ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
เวทัลละ. พระพุทธวจนะย่อมแจ่มแจ้งแก่บุคคลนั้น เพราะอาศัยการเล่าเรียน. บุคคลนี้ชื่อว่า
ผู้มีปฏิภาณเพราะอาศัยปริยัติ.
	บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะอาศัยปริปุจฉาเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไต่ถาม
ในอรหัตผล ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ในอนิจจตาทิลักษณะ ในเหตุ ในฐานะและอฐานะ.
พระพุทธพจน์ ย่อมแจ่มแจ้งแก่บุคคลนั้น เพราะอาศัยการไต่ถาม. บุคคลนี้ชื่อว่า ผู้มีปฏิภาณ
เพราะอาศัยปริปุจฉา.
	บุคคลผู้มีปฏิภาณโดยการบรรลุเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้บรรลุสติปัฏฐาน
๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรค ๔
สามัญผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖. บุคคลนั้นรู้อรรถ รู้ธรรม รู้นิรุติ. เมื่อรู้อรรถ อรรถ
ก็แจ่มแจ้ง เมื่อรู้ธรรม ธรรมก็แจ่มแจ้ง เมื่อรู้นิรุติ นิรุติก็แจ่มแจ้ง. ญาณในปฏิสัมภิทา ๓
ประการนี้ เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทา. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้า
มาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบแล้วด้วยปฏิภาณปฏิสัมภิทานี้ เพราะเหตุนั้น พระ-
*ปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงชื่อว่ามีปฏิภาณ. ผู้ใดไม่มีปริยัติ ไม่มีปริปุจฉา ไม่มีอธิคม บทธรรม
อะไรจักแจ่มแจ้งแก่บุคคลนั้นเล่า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ซึ่งมิตรมีคุณยิ่ง มีปฏิภาณ.
	[๗๕๕] คำว่า รู้จักประโยชน์ทั้งหลายแล้ว พึงกำจัดความสงสัยเสีย ความว่า รู้ทั่วถึง
รู้ยิ่ง ทราบ เทียบเคียง พิจารณาให้แจ่มแจ้ง ทำให้ปรากฏแล้ว ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์
ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในสัมปรายภพ พึงกำจัด พึงปราบ
ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความสงสัย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า รู้จัก
ประโยชน์ทั้งหลายแล้ว พึงกำจัดความสงสัย พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะ
ฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		ควรคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม มีคุณยิ่ง มีปฏิภาณ
		รู้จักประโยชน์ทั้งหลายแล้ว กำจัดความสงสัยเสีย พึง
		เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๕๖] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าไม่ทำความพอใจซึ่งการเล่น ความ
		ยินดี และกามสุขในโลก ไม่อาลัย เว้นจากฐานะแห่ง
		เครื่องประดับ เป็นผู้พูดจริง พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือน
		นอแรด ฉะนั้น.
	[๗๕๗] ชื่อว่า การเล่น ในอุเทศว่า ขิฑฺฑา รตี กามสุขญฺจ โลเก ดังนี้ ได้แก่
การเล่น ๒ อย่าง คือ การเล่นทางกาย ๑ การเล่นทางวาจา ๑. ฯลฯ นี้ชื่อว่าการเล่นทางกาย. ฯลฯ
นี้ชื่อว่าการเล่นทางวาจา.
	คำว่า ความยินดี นี้ เป็นเครื่องกล่าวถึงความเป็นผู้ไม่กระสัน.
	คำว่า กามสุข ความว่า สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกร-
*ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้. ๕ ประการเป็นไฉน? คือ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยตา อันน่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู กลิ่น
ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการ
นี้แล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขโสมนัสใดแล อาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้ เกิดขึ้น สุขโสมนัส
นี้เรากล่าวว่า กามสุข เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กามสุข.
	คำว่า ในโลก คือ ในมนุษย์โลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ... ความเล่น ความยินดี
และกามสุขในโลก.
	[๗๕๘] คำว่า ไม่ทำความพอใจ ไม่อาลัย ความว่า ไม่ทำความพอใจ ซึ่งการเล่น
ความยินดี และกามสุขในโลก เป็นผู้ไม่มีความอาลัย คือ ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึง
ความไม่มี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่ทำความพอใจ ไม่อาลัย.
	[๗๕๙] ชื่อว่า เครื่องประดับ ในอุเทศว่า วิภูสนฏฺฐานา วิรโต สจฺจวาที ดังนี้ ได้
แก่เครื่องประดับ ๒ อย่าง คือ เครื่องประดับของคฤหัสถ์อย่าง ๑ เครื่องประดับของบรรพชิต
อย่าง ๑.
	เครื่องประดับของคฤหัสถ์เป็นไฉน? ผม หนวด ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้
เครื่องประดับ เครื่องแต่งตัว ผ้า เครื่องประดับศีรษะ ผ้าโพก เครื่องอบ เครื่องนวด เครื่อง
อาบน้ำ เครื่องตัด กระจกเงา เครื่องหยอดตา ดอกไม้ เครื่องไล้ทา เครื่องทาปาก เครื่อง
ผัดหน้า เครื่องผูกข้อมือ เครื่องผูกมวยผม ไม้เท้า กล้องยา ดาบ ร่ม รองเท้า กรอบหน้า
พัดขนสัตว์ ผ้าขาว ผ้ามีชายยาว เครื่องประดับดังกล่าวมานี้ เป็นเครื่องประดับของคฤหัสถ์.
	เครื่องประดับของบรรพชิตเป็นไฉน? การประดับจีวร การประดับบาตร การประดับ
เสนาสนะ การประดับ การตกแต่ง การเล่น การเล่นรอบ ความกำหนัด ความพลิกแพลง
ความเป็นผู้พลิกแพลง ซึ่งกายอันเปื่อยเน่านี้ หรือซึ่งบริขารอันเป็นภายนอก. การประดับนี้
เป็นการประดับของบรรพชิต.
	คำว่า เป็นผู้พูดจริง ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นผู้พูดจริง เชื่อมคำสัตย์
มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่กล่าวให้เคลื่อนคลาดแก่โลก เว้นทั่ว งดเว้น ออกไป
สลัดออกไป หลุดพ้น พรากออกไป จากฐานะแห่งเครื่องประดับ มีใจปราศจากเขตแดนอยู่
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เว้นแล้วจากฐานะแห่งเครื่องประดับ เป็นผู้พูดจริง พึงเที่ยวไปผู้เดียว
เหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าไม่ทำความพอใจซึ่งการเล่น ความ
		ยินดี และกามสุขในโลก ไม่อาลัย เว้นจากฐานะแห่ง
		เครื่องประดับ เป็นผู้พูดจริง พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือน
		นอแรด ฉะนั้น.
	[๗๖๐] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละบุตร ทาระ บิดา มารดา ทรัพย์
		ธัญชาติ พวกพ้อง และกามทั้งหลายตามส่วน พึงเที่ยว
		ไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๖๑] บุตร ในคำว่า ปุตตํ ในอุเทศว่า ปุตฺตญฺจ ทารํ ปิตรญฺจ มาตรํ ดังนี้
มี ๔ คือ บุตรที่เกิดแต่ตน ๑ บุตรที่เกิดในเขต ๑ บุตรที่เขาให้ ๑ บุตรที่อยู่ในสำนัก ๑.
ภรรยาท่านกล่าวว่า ทาระ. บุรุษผู้ให้บุตรเกิดชื่อว่าบิดา สตรีผู้ให้บุตรเกิดชื่อว่ามารดา. เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า บุตร ทาระ บิดา มารดา.
	[๗๖๒] แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง
แก้วทับทิม แก้วลาย ท่านกล่าวว่า ทรัพย์ ในอุเทศว่า ธนานิ ธญฺญานิ จ พนฺธวานิ ดังนี้.
ของที่กินก่อน ของที่กินทีหลัง ท่านกล่าวว่า ธัญชาติ. ข้าวสาลี ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง
ลูกเดือย หญ้ากับแก้ ชื่อว่าของที่กินก่อน. เครื่องแกงชื่อว่าของที่กินทีหลัง พวกพ้อง ในคำว่า
พนฺธวานิ มี ๔ จำพวก คือ พวกพ้องโดยเป็นญาติ ๑ พวกพ้องโดยโคตร ๑ พวกพ้องโดย
ความเป็นมิตร ๑ พวกพ้องเนื่องด้วยศิลป ๑ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทรัพย์ ธัญชาติ พวกพ้อง.
	[๗๖๓] ชื่อว่า กาม ในอุเทศว่า หิตฺวาน กามานิ ยโถธกานิ ดังนี้ โดยอุทาน
ได้แก่กาม ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑. ฯลฯ เหล่านี้ท่านกล่าวว่าวัตถุกาม. ฯลฯ
เหล่านี้ท่านกล่าวว่ากิเลสกาม.
	คำว่า ละกามทั้งหลาย ความว่า กำหนดรู้วัตถุกามแล้ว ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด
ให้ถึงความไม่มี ซึ่งกิเลสกาม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ละกามทั้งหลาย.
	คำว่า ตามส่วน ความว่า ไม่มาอีก ไม่ย้อนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสที่ละได้แล้วด้วย
โสดาปัตติมรรค ไม่มาอีก ไม่ย้อนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสที่ละได้แล้วด้วยสกทาคามิมรรค ไม่มา
อีก ไม่ย้อนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสที่ละได้แล้วด้วยอนาคามิมรรค ไม่มาอีก ไม่ย้อนมา ไม่กลับมา
สู่กิเลสที่ละได้แล้วด้วยอรหัตมรรค เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ละแล้วซึ่งกามทั้งหลายตามส่วน พึง
เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละบุตร ทาระ บิดา มารดา ทรัพย์
		ธัญชาติ พวกพ้อง และกามทั้งหลายตามส่วน พึงเที่ยว
		ไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๖๔] 	กามนี้เป็นเครื่องข้อง มีความสุขน้อย มีความยินดีน้อย มี
		ทุกข์มาก. บุคคลผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดังฝี ดังนี้แล้ว
		พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๖๕] คำว่า เครื่องข้องก็ดี ว่าเบ็ดก็ดี ว่าเหยื่อก็ดี ว่าเกี่ยวข้องก็ดี ว่าพัวพันก็ดี
นี้เป็นชื่อแห่งเบญจกามคุณ ในอุเทศว่า สงฺโค เอโส ปริตฺตเมตฺถ โสขฺยํ ดังนี้.
