ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๓. อัสสลายนสูตร
ทรงโปรดอัสสลายนมาณพ
[๖๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ก็สมัยนั้นแล พราหมณ์ผู้มาจากแคว้นต่างๆ ประมาณ ๕๐๐ คน พักอาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถีด้วยกรณียกิจบางอย่าง. ครั้งนั้นพราหมณ์เหล่านั้นได้คิดกันว่า พระสมณโคดมนี้ ทรงบัญญัติความบริสุทธิ์ทั่วไปแก่วรรณะทั้ง ๔ ใครหนอพอจะสามารถเจรจา โต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้นได้. ก็สมัยนั้นแล มาณพชื่อว่าอัสสลายนะอาศัยอยู่ในพระ- *นครสาวัตถียังเป็นเด็กโกนศีรษะมีอายุ ๑๖ ปีนับแต่เกิดมา เป็นผู้รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์ นิฆัณฑุและคัมภีร์เกฏุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษรมีคัมภีร์อิติหาสะเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะและตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ. ครั้งนั้น พราหมณ์ เหล่านั้นคิดกันว่า อัสสลายนมาณพผู้นี้อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี ยังเป็นเด็ก ฯลฯ ชำนาญใน คัมภีร์โลกายตะและตำราทำนายลักษณะ เขาคงสามารถจะเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมใน คำนั้นได้. [๖๑๔] ลำดับนั้นแล พราหมณ์เหล่านั้นพากันเข้าไปหาอัสสลายนมาณพถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะอัสสลายนมาณพว่า พ่ออัสสลายนมาณพผู้เจริญ พระสมณโคดมนี้ ทรงบัญญัติความ บริสุทธิ์ทั่วไปแก่วรรณะทั้ง ๔ พ่อผู้เจริญ จงเข้าไปเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้น เมื่อ พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวแล้วอย่างนี้. อัสสลายนมาณพได้กล่าวกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า ท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ได้ทราบว่า พระสมณโคดมเป็นธรรมวาที ก็อันบุคคลผู้เป็นธรรมวาที ย่อมเป็นผู้อัน ใครๆ จะพึงเจรจาโต้ตอบได้โดยยาก ข้าพเจ้าไม่สามารถจะเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำ นั้นได้. แม้ครั้งที่ ๒ พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวกะอัสสลายนมาณพว่า พ่ออัสสลายนะผู้เจริญ พระสมณโคดมนี้ ทรงบัญญัติความบริสุทธิ์ทั่วไปแก่วรรณะทั้ง ๔ พ่อผู้เจริญจงเข้าไปเจรจาโต้ตอบ กับพระสมณโคดมในคำนั้น. แม้ครั้งที่ ๒ อัสสลายนมาณพได้กล่าวกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ทราบว่า พระสมณโคดมเป็นธรรมวาที ก็อันบุคคลผู้เป็นธรรมวาที ย่อม เป็นผู้อันใครๆ จะพึงเจรจาโต้ตอบได้โดยยาก ข้าพเจ้าไม่สามารถจะเจรจาโต้ตอบกับพระสมณ- *โคดมในคำนั้นได้. แม้ครั้งที่ ๓ พราหมณ์เหล่านั้นก็ได้กล่าวกะอัสสลายนมาณพว่า พ่ออัสสลายนะ ผู้เจริญ พระสมณโคดมนี้ ทรงบัญญัติความบริสุทธิ์ทั่วไปแก่วรรณะทั้ง ๔ พ่อผู้เจริญจงเข้าไป เจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้น ก็พ่ออัสสลายนะผู้เจริญได้ประพฤติวิธีบรรพชาของ ปริพาชกมาแล้ว พ่ออัสสลายนะอย่ากลัวแพ้ซึ่งยังไม่ทันรบเลย. เมื่อพราหมณ์เหล่านั้นกล่าว อย่างนี้แล้ว อัสสลายนมาณพได้กล่าวกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้า ยอมไม่ได้แน่ ได้ทราบว่าพระสมณโคดมเป็นธรรมวาที ก็อันบุคคลผู้เป็นธรรมวาที ย่อมเป็นผู้ อันใครๆ จะพึงเจรจาโต้ตอบได้โดยยาก ข้าพเจ้าจะไม่สามารถจะเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดม ในคำนั้นได้ ก็แต่ว่า ข้าพเจ้าจักไปตามคำของท่านทั้งหลาย.
