ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

หน้าที่ ๕๓๖-๕๔๐.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]

                                                                 ๓. สรณานิวรรค ๖. ปฐมอานาถปิณฑิกสูตร

ประกาศ อาตมภาพกล่าวถึงเรื่องนี้ในเพราะนาดี และสาวกก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมในธรรมนั้นอยู่ อาตมภาพกล่าว ถึงเรื่องนี้ในเพราะพืชดี ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเจ้าสรณานิศากยะเลย เพราะเจ้า สรณานิศากยะได้ทรงบำเพ็ญสิกขาให้บริบูรณ์ในเวลาจะสวรรคต”
ทุติยสรณานิสักกสูตรที่ ๕ จบ
๖. ปฐมอนาถปิณฑิกสูตร
ว่าด้วยอนาถบิณฑิกคหบดี สูตรที่ ๑
[๑๐๒๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า “มาเถิด พ่อมหาจำเริญ เจ้าจง เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ กราบเท้าทั้งสองของท่านด้วยเศียรเกล้าตามคำ ของเราว่า ‘พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอกราบเท้าทั้งสองของพระคุณท่านด้วยเศียรเกล้า’ และเจ้าจงกราบเรียนอย่าง นี้ว่า ‘ขอท่านพระสารีบุตรโปรดอนุเคราะห์เข้าไปเยี่ยมท่านอนาถบิณฑิกคหบดีถึง นิเวศน์ด้วยเถิด” บุรุษนั้นรับคำแล้ว เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบเรียนท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านอนาถ- บิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอกราบเท้าทั้งสองของพระคุณ ท่านด้วยเศียรเกล้า และฝากมากราบเรียนอย่างนี้ว่า ‘ขอท่านพระสารีบุตรโปรด อนุเคราะห์เข้าไปเยี่ยมท่านอนาถบิณฑิกคหบดีถึงนิเวศน์ด้วยเถิด”
ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคหบดี นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้วถามท่านอนาถบิณฑิกคหบดีดังนี้ว่า “คหบดี ท่านยัง สบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการ ทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๕๓๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]

                                                                 ๓. สรณานิวรรค ๖. ปฐมอานาถปิณฑิกสูตร

ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีตอบว่า “กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนา มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ ขอรับ” “คหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ๑. ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสเช่นใดในพระพุทธเจ้า หลังจากตาย แล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใส เช่นนั้นในพระพุทธเจ้า ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีความ เลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี พระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ก็เมื่อท่าน พิจารณาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้นว่ามี อยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน ๒. ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสเช่นใดในพระธรรม หลังจากตาย แล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใส เช่นนั้นในพระธรรม ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า ‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระ ภาคตรัสไว้ดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’ ก็เมื่อท่าน พิจารณาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมนั้นว่ามีอยู่ ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน ๓. ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสเช่นใดในพระสงฆ์ หลังจากตาย แล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใส เช่นนั้นในพระสงฆ์ ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระ ภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก’ ก็ เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์นั้น ว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน ๔. ประกอบด้วยความเป็นผู้ทุศีลเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิด ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความเป็นผู้ทุศีลเช่นนั้น ย่อม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๕๓๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]

                                                                 ๓. สรณานิวรรค ๖. ปฐมอานาถปิณฑิกสูตร

ไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นศีลที่พระอริยะชอบใจ นั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน ๕. ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิด ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาทิฏฐิเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีสัมมาทิฏฐิ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาทิฏฐินั้น ว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน ๖. ประกอบด้วยมิจฉาสังกัปปะเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิด ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสังกัปปะเช่นนั้น ย่อม ไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีสัมมาสังกัปปะ ก็เมื่อท่านพิจารณา เห็นสัมมาสังกัปปะนั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไป โดยพลัน ๗. ประกอบด้วยมิจฉาวาจาเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิด ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวาจาเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีสัมมาวาจา ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาวาจานั้นว่า มีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน ๘. ประกอบด้วยมิจฉากัมมันตะเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิด ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉากัมมันตะเช่นนั้น ย่อมไม่ มีแก่ท่าน เพราะท่านมีสัมมากัมมันตะ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็น สัมมากัมมันตะนั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไป โดยพลัน ๙. ประกอบด้วยมิจฉาอาชีวะเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาอาชีวะเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีสัมมาอาชีวะ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาอาชีวะ นั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๕๓๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]

                                                                 ๓. สรณานิวรรค ๖. ปฐมอานาถปิณฑิกสูตร

๑๐. ประกอบด้วยมิจฉาวายามะเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดใน อบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวายามะเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีสัมมาวายามะ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาวายามะ นั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน ๑๑. ประกอบด้วยมิจฉาสติเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสติเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีสัมมาสติ ก็ท่านพิจารณาเห็นสัมมาสตินั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน ๑๒. ประกอบด้วยมิจฉาสมาธิเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสมาธิเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีสัมมาสมาธิ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาสมาธิ นั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน ๑๓. ประกอบด้วยมิจฉาญาณะเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาญาณะเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีสัมมาญาณะ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาญาณะ นั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน ๑๔. ประกอบด้วยมิจฉาวิมุตติเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวิมุตติเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่าน มีสัมมาวิมุตติ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาวิมุตติ นั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน” ขณะนั้น เวทนาของท่านอนาถบิณฑิกคหบดีได้สงบระงับไปโดยพลัน ท่าน อนาถบิณฑิกคหบดีอังคาสท่านพระสารีบุตรและท่านพระอานนท์ด้วยอาหารที่เขา จัดไว้สำหรับตนแล้ว จึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า เมื่อท่านพระ สารีบุตรฉันเสร็จวางมือจากบาตรแล้วจึงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๕๓๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]

                                                                 ๓. สรณานิวรรค ๗. ทุติยอนาถปิณฑิกสูตร

“ผู้ใดมีศรัทธาในพระตถาคตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว มีศีลอันงามที่พระอริยะชอบใจ(และ)สรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง๑- บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของเขาก็ไม่สูญเปล่า เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ควรหมั่นประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส๒- และการเห็นธรรม๓-” ครั้นท่านพระสารีบุตรอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้แล้ว ก็ลุกจากอาสนะจากไป ต่อมา ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ เธอมาจากที่ไหนแต่ยังวัน” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกล่าว สอนท่านอนาถบิณฑิกคหบดีด้วยโอวาทนี้” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ สารีบุตร เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ได้จำแนกองค์เครื่องบรรลุโสดาด้วยอาการ ๑๐ อย่าง”
ปฐมอนาถปิณฑิกสูตรที่ ๖ จบ
๗. ทุติยอนาถปิณฑิกสูตร
ว่าด้วยอนาถบิณฑิกคหบดี สูตรที่ ๒
[๑๐๒๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า “มาเถิด พ่อมหาจำเริญ เจ้าจง @เชิงอรรถ : @ มีความเห็นตรง หมายถึงเห็นว่าพระขีณาสพไม่มีความคดทางกาย เป็นต้น (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๒/๓๔๙) @ ความเลื่อมใส หมายถึงเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๒/๓๔๙) @ การเห็นธรรม ในที่นี้หมายถึงเห็นสัจธรรม ๔ (คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๒/๓๔๙ @และดู องฺ.จตุกฺก.(แปล) ๒๑/๕๒/๘๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๕๔๐}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๕๓๖-๕๔๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=19&page=536&pages=5&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=19&A=14729 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=19&A=14729#p536 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 19 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_19 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu19 https://84000.org/tipitaka/english/?index_19



จบการแสดงผล หน้าที่ ๕๓๖-๕๔๐.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]