ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
             ผู้มีปฏิภาณในปริยัติเป็นไฉน? พุทธวจนะ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา
อุทาน อิติวุตตกา ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ อันบุคคลบางคนในศาสนานี้เล่าเรียนแล้ว.
ปฏิภาณของบุคคลนั้นย่อมแจ่มแจ้งเพราะอาศัยปริยัติ. บุคคลนี้ชื่อว่า มีปฏิภาณในปริยัติ.
	ผู้มีปฏิภาณในปริปุจฉาเป็นไฉน? บุคคลบางคนในศาสนานี้เป็นผู้สอบถามในอรรถ
ในมรรค ในลักขณะ ในเหตุ ในฐานะและอฐานะ. ปฏิภาณของบุคคลนั้น ย่อมแจ่มแจ้ง
เพราะอาศัยปริปุจฉา. บุคคลนี้ชื่อว่า มีปฏิภาณในปริปุจฉา.
	ผู้มีปฏิภาณในอธิคมเป็นไฉน? บุคคลบางคนในศาสนานี้เป็นผู้บรรลุซึ่งสติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรค ๔
สามัญญผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖. บุคคลนั้นรู้อรรถแล้ว ธรรมก็รู้แล้ว นิรุติก็รู้แล้ว.
เมื่อรู้อรรถ อรรถก็แจ่มแจ้ง เมื่อรู้ธรรม ธรรมก็แจ่มแจ้ง เมื่อรู้นิรุติ นิรุติก็แจ่มแจ้ง. ญาณใน
ฐานะ ๓ นี้ เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทา.
	พระผู้มีพระภาคไปถึง ไปถึงพร้อม มาถึง มาถึงพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ทรงประกอบ
ด้วยปฏิสัมภิทานี้ เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่า มีปฏิภาณ. บุคคลใดไม่มีปริยัติ
ปริปุจฉาก็ไม่มี อธิคมก็ไม่มี ปฏิภาณของบุคคลนั้นจักแจ่มแจ้งได้อย่างไร? เพราะฉะนั้น พระ-
*สัมพุทธเจ้า จึงชื่อว่า ไม่มีหลักตอ มีปฏิภาณ. เพราะเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า
		ข้าพระองค์นี้ ได้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้วย่อมเลื่อมใส
		อย่างยิ่ง. พระสัมพุทธเจ้ามีเครื่องมุงอันเปิดแล้ว ไม่มีหลักตอ
		เป็นผู้มีปฏิภาณ.
	[๖๕๓] 	พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักแล้วซึ่งธรรมอันทำให้เป็นอธิเทพ ทรง
		ทราบซึ่งธรรมทั้งปวง อันให้พระองค์และผู้อื่นเป็นผู้ประเสริฐ.
		พระศาสดาทรงทำซึ่งส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย แก่พวกที่มี
		ความสงสัยให้กลับรู้ได้.
	[๖๕๔] คำว่า เทพ ในอุเทศว่า อธิเทเว อภิญฺญาย ดังนี้ ได้แก่เทพ ๓ จำพวก คือ
สมมติเทพ ๑ อุปปัตติเทพ ๑ วิสุทธิเทพ ๑.
	สมมติเทพเป็นไฉน? พระราชาก็ดี พระราชกุมารก็ดี พระเทวีก็ดี. เทพจำพวกนี้ท่าน
กล่าวว่า สมมติเทพ.
	อุปปัตติเทพเป็นไฉน? เทวดาชาวจาตุมมหาราชิกาก็ดี พวกเทวดาชาวดาวดึงส์ก็ดี ฯลฯ
เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหมก็ดี เทวดาสูงขึ้นไปกว่านั้นก็ดี. เทพจำพวกนี้ท่านกล่าวว่า
อุปปัตติเทพ.
	วิสุทธิเทพเป็นไฉน? พระตถาคต พระอรหันตขีณาสพ และพระปัจเจกพุทธเจ้า.
เทพจำพวกนี้ท่านกล่าวว่า วิสุทธิเทพ.
	พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักแล้ว คือ ทรงทราบแล้ว ทรงเทียบเคียงแล้ว ทรงพิจารณาแล้ว
ทรงให้แจ่มแจ้งแล้ว ทรงทำให้ปรากฏแล้ว ซึ่งสมมติเทพว่า อธิเทพ ซึ่งอุปัตติเทพว่า อธิเทพ
ซึ่งวิสุทธิเทพว่า อธิเทพ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทรงรู้จักแล้วซึ่งอธิเทพทั้งหลาย.
	[๖๕๕] คำว่า ทรงทราบซึ่งธรรมทั้งปวงอันทำพระองค์และผู้อื่นให้เป็นผู้ประเสริฐ ความว่า
พระผู้มีพระภาคทรงทราบแล้ว คือ ทรงรู้ทั่วถึงแล้ว ได้ทรงถูกต้องแล้ว ทรงแทงตลอดแล้ว ซึ่ง
ธรรมทั้งหลายอันทำพระองค์และผู้อื่นให้เป็นอธิเทพ.
