ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

หน้าที่ ๖๘๗-๗๑๑.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๑. กามสูตร

๔. อัฏฐกวรรค
หมวดว่าด้วยการไม่ติดอยู่ในกาม
๑. กามสูตร๑-
ว่าด้วยเรื่องกาม
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พราหมณ์ผู้เป็นชาวนา ณ กรุงสาวัตถีดังนี้) [๗๗๓] ถ้ากาม๒- นั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น ผู้อยากได้กามอยู่ สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่แท้ [๗๗๔] ถ้าเมื่อสัตว์นั้นอยากได้กามอยู่ เกิดความพอใจแล้ว กามเหล่านั้นเสื่อมไป สัตว์นั้นย่อมเจ็บปวด เหมือนถูกลูกศรแทง [๗๗๕] ผู้ใดละกามได้ เหมือนคนเดินเลี่ยงหัวงู ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา๓- นี้ในโลก [๗๗๖] นรชนใดปรารถนาเนืองๆ ซึ่งไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส บุรุษ สตรี พวกพ้อง หรือกามเป็นอันมาก [๗๗๗] กิเลสทั้งหลายอันไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น อันตรายทั้งหลาย๔- ย่ำยีนรชนนั้น @เชิงอรรถ : @ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑-๖/๑-๒๓ @ กาม ในที่นี้หมายถึงวัตถุกาม (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๓/๓๔๖) @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๘๙ ในเล่มนี้ @ อันตราย มี ๒ อย่าง (๑) อันตรายที่ปรากฏ คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เป็นต้น (๒) อันตรายที่ไม่ปรากฏ คือ @กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต เป็นต้น ในที่นี้หมายถึงอันตรายที่ไม่ปรากฏ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๑๖-๑๗, @ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๗/๓๔๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๘๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๒. คุหัฏฐกสูตร

เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไป เหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว ฉะนั้น [๗๗๘] เพราะฉะนั้น สัตว์เกิด๑- พึงมีสติทุกเมื่อ ละกามทั้งหลายได้ ครั้นละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะได้ เหมือนคนวิดน้ำเรือแล้วไปถึงฝั่งได้ ฉะนั้น
กามสูตรที่ ๑ จบ
๒. คุหัฏฐกสูตร๒-
ว่าด้วยผู้ข้องอยู่ในถ้ำ
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ณ กรุงสาวัตถีดังนี้) [๗๗๙] นรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำ๓- ถูกกิเลสมากหลายปิดบังไว้ เมื่อดำรงตนอยู่(อย่างนี้) ก็จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง๔- ผู้เป็นเช่นนั้นแล ย่อมอยู่ไกลจากวิเวก เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็นของที่นรชนละได้ง่ายเลย [๗๘๐] สัตว์เหล่านั้นมีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ ติดพันอยู่กับความพอใจในภพ มุ่งหวัง(กาม) ในกาลภายหลัง(อนาคต)หรือในกาลก่อน(อดีต) ปรารถนากามเหล่านี้และกามที่มีอยู่ก่อน ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นได้ยาก(และ)ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย @เชิงอรรถ : @ สัตว์เกิด หมายถึงนรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เป็นไปตามกรรม (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๖/๒๓) @ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗-๑๔/๒๘-๖๗ @ ถ้ำ ในที่นี้หมายถึงร่างกาย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๙/๓๕๐) @ เหตุให้ลุ่มหลง ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗/๓๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๘๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๒. คุหัฏฐกสูตร

[๗๘๑] สัตว์เหล่านั้นยินดีขวนขวาย ลุ่มหลงในกามทั้งหลาย เป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่ในกรรมที่ผิด ประสบทุกข์แล้วจึงคร่ำครวญอยู่ว่า เราจุติจากภพนี้ จักเป็นอะไรหนอ [๗๘๒] เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้๑- พึงรู้จักกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกว่า เป็นกรรมที่ผิด ไม่พึงประพฤติผิดเพราะเหตุแห่งกรรมที่ผิดนั้น นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย [๗๘๓] เราเห็นหมู่สัตว์นี้ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย๒- กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก นรชนที่เลวผู้ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช [๗๘๔] พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่ เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อยสิ้นกระแสแล้ว นรชนเห็นโทษนี้แล้วก็อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย พึงประพฤติไม่ยึดถือว่า เป็นของเรา [๗๘๕] นักปราชญ์พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน กำหนดรู้ผัสสะ๓- แล้ว ก็ไม่ติดใจ @เชิงอรรถ : @ คำว่า สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้ ดูรายละเอียดใน ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๐/๔๘-๔๙ @ ภพทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงกามภพ รูปภพ และอรูปภพ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑/๕๗) @ ผัสสะ หมายถึงความสัมผัสอารมณ์ที่มากระทบ เช่น ตากระทบกับรูป หรือตาเห็นรูป เรียกจักขุสัมผัส @เป็นต้น (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓/๖๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๘๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร

ติเตียนกรรมใดด้วยตน ก็ไม่ทำกรรมนั้น ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว [๗๘๖] มุนีกำหนดรู้สัญญาแล้ว ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย พึงข้ามโอฆะได้ ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท ประพฤติอยู่ ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า
คุหัฏฐกสูตรที่ ๒ จบ
๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร๑-
ว่าด้วยเรื่องเดียรถีย์กับมุนี
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พระอานนท์ดังนี้) [๗๘๗] เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย บุคคลเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริงก็กล่าวร้ายด้วย แต่มุนีย่อมไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตในที่ไหนๆ [๗๘๘] ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความชอบใจ พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า แต่เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น [๗๘๙] สัตว์เกิดใดไม่มีใครถาม ก็บอกศีลและวัตรของตนแก่บุคคลเหล่าอื่น สัตว์เกิดใดกล่าวถึงตัวเองเท่านั้น ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกสัตว์เกิดนั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม [๗๙๐] ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นดังนี้ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบคำแปลพร้อมทั้งอธิบายใน ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕-๒๒/๗๔-๑๐๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร

อนึ่ง ภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูในที่ไหนๆ ในโลก ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มีอริยธรรม [๗๙๑] เจ้าลัทธิใด มีธรรมที่กำหนดไว้ อันปัจจัยปรุงแต่งเชิดชูไว้ (แต่)ไม่ขาวสะอาด เจ้าลัทธินั้นเห็นอานิสงส์ใดในตน อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติ๑- ที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น [๗๙๒] ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ มิใช่ก้าวล่วงได้ง่ายๆ การปลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น ก็มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น นรชนย่อมสลัดทิ้งธรรมบ้าง ยึดถือธรรมไว้บ้าง [๗๙๓] ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่ ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดไม่มีในที่ไหนๆ ในโลก เพราะผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้น ละความหลอกลวงและความถือตัวได้แล้ว ไม่มีความถือมั่น จะพึงไปด้วยเหตุอะไรเล่า [๗๙๔] เพราะว่า ผู้มีความถือมั่นย่อมเข้าถึงวาทะในธรรมทั้งหลาย จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่นด้วยเหตุอะไรเล่า เพราะทิฏฐิว่ามีอัตตา ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา๒- ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัดแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ
ทุฏฐัฏฐกสูตรที่ ๓ จบ
@เชิงอรรถ : @ สันติ หมายถึงความสงบ มี ๓ อย่าง คือ (๑) อัจจันตสันติ (ความสงบอย่างสิ้นเชิง) หมายถึงอมตนิพพาน @(๒) ตทังคสันติ (ความสงบด้วยองค์นั้นๆ) หมายถึงผู้บรรลุรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ (๓) สมมุติสันติ @(ความสงบโดยสมมติ) หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ ในที่นี้หมายถึงสันติโดยสมมติ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙/๘๘-๘๙) @ ทิฏฐิว่ามีอัตตา หมายถึงสัสสตทิฏฐิ ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ ดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๒/ @๙๘-๑๐๐, ๙๓/๒๘๘-๒๘๙ และดู สุตตนิบาต ข้อ ๘๖๕ หน้า ๗๐๗ ในเล่มนี้ประกอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๔. สุทธัฏฐกสูตร

๔. สุทธัฏฐกสูตร๑-
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้) [๗๙๕] เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น บุคคลเมื่อรู้จริงอย่างนี้ก็รู้ว่า ความเห็นนี้ยอดเยี่ยม จึงเป็นผู้พิจารณาเห็นความหมดจด เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ [๗๙๖] ถ้าความหมดจดมีแก่นรชนเพราะความเห็น หรือนรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ นรชนผู้ยังมีอุปธินั้นย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้) เพราะว่า ทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น [๗๙๗] พราหมณ์๒- ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีลและวัตรหรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป ละอัตตาได้๓- เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้ [๗๙๘] สมณพราหมณ์เหล่านั้นละสิ่งแรก อาศัยสิ่งหลัง ไปตามความพลุ่งพล่าน๔- ย่อมข้ามกิเลสเครื่องข้องไม่ได้ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๓-๓๐/๑๐๑-๑๒๓ @ พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงผู้ลอยบาปธรรม ๗ ประการ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ (๒) วิจิกิจฉา (๓) สีลัพพต- @ปรามาส (๔) ราคะ (๕) โทสะ (๖) โมหะ (๗) มานะ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๔) @ ละอัตตาได้ หมายถึงละ สละ และคายความยึดมั่นถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่าเป็นอัตตาด้วย @อำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๙) @ ความพลุ่งพล่าน ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๖/๑๑๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๔. สุทธัฏฐกสูตร

สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมยึดถือ ย่อมสลัดทิ้ง เหมือนลิงจับกิ่งไม้แล้วก็ปล่อย ฉะนั้น [๗๙๙] สัตว์เกิดสมาทานวัตรทั้งหลายเอง ข้องอยู่ในสัญญา๑- ย่อมดำเนินไปลุ่มๆ ดอนๆ ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลาย๒- แล้ว เป็นผู้มีปัญญาอันไพบูลย์ ย่อมไม่ดำเนินไปลุ่มๆ ดอนๆ [๘๐๐] ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ใครๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้น ผู้เห็นผู้ประพฤติเปิดเผยด้วยเหตุอะไรเล่า [๘๐๑] สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู สัตบุรุษเหล่านั้นไม่กล่าวว่าเป็นความหมดจดสุดโต่ง สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว ไม่ก่อความหวังในที่ไหนๆ ในโลก [๘๐๒] พระอรหันต์เป็นผู้ไปพ้นเขตแดน๓- แล้ว เป็นพราหมณ์ เพราะรู้และเห็น พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีความถือมั่น ไม่มีความกำหนัดในกามคุณอันเป็นที่กำหนัด ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีความถือมั่นว่า ยอดเยี่ยมในโลกนี้
สุทธัฏฐกสูตรที่ ๔ จบ
@เชิงอรรถ : @ ข้องอยู่ในสัญญา หมายถึงพัวพันอยู่ในกามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา และทิฏฐิสัญญา @(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๗/๑๑๒) @ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลาย หมายถึงรู้อริยสัจ ๔ ด้วยมรรคญาณ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๙๙/๓๖๓) @ เขตแดน หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๐๒/๓๖๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๕. ปรมัฏฐกสูตร

๕. ปรมัฏฐกสูตร๑-
ว่าด้วยผู้ยึดถือทิฏฐิของตนว่ายอดเยี่ยม
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้) [๘๐๓] สัตว์เกิดผู้ยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่า ยอดเยี่ยม ย่อมทำทิฏฐิใดให้ยิ่งใหญ่ในโลก กล่าวทิฏฐิอื่นทุกอย่างนอกจากทิฏฐินั้นว่า เลว เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดนั้นจึงไม่ล่วงพ้นการวิวาทไปได้ [๘๐๔] เจ้าลัทธิเห็นอานิสงส์ใดในตน ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน ในศีลและวัตร หรือในอารมณ์ที่รับรู้ เจ้าลัทธินั้นยึดมั่นทิฏฐินั้นในลัทธิของตนนั้น เห็นทิฏฐิอื่นทั้งปวงโดยความเป็นของเลว [๘๐๕] บุคคลอาศัยศาสดาใด เห็นศาสดาอื่นว่า เลว ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกศาสดานั้นว่า เป็นเครื่องร้อยรัด เพราะฉะนั้นแล ภิกษุจึงไม่ควรอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือศีลและวัตร [๘๐๖] ภิกษุไม่พึงกำหนดทิฏฐิในโลกด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลและวัตร ไม่พึงเอาตนเข้าไปเทียบว่าเสมอเขา ไม่พึงสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา หรือเลิศกว่าเขา [๘๐๗] ภิกษุนั้นละอัตตาแล้ว ไม่ยึดถือ ไม่สร้างนิสัยแม้ด้วยญาณ เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าเป็นฝักเป็นฝ่าย ภิกษุนั้นไม่ถือแม้ทิฏฐิอะไรๆ @เชิงอรรถ : @ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๑-๓๘/๑๒๓-๑๔๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๖. ชราสูตร

[๘๐๘] พระอรหันต์ใดผู้ไม่มีความคะนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน ในโลกนี้ ในภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือในโลกหน้า พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีเครื่องอยู่อะไรๆ ความตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นก็ไม่มี [๘๐๙] พระอรหันต์นั้นไม่มีทิฏฐิอันสัญญากำหนดไว้แม้นิดเดียว ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในอารมณ์ที่รับรู้ในโลกนี้ ใครๆ ในโลกนี้ จะพึงกำหนดพระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่ด้วยเหตุอะไรเล่า [๘๑๐] พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู(ตัณหาและทิฏฐิ)ไว้ แม้ธรรมทั้งหลาย๑- พระอรหันต์เหล่านั้นก็ไม่ปรารถนา พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์นั้น ใครๆ ก็นำไปด้วยศีลและวัตรไม่ได้ เป็นผู้ถึงฝั่ง๒- ไม่กลับมา เป็นผู้คงที่
ปรมัฏฐกสูตรที่ ๕ จบ
๖. ชราสูตร๓-
ว่าด้วยชรา
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พุทธบริษัทชาวเมืองสาเกตดังนี้) [๘๑๑] ชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี แม้หากผู้ใดจะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้ @เชิงอรรถ : @ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๑๐/๓๖๗) @ ฝั่ง หมายถึงอมตนิพพาน ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวงเป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง เป็นต้น @(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๘/๑๓๘) @ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๙-๔๘/๑๔๒-๑๖๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๖. ชราสูตร

