ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
พรหมวิหาร ๔
[๕๗๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวโกลิยะ ชื่อ หลิททว- *สันนะ ในโกลิยชนบท ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปด้วยกัน เวลาเช้า นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้า ไปบิณฑบาตยังหลิททวสันนนิคม ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น มีความดำริว่า เวลานี้เราจะเที่ยวไป บิณฑบาตยังหลิททวสันนนิคมก่อน ก็ยังเช้านัก ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญ- *เดียรถีย์ปริพาชกเถิด. [๕๗๔] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ ปราศรัยกับอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้พูดกะภิกษุเหล่านั้นว่า [๕๗๕] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้ว จงมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุก หมู่เหล่า อยู่เถิด. [๕๗๖] จงมีใจประกอบด้วยกรุณา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยกรุณา อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ใน ที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่าอยู่เถิด. [๕๗๗] จงมีใจประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยมุทิตา อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ใน ที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่าอยู่เถิด. [๕๗๘] จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่า อยู่เถิด. [๕๗๙] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย แม้พวกเราก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มา เถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วจงมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือน กัน ฯลฯ [๕๘๐] จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่าอยู่เถิด. [๕๘๑] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ในการแสดงธรรมของพวกเรานี้ อะไรเป็นความแปลก กัน อะไรเป็นประโยชน์อันยิ่ง อะไรเป็นความแตกต่างกัน ของพระสมณโคดมหรือของพวกเรา คือ ว่า ธรรมเทศนาของพวกเรากับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรืออนุศาสนีของพวกเรากับ อนุศาสนีของพระสมณโคดม. [๕๘๒] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูดของอัญญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความแห่งคำพูด นี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค. [๕๘๓] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น ครั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในหลิททวสันนนิคม เวลา ปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า [๕๘๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังหลิททวสันนนิคม ข้าพระองค์ทั้งหลายได้มีความ ดำริว่า เวลานี้ เราจะเที่ยวไปบิณฑบาตยังหลิททวสันนนิคมก่อน ก็ยังเช้าอยู่ ถ้ากระไรเราพึง เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด. [๕๘๕] ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้พูดกะข้าพระองค์ทั้งหลายว่า. [๕๘๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้ว จงมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่า อยู่เถิด. [๕๘๗] จงมีใจประกอบด้วยกรุณา ... [๕๘๘] จงมีใจประกอบด้วยมุทิตา ... [๕๘๙] จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบ ด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไป ทั่วโลก ในที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่า อยู่เถิด. [๕๙๐] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย แม้พวกเราก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มา เถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้ว จงมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ เหมือนกัน ฯลฯ [๕๙๑] จงมีใจประกอบด้วยกรุณา ... [๕๙๒] จงมีใจประกอบด้วยมุทิตา ... [๕๙๓] จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่า อยู่เถิด. [๕๙๔] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ในการแสดงธรรมของพวกเรานี้ อะไรเป็นความแปลก กัน อะไรเป็นประโยชน์อันยิ่ง อะไรเป็นความต่างกัน ของพระสมณโคดมหรือของพวกเรา คือว่า ธรรมเทศนาของพวกเรากับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรืออนุศาสนีของพวกเรากับอนุศาสนี. ของพระสมณโคดม. [๕๙๕] ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูดของอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความ แห่งคำพูดนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค.
