ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

หน้าที่ ๒๙๔-๒๙๕.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

                                                                 ๙. พาลปัณฑิตสูตร

พระราชามีพระกระแสรับสั่งว่า ‘ท่านทั้งหลายจงไปช่วยกันประหารบุรุษนี้ด้วย หอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเช้า’ ราชบุรุษทั้งหลายก็ช่วยกันประหารบุรุษคนนั้นด้วย หอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเช้า ต่อมาในเวลาเที่ยงวัน พระราชาทรงซักถามราชบุรุษทั้งหลายว่า ‘ท่านทั้งหลาย บุรุษนั้นเป็นอย่างไรบ้าง’ ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า ‘เขายังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าข้า’ พระราชาจึงมีพระกระแสรับสั่งว่า ‘ท่านทั้งหลายจงไปช่วยกันประหารบุรุษคน นั้นด้วยหอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเที่ยงวัน’ ราชบุรุษทั้งหลายก็ช่วยกันประหารบุรุษ คนนั้นด้วยหอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเที่ยงวัน ต่อมาในเวลาเย็น พระราชาทรงซักถามราชบุรุษทั้งหลายอีกว่า ‘ท่านทั้งหลาย บุรุษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง’ ‘เขายังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าข้า’ ‘ท่านทั้งหลายจงไปช่วยกันประหารบุรุษคนนั้นด้วยหอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเย็น’ ราชบุรุษทั้งหลายจึงช่วยกันประหารบุรุษคนนั้นด้วยหอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ บุรุษนั้นถูกประหารด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม พึงเสวยทุกขโทมนัสเพราะ การประหารนั้นเป็นเหตุบ้างไหม” “บุรุษนั้นแม้ถูกประหารด้วยหอก ๑ เล่ม ยังได้เสวยทุกขโทมนัสซึ่งมี การประหารนั้นเป็นเหตุ ไม่จำต้องกล่าวถึงการที่บุรุษนั้นถูกประหารด้วยหอกตั้ง ๓๐๐ เล่ม พระพุทธเจ้าข้า” [๒๕๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหยิบก้อนหินขนาดย่อมๆ เท่าฝ่ามือ ขึ้นมา แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ ก้อนหินขนาด ย่อมๆ เท่าฝ่ามือที่เราถืออยู่นี้กับขุนเขาหิมพานต์ อย่างไหนใหญ่กว่ากัน” “ก้อนหินขนาดย่อมๆ เท่าฝ่าพระหัตถ์ที่พระองค์ทรงถืออยู่นี้ มีประมาณ น้อยนัก เปรียบเทียบกับขุนเขาหิมพานต์แล้ว ไม่ถึงแม้การนับ ไม่ถึงแม้ส่วนแห่ง เสี้ยว ไม่ถึงแม้การเทียบกันได้ พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๙๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

                                                                 ๙. พาลปัณฑิตสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ทุกขโทมนัสเพราะการประหารนั้นเป็นเหตุ ที่บุรุษถูกประหารด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม เสวยอยู่นั้น เปรียบเทียบกับทุกข์แห่ง นรกแล้ว ไม่ถึงแม้การนับ ไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ไม่ถึงแม้การเทียบกันได้ นายนิรยบาลทั้งหลายทำกรรมกรณ์ชื่อเครื่องพันธนาการ ๕ อย่าง คือ ตอกตะปูเหล็กร้อนแดงที่มือ ๒ ข้าง ที่เท้า ๒ ข้าง และที่กลางอก คนพาลนั้น เสวยทุกขเวทนากล้า อย่างหนัก เผ็ดร้อน ในที่นั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่ บาปกรรมยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลฉุดลากเขาไป เอาขวานถาก คนพาลนั้นเสวยทุกขเวทนากล้า ฯลฯ ตราบเท่าที่บาปกรรมยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลจับเขาเอาเท้าขึ้น เอาศีรษะลง เอามีดเฉือน คนพาลนั้นเสวยทุกขเวทนากล้า ฯลฯ ตราบเท่าที่บาปกรรมยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลจับเขาเทียมรถแล่นกลับไปกลับมาบนพื้นอันร้อนลุกเป็นเปลวโชติช่วง คนพาลนั้นเสวยทุกขเวทนากล้า อย่างหนัก เผ็ดร้อน ในที่นั้น ฯลฯ ตราบเท่าที่ บาปกรรมยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลบังคับเขาให้ขึ้นลงภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่ไฟ ลุกโชนโชติช่วง คนพาลนั้นเสวยทุกขเวทนากล้า อย่างหนัก เผ็ดร้อนอยู่ บนภูเขา ถ่านเพลิงนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลจับเขา เอาเท้าขึ้น เอาศีรษะลง ทุ่มลงในโลหกุมภี(หม้อทองแดง) อันร้อนแดงลุกเป็นแสงไฟ คนพาลนั้นถูกต้มเดือดจนตัวพองในโลหกุมภีนั้น เขาเมื่อถูกต้มเดือดจนตัวพองใน โลหกุมภีนั้น บางครั้งลอยขึ้น บางครั้งจมลง บางครั้งลอยขวาง เขาเสวยทุกขเวทนา กล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน อยู่ในโลหกุมภีอันร้อนแดงนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่ บาปกรรมยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลจึงทุ่มเขาลงในมหานรก ก็มหานรกนั้น มี ๔ มุม ๔ ประตู แบ่งออกเป็นส่วน มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ ครอบด้วยฝาเหล็ก มหานรกนั้น มีพื้นเป็นเหล็ก ลุกโชนโชติช่วง แผ่ไปไกลด้านละ ๑๐๐ โยชน์ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ๑- ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์นี้กับทุกข์ในนรกเปรียบเทียบกันด้วยการบอกไม่ได้ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๖/๑๙๔, ขุ.เปต. (แปล) ๒๖/๗๐-๗๑/๑๗๙, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๐/๔๘๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๙๕}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๒๙๔-๒๙๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=14&page=294&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=14&A=8634 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=14&A=8634#p294 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 14 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_14 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14 https://84000.org/tipitaka/english/?index_14



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๙๔-๒๙๕.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]