ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๖. โยธาชีวสูตรที่ ๒
[๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ ถือดาบและโล่ห์ ผูกสอด ธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมฆ่าเขาตายทำลายเขาได้ นักรบอาชีพบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพจำพวกที่ ๑ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ ถือดาบและโล่ห์ ผูกสอด ธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมทำร้ายเขาให้บาดเจ็บ พวกของเขาย่อมนำเขาออกมาส่งไปถึงหมู่ ญาติ เขากำลังถูกนำไปยังไม่ถึงหมู่ญาติ ทำกาละเสียในระหว่างทาง นักรบอาชีพ บางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพจำพวกที่ ๒ มีปรากฏอยู่ ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ ถือดาบและโล่ห์ ผูกสอด ธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมทำร้ายเขาให้บาดเจ็บ พวกของเขาย่อมนำเขาออกมาส่งไปถึงหมู่ ญาติ หมู่ญาติย่อมพยาบาลรักษาเขา เขาอันหมู่ญาติพยาบาลรักษาอยู่ ได้ทำกาละ ด้วยอาพาธนั้น นักรบอาชีพบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพ จำพวกที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ ถือดาบและโล่ห์ ผูกสอด ธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมทำร้ายเขาให้บาดเจ็บ พวกของเขาย่อมนำเขาออกมาส่งไปถึงหมู่ ญาติ หมู่ญาติย่อมพยาบาลรักษาเขา เขาอันหมู่ญาติพยาบาลรักษาอยู่ ก็ได้หาย จากอาพาธนั้น นักรบอาชีพบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพ จำพวกที่ ๔ มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ อีกประการหนึ่ง นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ ถือดาบและโล่ห์ ผูกสอด ธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมชนะสงครามแล้ว เป็นผู้พิชิตสงคราม ยึดครองค่ายสงครามไว้ได้ นักรบอาชีพบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในโลกนี้ นี้เป็น นักรบอาชีพจำพวกที่ ๕ มีปรากฏอยู่ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ บุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกัน ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือ นิคมบางแห่งอยู่ ครั้นเวลาเช้า เธอนุ่งสบงถือบาตรและจีวรแล้ว เข้าไปยังบ้าน หรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา ไม่รักษาจิต มีสติไม่ ตั้งมั่น ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอได้เห็นมาตุคามนุ่งห่มลับๆ ล่อๆ ในบ้านหรือใน นิคมนั้น เพราะเห็นมาตุคามนุ่งห่มลับๆ ล่อๆ ราคะย่อมขจัดจิตของเธอ เธอ มีจิตอันราคะขจัดแล้ว ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำให้แจ้งซึ่งความทุรพล เสพเมถุน- *ธรรม นักรบอาชีพนั้นถือดาบและโล่ห์ ผูกสอดธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมฆ่าเขาตาย ทำลาย เขาได้ แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น บุคคลบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ ในธรรมวินัยนี้ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ ๑ มีปรากฏอยู่ใน พวกภิกษุ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมอาศัยบ้านหรือนิคมบางแห่งอยู่ ครั้นเวลาเช้า เธอนุ่งสบงถือบาตรและจีวรแล้ว เข้าไปยังบ้านหรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต ไม่ รักษากาย ไม่รักษาวาจา ไม่รักษาจิต มีสติไม่ตั้งมั่น ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอได้ เห็นมาตุคามนุ่งห่มลับๆ ล่อๆ ในบ้านหรือนิคมนั้น เพราะเห็นมาตุคามนุ่งห่ม ลับๆ ล่อๆ ราคะย่อมขจัดจิตของเธอ เธอมีจิตอันราคะขจัดแล้ว ย่อมเร่าร้อน กาย เร่าร้อนจิต เธอจึงคิดอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น เราควรไปอารามบอกพวกภิกษุว่า อาวุโส ข้าพเจ้าถูกราคะย้อมแล้ว ถูกราคะครอบงำแล้ว ไม่สามารถประพฤติ พรหมจรรย์สืบต่อไปได้ จักทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขา เวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ เธอกำลังเดินไปอาราม ยังไม่ทันถึงอาราม ก็ทำให้แจ้ง ซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ ในระหว่าง ทาง นักรบอาชีพนั้นถือดาบและโล่ห์ ผูกสอดธนูและแล่ง แล้วเข้าสนามรบ เขาย่อมขะมักเขม้นพยายามรบในสนามรบนั้น พวกข้าศึกย่อมทำร้ายเขาให้บาดเจ็บ พวกของเขาย่อมนำเขาออกมาส่งไปถึงหมู่ญาติ เขากำลังถูกนำไปยังไม่ถึงหมู่ญาติ ทำกาละเสียในระหว่างทาง แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น บุคคล บางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวก ที่ ๒ มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมอาศัยบ้านหรือนิคมบางแห่งอยู่ ครั้นเวลาเช้า เธอนุ่งสบงถือบาตรและจีวรแล้ว เข้าไปยังบ้านหรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต ไม่ รักษากาย ไม่รักษาวาจา ... บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ เธอไปสู่ อารามบอกพวกภิกษุว่า อาวุโส ข้าพเจ้าถูกราคะย้อมแล้ว ... บอกคืนสิกขาเวียน มาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ พวกเพื่อนพรหมจรรย์จึงกล่าวสอน พร่ำสอนเธอว่า อาวุโส กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับ แค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยร่าง กระดูก มีทุกข์มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยชิ้น เนื้อ มีทุกข์มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยคบเพลิง มีทุกข์มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง มีทุกข์มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยความฝัน มีทุกข์ มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยของขอยืม มีทุกข์มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยผลไม้ มีทุกข์มาก ... กาม ทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยดาบและของมีคม มีทุกข์มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยหอกและหลาว มีทุกข์มาก ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยโพรงไม้มีงู มีทุกข์มาก มีความ คับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ ขอท่านผู้มีอายุ จงยินดียิ่งในพรหมจรรย์ จงอย่าทำ ให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ เธอ อันพวกเพื่อนพรหมจรรย์กล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับ แค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ ก็จริง แต่ข้าพเจ้าไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์สืบ ต่อไปได้ จักทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อ เป็นคฤหัสถ์ นักรบนั้นถือดาบและโล่ห์ ฯลฯ เขาอันหมู่ญาติพยาบาลรักษาอยู่ ก็ได้ตายเพราะอาพาธนั้น แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น บุคคลบาง คนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมอาศัยบ้านหรือนิคมบางแห่งอยู่ ครั้นเวลาเช้า เธอนุ่งสบงถือบาตรและจีวรแล้ว เข้าไปยังบ้านหรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต ไม่ รักษากาย ไม่รักษาวาจา ... บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ เพื่อไปอาราม บอกพวกภิกษุว่า อาวุโส ข้าพเจ้าถูกราคะย้อมแล้ว ... บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อ เป็นคฤหัสถ์ พวกเพื่อนพรหมจรรย์จึงกล่าวสอน พร่ำสอนเธอว่า อาวุโส กาม ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้น มาก มีโทษยิ่งใหญ่ กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยร่างกระดูก ... เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ ... เปรียบด้วยคบเพลิง ... เปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง ... เปรียบด้วยความฝัน ... เปรียบด้วยของขอยืม ... เปรียบด้วยผลไม้ ... เปรียบด้วย ดาบและของคม ... เปรียบด้วยหอกและหลาว ... เปรียบด้วยโพรงไม้มีงู มีความยินดี น้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ ขอท่านมีผู้อายุจงยินดียิ่งใน พรหมจรรย์ จงอย่าทำให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อ เป็นคฤหัสถ์ เธออันพวกเพื่อนพรหมจรรย์กล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ จึงกล่าว อย่างนี้ว่า อาวุโส ข้าพระเจ้าจักขะมักเขม้น จักทรงไว้ จักยินดียิ่ง จักไม่กระทำ ให้แจ้งซึ่งความเป็นผู้ทุรพลในสิกขา บอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ ณ บัดนี้ นักรบนั้นถือดาบและโล่ห์ ... เขาอันหมู่ญาติพยาบาลรักษาอยู่ ก็ได้หายจาก อาพาธนั้น แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น บุคคลบางคนแม้เช่นนี้ก็มี อยู่ในธรรมวินัยนี้ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ ๔ มีปรากฏอยู่ ในพวกภิกษุ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมอาศัยบ้านหรือนิคมบางแห่งอยู่ ครั้นเวลาเช้า เธอนุ่งสบงถือบาตรและจีวรแล้ว เข้าไปยังบ้านหรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต รักษา กาย รักษาวาจา รักษาจิต มีสติตั้งมั่นสำรวมอินทรีย์ เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ถือโดยนิมิต ย่อมไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและ โทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟัง เสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วย กาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ถือโดยนิมิต ย่อมไม่ถือโดย อนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุ ให้ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้ว ย่อม เสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธออยู่ในป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง ย่อมนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอย่อมละอภิชฌาในโลกเสีย ฯลฯ เธอละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ทุรพลได้แล้วสงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่น ไหวแล้วอย่างนี้ เธอย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เธอย่อมรู้ชัดตามความ เป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก นักรบอาชีพนั้นถือ ดาบและโล่ห์ ผูกสอดธนูและแล่งแล้ว เข้าสนามรบ เขาชนะสงครามแล้ว เป็น ผู้พิชิตสงคราม ยึดครองค่ายสงครามนั้นไว้ได้ แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบ ฉันนั้น บุคคลบางคนแม้เช่นนี้ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ นี้คือบุคคลผู้เปรียบด้วยนักรบ อาชีพจำพวกที่ ๕ มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เปรียบ ด้วยนักรบอาชีพ ๕ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในพวกภิกษุ ฯ
จบสูตรที่ ๖

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๒๑๗๘-๒๓๐๕ หน้าที่ ๙๕-๑๐๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=2178&Z=2305&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=22&A=2178&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=76              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=76              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=22&A=2231              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=859              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=22&A=2231              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=859              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i071-e.php#sutta6 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an05/an05.076.than.html https://suttacentral.net/an5.76/en/sujato https://suttacentral.net/an5.76/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]