เรื่องวรรณะ ๔
[๖๑๕] ลำดับนั้น อัสสลายนมาณพพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่พากันเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึง กันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว อัสสลายนมาณพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ วรรณะอื่นเลว พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะขาว วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นย่อมบริสุทธิ์ คนที่มิใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตรพรหม เป็นโอรสพรหม เกิดแต่ปาก ของพรหม เกิดแต่พรหม อันพรหมนิรมิต เป็นทายาทของพรหมในเรื่องนี้ ท่านพระโคดมจะ ตรัสว่าอย่างไร? [๖๑๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอัสสลายนะ ก็นางพราหมณีของพราหมณ์ ทั้งหลาย มีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดบุตรบ้าง ให้บุตรดื่มนมบ้าง ปรากฏอยู่ ก็พราหมณ์ เหล่านั้นเป็นผู้เกิดจากช่องคลอดเหมือนกัน ยังกล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะ ประเสริฐ วรรณะอื่นเลว ... อันพรหมนิรมิต เป็นทายาทของพรหม. อ. ท่านพระโคดมตรัสอย่างนี้ก็จริง แต่ในเรื่องนี้ พราหมณ์ทั้งหลายก็ยังเข้าใจอยู่ อย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม. [๖๑๗] พ. ดูกรอัสสลายนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านได้ฟังมาแล้ว หรือว่า ในแคว้นโยนก แคว้นกัมโพช และในปัจจันตชนบทอื่นๆ มีวรรณะอยู่ ๒ วรรณะ เท่านั้น คือ เจ้า และทาส เป็นเจ้าแล้วกลับเป็นทาส เป็นทาสแล้วกลับเป็นเจ้า? อ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนั้นว่า ในแคว้นโยนก แคว้นกัมโพช และในปัจจันตชนบทอื่นๆ มีวรรณะอยู่ ๒ วรรณะเท่านั้น คือ เจ้า และทาส เป็นเจ้าแล้วกลับ เป็นทาส เป็นทาสแล้วกลับเป็นเจ้า. พ. ดูกรอัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกำลัง อะไรเป็นความยินดีของพราหมณ์ ทั้งหลายผู้กล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม? อ. ท่านพระโคดมตรัสอย่างนั้นก็จริง แต่ในเรื่องนี้ พราหมณ์ทั้งหลายก็ยังเข้าใจอยู่ อย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม. [๖๑๘] พ. ดูกรอัสสลายนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน กษัตริย์เท่านั้นหรือ เป็นผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูด เพ้อเจ้อ โลภมาก มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก พราหมณ์ไม่เป็นอย่างนั้น แพศย์เท่านั้นหรือ ... ศูทรเท่านั้นหรือ เป็นผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ โลภมาก มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก พราหมณ์ ไม่เป็นอย่างนั้น? อ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม ข้าแต่ท่านพระโคดม แม้กษัตริย์ ผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นผิด เมื่อตายไป ก็พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้าแต่ท่านพระโคดม แม้ พราหมณ์ ... แม้แพศย์ ... แม้ศูทร ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ความจริง แม้วรรณะ ๔ ผู้มีปกติ ฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นผิด เมื่อตายไป ก็พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกทั้งหมด. พ. ดูกรอัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกำลัง อะไรเป็นความยินดีของพราหมณ์ ทั้งหลายผู้กล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม? อ. ท่านพระโคดมตรัสอย่างนั้นก็จริง แต่ในเรื่องนี้ พราหมณ์ทั้งหลายก็ยังเข้าใจอย่างนี้ ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม. [๖๑๙] พ. ดูกรอัสสลายนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์เท่านั้น