ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

หน้าที่ ๗๖-๗๘.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

                                                                 มัชฌิมปัณณาสก์ ๑. อุปยวรรค ๒. พีชสูตร

ถ้าความกำหนัดในวิญญาณธาตุ ภิกษุละได้แล้ว เพราะละความกำหนัดได้ อารมณ์จึงขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณก็ไม่มี วิญญาณที่ไม่มีที่ตั้งนั้น ก็ไม่งอกงาม ไม่ปรุงแต่ง๑- หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นจึงตั้งมั่น เพราะตั้งมั่นจึงสันโดษ เพราะ สันโดษจึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้งย่อมดับไปเอง ภิกษุนั้นรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ อีกต่อไป”
อุปยสูตรที่ ๑ จบ
๒. พีชสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยพืช
[๕๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พืช ๕ ชนิดนี้ คือ ๑. พืชเกิดจากเหง้า ๒. พืชเกิดจากลำต้น ๓. พืชเกิดจากตา ๔. พืชเกิดจากยอด ๕. พืชเกิดจากเมล็ด ภิกษุทั้งหลาย ก็พืช ๕ ชนิดนี้ ไม่แตกหัก ไม่เสียหาย ไม่ถูกลมและแดด ทำลาย มีแก่นสาร ถูกเก็บไว้อย่างดี แต่ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ พืช ๕ ชนิดนี้พึงถึง ความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ” ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย ก็พืช ๕ ชนิดนี้ ไม่แตกหัก ฯลฯ ถูกเก็บไว้อย่างดี และมีดิน มีน้ำ พืช ๕ ชนิดนี้พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ” “ได้ พระพุทธเจ้าข้า” @เชิงอรรถ : @ ไม่ปรุงแต่ง ในที่นี้หมายถึงไม่ปรุงแต่งปฏิสนธิ (สํ.ข.อ. ๒/๕๓/๒๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๗๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

                                                                 มัชฌิมปัณณาสก์ ๑. อุปยวรรค ๒. พีชสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเห็นวิญญาณฐิติ ๔ ๑- เหมือนปฐวีธาตุ พึงเห็น ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลินเหมือนอาโปธาตุ พึงเห็นวิญญาณพร้อม ด้วยอาหาร๒- เหมือนพืช ๕ ชนิด วิญญาณที่เข้าถึงรูป เมื่อตั้งอยู่ ก็พึงมีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง เข้าไป เสพเสวยความเพลิดเพลินตั้งอยู่ ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ วิญญาณที่เข้าถึงเวทนา เมื่อตั้งอยู่ ฯลฯ เข้าไปเสพเสวยความเพลิดเพลิน ตั้งอยู่ ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ วิญญาณที่เข้าถึงสัญญา ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึงสังขาร เมื่อตั้งอยู่ ก็พึงมีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง เข้าไปเสพเสวยความเพลิดเพลินตั้งอยู่ ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราจักบัญญัติการมา การไป การจุติ การอุบัติ หรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร’ ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ภิกษุละได้แล้ว เพราะละความ กำหนัดได้ อารมณ์จึงขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณก็ไม่มี ถ้าความกำหนัดในเวทนาธาตุ ... ถ้าความกำหนัดในสัญญาธาตุ ... ถ้าความกำหนัดในสังขารธาตุ ... ถ้าความกำหนัดในวิญญาณธาตุ ภิกษุละได้แล้ว เพราะละความกำหนัดได้ อารมณ์จึงขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณก็ไม่มี วิญญาณที่ไม่มีที่ตั้งนั้น ก็ไม่งอกงาม @เชิงอรรถ : @ วิญญาณฐิติ ๔ ได้แก่ ขันธ์ ๔ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร (สํ.ข.อ. ๒/๕๔/๒๙๙) @ วิญญาณพร้อมด้วยอาหาร หมายถึงกรรมวิญญาณ ได้แก่ วิญญาณที่สหรคตด้วยตัณหาและทิฏฐิ @ที่มีความแปรผันเป็นอารมณ์พร้อมด้วยปัจจัยมีอวิชชาและอโยนิโสมนสิการเป็นต้น (สํ.ข.อ. ๒/๕๓/๒๙๙, @สํ.ฏีกา ๒/๗/๒๕๒, ๕๔/๒๖๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๗๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

                                                                 มัชฌิมปัณณาสก์ ๑. อุปยวรรค ๓. อุทานสูตร

ไม่ปรุงแต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นจึงตั้งมั่น เพราะตั้งมั่นจึงสันโดษ เพราะสันโดษจึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้งย่อมดับไปเอง ภิกษุนั้นรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว ฯลฯ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
พีชสูตรที่ ๒ จบ
๓. อุทานสูตร
ว่าด้วยการเปล่งอุทาน
[๕๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทานว่า “ภิกษุผู้น้อมใจไปอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเราไม่พึงมี แม้บริขารของเราก็ไม่พึงมี ถ้ากรรมสังขาร (การปรุงแต่งกรรม) จักไม่ได้มีแล้ว ปฏิสนธิของเราก็จักไม่มี’ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์(สังโยชน์เบื้องต่ำ)ได้” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุผู้น้อมใจไปอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเราไม่พึงมี แม้บริขารของเราก็ไม่พึงมี ถ้ากรรมสังขารจักไม่ได้มีแล้ว ปฏิสนธิของเราก็จักไม่มี’ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้อย่างไร” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ฯลฯ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือพิจารณา เห็นอัตตาในวิญญาณ เธอไม่รู้ชัดรูปที่ไม่เที่ยงตามความเป็นจริงว่า ‘รูปไม่เที่ยง’ ไม่รู้ชัดเวทนาที่ไม่ เที่ยงตามความเป็นจริงว่า ‘เวทนาไม่เที่ยง’ ไม่รู้ชัดสัญญาที่ไม่เที่ยงตามความเป็น จริงว่า ‘สัญญาไม่เที่ยง’ ไม่รู้ชัดสังขารที่ไม่เที่ยงตามความเป็นจริงว่า ‘สังขารไม่เที่ยง’ ไม่รู้ชัดวิญญาณที่ไม่เที่ยงตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณไม่เที่ยง’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๗๘}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๗ หน้าที่ ๗๖-๗๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=17&page=76&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=17&A=2124 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=17&A=2124#p76 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 17 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_17 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu17 https://84000.org/tipitaka/english/?index_17



จบการแสดงผล หน้าที่ ๗๖-๗๘.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]