ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๑๐. เทวทูตสูตร (๑๓๐)
[๕๐๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ [๕๐๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบ เหมือนเรือน ๒ หลังมีประตูตรงกัน บุรุษผู้มีตาดียืนอยู่ระหว่างกลางเรือน ๒ หลัง นั้น พึงเห็นมนุษย์กำลังเข้าเรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังเดินมาบ้าง กำลังเดินไปบ้าง ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล เราย่อมมองเห็น หมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้ เป็นไปตามกรรมได้ว่า สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ก็มี สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบ ด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฐิ เชื่อ มั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว บังเกิดในหมู่มนุษย์ก็มี สัตว์ผู้ กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงปิตติวิสัยก็มี สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วย อำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานก็มี สัตว์ผู้ กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกก็มี ฯ [๕๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะจับสัตว์นั้นที่ส่วนต่างๆ ของแขนไปแสดงแก่พระยายมว่า ข้าแต่พระองค์ บุรุษนี้ไม่ปฏิบัติชอบในมารดา ไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ ไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล ขอพระองค์จงลงอาชญาแก่บุรุษนี้เถิด ฯ [๕๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมจะปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๑ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลยเจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเด็กแดงๆ ยังอ่อนนอนแบ เปื้อนมูตรคูถของตนอยู่ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็น ผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสียเจ้าข้า ฯ พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก ของบาปกรรมนี้ ฯ [๕๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามเทวทูต ที่ ๒ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๒ ปรากฏในหมู่มนุษย์ หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี นับแต่เกิดมา ผู้แก่ ซี่โครงคด หลังงอ ถือไม้ เท้า งกเงิ่น เดินไป กระสับกระส่าย ล่วงวัยหนุ่มสาว ฟันหักผมหงอก หนัง ย่น ศีรษะล้าน เหี่ยว ตัวตกกระ ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก ของบาปกรรมนี้ ฯ [๕๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๒ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๓ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๓ ปรากฏในหมู่ มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย ผู้ป่วย ทนทุกข์ เป็นไข้หนัก นอนเปื้อนมูตรคูถของตน มีคนอื่นคอยพยุงลุก พยุงเดิน ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก ของบาปกรรมนี้ ฯ [๕๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๓ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๔ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๔ ปรากฏในหมู่ มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นราชาทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิดบ้างหรือ คือ ฯ (๑) โบยด้วยแส้บ้าง (๒) โบยด้วยหวายบ้าง (๓) ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง (๔) ตัดมือบ้าง (๕) ตัดเท้าบ้าง (๖) ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง (๗) ตัดหูบ้าง (๘) ตัดจมูกบ้าง (๙) ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง (๑๐) ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ำส้ม บ้าง (๑๑) ลงกรรมกรณ์วิธี ขอดสังข์ บ้าง (๑๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ปากราหู บ้าง (๑๓) ลงกรรมกรณ์วิธี มาลัยไฟ บ้าง (๑๔) ลงกรรมกรณ์วิธี คบมือ บ้าง (๑๕) ลงกรรมกรณ์วิธี ริ้วส่าย บ้าง (๑๖) ลงกรรมกรณ์วิธี นุ่งเปลือกไม้ บ้าง (๑๗) ลงกรรมกรณ์วิธี ยืนกวาง บ้าง (๑๘) ลงกรรมกรณ์วิธี เกี่ยวเหยื่อเบ็ด บ้าง (๑๙) ลงกรรมกรณ์วิธี เหรียญกษาปณ์ บ้าง (๒๐) ลงกรรมกรณ์วิธี แปรงแสบ บ้าง (๒๑) ลงกรรมกรณ์วิธี กางเวียน บ้าง (๒๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ตั่งฟาง บ้าง (๒๓) ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ บ้าง (๒๔) ให้สุนัขทึ้งบ้าง (๒๕) ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง (๒๖) ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็น ผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า จำเริญละ เป็นอันว่า สัตว์ที่ทำกรรม ลามกไว้นั้นๆ ย่อมถูกลงกรรมกรณ์ต่างชนิดเห็นปานนี้ในปัจจุบัน จะป่วยกล่าว ไปไยถึงชาติหน้า ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก ของบาปกรรมนี้ ฯ [๕๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๔ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๕ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๕ ปรากฏในหมู่ มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย ที่ตายแล้ววันหนึ่ง หรือสองวัน หรือสามวัน ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็น ผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก ของบาปกรรมนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง เทวทูตที่ ๕ กะสัตว์นั้นแล้ว ก็ทรงดุษณีอยู่ ฯ [๕๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านิรยบาลจะให้สัตว์นั้นกระทำเหตุชื่อ การจำ ๕ ประการ คือ ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ และที่ทรวงอกตรงกลางสัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านิรยบาลจะจับสัตว์นั้นขึงพืดแล้วเอาผึ่ง ถาก...จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่างแล้วถากด้วยพร้า ... จะ เอาสัตว์นั้นเทียมรถแล้วให้วิ่งกลับไปกลับมาบนแผ่นดินที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง ... จะให้สัตว์นั้นปีนขึ้นปีนลงซึ่งภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่มีไฟติดทั่ว ลุก โพลง โชติช่วง ... จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบนเอาหัวลงข้างล่าง แล้วพุ่งลงไป ในหม้อทองแดง ที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง สัตว์นั้นจะเดือดพล่านเป็น ฟองอยู่ในหม้อทองแดงนั้น เขาเมื่อเดือดเป็นฟองอยู่ จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่ง บ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง พล่านไปด้านขวางครั้งหนึ่งบ้าง จะเสวยเวทนา อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในหม้อทองแดงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาป กรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหา นรก ก็มหานรกนั้นแล มีสี่มุม สี่ประตู แบ่งไว้โดยส่วนเท่ากัน มีกำแพงเหล็ก ล้อมรอบ ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของนรกใหญ่นั้นล้วน แล้วด้วยเหล็ก ลุกโพลง แผ่ไปตลอดร้อยโยชน์รอบด้าน ประดิษฐานอยู่ทุกเมื่อ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย และมหานรกนั้น มีเปลวไฟพลุ่งจากฝาด้านหน้าจดฝา ด้านหลัง พลุ่งจากฝาด้านหลังจดฝาด้านหน้า พลุ่งจากฝาด้านเหนือจดฝาด้านใต้ พลุ่งจากฝาด้านใต้จดฝาด้านเหนือ พลุ่งขึ้นจากข้างล่างจดข้างบน พลุ่งจากข้างบน จดข้างล่าง สัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วง ระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้น โดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลาย ก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที และใน ขณะที่สัตว์นั้น ใกล้จะถึงประตู ประตูนั้นจะปิด สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็น ทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่ สิ้นสุด ฯ [๕๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วง ระยะกาลนาน ประตูด้านหลังของมหานรกนั้นเปิด ฯลฯ ประตูด้านเหนือเปิด ฯลฯ ประตูด้านใต้เปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้ หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์ นั้นยกขึ้นแล้วจะกลับคงรูปเดิมทันที และในขณะที่สัตว์นั้นใกล้จะถึงประตู ประตู นั้นจะปิด สัตว์นั่นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วง ระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกนั้นเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้น โดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูก ทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที สัตว์นั้นจะออกทางประตูนั้นได้ แต่ว่ามหานรกนั้นแล มีนรกเต็มด้วยคูถใหญ่ ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงในนรกคูถนั้น และในนรกคูถนั้นแล มีหมู่ สัตว์ปากดังเข็มคอยเฉือดเฉือนผิว แล้วเฉือดเฉือนหนัง แล้วเฉือดเฉือนเนื้อ แล้ว เฉือดเฉือนเอ็น แล้วเฉือดเฉือนกระดูก แล้วกินเยื่อในกระดูก สัตว์นั้นย่อมเสวย เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกคูถนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาป กรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และนรกคูถนั้น มีนรกเต็มด้วยเถ้ารึง ๑- ใหญ่ ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในนรกเถ้ารึงนั้น สัตว์นั้นย่อมเสวย เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกเถ้ารึงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่า บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และนรกเถ้ารึงนั้น มีป่างิ้วใหญ่ประกอบอยู่ รอบด้าน ต้นสูงชลูดขึ้นไปโยชน์หนึ่ง มีหนามยาว ๑๖ องคุลี มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เหล่านายนิรยบาลจะบังคับให้สัตว์นั้นขึ้นๆ ลงๆ ที่ต้นงิ้วนั้น สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ต้นงิ้วนั้น และยังไม่ ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และป่างิ้วนั้น มีป่าต้นไม้ใบเป็นดาบใหญ่ ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะเข้าไปในป่านั้น จะถูกใบไม้ที่ลมพัด ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง และตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและ จมูกบ้าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ป่าต้นไม้มีใบ เป็นดาบนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น มีแม่น้ำใหญ่ น้ำเป็นด่าง ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในแม่น้ำนั้น