หรือหนอ ผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่โลภมาก มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ กษัตริย์ไม่พึงเป็นเช่นนั้น แพศย์ไม่พึง เป็นเช่นนั้นศูทรไม่พึงเป็นเช่นนั้น? อ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม ข้าแต่ท่านพระโคดม แม้กษัตริย์ผู้งดเว้นจากการ ฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นชอบ เมื่อตายไป ก็พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าแต่ท่านพระโคดม แม้พราหมณ์ ... แม้แพศย์ ... แม้ศูทร ... ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ความจริง แม้วรรณะ ๔ ผู้งด เว้นจากการฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นชอบ เมื่อตายไป ก็พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ทั้งหมด. พ. ดูกรอัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกำลัง อะไรเป็นความยินดีของพราหมณ์ ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม? อ. ท่านพระโคดมตรัสอย่างนี้ก็จริง แต่ในเรื่องนี้ พราหมณ์ก็ยังเข้าใจอย่างนี้ว่า พราหมณ์ เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม. [๖๒๐] พ. ดูกรอัสสลายนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในประเทศนั้น พราหมณ์เท่านั้นหรือหนอ ย่อมสามารถเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน (ส่วน) กษัตริย์ไม่สามารถ แพศย์ไม่สามารถ ศูทรไม่สามารถ? อ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม ข้าแต่ท่านพระโคดม ในประเทศนั้น แม้กษัตริย์ ก็สามารถเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ข้าแต่ท่านพระโคดม แม้พราหมณ์ ... แม้แพศย์ ... แม้ศูทร ... ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ความจริงในประเทศนั้น แม้วรรณะ ๔ ก็สามารถเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนได้ทั้งหมด. พ. ดูกรอัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกำลัง อะไรเป็นความยินดีของพราหมณ์ ทั้งหลายผู้กล่าวอย่างนี้ พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะอันประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม? อ. ท่านพระโคดมตรัสอย่างนั้นก็จริง แต่ในเรื่องนี้ พราหมณ์ทั้งหลายก็ยังเข้าใจอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม. [๖๒๑] พ. ดูกรอัสสลายนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์เท่านั้น หรือหนอ ย่อมสามารถถือเอาเครื่องสีตัวสำหรับอาบน้ำ แล้วลอยละอองและธุลีได้ กษัตริย์ ไม่สามารถ แพศย์ไม่สามารถ ศูทรไม่สามารถ? อ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม ข้าแต่ท่านพระโคดม แม้กษัตริย์ก็ย่อมสามารถ ถือเอาเครื่องสีตัวสำหรับอาบน้ำ แล้วลอยละอองและธุลีได้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แม้พราหมณ์ ... แม้แพศย์ ... แม้ศูทร ... ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ความจริง แม้วรรณะ ๔ ก็ย่อมสามารถถือเอา เครื่องสีตัวสำหรับอาบน้ำ แล้วลอยละอองและธุลีได้ทั้งหมด. พ. ดูกรอัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกำลัง อะไรเป็นความยินดีของพราหมณ์ ทั้งหลายผู้กล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม? อ. ท่านพระโคดมตรัสอย่างนั้นก็จริง แต่ในเรื่องนี้ พราหมณ์ทั้งหลายก็ยังเข้าใจอย่างนี้ ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม. [๖๒๒] พ. ดูกรอัสสลายนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระราชาในโลกนี้ เป็นกษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว จะพึงทรงเกณฑ์บุรุษผู้มีชาติต่างๆ กัน ๑๐๐ คนให้มาประชุม