ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
โอปัมมวรรค
๑. กกจูปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยเลื่อย
พระโมลิยผัคคุนะคลุกคลีกับภิกษุณี
[๒๖๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี โดยสมัยนั้น ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลาย เกินเวลา ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้ ถ้าภิกษุรูปไรติเตียนภิกษุณี เหล่านั้นต่อหน้า ท่านพระโมลิยผัคคุนะท่านก็โกรธ ขัดใจภิกษุรูปนั้น ถึงกระทำให้เป็นอธิกรณ์ ก็มี อนึ่ง ถ้าภิกษุรูปไรติเตียนท่านพระโมลิยผัคคุนะต่อหน้าภิกษุณีเหล่านั้น พวกภิกษุณีก็พากัน โกรธ ขัดใจภิกษุรูปนั้น ถึงกระทำให้เป็นอธิกรณ์ก็มี ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณี ทั้งหลายอย่างนี้ ครั้งนั้น ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระ- *โมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีเกินเวลา ท่านพระโมลิยผัคคุนะ อยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณี เช่นนี้ ถ้าภิกษุรูปไรติเตียนพวกภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าท่านพระโมลิยผัคคุนะ ท่านก็โกรธ ขัดใจ ภิกษุรูปนั้น ถึงกระทำให้เป็นอธิกรณ์ก็มี อนึ่ง ถ้าภิกษุรูปไรติเตียนท่านพระโมลิยผัคคุนะต่อหน้า พวกภิกษุณีเหล่านั้น พวกภิกษุณีเหล่านั้นก็โกรธ ขัดใจภิกษุรูปนั้น ถึงกระทำให้เป็นอธิกรณ์ก็มี ท่านพระโมลิยผัคคุนะ อยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีเช่นนี้. [๒๖๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมา ตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอจงมา เธอจงบอกโมลิยผัคคุนะภิกษุ ตามคำของเราว่า ดูกรท่านโมลิยผัคคุนะ พระศาสดาให้ หาท่าน ภิกษุรูปนั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาท่านพระโมลิยผัคคุนะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะท่านพระโมลิยผัคคุนะว่า ดูกรท่านโมลิยผัคคุนะ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน ท่านพระโมลิยผัคคุนะ รับคำภิกษุรูปนั้นแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระโมลิยผัคคุนะดังนี้ ว่า ดูกรผัคคุนะ ได้ทราบว่า เธออยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีจนเกินเวลา ดูกรผัคคุนะ เธออยู่คลุกคลี กับพวกภิกษุณีเช่นนั้น ถ้าภิกษุรูปไรติเตียนพวกภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าเธอ เธอก็โกรธ ขัดใจภิกษุ รูปนั้น ถึงกระทำให้เป็นอธิกรณ์ก็มี อนึ่ง ถ้าภิกษุรูปไรติเตียนเธอต่อหน้าภิกษุณีทั้งหลาย เธอ เหล่านั้นก็โกรธ ขัดใจภิกษุรูปนั้น ถึงกระทำให้เป็นอธิกรณ์ก็มี ดูกรผัคคุนะ เธออยู่คลุกคลีกับ ภิกษุณีทั้งหลายเช่นนี้จริงหรือ? พระโมลิยผัคคุนะทูลรับว่า จริงพระพุทธเจ้าข้า จึงตรัสถาม ต่อไปว่า ดูกรผัคคุนะ เธอเป็นกุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธามิใช่หรือ? โม. อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. พ. ดูกรผัคคุนะ การที่เธออยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีจนเกินเวลานี้ ไม่สมควรแก่เธอผู้- *เป็นกุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาเลย ดูกรผัคคุนะ เพราะฉะนั้น ถ้าแม้ภิกษุ รูปไรติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าเธอ แม้ในข้อนั้น เธอพึงละความพอใจ และวิตกอันอาศัย เรือนเสีย แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน และเราจักไม่เปล่ง วาจาที่ลามก จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่ แลจักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน ดูกรผัคคุนะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกรผัคคุนะ เพราะฉะนั้น ถ้าใครๆ ประหารภิกษุณีเหล่านั้น ด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยศาตราต่อหน้าเธอ แม้ในข้อนั้น เธอพึงละความพอใจ และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน และ เราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่ แลจักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มี โทสะภายใน ดูกรผัคคุนะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกรผัคคุนะ เพราะฉะนั้น ถ้าใครๆ ติเตียนตัวเธอเอง ต่อหน้าเธอ แม้ในข้อนั้น เธอพึงละความพอใจ และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย ดูกรผัคคุนะ แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน และเราจักไม่ เปล่งวาจาที่ลามก จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่ แลจักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะ ภายใน ดูกรผัคคุนะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกรผัคคุนะ เพราะฉะนั้น ถ้าใครๆ ประหาร เธอด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนหิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยศาตรา ดูกรผัคคุนะ แม้ในข้อนั้น เธอพึงละ ความพอใจ และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย แม้ในข้อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่ แปรปรวน และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์แลจักเป็นผู้มี- *เมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน ดูกรผัคคุนะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ดังนี้แล.