	ธรรมทั้งหลายอันทำพระองค์ให้เป็นอธิเทพเป็นไฉน? ความปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติ
สมควร ควรปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ใน
ศีล ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ความ
ประกอบความเพียรในความเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘
เหล่านี้ท่านกล่าวว่า ธรรมอันทำพระองค์ให้เป็นอธิเทพ.
	ธรรมอันทำผู้อื่นให้เป็นอธิเทพเป็นไฉน? ความปฏิบัติชอบ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘
เหล่านี้ท่านกล่าวว่า ธรรมอันทำผู้อื่นให้เป็นอธิเทพ. พระผู้มีพระภาคทรงทราบแล้ว คือ ทรงรู้ทั่ว
แล้ว ได้ทรงถูกต้องแล้ว ทรงแทงตลอดแล้ว ซึ่งธรรมทั้งหลายอันทำพระองค์ และผู้อื่นให้เป็น
อธิเทพ ด้วยประการอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทรงทราบซึ่งธรรมทั้งปวงอันทำพระองค์และ
ผู้อื่นให้เป็นผู้ประเสริฐ.
	[๖๕๖] คำว่า พระศาสดาทรงทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย ความว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงทำส่วนสุด ทรงทำส่วนสุดรอบ ทรงทำความกำหนด ทรงทำความจบ แห่งปัญหาของพวก
พราหมณ์ผู้แสวงหาธรรมเครื่องถึงฝั่ง ปัญหาของพวกพราหมณ์บริษัท ปัญหาของปิงคิยพราหมณ์
ปัญหาของท้าวสักกะ ปัญหาของอมนุษย์ ปัญหาของภิกษุ ปัญหาของภิกษุณี ปัญหาของอุบาสก
ปัญหาของอุบาสิกา ปัญหาของพระราชา ปัญหาของกษัตริย์ ปัญหาของพราหมณ์ ปัญหาของ
แพศย์ ปัญหาของศูทร์ ปัญหาของพรหม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทรงทำส่วนสุดแห่งปัญหา
ทั้งหลาย
	คำว่า พระศาสดา คือ พระผู้มีพระภาคผู้นำพวก นายหมู่ย่อมพาพวกให้ข้ามกันดาร คือ
ให้ข้ามผ่านพ้นกันดารคือโจร กันดารคือสัตว์ร้าย กันดารคือทุพภิกขภัย กันดารคือที่ไม่มีน้ำ
ให้ถึงภูมิสถานปลอดภัย ฉันใด พระผู้มีพระภาคผู้นำพวก ย่อมนำสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามกันดาร
คือ ให้ข้ามผ่านพ้นกันดาร คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาส และกันดารคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลสและทุจริต และที่รกชัฏ
คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต ให้ถึงอมตนิพพานอันเป็นภูมิสถาน
ปลอดภัย ฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่า เป็นผู้นำพวก.
	อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ แนะนำ นำเนืองๆ ให้รู้ชอบ คอยสอดส่อง
เพ่งดู ให้เลื่อมใส แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่า เป็นผู้นำพวก.
	อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงยังมรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ยังมรรคที่ยังไม่เกิดดี
ให้เกิดดี ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก ทรงรู้จักมรรค ทรงทราบมรรค ทรงฉลาดในมรรค.
ก็แหละในบัดนี้ พระสาวกทั้งหลายเป็นผู้ดำเนินตามมรรค เป็นผู้ประกอบในภายหลัง แม้ด้วย
เหตุอย่างนี้ ดังนี้ พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่า เป็นผู้นำพวก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระศาสดา
ผู้ทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย.
	[๖๕๗] คำว่า แก่พวกที่มีความสงสัยให้กลับรู้ได้ ความว่า บุคคลทั้งหลายมีความสงสัย
มาแล้ว เป็นผู้หายความสงสัยไป มีความยุ่งใจมาแล้ว เป็นผู้หายความยุ่งใจไป มีใจสองมาแล้ว
เป็นผู้หายความใจสองไป มีความเคลือบแคลงมาแล้ว เป็นผู้หายความเคลือบแคลงไป มีราคะ
มาแล้ว เป็นผู้ปราศจากราคะไป มีโทสะมาแล้ว เป็นผู้ปราศจากโทสะไป มีโมหะมาแล้ว เป็น
ผู้ปราศจากโมหะไป มีกิเลสมาแล้ว เป็นผู้ปราศจากกิเลสไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แก่พวกที่
มีความสงสัยให้กลับรู้ได้. เพราะเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า
		พระผู้มีพระภาค ทรงรู้จักแล้วซึ่งธรรมอันทำให้เป็นอธิเทพ
		ทรงทราบซึ่งธรรมทั้งปวง อันให้พระองค์และผู้อื่นเป็นผู้
		ประเสริฐ. พระศาสดาทรงทำซึ่งส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย
		แก่พวกที่มีความสงสัยให้กลับรู้ได้.