	คำว่า กามนี้มีความสุขน้อย ความว่า สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัส
ไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้. ๕ ประการเป็นไฉน? คือ รูปที่จะพึงรู้แจ้ง
ด้วยตา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด เสียงที่จะพึงรู้แจ้ง
ด้วยหู กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย
อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕
ประการนี้แล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขโสมนัสใดแล อาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้เกิดขึ้น สุข
โสมนัสนั้นแลเรากล่าวว่า กามสุข. กามสุขนี้มีน้อย กามสุขนี้เลว กามสุขนี้ลามก กามสุขนี้
ให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กามนี้เป็นเครื่องข้อง มีความสุขน้อย.
	[๗๖๖] คำว่า กามนี้มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก ความว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษมาก. กามทั้งหลายพระผู้มี-
*พระภาคตรัสว่า เหมือนโครงกระดูก. กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เหมือนชิ้นเนื้อ. กาม
ทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เหมือนคบเพลิง. กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เหมือน
หลุมถ่านเพลิง. กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เหมือนความฝัน. กามทั้งหลายพระผู้มี-
*พระภาคตรัสว่า เหมือนของที่ยืมเขามา. กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เหมือนผลไม้.
กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เหมือนดาบและสุนัขไล่เนื้อ. กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า เหมือนหอกและหลาว. กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เหมือนศีรษะงูเห่า มีทุกข์
มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กามนี้มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก.
	[๗๖๗] คำว่า ดังฝีก็ดี ว่าเบ็ดก็ดี ว่าเหยื่อก็ดี ว่าความข้องก็ดี ว่าความกังวลก็ดี
เป็นชื่อของเบญจกามคุณ ในอุเทศว่า คณฺโฑ เอโส อิติ ญตฺวา มติมา ดังนี้.
	บทว่า อิติ เป็นบทสนธิ เป็นบทเกี่ยวข้อง เป็นบทบริบูรณ์ เป็นที่ประชุมแห่งอักขระ
เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ. บทว่า อิติ นี้ เป็นไปตามลำดับบท.
	คำว่า บุคคลผู้มีปัญญารู้แล้วว่า กามนี้เป็นดังฝี ความว่า บุคคลผู้มีปัญญา เป็นบัณฑิต
มีความรู้ มีความตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาทำลายกิเลส รู้แล้ว คือ เทียบเคียง
พิจารณา ให้แจ่มแจ้ง ทำให้ปรากฏว่า กามนี้เป็นดังฝี เป็นเบ็ด เป็นเหยื่อ เป็นความข้อง
เป็นความกังวล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลผู้มีปัญญารู้แล้วว่า กามนี้เป็นดังฝี พึงเที่ยวไป
ผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		กามนี้เป็นเครื่องข้อง มีความสุขน้อย มีความยินดีน้อย
		มีทุกข์มาก. บุคคลผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดังฝี ดังนี้แล้ว
		พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๖๘] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ทำลายแล้วซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย
		เหมือนปลาทำลายข่าย และเหมือนไฟที่ไหม้ลามไปมิได้
		กลับมา พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๖๙] สังโยชน์ ในอุเทศว่า สนฺทาลยิตฺวาน สญฺโญชนานิ ดังนี้ มี ๑๐ ประการ คือ
กามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ มานสังโยชน์ ทิฏฐิสังโยชน์ วิจิกิจฉาสังโยชน์ สีลัพพต-
*ปรามาสสังโยชน์ ภวราคสังโยชน์ อิสสาสังโยชน์ มัจฉริยสังโยชน์ อวิชชาสังโยชน์.
	คำว่า ทำลายแล้วซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย ความว่า ทำลาย ทำลายพร้อม ละ บรรเทา
ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งสังโยชน์ ๑๐ ประการ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทำลายแล้ว
ซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย.
	[๗๗๐] ข่ายที่ทำด้วยด้าย ท่านกล่าวว่า ข่าย ในอุเทศว่า ชาลํว เภตฺวา สลิลมฺพุจารี
ดังนี้. น้ำท่านกล่าวว่า สลิละ. ปลาท่านกล่าวว่า อัมพุจารี สัตว์เที่ยวอยู่ในน้ำ. ปลาทำลาย
ฉีก แหวกข่ายขาดลอดออกแล้ว เที่ยวว่ายแหวกไป รักษา บำรุง เยียวยา.
	ข่ายมี ๒ ชนิด คือ ข่ายคือตัณหา ๑ ข่ายคือทิฏฐิ ๑. ฯลฯ นี้ชื่อว่า ข่ายคือตัณหา. ฯลฯ
นี้ชื่อว่า ข่ายคือทิฏฐิ. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละข่ายคือตัณหา สละคืนข่ายคือทิฏฐิเสียแล้ว
เหมือนฉะนั้น เพราะเป็นผู้ละข่ายคือตัณหา สละคืนข่ายคือ ทิฏฐิเสียแล้ว. พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้นจึงไม่ข้อง ไม่ติด ไม่พัวพันในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในรูปที่ได้เห็น
เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้ง เป็นผู้ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่
เกี่ยวข้อง มีใจอันทำไม่ให้มีเขตแดนอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนปลาที่ทำลายข่าย
ฉะนั้น.
	[๗๗๑] คำว่า เหมือนไฟไหม้ลามไปมิได้กลับมา ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
ไม่มาอีก ไม่ย้อนมา ไม่กลับมา สู่กิเลส ที่ละได้แล้วด้วยโสดาปัตติมรรค ไม่มาอีก ไม่ย้อนมา
ไม่กลับมา สู่กิเลสที่ละได้แล้วด้วยสกทาคามิมรรค ไม่มาอีก ไม่ย้อนมา ไม่กลับมา สู่กิเลสที่
ละแล้วด้วยอนาคามิมรรค ไม่มาอีก ไม่ย้อนมา ไม่กลับมา สู่กิเลสที่ละได้แล้วด้วยอรหัตมรรค
เหมือนไฟไหม้เชื้อหญ้าและไม้ลามไปมิได้กลับมา ฉะนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนไฟไหม้
ลามไปมิได้กลับมา พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ทำลายแล้วซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย
		เหมือนปลาทำลายข่าย และเหมือนไฟที่ไหม้ลามไปมิได้
		กลับมา พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๗๒] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า เป็นผู้มีจักษุอันทอดลง ไม่เหลวไหล
		เพราะเท้า คุ้มครองอินทรีย์ มีใจอันรักษาแล้ว กิเลสมิได้ชุ่ม
		ไฟกิเลสมิได้เผา พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๗๓] พึงทราบวินิจฉัย ในอุเทศว่า โอกฺขิตฺตจกฺขุ น จ ปาทโลโล ดังนี้ ภิกษุ
เป็นผู้ไม่สำรวมจักษุอย่างไร? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เหลวไหลเพราะจักษุ ประกอบ
ด้วยความเป็นผู้เหลวไหลเพราะจักษุ ด้วยความดำริว่า เราจะดูรูปที่ไม่เคยดู จะผ่านเลยรูปที่
เคยดูแล้ว จึงออกจากอารามนี้ไปยังอารามโน้น จากสวนนี้ไปยังสวนโน้น จากบ้านนี้ไปยัง
บ้านโน้น จากนิคมนี้ไปยังนิคมโน้น จากนครนี้ไปยังนครโน้น จากรัฐนี้ไปยังรัฐโน้น จาก
ชนบทนี้ไปยังชนบทโน้น เป็นผู้ขวนขวายความเที่ยวนาน เที่ยวไปไม่หยุด เพื่อจะดูรูป. ภิกษุ
เป็นผู้ไม่สำรวมจักษุอย่างนี้.
	อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน ไม่สำรวมเดินดูกองทัพช้าง
ดูกองทัพม้า ดูกองทัพรถ ดูกองทัพเดินเท้า ดูพวกกุมาร ดูพวกกุมารี ดูพวกสตรี ดูพวก
บุรุษ ดูร้านตลาด ดูประตูบ้าน ดูข้างบน ดูข้างล่าง ดูทิศใหญ่ทิศน้อย เดินไป. ภิกษุเป็นผู้
ไม่สำรวมจักษุแม้อย่างนี้.
	อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ถือนิมิต ถืออนุพยัญชนะ ย่อมไม่ปฏิบัติ
เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ ไม่รักษาจักขุนทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์. ภิกษุเป็นผู้ไม่สำรวม
จักษุแม้อย่างนี้.
	อีกอย่างหนึ่ง เหมือนท่านสมณพราหมณ์บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว
เป็นผู้ขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคม
มหรสพมีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย เพลงปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพ
บ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล การเล่นไต่ราว การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า
ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก
มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ. ภิกษุเป็นผู้ไม่สำรวมจักษุแม้
อย่างนี้.
	อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนนเป็นผู้สำรวม ไม่ดูกองทัพช้าง
ไม่ดูกองทัพม้า ไม่ดูกองทัพรถ ไม่ดูกองทัพเดินเท้า ไม่ดูพวกกุมาร ไม่ดูพวกกุมารี ไม่ดูพวก
สตรี ไม่ดูพวกบุรุษ ไม่ดูร้านตลาด ไม่ดูประตูบ้าน ไม่ดูข้างบน ไม่ดูข้างล่าง ไม่ดูทิศใหญ่
ทิศน้อย เดินไป. ภิกษุเป็นผู้สำรวมจักษุแม้อย่างนี้.