[๘๑๒] ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศก เพราะวัตถุที่ยึดถือว่า เป็นของเรา เพราะความยึดถือที่เที่ยงแท้ไม่มีอยู่ ความพลัดพรากจากกันนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ไม่พึงครองเรือน [๘๑๓] บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา เบญจขันธ์นั้นบุรุษนั้นย่อมละไปเพราะความตาย บัณฑิตผู้เป็นพุทธมามกะ รู้ชัดโทษนี้แล้ว ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่า เป็นของเรา [๘๑๔] บุรุษผู้ตื่นขึ้นแล้ว ไม่เห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยความฝัน ฉันใด ใครๆ ก็ไม่เห็นชนผู้เป็นที่รัก ซึ่งตายจากไปแล้ว ฉันนั้น [๘๑๕] ชื่อของชนเหล่าใดที่กล่าวกันอยู่นี้ ชนเหล่านั้นยังเห็นกันอยู่บ้าง ยังได้ยินกันอยู่บ้าง สัตว์เกิดจากไปแล้ว เหลือไว้แต่ชื่อเท่านั้นเพื่อกล่าวขานกัน [๘๑๖] ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ยึดถือว่า เป็นของเรา ย่อมละทิ้งความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ และความตระหนี่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น มุนีผู้เห็นแดนเกษม ละความยึดถือได้แล้ว เที่ยวไป [๘๑๗] บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพ ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น ใช้ที่นั่งอันสงัดนั้นว่า เป็นความสามัคคี [๘๑๘] มุนีไม่อาศัยในสิ่งทั้งปวง๑- ไม่ทำสิ่ง๒- ไหนให้เป็นที่รัก และไม่ทำสิ่งไหนให้ไม่เป็นที่รัก ความคร่ำครวญและความตระหนี่ไม่ติดอยู่ในมุนีนั้น เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น @เชิงอรรถ : @ สิ่งทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอายตนะ ๑๒ คือ ตาและรูป หูและเสียง จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและ @โผฏฐัพพะ ใจและธรรมารมณ์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๑๘/๓๗๑) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๖/๑๖๑ @ สิ่ง ในที่นี้หมายถึงสัตว์และสังขาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๑๘/๓๗๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๗. ติสสเมตเตยยสูตร

[๘๑๙] มุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับรู้ เหมือนหยดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนดอกบัว ฉะนั้น [๘๒๐] พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ย่อมไม่สำคัญหมายรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับรู้ พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการความหมดจดด้วยมรรคอื่น ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้องคลายกำหนัด
ชราสูตรที่ ๖ จบ
๗. ติสสเมตเตยยสูตร๑-
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยะ
(ท่านพระติสสเมตเตยยะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้) [๘๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ความคับแค้นของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนืองๆ ข้าพระองค์ฟังคำสอนของพระองค์แล้วจักศึกษาวิเวก (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตเตยยะ) [๘๒๒] คำสั่งสอนของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนืองๆ ย่อมเลอะเลือน และบุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด การปฏิบัตินี้ เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น @เชิงอรรถ : @ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๙-๕๘/๑๖๘-๑๙๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๗. ติสสเมตเตยยสูตร

[๘๒๓] ผู้ใดในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียว๑- (ต่อมา)เข้าไปเสพเมถุนธรรม๒- ผู้รู้ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นปุถุชนเลวในโลก เหมือนยานที่แล่นไป๓- ฉะนั้น [๘๒๔] ยศและเกียรติ๔- ในเบื้องต้นของภิกษุนั้น เสื่อมไป ภิกษุเห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม [๘๒๕] ภิกษุนั้นถูกความดำริครอบงำ ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า ครั้นได้ยินคำตำหนิของคนอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น [๘๒๖] ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของผู้อื่นตักตือนแล้ว ย่อมสร้างศัสตรา๕- ย่อมก้าวลงสู่ความเป็นคนพูดเท็จ นี้แหละเป็นเครื่องทำให้ติดใหญ่ของเธอ [๘๒๗] ภิกษุ (ในเบื้องต้น) ได้สมญานามว่า เป็นบัณฑิต อธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียว ต่อมา เธอประกอบในเมถุนธรรม ก็จักมัวหมอง เหมือนกับคนโง่ ฉะนั้น @เชิงอรรถ : @ เที่ยวไปผู้เดียว หมายถึงบวชเป็นบรรพชิตและการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๑๗๗) @ เข้าไปเสพเมถุน หมายถึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์เสพเมถุนธรรม (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๑๗๘) @ ยานที่แล่นไป ในที่นี้หมายถึงยานช้าง ยานม้า และยานโค ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกหัด ย่อมแล่นพาออกไป @นอกทาง (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๑๗๘) @ ยศและเกียรติ ในที่นี้หมายถึงลาภสักการะและความสรรเสริญ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๒๔/๓๗๓) @ ศัสตรา มี ๓ อย่าง คือ (๑) ศัสตราทางกาย (๒) ศัสตราทางวาจา (๓) ศัสตราทางใจ หรือกายทุจริต @๓ อย่าง วจีทุจริต ๔ อย่าง และมโนทุจริต ๓ อย่าง ในที่นี้หมายถึงศัสตราทางวาจา @(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๔/๑๘๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๘. ปสูรสูตร

