ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

หน้าที่ ๗๕๑-๗๕๔.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

                                                                 ๔. เมตตคูมาณวกปัญหา

๔. เมตตคูมาณวกปัญหา๑-
ว่าด้วยปัญหาของเมตตคูมาณพ
[๑๐๕๖] (เมตตคูมาณพทูลถามดังนี้) ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหา ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า ทรงเป็นผู้จบเวท๒- ทรงอบรมพระองค์แล้ว ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากที่ไหนหนอ [๑๐๕๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู) เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่รู้ ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลกนี้ ล้วนเกิดมาแต่อุปธิ๓- เป็นต้นเหตุ [๑๐๕๘] ผู้ใดแลไม่มีปัญญา ก่ออุปธิ ผู้นั้นจัดว่า เป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะฉะนั้น บุคคลรู้ชัดอยู่ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า มีชาติเป็นแดนเกิด ไม่ควรก่ออุปธิ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๔-๘๕/๑๕-๑๘ @ เวท ในที่นี้หมายถึงญาณ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ฯลฯ วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิในมรรคทั้ง ๔ @(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๘/๑๑๔) @ อุปธิ มี ๑๐ อย่าง (๑) อุปธิคือตัณหา (๒) อุปธิคือทิฏฐิ (๓) อุปธิคือกิเลส (๔) อุปธิคือกรรม (๕) อุปธิคือ @ทุจริต (๖) อุปธิคืออาหาร (๗) อุปธิคือปฏิฆะ (๘) อุปธิคืออุปาทินนธาตุ ๔ (๙) อุปธิคืออายตนะภายใน ๖ @(๙) อุปธิคืออายตนะภายนอก ๖ (๑๐) อุปธิคือหมวดวิญญาณ ๖ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๙/๑๒๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๕๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

                                                                 ๔. เมตตคูมาณวกปัญหา

[๑๐๕๙] (เมตตคูมาณพทูลถามดังนี้) พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นด้วยเถิด นักปราชญ์ทั้งหลายจะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสตอบปัญหานั้น แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว [๑๐๖๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตตคู) บุคคลรู้ชัดธรรม๑- ใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้ เราจักกล่าวธรรมที่ประจักษ์ด้วยตนเอง ในธรรมที่เราเห็นแล้วแก่เธอ [๑๐๖๑] (เมตตคูมาณพกราบทูลดังนี้) ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุดนั้นที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้ [๑๐๖๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตตคู) เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือมั่น @เชิงอรรถ : @ ธรรม ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๖๐/๔๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๕๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

                                                                 ๔. เมตตคูมาณวกปัญหา

และวิญญาณในธรรมเหล่านั้นเสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ๑- [๑๐๖๓] ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท รู้แจ้ง ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้วเที่ยวไปอยู่ พึงละชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะ อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน [๑๐๖๔] (เมตตคูมาณพกราบทูลดังนี้) ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระองค์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่ เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว [๑๐๖๕] พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน แม้ชนเหล่านั้นก็พึงละทุกข์ได้เป็นแน่ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์มาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ ขอนมัสการพระองค์ (โดยหวังว่า) พระผู้มีพระภาค พึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง [๑๐๖๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้) บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง๒- ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ หมดความสงสัยแล้ว @เชิงอรรถ : @ ภพ มี ๒ คือ (๑) กรรมภพ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร (๒) ภพใหม่ @อันมีในปฏิสนธิ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๔/๑๓๘) @ ฝั่ง ในที่นี้หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๘/๑๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๕๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

                                                                 ๕. โธตกมาณวกปัญหา

[๑๐๖๗] นรชนใดในที่นี้เป็นผู้มีปัญญา จบเวท สลัดกิเลสเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว นรชนนั้นเป็นผู้ปราศจากตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามพ้นชาติและชราได้แล้ว
เมตตคูมาณวกปัญหาที่ ๔ จบ
๕. โธตกมาณวกปัญหา๑-
ว่าด้วยปัญหาของโธตกมาณพ
[๑๐๖๘] (โธตกมาณพทูลถามดังนี้) ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว ศึกษาธรรม๒- เป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน [๑๐๖๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ) ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๖-๙๓/๑๘-๒๐ @ ศึกษาธรรม หมายถึงศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๑/๑๕๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๕๔}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๗๕๑-๗๕๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=25&page=751&pages=4&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=25&A=20324 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=25&A=20324#p751 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25



จบการแสดงผล หน้าที่ ๗๕๑-๗๕๔.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]