	ภิกษุเป็นผู้สำรวมจักษุอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้เหลวไหลเพราะจักษุ
ไม่ประกอบด้วยความเป็นผู้เหลวไหลเพราะจักษุ ด้วยความไม่ดำริว่าเราจะดูรูปที่ไม่เคยดู จะผ่าน
เลยรูปที่เคยดูแล้ว ไม่ออกจากอารามนี้ไปยังอารามโน้น ไม่จากสวนนี้ไปยังสวนโน้น ไม่จาก
บ้านนี้ไปยังบ้านโน้น ไม่จากนิคมนี้ไปยังนิคมโน้น ไม่จากนครนี้ไปยังนครโน้น ไม่จากรัฐนี้ไป
ยังรัฐโน้น ไม่จากชนบทนี้ไปยังชนบทโน้น ไม่ขวนขวายการเที่ยวนาน เที่ยวไปหยุด เพื่อจะ
ดูรูป. ภิกษุเป็นผู้สำรวมจักษุอย่างนี้.
	อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติ
เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์. ภิกษุเป็นผู้สำรวมจักษุ
แม้อย่างนี้.
	อีกอย่างหนึ่ง เหมือนท่านสมณพราหมณ์บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว
เป็นผู้ไม่ขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลธรรมเห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับ การ-
*ประโคม ฯลฯ การดูกองทัพ ภิกษุเป็นผู้งดเว้นจากการขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล
เห็นปานนี้. ภิกษุเป็นผู้สำรวมจักษุแม้อย่างนี้.
	พึงทราบวินิจฉัยในอุเทศว่า ไม่เหลวไหลเพราะเท้า ดังต่อไปนี้ ภิกษุเป็นผู้เหลวไหล
เพราะเท้าอย่างไร? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เหลวไหลเพราะเท้า ประกอบด้วยความเป็นผู้
เหลวไหลเพราะเท้า ออกจากอารามนี้ไปยังอารามโน้น ... จากชนบทนี้ไปยังชนบทโน้น เป็นผู้
ขวนขวายการเที่ยวไปนาน เที่ยวไปไม่หยุด. ภิกษุเป็นผู้เหลวไหลเพราะเท้าแม้อย่างนี้.
	อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้เหลวไหลเพราะเท้าภายในสังฆาราม
ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่สงบ มิใช่เพราะเหตุแห่งประโยชน์ มิใช่เพราะเหตุที่ถูกใช้ ออกจากบริเวณนี้
ไปยังบริเวณโน้น จากวิหารนี้ไปยังวิหารโน้น จากเพิงนี้ไปยังเพิงโน้น จากปราสาทนี้ไปยัง
ปราสาทโน้น จากเรือนโล้นหลังนี้ไปยังเรือนโล้นหลังโน้น จากถ้ำนี้ไปยังถ้ำโน้น จากที่เร้นนี้
ไปยังที่เร้นโน้น จากกระท่อมนี้ไปยังกระท่อมโน้น จากเรือนยอดหลังนี้ไปยังเรือนยอดหลังโน้น
จากป้อมนี้ไปยังป้อมโน้น จากโรงนี้ไปยังโรงโน้น จากที่พักแห่งนี้ไปยังที่พักแห่งโน้น จากโรง
เก็บของแห่งนี้ไปยังโรงเก็บของแห่งโน้น จากโรงฉันแห่งนี้ไปยังโรงฉันแห่งโน้น จากมณฑปนี้
ไปยังมณฑปแห่งโน้น จากโคนไม้ต้นนี้ไปยังโคนไม้ต้นโน้น ในสถานที่ที่ภิกษุนั่งกันอยู่หรือ
กำลังเดินไป มีรูปเดียวก็รวมเป็นรูปที่สอง มีสองรูปก็เป็นรูปที่สาม หรือมีสามรูปก็เป็นรูปที่สี่
ย่อมพูดคำเพ้อเจ้อมากในที่นั้น คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญความเสื่อม.
ภิกษุเป็นผู้เหลวไหลเพราะเท้าแม้อย่างนี้.
	คำว่า ไม่เหลวไหลเพราะเท้า ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นผู้เว้น เว้นขาด
ออกไป สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง ด้วยความเป็นผู้เหลวไหลเพราะเท้า มีจิตอันทำ
ไม่ให้มีเขตแดนอยู่ ชอบในความสงัด ยินดีในความสงัด ประกอบความสงบจิต ณ ภายใน
เนืองๆ มีฌานมิได้ห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร เพ่งฌาน ยินดีในฌาน
หมั่นประกอบเอกีภาพ หนักอยู่ในประโยชน์ตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้สำรวมจักษุและ
ไม่เหลวไหลเพราะเท้า.
	[๗๗๔] คำว่า เป็นผู้คุ้มครองอินทรีย์ ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เห็นรูป
ด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่
สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษา
จักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์ เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองอินทรีย์.
	คำว่า มีใจอันรักษาแล้ว ความว่า มีใจคุ้มครองแล้ว คือ มีจิตรักษาแล้ว เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า มีอินทรีย์อันคุ้มครองแล้ว มีใจอันรักษาแล้ว.
	[๗๗๕] คำว่า กิเลสมิได้ชุ่ม ในอุเทศว่า อนวสฺสุโต อปริฑยฺหมาโน ดังนี้ ความว่า
สมจริงตามเถรภาษิตที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราจักแสดง
อวัสสุตปริยายสูตรและอนวัสสุตปริยายสูตรแก่ท่านทั้งหลาย. ท่านทั้งหลายจงฟังเทศนานั้น จง
ใส่ใจให้ดี. เราจักกล่าว. ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า อย่างนั้นท่านผู้มีอายุ
ดังนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้อันกิเลสชุ่ม
แล้วอย่างไร? ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมยินดีใน
รูปที่น่ารัก ย่อมยินร้ายในรูปที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ไม่ตั้งมั่นกายคตาสติ มีธรรมในใจน้อย และภิกษุ
นั้นย่อมไม่รู้ตามความเป็นจริงซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดังโดยไม่เหลือแห่งอกุศลธรรม
อันลามกที่เกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ด้วยกาย รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมยินร้ายในธรรมารมณ์
ที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ไม่ตั้งมั่นกายคตาสติ มีธรรมในใจน้อย และภิกษุนั้นย่อมไม่รู้ตามความเป็นจริง
ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วแก่เธอ.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้ท่านกล่าวว่า ผู้อันกิเลสชุ่มแล้ว ในรูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยตา
ในเสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู ฯลฯ ในธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้นทางตา มารก็ได้ช่องได้ปัจจัย ถ้าแม้มารเข้ามา
หาภิกษุนั้นทางหู ฯลฯ ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้นทางใจ มารก็ได้ช่องได้ปัจจัย. ดูกรท่านผู้มีอายุ
ทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือนที่ทำด้วยไม้อ้อ หรือเรือนที่ทำด้วยหญ้าแห้งเกราะฝนรั่วรดได้
ถ้าแม้บุรุษเอาคบหญ้าที่ติดไฟแล้วเข้าไปจุดเรือนนั้นทางทิศตะวันออก ไฟก็ได้ช่องได้ปัจจัย ถ้าแม้
บุรุษเอาคบหญ้าที่ติดไฟแล้วเข้าไปจุดเรือนนั้นทางทิศตะวันตก ทางทิศเหนือ ทางทิศใต้ ทาง
เบื้องหลัง ทางเบื้องบน แม้ทางทิศไหนๆ ไฟก็ได้ช่องได้ปัจจัย ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้นทางตา มารก็ได้ช่อง
ได้ปัจจัย ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้นทางหู ฯลฯ ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้นทางใจ มารก็ได้ช่อง
ได้ปัจจัย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ รูปย่อมครอบงำได้ ภิกษุครอบงำรูป
ไม่ได้ เสียงครอบงำภิกษุได้ ภิกษุครอบงำเสียงไม่ได้ กลิ่นครอบงำภิกษุได้ ภิกษุครอบงำกลิ่น
ไม่ได้ รสครอบงำภิกษุได้ ภิกษุครอบงำรสไม่ได้ โผฏฐัพพะครอบงำภิกษุได้ ภิกษุครอบงำ
โผฏฐัพพะไม่ได้ ธรรมารมณ์ครอบงำภิกษุได้ ภิกษุครอบงำธรรมารมณ์ไม่ได้. ดูกรท่านผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ภิกษุนี้ท่านกล่าวว่า ถูกรูปครอบงำ ถูกเสียงครอบงำ ถูกกลิ่นครอบงำ ถูกรสครอบงำ
ถูกโผฏฐัพพะครอบงำ ถูกกิเลสเหล่านั้นครอบงำ ภิกษุเหล่านั้นไม่ครอบงำอกุศลธรรมอันลามก
อันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้ง
แห่งชาติ ชราและมรณะต่อไป ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้อันกิเลสชุ่มแล้วอย่างนี้แล.
	ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้อันกิเลสไม่ชุ่มแล้วอย่างไร? ดูกรท่านผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ยินดีในรูปที่น่ารัก ไม่ยินร้ายในรูปที่ไม่
น่ารัก ตั้งมั่นกายคตาสติ มีใจประกอบด้วยธรรมหาประมาณมิได้ และภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้น
แล้วแก่เธอ ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก
ตั้งมั่นกายคตาสติ มีใจประกอบด้วยธรรมหาประมาณมิได้ และภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดตามความเป็น
จริงซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว
แก่เธอ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้ท่านกล่าวว่าไม่ถูกกิเลสชุ่มแล้ว ในรูปที่จะพึงรู้แจ้ง
ด้วยตา ในเสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู ฯลฯ ในธารมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ. ดูกรท่านผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้นทางตา มารก็ไม่ได้ช่องไม่ได้ปัจจัย
ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้นทางหู มารก็ไม่ได้ช่องไม่ได้ปัจจัย ฯลฯ ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้น
ทางใจ มารก็ไม่ได้ช่องไม่ได้ปัจจัย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนกูฏาคารศาลา หรือ
สันถาคารศาลา มีดินหนา มีเครื่องฉาบทาอันเปียก ถึงแม้บุรุษจะเอาคบหญ้าที่ติดไฟโชนแล้ว
เข้าไปจุดเรือนนั้นทางทิศตะวันออก ไฟก็ไม่ได้ช่องไม่ได้ปัจจัย ถึงแม้บุรุษจะเอาคบหญ้าที่ติดไฟ
โชนแล้วเข้าไปจุดเรือนนั้นทางทิศตะวันตก ทางทิศเหนือ ทางทิศใต้ ทางเบื้องหลัง ทางเบื้องบน
ถึงแม้โดยทางไหนๆ ไฟก็ไม่ได้ช่องไม่ได้ปัจจัย ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีปกติ
อยู่อย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ถึงแม้มารจะเข้ามาหาภิกษุนั้นทางตา มารก็ไม่ได้ช่องไม่ได้ปัจจัย
ถึงแม้มารจะเข้ามาหาภิกษุนั้นทางหู ฯลฯ ถึงแม้มารจะเข้ามาหาภิกษุนั้นทางใจ มารก็ไม่ได้ช่อง
ไม่ได้ปัจจัย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ รูปย่อมครอบงำไม่ได้ ภิกษุ
ครอบงำรูปได้ เสียงครอบงำภิกษุไม่ได้ ภิกษุครอบงำเสียงได้ กลิ่นครอบงำภิกษุไม่ได้ ภิกษุ
ครอบงำกลิ่นได้ รสครอบงำภิกษุไม่ได้ ภิกษุครอบงำรสได้ โผฏฐัพพะครอบงำภิกษุไม่ได้
ภิกษุครอบงำโผฏฐัพพะได้ ธรรมารมณ์ครอบงำภิกษุไม่ได้ ภิกษุครอบงำธรรมารมณ์ได้. ดูกรท่าน
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้ท่านกล่าวว่า ครอบงำรูป ครอบงำเสียง ครอบงำกลิ่น ครอบงำรส
ครอบงำโผฏฐัพพะ ครอบงำธรรมารมณ์. กิเลสเหล่านั้นครอบงำภิกษุไม่ได้ ภิกษุครอบงำอกุศล
ธรรมอันลามก อันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็น
วิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติชราและมรณะต่อไป. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ไม่ถูกกิเลส
ชุ่มแล้วอย่างนี้แล เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ผู้อันกิเลสไม่ชุ่มแล้ว.
	คำว่า ไฟกิเลสไม่เผา ความว่า ผู้อันไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ไม่แผดเผา
เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ผู้อันกิเลสไม่ชุ่มแล้ว ไฟกิเลสไม่เผา พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
ฉะนั้น. เพราะฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า
		พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า เป็นผู้มีจักษุอันทอดลง ไม่เหลวไหล
		เพราะเท้า คุ้มครองอินทรีย์ มีใจอันรักษาแล้ว กิเลสมิได้ชุ่ม
		ไฟกิเลสมิได้เผา พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๗๖] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า นำลงแล้วซึ่งเครื่องหมายของคฤหัสถ์
		ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกบวช เหมือนต้นปาริฉัตตกะมีใบทึบ
		พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๗๗] ผมและหนวด ฯลฯ ผ้ามีชายยาว ท่านกล่าวว่า เครื่องหมายของคฤหัสถ์ ใน
อุเทศว่า โอหารยิตฺวา คีหิพยญฺชนานิ ดังนี้.
	คำว่า นำลงแล้วซึ่งเครื่องหมายของคฤหัสถ์ ความว่า ปลงลงแล้ว คือ ละทิ้ง ระงับ
แล้วซึ่งเครื่องหมายของคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า นำลงแล้วซึ่งเครื่องหมายของคฤหัสถ์.
	[๗๗๘] คำว่า เหมือนต้นปาริฉัตตกะมีใบทึบ ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
ทรงบาตรและจีวรครบ เหมือนต้นปาริฉัตตกะ คือ ต้นทองหลาง มีใบหนา มีร่มเงาชิด ฉะนั้น
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนต้นปาริฉัตตกะมีใบทึบ.
	[๗๗๙] คำว่า ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกบวช ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ตัด
กังวลในฆราวาสทั้งหมด ตัดกังวลในบุตรและภรรยา ตัดกังวลในญาติ ตัดกังวลในความสั่งสม
ปลงผมและหนวดแล้ว ครองผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เข้าถึงความเป็นผู้ไม่มีความ
กังวล เป็นผู้เดียวเที่ยวไป เที่ยวไปทั่ว ดำเนิน เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกบวช พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงกล่าวว่า
		พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า นำลงแล้วซึ่งเครื่องหมายของคฤหัสถ์
		ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกบวช เหมือนต้นปาริฉัตตกะมีใบทึบ พึง
		เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๘๐] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ไม่ทำความติดใจ ในรสทั้งหลาย ไม่มี
		ตัณหาอันเป็นเหตุให้เหลวไหล ไม่เลี้ยงผู้อื่น เที่ยวไปตามลำดับ
		ตรอก มีจิตไม่พัวพันในสกุล พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
		ฉะนั้น.
	[๗๘๑] คำว่า ในรสทั้งหลาย ในอุเทศว่า รเสสุ เคธํ อกรํ อโลโล ดังนี้ คือ รส
ที่ราก รสที่ต้น รสที่เปลือก รสที่ใบ รสที่ดอก รสที่ผล รสเปรี้ยว รสหวาน รสขม
รสเผ็ดร้อน รสเค็ม รสปร่า รสเฝื่อน รสฝาด รสอร่อย รสไม่อร่อย รสเย็น รสร้อน.
	สมณพราหมณ์ผู้ติดใจในรสมีอยู่ในโลก. สมณพราหมณ์เหล่านั้น เที่ยวแสวงหารส
ด้วยปลายลิ้น ได้รสเปรี้ยวแล้วก็แสวงหารสไม่เปรี้ยว ได้รสไม่เปรี้ยวแล้วก็แสวงหารสเปรี้ยว
ได้รสหวานแล้วก็แสวงหารสไม่หวาน ได้รสไม่หวานแล้วก็แสวงหารสหวาน ได้รสขมแล้วก็
แสวงหารสไม่ขม ได้รสไม่ขมแล้วก็แสวงหารสขม ได้รสเผ็ดร้อนแล้วก็แสวงหารสไม่เผ็ดร้อน
ได้รสไม่เผ็ดร้อนแล้วก็แสวงหารสเผ็ดร้อน ได้รสเค็มแล้วก็แสวงหารสไม่เค็ม ได้รสไม่เค็มแล้ว
ก็แสวงหารสเค็ม ได้รสปร่าแล้วก็แสวงหารสไม่ปร่า ได้รสไม่ปร่าแล้วก็แสวงหารสปร่า ได้รส
เฝื่อนแล้วก็แสวงหารสฝาด ได้รสฝาดแล้วก็แสวงหารสเฝื่อน ได้รสอร่อยแล้วก็แสวงหารส
ไม่อร่อย ได้รสไม่อร่อยแล้วก็แสวงหารสอร่อย ได้รสเย็นแล้วก็แสวงหารสร้อน ได้รสร้อน
แล้วก็แสวงหารสเย็น. สมณพราหมณ์เหล่านั้นได้รสใดๆ ก็ไม่ยินดีด้วยรสนั้นๆ แสวงหารสอื่น
ต่อไป ย่อมเป็นผู้ยินดี ติดใจ ชอบใจ หลงใหล ซบเซา ข้อง เกี่ยวข้อง พัวพัน ในรส
ทั้งหลาย. ตัณหาในรสนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้ง
ดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น พิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วจึงฉันอาหาร ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉัน
เพื่อความมัวเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง ฉันเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้กาย
นี้เป็นไป เพื่อบำบัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า เราจะ
กำจัดทุกขเวทนาเก่า จักไม่ให้ทุกขเวทนาใหม่เกิดขึ้น จักเป็นไปได้สะดวก จักไม่มีโทษ จักอยู่
ผาสุก ด้วยการฉันอาหารเพียงกำหนดเท่านั้น. คนทาแผลเพื่อประโยชน์จะให้งอกเป็นกำหนด
เท่านั้น หรือพวกเกวียนหยอดเพลาเกวียน เพื่อประโยชน์แก่การขนภาระออกเป็นกำหนดเท่านั้น
หรือคนกินเนื้อบุตร เพื่อประโยชน์แก่จะออกจากทางกันดารเป็นกำหนดเท่านั้น ฉันใด พระ-
*ปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาโดยอุบายแล้วจึงฉันอาหาร ไม่ฉันเพื่อเล่น
ไม่ฉันเพื่อมัวเมา ... จักอยู่ผาสุก ด้วยการฉันอาหารเพียงกำหนดเท่านั้น. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
นั้นเป็นผู้งดเว้น เว้นขาด ออกไป สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง ด้วยตัณหาในรส มีจิต
อันทำให้ปราศจากเขตแดนอยู่ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ไม่ทำความติดใจในรสทั้งหลาย.
	คำว่า ไม่มีตัณหาอันเป็นเหตุให้เหลวไหล ความว่า ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา
โลภะ อกุศลมูล ท่านกล่าวว่า เป็นเหตุให้โลเล หรือว่า เป็นเหตุให้เหลวไหล. ตัณหาอัน
เป็นเหตุให้โลเลเหลวไหลนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้วทำให้ไม่มีที่
ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา. เพราะเหตุนั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงชื่อว่า ไม่มีตัณหา อันเป็นเหตุให้เหลวไหล. เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า
ไม่ทำความติดใจในรสทั้งหลาย ไม่มีตัณหา อันเป็นเหตุให้เหลวไหล
	[๗๘๒] คำว่า ไม่เลี้ยงผู้อื่น ในอุเทศว่า อนญฺญโปสี สปทานจารี ดังนี้ ความว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เลี้ยงแต่ตนเท่านั้น มิได้เลี้ยงผู้อื่น
		เราเรียกบุคคลผู้ไม่เลี้ยงผู้อื่น ปรากฏอยู่ ตั้งมั่นคงดีแล้วใน
		สารธรรม มีอาสวะสิ้นแล้ว คายโทษออกแล้วนั้นว่า เป็นพราหมณ์
	เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ไม่เลี้ยงผู้อื่น.
