั้นไปก่อนก็มี ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงใคร่อยู่ในกาม โภคะทั้งหลายที่สัตว์ใช้สอยอยู่เป็นของไม่แน่นอน เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่เศร้าโศกในคราวที่ควรเศร้าโศก [๓] ดวงจันทร์ขึ้นเต็มดวงแล้วก็แหว่งเว้าไป ดวงอาทิตย์ทำโลกส่วนใหญ่ให้อบอุ่นแล้วลับขอบฟ้าไป ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นศัตรู โลกธรรมทั้งหลายข้าพระองค์ทราบดีแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่เศร้าโศกในคราวที่ควรเศร้าโศก (พระราชาโพธิสัตว์ทรงแสดงธรรมแก่พระราชาโจรแล้วทรงติเตียนว่า) [๔] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเกียจคร้านไม่ดี บรรพชิตไม่สำรวมไม่ดี พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไม่ดี การที่บัณฑิตโกรธไม่ดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๑๙๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต]

                                                                 ๑. มณิกุณฑลวรรค ๒. สุชาตชาดก (๓๕๒)

[๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ กษัตริย์ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงควรทำ ไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วไม่ควรตัดสิน ยศและเกียรติย่อมเจริญแด่พระราชาผู้ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
มณิกุณฑลชาดกที่ ๑ จบ
๒. สุชาตชาดก (๓๕๒)
ว่าด้วยสุชาตกุมารโพธิสัตว์
(บิดาของสุชาตกุมารโพธิสัตว์กล่าวว่า) [๖] ทำไมหนอ ลูกดูเหมือนรีบเร่งเกี่ยวหญ้าสดเขียวขจี แล้วกล่าวบ่นเพ้อกับโคแก่ที่ตายไปแล้วว่า เจ้าจงกิน เจ้าจงกิน [๗] โคที่ตายไปแล้วลุกขึ้นมาไม่ได้เพราะข้าวเพราะน้ำ ลูกบ่นเพ้อไปเปล่าๆ เหมือนคนไร้ความคิด (สุชาตกุมารโพธิสัตว์กล่าวตอบว่า) [๘] หัวของโคก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม สองเท้าหน้า สองเท้าหลัง หาง และหูของโคก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม ผมสำคัญว่า โคตัวนี้จะพึงลุกขึ้นได้ [๙] ส่วนศีรษะ มือทั้ง ๒ และเท้าทั้ง ๒ ของคุณปู่ไม่ปรากฏเลย คุณพ่อนั่นแหละร้องไห้อยู่ที่สถูปดิน เป็นคนไร้ความคิดมิใช่หรือ (บิดาชมเชยบุตรว่า) [๑๐] ลูกช่วยระงับพ่อผู้เร่าร้อนให้สงบ ดับความกระวนกระวายทั้งหมดได้ เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๒๐๐}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๑๙๙-๒๐๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=27&page=199&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=27&A=5467 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=27&A=5467#p199 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 27 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_27 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27 https://84000.org/tipitaka/english/?index_27



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๙๙-๒๐๐.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]