ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

หน้าที่ ๔๖๙-๔๗๑.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]

                                                                 ๔. รัฏฐปาลเถรคาถา

[๗๗๑] เท้าทั้งสองย้อมด้วยครั่งสด หน้าทาด้วยจุรณ ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้ [๗๗๒] ผมที่ตบแต่งให้เป็นลอนดังกระดานหมากรุก ตาทั้งสองที่หยอดด้วยยาหยอดตาก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้ [๗๗๓] กายที่มีสภาพเปื่อยเน่าเป็นธรรมดาซึ่งตบแต่งแล้ว เหมือนกล่องยาหยอดตาใหม่ๆ ที่งดงาม ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้ [๗๗๔] นายพรานเนื้อดักบ่วงไว้แล้ว เนื้อไม่มาติดบ่วง เราทั้งหลาย(ฝูงเนื้อ)กินเหยื่อแล้วหลบหนีไป เมื่อนายพรานกำลังคร่ำครวญอยู่ [๗๗๕] เราทั้งหลายกัดบ่วงของพรานเนื้อขาดแล้ว เนื้อไม่ติดบ่วง เรากินเหยื่อแล้วหลบหนีไป เมื่อพรานเนื้อกำลังเศร้าโศกอยู่ [๗๗๖] อาตมาเห็นผู้คนที่มีทรัพย์ในโลก ได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้ว ไม่ยอมให้(ใคร) เพราะความหลง ได้ทรัพย์แล้ว เก็บสะสมไว้ และปรารถนากามคุณยิ่งๆ ขึ้นไป [๗๗๗] พระราชาทรงกดขี่ ช่วงชิงเอาแผ่นดิน ทรงครอบครองแผ่นดินซึ่งมีสมุทรสาครล้อมรอบ ตลอดสมุทรสาครฝั่งนี้ ยังไม่ทรงพอ ยังทรงปรารถนาจะครอบครองสมุทรสาครฝั่งโน้นอีก [๗๗๘] ทั้งพระราชาและคนอื่นเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ปราศจากตัณหา เข้าถึงความตาย ยังไม่เต็มตามที่ต้องการเลย ก็ละทิ้งร่างกายไป เพราะความอิ่มด้วยกามไม่มีในโลก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๖๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]

                                                                 ๔. รัฏฐปาลเถรคาถา

[๗๗๙] หมู่ญาติพากันสยายผม คร่ำครวญถึงคนที่ตายนั้นและพูดว่า ทำอย่างไรหนอ พวกญาติของเราทั้งหลายจึงจะไม่ตาย แต่นั้นก็นำศพนั้นซึ่งห่อผ้าไว้แล้วยกขึ้นสู่เชิงตะกอนแล้วช่วยกันเผา [๗๘๐] ศพนั้นถูกเขาใช้หลาวแทงเผาอยู่ ละโภคทรัพย์ มีแต่ผ้าผืนเดียว เมื่อคนจะตาย ญาติ มิตร หรือสหายก็ช่วยไม่ได้ [๗๘๑] ทายาททั้งหลายก็ขนทรัพย์สมบัติของเขาไป ส่วนสัตว์ที่ตายไปก็ย่อมไปตามกรรม เมื่อตายไป ทรัพย์ไรๆ คือ บุตร ภรรยา ข้าวของ เงินทอง และแว่นแคว้นก็ติดตามไปไม่ได้ [๗๘๒] ทรัพย์ช่วยคนให้มีอายุยืนไม่ได้ ทั้งช่วยคนให้ละความแก่ก็ไม่ได้ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั้นว่าน้อยนัก ไม่ยั่งยืน มีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา [๗๘๓] ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจนก็ย่อมประสบเช่นนั้น ทั้งพาลและบัณฑิตก็ประสบเหมือนกันทั้งนั้น คนพาลนั่นแหละถูกเหตุแห่งทุกข์กระทบเข้า ย่อมหวั่นไหวเพราะความเป็นคนโง่ ส่วนบัณฑิตถูกต้องก็ไม่หวั่นไหว [๗๘๔] เพราะเหตุนั้นแล ปัญญาเท่านั้นเป็นเหตุบรรลุนิพพาน ซึ่งเป็นที่สุดแห่งภพในโลกนี้ จึงประเสริฐกว่าทรัพย์ ก็เพราะยังไม่ได้บรรลุที่สุด คนพาลทั้งหลายจึงทำแต่กรรมชั่วในภพ น้อยภพใหญ่เพราะความเขลา [๗๘๕] ผู้ที่ทำกรรมชั่ว ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏร่ำไป คนมีปัญญาน้อย เมื่อเชื่อคนที่ทำกรรมชั่วนั้น ก็ย่อมเวียนว่ายตายเกิดร่ำไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๗๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]

                                                                 ๔. รัฏฐปาลเถรคาถา

[๗๘๖] โจรผู้ทำกรรมถูกเขาจับได้ตรงทาง ๓ แยก ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตน ฉันใด หมู่สัตว์ผู้ทำกรรมชั่ว ตายไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า เพราะกรรมของตน ฉันนั้น [๗๘๗] เพราะกามทั้งหลายที่งดงามน่าปรารถนาชวนให้รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตโดยสภาวะต่างๆ ฉะนั้น อาตมาเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงได้บวช มหาบพิตร [๗๘๘] สัตว์ทั้งหลายทั้งหนุ่มทั้งแก่ พอร่างแตกสลายก็ล่วงไป เหมือนผลไม้สุกงอมร่วงหล่นไป มหาบพิตร อาตมาเห็นความไม่เที่ยงแม้นี้ จึงได้บวช ความเป็นสมณะที่ปฏิบัติไม่ผิดนั่นแหละ ประเสริฐกว่า [๗๘๙] อาตมาบวชด้วยศรัทธาได้ปฏิบัติชอบในพระศาสนาของพระชินเจ้า การบวชของอาตมาไม่มีโทษ อาตมาฉันอาหารอย่างไม่เป็นหนี้ [๗๙๐] พิจารณาเห็นกามทั้งหลายโดยความเป็นของร้อน เงินทองโดยความเป็นศัสตรา ทุกข์ตั้งแต่ถือปฏิสนธิในครรภ์ และ ภัยใหญ่ในนรก [๗๙๑] ครั้นเห็นโทษนี้แล้ว จึงได้ความสังเวชในครั้งนั้น ในคราวนั้น อาตมานั้นเป็นผู้ถูกลูกศรคือราคะเป็นต้นทิ่มแทงอยู่ บัดนี้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว [๗๙๒] อาตมาปรนนิบัติพระศาสดา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ปลงภาระที่หนักเสียได้ ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว [๗๙๓] อาตมาออกบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นอันเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง อาตมาก็ได้บรรลุแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๗๑}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๔๖๙-๔๗๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=26&page=469&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=26&A=13034 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=26&A=13034#p469 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 26 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_26 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26 https://84000.org/tipitaka/english/?index_26



จบการแสดงผล หน้าที่ ๔๖๙-๔๗๑.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]