	คำว่า ผู้เที่ยวไปตามลำดับตรอก ความว่า เวลาเช้า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นนุ่งสบง
แล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปสู่บ้านหรือนิคมเพื่อบิณฑบาต มีกายวาจาจิตอันรักษาแล้ว มีสติ
ตั้งมั่น มีอินทรีย์อันสำรวมแล้ว สำรวมจักษุถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ ออกจากสกุลหนึ่งไปสู่สกุล
หนึ่งเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่เลี้ยงผู้อื่น เที่ยวไปตามลำดับตรอก.
	[๗๘๓] คำว่า มีจิตไม่พัวพันในสกุล ความว่า ภิกษุเป็นผู้มีจิตพัวพันด้วยเหตุ ๒ ประการ
คือ เป็นผู้ตั้งตนไว้ต่ำตั้งผู้อื่นไว้สูง มีจิตพัวพัน ๑ เป็นผู้ตั้งตนไว้สูงตั้งผู้อื่นไว้ต่ำ มีจิตพัวพัน ๑.
	ภิกษุเป็นผู้ตั้งตนไว้ต่ำตั้งผู้อื่นไว้สูงมีจิตพัวพันอย่างไร? ภิกษุกล่าวว่า ท่านทั้งหลายมีอุปการะ
แก่อาตมามาก. อาตมาได้ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะอาศัย
ท่านทั้งหลาย คนอื่นๆ อาศัยท่านทั้งหลาย เห็นแก่ท่านทั้งหลาย จึงสำคัญเพื่อจะให้หรือเพื่อจะ
ทำแก่อาตมา. ชื่อและวงศ์สกุลของโยมมารดาโยมบิดาเก่าของอาตมาเสื่อมไปแล้ว. อาตมาย่อมได้
ว่า เราเป็นกุลุปกะของอุบาสกโน้น เราเป็นกุลุปกะของอุบาสิกาโน้น เพราะท่านทั้งหลาย. ภิกษุ
เป็นผู้ตั้งตนไว้ต่ำตั้งผู้อื่นไว้สูงมีจิตพัวพันอย่างนี้.
	ภิกษุเป็นผู้ตั้งตนไว้สูงตั้งผู้อื่นไว้ต่ำมีจิตพัวพันอย่างไร? ภิกษุกล่าวว่า อาตมามีอุปการะ
มากแก่ท่านทั้งหลาย. ท่านทั้งหลายอาศัยอาตมาจึงได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็น
สรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม การพูด
เท็จ และการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท. อาตมาให้อุเทศ ให้ปริปุจฉา
บอกอุโบสถ อธิษฐานนวกรรม แก่ท่านทั้งหลาย. ก็เมื่อเป็นดังนั้น ท่านทั้งหลายสละอาตมาแล้ว
ย่อมสักการะเคารพนับถือบูชาผู้อื่น. ภิกษุเป็นผู้ตั้งตนไว้สูงตั้งผู้อื่นไว้ต่ำ มีจิตพัวพันอย่างนี้.
	คำว่า มีจิตไม่พัวพันในสกุล ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น มีจิตไม่พัวพันด้วย
ความกังวลในสกุล คณะ อาวาส จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า มีจิตไม่พัวพันในสกุล พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าไม่ทำความติดใจในรสทั้งหลาย ไม่มีตัณหา
		อันเป็นเหตุให้เหลวไหล ไม่เลี้ยงผู้อื่น เที่ยวไปตามลำดับตรอก
		มีจิตไม่พัวพันในสกุล พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๘๔] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละแล้วซึ่งเครื่องกั้นจิต ๕ ประการ สลัด
		เสียแล้วซึ่งกิเลสเครื่องเศร้าหมองจิตทั้งปวง อันตัณหาและทิฏฐิ
		ไม่อาศัย ตัดเสียแล้วซึ่งความรักและความชัง พึงเที่ยวไปผู้เดียว
		เหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๘๕] คำว่า ละแล้วซึ่งเครื่องกั้นจิต ๕ ประการ ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
ละ สละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีซึ่งกามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธ-
*นิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน
มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ละแล้วซึ่งเครื่องกั้นจิต
๕ ประการ.
	[๗๘๖] ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวง
(แต่ละอย่าง) ชื่อว่า เครื่องเศร้าหมองของจิต ในอุเทศว่า อุปกฺกิเลเส พฺยปนุชฺช สพฺเพ
ดังนี้.
	คำว่า สลัดเสียแล้วซึ่งกิเลสเครื่องเศร้าหมองจิตทั้งปวง ความว่า สลัด บรรเทา ละ
กำจัด ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวงของจิต เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า สลัดเสียแล้วซึ่งกิเลสเครื่องเศร้าหมองของจิตทั้งปวง.
	[๗๘๗] นิสัย ในคำว่า ผู้อันตัณหาทิฏฐิไม่อาศัย ในอุเทศว่า อนิสฺสิโต เฉตฺวา
เสนฺหโทสํ ดังนี้ มี ๒ อย่าง คือ ตัณหานิสัย ๑ ทิฏฐินิสัย ๑. ฯลฯ นี้ชื่อว่าตัณหานิสัย. ฯลฯ
นี้ชื่อว่าทิฏฐินิสัย. ชื่อว่า ความรัก ได้แก่ความรัก ๒ อย่าง คือ ความรักด้วยอำนาจตัณหา ๑
ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ ๑. ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจตัณหา. ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรักด้วย
อำนาจทิฏฐิ. ชื่อว่า ความชัง คือ ความปองร้าย ความมุ่งร้าย ความขัดเคือง ความโกรธตอบ
ความเคือง ความเคืองทั่วไป ความเคืองเสมอ ความชัง ความชังทั่วไป ความชังเสมอแห่งจิต
ความพยาบาทแห่งจิต ความประทุษร้ายในใจ ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ความเป็นผู้โกรธ
ความชัง กิริยาที่ชัง ความเป็นผู้ชัง ความพยาบาท กิริยาที่พยาบาท ความเป็นผู้พยาบาท
ความพิโรธ ความพิโรธตอบ ความเป็นผู้ดุร้าย ความแค้นใจถึงน้ำตาไหล ความไม่พอใจ.
	คำว่า อันตัณหาทิฏฐิไม่อาศัย ตัดแล้วซึ่งความรักและความชัง ความว่า พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้น ตัด ตัดขาด ตัดขาดสิ้น บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง
ซึ่งความรักด้วยอำนาจตัณหา ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ และความชัง อันตัณหาทิฏฐิ ไม่อาศัยตา
ไม่อาศัยหู ฯลฯ ไม่อาศัยรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ และธรรมารมณ์ที่จะพึง
รู้แจ้ง ไม่พัวพัน ไม่เข้าถึง ไม่ติดใจ ไม่น้อมใจไป ออกไป สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง
มีใจอันทำให้ปราศจากเขตแดนอยู่ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า อันตัณหาทิฏฐิไม่อาศัย ตัดแล้วซึ่ง
ความรักและความชัง พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ละแล้วซึ่งเครื่องกั้นจิต ๕ ประการ
		สลัดเสียแล้วซึ่งกิเลสเครื่องเศร้าหมองจิตทั้งปวง อันตัณหา
		ทิฏฐิไม่อาศัย ตัดเสียแล้วซึ่งความรักและความชัง พึงเที่ยว
		ไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๘๘] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละสุข ทุกข์ โสมนัสและโทมนัส
		ก่อนๆ แล้ว ได้อุเบกขาและสมถะอันหมดจดวิเศษแล้ว
		พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๘๙] คำว่า ละสุข ทุกข์ โสมนัสและโทมนัสก่อนๆ แล้ว ความว่า พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้น บรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส
โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ละสุข ทุกข์
โสมนัสและโทมนัสก่อนๆ แล้ว.
	[๗๙๐] ความวางเฉย กิริยาที่วางเฉย กิริยาที่หยุดเฉย ความที่จิตระงับ ความที่จิต
เป็นกลาง ในจตุตถฌาน ชื่อว่า อุเบกขา ในอุเทศว่า ลทฺธานุเปกฺขํ สมถํ วิสุทฺธํ ดังนี้.
	ความตั้งอยู่ ความดำรงอยู่ ความหยุดอยู่ ความไม่ส่าย ความไม่ฟุ้งแห่งจิต ความ
แน่วแน่ ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ ชื่อว่าสมถะ.
	อุเบกขาในจตุตถฌาน และสมถะเป็นความหมดจด เป็นความหมดจดวิเศษ เป็นความ
ขาวผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นธรรมชาติอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น
ถึงความไม่หวั่นไหว.
	คำว่า ได้อุเบกขาและสมถะอันหมดจดวิเศษ ความว่า ได้ ได้แล้วซึ่งอุเบกขาในจตุตถฌาน
และสมถะ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ได้อุเบกขาและสมถะอันหมดจดวิเศษ พึงเที่ยวไปผู้เดียว
เหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ละสุข ทุกข์ โสมนัสและโทมนัส
		ก่อนๆ แล้ว ได้อุเบกขาและสมถะอันหมดจดวิเศษแล้ว
		พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๙๑] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ปรารภความเพียร เพื่อถึงปรมัตถ-
		ประโยชน์ มีจิตมิได้ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน
		มีความพยายามมั่นคง เข้าถึงด้วยเรี่ยวแรงและกำลัง พึง
		เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๙๒] อมตนิพพาน ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้น
ตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด ท่านกล่าวว่า
ปรมัตถประโยชน์ ในอุเทศว่า อารทฺธวิริโย ปรมตฺถปตฺติยา ดังนี้.
