ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

หน้าที่ ๑๔๗-๑๔๙.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

                                                                 ๔. มหามาลุงกยสูตร

รูปฌาน ๔
[๑๓๓] มรรคและปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะละอกุศลธรรมทั้งหลายด้วยอุปธิวิเวก๑- เพราะ ระงับความเกียจคร้านทางกายได้โดยประการทั้งปวง จึงสงัดจากกามและอกุศลธรรม ทั้งหลายแล้วบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอย่อม พิจารณาเห็น๒- ธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มีอยู่ใน ปฐมฌานนั้นโดยเป็นสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดุจโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นสิ่งคอยก่อความเดือดร้อน เป็นที่ทำให้ขัดข้อง เป็นดุจคนฝ่ายอื่น เป็นสิ่งที่ต้อง แตกสลาย เป็นของว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมทำจิตให้กลับจากธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้ว จึงน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า ‘ภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับสังขาร ทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน’ เธอดำรงอยู่ในปฐมฌานนั้น ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลาย หากยังไม่บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ก็จะเป็นโอปปาติกะ๓- เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้น จักปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก๔- นี้แล เป็นมรรคและปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุจึงบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรม ทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มีอยู่ในจตุตถฌานนั้น ฯลฯ เพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ @เชิงอรรถ : @ อุปธิวิเวก ในที่นี้หมายถึงความสงัดจากกามคุณ ๕ ประการ (คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) @(ม.ม.อ. ๒/๑๓๓/๑๐๘) @ พิจารณาเห็น ในที่นี้หมายถึงเห็นด้วยวิปัสสนาอันแรงกล้า (องฺ.นวก.อ. ๓/๓๖/๓๐๙) @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๙ (อัฏฐกนาครสูตร) หน้า ๒๐ ในเล่มนี้ @ ดูเทียบ องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๓๖/๕๐๘-๕๐๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๔๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

                                                                 ๔. มหามาลุงกยสูตร

อรูปฌาน ๔
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘อากาศ หาที่สุดมิได้’ อยู่ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มีอยู่ในอากาสานัญจายตนฌานนั้นโดยเป็นสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดุจโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นสิ่งคอยก่อความเดือดร้อน เป็นที่ทำให้ขัดข้อง เป็นดุจคนฝ่ายอื่น เป็นสิ่งที่ต้องแตกสลาย เป็นของว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมทำจิตให้กลับจากธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้ว จึงน้อมจิตไปเพื่อ อมตธาตุว่า ‘สภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืน อุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน’ เธอดำรงอยู่ในอากาสานัญจายตนฌานนั้น ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย หากยังไม่บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ก็จะเป็นโอปปาติกะ เพราะโอรัมภาคิย- สังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้น จักปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก นี้แล เป็นมรรคและปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ อีกประการหนึ่ง ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ วิญญาณัญจายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่ เธอย่อมพิจารณา เห็นธรรมทั้งหลาย คือเวทนา ฯลฯ ที่มีอยู่ในวิญญาณัญจายตนฌานนั้น ฯลฯ เพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ อีกประการหนึ่ง ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ อากิญจัญญายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรม ทั้งหลาย คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่มีอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น โดยเป็นสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดุจโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นสิ่งคอย ก่อความเดือดร้อน เป็นที่ทำให้ขัดข้อง เป็นดุจคนฝ่ายอื่น เป็นสิ่งที่ต้องแตกสลาย เป็นของว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมทำจิตให้กลับจากธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้ว จึงน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า ‘สภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความสงบระงับสังขาร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๔๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

                                                                 ๔. มหามาลุงกยสูตร

ทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน’ เธอดำรงอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น ย่อมบรรลุความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลาย หากยังไม่บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ก็จะเป็น โอปปาติกะ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลิน ในธรรมนั้น จักปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก นี้แล เป็นมรรคและปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ” ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “ถ้ามรรคและปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิย- สังโยชน์ ๕ ประการ เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้ บางพวกจึงเป็นเจโตวิมุต๑- บางพวกจึงเป็นปัญญาวิมุต๒- พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ในเรื่องนี้ เรากล่าวว่าภิกษุเหล่านั้น มีอินทรีย์ต่างกัน๓-” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มหามาลุงกยสูตรที่ ๔ จบ
@เชิงอรรถ : @ หมายความว่า บรรดาภิกษุผู้ดำเนินไปด้วยสมถกัมมัฏฐาน ภิกษุพวกหนึ่งมีจิตเตกัคคตา(ความที่จิตมี @อารมณ์เดียว)เป็นหลัก จึงชื่อว่าเป็นเจโตวิมุต(หลุดพ้นด้วยสมาธิ) (ม.ม.อ. ๒/๑๓๓/๑๑๐) @ หมายความว่า บรรดาภิกษุผู้ดำเนินไปด้วยวิปัสสนากัมมัฏฐาน ภิกษุพวกหนึ่งมีปัญญาเป็นหลัก จึงชื่อว่า @เป็นปัญญาวิมุต(หลุดพ้นด้วยปัญญา) (ม.ม.อ. ๒/๑๓๓/๑๑๐) @ มีอินทรีย์ต่างกัน หมายความว่า มีหลักปฏิบัติต่างกัน เช่น ท่านพระอานนท์ บำเพ็ญบารมี ๑๐ แล้วยัง @ไม่บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เหตุนั้นพระสัพพัญญุตญาณจึงไม่ปรากฏแก่ท่าน แต่พระตถาคตแทงตลอดแล้ว @เหตุนั้นพระสัพพัญญุตญาณจึงปรากฏแก่พระองค์ ทั้งนี้เป็นเพราะอินทรีย์ต่างกัน หรือในเวลาบำเพ็ญ @สมถกัมมัฏฐานภิกษุรูปหนึ่งมุ่งความที่จิตมีอารมณ์เดียวเป็นหลักก็จะหลุดพ้นด้วยเจโตวิมุตติ ภิกษุอีกรูป @หนึ่งมุ่งปัญญาเป็นหลัก ก็จะหลุดพ้นด้วยปัญญาวิมุตติ (ม.ม.อ. ๒/๑๓๓/๑๐๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๔๙}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๑๔๗-๑๔๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=13&page=147&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=13&A=4088 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=13&A=4088#p147 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 13 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13 https://84000.org/tipitaka/english/?index_13



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๔๗-๑๔๙.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]