ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

หน้าที่ ๓๑๑-๓๑๓.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

                                                                 ๕. มหาวรรค ๙. ตัณหาสูตร

เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์๑- แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็น ผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล และบุคคลนั้นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ เสวยสุข มีตนอันประเสริฐอยู่ในปัจจุบันเทียว ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก”
อัตตันตปสูตรที่ ๘ จบ
๙. ตัณหาสูตร
ว่าด้วยตัณหา
[๑๙๙] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงตัณหาเช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ไป ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อโลกนี้ ซึ่งยุ่ง เหมือนกลุ่มด้ายอันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ ให้ล่วงพ้นอบาย๒- ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้ เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ไป ซ่านไป เกาะเกี่ยว อยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อโลกนี้ ซึ่งยุ่งเหมือนกลุ่มด้าย อันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วงพ้น อบาย ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้ นั้นเป็นอย่างไร คือ ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้อาศัยขันธปัญจก๓- ภายใน @เชิงอรรถ : @ อยู่จบพรหมจรรย์ หมายถึงกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลสจบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่มีกิจที่จะ @ต้องทำเพื่อตนเอง แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่ ผู้บรรลุถึงขั้นนี้ได้ชื่อว่า อเสขบุคคล (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓) @ อบาย ในที่นี้หมายถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน แดนเปรต และอสุรกาย (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๙/๔๓๔) @ ขันธปัญจก หมายถึงหมวดห้าแห่งขันธ์ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ @วิญญาณขันธ์ (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑/๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๑๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

                                                                 ๕. มหาวรรค ๙. ตัณหาสูตร

ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้อาศัยขันธปัญจกภายนอก ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายใน อะไรบ้าง คือ ๑. เมื่อมีตัณหาว่า ‘เราเป็น’ ๒. ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนี้’ จึงมี ๓. ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนั้น’ จึงมี ๔. ตัณหาว่า ‘เราเป็นโดยประการอื่น’ จึงมี ๕. ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้เที่ยง’ จึงมี ๖. ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้ไม่เที่ยง’ จึงมี ๗. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็น’ จึงมี ๘. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้’ จึงมี ๙. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนั้น’ จึงมี ๑๐. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นโดยประการอื่น’ จึงมี ๑๑. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นบ้าง’ จึงมี ๑๒. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้บ้าง’ จึงมี ๑๓. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนั้นบ้าง’ จึงมี ๑๔. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นโดยประการอื่นบ้าง’ จึงมี ๑๕. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็น’ จึงมี ๑๖. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนี้’ จึงมี ๑๗. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนั้น’ จึงมี ๑๘. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นโดยประการอื่น’ จึงมี นี้คือตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายใน ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายนอก อะไรบ้าง คือ ๑. เมื่อมีตัณหาว่า ‘เราเป็นด้วยขันธปัญจกนี้’ ๒. ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ๓. ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ๔. ตัณหาว่า ‘เราเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ๕. ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้เที่ยงด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ๖. ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้ไม่เที่ยงด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๑๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

                                                                 ๕. มหาวรรค ๙. ตัณหาสูตร

๗. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ๘. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ๙. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ๑๐. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ๑๑. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง’ จึงมี ๑๒. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง’ จึงมี ๑๓. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง’ จึงมี ๑๔. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง’ จึงมี ๑๕. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ๑๖. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ๑๗. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ๑๘. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี นี้คือตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายนอก ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายใน ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ อาศัยขันธปัญจกภายนอก ด้วยประการฉะนี้ รวมเรียกว่า ตัณหาวิจริต ๓๖ ประการ ตัณหาวิจริตเห็นปานนี้ ที่เป็นอดีต ๓๖ ประการ อนาคต ๓๖ ประการ ปัจจุบัน ๓๖ ประการ รวมเป็นตัณหาวิจริต๑- ๑๐๘ ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุทั้งหลาย ตัณหานี้นั้นแล เช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ไป ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อโลกนี้ ซึ่งยุ่งเหมือนกลุ่มด้าย อันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้”
ตัณหาสูตรที่ ๙ จบ
@เชิงอรรถ : @ ตัณหาวิจริต ๑๐๘ มีวิธีการคำนวณ ดังนี้ คือ ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ อันอาศัยเบญจขันธ์ภายใน @ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ อันอาศัยเบญจขันธ์ภายนอก รวมเป็น ๓๖ ประการ คูณด้วยกาล ๓ คือ @ปัจจุบัน อดีต อนาคต เท่ากับ ๑๐๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๑๓}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๓๑๑-๓๑๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=21&page=311&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=21&A=9285 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=21&A=9285#p311 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 21 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_21 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu21 https://84000.org/tipitaka/english/?index_21



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๑๑-๓๑๓.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]