จะลอยอยู่ใน @๑. เถ้ารึง คือ ถ่านที่ติดไฟคุมีขี้เถ้าปิดข้างนอกอยู่รอบด้าน แม่น้ำนั้น ตามกระแสบ้าง ทวนกระแสบ้าง ทั้งตามและทวนกระแสบ้าง สัตว์ นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในแม่น้ำนั้น และยังไม่ตาย ตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลพากันเอาเบ็ดเกี่ยวสัตว์ นั้นขึ้นวางบนบก แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ เจ้าต้องการอะไร สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าหิว เจ้าข้า เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อน มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออก แล้วใส่ก้อนโลหะร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เข้าในปาก ก้อนโลหะนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พาเอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกมาทางส่วน เบื้องล่าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ ณ ที่นั้น และ ยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ [๕๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลกล่าวกะสัตว์นั้นอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ เจ้าต้องการอะไร สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าระหาย เจ้าข้า เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออก แล้วเอาน้ำทองแดงร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง กรอกเข้าไปในปาก น้ำ ทองแดงนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พา เอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกมาทางส่วนเบื้องล่าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนา อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ ณ ที่นั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยัง ไม่สิ้นสุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหา นรกอีก ฯ [๕๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดำริ อย่างนี้ว่า พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย เป็นอันว่า เหล่าสัตว์ที่ทำกรรมลามกไว้ในโลก ย่อมถูกนายนิรยบาลลงกรรมกรณ์ ต่างชนิดเห็นปานนี้ โอหนอ ขอเราพึงได้ความ เป็นมนุษย์ ขอพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธพึงเสด็จอุบัติในโลก ขอเราพึงได้ นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นพึงทรงแสดง ธรรมแก่เรา และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เรื่องนั้น เรามิได้ฟังต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆ แล้วจึงบอก ก็แล เราบอกเรื่องที่รู้เอง เห็นเอง ปรากฏเองทั้งนั้น ฯ [๕๒๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตดังนี้ ครั้นแล้วพระสุคต ผู้ศาสดา ก็ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกดังนี้ว่า นรชนเหล่าใดยังเป็นมาณพ อันเทวทูตตักเตือน แล้วประมาทอยู่ นรชนเหล่านั้นจะเข้าถึงหมู่สัตว์เลว เศร้าโศกสิ้นกาลนาน ส่วนนรชนเหล่าใด เป็นสัตบุรุษผู้สงบระงับในโลกนี้ อัน เทวทูตตักเตือนแล้ว ย่อมไม่ประมาทในธรรมของพระอริยะ ในกาลไหนๆ เห็นภัยในความถือมั่นอันเป็นเหตุแห่งชาติและ มรณะแล้ว ไม่ถือมั่น หลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นชาติและมรณะ ได้ นรชนเหล่านั้นเป็นผู้ถึงความเกษม มีสุข ดับสนิทใน ปัจจุบัน ล่วงเวรและภัยทั้งปวงและเข้าไปล่วงทุกข์ทั้งปวงได้ ฯ
จบ เทวสูตสูตร ที่ ๑๐
จบ สุญญตวรรค ที่ ๓
-----------------------------------------------------
หัวข้อเรื่องของสุญญตวรรคนั้น ดังนี้
เรื่องสุญญตธรรมอย่างไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ๒ เรื่อง เรื่องธรรม ที่ไม่น่าเป็นไปได้ ๑ เรื่องพระพักกุละ ๑ เรื่องสมณุทเทส อจิรวตะผู้เป็นพระวีระผู้ประเสริฐ ๑ เรื่องพระภูมิชะผู้มีชื่อว่า แผ่นดิน ๑ เรื่องพระอนุรุทธ ๑ เรื่องท่านผู้ละกิเลส ๑ เรื่องภูมิบัณฑิต ๑ เรื่องเทวทูต ๑ ฯ
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จูฬสุญญตสูตร ๒. มหาสุญญตสูตร ๓. อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร ๔. พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร ๕. ทันตภูมิสูตร ๖. ภูมิชสูตร ๗. อนุรุทธสูตร ๘. อุปักกิเลสสูตร ๙. พาลบัณฑิตสูตร ๑๐. เทวทูตสูตร
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๖๗๕๐-๗๐๓๐ หน้าที่ ๒๘๕-๒๙๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=6750&Z=7030&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=14&A=6750&w=เทวทูตสูตร&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=30              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=504              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=14&A=6669              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=4252              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=14&A=6669              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=4252              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i504-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.130.than.html https://suttacentral.net/mn130/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]