ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

หน้าที่ ๒๙๕-๒๙๖.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

                                                                 ๖. ปาสราสิสูตร

ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงไปที่อาศรมของรัมมก- พราหมณ์ ก็จักได้สดับธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค” ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เสด็จกลับจาก บิณฑบาตภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มา ตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะไปพักกลางวันที่ปราสาทของมิคารมาตาใน บุพพาราม” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จพร้อมกับ ท่านพระอานนท์ไปพักกลางวันที่ปราสาทของมิคารมาตาในบุพพาราม ครั้นในเวลา เย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นแล้วตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า “มาเถิด อานนท์ เราจักไปสรงน้ำที่ท่าบุพพโกฏฐกะ” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
มารยาทในการประชุม
[๒๗๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมกับท่านพระอานนท์ได้ไปสรงน้ำ ที่ท่าบุพพโกฏฐกะแล้ว เสด็จขึ้น(จากท่า)ทรงครองจีวรผืนเดียวประทับยืนผึ่งพระ วรกายอยู่ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาศรมของรัมมกพราหมณ์อยู่ไม่ไกล ทั้งเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ และน่าเลื่อมใส ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์ เพื่อทรงอนุเคราะห์เถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพแล้วได้เสด็จเข้าไปยังอาศรมของรัมมก- พราหมณ์ สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากนั่งสนทนาธรรมีกถาอยู่ในอาศรมของรัมมกพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคประทับยืนนอกซุ้มประตู ทรงรอคอยให้ภิกษุสนทนากันจบ เสียก่อน ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าการสนทนาจบลงแล้ว จึงทรงกระแอม แล้วเคาะบานประตู {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๙๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

                                                                 ๖. ปาสราสิสูตร

ภิกษุเหล่านั้นเปิดประตูรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์แล้วประทับนั่งบน พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วจึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พูดเรื่องอะไรค้างไว้ อะไรที่เธอทั้งหลาย สนทนากันค้างอยู่” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลาย ปรารภพระผู้มีพระภาคแล้วสนทนาธรรมีกถาค้างอยู่ พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จ มาถึง” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตร ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาประชุมสนทนาธรรมีกถากันนั้นเป็นเรื่อง สมควร เธอทั้งหลายผู้มาประชุมกันมีกิจที่ควรทำ ๒ ประการ คือ (๑) การ สนทนาธรรม (๒) การเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ๑-
การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ
[๒๗๔] ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหามี ๒ อย่าง คือ (๑) การแสวงหาที่ ประเสริฐ (๒) การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ เป็นอย่างไร คือ คนบางคนในโลกนี้ ตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดายังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิด เป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความแก่เป็นธรรมดายังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็น ธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็น ธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความตายเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็น ธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความ @เชิงอรรถ : @ การสนทนาธรรม หมายถึงสนทนาเรื่องกถาวัตถุ ๑๐ ประการ การเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ หมายถึง @การเข้าฌานสมาบัติ (ม.มู.อ. ๒/๒๗๓/๗๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๙๖}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๒๙๕-๒๙๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=12&page=295&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=12&A=8430 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=12&A=8430#p295 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 12 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_12 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12 https://84000.org/tipitaka/english/?index_12



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๙๕-๒๙๖.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]