[๘๒๘] มุนีรู้โทษนี้แล้ว ในคราวเป็นคฤหัสถ์ ก่อนบวชในธรรมวินัยนี้ พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม [๘๒๙] บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั้นแหละ เพราะการประพฤติวิเวกนี้ เป็นกิจสูงสุดของพระอริยะทั้งหลาย ไม่พึงสำคัญตนว่าเราเป็นผู้ประเสริฐสุด ด้วยการประพฤติวิเวกนั้น ผู้นั้นแล ชื่อว่า อยู่ใกล้นิพพาน [๘๓๐] หมู่สัตว์ผู้ติดใจในกามทั้งหลาย ย่อมยินดีมุนีผู้ว่าง ประพฤติอยู่ ไม่มุ่งหวังกามทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
ติสสเมตเตยยสูตรที่ ๗ จบ
๘. ปสูรสูตร๑-
ว่าด้วยปริพาชกชื่อว่าปสูระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ปสูรปริพาชกในท่ามกลางพุทธบริษัทดังนี้) [๘๓๑] สมณพราหมณ์เป็นอันมาก ย่อมกล่าวความหมดจดในธรรมนี้เท่านั้น ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น บุคคลอาศัยศาสดาใดก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม ในเพราะทิฏฐิของตนนั้น เป็นผู้ตั้งอยู่ในปัจเจกสัจจะ๒- @เชิงอรรถ : @ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๙-๖๙/๑๙๕-๒๑๖ @ ปัจเจกสัจจะ ในที่นี้หมายถึงสัจจะเฉพาะอย่าง เช่น สัจจะที่ว่า โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง @(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๙/๑๙๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๘. ปสูรสูตร

[๘๓๒] สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด เข้าไปสู่บริษัทแล้ว จับคู่กล่าวหากันและกันว่า เป็นคนพาล สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด [๘๓๓] คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว) ในท่ามกลางบริษัท เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ เป็นผู้เก้อเขินในเมื่อถูกคัดค้านตกไป ย่อมโกรธเคืองเพราะคำนินทา แสวงหาข้อแก้ตัว [๘๓๔] บริษัทผู้พิจารณาปัญหากล่าววาทะของเขาว่า เลว ถูกคัดค้านให้ตกไปแล้ว เขาเสื่อมวาทะไปแล้ว ย่อมคร่ำครวญเศร้าโศก ทอดถอนใจว่า เขานำ(หน้า) เราไปแล้ว [๘๓๕] การวิวาทเหล่านี้เกิดแล้วในหมู่สมณะ ความยินดีและความยินร้าย มีอยู่ในการวิวาทเหล่านี้ บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว พึงงดเว้นถ้อยคำขัดแย้งกัน เพราะว่าไม่มีประโยชน์อื่นนอกจากการได้ความสรรเสริญ [๘๓๖] ก็หรือว่า บุคคลกล่าววาทะในท่ามกลางบริษัท ได้รับความสรรเสริญเพราะทิฏฐิของตนนั้น เขาย่อมหัวเราะและฟูใจด้วยประโยชน์แห่งความชนะนั้น เพราะได้บรรลุถึงประโยชน์ตามที่ใจคิดไว้แล้ว [๘๓๗] ความลำพองตน ย่อมเป็นภูมิสำหรับย่ำยีของเขา เขาจึงกล่าวคำถือตัวและคำดูหมิ่นกัน บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว ไม่ควรวิวาทกัน เพราะผู้ฉลาดทั้งหลาย ไม่กล่าวความหมดจด ด้วยความวิวาทกันนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๐๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๙. มาคันทิยสูตร

[๘๓๘] คนกล้าที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยของเสวยของพระราชา เขาคึกคะนอง อยากพบคนกล้าฝ่ายตรงข้ามย่อมได้พบ ฉันใด (เจ้าลัทธิย่อมได้พบเจ้าลัทธิ ฉันนั้น) ผู้กล้าเอ๋ย เจ้าลัทธิอยู่ที่ใด เธอจงไปเสียจากที่นั้นเถิด เพราะกิเลสที่เคยมีแต่ก่อนของตถาคตมิได้มีเพื่อการรบ [๘๓๙] ชนเหล่าใดถือทิฏฐิแล้ววิวาทกัน และกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง เธอจงพูดกับชนเหล่านั้นว่า กิเลสที่เป็นข้าศึกกัน เมื่อวาทะเกิดไม่มีในธรรมวินัยนี้ [๘๔๐] พระอรหันต์เหล่าใด กำจัดเสนาได้แล้ว ไม่เอาทิฏฐิไปกระทบทิฏฐิ เที่ยวไป พระอรหันต์เหล่าใดในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความถือมั่นสิ่งนี้ว่า ยอดเยี่ยม ปสูระเอ๋ย เธอจะพึงได้อะไร ในพระอรหันต์เหล่านั้น [๘๔๑] อนึ่ง เธอตรึกอยู่มาแล้ว เธอคิดทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ มาถึงการแข่งคู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว ย่อมไม่สามารถเทียมทันได้เลย
ปสูรสูตรที่ ๘ จบ
๙. มาคันทิยสูตร๑-
ว่าด้วยมาคันทิยพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่มาคันทิยพราหมณ์พร้อมภรรยาดังนี้) [๘๔๒] เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา ก็ไม่ได้มีความพอใจในเมถุนธรรมเลย จักมีความพอใจเพราะเห็นเรือนร่าง @เชิงอรรถ : @ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๐-๘๒/๒๑๗-๒๔๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๐๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๙. มาคันทิยสูตร

