ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย มหาวรรค

หน้าที่ ๑๕-๒๐.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

เหล่าเทพ เพราะแสงสว่างนั้น เหล่าสัตว์ที่เกิดในที่นั้นๆ จึงรู้จักกัน และกันว่า ‘ยังมีสัตว์อื่นเกิดในที่นี้เหมือนกัน’ และ ๑๐ สหัสสี- โลกธาตุนี้สั่นสะเทือน เลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณ มิได้ ก็ปรากฏขึ้นในโลก ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ ข้อนี้เป็นกฎ ธรรมดาในเรื่องนี้
ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ๑-
[๓๓] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระวิปัสสีราชกุมารประสูติแล้ว พวกอำมาตย์ ได้กราบทูลพระเจ้าพันธุมาว่า ‘ขอเดชะ พระราชโอรสของพระองค์ประสูติแล้ว โปรดทอดพระเนตรเถิด’ พระเจ้าพันธุมาได้ทอดพระเนตรวิปัสสีราชกุมาร แล้วรับสั่ง ให้เชิญพราหมณ์โหราจารย์มาตรัสว่า ‘พราหมณ์โหราจารย์ จงทำนายวิปัสสีราช- กุมาร’ พวกพราหมณ์โหราจารย์เห็นพระวิปัสสีราชกุมารแล้วได้กราบทูลพระเจ้าพันธุมา ว่า ‘ขอเดชะ โปรดพอพระทัยเถิด พระราชโอรสของพระองค์ที่เสด็จอุบัติขึ้นเป็นผู้มี ศักดิ์ใหญ่ นับว่าเป็นลาภอันประเสริฐของพระองค์ผู้ได้พระราชโอรสเช่นนี้อยู่ในราชตระกูล เพราะพระราชกุมารนี้สมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ที่เป็นเหตุให้ มหาบุรุษมีคติ๒- ๒ อย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์ โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็น @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๒๕๘/๘๙-๙๐, ที.ปา. ๑๑/๑๙๙-๒๐๐/๑๒๓-๑๒๕, ม.ม. ๑๓/๑๘๖/๓๖๘-๓๗๐ @ คติ มีความหมายหลายนัย คือ (๑) ที่ที่สัตว์จะไปเกิด (๒) อัธยาศัย (๓) ที่พึ่ง (๔) ความสำเร็จ ในที่นี้ @หมายถึงความสำเร็จ คือบรรลุผลตามจุดหมาย (ที.ม.อ. ๓๓/๓๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

วีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาคร เป็นขอบเขต ๒. ถ้าเสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลส๑- ในโลก [๓๔] ขอเดชะ พระราชกุมารนี้ ทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ อะไรบ้าง ที่เป็นเหตุให้มหาบุรุษมีคติ ๒ อย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์ โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็น วีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาคร เป็นขอบเขต ๒. ถ้าเสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก [๓๕] คือ พระราชกุมารนี้ ๑. มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน ข้อที่พระราชกุมารมีฝ่าพระบาทราบ เสมอกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒. พื้นฝ่าพระบาททั้งสองของพระราชกุมารนี้ มีจักรซึ่งมีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง ข้อที่ @เชิงอรรถ : @ กิเลสในที่นี้หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ตัณหาที่ปิดกั้นกุศลธรรม (ที.ม.อ. ๓๔/๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

พื้นฝ่าพระบาททั้งสองของพระราชกุมารนี้ มีจักรซึ่งมีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่างนี้ เป็น ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๓. มีส้นพระบาทยื่นยาวออกไป ข้อที่พระราชกุมารมีส้นพระบาทยื่น ยาวออกไปนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๔. มีพระองคุลียาว ข้อที่พระราชกุมารมีพระองคุลียาวนี้ เป็นลักษณะ มหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๕. มีพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม ข้อที่พระราชกุมารมีพระหัตถ์ และพระบาทอ่อนนุ่มนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๖. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย ข้อที่พระราชกุมารมีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลี จดกันเป็นรูปตาข่ายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๗. มีข้อพระบาทสูง ข้อที่พระราชกุมารมีข้อพระบาทสูงนี้ เป็นลักษณะ มหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๘. มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย ข้อที่พระราชกุมารมีพระชงฆ์เรียว ดุจแข้งเนื้อทรายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๙. เมื่อประทับยืน ไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุ ด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้ ข้อที่พระราชกุมารเมื่อประทับยืน ไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วยฝ่าพระหัตถ์ ทั้งสองได้นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๑๐. มีพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝักเร้นอยู่ในฝัก ข้อที่พระราชกุมารมีพระคุยหฐาน เร้นอยู่ในฝักนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๑๑. มีพระฉวีสีทอง มีพระฉวีเปล่งปลั่งดุจทองคำ ข้อที่พระราชกุมาร มีพระฉวีสีทอง มีพระฉวีเปล่งปลั่งดุจทองคำนี้ เป็นลักษณะมหา- บุรุษของมหาบุรุษนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

