ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

หน้าที่ ๒๖๐-๒๖๘.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค]

                                                                 ๕. อุโปสถสูตร

พุทธอุทาน
ถ้าเธอทั้งหลายกลัวความทุกข์ ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่รักของเธอทั้งหลาย ก็อย่าได้ทำบาปกรรมในที่แจ้ง๑- หรือบาปกรรมในที่ลับ๒- เพราะถ้าเธอทั้งหลายจักทำ หรือกำลังทำบาปกรรมอยู่ ถึงจะเหาะหนีไป เธอย่อมไม่พ้นจากความทุกข์ไปได้
กุมารกสูตรที่ ๔ จบ
๕. อุโปสถสูตร๓-
ว่าด้วยอุโบสถกรรม
[๔๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา- มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับ นั่งในวันอุโบสถวันหนึ่ง ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว๔- ปฐมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ลุกจาก อาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูล ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์ นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า” @เชิงอรรถ : @ บาปกรรมในที่แจ้ง หมายถึงกรรมชั่วทางกาย และทางวาจา (ขุ.อุ.อ. ๔๔/๓๑๕) @ บาปกรรมในที่ลับ หมายถึงกรรมชั่วทางใจ (ขุ.อุ.อ. ๔๔/๓๑๕) @ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๘๓-๓๘๕/๒๗๘-๒๘๕, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๒๐/๒๕๒-๒๖๕, อภิ.ก. ๓๗/๓๔๖/๑๘๘ @ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๖ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๒๖๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค]

                                                                 ๕. อุโปสถสูตร

เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงนิ่ง๑- แม้ครั้งที่ ๒ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ ลุกจากอาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูล ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์ นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า” แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ทรงนิ่ง แม้ครั้งที่ ๓ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ยามรุ่งอรุณเริ่ม สว่าง ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทาง พระผู้มีพระภาคได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ยามรุ่งอรุณเริ่มสว่าง ภิกษุสงฆ์นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มี พระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ บริษัทไม่บริสุทธิ์” ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้ว่า ‘บริษัทไม่บริสุทธิ์’ ทรงหมายถึงใครกัน” จึงกำหนดจิตของภิกษุสงฆ์ ด้วยจิต(ของตน) ได้เห็นบุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติ ที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ นั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์นั้น ครั้นเห็นแล้วจึงลุกจากอาสนะเข้าไปหาบุคคลนั้นแล้ว กล่าวว่า “ท่านจงลุกขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีสังวาส๒- กับ ภิกษุทั้งหลาย” @เชิงอรรถ : @ เหตุที่ทรงนิ่ง ก็ด้วยพระประสงค์จะอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทุศีลที่มีอยู่ในบริษัท เพราะหากพระองค์ทรงยกปาติโมกข์ @ขึ้นแสดง ศีรษะของภิกษุผู้ทุศีลนั้นก็จะแตก ๗ เสี่ยง พระองค์จึงทรงนิ่งเสีย (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๒๐/๒๔๕) @ สังวาส ในที่นี้หมายถึงกรรมที่ทำร่วมกัน อุทเทสที่สวดรวมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน @(วิ.มหา.(แปล) ๑/๕๕/๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๒๖๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค]

                                                                 ๕. อุโปสถสูตร

เมื่อท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวอย่างนี้แล้ว บุคคลนั้นก็ยังนิ่งอยู่ แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้กล่าวกับบุคคลนั้นว่า “ท่านจง ลุกขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีสังวาสกับภิกษุทั้งหลาย” แม้ครั้งที่ ๒ บุคคลนั้นก็ยังนิ่งอยู่ แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้กล่าวกับบุคคลนั้นว่า “ท่านจง ลุกขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีสังวาสกับภิกษุทั้งหลาย” แม้ครั้งที่ ๓ บุคคลนั้นก็ยังนิ่งอยู่ ครั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงจับแขนเขาฉุดให้ออกไปนอกซุ้มประตู ใส่กลอนแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ให้บุคคลนั้นออกไปพ้นแล้ว บริษัท บริสุทธิ์แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ โมฆบุรุษนี้ดื้ออยู่ จนต้องฉุดแขนไล่ออกไป” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่บัดนี้ไป เราจักไม่ทำอุโบสถ จักไม่ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ตั้งแต่บัดนี้ไป เธอทั้งหลายนั้นแลพึงทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด ภิกษุทั้งหลาย เป็นไป ไม่ได้ที่ตถาคตจะทำอุโบสถ จะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในเมื่อบริษัทไม่บริสุทธิ์๑- ภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทรมีสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร สิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ คือ ๑. มหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที ภิกษุทั้งหลาย การที่มหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๒๐/๒๕๔ ประกอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๒๖๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค]

