ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

หน้าที่ ๙๖-๙๘.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

                                                                 ๙. มหาปุณณมสูตร

๙. มหาปุณณมสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาในคืนดวงจันทร์เต็มดวง สูตรใหญ่
[๘๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมาตา ใน บุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ คืนดวงจันทร์ เต็มดวง พระผู้มีพระภาคทรงมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ประทับนั่ง ณ ที่แจ้ง ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอทูลถามเหตุอย่างหนึ่งกับพระองค์ ถ้า พระผู้มีพระภาคทรงประทานวโรกาส ที่จะตอบปัญหาแก่ข้าพระองค์” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอจงนั่งบนอาสนะของตน แล้วถามปัญหาที่เธอต้องการจะถามเถิด”
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ
[๘๖] ลำดับนั้น ภิกษุนั้นนั่งบนอาสนะของตนแล้วได้ทูลถามปัญหากับ พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ใช่ไหม คือ ๑. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป) ๒. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา) ๓. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา) ๔. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร) ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ คือ ๑. รูปูปาทานขันธ์ ๒. เวทนูปาทานขันธ์ ๓. สัญญูปาทานขันธ์ ๔. สังขารูปาทานขันธ์ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๙๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

                                                                 ๙. มหาปุณณมสูตร

มูลเหตุแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ
ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า” แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ มีอะไรเป็นมูลเหตุ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ มีฉันทะ เป็นมูลเหตุ”๑- “อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนั้นเป็นอย่างเดียวกัน หรืออุปาทาน เป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนั้นเป็นอย่างเดียวกันก็มิใช่ ทั้งอุปาทานขันธ์เป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการก็มิใช่ แต่ฉันทราคะใน อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนั้น เป็นตัวอุปาทาน” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ฉันทราคะต่างๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ จะพึงมีได้หรือ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีได้ ภิกษุ” แล้วได้ตรัสต่อไปว่า “ภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ในอนาคต ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ มีเวทนาอย่างนี้ มีสัญญาอย่างนี้ มีสังขารอย่างนี้ มีวิญญาณอย่างนี้’ ภิกษุ ฉันทราคะต่างๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ พึงมีได้ ด้วยอาการ อย่างนี้”
เหตุที่ชื่อว่าขันธ์
ภิกษุนั้นได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรขันธ์จึงชื่อ ว่าขันธ์” @เชิงอรรถ : @ มีฉันทะเป็นมูลเหตุ ในที่นี้หมายถึงมีตัณหาเป็นมูลเหตุ (ม.อุ.อ. ๓/๘๖/๕๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๙๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

                                                                 ๙. มหาปุณณมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือ ประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม นี้เรียกว่ารูปขันธ์ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นไปใน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม นี้ เรียกว่าวิญญาณขันธ์ ภิกษุ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ขันธ์จึงชื่อว่าขันธ์”
เหตุที่ทำให้ขันธ์ปรากฏ
ภิกษุนั้นได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้รูปขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ มหาภูต ๔ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ รูปขันธ์ปรากฏ ผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ ผัสสะเป็นเหตุ เป็นปัจจัยทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ ผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์ปรากฏ นามรูปเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ”
เหตุเกิดสักกายทิฏฐิ
[๘๗] ภิกษุนั้นได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิมีได้ อย่างไร” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๙๘}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๙๖-๙๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=14&page=96&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=14&A=2850 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=14&A=2850#p96 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 14 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_14 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14 https://84000.org/tipitaka/english/?index_14



จบการแสดงผล หน้าที่ ๙๖-๙๘.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]