	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นปรารภความเพียร เพื่อถึง คือ เพื่อได้ เพื่อได้เฉพาะ เพื่อ
บรรลุ เพื่อถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งปรมัตถประโยชน์ มีเรี่ยวแรง มีความบากบั่นมั่นคง เพื่อ
ละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า
ปรารภความเพียรเพื่อถึงปรมัตถประโยชน์.
	[๗๙๓] คำว่า มีจิตไม่ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน ความว่า พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้น ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้
อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้
กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์
เพื่อความเจริญบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า มีจิตไม่ย่อหย่อน
มีความประพฤติไม่เกียจคร้านด้วยอาการอย่างนี้.
	อีกอย่างหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิตตั้งจิตไว้ว่า เนื้อและเลือดจงเหือดแห้ง
ไป จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที เรายังไม่ได้บรรลุอิฐผลที่การกบุคคลจะพึง
บรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่น
ของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรเลย. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน มีความ
ประพฤติไม่เกียจคร้าน แม้ด้วยอาการอย่างนี้. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ประคองจิตตั้งจิตไว้ว่า
เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้ ตราบเท่าเวลาที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น.
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน แม้ด้วยอาการ
อย่างนี้. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ประคองจิตตั้งจิตไว้ว่า
		เราจักไม่กิน จักไม่ดื่ม ไม่ออกจากวิหารและจักไม่เอนข้าง
		ลงนอน เมื่อยังถอนลูกศรคือตัณหาไม่ได้.
	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน แม้
ด้วยอาการอย่างนี้. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ประคองจิตตั้งจิตไว้ว่า เราจะไม่ลุกจากอาสนะนี้
ตราบเท่าเวลาที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. พระปัจเจกสัมพุทธ-
*เจ้านั้น ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน แม้ด้วยอาการอย่างนี้. พระ-
*ปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นประคองจิตตั้งจิตไว้ว่า เราจักไม่ลงจากที่จงกรมนี้ จักไม่ออกจากวิหารนี้
จักไม่ออกจากเพิงนี้ จักไม่ออกจากปราสาทนี้ จักไม่ออกจากเรือนโล้นนี้ จักไม่ออกจากถ้ำนี้
จักไม่ออกจากที่เร้นนี้ จักไม่ออกจากกระท่อมนี้ จักไม่ออกจากเรือนยอดนี้ จักไม่ออกจากไม้
แคร่นี้. จักไม่ออกจากโรงนี้ จักไม่ออกจากที่พักนี้ จักไม่ออกจากหอฉันนี้ จักไม่ออกจาก
มณฑปนี้ จักไม่ออกจากโคนไม้นี้ ตราบเท่าเวลาที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่
ถือมั่น. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน
แม้ด้วยอาการอย่างนี้. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ประคองจิตตั้งจิตไว้ว่า ในเช้าวันนี้นี่แหละ
เราจักนำมา จักนำมาด้วยดี จักบรรลุ จักถูกต้อง จักทำให้แจ้งซึ่งอริยธรรม. พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน แม้ด้วยอาการอย่างนี้.
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ประคองจิตตั้งจิตไว้ว่า ในเที่ยงวันนี้นี่แหละ ในเย็นวันนี้นี่แหละ
ในเวลาก่อนอาหารวันนี้นี่แหละ ในเวลาหลังอาหารวันนี้นี่แหละ ในยามต้นนี้แหละ ในยาม
กลางนี้แหละ ในยามหลังนี้แหละ ในข้างแรมนี้แหละ ในข้างขึ้นนี้แหละ ในฤดูฝนนี้แหละ
ในฤดูหนาวนี้แหละ ในฤดูร้อนนี้แหละ ในตอนวัยต้นนี้แหละ ในตอนวัยกลางนี้แหละ ใน
ตอนวัยหลังนี้แหละ เราจักนำมา จักนำมาด้วยดี จักบรรลุ จักถูกต้อง จักทำให้แจ้งซึ่ง
อริยธรรม พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน
แม้ด้วยอาการอย่างนี้.
	[๗๙๔] คำว่า มีความพยายามมั่นคง ในอุเทศว่า ทฬฺหนิกฺกโม ถามพลูปปนฺโน ดังนี้
ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั่นมีสมาทานมั่น มีสมาทานแน่วแน่ ในกุศลธรรมทั้งหลาย คือ
ในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต การแจกทาน การสมาทานศีล การรักษาอุโบสถ ความ
เป็นผู้เกื้อกูลแก่มารดา ความเป็นผู้เกื้อกูลแก่บิดา ความเป็นผู้เกื้อกูลแก่สมณะ ความเป็นผู้
เกื้อกูลแก่พราหมณ์ ความประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล และในกุศลธรรมอื่นๆ ที่ยิ่งขึ้นไป
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีความพยายามมั่นคง.
	คำว่า เข้าถึงด้วยเรี่ยวแรงและกำลัง ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เข้าไป
เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบด้วยเรี่ยวแรง กำลัง ความเพียร
ความบากบั่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีความพยายาม มั่นคง มีความเข้าถึงด้วยเรี่ยวแรงและกำลัง
พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ปรารภความเพียร เพื่อถึงปรมัตถ-
		ประโยชน์ มีจิตมิได้ย่อหย่อน มีความประพฤติมิได้
		เกียจคร้าน มีความพยายามมั่นคง เข้าถึงด้วยเรี่ยวแรงและ
		กำลัง พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๙๕] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ไม่ละวิเวกและฌาน ประพฤติธรรม
		สมควร ในธรรมทั้งหลายเป็นนิตย์ พิจารณาเห็นโทษในภพ
		ทั้งหลาย พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๙๖] คำว่า ไม่ละวิเวกและฌาน ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นผู้ชอบ
วิเวก ยินดีในวิเวก ประกอบความสงบจิต ณ ภายในเนืองๆ ไม่ห่างจากฌาน ไม่ละฌาน คือ
ประกอบ ประกอบทั่ว ประกอบพร้อม หมั่นประกอบ หมั่นประกอบพร้อม เพื่อความเกิดขึ้น
แห่งปฐมฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อความเกิดขึ้นแห่งทุติยฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อความเกิดขึ้นแห่ง
ตติยฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือเพื่อความเกิดขึ้นแห่งจตุตถฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงชื่อว่า ไม่ละฌานด้วยอาการอย่างนี้.
	อีกอย่างหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมทำให้มาก ซึ่ง
ปฐมฌานที่เกิดขึ้นแล้ว ทุติยฌานที่เกิดขึ้นแล้ว ตติยฌานที่เกิดขึ้นแล้ว หรือจตุตถฌานที่เกิดขึ้น
แล้ว เพราะฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงชื่อว่า ไม่ละฌานแม้ด้วยอาการอย่างนี้ เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า ไม่ละวิเวกและฌาน.
	[๗๙๗] สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘ ท่านกล่าวว่า ธรรมในอุเทศว่า
ธมฺเมสุ นิจฺจํ อนุธมฺมจารี ดังนี้.
	ธรรมอันสมควรเป็นไฉน? ความปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร ความปฏิบัติไม่เป็น
ข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ความเป็นผู้ทำให้
บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้ประมาณใน
โภชนะ ความประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ เหล่านี้ท่านกล่าวว่า ธรรม
อันสมควร.
	คำว่า ประพฤติธรรมอันสมควรในธรรมทั้งหลายเป็นนิตย์ ความว่า พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้น ประพฤติ ปฏิบัติ ดำเนิน เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา ในธรรมทั้งหลาย
ตลอดกาลเป็นนิตย์ คือ ติดต่อเนืองๆ ต่อลำดับไม่สับสน เนื่องกันกระทบกัน เหมือนละลอกน้ำ
เป็นคลื่นสืบต่อกระทบเนื่องกันไป ในเวลาก่อนอาหาร ในเวลาหลังอาหาร ในยามต้น ในยาม
กลาง ในยามหลัง ในข้างแรม ในข้างขึ้น ในฤดูฝน ในฤดูหนาว ในฤดูร้อน ในตอนวัยต้น
ในตอนวัยกลาง ในตอนวัยหลัง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ประพฤติธรรมอันสมควรในธรรมทั้งหลาย
ตลอดกาลเป็นนิตย์.
	[๗๙๘] คำว่า พิจารณาเห็นโทษในภพทั้งหลาย ความว่า พิจารณาเห็นโทษในภพทั้งหลาย
ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นโทษในภพทั้งหลายพึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระ-
*ปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าไม่ละวิเวกและฌาน ประพฤติธรรม
		สมควร ในธรรมทั้งหลายเป็นนิตย์ พิจารณาเห็นโทษในภพ
		ทั้งหลาย พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๗๙๙] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท
		ไม่โง่เขลา มีสุตะ มีสติ มีธรรมอันนับพร้อมแล้ว มีธรรม
		อันแน่นอน มีความเพียร พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
		ฉะนั้น.
	[๘๐๐] รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา
ชื่อว่า ตัณหา ในอุเทศว่า ตณฺหกฺขยํ ปตฺถยํ อปฺปมตฺโต ดังนี้.
	คำว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา ความว่า ปรารถนา จำนง ประสงค์ซึ่งความสิ้นราคะ
ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ความสิ้นคติ ความสิ้นอุปบัติ ความสิ้นปฏิสนธิ ความสิ้นภพ
ความสิ้นสงสาร ความสิ้นวัฏฏะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา.
	คำว่า ไม่ประมาท ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ทำโดยเอื้อเฟื้อ ทำโดยติดต่อ
ฯลฯ ไม่ประมาทในกุศลธรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ปรารถนา ความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท.
	[๘๐๑] คำว่า ไม่โง่เขลา ในอุเทศว่า อเนลมูโค สุตฺวา สติมา ดังนี้ ความว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเป็นเครื่องรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง
มีปัญญาทำลายกิเลส เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่โง่เขลา.