ที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและอุจจาระนี้ได้อย่างไรเล่า เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า (มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้) [๘๔๓] หากท่านไม่ปรารถนานารีผู้เป็นอิตถีรัตนะเช่นนี้ ที่พระราชาผู้เป็นจอมคนจำนวนมากพากันปรารถนา ท่านจะกล่าวทิฏฐิ ศีล วัตร ชีวิต และการอุบัติขึ้นในภพว่าเป็นเช่นไร (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มาคันทิยะ) [๘๔๔] การตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นว่า เรากล่าวสิ่งนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เรา เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น เมื่อเลือกเฟ้น จึงได้เห็นความสงบภายใน (มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้) [๘๔๕] ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว มุนีไม่ยึดมั่นทิฏฐิเหล่านั้นแล กล่าวเนื้อความใดว่า ความสงบภายใน เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคันทิยะ) [๘๔๖] นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๐๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๙. มาคันทิยสูตร

บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ๑- เพราะความไม่มีสุตะ๒- เพราะความไม่มีญาณ๓- เพราะความไม่มีศีล๔- เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้๕- นักปราชญ์สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว ไม่ยึดมั่น เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว ไม่พึงหวังภพ (มาคันทิยพราหมณ์กราบทูลดังนี้) [๘๔๗] หากนักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร @เชิงอรรถ : @ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงสัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ คือ (๑) ทานที่ให้แล้วมีผล (๒) ยัญที่บูชาแล้วมีผล (๓) การ @เซ่นสรวงมีผล (๔) ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วมีอยู่ (๕) โลกนี้มี (๖) โลกหน้ามี (๗) มารดามีคุณ @(๘) บิดามีคุณ (๙) สัตว์เป็นโอปปาติกะมีอยู่ (๑๐) สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รู้แจ้งโลกนี้และ @โลกหน้า ด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔) @ สุตะ ในที่นี้หมายถึงเสียงจากผู้อื่น คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม @และเวทัลละ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔) @ ญาณ หมายถึงกัมมัสสกตาญาณ (ญาณที่เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน) หมายถึงสัจจานุโลมิก- @ญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ) และหมายถึงอภิญญาญาณ (ญาณคือความรู้ @อย่างยิ่งยวด) มี ๖ คือ (๑) อิทธิวิธิ (๒) ทิพพโสต (๓) เจโตปริยญาณ (๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ @(๕) ทิพพจักขุ (๖) อาสวักขยญาณ และสมาปัตติญาณ (ญาณในสมาบัติ ๘) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔) @ ศีล ในที่นี้หมายถึงปาติโมกขสังวร (สำรวมในพระปาติโมกข์) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔) @ วัตร ในที่นี้หมายถึงธุดงค์ ๘ ข้อ คือ (๑) อารัญญิกังคธุดงค์ (สมาทานการอยู่ในป่าเป็นวัตร) (๒) ปิณฑ- @ปาติกังคธุดงค์ (สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร) (๓) ปังสุกูลิกังคธุดงค์ (สมาทานการนุ่งห่มผ้าบังสุกุล @เป็นวัตร) (๔) เตจีวริกังคธุดงค์ (สมาทานการทรงไตรจีวรเป็นวัตร) (๕) สปทานจาริกังคธุดงค์ (สมาทาน @การเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร) (๖) ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ (สมาทานห้ามภัตที่ถวายภาย @หลังเป็นวัตร) (๗) เนสัชชิกังคธุดงค์ (สมาทานการนั่งเป็นวัตร) (๘) ยถาสันถติกังคธุดงค์ (สมาทานการอยู่ @ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔-๒๒๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๐๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๙. มาคันทิยสูตร

บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้น ก็หามิได้ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจธรรมของท่านว่า เป็นเรื่องงมงายแน่นอน เพราะสมณพราหมณ์บางพวกถึงความหมดจดได้เพราะทิฏฐิ (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคันทิยะ) [๘๔๘] เพราะอาศัยทิฏฐิทั้งหลายท่านจึงถามเนืองๆ ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลายที่ท่านถือมั่นไว้แล้ว และท่านก็มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบแต่ความงมงาย [๘๔๙] ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว ๓ อย่าง ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา (หรือด้อยกว่าเขา) จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น [๘๕๐] บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้น พึงกล่าวอะไรว่า จริง หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงโต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา (หรือด้อยกว่าเขา) ย่อมไม่มีในพระอรหันต์ใด พระอรหันต์นั้นพึงตอบโต้วาทะด้วยเหตุอะไรเล่า [๘๕๑] บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน [๘๕๒] บุคคลผู้เป็นนาคะ สงัดจากทิฏฐิเหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๐๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๑๐. ปุราเภทสูตร

ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น [๘๕๓] มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ ไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้ มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป มุนีนั้นไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย [๘๕๔] มุนีผู้เว้นจากสัญญาแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด มุนีผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีความลุ่มหลง ชนเหล่าใดยังยึดถือสัญญาและทิฏฐิ ชนเหล่านั้นย่อมเที่ยวกระทบกระทั่งกันในโลก
มาคันทิยสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. ปุราเภทสูตร๑-
ว่าด้วยก่อนการดับขันธปรินิพพาน
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) [๘๕๕] บุคคลมีทัสสนะ๒- อย่างไร มีศีล๓- อย่างไร จึงเรียกว่า เป็นผู้สงบ๔- แล้ว ข้าแต่พระโคตมะ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์โปรดตรัสบอกนรชนผู้สูงสุดนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด @เชิงอรรถ : @ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๓-๙๖/๒๔๖-๒๙๖ @ ทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงอธิปัญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕) @ ศีล ในที่นี้หมายถึงอธิศีล (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕) @ สงบ ในที่นี้หมายถึงอธิจิต (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๐๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๑๐. ปุราเภทสูตร

(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๘๕๖] ก่อนดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหา ไม่ติดอยู่กับความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น ใครๆ กำหนดไม่ได้ในส่วนท่ามกลาง พระอรหันต์นั้นมิได้มุ่งหวังถึงตัณหาและทิฏฐิ (ในส่วนเบื้องปลาย) [๘๕๗] บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง ไม่โอ้อวด ไม่คะนอง พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นผู้สำรวมวาจานั้นแล ชื่อว่า เป็นมุนี [๘๕๘] บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย ย่อมไม่ถูกนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย [๘๕๙] บุคคลนั้นเป็นผู้หลีกเร้น ไม่หลอกลวง ไม่ทะเยอทะยาน ไม่ตระหนี่๑- ไม่คะนอง ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ และไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด [๘๖๐] บุคคลผู้ไม่ยินดีในสิ่งที่น่ายินดี ไม่ประกอบในความดูหมิ่น ละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลายกำหนัด [๘๖๑] บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ ไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ ไม่เดือดดาลและไม่ยินดีในรสเพราะตัณหา @เชิงอรรถ : @ ตระหนี่ มี ๕ อย่าง (๑) อาวาสมัจฉริยะ(ตระหนี่ที่อยู่) (๒) กุลมัจฉริยะ(ตระหนี่ตระกูล) (๓) ลาภ- @มัจฉริยะ(ตระหนี่ลาภ) (๔) วัณณมัจฉริยะ(ตระหนี่วรรณะ) (๕) ธัมมมัจฉริยะ(ตระหนี่ธรรม) @(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๗/๒๖๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๐๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๑๐. ปุราเภทสูตร

[๘๖๒] บุคคลเป็นผู้วางเฉย มีสติทุกเมื่อ ไม่สำคัญว่าเสมอเขา ไม่สำคัญว่าเลิศกว่าเขา ไม่สำคัญว่าด้อยกว่าเขา ในโลก กิเลสหนาย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น [๘๖๓] บุคคลใดไม่มีที่อาศัย ไม่มีตัณหาในภพหรือในวิภพ๑- บุคคลนั้นรู้ธรรมแล้วไม่ต้องอาศัย [๘๖๔] เราเรียกบุคคลนั้นผู้ไม่มุ่งหวังในกามทั้งหลายว่า เป็นผู้เข้าไปสงบ บุคคลนั้นไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด ข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ได้แล้ว [๘๖๕] บุคคลนั้นไม่มีบุตร สัตว์เลี้ยง นา ไร่ และที่ดิน ทิฏฐิว่า มีอัตตา หรือทิฏฐิว่า ไม่มีอัตตา หาไม่ได้ในบุคคลนั้น๒- [๘๖๖] เหล่าปุถุชน หรือสมณพราหมณ์ พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษ๓- ใด โทษนั้น ไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย [๘๖๗] บุคคลผู้เป็นมุนี เป็นผู้คลายความยินดี ไม่ตระหนี่ ย่อมไม่กล่าวในเรื่องเลิศกว่าเขา ไม่กล่าวในเรื่องเสมอเขา ไม่กล่าวในเรื่องด้อยกว่าเขา เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนด๔- @เชิงอรรถ : @ ภพ หมายถึงสัสสตทิฏฐิหรือภวทิฏฐิ วิภพ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ หรือวิภวทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๖๓/๓๙๐) @และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๑/๒๘๕) @ ดู สุตตนิบาต ข้อ ๗๙๔ หน้า ๖๙๑ ในเล่มนี้ และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๒/๙๘-๑๐๐, ๙๓/๒๘๘-๒๘๙ ประกอบ @ โทษ หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๖๖/๓๙๐) @ ความกำหนด(กัปปะ) มี ๒ อย่าง คือ (๑) กำหนดด้วยอำนาจตัณหา (๒) กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ @(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๕/๒๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๐๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๑๑. กลหวิวาทสูตร

