ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

หน้าที่ ๑๔๕-๑๔๗.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

                                                                 ๒. ยมกวรรค ๗. ปฐมนฬกปานสูตร

ผู้มีอายุ เมื่อไม่ยินดี ทุกข์นี้เป็นอันพึงหวังได้ เมื่อมีความยินดี สุขนี้เป็นอันพึง หวังได้ คือ บุคคลผู้มีความยินดี แม้เดินอยู่ ก็ประสพความสุขสำราญ แม้ยืนอยู่ ... แม้นั่งอยู่ ... แม้นอนอยู่ ... แม้ไปสู่บ้าน ... แม้ไปสู่ป่า ... แม้ไปสู่โคนไม้ ... แม้ไปสู่ เรือนว่าง ... แม้ไปสู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ... ก็ประสพความสุขสำราญ ผู้มีอายุ เมื่อมีความยินดี สุขนี้เป็นอันพึงหวังได้”
ทุติยสุขสูตรที่ ๖ จบ
๗. ปฐมนฬกปานสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่นฬกปานนิคม สูตรที่ ๑
[๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุ สงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงนิคมของชาวโกศลชื่อว่านฬกปานะ ประทับอยู่ที่ปลาสวัน ใกล้นฬกปานนิคมนั้น สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ประทับ นั่งในวันอุโบสถนั้น ทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาสิ้นหลาย ราตรีทีเดียว ทรงชำเลืองดูภิกษุสงฆ์ผู้นิ่งเงียบอยู่ ทรงเรียกท่านพระสารีบุตรมาตรัสว่า “สารีบุตร ภิกษุสงฆ์ปราศจากถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)แล้ว เฉพาะ เธอเท่านั้นที่จะอธิบายธรรมีกถาให้แจ่มแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายได้๑- เราเมื่อยหลัง จัก เอนหลัง” ท่านพระสารีบุตรได้ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาครับ สั่งให้ปูลาดสังฆาฏิทบ ๔ ชั้น บรรทมสีหไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงวาง @เชิงอรรถ : @ แปลจากประโยคบาลีว่า “ปติภาตุ ตํ สารีปุตฺต ภิกฺขูนํ ธมฺมีกถา” ซึ่งโครงสร้างประโยคเช่นนี้มีปรากฏใน @พระไตรปิฎกหลายเล่ม และแต่ละเล่มก็มีอยู่หลายที่ มีข้อสังเกตว่าประโยคนี้ เป็นประโยคธรรมเนียมมอบ @หมายงานให้แสดงธรรม โดยคำนึงถึง “ความถนัดส่วนบุคคล” เป็นหลัก ในที่นี้ทรงมอบหมายให้ท่านพระ @สารีบุตรแสดง เพราะท่านมีความถนัดในเรื่องนี้ หาใช่เพราะทรงประสงค์จะยกย่องท่านเป็นพิเศษไม่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๑๔๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

                                                                 ๒. ยมกวรรค ๗. ปฐมนฬกปานสูตร

พระบาทเหลื่อมพระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงทำอุฏฐานสัญญา(ความกำหนด หมายว่าจะลุกขึ้น) ไว้ในพระหทัย ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลาย มากล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นกล่าวรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้ กล่าวเรื่องนี้ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีหิริ ... ไม่มี โอตตัปปะ ... ไม่มีวิริยะ ... ไม่มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือ กลางวันของผู้นั้นผ่านไป เขาพึงหวังได้แต่ความเสื่อมอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเจริญเลย ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีหิริ ... ไม่มีโอตตัปปะ ... ไม่มี วิริยะ ... ไม่มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้น ผ่านไป เขาพึงหวังได้แต่ความเสื่อมอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเจริญ เลย เปรียบเหมือนเมื่อกลางคืนหรือกลางวันของดวงจันทร์ในกาฬปักษ์(ข้างแรม)ผ่านไป ดวงจันทร์นั้น ย่อมเสื่อมจากความงาม ย่อมเสื่อมจากรัศมี ย่อมเสื่อมจากแสงสว่าง ย่อมเสื่อมจากด้านยาวและด้านกว้าง ข้อที่ว่า ‘บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ เกียจคร้าน มีปัญญา ทราม มักโกรธ ผูกโกรธ ปรารถนาชั่ว มีมิตรชั่ว เป็นมิจฉาทิฏฐิ’ นี้เป็นความเสื่อม ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริ ... มีโอตตัปปะ ... มีวิริยะ ... มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป เขา พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริ ... มีโอตตัปปะ ... มีวิริยะ ... มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้น ผ่านไป เขาพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อม เลย เปรียบเหมือนเมื่อกลางคืนหรือกลางวันของดวงจันทร์ในชุณหปักษ์(ข้างขึ้น) ผ่านไป ดวงจันทร์นั้นย่อมเจริญด้วยความงาม ย่อมเจริญด้วยรัศมี ย่อมเจริญด้วย แสงสว่าง ย่อมเจริญด้วยด้านยาวและด้านกว้าง ข้อที่ว่า ‘บุคคลผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ ปรารภความเพียร มีปัญญา ไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ มักน้อย มีมิตรดี เป็นสัมมาทิฏฐิ’ นี้ไม่เป็นความเสื่อม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๑๔๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

                                                                 ๒. ยมกวรรค ๗. ปฐมนฬกปานสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นแล้วตรัสชมท่านพระสารีบุตรว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีหิริ ... ไม่มีโอตตัปปะ ... ไม่มีวิริยะ ... ไม่มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของ ผู้นั้นผ่านไป เขาพึงหวังได้แต่ความเสื่อมอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความ เจริญเลย สารีบุตร ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ฯลฯ ไม่มีปัญญาในกุศล ธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้น ฯลฯ ไม่มีความเจริญเลย เปรียบ เหมือนเมื่อกลางคืนหรือกลางวันของดวงจันทร์ในกาฬปักษ์ผ่านไป ดวงจันทร์นั้น ย่อมเสื่อมจากความงาม ย่อมเสื่อมจากรัศมี ย่อมเสื่อมจากแสงสว่าง ย่อมเสื่อม จากด้านยาวและด้านกว้าง ข้อที่ว่า ‘บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ เกียจคร้าน มีปัญญา ทราม มักโกรธ ผูกโกรธ ปรารถนาชั่ว มีมิตรชั่ว เป็นมิจฉาทิฏฐิ’ นี้เป็นความเสื่อม ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริ ... มีโอตตัปปะ ... มีวิริยะ ... มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป ผู้นั้นพึง หวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย สารีบุตร ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริ ... มีโอตตัปปะ ... มีวิริยะ ... มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป เขาพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย เปรียบเหมือนเมื่อกลางคืนหรือกลางวันของดวงจันทร์ในชุณหปักษ์ผ่านไป ดวงจันทร์ นั้น ย่อมเจริญด้วยความงาม ย่อมเจริญด้วยรัศมี ย่อมเจริญด้วยแสงสว่าง ย่อม เจริญด้วยด้านยาวและด้านกว้าง สารีบุตร ข้อที่ว่า ‘บุคคลผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ ปรารภความเพียร มีปัญญา ไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ มักน้อย มีมิตรดี เป็นสัมมาทิฏฐิ' นี้ไม่เป็น ความเสื่อม
ปฐมนฬกปานสูตรที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๑๔๗}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๑๔๕-๑๔๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=24&page=145&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=24&A=4129 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=24&A=4129#p145 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_24 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu24 https://84000.org/tipitaka/english/?index_24



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๔๕-๑๔๗.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]