ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
             [๓๐๒] ดูกรโปฏฐปาทะ ความได้อัตตา ๓ เหล่านี้ คือ ได้อัตตาที่หยาบ ๑ ได้อัตตา
ที่สำเร็จด้วยใจ ๑ ได้อัตตาที่หารูปมิได้ ๑ ความได้อัตตาที่หยาบเป็นไฉน คือ อัตตาที่มีรูป
ประกอบด้วยมหาภูต ๔ บริโภคกวฬิงการาหาร นี้ความได้อัตตาที่หยาบ ความได้อัตตาที่สำเร็จ
ด้วยใจเป็นไฉน คือ อัตตาที่มีรูปสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง
นี้ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ความได้อัตตาที่หารูปมิได้เป็นไฉน คือ อัตตาอันหารูปมิได้ สำเร็จ
ด้วยสัญญา นี้ความได้อัตตาที่หารูปมิได้.
	[๓๐๓] ดูกรโปฏฐปาทะ เราจะแสดงธรรมเพื่อละความได้อัตตาที่หยาบว่า พวกท่าน
ปฏิบัติอย่างไรจึงจะละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์
และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่.
	ดูกรโปฏฐปาทะ บางคราวท่านจะพึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า สังกิเลสธรรมเราจักละได้
โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้นได้ ผู้มีความเพียรจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง
ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ได้ แต่ความอยู่ไม่สบาย.
	ดูกรโปฏฐปาทะ แต่เรื่องนี้ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ที่แท้สังกิเลสธรรมพวกท่านจักละได้
โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้นได้ ผู้มีความเพียรจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง
ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ได้ ความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ
สติสัมปชัญญะ และความอยู่สบายจักมีได้.
	[๓๐๔] ดูกรโปฏฐปาทะ เราจะแสดงธรรมเพื่อละความได้อัตตาแม้ที่สำเร็จด้วยใจว่า
พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจัก
ทำความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน
เข้าถึงอยู่.
	ดูกรโปฏฐปาทะ บางคราวท่านจะพึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า สังกิเลสธรรมเราจักละได้
โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น ผู้มีความเพียรจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง
ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แต่ความอยู่ไม่สบาย.
	ดูกรโปฏฐปาทะ แต่เรื่องนี้ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ที่แท้สังกิเลสธรรมพวกท่านจักละได้
โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น ผู้มีความเพียรจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง
ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ได้ ความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ
สติสัมปชัญญะ และความอยู่สบายจักมีได้.
	[๓๐๕] ดูกรโปฏฐปาทะ เราจะแสดงธรรมเพื่อละความได้อัตตาแม้ที่หารูปมิได้ว่า พวกท่าน
ปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความ
บริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.
	ดูกรโปฏฐปาทะ บางคราวท่านจะพึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า สังกิเลสธรรมเราจักละได้
โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น ผู้มีความเพียรจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง
ปัญญา ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แต่ความอยู่ไม่สบาย.
	ดูกรโปฏฐปาทะ แต่เรื่องนี้ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ที่แท้สังกิเลสธรรมพวกท่านจักละได้
โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้นได้ ผู้มีความเพียรจะทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง
ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ได้ ความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ
สติสัมปชัญญะ และความอยู่สบายจักมีได้.
	[๓๐๖] ดูกรโปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่นจะพึงถามเราอย่างนี้ว่า ท่าน ความได้อัตตา
ที่หยาบ ซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อละเสียนั้น ว่าพวกท่านปฏิบัติอย่างไรจึงจักละสังกิเลสธรรมได้
โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้ง
ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่เป็นไฉน เมื่อเราถูกถามอย่างนี้แล้ว เราจะพึง
พยากรณ์แก่เขาว่า ท่าน นี้แหละ ความได้อัตตาที่หยาบ ซึ่งเราแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียนั้นว่า.
พวกท่านปฏิบัติอย่างไรจึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น. พวกท่านจักทำ
ความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้า
ถึงอยู่.
	[๓๐๗] ดูกรโปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่นจะถามเราว่า ท่าน ความได้อัตตาที่สำเร็จ
ด้วยใจ ซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อละเสียนั้นว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไรจึงจักละสังกิเลสธรรมได้
โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้ง
ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เป็นไฉน เมื่อเราถูกถามอย่างนี้แล้ว เราจะพึง
พยากรณ์แก่เขาว่า ท่าน นี้แหละ ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ซึ่งเราแสดงธรรมเพื่อให้
ละเสียนั้นว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น.
พวกท่านจักทำความบริบูรณ์และ ความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง
ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.
	ดูกรโปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่นจะพึงถามเราว่า ท่าน ความได้อัตตาที่หารูปมิได้
ซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อละเสียนั้นว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้
โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้ง
ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เป็นไฉน เมื่อเราถูกถามอย่างนี้แล้ว เราจะ
พึงพยากรณ์แก่เขาว่า ท่าน นี้แหละความได้อัตตาที่หารูปมิได้ ซึ่งเราแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียนั้นว่า
พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำ
ความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้า
ถึงอยู่.
	ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตย่อมถึง
ความเป็นภาษิตมีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ.
	ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตย่อมถึงความเป็นภาษิตมีปาฏิหาริย์.
	[๓๐๘] ดูกรโปฏฐปาทะ เหมือนอย่างว่า บุรุษทำพะองเพื่อขึ้นปราสาทที่ภายใต้ปราสาท
นั้น ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจะทำพะองเพื่อขึ้นปราสาท ท่านรู้จัก
ปราสาทนั้นว่า อยู่ทิศตะวันออกหรือทิศใต้ ทิศตะวันตกหรือทิศเหนือ สูงหรือต่ำหรือพอ
ปานกลางละหรือ. ถ้าเขาตอบว่า นี้แหละ ปราสาทที่ข้าพเจ้ากำลังพะองเพื่อจะขึ้นอยู่ภายใต้
ปราสาทนั้นเอง. ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำ
ของบุรุษนั้นย่อมถึงความเป็นคำที่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ.
	ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำของบุรุษนั้นย่อมถึงความเป็นคำที่มี
ปาฏิหาริย์.
	ดูกรโปฏฐปาทะ ฉันนั้นเหมือนกัน หากว่าคนเหล่าอื่นพึงถามเราว่า ความได้อัตตา
ที่หยาบ ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ความได้อัตตาที่หารูปมิได้ ซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อให้
ละเสียนั้นว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น
พวกท่านจักทำความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองใน
ปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เป็นไฉน เมื่อเราถูกถามอย่างนี้แล้ว เราจะพึงพยากรณ์แก่เขาว่า ท่าน นี้แหละ
ความได้อัตตาที่หยาบ ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ความได้อัตตาที่หารูปมิได้ ซึ่งเราแสดงธรรม
เพื่อละเสียนั้นว่า ท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น
พวกท่านจักทำความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองใน
ปัจจุบัน เข้าถึงอยู่. ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น
ภาษิตย่อมถึงความเป็นภาษิตมีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ.
	ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตย่อมถึงความเป็นภาษิตมีปาฏิหาริย์.
	[๓๐๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว จิตตหัตถิสารีบุตรได้กราบทูลว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ สมัยใดมีการได้อัตตาที่หยาบ สมัยนั้น ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ความได้
อัตตาที่หารูปมิได้ เป็นโมฆะ มีแต่การได้อัตตาที่หยาบเป็นเที่ยงแท้ สมัยใด มีการได้อัตตาที่สำเร็จ
ด้วยใจ สมัยนั้น ความได้อัตตาที่หยาบ ความได้อัตตาที่หารูปมิได้ เป็นโมฆะ มีแต่การได้
อัตตาที่สำเร็จด้วยใจเป็นเที่ยงแท้ สมัยใด มีการได้อัตตาที่หารูปมิได้ สมัยนั้น ความได้อัตตา
ที่หยาบ ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ เป็นโมฆะ มีแต่การได้อัตตาที่หารูปมิได้เป็นเที่ยงแท้.
	พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรจิตตะ สมัยใด มีการได้อัตตาที่หยาบ สมัยนั้น ไม่นับว่า
ได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ไม่นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่หยาบอย่างเดียว ดูกรจิตตะ
สมัยใด มีการได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้อัตตา
ที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจอย่างเดียว ดูกรจิตตะ สมัยใด มีการได้อัตตาที่หารูปมิได้
สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้
อย่างเดียว.
	[๓๑๐] ดูกรจิตตะ ถ้าชนทั้งหลายพึงถามท่านว่า เธอได้มีในอดีตกาล มิใช่ว่าเธอไม่ได้มี
ก็หาไม่ เธอจักมีในอนาคตกาล มิใช่ว่าเธอจักไม่มีก็หาไม่ เธอมีอยู่ในบัดนี้ มิใช่ว่าเธอไม่มีอยู่
ก็หามิได้ เช่นนั้นหรือ เมื่อท่านถูกถามอย่างนี้ ท่านจะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร.
	ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเขาถามข้าพระองค์อย่างนั้น ข้าพระองค์พึงพยากรณ์ว่า
ข้าพเจ้าได้มีแล้วในอดีตกาล มิใช่ว่าไม่มีก็หามิได้ ข้าพเจ้าจักมีในอนาคตกาล มิใช่ว่าจักไม่มี
ก็หามิได้ ข้าพเจ้ามีอยู่ในบัดนี้ มิใช่ว่าไม่มีอยู่ก็หามิได้.
	[๓๑๑] ดูกรจิตตะ ถ้าเขาพึงถามท่านว่า เธอได้อัตตภาพที่เป็นอดีตแล้ว การที่เธอได้
อัตตภาพเช่นนั้นนั่นแหละ เป็นของเที่ยงแท้ การได้อัตตภาพเป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน เป็นโมฆะ
เธอจักได้อัตตภาพเป็นอนาคต การได้อัตตภาพเช่นนั้น เท่านั้น เป็นของเที่ยงแท้ การได้
อัตตภาพเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นโมฆะ เธอได้อัตตภาพเป็นปัจจุบันในบัดนี้ การได้อัตตภาพ
เช่นนั้นเท่านั้น เป็นของเที่ยงแท้ การได้อัตตภาพเป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นโมฆะ อย่างนั้น
หรือ เมื่อท่านถูกถามอย่างนี้ จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร.
	ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเขาถามข้าพระองค์อย่างนั้น ข้าพระองค์พึงพยากรณ์ว่า
ข้าพเจ้าได้อัตตภาพเป็นอดีตแล้ว การได้อัตตภาพเช่นนั้นเท่านั้น เป็นของเที่ยงแท้ในสมัยนั้น
การได้อัตตภาพเป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน เป็นโมฆะ ข้าพเจ้าจักได้อัตตภาพเป็นอนาคต การได้
อัตตภาพเช่นนั้นเท่านั้นเป็นของเที่ยงแท้ในสมัยนั้น การได้อัตตภาพเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็น
โมฆะ ข้าพเจ้าได้อัตตภาพเป็นปัจจุบันบัดนี้ การได้อัตตภาพเช่นนั้นเท่านั้นเป็นของเที่ยงแท้ใน
สมัยนี้ การได้อัตตภาพเป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นโมฆะ.
	[๓๑๒] ดูกรจิตตะ อย่างนั้นแหละ สมัยใด มีการได้อัตตาที่หยาบ สมัยนั้น ไม่นับว่า
ได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ไม่นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่หยาบอย่างเดียว.
	ดูกรจิตตะ สมัยใด มีการได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ
ไม่นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจอย่างเดียว.
	ดูกรจิตตะ สมัยใด มีการได้อัตตาที่หารูปมิได้ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ
ไม่นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้อย่างเดียว.
	ดูกรจิตตะ เหมือนอย่างว่า นมสดจากแม่โค นมส้มจากนมสด เนยข้นจากนมส้ม
เนยใสจากเนยข้น หัวเนยใสจากเนยใส สมัยใดเป็นนมสด สมัยนั้น ไม่นับว่านมส้ม เนยข้น
เนยใส หัวเนยใส นับว่านมสดอย่างเดียวเท่านั้น สมัยใดเป็นนมส้ม สมัยนั้น ไม่นับว่านมสด
เนยข้น เนยใส หัวเนยใส นับว่าเป็นนมส้มอย่างเดียวเท่านั้น สมัยใดเป็นเนยข้น สมัยนั้น
ไม่นับว่านมสด นมส้ม เนยใส หัวเนยใส นับว่าเป็นเนยข้นอย่างเดียวเท่านั้น สมัยใดเป็น
เนยใส สมัยนั้นไม่นับว่านมสด นมส้ม เนยข้น หัวเนยใส นับว่าเป็นเนยใสอย่างเดียวเท่านั้น
สมัยใดเป็นหัวเนยใส สมัยนั้น ไม่นับว่านมสด นมส้ม เนยข้น เนยใส นับว่าเป็นหัวเนยใส
อย่างเดียวเท่านั้น ฉันใด ดูกรจิตตะ ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใดมีการได้อัตตาที่หยาบ สมัยนั้น
ไม่นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ไม่นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่หยาบอย่างเดียว
เท่านั้น สมัยใดมีการได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้
อัตตาที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจอย่างเดียวเท่านั้น สมัยใดมีการได้อัตตาที่หารูป
มิได้ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ นับว่าได้อัตตาที่หารูป
มิได้อย่างเดียวเท่านั้น.
	ดูกรจิตตะ เหล่านี้แลเป็นชื่อตามโลก เป็นภาษาของโลก เป็นโวหารของโลก เป็นบัญญัติ
ของโลก ที่ตถาคตกล่าวอยู่ มิได้ยึดถือ.
	[๓๑๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โปฏฐปาทปริพาชกได้กราบทูลว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง
นัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีป
ในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรม
โดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้ง
พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
จิตตหัตถิสารีบุตรบรรลุพระอรหัตตผล
ฝ่ายจิตตหัตถิสารีบุตรก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง นัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค เมื่อจิตตหัตถิสารีบุตรได้บรรพชา อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ท่านอุปสมบทแล้วไม่นานหลีกออกไปอยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้ว ไม่ช้านานเท่าไร ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าที่กุลบุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ท่านจิตตหัตถิสารีบุตรได้เป็นพระ อรหันต์รูปหนึ่ง ในพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล.
จบโปฏฐปาทสูตร ที่ ๙.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ บรรทัดที่ ๖๖๒๑-๖๗๗๖ หน้าที่ ๒๗๖-๒๘๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=9&A=6621&Z=6776&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=9&A=6621&w=อัตตา_๓&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=9&siri=9              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=275              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=9&A=4425#302top              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=7890              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=9&A=4425#302top              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=7890              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_9              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/09i275-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/dn/dn.09.0.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/digha/dn09.html https://suttacentral.net/dn9/en/sujato https://suttacentral.net/dn9/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]