	คำว่า มีสุตะ ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็นพหุสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมสุตะ
คือ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรม
ทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ประกาศ
พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีสุตะ.
	คำว่า มีสติ ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติรอบคอบ
อย่างยิ่ง ระลึกถึงกิจที่ทำและคำที่พูดแล้ว แม้นานได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่โง่เขลา มีสุตะ
มีสติ.
	[๘๐๒] ญาณ ปัญญา ความรู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
ท่านกล่าวว่า สังขตธรรม ในอุเทศว่า สงฺขตธมฺโม นิยโต ปธานวา ดังนี้.
	คำว่า มีธรรมอันนับพร้อมแล้ว ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นมีธรรมอันนับพร้อม
แล้ว มีธรรมอันรู้แล้ว มีธรรมอันเทียบเคียงแล้ว มีธรรมอันพิจารณาแล้ว มีธรรมอันเป็นแจ้งแล้ว
มีธรรมแจ่มแจ้งแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา.
	อีกอย่างหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นพิจารณาขันธ์แล้ว พิจารณาธาตุแล้ว พิจารณา
อายตนะแล้ว พิจารณาคติแล้ว พิจารณาอุปบัติแล้ว พิจารณาปฏิสนธิแล้ว พิจารณาภพแล้ว
พิจารณาสังขารแล้ว พิจารณาวัฏฏะแล้ว.
	อีกอย่างหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าตั้งอยู่ในขันธ์เป็นที่สุด ในธาตุเป็นที่สุด ในอายตนะ
เป็นที่สุด ในคติเป็นที่สุด ในอุปบัติเป็นที่สุด ในปฏิสนธิเป็นที่สุด ในภพเป็นที่สุด ในสงสาร
เป็นที่สุด ในวัฏฏะเป็นที่สุด ในสังขารเป็นที่สุด ในภพที่สุด พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทรงไว้
ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด.
		พระขีณาสพใดมีภพเป็นที่สุด มีอัตภาพ มีสงสารคือชาติ
		ชราและมรณะ ครั้งหลังสุด พระขีณาสพนั้นไม่มีในภพ
		ใหม่.
	เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีธรรมอันนับพร้อมแล้ว.
	อริยมรรค ๔ ท่านกล่าวว่า ธรรมอันแน่นอน ในคำว่า นิยโต นี้ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
ประกอบด้วยอริยมรรค ๔ ชื่อว่ามีธรรมอันแน่นอน คือ ถึงพร้อม ถูกต้อง ทำให้แจ้ง ซึ่งนิยาม-
*ธรรมด้วยอริยมรรคทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีธรรมอันแน่นอน.
	ความเพียร ความปรารภความเพียร ความก้าวหน้า ความบากบั่น ความหมั่น ความ
เป็นผู้มีความหมั่น เรี่ยวแรง ความพยายามแห่งจิต ความบากบั่นอันไม่ย่อหย่อน ความเป็น
ผู้ไม่ทอดฉันทะ ความเป็นผู้ไม่ทอดธุระ ความประคองธุระ วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ
สัมมาวายามะ ท่านกล่าวว่า ปธาน ในคำว่า ปธานวา.
	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง
เข้าถึงพร้อม ประกอบด้วยความเพียรนี้ เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงชื่อว่า
มีความเพียร. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีธรรมอันนับพร้อมแล้ว มีธรรมอันแน่นอน มีความเพียร
พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท
		ไม่โง่เขลา มีสุตะ มีสติ มีธรรมอันนับพร้อมแล้ว มีธรรม
		อันแน่นอน มีความเพียร พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
		ฉะนั้น.
	[๘๐๓] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ไม่สะดุ้งในเพราะเสียงเหมือนสีหะ
		ไม่ข้อง เหมือนลมไม่ติดที่ตาข่าย ไม่ติดอยู่ เหมือนดอก
		บัวอันน้ำไม่ติด พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๘๐๔] คำว่า ไม่สะดุ้งในเพราะเสียง เหมือนสีหะ ความว่า สีหมฤคราชไม่หวาดหวั่น
ไม่ครั่นคร้าน ไม่สะทกสะท้าน ไม่ตกใจ ไม่สยดสยอง ไม่สะดุ้ง ไม่ขลาด ไม่พรั่นพรึง ไม่
หวาดเสียว ไม่หนีไปในเพราะเสียงทั้งหลาย ฉันใด แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็ฉันนั้น เป็นผู้
ไม่หวาดหวั่น ไม่ครั่นคร้าม ไม่สะทกสะท้าน ไม่ตกใจ ไม่สยดสยอง ไม่สะดุ้ง ไม่ขลาด
ไม่มีความพรั่นพรึง ไม่หวาดเสียว ไม่หนี ละความกลัวความขลาดแล้ว ปราศจากขนลุกขนพอง
อยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่สะดุ้งในเพราะเสียง เหมือนสีหะ.
	[๘๐๕] ลมทิศตะวันออก ลมทิศตะวันตก ลมทิศเหนือ ลมทิศใต้ ลมมีธุลี ลมเย็น
ลมร้อน ลมน้อย ลมมาก ลมพัดตามกาล ลมหัวด้วน ลมแต่ปีกนก ลมแต่ครุฑ ลมแต่
ใบตาล ลมแต่พัด ชื่อว่า ลม ในอุเทศว่า วาโตว ชาลมฺหิ อสชฺชมาโน ดังนี้.
	ข่ายที่ทำด้วยด้าย ท่านกล่าวว่า ชาละ. ลมไม่ข้อง ไม่ติด ไม่ขัด ไม่เกาะที่ตาข่าย
ฉันใด ข่าย ๒ อย่าง คือ ข่ายตัณหา ๑ ข่ายทิฏฐิ ๑. ฯลฯ ชื่อว่าข่ายตัณหา. นี้ชื่อว่าข่ายทิฏฐิ.
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละข่ายตัณหา สละคืนข่ายทิฏฐิแล้ว. เพราะละข่ายตัณหา เพราะสละ
คืนข่ายทิฏฐิแล้ว พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงไม่ข้อง ไม่ติด ไม่ขัด ไม่เกาะ ในรูป เสียง ฯลฯ
ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ และธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้ง เป็นผู้ออกไป
สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง มีใจอันทำให้ปราศจากเขตแดนอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน.
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่ข้อง เหมือนลมไม่ข้องอยู่ที่ตาข่าย.
	[๘๐๖] ดอกบัว ท่านกล่าวว่า ปทุมํ ในอุเทศว่า ปทุมํ ว โตเยน อลิมฺปมาโน ดังนี้.
น้ำท่านกล่าวว่า โตยะ. ดอกปทุมอันน้ำย่อมไม่ติด ไม่เอิบอาบ ไม่ซึมซาบ ฉันใด. ความติด ๒
อย่าง คือ ความติดด้วยตัณหา ๑ ความติดด้วยทิฏฐิ ๑. ฯลฯ นี้ชื่อว่าความติดด้วยตัณหา. ฯลฯ
นี้ชื่อว่าความติดด้วยทิฏฐิ. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละความติดด้วยตัณหา สละคืนความติดด้วย
ทิฏฐิเสียแล้ว. เพราะละความติดด้วยตัณหา เพราะสละคืนความติดด้วยทิฏฐิ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
นั้นจึงไม่ติด ไม่เข้าไปติด ไม่ฉาบ ไม่เข้าไปฉาบ ในรูป เสียง ฯลฯ ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่
ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ และธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้ง เป็นผู้ออกไป สลัดออก หลุดพ้น ไม่
เกี่ยวข้อง มีใจอันทำให้ปราศจากเขตแดนอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่
ติดเหมือนดอกบัวอันน้ำไม่ติด พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระ-
*ปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าไม่สะดุ้งในเพราะเสียง เหมือนสีหะ
		ไม่ข้อง เหมือนลมไม่ติดตาข่าย ไม่ติดเหมือนดอกบัวอัน
		น้ำไม่ติด พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๘๐๗] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ามีปัญญาเป็นกำลัง ข่มขี่ครอบงำสัตว์
		ทั้งหลายเที่ยวไป เหมือนสีหราช มีเขี้ยวเป็นกำลัง ปราบ
		ปรามครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป ฉะนั้น. พระปัจเจก-
		สัมพุทธเจ้านั้น พึงเสพซึ่งเสนาสนะอันสงัด พึงเที่ยวไป
		ผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๘๐๘] คำว่า เหมือนสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง ปราบปรามครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป
ความว่า สีหมฤคราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง คือ มีเขี้ยวเป็นอาวุธ ข่มขี่ ครอบงำ ปราบปราม กำจัด ย่ำยี
ซึ่งสัตว์ดิรัจฉานทั้งปวง เที่ยวไป ท่องเที่ยวไป ดำเนิน เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา ฉันใด
แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีปัญญาเป็นกำลัง คือ มีปัญญาเป็นอาวุธ ข่มขี่
ครอบงำ ปราบปราม กำจัด ย่ำยี ซึ่งสัตว์ทั้งปวงด้วยปัญญาเที่ยวไป ท่องเที่ยวไป ดำเนินไป
เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง ปราบปราม
ครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป.
	[๘๐๙] คำว่า พึงเสพเสนาสนะอันสงัด ความว่า สีหมฤคราชเข้าไปสู่ราวป่าอันสงัด
เที่ยวไป ท่องเที่ยวไป ดำเนินไป เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา ฉันใด แม้พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ซ่องเสพเสนาสนะอันเป็นป่ารกชัฏ สงัด เงียบสงัด ไม่มีเสียง
กึกก้อง ปราศจากคนสัญจรไปมา ควรแก่การทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออกเร้น.
