ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

หน้าที่ ๒๐๓-๒๐๔.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

                                                                 ๔. ปุคคลวรรค ๕. สาวัชชสูตร

๔. อุฏฐานผลสูตร
ว่าด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียร
[๑๓๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวก๑- ไหนบ้าง คือ ๑. บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียร แต่ไม่ดำรงชีพ ด้วยผลแห่งกรรม ๒. บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลแห่งกรรม แต่ไม่ดำรงชีพด้วยผลแห่ง ความขยันหมั่นเพียร ๓. บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียรและดำรงชีพด้วย ผลแห่งกรรม ๔. บุคคลผู้ไม่ดำรงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียรและไม่ดำรงชีพ ด้วยผลแห่งกรรม๒- ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
อุฏฐานผลสูตรที่ ๔ จบ
๕. สาวัชชสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีแต่โทษ
[๑๓๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวก๓- ไหนบ้าง คือ @เชิงอรรถ : @ ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๖๗/๒๐๐ @ บุคคลจำพวกที่ ๑ หมายถึงบุคคลผู้ทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียรตลอดวันเลี้ยงชีพ ได้ผลแห่งความขยัน @หมั่นเพียรนั้น แต่ไม่ได้อาศัยผลบุญใดๆ เลย บุคคลจำพวกที่ ๒ หมายถึงเทวดาทุกจำพวกบุคคลจำพวก @ที่ ๓ หมายถึงชนชั้นปกครอง เช่น พระราชา และขุนนาง บุคคลจำพวกที่ ๔ หมายถึงสัตว์นรก @(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๔/๓๘๑) @ ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๔๔-๑๔๗/๑๘๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๐๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

                                                                 ๔. ปุคคลวรรค ๕. สาวัชชสูตร

๑. บุคคลผู้มีแต่โทษ๑- ๒. บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนมาก๒- ๓. บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนน้อย๓- ๔. บุคคลผู้ไม่มีโทษ๔- บุคคลผู้มีแต่โทษ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรม (การกระทำทางกาย) ที่มีโทษ ประกอบด้วยวจีกรรม (การกระทำทางวาจา) ที่มีโทษ ประกอบด้วยมโนกรรม (การ กระทำทางใจ) ที่มีโทษ บุคคลผู้มีแต่โทษ เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนมาก เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่มีโทษเป็นส่วนมาก ไม่มี โทษเป็นส่วนน้อย ประกอบด้วยวจีกรรมที่มีโทษเป็นส่วนมาก ไม่มีโทษเป็นส่วนน้อย ประกอบด้วยมโนกรรมที่มีโทษเป็นส่วนมาก ไม่มีโทษเป็นส่วนน้อย บุคคลผู้มีโทษ เป็นส่วนมาก เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนน้อย เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่ไม่มีโทษเป็นส่วนมาก มีโทษเป็นส่วนน้อย ประกอบด้วยวจีกรรมที่ไม่มีโทษเป็นส่วนมาก มีโทษเป็นส่วนน้อย ประกอบด้วยมโนกรรมที่ไม่มีโทษเป็นส่วนมาก มีโทษเป็นส่วนน้อย บุคคลผู้มีโทษ เป็นส่วนน้อย เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้ไม่มีโทษ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วย วจีกรรมที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วยมโนกรรมที่ไม่มีโทษ บุคคลผู้ไม่มีโทษ เป็นอย่าง นี้แล ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
สาวัชชสูตรที่ ๕ จบ
@เชิงอรรถ : @ หมายถึงอันธพาลปุถุชน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๕/๓๘๑) @ หมายถึงโลกิยปุถุชนที่ทำความดีในระหว่าง (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๕/๓๘๑) @ หมายถึงพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๕/๓๘๑) @ หมายถึงพระอรหันตขีณาสพ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๕/๓๘๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๐๔}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๒๐๓-๒๐๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=21&page=203&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=21&A=6023 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=21&A=6023#p203 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 21 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_21 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu21 https://84000.org/tipitaka/english/?index_21



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๐๓-๒๐๔.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]