	[๖๕๘] 	นิพพานอันอะไรๆ นำไปไม่ได้ ไม่กำเริบ ไม่มีอุปมาในที่
		ไหนๆ. ข้าพระองค์จักถึง (อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ)
		โดยแท้. ความสงสัยในนิพพานนั้นมิได้มีแก่ข้าพระองค์.
		ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นผู้มีจิตน้อมไปแล้ว
		อย่างนี้.
	[๖๕๙] อมตนิพพาน ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้น
ตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ ความออกจากตัณหา เป็นเครื่องร้อยรัด ท่านกล่าวว่า
นิพพานอันอะไรๆ นำไปไม่ได้ ในอุเทศว่า อสํหิรํ อสงฺกุปฺปํ ดังนี้.
	คำว่า อันอะไรๆ นำไปไม่ได้ ความว่า อันราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความ
ผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด
ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่นท่าน ความเมา ความประมาท กิเลส
ทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง
นำไปไม่ได้ เป็นคุณชาติเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึง
ชื่อว่า อันอะไรๆ นำไปไม่ได้.
	อมตนิพพาน ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา
ความคลายกำหนัด ความดับ ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด ท่านกล่าวว่านิพพาน อัน
ไม่กำเริบ ในคำว่า อสงฺกุปฺปํ ดังนี้.
	ความเกิดขึ้นแห่งนิพพานใด ย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งนิพพานนั้นมิได้มี ย่อมปรากฏ
อยู่โดยแท้. นิพพานเป็นคุณชาติเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มิได้มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า อันอะไรๆ นำไปไม่ได้ ไม่กำเริบ.
	[๖๖๐] คำว่า ยสฺส ในอุเทศว่า ยสฺส นตฺถิ อุปมา กฺวจิ ดังนี้ ได้แก่นิพพาน
คำว่า ไม่มีอุปมา ความว่า ไม่มีอุปมา ไม่มีข้อเปรียบเทียบ ไม่มีสิ่งเสมอ ไม่มีอะไรเปรียบ
ไม่ปรากฏ ไม่ประจักษ์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่มีอุปมา.
	คำว่า ในที่ไหนๆ ความว่า ในที่ไหนๆ ในที่ไรๆ ในที่บางแห่งในภายใน ในภายนอก
หรือทั้งภายในและภายนอก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นิพพานไม่มีอุปมาในที่ไหนๆ.
	[๖๖๑] จักถึงโดยแท้ ในอุเทศว่า อทฺธา คมิสฺสามิ น เมตฺถ กงฺขา ดังนี้ ความว่า
จักถึง คือ จักบรรลุ ถูกต้อง ทำให้แจ้งโดยแท้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า จักถึงโดยแท้.
	คำว่า ความสงสัยในนิพพานนั้นมิได้มีแก่ข้าพระองค์ ความว่า ความสงสัย ความ
ลังเลใจ ความไม่แน่ใจ ความเคลือบแคลง ในนิพพานนั้นมิได้มี คือ ปรากฏ ไม่ประจักษ์.
ความสงสัยนั้นอันข้าพระองค์ละได้แล้ว ตัดขาดแล้ว สงบแล้ว ระงับแล้ว ทำไม่ให้อาจเกิดขึ้น
เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์จักถึงโดยแท้ ความสงสัยใน
นิพพานนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์.
	[๖๖๒] คำว่า ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ ... อย่างนี้ ในอุเทศว่า เอวํ มํ
ธาเรหิ อธิมุตฺตจิตฺตํ ดังนี้ ความว่า ขอพระองค์โปรดทรงกำหนดข้าพระองค์อย่างนี้.
	คำว่า มีจิตน้อมไป ความว่า เป็นผู้เอนไปในนิพพาน โอนไปในนิพพาน เงื้อมไปใน
นิพพาน น้อมจิตไปในนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
มีจิตน้อมไปแล้วอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า
		นิพพานอันอะไรๆ นำไปไม่ได้ ไม่กำเริบ ไม่มีอุปมาในที่
		ไหนๆ. ข้าพระองค์จักถึง (อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ)
		โดยแท้. ความสงสัยในนิพพานนั้นมิได้มีแก่ข้าพระองค์
		ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นผู้มีจิตน้อมไป
		แล้วอย่างนี้.
จบ ปารายนวรรค.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๖๐๑๗-๖๑๓๘ หน้าที่ ๒๔๔-๒๔๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=30&A=6017&Z=6138&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=30&A=6017&w=๏ฟฝุท๏ฟฝวจ๏ฟฝ&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=30&siri=36              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=532              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=30&A=5552#652top              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=30&A=5552#652top              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_30              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://www.ancient-buddhist-texts.net/Texts-and-Translations/Parayanavagga/Parayanavaggo-Epilogue-1.htm https://www.ancient-buddhist-texts.net/Texts-and-Translations/Parayanavagga/Parayanavaggo-Epilogue-2.htm

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]