กันแล้วตรัสว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย ในจำนวนบุรุษเหล่านั้น บุรุษเหล่าใดเกิดแต่สกุลกษัตริย์ แต่สกุลพราหมณ์ แต่สกุลเจ้า บุรุษเหล่านั้นจงถือไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทน์ หรือไม้ ทับทิม เอามาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วจงสีให้ไฟลุกโพลง อนึ่ง มาเถิดท่านทั้งหลาย ในจำนวน บุรุษเหล่านั้น บุรุษเหล่าใดเกิดแต่สกุลจัณฑาล แต่สกุลพราน แต่สกุลจักสาน แต่สกุลช่างรถ แต่สกุลเทหยากเยื่อ บุรุษเหล่านั้นจงถือเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่ง เอามาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วจงสีให้ไฟลุกโพลง ดูกรอัสสลายนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน ไฟที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิดแต่สกุลกษัตริย์ แต่สกุลพราหมณ์ แต่สกุลเจ้า ถือเอาไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทน์ หรือไม้ทับทิม เอามาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้นเท่านั้น หรือหนอ พึงเป็นไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และอาจทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นได้ ส่วนไฟ ที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิดแต่สกุลจัณฑาล แต่สกุลพราน แต่สกุลจักสาน แต่สกุลช่างรถ แต่สกุล เทหยากเยื่อ ถือเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่ง เอามาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีไฟให้ลุกโพลงขึ้นนั้น พึงเป็นไฟไม่มีเปลว ไม่มีสี ไม่มีแสงสว่าง และไม่อาจทำกิจ ที่ต้องการทำด้วยไฟนั้น? อ. ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แม้ไฟที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิด แต่สกุลกษัตริย์ ... แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้น ก็พึงเป็นไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และอาจ ทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นได้ แม้ไฟที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิดแต่สกุลจัณฑาล ... แล้วสีให้ไฟลุกโพลง ขึ้น ก็พึงเป็นไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และอาจทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นได้ ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ความจริง แม้ไฟทุกอย่างก็พึงเป็นไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และอาจทำกิจที่ต้องทำ ด้วยไฟนั้นได้หมด. พ. ดูกรอัสสลายนะ ในเรื่องนี้ อะไรเป็นกำลัง อะไรเป็นความยินดีของพราหมณ์ ทั้งหลายผู้กล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ... เป็นทายาทของพรหม? อ. ท่านพระโคดมตรัสอย่างนั้นก็จริง แต่ในเรื่องนี้ พราหมณ์ทั้งหลายก็ยังเข้าใจอยู่ อย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม. [๖๒๓] พ. ดูกรอัสสลายนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ขัตติยกุมารในโลกนี้ พึงสำเร็จการอยู่ร่วมกับนางพราหมณี เพราะอาศัยการอยู่ร่วมของคนทั้งสองนั้น พึงเกิดบุตร แต่นางพราหมณีกับขัตติยกุมารนั้น เหมือนมารดาก็ดี เหมือนบิดาก็ดี ก็ควรกล่าวได้ว่าเป็น กษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้างหรือ? อ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุตรเกิดแต่นางพราหมณีกับขัตติยกุมารนั้น เหมือนมารดา ก็ดี เหมือนบิดาก็ดี ก็ควรกล่าวได้ว่า เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้าง. [๖๒๔] พ. ดูกรอัสสลายนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์กุมาร ในโลกนี้ พึงสำเร็จการอยู่ร่วมกับนางกษัตริย์ เพราะอาศัยการอยู่ร่วมของคนทั้งสองนั้น