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าบ้านบิณฑบาตผู้เดียว
กลับผู้เดียว นั่งในที่ลับผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว เป็นผู้เดียวเที่ยวไป ท่องเที่ยวไป ดำเนิน
ไป เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเสพเสนาสนะอันสงัด พึง
เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ามีปัญญาเป็นกำลัง ข่มขี่ ครอบงำสัตว์
		ทั้งหลายเที่ยวไป เหมือนสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง ปราบ
		ปรามครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป ฉะนั้น พระปัจเจก-
		สัมพุทธเจ้านั้น พึงเสพเสนาสนะอันสงัด พึงเที่ยวไปผู้เดียว
		เหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๘๑๐] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ซ่องเสพเมตตา กรุณา มุทิตาและ
		อุเบกขาอันเป็นวิมุติ ตลอดเวลา อันสัตว์โลกทั้งมวลมิได้
		เกลียดชัง พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๘๑๑] คำว่า ซ่องเสพเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอันเป็นวิมุติ ตลอดเวลา
ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นมีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศที่หนึ่งอยู่ ทิศที่สอง
ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หา
ประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นมีใจประกอบด้วย
กรุณา ... มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศที่หนึ่งอยู่ ทิศที่
สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่
หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ซ่องเสพเมตตา
กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอันเป็นวิมุติ ตลอดเวลา.
	[๘๑๒] พึงทราบวินิจฉัยในข้อว่า อันสัตว์โลกทั้งมวลมิได้เกลียดชังดังต่อไปนี้ เพราะ
เป็นผู้เจริญเมตตาเป็นต้น สัตว์ทั้งหลายในทิศตะวันออกจึงไม่เกลียดชัง สัตว์ทั้งหลายในทิศ
ตะวันตก ในทิศเหนือ ในทิศใต้ ในทิศอาคเนย์ ในทิศพายัพ ในทิศอีสาน ในทิศหรดี ใน
ทิศเบื้องล่าง ในทิศเบื้องบน ในทิศน้อยทิศใหญ่ทั้ง ๑๐ ทิศ ไม่เกลียดชัง.
	คำว่า อันสัตว์โลกทั้งมวลมิได้เกลียดชัง ความว่า อันสัตว์โลกทั้งหมดมิได้เกลียด มิได้
โกรธ มิได้เสียดสี มิได้กระทบกระทั่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อันสัตว์โลกทั้งมวลมิได้เกลียดชัง
พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ซ่องเสพเมตตา กรุณา มุทิตา และ
		อุเบกขาอันเป็นวิมุติ ตลอดเวลา อันสัตว์โลกทั้งมวลมิได้
		เกลียดชัง พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๘๑๓] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละแล้วซึ่งราคะ โทสะ โมหะ ทำลาย
		เสียแล้วซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต พึง
		เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๘๑๔] ความกำหนัด ความกำหนัดหนัก ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ชื่อว่า
ราคะ ในอุเทศว่า ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ ดังนี้. จิตอาฆาต ฯลฯ ความเป็นผู้ดุร้าย
ความแค้นใจจนถึงน้ำตาไหล ความไม่พอใจ ชื่อว่า โทสะ. ความไม่รู้ทุกข์ ฯลฯ อวิชชา
เป็นบ่วง ความหลงใหล อกุศลมูล ชื่อว่า โมหะ. คำว่า ละแล้วซึ่งราคะ โทสะ และโมหะ
ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละ สละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง
ซึ่งราคะ โทสะ และโมหะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ละแล้วซึ่งราคะ โทสะ และโมหะ.
	[๘๑๕] สังโยชน์ ในอุเทศว่า ทำลายเสียแล้วซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย ดังนี้ มี ๑๐ ประการ
คือ กามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ ฯลฯ อวิชชาสังโยชน์. คำว่า ทำลายเสียแล้วซึ่งสังโยชน์
ทั้งหลาย ความว่า ทำลาย ทำลายทั่ว ทำลายพร้อม ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความ
ไม่มีในภายหลัง ซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทำลายเสียแล้วซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย.
	[๘๑๖] คำว่า ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นไม่หวาด-
*เสียว ไม่หวาดหวั่น ไม่ครั่นคร้าม ไม่สะดุ้ง ไม่ตกใจ ไม่สยดสยอง ไม่พรั่น ไม่กลัว ไม่
สะทกสะท้าน ไม่หนี ละความกลัวความขลาดแล้ว ปราศจากขนลุกขนพอง ในเวลาสิ้นสุด
ชีวิต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละแล้วซึ่งราคะ โทสะ โมหะ ทำลาย
		เสียแล้วซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต พึง
		เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๘๑๗] 	มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ จึงจะคบหาสมาคมด้วย.
		มิตรในวันนี้ไม่มีเหตุหาได้ยาก. มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่ง
		ประโยชน์ตน เป็นคนไม่สะอาด. (เพราะฉะนั้น) พึง
		เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
	[๘๑๘] คำว่า มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ จึงจะคบหาสมาคมด้วย ความว่า
มิตรทั้งหลายมีประโยชน์ตนเป็นเหตุ มีประโยชน์ผู้อื่นเป็นเหตุ มีประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเป็นเหตุ
มีประโยชน์ในปัจจุบันเป็นเหตุ มีประโยชน์ในสัมปรายภพเป็นเหตุ มีประโยชน์อย่างยิ่งเป็นเหตุ
จึงจะคบหา สมคบ เสพ สมาคมด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ
จึงจะคบหาสมาคมด้วย.
	[๘๑๙] มิตร ในอุเทศว่า มิตรในวันนี้ ไม่มีเหตุหาได้ยาก มี ๒ จำพวก คือ มิตร-
*คฤหัสถ์ ๑ มิตรบรรพชิต ๑. ฯลฯ นี้ชื่อว่ามิตรคฤหัสถ์. ฯลฯ นี้ชื่อว่ามิตรบรรพชิต. คำว่า มิตร
ในวันนี้ ไม่มีเหตุหาได้ยาก ความว่า มิตร ๒ จำพวกนี้ ไม่มีการณะ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย
หาได้ยาก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มิตรในวันนี้ ไม่มีเหตุหาได้ยาก.
	[๘๒๐] คำว่า มีปัญญามุ่งประโยชน์ตน ในอุเทศว่า อตฺตตฺถปญฺญา อสุจี มนุสฺสา
ดังนี้ ความว่า มนุษย์ทั้งหลายย่อมคบ สมคบ เสพ เสพด้วย ซ่องเสพ เอื้อเฟื้อ ประพฤติ
เอื้อเฟื้อ เข้านั่งใกล้ ไต่ถาม สอบถาม เพื่อประโยชน์ตน เพราะเหตุแห่งตน เพราะปัจจัย
แห่งตน เพราะการณะแห่งตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีปัญญามุ่งประโยชน์ตน.
	คำว่า มนุษย์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่สะอาด ความว่า มนุษย์ทั้งหลายเป็นผู้ประกอบด้วย
กายกรรมอันไม่สะอาด วจีกรรมอันไม่สะอาด มโนกรรมอันไม่สะอาด ปาณาติบาตอันไม่สะอาด
อทินนาทานอันไม่สะอาด กาเมสุมิจฉาจารอันไม่สะอาด มุสาวาทอันไม่สะอาด ปิสุณาวาจาอัน
ไม่สะอาด ผรุสวาจาอันไม่สะอาด สัมผัปปลาปะอันไม่สะอาด อภิชฌาอันไม่สะอาด พยาบาท
อันไม่สะอาด มิจฉาทิฏฐิอันไม่สะอาด เจตนาอันไม่สะอาด ความปรารถนาอันไม่สะอาด ความ
ตั้งใจอันไม่สะอาด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ไม่สะอาด คือ เป็นคนเลว เลวลง เป็นคน
ทราม ต่ำช้า ลามก ชั่วช้า ชาติชั่ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่งประโยชน์ตน
เป็นคนไม่สะอาด.
	[๘๒๑] คำว่า ผู้เดียว ในอุเทศว่า เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป ดังนี้ ฯลฯ. จริยา
(การเที่ยวไป) ในคำว่า จเร ดังนี้ มี ๘ อย่าง ฯลฯ. ชื่อว่าพึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
		มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ จึงคบหาสมาคมด้วย.
		มิตรในวันนี้ไม่มีเหตุ หาได้ยาก. มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่ง
		ประโยชน์ตน เป็นคนไม่สะอาด. (เพราะฉะนั้น) พึงเที่ยว
		ไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
จบ ขัคควิสาณสุตตนิทเทส.
-----------------------------------------------------
ก็แหละนิทเทสแห่งพราหมณ์ผู้ถึงฝั่งในศาสนา ๑๖ คนนี้ คือ อชิตพราหมณ์ ๑ ติสสเมตเตยยพราหมณ์ ๑ ปุณเณก- พราหมณ์ ๑ เมตตคูพราหมณ์ ๑ โธตกพราหมณ์ ๑ อุปสีวพราหมณ์ ๑ นันทพราหมณ์ ๑ เหมกพราหมณ์ ๑ โตเทยยพราหมณ์ ๑ กัปปพราหมณ์ ๑ ชตุกัณณีพราหมณ์ ผู้เป็นบัณฑิต ๑ ภัทราวุธพราหมณ์ ๑ อุทยพราหมณ์ ๑ โปสาลพราหมณ์ ๑ โมฆราชพราหมณ์ผู้นักปราชญ์ ๑ ปิงคิยพราหมณ์ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ๑ รวมเป็น ๑๖ นิทเทส และในปารายนวรรคนั้น ยังมีขัคควิสาณสุตตนิทเทสอีก ๑ นิทเทส ๒ อย่างควรรู้ บริบูรณ์ ท่านลิขิตไว้เรียบร้อยดี.
จบ สุตตนิทเทสบริบูรณ์.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๗๔๓๘-๘๑๖๕ หน้าที่ ๓๐๑-๓๓๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=30&A=7438&Z=8165&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=30&A=7438&w=๏ฟฝุท๏ฟฝวจ๏ฟฝ&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=30&siri=37              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=663              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=30&A=6601#754top              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=30&A=6601#754top              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_30

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]