[๘๖๘] บุคคลใดไม่มีความถือว่าเป็นของตนในโลก เมื่อไม่มีความถือว่าเป็นของตน ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ถึงความลำเอียงในธรรมทั้งหลาย บุคคลนั้นแล เรียกว่า ผู้สงบ
ปุราเภทสูตรที่ ๑๐ จบ
๑๑. กลหวิวาทสูตร๑-
ว่าด้วยการทะเลาะวิวาท
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) [๘๖๙] การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากไหน กิเลสเหล่านั้นมีมาจากไหน ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกเหตุนั้น (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๘๗๐] การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก๒- การทะเลาะ การวิวาท ประกอบในความตระหนี่ มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก เมื่อการวิวาทเกิดขึ้นแล้ว ก็มีวาจาส่อเสียดเกิดขึ้น @เชิงอรรถ : @ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๗-๑๑๒/๒๙๗-๓๓๗ @ สิ่งเป็นที่รัก มีความหมาย ๒ อย่าง คือ (๑) สัตว์ หมายถึงมารดา บิดา พี่ น้อง บุตร ธิดา เป็นต้น @(๒) สังขาร หมายถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ชอบใจ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๘/๓๐๑-๓๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๐๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๑๑. กลหวิวาทสูตร

(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) [๘๗๑] สิ่งเป็นที่รักในโลกมีอะไรเป็นต้นเหตุ และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ ความโลภของชนเหล่านั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ ความหวังและความสำเร็จหวังใด จะมีแก่นรชนในภพหน้า ความหวังและความสำเร็จหวังนั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๘๗๒] สิ่งเป็นที่รักในโลกมีความพอใจเป็นต้นเหตุ และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ ความโลภของชนเหล่านั้นมีความพอใจเป็นต้นเหตุ ความหวังและความสำเร็จหวังใด จะมีแก่นรชนในภพหน้า ความหวังและความสำเร็จหวังของนรชนนั้น มีความพอใจนี้เป็นต้นเหตุ (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) [๘๗๓] ฉันทะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน และความตัดสินใจมีมาจากไหน อนึ่ง ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ และความสงสัย มีมาจากอะไร และธรรมเหล่าใดพระสมณะตรัสไว้แล้ว ธรรมเหล่านั้นมีมาจากอะไร (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๘๗๔] ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า น่าดีใจ น่าเสียใจ ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น ชนในโลกมองเห็นความเสื่อมและความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว ย่อมทำการตัดสินใจ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๐๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๑๑. กลหวิวาทสูตร

[๘๗๕] ธรรมแม้เหล่านี้ คือ ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ และความสงสัย ย่อมมีในเมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ บุคคลผู้มีสงสัยพึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ๑- และธรรมเหล่าใดพระสมณะทรงทราบแล้วตรัสไว้ ธรรมเหล่านั้น เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ก็มีมา (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) [๘๗๖] ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านั้นจึงไม่มี @เชิงอรรถ : @ ญาณ ในที่นี้หมายถึงญาณ ๑๖ (โสฬสญาณ) ความหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ @ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด คือ (๑) นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดรู้นามและรูป) (๒) ปัจจยปริคคหญาณ @(ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป) (๓) สัมมสนญาณ (ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดย @ไตรลักษณ์) (๔) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ) (๕) ภังคานุ- @ปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความสลายเห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปหมด) (๖) ภยตูปัฏ- @ฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไปไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น) @(๗) อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ) (๘) นิพพิทานุปัสสนาญาณ @(ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย) (๙) มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย เมื่อ @หน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น) (๑๐) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ @(ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออก) (๑๑) สังขารุเปกขาญาณ (ญาณ @อันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร ไม่ยินดียินร้ายต่อสังขารทั้งหลาย) (๑๒) สัจจานุโลมิกญาณ หรือ @อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลม ได้แก่การหยั่งรู้อริยสัจ) (๑๓) โคตรภูญาณ (ญาณหยั่งรู้ที่เป็น @หัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชน เข้าสู่ภาวะอริยบุคคล) (๑๔) มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค (ความ @หยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น) (๑๕) ผลญาณ ญาณในอริยผล (ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของ @พระอริยบุคคลชั้นนั้นๆ) (๑๖) ปัจจเวกขณญาณ (ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน สำรวจรู้มรรคผล @กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่และนิพพาน) (ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑-๖๕/๗-๑๐๙, วิสุทฺธิ. ๒/๖๖๒-๘๐๔/๒๕๐-๓๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๑๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๑๑. กลหวิวาทสูตร

ขอพระองค์จงตรัสบอกเรื่องความไม่มีและความมีว่า มีต้นเหตุมาจากสิ่งใดแก่ข้าพระองค์ (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๘๗๗] ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ เมื่อผัสสะไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี เราขอบอกเรื่องคือความไม่มีและความมีนี้ว่า มีต้นเหตุมาจากผัสสะแก่เธอ (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) [๘๗๘] ผัสสะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน และความยึดถือมีมาจากไหน เมื่ออะไรไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๘๗๙] เพราะอาศัยนามและรูป ผัสสะจึงเกิดขึ้น ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้) [๘๘๐] เมื่อบุคคลดำเนินอย่างไร รูปจึงไม่มี สุขและทุกข์จะไม่มีได้อย่างไร สุขและทุกข์ย่อมไม่มีโดยวิธีการใด ขอพระองค์โปรดตรัสบอกวิธีการนั้นแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า จะรู้วิธีการนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๑๑}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๖๘๗-๗๑๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=25&page=687&pages=25&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=25&A=18501 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=25&A=18501#p687 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25



จบการแสดงผล หน้าที่ ๖๘๗-๗๑๑.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]