ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย มหาวรรค

หน้าที่ ๑๘๑-๑๘๒.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

                                                                 กุสาวดีราชธานี

๔. มหาสุทัสสนสูตร
ว่าด้วยพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ามหาสุทัสสนะ
[๒๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ ในสมัยครั้งหนึ่ง เมื่อใกล้จะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ระหว่าง ไม้สาละทั้งคู่ ณ สาลวันของพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราซึ่งเป็นทางเข้ากรุงกุสินารา ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มี พระภาคอย่าได้ปรินิพพานในเมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่งนี้ เมืองใหญ่เหล่าอื่น ยังมีอยู่ เช่น กรุงจัมปา กรุงราชคฤห์ กรุงสาวัตถี เมืองสาเกต กรุงโกสัมพี กรุงพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด ขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล คหบดีมหาศาล ผู้เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระตถาคต มีอยู่มาก ในเมืองเหล่านั้น ท่านเหล่านี้จะทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต” [๒๔๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น อย่าพูด อย่างนั้นว่า ‘กุสินาราเป็นเมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่ง’
กุสาวดีราชธานี
อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีกษัตราธิราชพระนามว่ามหาสุทัสสนะผู้ได้รับ มูรธาภิเษกแล้วทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง กรุงกุสินารานี้มีนามว่ากุสาวดี ได้เป็นราชธานีของ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว ๑๒ โยชน์ ด้านทิศเหนือและทิศใต้กว้าง ๗ โยชน์ กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น เศรษฐกิจดี เหมือนกับกรุงอาฬกมันทาซึ่ง เป็นราชธานีของทวยเทพที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมาก มียักษ์หนาแน่น เศรษฐกิจดี อานนท์ กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่อึกทึกครึกโครมเพราะเสียง ๑๐ ชนิดทั้งวันทั้งคืน ได้แก่ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคมดนตรี และเสียงว่า ‘ท่านทั้งหลายโปรดบริโภค ดื่ม เคี้ยวกิน’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๘๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

                                                                 กุสาวดีราชธานี

กรุงกุสาวดีราชธานี มีกำแพงล้อม ๗ ชั้น ได้แก่ (๑) กำแพงทอง (๒) กำแพงเงิน (๓) กำแพงแก้วไพฑูรย์ (๔) กำแพงแก้วผลึก (๕) กำแพงแก้วโกเมน (๖) กำแพงแก้ว บุษราคัม (๗) กำแพงทำด้วยรัตนะทุกอย่าง มีประตู ๔ สี ได้แก่ (๑) ประตูทอง (๒) ประตูเงิน (๓) ประตูแก้วไพฑูรย์ (๔) ประตูแก้วผลึก แต่ละประตูมีเสาระเนียด ปักไว้ประตูละ ๗ ต้น ได้แก่ (๑) เสาทอง (๒) เสาเงิน (๓) เสาแก้วไพฑูรย์ (๔) เสาแก้วผลึก (๕) เสาแก้วโกเมน (๖) เสาแก้วบุษราคัม (๗) เสาทำด้วยรัตนะ ทุกอย่าง แต่ละเสาวัดโดยรอบ ๓ ชั่วบุรุษ ฝังลึก ๓ ชั่วบุรุษ สูง ๑๒ ชั่วบุรุษ๑- กรุงกุสาวดีราชธานีมีต้นตาลล้อม ๗ แถว ได้แก่ ต้นตาลทอง ๑ แถว ต้นตาลเงิน ๑ แถว ต้นตาลแก้วไพฑูรย์ ๑ แถว ต้นตาลแก้วผลึก ๑ แถว ต้นตาลแก้วโกเมน ๑ แถว ต้นตาลแก้วบุษราคัม ๑ แถว ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ๑ แถว ต้นตาลทองมีลำต้นเป็นทอง ใบและผลเป็นเงิน ต้นตาลเงินมีลำต้นเป็นเงิน ใบและ ผลเป็นทอง ต้นตาลแก้วไพฑูรย์ มีลำต้นเป็นแก้วไพฑูรย์ ใบและผลเป็นแก้วผลึก ต้นตาลแก้วผลึก มีลำต้นเป็นแก้วผลึก ใบและผลเป็นแก้วไพฑูรย์ ต้นตาลแก้วโกเมน มีลำต้นเป็นแก้วโกเมน ใบและผลเป็นแก้วบุษราคัม ต้นตาลแก้วบุษราคัม มีลำต้น เป็นแก้วบุษราคัม ใบและผลเป็นแก้วโกเมน ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง มีลำต้น ทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ใบและผลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง แถวต้นตาลเหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้ เคลิบเคลิ้ม อานนท์ ดนตรีเครื่องห้า๒- ที่บุคคลปรับเสียงดี ประโคมดีแล้ว บรรเลง โดยผู้เชี่ยวชาญ ย่อมมีเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้มฉันใด แถวต้น ตาลเหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันนั้น สมัยนั้น ในกรุงกุสาวดีราชธานี มีนักเลง นักเล่น และนักดื่มร้องรำทำเพลง ตามเสียงแถวต้นตาลยามต้องลมเหล่านั้น @เชิงอรรถ : @ ชั่วบุรุษ ในที่นี้หมายถึงชื่อมาตราวัดโบราณ ๑ ชั่วบุรุษเท่ากับ ๕ ศอก (ที.ม.อ. ๒๔๑-๒๔๒/๒๒๕) @ ดนตรีเครื่องห้า คือ (๑) อาตฏะ กลองที่หุ้มหนังหน้าเดียว (เช่น กลองยาว) (๒) วิตฏะ กลองหุ้มทั้ง ๒ หน้า @(เช่น ตะโพน) (๓) อาตฏวิตฏะ กลองหุ้มหนังโดยรอบ(เช่น บัณเฑาะว์) (๔) สุสิระ เครื่องเป่า(เช่น ปี่และสังข์) @(๕) ฆนะเครื่องประโคม (เช่น ฉาบฉิ่ง) (ที.ม.อ. ๒๔๒/๒๒๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๘๒}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๑๘๑-๑๘๒. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=10&page=181&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=10&A=5300 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=10&A=5300#p181 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 10 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_10 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu10 https://84000.org/tipitaka/english/?index_10



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๘๑-๑๘๒.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]