ทรงแนะนำให้ฉันอาหารที่อาสนะแห่งเดียว
[๒๖๕] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัส เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง พวกภิกษุได้ทำจิตของเราให้ยินดีเป็นอันมาก เราขอเตือนภิกษุทั้งหลายไว้ในที่นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารที่อาสนะแห่งเดียว เมื่อเราฉันอาหารที่อาสนะแห่งเดียวอยู่แล รู้สึกว่ามีอาพาธน้อย มีความลำบากกายน้อย มีความเบากาย มีกำลัง และอยู่อย่างผาสุก ดูกร- *ภิกษุทั้งหลาย ถึงพวกเธอก็จงฉันอาหารที่อาสนะแห่งเดียวเถิด แม้พวกเธอฉันอาหารที่ อาสนะแห่งเดียวกัน ก็จะรู้สึกว่ามีอาพาธน้อย มีความลำบากกายน้อย มีความเบากายมีกำลัง และอยู่อย่างผาสุก ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจะไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้นอีก การทำสติให้เกิด ได้เป็นกรณียะในภิกษุเหล่านั้นแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนรถที่เทียมด้วยม้าอาชาไนย ซึ่งเป็นม้าที่ได้รับการฝึกมาดีแล้ว เดินไปตามหนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ในที่มีพื้นราบเรียบ โดยไม่ ต้องใช้แส้ชั่วแต่นายสารถีผู้ฝึกหัดที่ฉลาดขึ้นรถ แล้วจับสายบังเหียนด้วยมือซ้าย จับแส้ด้วยมือ ขวาแล้ว ก็เตือนให้ม้าวิ่งตรงไป หรือเลี้ยวกลับไป ตามถนนตามความปรารถนาได้ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจะไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุทั้งหลายเนืองๆ ฉันนั้นเหมือนกัน การทำสติให้ เกิดได้เป็นกรณียะในภิกษุเหล่านั้นแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น แม้พวกเธอก็จงละอกุศล ธรรมเสีย จงทำความพากเพียรแต่ในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้พวกเธอก็จักถึงความ เจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนป่าไม้รังใหญ่ ใกล้ บ้านหรือนิคม และป่านั้นดาดไปด้วยต้นละหุ่ง ชายคนหนึ่ง เล็งเห็นประโยชน์และคุณภาพของ ต้นรังนั้น ใคร่จะทำให้ต้นรังนั้นให้ปลอดภัย เขาจึงตัดต้นรังเล็กๆ ที่คดและถางต้นละหุ่ง อันคอยแย่งโอชาของต้นรังนั้นออก นำไปทิ้งในภายนอกเสียสิ้น ทำภายในป่าให้สะอาดเรียบร้อย แล้ว คอยรักษาต้นรังเล็กๆ ต้นตรงที่ขึ้นแรงดี โดยถูกต้องวิธีการ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการ กระทำดังที่กล่าวมานี้แหละ กาลต่อมา ป่าไม้รังนั้นก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ขึ้นโดยลำดับ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้พวกเธอก็จงละอกุศลธรรมเสีย จงทำความพากเพียรอยู่แต่ในกุศล ธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเถิด เพราะเมื่อเป็นเช่นนี้ แม้พวกเธอ ก็จะถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ในพระธรรมวินัยนี้ถ่ายเดียว.