๑๒. มีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้ ข้อที่พระ ราชกุมารมีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๑๓. มีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียว ข้อที่พระราช กุมารมีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียวนี้ เป็น ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๑๔. มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวา ดังกุณฑลสีครามเข้มดังดอกอัญชัน ข้อที่พระราชกุมารมีพระโลม ชาติปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวาดังกุณฑล สีครามเข้มดังดอกอัญชันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๑๕. มีพระวรกายตั้งตรงดุจกายพรหม ข้อที่พระราชกุมารมีพระวรกาย ตั้งตรงดุจกายพรหมนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๑๖. มีพระมังสะในที่ ๗ แห่ง๑- เต็มบริบูรณ์ ข้อที่พระราชกุมารมี พระมังสะในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของ มหาบุรุษนั้น ๑๗. มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ ข้อที่ พระราชกุมารมีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของ ราชสีห์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๑๘. มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน ข้อที่พระราชกุมารมีร่องพระ ปฤษฎางค์เต็มเสมอกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๑๙. มีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลของต้นไทร พระวรกาย สูงเท่ากับ ๑ วาของพระองค์ ๑ วาของพระองค์เท่ากับส่วนสูง พระวรกาย ข้อที่พระราชกุมารมีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจ @เชิงอรรถ : @ ที่ ๗ แห่ง ในที่นี้ คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง หลังพระบาททั้ง ๒ ข้าง พระอังสะทั้ง ๒ ข้าง และลำพระศอ @(ที.ม.อ. ๓๕/๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

ปริมณฑลของต้นไทร พระวรกายสูงเท่ากับ ๑ วาของพระองค์ ๑ วาของพระองค์เท่ากับส่วนสูงพระวรกายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ ของมหาบุรุษนั้น ๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด ข้อที่พระราชกุมารมีลำพระศอ กลมเท่ากันตลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๑. มีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี ข้อที่พระราชกุมารมีเส้น ประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดีนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของ มหาบุรุษนั้น ๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ข้อที่พระราชกุมารมีพระหนุดุจคางราชสีห์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ ข้อที่พระราชกุมารมีพระทนต์ ๔๐ ซี่นี้ เป็น ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน ข้อที่พระราชกุมารมีพระทนต์เรียบ เสมอกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่างกัน ข้อที่พระราชกุมารมีพระทนต์ไม่ห่างกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๖. มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม ข้อที่พระราชกุมารมีพระเขี้ยวแก้วขาว งามนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ยาว ข้อที่พระราชกุมารมีพระชิวหาใหญ่ยาวนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก ข้อที่พระราชกุมารมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้อง ของนกการเวกนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๙. มีพระเนตรดำสนิท ข้อที่พระราชกุมารมีพระเนตรดำสนิทนี้ เป็น ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

๓๐. มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด ข้อที่พระราชกุมาร มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ ของมหาบุรุษนั้น ๓๑. มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนปุยนุ่น ข้อที่ พระราชกุมารมีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือน ปุยนุ่นนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ ข้อที่พระราชกุมารมี พระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ ของมหาบุรุษนั้น [๓๖] ขอเดชะ พระราชกุมารนี้ทรงสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการนี้ ที่เป็นเหตุให้มหาบุรุษมีคติ ๒ อย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์ โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็น วีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาคร เป็นขอบเขต ๒. ถ้าเสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระ- อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๐}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๑๕-๒๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=10&page=15&pages=6&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=10&A=428 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=10&A=428#p15 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 10 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_10 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu10 https://84000.org/tipitaka/english/?index_10



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๕-๒๐.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]