                                                                 ๕. อุโปสถสูตร

ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที นี้เป็นสิ่ง ที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๑ ในมหาสมุทรที่พวกอสูร พบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร ๒. มหาสมุทรมีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง ภิกษุทั้งหลาย การที่มหาสมุทรมี ปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการ ที่ ๒ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร ๓. มหาสมุทรไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที ภิกษุทั้งหลาย ที่มหาสมุทรไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพ ขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๓ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดี ในมหาสมุทร ๔. มหานทีทุกสาย คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลลงสู่ มหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘มหาสมุทร’ ทั้งสิ้น ภิกษุทั้งหลาย การที่มหานทีทุกสาย คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลลงสู่มหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและ โคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘มหาสมุทร’ ทั้งสิ้น นี้เป็นสิ่งที่น่า อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๔ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบ เห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร ๕. แม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลก ที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝน ตกลงจากฟากฟ้าก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้ ภิกษุทั้งหลาย การที่แม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลกที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และ สายฝนตกลงจากฟากฟ้า ก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้ นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๕ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร ๖. มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ภิกษุทั้งหลาย การที่มหาสมุทร มีรสเดียว คือ รสเค็ม นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๖ ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๒๖๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค]

                                                                 ๕. อุโปสถสูตร

๗. มหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว ภิกษุทั้งหลาย การที่มหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๗ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดี ในมหาสมุทร ๘. มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ๑- อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว ๑๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๒๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี ภิกษุทั้งหลาย การที่มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว ๑๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๒๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี นี้เป็นสิ่งที่น่า อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๘ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบ เห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร ภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทรมีสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ นี้แลที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ คือ ๑. ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ๒- ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที @เชิงอรรถ : @ ชื่อปลาเหล่านี้ปรากฏในเรื่องไตรภูมิว่า ว่ายเวียนอยู่ในมหานทีสีทันดรรอบภูเขาสัตบริภัณฑ์ @ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๑๙/๒๔๘ ประกอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๒๖๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค]

                                                                 ๕. อุโปสถสูตร

เหมือนมหาสมุทรที่ต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดย ลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที ภิกษุทั้งหลาย การที่ธรรมวินัยนี้มีการ ศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไป ตามลำดับ ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที นี้เป็นธรรมที่น่า อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๑ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลาย พบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้ ๒. สาวกทั้งหลายของเราย่อมไม่ละเมิดสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต เหมือนมหาสมุทรที่มีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง ภิกษุทั้งหลาย การที่สาวกทั้งหลายของเราไม่ละเมิดสิกขาบทที่เรา บัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคย ปรากฏ ประการที่ ๒ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้ว ต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้ ๓. บุคคลใดทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติที่ น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วย ราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ สงฆ์ก็ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ย่อม ประชุมกันนำเธอออกไปทันที แม้เธอจะนั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ก็ยังห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเธอ เหมือนมหาสมุทร ไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที ภิกษุ ทั้งหลาย การที่บุคคลใดทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความ ประพฤติที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่า เป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ สงฆ์ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ย่อมประชุมกันนำเธอออกไปทันที แม้เธอจะนั่งอยู่ในท่ามกลาง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๒๖๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค]