แม่เรือนชื่อเวเทหิกา
[๒๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ที่พระนครสาวัตถีนี้แหละมีแม่เรือนคน หนึ่งชื่อว่าเวเทหิกา ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิตติศัพท์อันงามของแม่เรือนชื่อว่าเวเทหิกาขจรไปแล้ว อย่างนี้ว่า แม่เรือนชื่อว่าเวเทหิกา เป็นคนสงบเสงี่ยมอ่อนโยน เรียบร้อย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แม่เรือนเวเทหิกา มีทาสีชื่อกาลีเป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้าน จัดการงานดี ต่อมา นางกาลีได้ คิดอย่างนี้ว่า กิตติศัพท์อันงามของนายหญิงของเราขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม่เรือนชื่อว่าเวเทหิกา เป็นคนสงบเสงี่ยม อ่อนโยน เรียบร้อย ดังนี้ นายหญิงของเราไม่ทำความโกรธที่มีอยู่ภายในให้ ปรากฏ หรือไม่มีความโกรธอยู่เลย หรือว่านายหญิงของเราไม่ทำความโกรธที่มีอยู่ภายในให้ ปรากฏ ก็เพราะเราจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี ไม่ใช่ไม่มีความโกรธ อย่ากระนั้นเลย จำเราจะ ต้องทดลองนายหญิงดู วันรุ่งขึ้นนางกาลีทาสี ก็แสร้งลุกขึ้นสาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายแม่- *เรือนเวเทหิกา ก็ได้ตวาดนางกาลีทาสีขึ้นว่า เฮ้ย อีคนใช้กาลี นางกาลีจึงขานรับว่า อะไรเจ้าขา. เว. เฮ้ย เองเป็นอะไรจึงลุกจนสาย. กา. ไม่เป็นอะไรดอก เจ้าค่ะ. นางจึงกล่าวอีกว่า อีคนชั่วร้าย ก็เมื่อไม่เป็นอะไร ทำไมเองจึงลุกขึ้น จนสาย ดังนี้แล้ว โกรธ ขัดใจ ทำหน้าบึ้ง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทีนั้นนางกาลีทาสีจึงคิดว่า นายหญิงของเราไม่ทำความโกรธที่มีอยู่ ในภายในให้ปรากฏเท่านั้น ไม่ใช่ไม่มีความโกรธ ที่ไม่ทำความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ปรากฏ ก็เพราะเราจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี ไม่ใช่ไม่มีความโกรธ อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องทดลอง นายหญิงให้ยิ่งขึ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถัดจากวันนั้นมา นางกาลีทาสี จึงลุกขึ้นสายกว่านั้นอีก ครั้งนั้น แม่เรือนเวเทหิกาก็ตวาดนางกาลีทาสีอีกว่า เฮ้ย อีคนใช้กาลี. กา. อะไรเล่า เจ้าข้า. เว. อีคนใช้ เองเป็นอะไรจึงนอนตื่นสาย. กา. ไม่เป็นอะไรดอก เจ้าค่ะ. นางจึงกล่าวอีกว่า เฮ้ย อีคนชั่วร้าย ก็เมื่อไม่เป็นอะไร ทำไมเองจึงนอนตื่นสายเล่า. ดังนี้แล้ว โกรธ ขัดใจ แผดเสียงด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทีนั้น นางกาลี ทาสีจึงคิดดังนี้ว่า นายหญิงของเรา ไม่ทำความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ปรากฏเท่านั้น ไม่ใช่ไม่มี ความโกรธ ที่ไม่ทำความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ปรากฏ ก็เพราะเราจัดการงานทั้งหลายให้เรียบร้อย ดี ไม่ใช่ไม่มีความโกรธ อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องทดลองให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก ดังนี้ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย แต่นั้นมา นางกาลีทาสีก็ลุกขึ้นสายกว่าทุกวัน ครั้งนั้น แม่เรือนเวเทหิกาผู้นาย ก็ร้อง ด่าตวาดนางกาลีทาสีอีกว่า อีกาลีตัวร้าย. กา. อะไรเล่า เจ้าข้า. เว. อีคนใช้ เองเป็นอะไร จึงตื่นสายนักเล่า. กา. ไม่เป็นอะไรดอก เจ้าค่ะ. นางจึงกล่าวอีกว่า เฮ้ย อีชาติชั่ว ก็ไม่เป็นอะไร ทำไมจึงนอนตื่นสายนักเล่า ดังนี้แล้ว โกรธจัด จึงคว้าลิ่มประตู ปาศีรษะ ปากก็ว่า กูจะทำลายหัวมึง ดูกรภิกษุทั้งหลาย คราวนั้น นางกาลีทาสีมีศีรษะแตก โลหิตไหลโซม จึงเที่ยวโพนทะนา ให้บ้านใกล้เคียงทราบว่า คุณแม่ คุณพ่อทั้งหลาย เชิญดูการกระทำของคนสงบเสงี่ยม อ่อนโยน เรียบร้อยเอาเถิด ทำไมจึงทำแก่ ทาสีคนเดียวอย่างนี้เล่า เพราะโกรธเคืองว่า นอนตื่นสาย จึงคว้าลิ่มประตูปาเอาศีรษะ ปากก็ว่า กูจะทำลายหัวมึง ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่นั้นมา กิตติศัพท์อันชั่วของแม่เรือนเวเทหิกา ก็ขจรไปอย่างนี้ว่า แม่เรือนเวเทหิกา เป็นคนดุร้าย ไม่อ่อนโยน ไม่สงบเสงี่ยมเรียบร้อย แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น เป็นคนสงบเสงี่ยมจัด เป็นคนอ่อนโยนจัด เป็นคนเรียบร้อยจัด ได้ก็เพียงชั่วเวลาที่ยังไม่ได้กระทบด้วยคำอันไม่ เป็นที่พอใจเท่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใด เธอกระทบถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจเข้า ก็ยังเป็น คนสงบเสงี่ยม อ่อนโยนเรียบร้อยอยู่ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้นแหละ ควรถือว่าเธอเป็น- *คนสงบเสงี่ยม เป็นคนอ่อนโยน เป็นคนเรียบร้อยจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกภิกษุรูปที่ เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่าย เพราะเหตุได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะแลคิลานปัจจย เภสัชบริขารว่า เป็นคนว่าง่ายเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุรูปนั้น เมื่อไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขารนั้น ก็จะไม่เป็นคนว่าง่าย จะไม่ถึงความเป็นคนว่าง่ายได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุรูปใดแล มาสักการะเคารพ นอบ- *น้อมพระธรรมอยู่ เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่าย เราเรียกภิกษุรูปนั้นว่า เป็นคนว่าง่าย ดังนี้ เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้สักการะ เคารพ นอบน้อมพระธรรม จักเป็นผู้ว่าง่าย จักถึงความเป็นคนว่าง่ายดังนี้.
ถ้อยคำที่คนอื่นจะพึงกล่าว ๕ ประการ
[๒๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑ กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑ กล่าวด้วยคำอ่อน หวานหรือคำหยาบคาย ๑ กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ มี จิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควร หรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบ- *คายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิต เมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราแผ่เมตตาจิต อันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมา นี้แล. [๒๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษ ถือเอาจอบและตะกร้ามาแล้ว กล่าว อย่างนี้ว่า เราจักกระทำแผ่นดินอันใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดิน ดังนี้ เขาขุดลงตรงที่นั้นๆ โกยขี้ดิน ทิ้งในที่นั้นๆ บ้วนน้ำลายลงในที่นั้นๆ ถ่ายปัสสาวะรดในที่นั้นๆ แล้วสำทับว่าเองอย่าเป็น แผ่นดินๆ ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจักทำแผ่นดิน อันใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดินได้หรือไม่? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่ได้ พระเจ้าข้า ข้อนั้น เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่าแผ่นดินอันใหญ่นี้ ลึกหาประมาณมิได้ เขาจะทำแผ่นดินอันใหญ่นี้ ไม่ให้เป็นแผ่นดินไม่ได้ง่ายเลย ก็แลบุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ดังนี้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑ กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑ กล่าวด้วยคำอ่อนหวาน หรือคำหยาบคาย ๑ กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ มีจิต- *เมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าว โดยกาลอันสมควรหรือไม่ควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวด้วยถ้อยคำ อ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวนเราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก เราจักอนุเคราะห์ ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันเสมอด้วยแผ่นดิน ไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มี พยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล.
เปรียบเหมือนบุรุษเขียนรูปในอากาศ
[๒๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษ ถือเอาครั่งก็ตาม สีเหลืองสีเขียว หรือ สีเหลืองแก่ก็ตามมาแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า เราจักเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ กระทำให้เป็นรูป เด่นชัด ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ กระทำให้เป็นรูปเด่นชัดได้หรือไม่? ไม่ได้พระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะธรรมดาอากาศนี้ ย่อมเป็นของไม่มีรูปร่าง ชี้ให้เห็นไม่ได้ เขาจะเขียนรูปในอากาศนั้น ทำให้เป็นรูปเด่นชัดไม่ได้ง่ายเลย ก็แหละบุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ดังนี้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่าน มีอยู่ ๕ ประการ คือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑ กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑ กล่าวด้วยคำอ่อน- *หวานหรือคำหยาบคาย ๑ กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำ อ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประ- *โยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจักอนุเคราะห์ ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคล นั้น และเราจะแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไป ตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษา ด้วยอาการดังกล่าวมานี้แล.