พึงเกิด บุตร บุตรผู้เกิดแต่นางกษัตริย์กับพราหมณ์กุมารนั้น เหมือนมารดาก็ดี เหมือนบิดาก็ดี ก็ควร กล่าวได้ว่า เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้างหรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุตรผู้เกิดแต่นางกษัตริย์กับพราหมณ์กุมารนี้ ก็ควรกล่าวได้ว่า เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้าง. [๖๒๕] พ. ดูกรอัสสลายนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในโลกนี้ เขาพึง ผสมแม่ม้ากับพ่อลา เพราะอาศัยการผสมแม่ม้ากับพ่อลานั้น พึงเกิดลูกม้า แม้ลูกม้าที่เกิดแต่ แม่ม้ากับพ่อลานั้น เหมือนแม่ก็ดี เหมือนพ่อก็ดี ก็ควรกล่าวได้ว่า เป็นม้าบ้าง เป็นลาบ้างหรือ? อ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แม้ลูกผสมนั้นก็ย่อมเป็นม้าอัสดร ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เรื่องของสัตว์นี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าต่างกัน แต่ในนัยต้น ในเรื่องของมนุษย์เหล่าโน้น ข้าพเจ้า เห็นว่าไม่ต่างอะไรกัน. [๖๒๖] พ. ดูกรอัสสลายนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในโลกนี้ พึงมีมาณพ สองคน เป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน คนหนึ่งเป็นคนศึกษาเล่าเรียน อันอาจารย์แนะนำ คนหนึ่ง ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน อันอาจารย์ไม่ได้แนะนำ ในสองคนนี้ พราหมณ์ทั้งหลายพึงเชื้อเชิญคนไหน ให้บริโภคก่อน ในการเลี้ยงของผู้มีศรัทธาก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อเป็นบรรณาการก็ดี ในการเลี้ยง เพื่อบูชายัญก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อต้อนรับแขกก็ดี? อ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในสองคนนี้ พราหมณ์ทั้งหลายพึงเชื้อเชิญมาณพผู้ศึกษา เล่าเรียน ผู้ที่อาจารย์แนะนำ ให้บริโภคก่อน ในการเลี้ยงของผู้มีศรัทธาก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อ เป็นบรรณาการก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อบูชายัญก็ดี ในการเลี้ยงเพื่อต้อนรับแขกก็ดี ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ของที่ให้ในบุคคลผู้ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน ผู้ที่อาจารย์มิได้แนะนำ จักมีผลมากได้ อย่างไรเล่า. [๖๒๗] พ. ดูกรอัสสลายนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในโลกนี้ พึงมี มาณพสองคน เป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน คนหนึ่งเป็นคนศึกษาเล่าเรียน อันอาจารย์แนะนำ แต่เป็นคนทุศีล มีธรรมอันลามก คนหนึ่งไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน อันอาจารย์มิได้แนะนำ แต่เป็น คนมีศีล มีกัลยาณธรรม ในสองคนนี้ พราหมณ์ทั้งหลายพึงเชื้อเชิญคนไหนให้บริโภคก่อน ในการเลี้ยงของผู้มีศรัทธาก็ดี ... ในการเลี้ยงเพื่อต้อนรับแขกก็ดี? อ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในสองคนนี้ พราหมณ์ทั้งหลายพึงเชื้อเชิญมาณพผู้ไม่ได้ ศึกษาเล่าเรียน ผู้ที่อาจารย์ไม่ได้แนะนำ แต่เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม ให้บริโภคก่อน ในการเลี้ยงของผู้มีศรัทธาก็ดี ... ในการเลี้ยงเพื่อต้อนรับแขกก็ดี ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ของที่ให้ในบุคคลผู้ทุศีล มีธรรมอันลามกจักมีผลมากอะไรเล่า. พ. ดูกรอัสสลายนะ เมื่อก่อนท่านได้ไปยังชาติ ครั้นไปยังชาติแล้วได้ไปในมนต์ ครั้นไปในมนต์แล้ว กลับเว้นมนต์นั้นเสีย แล้วกลับมายังความบริสุทธิ์อันทั่วไปแก่วรรณะทั้ง ๔ ที่เราบัญญัติไว้. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัสสลายนมาณพนิ่งเฉย เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ.
