ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

หน้าที่ ๓๙๕-๓๙๙.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

พุทธประวัติตอนบำเพ็ญสมาบัติ
ในสำนักอาฬารดาบส๑-
[๓๒๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราชกุมาร ก่อนการตรัสรู้ แม้อาตมภาพ ยังเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลจะไม่ประสบความสุข ด้วยความสุข แต่บุคคลจะประสบความสุขได้ด้วยความทุกข์เท่านั้น’ ในกาลต่อมา อาตมภาพยังหนุ่มแน่น แข็งแรง มีเกศาดำสนิท อยู่ในปฐมวัย เมื่อพระราชมารดา และพระราชบิดาไม่ทรงปรารถนาจะให้ผนวช มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสงอยู่ จึงโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากวังบวชเป็น บรรพชิต เมื่อบวชแล้วก็แสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐคือ ความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วกล่าวว่า ‘ท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’ เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงกล่าวกับอาตมภาพว่า ‘เชิญท่านอยู่ก่อน ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วย ปัญญาอันยิ่งเอง ตามแบบอาจารย์ของตน เข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้น ไม่นาน อาตมภาพก็เรียนรู้ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัย เท่านั้น ก็กล่าวญาณวาทะ๒- และเถรวาทะ๓- ได้ ทั้งอาตมภาพและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ อาตมภาพจึงคิดว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศธรรมนี้ ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อาฬารดาบส กาลามโคตร ยังรู้ ยังเห็นธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน’ จากนั้น อาตมภาพจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่าน กาลามะ ท่านประกาศธรรมนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร’ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๗๗-๒๘๖/๓๐๐-๓๑๓ และดูข้อ ๔๗๕-๔๘๔ หน้า ๖๐๐-๖๑๒ ในเล่มนี้ @ ญาณวาทะ หมายถึงลัทธิที่ว่า ข้าพเจ้ารู้ (ม.มู.อ. ๒/๒๗๗/๗๙) @ เถรวาทะ หมายถึงลัทธิที่ว่า ข้าพเจ้าเป็นใหญ่ (ม.มู.อ. ๒/๒๗๗/๗๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๙๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

เมื่ออาตมภาพถามอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงประกาศอากิญ- จัญญายตนสมาบัติแก่อาตมภาพ อาตมภาพจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีศรัทธา แม้เราก็มีศรัทธา ... มีวิริยะ ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน อาตมภาพก็ทำให้ แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ จากนั้น อาตมภาพจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่าน กาลามะ ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ’ อาฬารดาบส กาลามโคตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เราประกาศว่า ‘ข้าพเจ้า ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’ (อาตมภาพจึงกล่าวว่า) ‘ท่านกาลามะ แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วย ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’ (อาฬารดาบส กาลามโคตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะข้าพเจ้าประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใด ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ข้าพเจ้าก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ข้าพเจ้าทราบธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด ข้าพเจ้าก็ทราบ ธรรมนั้น เป็นอันว่าข้าพเจ้าเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด ข้าพเจ้า ก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ เราทั้งสองจะอยู่ร่วมกันบริหารคณะนี้’ ราชกุมาร อาฬารดาบส กาลามโคตรทั้งที่เป็นอาจารย์ของอาตมภาพ ก็ยกย่อง อาตมภาพผู้เป็นศิษย์ให้เสมอกับตน และบูชาอาตมภาพด้วยการบูชาอย่างดี ด้วย ประการอย่างนี้ แต่อาตมภาพคิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อ คลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไป เพียงเพื่อเข้าถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ อาตภาพไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๙๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

ในสำนักอุทกดาบส
[๓๒๘] ราชกุมาร อาตมภาพนั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหา ทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตร แล้วกล่าวว่า ‘ท่านรามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’ เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงกล่าวกับอาตมภาพว่า ‘เชิญท่านอยู่ก่อน ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วย ปัญญาอันยิ่งเอง ตามแบบอาจารย์ของตนเข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน อาตมภาพก็เรียนรู้ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณวาทะและเถรวาทะได้ ทั้งอาตมภาพและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ อาตมภาพจึงคิดว่า ‘อุทกดาบส รามบุตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียง ความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่ อุทกดาบส รามบุตรยังรู้ยังเห็นธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน’ จากนั้น อาตมภาพจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุ เพียงเท่าไร’ เมื่ออาตมภาพถามอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงประกาศเนวสัญญานา- สัญญายตนสมาบัติแก่อาตมภาพ อาตมภาพจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตร เท่านั้นที่มีศรัทธา แม้เราก็มีศรัทธา ... มีวิริยะ ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มิใช่แต่ อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรเริ่มบำเพ็ญ เพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่อุทกดาบส รามบุตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วย ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน อาตมภาพก็ได้ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วย ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ จากนั้น อาตมภาพจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุ เพียงเท่านี้หรือ’ อุทกดาบส รามบุตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้ แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๙๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

(อาตมภาพจึงกล่าวว่า) ‘แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่าน’ (อุทกดาบส รามบุตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า พวก ข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะ(ข้าพเจ้า)รามะประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ รามะก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ รามะทราบ ธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด รามะก็ทราบธรรมนั้น เป็นอันว่า รามะเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด รามะก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ ท่านจงบริหารคณะนี้' ราชกุมาร อุทกดาบส รามบุตรทั้งที่เป็นเพื่อนพรหมจารีของอาตมภาพ ก็ยัง ยกย่องอาตมภาพไว้ในฐานะอาจารย์ และบูชาอาตมภาพด้วยการบูชาอย่างดี ด้วย ประการอย่างนี้ แต่อาตมภาพคิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลาย กำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียง เพื่อเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ อาตมภาพไม่พอใจ เบื่อหน่าย ธรรมนั้น จึงลาจากไป
ทรงบำเพ็ญเพียร
[๓๒๙] ราชกุมาร อาตมภาพนั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหา ทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า เมื่อเที่ยวจาริกไปในแคว้นมคธ โดยลำดับ ได้ไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่า น่าเพลิดเพลินใจ มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคาม อยู่โดยรอบ อาตมภาพจึงคิดว่า ‘ภูมิประเทศเป็นที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าน่าเพลิดเพลินใจ มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามอยู่โดยรอบ เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ปรารถนาจะบำเพ็ญเพียร’ อาตมภาพจึงนั่ง ณ ที่นั้นด้วยคิดว่า ‘ที่นี้เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๙๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

อุปมา ๓ ข้อ
ราชกุมาร ครั้งนั้น อุปมา ๓ ข้อ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งอาตมภาพยังไม่เคย ได้ยินมาก่อน ได้ปรากฏแก่อาตมภาพ คือ ๑. เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่แช่อยู่ในน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟ ด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’ ราชกุมาร พระองค์เข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้สดที่มี ยางซึ่งแช่อยู่ในน้ำมาทำไม้สีไฟแล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม” “ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะไม้สดนั้นมียาง ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า” “ราชกุมาร อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายและจิตยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละและมิได้ระงับ อย่างเบ็ดเสร็จในภายใน สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นแม้เสวยทุกขเวทนา ที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการ ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม นี้เป็นอุปมาข้อที่ ๑ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งอาตมภาพยังไม่เคยได้ยิน มาก่อน ได้ปรากฏแก่เรา [๓๓๐] ๒. เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่วางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้นั้น มาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’ ราชกุมาร พระองค์เข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้สดที่มียาง ซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำมาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๙๙}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๓๙๕-๓๙๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=13&page=395&pages=5&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=13&A=11112 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=13&A=11112#p395 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 13 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13 https://84000.org/tipitaka/english/?index_13



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๙๕-๓๙๙.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]