ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

หน้าที่ ๕๓๘-๕๓๙.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

                                                                 ๑. วังคีสเถรคาถา

๒๑. มหานิบาต
๑. วังคีสเถรคาถา
ภาษิตของพระวังคีสเถระ
(พระวังคีสเถระบวชแล้วใหม่ๆ ได้เห็นหญิงหลายคน ล้วนแต่งตัวงดงาม พากันไปวิหาร ก็เกิดความกำหนัดยินดี เมื่อจะบรรเทาความกำหนัดยินดีนั้น ได้กล่าว ภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๒๑๘] ความตรึกกับความคะนองอย่างเลวทรามเหล่านี้ ย่อมเข้าครอบงำเราผู้ออกบวชเป็นบรรพชิต [๑๒๑๙] บุตรของคนสูงศักดิ์ได้ศึกษาวิชายิงธนูคราวละมากๆ มาอย่างเชี่ยวชาญ ยิงลูกธนูไปรอบๆ ตัวโดยไม่ผิดพลาด [๑๒๒๐] ถึงแม้หญิงจะมามากยิ่งไปกว่าหญิงเหล่านี้ ก็จะเบียดเบียนเราไม่ได้แน่นอน เพราะเราได้เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมเสียแล้ว [๑๒๒๑] ด้วยว่า เราได้สดับทางเป็นที่ให้ถึงนิพพานนี้ เบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ดวงอาทิตย์ ใจของเรายินดีแล้วในทางนั้นแน่นอน [๑๒๒๒] มารผู้ชั่วช้า ถ้าท่านยังเข้ามาหาเราผู้อยู่ด้วยอาการอย่างนี้ เราก็จะทำทางที่เราทำไว้ให้ถึงที่สุด โดยท่านจะไม่พบเห็นได้ ฉะนั้น [๑๒๒๓] ผู้ใดละความยินดี ยินร้าย และความตรึกเกี่ยวกับบ้านเรือนได้ทั้งหมด หมดตัณหา ไม่มีกิเลส ไม่พึงก่อตัณหาดุจป่าในที่ไหนๆ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๓๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต]

                                                                 ๑. วังคีสเถรคาถา

[๑๒๒๔] รูปอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้ ทั้งที่อาศัยแผ่นดิน อยู่ในอากาศ อันนับเนื่องในภพ ๓ ล้วนไม่เที่ยงคร่ำคร่าไปทั้งนั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลายรู้แจ้งอย่างนี้แล้ว มีตนหลุดพ้นเที่ยวไป [๑๒๒๕] เหล่าปุถุชนที่มีจิตหมกมุ่นในอุปธิทั้งหลาย คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ท่านจงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวกำจัดความพอใจในเบญจกามคุณนี้เสีย เพราะผู้ใดไม่ติดในเบญจกามคุณนี้ บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่าเป็นมุนี [๑๒๒๖] ถ้ามิจฉาวิตกที่อิงอาศัยทิฏฐิ ๖๐ ประการ ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ตั้งมั่นในกาลไหนๆ ผู้ใดไม่พึงเป็นไปในอำนาจกิเลสด้วยอำนาจมิจฉาวิตกเหล่านั้น ทั้งไม่ชอบกล่าวคำหยาบคาย ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ [๑๒๒๗] ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีจิตมั่นคงมานาน ไม่ลวงโลก มีปัญญารักษาตนได้ หมดความทะเยอทะยาน เป็นมุนี ได้บรรลุสันตบท ย่อมหวังคอยเฉพาะเวลาที่จะปรินิพพาน [๑๒๒๘] ท่านผู้เป็นสาวกของพระโคดม ท่านจงละความเย่อหยิ่งเสีย และจงละทางแห่งความเย่อหยิ่งให้หมด เพราะผู้ที่หมกมุ่นอยู่ในทางแห่งความเย่อหยิ่ง จะต้องเดือดร้อนเป็นเวลานาน [๑๒๒๙] หมู่สัตว์ที่ยังลบหลู่คุณท่าน ถูกความเย่อหยิ่งกำจัดแล้ว ย่อมตกนรก เหล่าปุถุชนที่ถูกความเย่อหยิ่งกำจัดแล้ว เกิดในนรก ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๓๙}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๕๓๘-๕๓๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=26&page=538&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=26&A=14994 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=26&A=14994#p538 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 26 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_26 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26 https://84000.org/tipitaka/english/?index_26



จบการแสดงผล หน้าที่ ๕๓๘-๕๓๙.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]