เมตตาเจโตวิมุติ มีอะไรเป็นคติ
[๕๙๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะ อย่างนี้ ควรเป็นผู้อันเธอทั้งหลายพึงถามอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไรเป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด กรุณาเจโตวิมุตติ ... มุทิตาเจโตวิมุตติ ... อุเบกขาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไร เป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกถูกเธอ ทั้งหลายถามอย่างนี้แล้ว จักแก้ไม่ได้เลย และจักถึงความอึดอัดอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเป็นปัญหา ที่ถามในฐานะมิใช่วิสัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่แลเห็นบุคคลในโลกพร้อม ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ ที่จะยัง จิตให้ยินดีด้วยการแก้ปัญหาเหล่านี้ เว้นเสียจากตถาคต สาวกของตถาคต หรือผู้ที่ฟังจากตถาคต หรือจากสาวกของตถาคต. [๕๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไร เป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรม วินัยนี้ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยเมตตา ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยเมตตา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ถ้าเธอหวัง อยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่ เธอก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ ไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญ ว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและสิ่ง ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมี ความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูล และในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงแยกสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูลทั้งสองนั้นออกเสียแล้ว วางเฉยมีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็ย่อมวางเฉย มีสติสัมปชัญญะในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่ หรืออีกอย่างหนึ่ง เธอย่อมเข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเมตตาเจโตวิมุติว่า มีสุภวิโมกข์เป็น อย่างยิ่ง เพราะภิกษุนั้นยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยวดยิ่งในธรรมวินัย ปัญญาของเธอจึงยังเป็น โลกีย์. [๕๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรุณาเจโตวิมุติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไร เป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อม เจริญสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยกรุณา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลใน สิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เธอก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ฯลฯ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึง แยกสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูลทั้งสองนั้นออกเสียแล้ว วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็ย่อมวางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ในสิ่งทั้งสองนั้น หรืออีกอย่างหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญาเสียโดยประการทั้งปวง เพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่กระทำไว้ในใจซึ่งนานัตตสัญญา เธอคำนึงอยู่ว่า อากาศไม่มีที่สุด ย่อมบรรลุอากาสานัญจายตนะอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวกรุณาเจโตวิมุติ ว่ามีอากาสานัญ- *จายตนะเป็นอย่างยิ่ง เพราะภิกษุผู้ยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยวดยิ่งในธรรมวินัยนี้ ปัญญาของเธอ จึงยังเป็นโลกีย์. [๕๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มุทิตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไร เป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรม วินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยมุทิตา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญ ว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เธอก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ฯลฯ ถ้าหวัง อยู่ว่า เราพึงแยกสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูลทั้งสองนั้นออกเสียแล้ว วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็ย่อมวางเฉยมีสติสัมปชัญญะในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่ หรืออีกอย่างหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะ เสียโดยประการทั้งปวง เธอคำนึงอยู่ว่า วิญญาณไม่มีที่สุด ย่อมบรรลุวิญญาณัญจายตนะอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวมุทิตาเจโตวิมุติว่า มีวิญญาณัญจายตนะเป็นอย่างยิ่ง เพราะภิกษุนั้น ยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยวดยิ่ง ในธรรมวินัยนี้ ปัญญาของเธอจึงยังเป็นโลกีย์. [๖๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุเบกขาเจโตวิมุติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไร เป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรม วินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยอุเบกขา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญ ว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เธอก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่า ปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่ง ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้า หวังอยู่ว่า เราพึงแยกสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูลทั้งสองนั้นออกเสียแล้ว วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็ย่อมวางเฉย มีสติสัมปชัญญะในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่ หรืออีกอย่างหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะ เสียโดยประการทั้งปวง เธอคำนึงอยู่ว่า อะไรนิดหนึ่งไม่มี ย่อมบรรลุอากิญจัญญายตนะอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวอุเบกขาเจโตวิมุติว่า มีอากิญจัญญายตนะเป็นอย่างยิ่ง เพราะภิกษุนั้น ยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยวดยิ่งในธรรมวินัยนี้ ปัญญาของเธอจึงเป็นโลกีย์.
จบ สูตรที่ ๔

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๓๓๒๙-๓๔๗๐ หน้าที่ ๑๔๐-๑๔๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=3329&Z=3470&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=19&A=3329&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=19&siri=126              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=573              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=19&A=3037              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=5239              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=19&A=3037              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=5239              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_19              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn46/sn46.054.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn46/sn46.054x.wlsh.html https://suttacentral.net/sn46.54/en/sujato https://suttacentral.net/sn46.54/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]