ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค

หน้าที่ ๓๐๒-๓๐๔.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๒. เวทนาสังยุต]

                                                                 ๓. อัฏฐสตปริยายวรรค ๒. อัฏฐสตสูตร

มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บุรุษบุคคลนี้เสวยสุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขทั้งหมดนั้น มีเหตุที่ได้ทำไว้ในปางก่อน’ ย่อมแล่นไปหา สิ่งที่ตนเองรู้ และแล่นไปหาสิ่งที่ชาวโลกสมมติว่าเป็นความจริง เพราะฉะนั้นเราจึง กล่าวว่า ‘เป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปริพาชกชื่อโมฬิยสีวกะได้กราบทูลพระ ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดี ๑ เสลด ๑ ลม ๑ ดี เสลด และลม รวมกัน ๑ ฤดู ๑ การบริหารกายไม่สม่ำเสมอ ๑ การถูกทำร้าย ๑ รวมกับผลกรรมอีก ๑ เป็น ๘
สีวกสูตรที่ ๑ จบ
๒. อัฏฐสตสูตร
ว่าด้วยเวทนา ๑๐๘ ประการ
[๒๗๐] “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยายซึ่งมีบรรยายถึง ๑๐๘ ประการแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ภิกษุทั้งหลาย ธรรมบรรยายซึ่งมีบรรยายถึง ๑๐๘ ประการ เป็นอย่างไร คือ เรากล่าวเวทนา ๒ ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา ๓ ประการ ไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา ๕ ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา ๖ ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา ๑๘ ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าว เวทนา ๓๖ ประการไว้โดยบรรยายก็มี กล่าวเวทนา ๑๐๘ ประการไว้โดยบรรยาย ก็มี เวทนา ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. เวทนาทางกาย ๒. เวทนาทางใจ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๒ ประการ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๓๐๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๒. เวทนาสังยุต]

                                                                 ๓. อัฏฐสตปริยายวรรค ๒. อัฏฐสตสูตร

เวทนา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. สุขเวทนา ๒. ทุกขเวทนา ๓. อทุกขมสุขเวทนา เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๓ ประการ เวทนา ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. สุขินทรีย์ (อินทรีย์คือสุขเวทนา) ๒. ทุกขินทรีย์ (อินทรีย์คือทุกขเวทนา) ๓. โสมนัสสินทรีย์ (อินทรีย์คือโสมนัสสเวทนา) ๔. โทมนัสสินทรีย์ (อินทรีย์คือโทมนัสสเวทนา) ๕. อุเปกขินทรีย์ (อินทรีย์คืออุเบกขาเวทนา) เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๕ ประการ เวทนา ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส ฯลฯ ๖. เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัส เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๖ ประการ เวทนา ๑๘ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. เวทนาที่เกิดร่วมกับโสมนัส ๖ ประการ ๒. เวทนาที่เกิดร่วมกับโทมนัส ๖ ประการ ๓. เวทนาที่เกิดร่วมกับอุเบกขา ๖ ประการ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๑๘ ประการ เวทนา ๓๖ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. เคหสิตโสมนัส (โสมนัสอิงเรือน) ๖ ประการ ๒. เนกขัมมสิตโสมนัส (โสมนัสอิงเนกขัมมะ) ๖ ประการ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๓๐๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๒. เวทนาสังยุต]

                                                                 ๓. อัฏฐสตปริยายวรรค ๓. อัญญตรภิกขุสูตร

๓. เคหสิตโทมนัส (โทมนัสอิงเรือน) ๖ ประการ ๔. เนกขัมมสิตโทมนัส (โทมนัสอิงเนกขัมมะ) ๖ ประการ ๕. เคหสิตอุเบกขา (อุเบกขาอิงเรือน) ๖ ประการ ๖. เนกขัมมสิตอุเบกขา (อุเบกขาอิงเนกขัมมะ) ๖ ประการ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๓๖ ประการ เวทนา ๑๐๘ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. เวทนาที่เป็นอดีต ๓๖ ประการ ๒. เวทนาที่เป็นอนาคต ๓๖ ประการ ๓. เวทนาที่เป็นปัจจุบัน ๓๖ ประการ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๑๐๘ ประการ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมบรรยายซึ่งมีบรรยายถึง ๑๐๘ ประการ เป็นอย่างนี้แล”
อัฏฐสตสูตรที่ ๒ จบ
๓. อัญญตรภิกขุสูตร
ว่าด้วยภิกษุรูปหนึ่ง
[๒๗๑] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวทนามีเท่าไร ความเกิดแห่งเวทนาเป็นอย่างไร ปฏิปทาที่ให้ถึงความเกิดแห่งเวทนาเป็นอย่างไร ความดับแห่งเวทนาเป็นอย่างไร ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งเวทนาเป็นอย่างไร อะไรเป็นคุณแห่งเวทนา อะไร เป็นโทษแห่งเวทนา อะไรเป็นเครื่องสลัดออกจากเวทนา” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๓๐๔}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๓๐๒-๓๐๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=18&page=302&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=18&A=8476 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=18&A=8476#p302 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 18 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_18 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu18 https://84000.org/tipitaka/english/?index_18



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๐๒-๓๐๔.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]