ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
พระพุทธบัญญัติห้ามใช้ที่นั่งและที่นอนสูงใหญ่
[๑๕] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ใช้ที่นั่งและที่นอนอันสูงใหญ่ คือ เตียงมีเท้า เกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตร ด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะ วิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและเสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขน ข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะ จุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วย หนังสัตว์ชื่ออชินะมีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่อง ลาดมีหมอนข้าง ชาวบ้านเที่ยวชมวิหารไปพบเข้า จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือน เหล่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ที่นั่งและ ที่นอนอันสูงใหญ่ คือ เตียงมีเท้าสูงเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มี สัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและ เสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงิน แกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาด หลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะ มีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง รูปใดใช้ ต้อง อาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามใช้หนังผืนใหญ่
[๑๖] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์รู้ว่าพระผู้มีพระภาค ทรงห้ามที่นั่งและที่นอน อันสูงใหญ่ จึงใช้หนังผืนใหญ่ คือ หนังสีหะ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง หนังเหล่านั้น ตัดตามขนาดเตียงบ้าง ตัดตามขนาดตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายในเตียงบ้าง ปูลาดไว้ภายนอกเตียงบ้าง ปูลาดไว้ภายในตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายนอกตั่งบ้าง ชาวบ้านเที่ยวชมวิหารไปพบเข้า จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนเหล่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หนังผืนใหญ่ คือ หนังสีหะ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
เรื่องภิกษุใจร้าย
[๑๗] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์รู้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงห้ามหนังผืนใหญ่ จึงใช้ หนังโค หนังเหล่านั้นตัดตามขนาดเตียงบ้าง ตัดตามขนาดตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายในเตียงบ้าง ปูลาดไว้ภายนอกเตียงบ้าง ปูลาดไว้ภายในตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายนอกตั่งบ้าง. มีภิกษุใจร้ายรูปหนึ่ง เป็นกุลุปกะของอุบาสกใจร้ายคนหนึ่ง ครั้นเวลาเช้า ภิกษุใจร้าย รูปนั้นนุ่งอันตรวาสก ถือบาตรจีวรแล้วเดินเข้าไปในบ้านของอุบาสกใจร้ายคนนั้น แล้วนั่งบน อาสนะที่เขาจัดไว้ จึงอุบาสกใจร้ายคนนั้น เข้าไปหาภิกษุใจร้ายรูปนั้น นมัสการแล้วนั่ง ณ ที่ ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็สมัยนั้น ลูกโคของอุบาสกใจร้ายคนนั้น เป็นสัตว์กำลังรุ่น รูปร่างเข้าที น่าดูน่าชม งามคล้ายลูกเสือเหลือง จึงภิกษุใจร้ายรูปนั้นจ้องมองดูมันด้วยความสนใจ ทีนั้น อุบาสกใจร้ายได้กล่าวกะภิกษุใจร้ายว่า พระคุณเจ้าจ้องมองดูมันด้วยความสนใจเพื่อประสงค์อะไร ขอรับ? ภิกษุใจร้ายรูปนั้น ตอบว่า อาวุโส อาตมาต้องประสงค์หนังของมัน ทีนั้น อุบาสก ใจร้ายจึงฆ่ามันแล้วได้ถลกหนังถวายแก่ภิกษุใจร้ายรูปนั้น ภิกษุใจร้ายรูปนั้นได้เอาผ้าสังฆาฏิ ห่อหนังเดินไป ครั้งนั้น แม่โค มีความรักลูก จึงเดินตามภิกษุใจร้ายรูปนั้นไปข้างหลังๆ ภิกษุทั้งหลายถามภิกษุใจร้ายรูปนั้นว่า อาวุโส ทำไมแม่โคตัวนี้จึงเดินตามท่านมาข้างหลังๆ ขอรับ? ภิกษุใจร้ายรูปนั้นตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย แม้ผมเองก็ไม่ทราบว่า มันเดินตามผมมาข้างหลังๆ ด้วยเหตุอะไร ขณะนั้นผ้าสังฆาฏิของภิกษุใจร้ายรูปนั้นเปื้อนเลือด ภิกษุทั้งหลาย จึงถามภิกษุ ใจร้ายรูปนั้นว่า อาวุโส ก็ผ้าสังฆาฏิผืนนี้ท่านห่ออะไรไว้ ขอรับ? ภิกษุใจร้ายรูปนั้นได้แจ้งความนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายถามว่า อาวุโสก็ท่านชักชวนให้เขาฆ่าสัตว์หรือขอรับ? ภิกษุใจร้าย ตอบว่า อย่างนั้นขอรับ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อยต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุ จึงชักชวนให้เขาฆ่าสัตว์เล่า พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนการฆ่าสัตว์ ทรงสรรเสริญการงดจากการ ฆ่าสัตว์ โดยอเนกปริยายมิใช่หรือ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระพุทธบัญญัติห้ามใช้หนังโค
[๑๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุใจร้ายนั้นว่า ดูกรภิกษุ ข่าวว่า เธอชักชวน ให้เขาฆ่าสัตว์ จริงหรือ? ภิกษุใจร้ายนั้นกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้ชักชวนให้เขาฆ่าสัตว์ เล่า ดูกรโมฆบุรุษ เราติเตียนการฆ่าสัตว์ สรรเสริญการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ไว้ โดยอเนกปริยาย มิใช่หรือ การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้ว ทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงชักชวนในการฆ่าสัตว์ รูปใดชักชวน พึงปรับอาบัติตามธรรม. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง หนังโคอันภิกษุไม่พึงใช้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ หนังอะไรๆ ภิกษุไม่พึงใช้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ. สมัยต่อมา เตียงก็ดี ตั่งก็ดี ของชาวบ้าน เขาหุ้มด้วยหนัง ถักด้วยหนัง ภิกษุทั้งหลาย รังเกียจไม่นั่งทับ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งทับเตียงตั่งที่เป็นอย่างคฤหัสถ์ แต่ไม่ อนุญาตให้นอนทับ. สมัยต่อมา วิหารทั้งหลายเขาผูกรัดด้วยเชือกหนัง ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่นั่งพิง แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งพิงเฉพาะเชือก.
พระพุทธบัญญัติห้ามสวมรองเท้าเข้าบ้าน
[๑๙] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าเข้าบ้าน คนทั้งหลาย เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนเหล่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้ มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึง สวมรองเท้าเข้าบ้าน รูปใดสวมเข้าไป ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธานุญาตให้ภิกษุอาพาธสวมรองเท้าเข้าบ้าน
สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเว้นรองเท้าเสียไม่อาจเข้าบ้านได้ ภิกษุทั้งหลายกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุอาพาธสวมรองเท้าเข้าบ้านได้.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๔๖๘-๕๔๔ หน้าที่ ๒๐-๒๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=468&Z=544&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=5&A=468&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=4              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=15              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=5&A=517              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3779              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=5&A=517              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3779              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd5/en/brahmali#pli-tv-kd5:10.4.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd5/en/horner-brahmali#BD.4.256

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]