ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

หน้าที่ ๔๑๒-๔๑๔.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

                                                                 ๖. มหาสัจจกสูตร

นี้เป็นอุปมาข้อที่ ๓ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้ ปรากฏแก่เรา อัคคิเวสสนะ นี้คืออุปมา ๓ ข้ออันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยิน มาก่อน ได้ปรากฏแก่เรา
การบำเพ็ญทุกกรกิริยา
[๓๗๗] อัคคิเวสสนะ เรานั้นมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน’ เรานั้นก็กดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เมื่อเราทำดังนั้น เหงื่อก็ ไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง คนที่แข็งแรงจับคนที่อ่อนแอกว่าที่ศีรษะหรือที่คอแล้ว บีบคั้นรัดไว้ให้แน่น แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดัน เพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้ [๓๗๘] อัคคิเวสสนะ เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌาน อันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและทางจมูก เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและทางจมูก ลมก็ออกทาง หูทั้ง ๒ ข้าง มีเสียงดังอู้ๆ ลมที่ช่างทองสูบอยู่มีเสียงดังอู้ๆ แม้ฉันใด เมื่อเรา กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและทางจมูก ลมก็ออกทางหูทั้ง ๒ ข้าง มีเสียงดังอู้ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ไม่ได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๑๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

                                                                 ๖. มหาสัจจกสูตร

เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็ กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้น ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ลมอันแรงกล้า ก็เสียดแทงศีรษะ คนที่แข็งแรงใช้เหล็กที่แหลมคมแทงศีรษะ แม้ฉันใด เมื่อเรากลั้น ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูกและทางช่องหู ลมอันแรงกล้า ก็เสียดแทงศีรษะ ฉันนั้นเหมือนกัน เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้ เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้น ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้น ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีทุกขเวทนา ในศีรษะอย่างแรงกล้า คนที่แข็งแรงใช้เชือกหนังที่เหนียวขันศีรษะ แม้ฉันใด เมื่อเรา กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหูก็มีทุกขเวทนา ในศีรษะอย่างแรงกล้า ฉันนั้นเหมือนกัน เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้ เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้น ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้น ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ลมอันแรงกล้า ก็บาดในช่องท้อง คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญพึงใช้มีดแล่เนื้อที่คมกรีดท้อง แม้ฉันใด เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทาง ช่องหู ก็มีลมอันแรงกล้าบาดในช่องท้อง ฉันนั้นเหมือนกัน เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๑๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

                                                                 ๖. มหาสัจจกสูตร

เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็ กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรา กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีความ กระวนกระวายในร่างกายอย่างแรงกล้า คนที่แข็งแรง ๒ คนจับแขนคนที่อ่อนแอ กว่าคนละข้างย่างให้ร้อนบนหลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด๑- เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้า และลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีความกระวนกระวายใน ร่างกายอย่างแรงกล้า ฉันนั้นเหมือนกัน เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้ เทวดาทั้งหลายเห็นเราแล้วก็พากันกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมสิ้นพระชนม์ แล้ว’ บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมยังมิได้สิ้นพระชนม์ แต่กำลังจะสิ้น พระชนม์’ บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมยังไม่สิ้นพระชนม์ ทั้งจะไม่สิ้น พระชนม์ พระสมณโคดมจะเป็นพระอรหันต์ การอยู่เช่นนี้นั้นเป็นวิหารธรรม๒- ของ ท่านผู้เป็นพระอรหันต์’ [๓๗๙] อัคคิเวสสนะ เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรปฏิบัติด้วย การอดอาหารทุกอย่าง’ ขณะนั้น เทวดาทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า ‘ข้าแต่ ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านอย่าได้ปฏิบัติด้วยการอดอาหารทุกอย่าง ถ้าท่านจักปฏิบัติด้วย การอดอาหารทุกอย่าง ข้าพเจ้าทั้งหลายจะแทรกโอชาอันเป็นทิพย์เข้าทางขุมขนของท่าน ท่านจะได้ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชานั้น’ เราจึงมีความดำริว่า ‘เราปฏิญญาว่า จะต้องอดอาหารทุกอย่าง แต่เทวดาเหล่านี้จะแทรกโอชาอันเป็นทิพย์เข้าทางขุมขน ของเรา เราจะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชานั้น การปฏิญญานั้นก็จะพึงเป็นมุสาแก่เรา’ เราจึงกล่าวห้ามเทวดาเหล่านั้นว่า ‘อย่าเลย’ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๘๗/๘๑ @ วิหารธรรม ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ กล่าวคือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ อันเป็นโลกิยะ @ (ดูประกอบใน องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๔๑/๓๖๐-๓๖๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๑๔}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๔๑๒-๔๑๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=12&page=412&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=12&A=11789 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=12&A=11789#p412 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 12 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_12 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12 https://84000.org/tipitaka/english/?index_12



จบการแสดงผล หน้าที่ ๔๑๒-๔๑๔.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]