เปรียบเหมือนบุรุษเผาแม่น้ำคงคา
[๒๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษ ถือเอาคบหญ้าที่จุดไฟมาแล้ว กล่าวอย่าง นี้ว่า เราจักทำแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัด ให้เดือดเป็นควันพลุ่ง ด้วยคบหญ้าที่จุดไฟแล้วนี้ ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจักทำแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัด ให้เดือดเป็นควันพลุ่ง ด้วยคบหญ้าที่จุดไฟแล้วได้หรือไม่? ไม่ได้พระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะ เหตุไร? เพราะแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำที่ลึก สุดที่จะประมาณ เขาจะทำแม่น้ำคงคานั้นให้ร้อนจัด ให้เดือดเป็นควันพลุ่ง ด้วยคบหญ้าที่จุดไฟแล้วไม่ได้ง่ายเลย ก็แลบุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อย ลำบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ดังนี้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะ พึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑ กล่าวด้วยเรื่องจริง หรือไม่จริง ๑ กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือหยาบคาย ๑ กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม เขาจะกล่าวด้วยเรื่องจริง หรือไม่ก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่ง วาจาที่ลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิต ไม่มีโทสะในภายใน เรา จักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันเสมอด้วยแม่น้ำคงคา ไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลกทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล.
เปรียบเหมือนกระสอบหนังแมว
[๒๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนกระสอบหนังแมวที่นายช่างหนังฟอกดีเรียบ- *ร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่นและสำลี เป็นกระสอบที่ตีได้ไม่ดังก้อง ถ้ามีบุรุษถือเอาไม้หรือกระเบื้อง มา พูดขึ้นอย่างนี้ว่า เราจักทำกระสอบหนังแมว ที่เขาฟอกไว้ดีเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่น และสำลี ที่ตีได้ไม่ดังก้องนี้ ให้เป็นของมีเสียงดังก้อง ด้วยไม้หรือกระเบื้อง ดังนี้ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะทำกระสอบหนังแมวที่เขาฟอกไว้ดี เรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่มและสำลี ที่ตีได้ไม่ดังก้องนี้ ให้กลับมีเสียงดังก้องขึ้นด้วยไม้หรือ กระเบื้องได้หรือไม่? ไม่ได้พระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า กระสอบหนังแมวนี้ เขาฟอกดีเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่นและสำลี ซึ่งเป็นของที่ตีได้ไม่ดังก้อง เขาจะทำกระสอบ หนังแมวนั้น ให้กลับเป็นของมีเสียงดังก้องขึ้นด้วยไม้หรือกระเบื้องไม่ได้ง่ายเลย บุรุษคนนั้น จะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ดังนี้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางแห่ง ถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการคือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑ กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑ กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือหยาบคาย ๑ กล่าวด้วยคำมีประโยชน์ หรือไร้ประโยชน์ ๑ มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคนอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวด้วยถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวด้วยถ้อยคำมีประโยชน์ หรือไร้- *ประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก เราจักอนุเคราะห์ ผู้อื่นด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคล นั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันเสมอด้วยกระสอบหนังแมว ไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้นดังนี้ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล.
พระโอวาทแสดงการเปรียบด้วยเลื่อย
[๒๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากจะมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยที่มีที่จับ ทั้งสองข้าง เลื่อยอวัยวะใหญ่น้อยของพวกเธอ แม้ในเหตุนั้นภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดมีใจคิดร้าย ต่อโจรเหล่านั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้น ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อด- กลั้นไม่ได้นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่ แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก เราจักอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีเมตตา จิตไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลกทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ ของจิตนั้น ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล. [๒๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอควรใส่ใจถึงโอวาท แสดงการเปรียบด้วยเลื่อยนี้ เนืองนิตย์เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะไม่มองเห็นทางแห่งถ้อยคำที่มีโทษน้อย หรือโทษมาก ที่พวกเธอจะอดกลั้นไม่ได้ หรือยังจะมีอยู่บ้าง ไม่มีพระเจ้าข้า เพราะเหตุนั้นแหละ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พวกเธอจงใส่ใจถึงโอวาทแสดงการเปรียบด้วยเลื่อยนี้เนืองนิตย์เถิด ข้อนั้นจักเป็น ประโยชน์และความสุขแก่พวกเธอสิ้นกาลนาน ดังนี้แล. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของ พระผู้มีพระภาคแล้วแล.
จบ กกจูปมสูตร ที่ ๑
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๔๒๐๘-๔๔๔๒ หน้าที่ ๑๗๑-๑๘๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=4208&Z=4442&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=12&A=4208&w=๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝูป๏ฟฝ๏ฟฝูต๏ฟฝ&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=12&siri=21              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=263              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=12&A=5012              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=12&A=5012              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i263-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i263-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.021x.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.021x.budd.html https://suttacentral.net/mn21/en/sujato https://suttacentral.net/mn21/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]