วรรณ ๔ ในอดีต
[๖๒๘] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า อัสสลายนมาณพ นิ่งเฉย เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงได้ตรัสกะอัสสลายนมาณพว่า ดูกรอัสสลายนะ เรื่องเคยมีมาแล้ว พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน มาประชุมกันที่กระท่อมอันมุงบังด้วยใบไม้ในราวป่า เกิดมีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม. ดูกรอัสสลายนะ อสิตเทวละฤาษีได้สดับข่าวว่า พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน มาประชุมกันที่กระท่อม อันมุงบังด้วยใบไม้ เกิดทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม ดังนี้. ลำดับนั้นแล อสิตเทวละฤาษีปลงผมและหนวด นุ่งผ้าสีแดงอ่อน สวมรองเท้าสองชั้น ถือไม้เท้าเลี่ยมทอง ไปปรากฏในบริเวณบรรณศาลาของพราหมณ์ฤาษี ๗ ตน. ดูกรอัสสลายนะ ครั้งนั้นแล อสิตเทวละฤาษีเดินไปมาอยู่ในบริเวณของพราหมณ์ฤาษี ๗ ตน กล่าวอย่างนี้ว่า เออท่านพราหมณ์ฤาษีเหล่านี้ไปไหนกันหมดหนอ เออท่านพราหมณ์ฤาษีเหล่านี้ ไปไหนกันหมดหนอ. ดูกรอัสสลายนะ ลำดับนั้นแล พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน ได้กล่าวกะ อสิตเทวละฤาษีว่า ใครหนอนี่เหมือนเด็กชาวบ้านเดินไปมาอยู่ที่บริเวณบรรณศาลาของพราหมณ์ ฤาษี ๗ ตน กล่าวอย่างนี้ว่า เออท่าน พราหมณ์ฤาษีเหล่านี้ไปไหนกันหมด เออท่าน พราหมณ์ฤาษี เหล่านี้ไปไหนกันหมด เอาละ เราทั้งหลายจักสาปแช่งมัน. ดูกรอัสสลายนะ ลำดับนั้น พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน พากันสาปแช่งอสิตเทวละฤาษีว่า มันจงเป็นเถ้าเป็นจุรณไป จงเป็นเถ้า เป็นจุรณไป จงเป็นเถ้าเป็นจุรณไป. ดูกรอัสสลายนะ พราหมณฤาษี ๗ ตน พากันสาปแช่ง อสิตเทวละฤาษีด้วยประการใดๆ อสิตเทวละฤาษีกลับเป็นผู้มีรูปงามกว่า เป็นผู้น่าดูกว่า และ เป็นผู้น่าเลื่อมใสกว่า ด้วยประการนั้นๆ. ดูกรอัสสลายนะ ครั้งนั้นแล พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน ได้มีความคิดกันว่า ตบะของเราทั้งหลายเป็นโมฆะหนอ พรหมจรรย์ของเราทั้งหลายไม่มีผล ด้วยว่า เมื่อก่อนเราทั้งหลายสาปแช่งผู้ใดว่า เจ้าจงเป็นเถ้าเป็นจุรณไป ผู้นั้นบางคนก็เป็นเถ้าไป แต่ผู้นี้เราทั้งหลายสาปแช่งด้วยประการใดๆ เขากลับเป็นผู้มีรูปงามกว่า เป็นผู้น่าดูกว่า และ เป็นผู้น่าเลื่อมใสกว่า ด้วยประการนั้นๆ. อสิตเทวละฤาษีกล่าวว่า ตบะของท่านผู้เจริญทั้งหลาย เป็นโมฆะก็หามิได้ และพรหมจรรย์ของท่านผู้เจริญทั้งหลายไม่มีผลก็หามิได้ เชิญท่านผู้เจริญ ทั้งหลายจงละความคิดประทุษร้ายในเราเสียเถิด. ฤา. เราทั้งหลายยอมสละความคิดประทุษร้าย ท่านเป็นใครหนอ? เท. ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินชื่ออสิตเทวละฤาษีหรือไม่? ฤา. ท่านผู้เจริญ เราทั้งหลายได้ยินชื่ออย่างนั้น. เท. ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย เรานี่แหละอสิตเทวละฤาษีนั้น. ดูกรอัสสลายนะ ลำดับนั้นแล พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน พากันเข้าไปหาอสิตเทวละฤาษี เพื่อจะไหว้. อสิตเทวละฤาษีได้กล่าวกะพราหมณ์ฤาษี ๗ ตนว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้สดับข่าวนี้มาว่า พราหมณ์ฤาษี ๗ ตนมาประชุมในกระท่อมอันมุงบังด้วยใบไม้ในราวป่า เกิดทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ วรรณะอื่นเลว พราหมณ์ เท่านั้นเป็นวรรณะขาว วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้มิใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตรของพรหม เป็นโอรสของพรหม เกิดแต่ปากพรหม เกิดแต่พรหม อันพรหมนิรมิต เป็นทายาทของพรหม ดังนี้จริงหรือ? พราหมณ์ฤาษี ๗ ตน ตอบว่าจริงอย่างนั้น ท่านผู้เจริญ. เท. ก็ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า มารดาบังเกิดเกล้าได้แต่งงานกับพราหมณ์เท่านั้น ไม่ได้แต่งงานกะชายผู้มิใช่พราหมณ์เลย? ฤา. ข้อนี้ไม่ทราบเลย ท่านผู้เจริญ. เท. ก็ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า มารดาของมารดาบังเกิดเกล้า ตลอด ๗ ชั่วย่ายาย ของมารดา ได้แต่งงานกะพราหมณ์เท่านั้น ไม่ได้แต่งงานกะชายผู้มิใช่พราหมณ์เลย? ฤา. ข้อนี้ไม่ทราบเลย ท่านผู้เจริญ. เท. ก็ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า บิดาบังเกิดเกล้าได้แต่งงานกับนางพราหมณีเท่านั้น ไม่ได้แต่งงานกะหญิงผู้มิใช่นางพราหมณีเลย? ฤา. ข้อนี้ไม่ทราบเลย ท่านผู้เจริญ. เท. ก็ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า บิดาของบิดาบังเกิดเกล้า ตลอด ๗ ชั่วปู่ตาของบิดา ได้แต่งงานกะนางพราหมณีเท่านั้น ไม่ได้แต่งงานกะหญิงผู้มิใช่นางพราหมณีเลย? ฤา. ข้อนี้ไม่ทราบเลย ท่านผู้เจริญ. เท. ก็ท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้หรือว่า การตั้งครรภ์จะมีได้ด้วยอาการอย่างไร? ฤา. ดูกรท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายรู้ว่า การตั้งครรภ์จะมีได้ด้วยอาการอย่างไร คือ ในโลกนี้ มารดาและบิดาอยู่ร่วมกัน ๑ มารดามีระดู ๑ สัตว์ผู้จะเกิดในครรภ์ปรากฏ ๑ การ ตั้งครรภ์ย่อมมีได้เพราะความประชุมพร้อมแห่งเหตุ ๓ ประการอย่างนี้. เท. ก็ท่านผู้เจริญทั้งหลายอ้อนวอนได้หรือว่า ได้โปรดเถิด ขอสัตว์ที่เกิดในครรภ์ จงเป็นกษัตริย์ จงเป็นพราหมณ์ จงเป็นแพศย์ หรือว่าจงเป็นศูทร? ฤา. ดูกรท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายอ้อนวอนอย่างนั้นไม่ได้เลย. เท. เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลายจะรู้ได้หรือว่า ท่านทั้งหลายเป็นพวกไหน? ฤา. ดูกรท่านผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้นข้าพเจ้าทั้งหลายไม่รู้เลยว่าข้าพเจ้าทั้งหลายเป็น พวกไหน. ดูกรอัสสลายนะ ก็พราหมณ์ฤาษี ๗ ตนนั้น อันอสิตเทวละฤาษีซักไซ้ไล่เลียง ไต่ถาม ในวาทะปรารภชาติของตนย่อมตอบไม่ได้ ก็บัดนี้ ท่านอันเราซักไซ้ไล่เลียง ไต่ถามในวาทะ ปรารภชาติของตน จะตอบได้อย่างไร ท่านเป็นศิษย์มีอาจารย์ ยังรู้ไม่จบ เป็นแต่ถือทัพพี. [๖๒๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัสสลายนมาณพได้กราบทูลพระผู้มี- *พระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดม โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.
จบ อัสสลายนสูตร ที่ ๓.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๙๖๗๓-๙๙๑๔ หน้าที่ ๔๒๒-๔๓๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=9673&Z=9914&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=13&A=9673&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=43              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=613              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=13&A=11416              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=7387              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=13&A=11416              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=7387              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i613-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.093.than.html https://suttacentral.net/mn93/en/sujato https://suttacentral.net/mn93/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]