                                                                 ๕. อุโปสถสูตร

ภิกษุสงฆ์ ก็ยังห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเธอ นี้เป็น ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๓ ในธรรมวินัยนี้ที่ ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้ ๔. วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘สมณศากยบุตร’ ทั้งสิ้น เหมือนมหานทีทุกสาย คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลลงสู่มหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตนรวม เรียกว่า ‘มหาสมุทร’ ทั้งสิ้น ภิกษุทั้งหลาย การที่วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละชื่อและ โคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘สมณศากยบุตร’ ทั้งสิ้น นี้เป็น ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๔ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้ ๕. แม้หากภิกษุจำนวนมากปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก็ไม่ทำให้นิพพานพร่องหรือเต็มได้ เหมือนแม่น้ำสายใดสายหนึ่ง ในโลก ที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝนตกลงจากฟากฟ้า ก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้ ภิกษุทั้งหลาย การที่แม้หาก ภิกษุจำนวนมากปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก็ไม่ทำให้ นิพพานพร่องหรือเต็มได้ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๕ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้ว ต่างพากัน ยินดีในธรรมวินัยนี้ ๖. ธรรมวินัยนี้มีรสเดียวคือวิมุตติรส เหมือนมหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ภิกษุทั้งหลาย การที่ธรรมวินัยนี้มีรสเดียวคือวิมุตติรส นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๖ ในธรรม วินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๒๖๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค]

                                                                 ๕. อุโปสถสูตร

๗. ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เหมือนมหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว ภิกษุทั้งหลาย การที่ธรรมวินัยนี้ มีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๗ ในธรรมวินัย นี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้ ๘. ธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือ พระโสดาบัน บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อ ทำให้แจ้งสกทาคามิผล พระอนาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง อนาคามิผล พระอรหันต์ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล เหมือนมหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว ๑๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๒๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี ภิกษุทั้งหลาย การที่ธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือ พระโสดาบัน บุคคลผู้ ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล พระอนาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อ ทำให้แจ้งอนาคามิผล พระอรหันต์ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง อรหัตตผล นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๘ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้ ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ นี้แล ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๒๖๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค]

                                                                 ๖. โสณสูตร

พุทธอุทาน
ยิ่งปิด ยิ่งรั่ว๑- เปิดแล้วไม่รั่ว๒- เพราะฉะนั้น พึงเปิดสิ่งที่ปิด เมื่อเป็นดังนี้ สิ่งที่เปิดนั้นก็จะไม่รั่ว๓-
อุโปสถสูตรที่ ๕ จบ
๖. โสณสูตร๔-
ว่าด้วยพระโสณเถระ
[๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระมหากัจจานะพักอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ เมืองกุรุรฆระ แคว้นอวันตี ครั้งนั้น อุบาสกชื่อโสณะ กุฏิกัณณะเป็นอุปัฏฐาก ของท่านพระมหากัจจานะ ครั้งนั้น อุบาสกชื่อโสณะ กุฏิกัณณะหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึง อย่างนี้ว่า “การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ครบถ้วน ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะแสดงธรรมไว้ มิใช่กระทำได้ง่าย ทางที่ ดีเราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต” @เชิงอรรถ : @ ยิ่งปิด ยิ่งรั่ว หมายถึงภิกษุต้องอาบัติแล้วปกปิดไว้ ย่อมต้องอาบัติตัวอื่นใหม่อีก และต้องอาบัติมากขึ้น @เรื่อยๆ ฝนคืออาบัติหรือฝนคือกิเลส ย่อมรั่วรดจิตมากขึ้น (ขุ.อุ.อ. ๔๕/๓๒๗) @ เปิดแล้วไม่รั่ว หมายถึงภิกษุต้องอาบัติแล้ว เปิดเผยอาบัติแก่เพื่อนภิกษุแล้วแสดงออกจากอาบัติตาม @ธรรมตามวินัย จึงไม่ต้องอาบัตินั้น (ขุ.อุ.อ. ๔๕/๓๒๗) @ ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๘๕/๒๘๕, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๔๔๗/๔๑๕ @ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๕๗-๒๕๘/๓๒-๓๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๒๖๘}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๒๖๐-๒๖๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=25&page=260&pages=9&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=25&A=6840 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=25&A=6840#p260 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๖๐-๒๖๘.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]